The Cloud x UOB

ถ้าการดำน้ำคือการพาเราไปเห็นความสวยงามของโลกมหัศจรรย์อีกใบที่ซ่อนอยู่ใต้ผืนน้ำกว้างใหญ่ ผมคงจะขอพาทุกท่านไปพบกับสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ทันทีที่เราลอยกลับขึ้นมาบนผิวน้ำจะเหมือนกับว่าเราได้ย้อนกลับไปสู่ยุคเมื่อ 250 ปีก่อน 

ใครเล่าจะรู้ว่าในตรอกแคบซอกเล็กซอยน้อยที่ชวนให้หลงทางของย่านตลาดน้อยจะเป็นเช่นลิ้นชักของโนบิตะที่นำพาเราย้อนเวลาไปยังคฤหาสน์แบบจีนโบราณอายุกว่า 250 ปี (อายุมากกว่ากรุงเทพฯ อีกนะ) ที่ซ่อนตัวอยู่อย่างลับๆ ใกล้ซอยดวงตะวัน ใจกลางกรุงเก่าย่านตลาดน้อย ป้ายตัวหนังสือจีนด้านหน้าประตูบ้านเขียนไว้ว่า โซว เฮง ไถ่ แค่ความเก่าแก่ก็น่าตกใจแล้ว แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ นอกจากคฤหาสน์แบบจีนฮกเกี้ยนโบราณแห่งนี้จะเป็นที่พักอาศัยของเจ้าของบ้านคนปัจจุบันแล้ว ยังเป็นทั้งโรงเรียนสอนดำน้ำและร้านกาแฟอีกด้วย

แน่ล่ะว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นนิรันดร์ ทุกสิ่งล้วนไม่สามารถปฏิเสธความจริงข้อนี้ได้ แล้วอะไรที่ทำให้คฤหาสน์จีนฮกเกี้ยนแบบโบราณนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน จากรุ่นบุกเบิกมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน แต่ยังคงสืบทอดคุณค่าแห่งความเป็น ‘บ้าน’ ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปร แม้รูปแบบและการใช้งานจะเปลี่ยนไป 

โซว เฮง ไถ่
โซว เฮง ไถ่

เมื่อก่อนพื้นที่ด้านหน้าของคฤหาสน์คือท่าเรือที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาชื่อท่าเรือโปเส็ง เป็นท่าเรือสำเภาที่ติดต่อค้าขายกับจีน โดยมีสินค้าหลักเป็นรังนกที่รวบรวมจากภาคใต้ รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ อย่างข้าวสาร พระอภัยวานิช (เจ้าสัวจาด) บรรพบุรุษของตระกูลโปษยะจินดาซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอากรรังนก สร้างบ้านโซว เฮง ไถ่แห่งนี้ขึ้นเพื่ออยู่อาศัยและดูแลกิจการท่าเรือ

รูปแบบการก่อสร้างดึงเอาลักษณะตามหลักฮวงจุ้ยแบบจีนคือ เป็นเรือนหมู่อาคารแบบ 4 หลังล้อมรอบลานกว้างตรงกลาง (四合院) ตัวโครงสร้างอาคารผสมรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยที่เป็นบ้านใต้ถุนสูงเข้าไปด้วย ทำให้กลายเป็นเหมือนอาคาร 2 ชั้น โครงของอาคารด้านบนสร้างด้วยไม้สักทองแผ่นหนาและกว้างแทบจะทุกส่วน รวมถึงมีงานแกะสลักและการเข้าไม้แบบช่างไม้ฮกเกี้ยนประดับอยู่แทบจะทุกจุดอีกด้วย

เมื่อเรือสำเภาถูกแทนที่ด้วยเรือกลไฟ ความนิยมท่าเรือโปเส็งก็ค่อยๆ ซาลง ก่อนจะเกิดเป็นท่าเรือกลไฟที่อยู่ใกล้กันอย่าง ล้ง 1919 ของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) รวมไปถึงตระกูลที่มีชื่อเสียงหลายตระกูลในบ้านเราอย่างพิศาลบุตร ตัณฑเศรษฐี ปันยารชุน ศรีวิกรม์ จาติกวณิช ต่างก็เป็นลูกหลานจากบ้านโซว เฮง ไถ่ แห่งนี้นี่เอง

