กว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

หลายคนที่มาอุดรธานีคงเคยแวะมาเช็กอินที่เป็ดเหลืองยักษ์ซึ่งลอยอยู่กลางหนองประจักษ์ สวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง และไม่ไกลจากเป็ดเหลือง หลายคนก็อาจจะมองเห็นตึกสีเหลืองที่คนอุดรคุ้นกันดีในชื่อ ‘ตึกราชินูเก่า’ ซึ่งจริงๆ แล้วตึกนี้คือ ‘พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี’ ซึ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากปิดซ่อมบูรณะครั้งใหญ่มากว่า 4 ปี

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 6 ทรงสนพระราชหฤทัยในการพัฒนาบทบาทสตรี และมีพระราชดำริว่าความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองย่อมต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียนที่ดี จึงพระราชทานพระราชทรัพย์สร้างโรงเรียนสตรีประจำภูมิภาคต่างๆ เช่น โรงเรียนราชินี, โรงเรียนราชินีบน, โรงเรียนทวีธาภิเศก, โรงเรียนเสาวภา (ปัจจุบันคือวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา), โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล (ปัจจุบันคือคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล), โรงเรียนวิเชียรมาตุและโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง, โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม, โรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี

และ ‘โรงเรียนราชินูทิศ’ ก็คือหนึ่งในโรงเรียนที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้เป็นโรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดร แต่ใน พ.ศ. 2462 พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน การดำเนินงานจึงจำต้องค้างมา ซึ่งตึกราชินูเก่า อาคารเรียนของโรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดรแห่งนี้ก็คืออาคารของพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีนั่นเอง

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

เวลาต่อมาพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ศุข ดิษยบุตร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ผู้สำเร็จราชการมณฑลอุดร และคุณหญิงน้อม ดิษยบุตร (ศรีสุริยราช) เปิดโรงเรียนอุปถัมภ์นารี ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีขนาดเล็กภายในพื้นที่จวนเทศาภิบาลสำหรับกุลธิดาในมณฑล แล้วชักชวนข้าราชการพ่อค้าประชาชนชาวเมืองร่วมบริจาคทรัพย์สร้างอาคารเรียนอุปถัมภ์นารีใหม่น้อมเกล้าฯ ถวายเพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน

และเมื่อ พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติม และพระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า ‘ราชินูทิศ’ รวมถึงประกอบพิธีฝังรากศิลาจารึกโรงเรียนขึ้นใน พ.ศ. 2464 โดยตัวอาคารสร้างอยู่บริเวณริมหนองประจักษ์ ใกล้กับโรงเรียนอุปถัมภ์นารีเดิม และเปิดใช้เป็นโรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดรตั้งแต่ พ.ศ. 2468 เป็นต้นมา ซึ่งเราจะพบอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ‘ส.ผ.’ ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (เสาวภาผ่องศรี) ใต้ตราสัญลักษณ์รูปมงกุฎและอุณาโลมและข้อความ ’อาคารราชินูทิศ พระพุทธศักราช 2468’  บนหน้าจั่วอาคาร

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2497 ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงครามและท่านผู้หญิงได้มาทำพิธีเปิดสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จังหวัดอุดรธานี และใช้อาคารราชินูทิศเป็นสำนักงาน พอเห็นว่าอาคารหลังนี้เล็กอยู่ในทำเลที่ไม่เหมาะสมจึงอนุมัติให้สร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ และย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่สร้างใหม่ใน พ.ศ. 2503

กระทรวงศึกษาธิการมีการเริ่มโครงการพัฒนาการศึกษาส่วนภูมิภาค จึงโอนอาคารราชินูทิศนี้เป็นสำนักงานโครงการพัฒนาการศึกษาส่วนภูมิภาค และเมื่อมีการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมใหม่ใน พ.ศ. 2516 กระทรวงศึกษาธิการจึงใช้อาคารหลังนี้เป็นสำนักงานศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา 9 โดยหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา และเขตการศึกษา 9 ใช้อาคารเป็นสำนักงานร่วมกัน