ผมเดินผ่านซุ้มประตูจีนสีแดงที่เต็มไปด้วยปูนปั้นเป็นลายตุ๊กตาลงสีสวยงาม ผ่านสระว่ายน้ำตรงกลาง เพื่อไปพบและพูดคุยกับเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ภู่-ภู่ศักดิ์ โปษยะจินดา ผู้ปรับเปลี่ยนบ้านเก่าแก่หลังนี้ให้กลายเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำซึ่งรายรอบด้วยอาคารจีนเก่าแก่แบบที่น่าจะมีแห่งเดียวในโลก

โซว เฮง ไถ่

บ้านที่ไม่เหมือนคนอื่น

“คุณพ่อผมรักบ้านหลังนี้มาก ก่อนพ่อจะเสียตอนผมอายุ 14 – 15 ปี ท่านฝากฝังเราว่าให้ดูแลบ้านกับน้องด้วย” ภู่เล่าเมื่อผมถามถึงความทรงจำที่มีต่อบ้านหลังนี้ในวัยเยาว์ ก่อนจะเล่าต่อถึงการมีบ้านซึ่งแตกต่างจากบ้านของเพื่อนๆ ที่รู้จักแทบทุกคน

“ตอนเด็กๆ ก่อนพ่อจะเสีย ผมไม่ได้ผูกพันอะไรเป็นพิเศษกับบ้านหลังนี้นะ ก็อยู่ไปตามปกติ ที่รู้สึกไม่เหมือนคนอื่นคงจะเป็นเรื่องในบ้านเรามีคนอยู่กันค่อนข้างเยอะ ครอบครัวผมมีกัน 5 คน คุณพ่อคุณแม่และลูกๆ 3 คน แล้วก็มีคนงานที่ดูแลแต่ละส่วน แม่บ้าน คนขับรถ 2 คน คนเฝ้าบ้านอีก 2 คน และมีคนเก่าคนแก่ซึ่งเป็นญาติห่างๆ อยู่ตามห้องต่างๆ อีกหลายคน เหมือนแกไม่มีที่อยู่ก็เลยมาอยู่กับเรา

“ในวัยเด็กก็มีบ้างที่อยากมีบ้านใหม่ๆ ดูทันสมัย มีสนามหญ้าแบบเดียวกับบ้านเพื่อนๆ สิ่งที่จำได้ดีที่สุดของคุณพ่อและบ้านหลังนี้หลักๆ เลยคือ บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่คนที่มีความทุกข์ มีปัญหา จะเข้ามาหาคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อก็ยินดีให้ความช่วยเหลือเขาเสมอ พอไปเรียนต่อที่อเมริกา เราก็คิดถึงบ้านหลังนี้ เลยตัดสินใจกลับมาไทยเพราะคิดถึงบ้านหลังนี้มากๆ มันเหมือนเป็นที่พึ่งทางใจของเราเลย”

โซว เฮง ไถ่
โซว เฮง ไถ่

โฮมออฟฟิศสมัยก่อนรัตนโกสินทร์

เจ้าของบ้านอธิบายฟังก์ชันการใช้งานของบ้านหลังนี้ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว

แต่มันเป็นเหมือนโฮมออฟฟิศตั้งแต่สมัยที่กรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งถือกำเนิด

ในความคิดของคนจีนโพ้นทะเลสมัยนั้น การเสียเงินสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยอย่างเดียวเป็นเรื่องที่แปลกและสิ้นเปลือง คนจีนยุคนั้นมองว่าบ้านเป็นเครื่องมือหนึ่งในการประกอบธุรกิจ เมื่อก่อนท่าเรือโปเส็งมีลานกว้างๆ เอาไว้ตากของแห้ง ด้านข้างเป็นโกดังเก็บสินค้า อีกข้างเป็นที่พักของคนที่ทำงานในท่าเรือ ตัวบ้านโซว เฮง ไถ่ จึงสร้างขึ้นเพื่อเป็นสำนักงาน ที่เก็บเงิน ที่อยู่อาศัย จะได้ดูแลส่วนต่างๆ ของท่าเรือได้อย่างใกล้ชิด และเอาไว้รับรองลูกค้าหรือแขกเหรื่อได้อีกด้วย

โซว เฮง ไถ่
โซว เฮง ไถ่

จากโฮมออฟฟิศสู่โรงเรียนสอนดำน้ำ

“ก๋วยเตี๋ยวอร่อยอยู่ในซอยลึกก็มีคนตามไปกินเต็มร้าน” ภู่อธิบายให้ผมฟังเมื่อผมถามถึงไอเดียของการปรับเปลี่ยนบ้านพักอาศัยให้มากลายเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำ แรกเริ่มเดิมภู่เปิดร้านอาหารแถวหัวหมาก แต่ด้วยความรักในการดำน้ำเลยกลายมาเป็นครูสอนดำน้ำควบคู่ไปด้วย ช่วงแรกๆ เขาไปสมัครเป็นครูสอนดำน้ำตามโรงเรียนสอนดำน้ำต่างๆ ลูกศิษย์ที่เรียนแล้วชื่นชอบในวิธีการสอนก็แนะนำเพื่อนๆให้มาเรียนกับเขาโดยตรง ซึ่งก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงแรกก็ใช้สระของคนอื่นแต่พอจำนวนคนเรียนเริ่มเยอะขึ้นจนคิวของสระว่ายน้ำเริ่มไม่ลงตัวกับเวลาสอนของภู่ เขาจึงอยากหาสระของตัวเอง เขาตัดสินใจขายกิจการร้านอาหารเพื่อหาเงินมาใช้สร้างสระสอนดำน้ำ

“ตอนนั้นคิดว่าแถวสุขุมวิทน่าจะดี ขับรถวนอยู่แถวนั้นหาบ้านที่ให้เช่า เพื่อจะสร้างสระว่ายน้ำ แต่การสร้างสระว่ายน้ำมีราคาสูง ถ้าเราสร้างสระเสร็จแล้วเกิดมีปัญหากับเจ้าของที่ สระมันเคลื่อนย้ายไม่ได้ มีหวังได้ย้ายไปหาที่สร้างสระใหม่อีกบ่อยๆ แน่ ดูวุ่นวาย ตอนนั้นเครียดมากๆ แล้วด้วยอาชีพครูสอนดำน้ำก็จะไม่ค่อยได้กลับบ้านเท่าไหร่

“วันนั้นกลับมาบ้านเพราะเรารู้สึกว่าบ้านหลังนี้เป็นที่พึ่งทางใจของเราเสมอ เวลากังวลหรือเครียดถ้าได้กลับบ้านจะรู้สึกดีขึ้น พอมายืนอยู่หน้าประตูแล้วมองเข้ามาที่ลานกลางบ้าน ซึ่งตอนนั้นเป็นลานกว้างๆ มีต้นชมพู่ใหญ่ อายุเป็นร้อยๆ ปี อยู่หลายต้น แต่ละต้นขนาดประมาณ 1 คนโอบ แทนที่จะเห็นบ้านกับลานตรงกลาง กลายเป็นเห็นบ้านสกปรกเลอะเทอะ ฝุ่น เศษขยะ เศษใบไม้ เต็มบ้านไปหมด ก็เลยถามแม่ว่าทำไมบ้านโทรมจัง แม่ตอบว่าค่าใช้จ่ายในการดูแล ทำความสะอาด สูงมาก ดูแลไม่ไหว เราได้ยินก็นิ่งไป ตอนนั้นคิดว่าจะทำยังไงดี ถ้าเลือกจะทำสระว่ายน้ำ บ้านก็จะไม่มีเงินดูแล แต่ถ้าเลือกดูแลบ้าน ก็จะไม่ได้ทำสระเพื่อสอนดำน้ำ ซึ่งเป็นอาชีพที่เราชอบ”