อาคารราชินูทิศ

อาคารราชินูทิศ

ภายหลังใน พ.ศ. 2538 สำนักงานศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา 9 ย้ายไปปฏิบัติงานที่สำนักงานแห่งใหม่ จึงเหลือเฉพาะหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา เขตการศึกษา 9 ที่ยังคงปฏิบัติงานต่อมาจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 และกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2541

จังหวัดอุดรธานีใช้อาคารราชินูทิศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี โดยคณะกรรมการร่วมกันออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ มีการจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ตามห้องต่างๆ ทั้งหมด และทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี เพื่อให้การบริการแก่ประชาชนได้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2547

และในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2548 จังหวัดอุดรธานีได้มอบพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีให้อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครอุดรธานี ที่มีความพร้อมในการจัดการให้หน่วยงาน สถาบันการศึกษา ภาครัฐ เอกชน ประชาชนทั่วไป เข้าเยี่ยมชม จนชาวอุดรธานีรู้จักพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในนามแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์

แต่เนื่องจากเป็นอาคารเก่าแก่อายุกว่า 90 ปี จึงมีสภาพทรุดโทรม เนื้อปูนแตกร้าว ไม้ผุพัง หากไม่ปรับปรุงซ่อมแซมอาจทำให้ผู้เข้าชมไม่ปลอดภัยและทำให้อาคารโบราณสถานแห่งชาติเสียหาย จนไม่สามารถใช้งานได้อีก เทศบาลนครอุดรธานีในสมัยของนายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ และกรมศิลปากรจึงร่วมกันออกแบบเพื่อบูรณะอาคาร และออกแบบนิทรรศการภายในขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยใช้เวลากว่า 4 ปีตั้งแต่เริ่มวางแผนการบูรณะ และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา

อาคารเก่า อาคารเก่า

เรื่องราวของงานบูรณะ

รูปแบบของอาคาร

อาคารราชินูทิศเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกตามความนิยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เป็นอาคารแบบโคโลเนียล (Colonial) ที่เป็นการนำเอารูปแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมคลาสสิกมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับภูมิอากาศเขตร้อน ตามที่ฝรั่งเศสนำมาใช้กับอาณานิคมอินโดจีน และได้รับความนิยมมาถึงทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงด้วยโดยช่างก่อสร้างชาวญวน ตัวอาคารหันหน้าอาคารไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ด้านหลังติดกับหนองประจักษ์ หนองน้ำขนาดใหญ่ ผังอาคารประกอบด้วยห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าจำนวน 2 หลังตั้งขนานกัน ด้านหน้าอาคารเชื่อมต่อกันคล้ายรูปตัวยู (U) มีมุขด้านหน้าบริเวณกึ่งกลางอาคาร แสดงลักษณะการออกแบบที่เน้นความสมมาตร เพื่อสร้างความรู้สึกสง่างามแก่ตัวอาคาร

ตัวอาคารทั้งชั้นบนและชั้นล่างมีระเบียงล้อมบริเวณด้านหน้าและด้านข้าง ช่วยป้องกันภายในอาคารจากแดดและฝน ตัวระเบียงถูกแบ่งออกเป็นส่วนเท่าๆ กันด้วยเสารูปทรงสี่เหลี่ยม ระหว่างช่วงเสามีพนักระเบียงราวลูกกรงปูนปั้น มีซุ้มโค้ง (Arch) ประดับหัวเสาแบบดอริก (Doric Capital) ตรงกึ่งกลางของซุ้มโค้ง (Keystone) ประดับด้วยบัวปูนปั้น ช่องหน้าต่างและซุ้มหน้าต่างเป็นรูปทรงโค้ง ที่มุขด้านหน้าอาคารใช้บานหน้าต่างบานเกล็ดไม้ ด้านบนเหนือบานหน้าต่างเป็นช่องแสงประดับกระจก