โซว เฮง ไถ่
โซว เฮง ไถ่

ในห้วงเวลาที่เราถูกกดดันไร้ซึ่งทางเลือกนั้น ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์มักจะเกิดขึ้นให้เราเรียกใช้ได้ง่ายกว่าเวลาอื่น นี่คือช่วงเวลานั้นของภู่ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รถไฟฟ้ามหานครหรือ MRT กำลังจะเปิดให้บริการ สถานีหัวลำโพงก็อยู่ใกล้ตลาดน้อยมากๆ จนทำให้เขาตัดสินใจสร้างสระว่ายน้ำเพื่อสอนดำน้ำในบ้านของตัวเอง

“ผมยืนมองตัวบ้านจากด้านประตูหน้าก็มาคิดว่า ทำไมไม่ทำมันที่บ้านไปเลยล่ะ ร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยอยู่ในซอยลึกก็มีคนไปกิน เราสอนดำน้ำจนมีลูกค้าติดจากการบอกกันปากต่อปาก ถ้าเราไปอยู่ที่ลึกหน่อยก็น่าจะมีคนเดินมาหาเราบ้างแหละ

“ที่นี่ก็ถือว่าค่อนข้างอยู่กลางเมือง รถไฟฟ้าก็กำลังจะเปิด น่าจะพอเป็นไปได้ เลยลองเรียกเพื่อนที่เป็นสถาปนิกมาช่วยดู โดยมีโจทย์หลักๆ ว่าต้องการสร้างสระให้ออกมาไม่เป็นงานทันสมัย และต้องไม่อยู่ระนาบเดียวกับพื้นเพื่อกันน้ำท่วม แล้วก็ต้องลึกมากกว่า 3 – 4 เมตรเพื่อให้ดำน้ำได้ ความคิดของเราคือผมจะหักเงินที่ได้จากการใช้สระเรียนดำน้ำบางส่วนมาใช้เป็นทุนซ่อมแซมดูแลบ้าน จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงานดูแลบ้าน เพราะที่นี่คือที่พึ่งทางใจของเรา ถ้าเสื่อมโทรมหรือชำรุดเราก็ซ่อมแซม เพราะเราอยากให้มันคงอยู่ต่อไปได้แบบดีที่สุดเท่าที่เราจะดูแลไหว”

โซว เฮง ไถ่

ปรับบ้านเปลี่ยนฮวงจุ้ย

เคยมีผู้ใหญ่จากหลายสถาบันบอกภู่ว่าฮวงจุ้ยของถนนเยาวราชดูเหมือนมังกร และตำแหน่งของบ้านโซว เฮง ไถ่ คือลูกแก้วมังกร การตัดสินใจปรับเปลี่ยนลานกลางบ้านแบบดั้งเดิมให้เป็นโรงเรียนสอนดำน้ำจึงเป็นเหมือนการเปลี่ยนฮวงจุ้ยของบ้านทั้งหลัง

“คุณแม่ค้านครับ ไม่ยอมรับความคิดนี้เลย เพราะฮวงจุ้ยของบ้านแบบเดิมคือต้องมีลานโล่งกลางบ้าน และต้นชมพู่ต้นใหญ่ก็มีกิ่งก้านสาขาสร้างร่มเงาให้ความร่มรื่นแก่ทุกคนที่อาศัยในบ้าน พอเราตัดต้นไม้ สร้างสระว่ายน้ำ ก็เปลี่ยนลักษณะของบ้าน

“ตามหลักฮวงจุ้ย บ้านหลังนี้มีหน้าบ้านติดแม่น้ำ หลังบ้านควรโล่ง แต่ด้านหลังมีคนสร้างตึกสูงขึ้นมาฮวงจุ้ยก็ผิดแล้ว ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย ผมมองว่าศาสตร์ของฮวงจุ้ยคืออยู่ดีมีสุข ร่ำรวยเงินทอง การทำสระแบบนี้ก็ช่วยให้เรามีเงินมาดูแลบ้าน ซ่อมบ้าน แม้หน้าตาจะเปลี่ยนไป แต่เพื่อให้ตัวบ้านยังคงอยู่ต่อไปแกเลยยอม”

ภู่เล่าถึงงานบางกอกดีไซน์วีกเมื่อต้นปีว่า ในแต่ละวันมีคนจำนวนหลักพันคนเดินเข้ามาเยี่ยมบ้านโซว เฮง ไถ่นี้ บางคนมานั่งพักผ่อนอยู่นานๆ บางคนก็มาบอกเราว่าชื่นชมตัวบ้านนี้ หลายคนชอบที่ที่นี่มีสระว่ายน้ำ เพราะมันทำให้บรรยากาศดูสบายขึ้น

ฮวงจุ้ยบ้านนี้เปลี่ยนไปก็จริง แต่มันอาจจะเปลี่ยนไปในทางที่เป็นกันเองมากขึ้นก็ได้

งบเกินประมาณ

เมื่อถึงเวลาเริ่มก่อสร้าง เขาเรียกผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการและตีราคาค่าก่อสร้าง แล้วพบว่าเงินที่เตรียมไว้ไม่พอ

“ตอนนั้นทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินอยู่ 3 ล้าน ผู้รับเหมาตีราคาค่าทำสระออกมาสามล้านห้า คิดว่าจะหายืมหากู้จากคนอื่นๆ พอสระว่ายน้ำเสร็จค่อยทำงานหาเงินมาคืนเขา ถึงเวลาสร้างจริงงบที่ตีไว้ทีแรกก็บานปลายเกินไปอีกเท่าหนึ่ง เนื่องจากค่าแรงคนงานสูงมาก เมื่อก่อนลานกลางบ้านปูด้วยหินแกรนิต (มาจากเมืองจีนสมัยเดียวกับตัวบ้าน ในฐานะหินอับเฉาที่เอาไว้ถ่วงท้องเรือให้หนักพอจะแล่นกลับมายังไทยได้ ในยุคแรกหินอับเฉามาในรูปแบบของแผ่นปูพื้นก่อนจะพัฒนามาเป็นตุ๊กตาแกะสลัก)

“เราให้คนยกหินไปเรียงใหม่ตรงหน้าเรือนด้านใน ด้วยความที่มันอยู่มาตั้งแต่สมัยที่สร้างบ้าน ผมเลยบอกช่างว่าห้ามตัดหินให้เล็กลงนะ พอจะย้ายไปปูด้านในซึ่งความกว้างยาวไม่เท่าเดิม ช่างก็ต้องพยายามวางหินทีละก้อนให้ต่อกันพอดี เหมือนเล่นเกมเลย ด้วยน้ำหนักหินแกรนิตที่หนักมาก เคลื่อนย้ายก็ลำบาก กว่าจะเรียงหินปูพื้น แค่ 2 แถวแรกก็ใช้เวลาปูกว่า 3 วัน 3 คืน กระเบื้องเก่าที่เคยปูที่ลานกลางบ้านก็ให้ช่างสกัดออกด้วยมือทีละแผ่นๆ เผื่อเก็บเอาไว้ปูที่อื่น เราใช้ค่าแรงในการก่อสร้างสูงมากๆ จนทำให้เกินงบที่วางไว้ในตอนแรก แต่ก็คุ้มค่าที่ทำไปนะ”

โซว เฮง ไถ่
โซว เฮง ไถ่

นอกเหนือจากเรื่องของการเคลื่อนย้ายหินปูพื้นจำนวนมากแล้ว อุปสรรคสำคัญอีกอย่างก็คือการที่ขุดสระลึกลงไปเกือบๆ 3 เมตรด้วยมือ เพราะซอยทางเข้าบ้านและประตูหน้าบ้านเล็กมากจนรถขุดหรือเครื่องจักรอื่นๆ เข้ามาไม่ได้ จึงต้องก่อขอบสระว่ายน้ำให้สูงขึ้นมาอีก 1.2 เมตร เพราะภู่ต้องการให้สระลึก 4 เมตร ถ้าขุดลึกลงไปอย่างเดียวอาจส่งผลกระทบกับโครงสร้างของบ้านได้ นอกจากนี้พี่ภู่ยังใช้เสาเข็มจำนวนมากเทียบเท่ากับการสร้างตึก 4 ชั้นเพื่อรองรับน้ำหนักของตัวสระ เพื่อให้แน่ใจว่าบ้านหลังนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างสระว่ายน้ำแน่ๆ