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

ถัดจากซุ้มโค้งด้านหน้าอาคารขึ้นไปประดับช่องลมรูปทรงกลมจำนวนสองช่อง ส่วนผนังด้านข้างของปีกซ้ายและขวา ประดับด้วยงานปูนปั้น ส่วนผนังด้านหลังของปีกอาคารทั้งสองฝั่งประดับด้วยหน้าต่างทรงโค้งขนาดเล็ก

โดยทั่วไปรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลที่ได้รับอิทธิพลจากแบบคลาสสิก จะมีลักษณะเด่นๆ ที่สังเกตได้คือ ตัวอาคารมีรูปร่างที่สมมาตร มีมุขตรงกลางทำเป็นหลังคาจั่วมีหน้าบันรูปสามเหลี่ยมเหมือนวิหารโรมัน ตามแบบที่เรียกว่า Palladian Style กรณีของอาคารราชินูทิศนั้นเป็นหลังคาหน้าจั่วกึ่งกลาง หลังคาปั้นหยาทรงสูงชันมาก ต่างจากต้นแบบคลาสสิก

ปริศนา   ‘อิฐไม้’ ที่เดียวในประเทศ

เนื่องจากอาคารราชินูทิศอยู่ในพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมใต้อาคารทุกปี ขั้นตอนการบูรณะจึงต้องมีการขูดลอกผิวปูนเก่าที่เสียหายจากความชื้น ซึ่งการสกัดผิวปูนออกจึงค้นพบ ‘อิฐไม้’  ซึ่งคือไม้เนื้อแข็งท่อนใหญ่ที่ถูกตัดให้มีขนาดเดียวกับอิฐที่ใช้ก่อทำผนัง และแทรกอยู่ระหว่างอิฐเป็นจังหวะทุกๆ 3 ก้อนในแนวดิ่งและก้อนเว้นก้อนในแนวราบ และมีแค่ 5 แถวจากระดับพื้น แต่บริเวณมุมผนังจะเป็นอิฐไม้แทรกทุกๆ 3 ก้อน ยาวขึ้นไปชนทับหลังประตู

จากนั้นจึงแจ้งให้กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบแล้วกรมศิลปากรเห็นว่ารายละเอียดโครงสร้างอิฐไม้ที่อาคารราชินูทิศนี้ไม่เคยพบเห็นในโบราณสถานที่ใดเลยในประเทศไทย และจนบัดนี้ยังไม่ทราบที่มาที่ไปของการนำอิฐไม้มาใช้ในโครงสร้างผนังรับน้ำหนัก จึงแนะนำให้เปิดผิวปูนฉาบที่ห้องด้านล่าง เพื่อให้ประชาชนได้เห็นรายละเอียดตรงนี้อย่างชัดเจน ถือเป็นรายละเอียดการก่อสร้างที่มีความน่าสนใจและยังต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

ทำไมพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีต้องเป็นสีเหลือง?

จากกระบวนการการพิสูจน์สีพบว่า สีที่ใช้ในอาคารพิพิธภัณฑ์มีการทาทับซ้ำทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการทาทับในช่วงการบูรณะในแต่ละยุค ที่ปรึกษาจากกรมศิลปากรให้ความเห็นเรื่องสีไว้ว่า สีที่จะใช้ทาในครั้งนี้ควรจะเป็นสีเดียวกับที่เคยทาในยุคแรก (ปีพุทธศักราช 2468) ทั้งหมด ซึ่งจากหลักฐานที่ปรากฏพบว่าผิวอาคารภายนอกในยุคแรกทาสีเหลืองทั้งอาคาร โดยไม่มีการตัดบัวหรือซุ้มโค้งเป็นสีขาวเหมือนที่พบเห็นและคุ้นตาในยุคปัจจุบัน

ส่วนผิวอาคารภายในนั้นพบว่ามีการทาสีทับ 3 – 4 ชั้นเช่นกัน ทีมบูรณะอาคารเข้าไปขูดสีจนถึงชั้นสีในสุดจนพบว่าผนังภายในเป็นสีฟ้าทั้งหมดทุกห้อง จึงส่งตัวอย่างสีภายนอกและภายในเข้าแล็บสี เพื่อปรุงสีให้ใกล้เคียงกับสีอาคารในยุคแรกมากที่สุดก่อนที่จะส่งมาทาอาคารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ผนัง