เปิดบ้านเปิดใจ

ระหว่างที่ผมกำลังพูดคุยกับเจ้าของบ้าน มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติพากันเดินผ่านประตูเข้ามาเยี่ยมเยียนบ้านหลังนี้อยู่ไม่ขาด มีทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่และกลุ่มเล็กๆ พอเข้ามาก็ซื้อน้ำและแยกย้ายกันไปนั่งตามมุมต่างๆ ของบ้านราวกับเป็นร้านกาแฟสวยเก๋ที่เป็นที่นิยมกันในยุคนี้ จึงคล้ายกับบ้านนี้กลายมาเป็นร้านกาแฟในอีกสถานะหนึ่ง ควบคู่ไปกับโรงเรียนสอนดำน้ำและที่อยู่อาศัยด้วย ผมเลยถามถึงแนวคิดในการเปิดบ้านให้คนทั่วไปได้เข้าชม

“หลังจากโรงเรียนสอนดำน้ำแล้ว (พ.ศ. 2547) การท่องเที่ยวชุมชนเริ่มได้รับความนิยม โดยเฉพาะในย่านเมืองเก่าอย่างตลาดน้อยและเยาวราช ทางสถาบันอาศรมศิลป์มาถามเราว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม เพราะตัวบ้านเป็นอาคารเก่าซึ่งหาดูได้ยากมากๆ คนที่มาก็มีทั้งมาดูบ้านเก่า และมาขอดูว่าจะจัดการบ้านเก่าเพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวชุมชนยังไง ทางผมก็ยินดีแค่ต้องคิดถึงความเป็นส่วนตัวของผมด้วย เพราะนี่เป็นทั้งบ้านและที่ทำงานของผม ก็เลยคุยกันว่าให้นัดมาก่อน ผมจะได้ทำความสะอาดและเตรียมตัวต้อนรับ

“แต่บางทีคนที่เคยมาดูเขากลับมาดูใหม่แบบไม่ได้นัดล่วงหน้าเพราะชอบบ้านเรามากจริงๆ ด้วยพื้นที่บ้านขนาด 1 ไร่เราทำความสะอาดไม่ได้ทุกวัน เลยมีคนมาบอกเราว่าบ้านขาดการดูแล ผมก็กังวล เพราะถ้าอยากให้บ้านดูสะอาดสะอ้านอยู่ตลอดต้องจ้างคนมาดูแลความสะอาด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

“การตั้งกล่องบริจาคหรือขายตั๋วเข้าชมบ้านดูเหมือนบังคับให้เขาจ่ายเงิน อาจทำให้คนที่มารู้สึกไม่ค่อยดีกับบ้านเรา ด้วยความที่ผมเน้นทำธุรกิจให้ทุกคนรู้สึกดี ทั้งตัวผมและคนที่มา เวลาผมสอนดำน้ำก็สอนเต็มที่ ถ้าคนมาเรียนแล้วดำน้ำไม่คล่องหรือไม่รู้สึกปลอดภัย ก็มาลงเรียนต่อได้ฟรีเลย ไม่คิดว่านักเรียนไม่เก่ง แต่คิดว่าเพราะเราสอนไม่ดี

“เลยได้ข้อสรุปว่าเราขายเครื่องดื่มให้คนที่มาชมบ้าน ยอมรับว่าขายในราคาแพงกว่าร้านข้างถนน เพื่อเอาเงินเอามาจ่ายคนที่คอยดูแลความสะอาด และให้บ้านยังคงอยู่ต่อไปได้ ทุกคนก็เข้าใจ มีคนมาอุดหนุนอยู่ตลอด ถ้าอยากเข้าห้องน้ำเราก็ยินดีเปิดให้ใช้บริการ”

โซว เฮง ไถ่
โซว เฮง ไถ่

เงินรายได้จากการขายเครื่องดื่มไม่ได้มากมายเป็นกอบเป็นกำ และการเปิดบ้านเช่นนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะเจอมิจฉาชีพ แล้วอะไรทำให้เจ้าของบ้านเก่าแห่งนี้ยังคงยินดีเปิดบ้านให้คนทั่วไปมาชม

“ผมอยากสื่อสารว่าในเมืองไทยมีคนจีนที่อพยพมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายแบบเสื่อผืนหมอนใบ เราโชคดีมากเลยนะครับ ถ้าอากงอาม่าเราลงเรือผิดลำไปนี่ยุ่งเลยนะ ในบางประเทศคนจีนก็อยู่ในสถานะพลเมืองชั้นสองแบบกลายๆ แต่ไทยหรือสยามซึ่งมีกษัตริย์ปกครอง อ้าแขนต้อนรับคนจีนเป็นอย่างดี ทุกคนได้รับโอกาสเท่าเทียมกันหมด อยากค้าขายก็ทำได้ ตั้งตัวกันได้หลายคน เป็นเศรษฐีระดับโลกก็มากมาย พอมาอยู่ก็ได้สัญชาติไทยโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าไทยเชื้อชาติอะไร คนไทยก็คือคนไทย เราก็ควรรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ที่ให้เราเข้ามาทำมาหากินในประเทศ

“ผมอยากเปิดบ้านเพื่อให้ความรู้ผู้คนและพูดเรื่องเหล่านี้ ส่วนเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ด้วยอาชีพผมที่เจอคนจำนวนมาก ทำให้ผมไม่ได้มองทุกคนเป็นคนร้าย ซึ่งคนส่วนมากก็เป็นแบบนั้น มีคนส่วนน้อยที่เข้ามาแล้วไม่ให้เกียรติสถานที่ พอเราเตือนเขาก็ไม่ทำอีก ผมเลยโอเคกับการเปิดบ้านไว้แบบนี้นะ” ภู่อธิบายในสิ่งที่ผมสงสัยไว้ตั้งแต่ตอนแรก

โซว เฮง ไถ่

มองย้อน

แดดร่มลมตกอากาศข้างนอกเริ่มเย็นลง สายลมเย็นๆ พัดโชยเข้ามาภายในบ้านโซว เฮง ไถ่ เป็นช่วงๆ นักท่องเที่ยวยังคงเดินเข้าเดินออกอยู่เป็นระยะ ผมถามเขาว่าการรีโนเวตบ้านหลังนี้ให้อะไรกับเขาบ้าง

“เหมือนเป็นสวรรค์เลยครับ” เจ้าของบ้านตอบสั้นๆ พร้อมเสียงหัวเราะที่ชวนให้ผมหัวเราะไปด้วย

“ก่อนหน้านี้ผมเปิดร้านอาหารแถวหัวหมาก วันๆ หนึ่งผมเสียเวลาประมาณสามสี่ชั่วโมงไปกับการเดินทางจากบ้านไปหัวหมาก เหนื่อย บางทีก็ไม่อยากไป พอมาสอนดำน้ำก็แบบเดิมคือเจอลูกศิษย์มาเรียนดำน้ำแถวสุขุมวิท ก็ขับรถไปสอน สอนเสร็จก็ขับรถกลับ เราไม่สามารถกำหนดให้คนมาเรียนตอนรถไม่ติดได้

“พอมาสอนที่บ้านของเราเองก็เหมือนเป็นสวรรค์เลย คนที่มาเรียนดำน้ำก็ชอบบรรยากาศกันทุกคน เหมือนเขาได้มาอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ถ้ามีลูกศิษย์มาเรียนก็สอน ถ้าไม่มีคนมาเรียนผมก็เลี้ยงปลา เลี้ยงหมา (อีกอาชีพของเขาคือเพาะพันธุ์สุนัขบีเกิ้ลส่งประกวด-ติดอันดับ 1 ใน 5 ของสหรัฐอเมริกาด้วย) มีคนเข้าบ้านมาเราก็คุยกับเขา บ้านซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจของเราก็ยังคงอยู่ดี มีคนดูแล มีเงินซ่อมแซมจุดที่เสียหาย แล้วได้เวลาจากบนท้องถนนคืนมาปีๆ หนึ่งก็คงหลายพันชั่วโมง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้การรีโนเวตคุ้มค่าคือเรื่องของทำเล เราไม่สามารถหาที่แบบนี้ได้อีกแล้วในยุคนี้ เราอยู่ใจกลางเมือง เดิน 10 นาทีก็ถึงรถไฟฟ้าเข้าสู่เมืองได้แล้ว แต่เป็นใจกลางเมืองที่ย้อนกลับไปอยู่ในยุคเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน”