เสริมโครงสร้างเก่าด้วยโครงสร้างใหม่

จำนวนคนที่คาดว่าจะมาใช้บริการมากขึ้นทำให้มีผลต่อการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร ทำให้วิศวกรที่ปรึกษาต้องคำนวณน้ำหนัก Live Load ใหม่ และออกแบบโครงสร้างให้มีการเสริมตงไม้ และจำเป็นต้องใช้โครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ทำหน้าที่เหมือนคานช่วยรับโครงสร้างพื้นชั้น 2 ทุกห้อง บางส่วนของฝ้าเพดานชั้นล่างจึงจะมองเห็นเหล็กเสริมอยู่เป็นระยะ ส่วนโครงสร้างรับพื้นชั้นล่างจะเป็นคานคอนกรีตเสริมเหล็กรับพื้นชั้นล่าง ถ่ายน้ำหนักลงตอม่อคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นกัน 

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

จากใต้ทะเลสู่ที่ราบสูงที่เติบโตจากสงคราม

นิทรรศการที่ออกแบบใหม่ภายในตึกเก่าอายุกว่า 90 ปีพาเราย้อนไปในยุคหลายล้านปีก่อน แสดงให้เห็นกระบวนการเกิดแผ่นดินอีสานที่ยกตัวขึ้นจากทะเล เป็นที่ราบสูงที่มีแอ่งน้ำทะเลค้างอยู่อีกหลายล้านปีและเป็นผลให้มีวัฒนธรรมเกลือเป็นจุดเด่น จนมาถึงยุคบ้านเชียง วัฒนธรรมที่หายไปกว่า 5,000 ปีที่ถูกค้นพบโดยบังเอิญ จนมาถึงยุค ‘สงคราม’ ที่หลายคนอาจจะคิดว่ามันคือการสูญเสียเพียงอย่างเดียว แต่มองในอีกมุมหนึ่งแล้วมันคือจุดเริ่มต้นของความเป็นเมืองอุดรธานีในปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

ตั้งแต่เหตุการณ์พิพาท ร.ศ.112 ที่พื้นที่อุดรธานีเป็นจุดตั้งฐานทัพเพื่อต่อรองกับฝรั่งเศส มาจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต่อเนื่องมาจนถึงสงครามเวียดนามหรือสงครามเย็นที่ทหารอเมริกันใช้พื้นที่อุดรธานีเป็นฐานทัพของกองทัพและส่งผลให้อุดรมีเศรษฐกิจดีมากๆ เกิดวงดนตรีระดับตำนานอย่างวง V.I.P ที่มีแหลม มอริสัน เป็นมือกีตาร์  และเนื้อหาก็แสดงให้เห็นถึงผลกระทบหลังสงครามที่ทำให้คนอุดรธานีไปซาอุดิอาระเบียกันเกือบทั้งเมือง เนื้อหาเกือบทุกส่วนยังอาศัยการมีส่วนร่วมของคนอุดรเองที่ช่วยผสานเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาคประชาชน การที่คนในเหตุการณ์ได้มาเล่า ได้ช่วยนำข้าวของเครื่องใช้จริงๆ ในยุคก่อนมาประกอบกันให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดูมีชีวิต นับเป็นประวัติศาสตร์ของจริงที่หาอ่านไม่ได้ตามห้องสมุดที่ไหนในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

อาคารศูนย์บริการพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

อาคารศูนย์บริการพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี คืออาคารที่สร้างใหม่ซึ่งอยู่ข้างๆ อาคารราชินูทิศ สร้างแทนตำแหน่งของอาคารวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานีที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ภายในอาคารศูนย์บริการฯ ประกอบไปด้วยพื้นที่รับบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ พื้นที่ขายของที่ระลึก พื้นที่แสดงนิทรรศการหมุนเวียน สำนักงาน ห้องน้ำ ร้านกาแฟ และระเบียงชมหนองประจักษ์ โดยตัวอาคารถูกออกแบบให้มีผนัง 3 ชั้นซ้อนกัน (Triple Layer)

ผนังชั้นในสุดเป็นโครงสร้างอิฐก่อ มีอิฐไม้แทรกอยู่เป็นระบบเพื่อเชื่อมโยงถึงระบบโครงสร้างของอาคารพิพิธภัณฑ์ เลเยอร์ที่ 2 เป็นผนังกระจกหุ้มอาคารทั้งหมดเพื่อควบคุมระบบปรับอากาศ และเลเยอร์สุดท้ายคือผนังเหล็กฉลุหุ้มตัวอาคารทั้งหมดไว้ โดยแพตเทิร์นของลายฉลุถูกออกแบบจากลายผ้าหมี่ขิดพระราชทาน เรียกว่า ‘หมี่ขิดลายสมเด็จ’ ซึ่งเป็นลายที่ชุมชนผ้าทอมือในจังหวัดอุดรธานีน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทำสีเหล็กฉลุทั้งหมดด้วยสีสำริดที่สื่อความหมายถึงบ้านเชียงที่อยู่ในยุคสำริด อาคารหลังนี้จึงดูเหมือนการเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของตัวอาคารระหว่างความเก่าและใหม่ที่ต้องเดินไปคู่กันเสมอ

อาคารศูนย์บริการพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

ภูมิสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองกับ ‘น้ำ

เนื่องจากอาคารพิพิธภัณฑ์อยู่ในพื้นที่ต่ำ งานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมไม่ได้มีแค่เรื่องความสวยงามเท่านั้น แต่เป็นงานออกแบบที่มีแนวคิดเรื่องการป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย หลักการคือการปรับปรุงบ่อบัวขนาดใหญ่ด้านหน้าให้รับปริมาณน้ำได้มากขึ้น และสร้างบ่อพักน้ำขนาดใหญ่ไว้ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์ บ่อน้ำด้านหน้าและด้านหลังจะเชื่อมกันโดยท่อน้ำขนาดใหญ่ใต้ดิน และจัดแลนด์สเคปด้านบนไว้ให้ดูเหมือนคลองน้ำตื้นๆ เพื่อเป็นช่องทางถ่ายเทน้ำทั้งช่วงที่น้ำท่วมและฝนแล้งแล้วบ่อน้ำด้านหน้าแห้งเกินไป

สถาปัตยกรรมร่วมสมัย

พื้นที่ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์สามารถเชื่อมกับพื้นที่ของหนองประจักษ์ ที่เป็นสวนสาธารณะของเมือง ผู้ออกแบบจึงปรับให้แนวรั้วด้านหลังอาคาร เป็นพื้นที่ที่สามารถเดินข้ามระหว่างพิพิธภัณฑ์กับหนองประจักษ์ได้ ความเชื่อมโยงนี้ทำให้พื้นที่สาธารณะทั้งสองส่วนสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันและเปิดโอกาสให้คุณค่าของอาคารเก่าได้แสดงให้เห็นอิทธิพลของความนิยมในศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่เฟื่องฟูมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และร่องรอยประวัติศาสตร์ภาคประชาชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีภายในนิทรรศการ ซึ่งทั้งหมดคืองานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่มีความหมายว่า การสร้างปัจจุบันเพื่อให้อดีตเดินต่อไปได้

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

สถานที่ตั้ง : ถนนโพศรี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ช่วงเวลาทำการ : 08.30 – 16.30 น. ปิดทุกวันจันทร์

เจ้าของโครงการ : เทศบาลนครอุดรธานี

คณะทำงาน : บริษัท ซิตี้นีออน ดิสเพลส์ แอนด์ คอนสตรั๊คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

ที่ปรึกษาโครงการ : กรมศิลปากรบริษัท เซียมเวอร์คส จำกัด

Writer & Photographer

Avatar

ปองพล ยุทธรัตน์

สถาปนิกสายเลือดอีสานผู้มีความสนใจกระบวนการเกิดของสถาปัตยกรรมในแต่ละยุคสมัยเพื่อค้นหาความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