โซว เฮง ไถ่

ส่งไม้

“ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษของผมสร้างบ้านนี้ขึ้นมาด้วยวัสดุที่ดีที่สุดในยุคนั้น ทั้งเสา ทั้งคาน บ้านถูกออกแบบและก่อสร้างมาให้คงอยู่อย่างถาวรจริงๆ แต่ทุกสิ่งบนโลกนี้ไม่มีอะไรอยู่คงทนถาวรตลอดไปหรอก ผมพยายามจะให้มันอยู่ต่อไปนานเท่าที่จะเป็นไปได้นะ เพราะนี่คือบ้านเรา

“แต่พูดกันตรงๆ ผมไม่ได้ต้องการให้ลูกผมมาดูแลบ้านหลังนี้หรอก เพราะมันเหมือนยกหินก้อนใหญ่ไว้บนบ่าคนรุ่นถัดไป แค่ค่าดูแลและค่าน้ำค่าไฟของที่นี่เดือนๆ หนึ่งก็แพงมาก แล้วเวลาที่บ้านมีปัญหาต้องซ่อมแต่ละครั้งก็ราคาสูงมาก พื้นไม้ที่ผุจะไปหาไม้ที่กว้างเท่าเดิมมาเปลี่ยน แม้บางครั้งมีเงินก็อาจจะหาซื้อมาเปลี่ยนไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้วลูกชายผมต้องทำงานหาเงินเดือนละเท่าไหร่ถึงจะรับผิดชอบดูแลบ้านหลังนี้ได้ ผมเลยตั้งใจว่าจะไม่ปลูกฝังว่าพ่อรักบ้านหลังนี้ ต่อไปลูกต้องดูแลมันนะ จะไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแน่ๆ เราคงบอกเขาให้รู้ถึงความเป็นมาของบ้าน ประวัติของครอบครัวเรา บรรพบุรุษของเรา เพื่อให้ลูกหลานรุ่นถัดๆ ไปรู้คุณค่าของสถานที่แห่งนี้ แต่ว่าในอนาคตถ้าเขาเลือกที่จะทำอย่างอื่นก็ไปทำได้เลย”

ในสายตาคนนอก แม้ว่าฟังก์ชันของบ้านโซว เฮง ไถ่ จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและความต้องการของเจ้าของแต่ละรุ่น แต่ตลอดเวลา 250 ปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้ก็ยังคงคุณค่าและความหมายแห่งความเป็น ‘บ้าน’ ที่เป็นที่พึ่งทางใจของคนในครอบครัวทุกรุ่นอย่างไม่เปลี่ยนแปลง 

เคียงข้างทุกเจเนอเรชัน

#ธนาคารยูโอบี #เคียงข้างทุกเจเนอเรชัน

#UOB #RightByEveryGeneration

โซว เฮง ไถ่
 
บ้านโซวเฮงไถ่ โรงเรียนสอนดำน้ำ
ก่อสร้างตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ปีที่รีโนเวตเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำ  |   2004
ที่อยู่ | 282 ซอย ดวงตะวัน ถนน เจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์   กทม.
โทร | 02 639 6262
Facebook | โซว เฮง ไถ่ So Heng Tai  
เวลาที่เปิดให้เข้าชม
วันธรรมดา 09.00 – 18.00 น.
วันศุกร์และเสาร์ 09.00 – 21.00 น.
วันอาทิตย์ 09.00 – 18.00 น.
ปิดทุกวันจันทร์

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan