24 กุมภาพันธ์ 2018
17 K

“โตขึ้นผมจะเป็นคนฉายหนังครับ”  

นี่คือคำพูดและความรู้สึกหลงใหลในโรงหนังของโตโต้ เด็กน้อยที่มีต่ออัลเฟรโด คนฉายหนังในโรงภาพยนตร์จากในหนังเรื่อง Cinema Paradiso

แม้ผมจะไมไ่ด้หลงใหลในเสน่ห์ของโรงภาพยนตร์มากเท่ากับที่โตโต้มี แต่ก็ถือว่าผูกพันกับโรงหนังแห่งหนึ่งอยู่เหมือนกัน สมัยที่ผมเรียนมัธยม (ไม่อยากบอกเลยว่าเป็นช่วงปี 90) โรงเรียนที่ผมเรียนนั้นตั้งอยู่แถวถนนสาทร เวลาที่เราเลิกเรียนหรือโดดเรียนกันตามประสาเด็ก ก็มักจะไปลงเอยกันแถวบางรักอยู่บ่อยๆ เพราะมีทั้งห้าง ร้านอาหาร ร้านเกม อยู่มากมาย และแน่นอนว่าแถวนั้นก็มีโรงหนังเก่าแก่ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบเล็กๆ แห่งหนึ่งด้วย นั่นก็คือโรงหนังปรินซ์รามานั่นเอง

โรงหนังปรินซ์รามา

โรงหนังปรินซ์รามาเป็นโรงหนังสแตนด์อะโลนที่ตั้งอยู่แบบงงๆ สำหรับเราในสมัยนั้น คือตัวโรงหนังไม่ได้ตั้งอยู่ริมถนน แต่ตั้งอยู่ด้านในชุมชนและมีตึกแถวขนาดเล็กๆ ที่หันหน้าเข้าหาโรงหนังเรียงรายล้อมรอบเป็นวงกลม ทางเดินระหว่างโรงหนังและตึกแถวนั้นก็เล็กและแคบ ยิ่งตึกแถวทั้งหลายรอบๆ นั้นเอาข้าวของเครื่องใช้ไปจนถึงตั้งร้านขายอาหารที่ตรงหน้าบ้านด้วยก็ยิ่งทำให้ทางเดินนั้นแคบลงไปอีกจนดูเป็นซอยที่น่ากลัวหน่อยๆ ซะด้วย แถม ณ วันนั้นโรงหนังปรินซ์รามาแห่งนี้ได้เข้าสู่ยุคโรยราแล้วจึงเปลี่ยนตัวเองเป็นโรงหนังที่ฉายหนังควบหรือหนังโป๊ที่เป็นเหมือนของต้องห้ามของนักเรียนอย่างเราๆ พอผสมกับบรรยากาศซอยแคบๆ วุ่นวายๆ ก็เลยทำให้เป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับเด็กคนนึงที่จะเข้าไปด้านในโรงหนังแห่งนี้

โรงหนังปรินซ์

แต่ก็มีเพื่อนที่เฮี้ยวๆ ในชั้นเรียนบางคนแอบหลบเข้าไปดูหนังควบในนั้นก่อนจะเอามาเล่าอย่างออกรสในห้องเรียนของวันรุ่งขึ้น เพื่อนคนอื่นที่ได้ฟังก็ต่างตื่นเต้นและกลายเป็นเรื่องสุดเจ๋งถ้าใครเคยเข้าไปดูหนังควบในนั้นได้ ตลอดเวลาที่เรียนชั้นมัธยม การได้เข้าไปใกล้โรงหนังที่สุดของผมก็เป็นได้แค่การนั่งกินโจ๊กหมูก้อนโตหอมกลิ่นไหม้นิดๆ ด้านหน้าโรงหนังเท่านั้นเอง พอได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่อยู่อีกฟากนึงของเมืองผมก็ค่อยๆ ห่างและหายไปจากย่านบางรัก จนเมื่อมีโอกาสได้ผ่านมาบางรักอีกทีหลังจากนั้นก็พบว่าโรงหนังปรินซ์รามาได้ปิดตัวลงไปแล้วพร้อมๆ กับความฝันในวัยเด็กของผมที่อยากเข้าไปเห็นข้างในโรงหนังเช่นกัน สมกับที่เป็นช่วงเวลาที่โรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์เบ่งบานอยู่ทุกซอกมุมของเมือง

หลังจากนั้นเป็นต้นมาผมก็ได้ยินข่าวคราวการค่อยๆ ล้มหายตายจากไปของโรงหนังสแตนด์อะโลนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนอกเมืองในเมือง ด้วยค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเป็นคอนโดมิเนียมบ้าง ห้างบ้าง จนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแม้แต่โรงหนังใจกลางเมืองที่มีการตกแต่งสวยงามวิจิตรอลังการเป็นที่น่าจดจำของยุคสมัยอย่างสกาลาก็ยังไม่รอดพ้นข่าวลือเรื่องของการปิดตัวลงออกมาอย่างต่อเนื่อง หลายเสียงออกมาสนับสนุนให้โรงหนังสแตนด์อะโลนย่านสยามสแควร์ยังคงยืนหยัดต่อไปในโลกที่หมุนผ่านยุครุ่งเรืองของมันไปแล้ว ยอดคนดูจำนวนหยิบมือที่เราเห็นตอนที่ไฟเปิดหลังหนังจบลงเป็นเครื่องยืนยันหนักแน่นให้เราเห็นถึงความโรยรา  ใช่-แม้แต่ผุ้ที่สนับสนุนเหล่านั้นที่อยากให้โรงหนังคงอยู่ก็อาจจะแทบไม่เคยได้มาดูหนังที่โรงหนังสแตนด์อโลนแบบนี้เลยก็เป็นได้ การที่มีอาคารเก่าจากยุคก่อนๆ หลงเหลืออยู่ในยุคสมัยใหม่นั้นก็เป็นเรื่องที่ผมเองก็ชอบและชื่นชม อย่างน้อยที่สุดตึกเก่าเหล่านั้นมันบอกเราถึงอดีตที่บ้านเมืองเราเคยผ่านมา แต่มันก็ไม่น่าใช่เรื่องที่เราจะไปเรียกร้องกดดันเจ้าของตึกนั้นๆ ให้กัดฟันรันธุรกิจที่แสนจะโรยรานี้ต่อไปเรื่อยๆ ราวกับบังคับคนชราวัยเกษียณให้ยังคงทำงานหนักในรูปแบบเดิมในโลกใหม่ที่พวกเขาไม่เข้าใจอีกต่อไปแล้ว แทนที่จะเป็นการทำงานที่เน้นประสบการณ์และความเก๋าที่เคยผ่านมา

ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันอาจจะถึงวันที่โรงหนังเก่าต้องปรับเปลี่ยนหน้าที่การใช้งานเป็นสิ่งอื่นที่เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้นก็เป็นได้ ดังเช่นที่โรงหนังปรินซ์รามาเคยเปลี่ยนผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งจากบ่อนหลวงสู่โรงหนัง และในตอนนี้มันกำลังจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเพื่อกลายมาเป็นโรงแรมในชื่อ HOTEL PRINCE THEATRE HERITAGE STAY และนี่ก็คือเรื่องราวการปรับตัวบทใหม่ของโรงหนังปรินซ์รามาซึ่งผมจะไม่ยอมพลาดโอกาสการเข้าไปด้านในอีกแล้ว ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะเตรียมป๊อปคอร์นและเครื่องดื่มให้พร้อม และไม่ลืมปิดเครื่องมือสื่อสารให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้รบกวนผู้อื่น ถ้าพร้อมแล้วก็ขอเชิญรับชมโดยพร้อมเพรียงกัน…

โรงหนังปรินซ์รามา

Hotel Prince Theatre Heritage Stay

01

Ocean Eleven

ผมเดินทะลุซอยเล็กๆ ด้านหน้าโรงหนัง ผ่านร้านโจ๊กชื่อดังด้านซ้ายมือด้วยใจที่เต้นรัว เพราะตื่นเต้นที่จะได้เห็นโฉมใหม่ของอดีตโรงหนังโป๊แห่งนี้ วันนี้ผมมีนัดสัมภาษณ์กับผู้บริหารและผู้ดูแลของโรงแรมแห่งใหม่ล่าสุดของย่านบางรัก เสียงดังของการก่อสร้างที่ลอยมาจากอาคารทรงกลมด้านในซอยบอกผมว่าอีกไม่นานที่แห่งนี้จะกลับมามีชีวิตและคึกคักอีกครั้งเหมือนที่มันเคยเป็นมาเมื่อในอดีต ผมเปิดประตูเข้าไปในโถงกลางโรงแรมที่ยังคงมีจอหนังและเวทีอยู่ตามเดิม ที่ต่างไปคงจะเป็นชื่อโรงหนังที่กลายมาเป็น HOTEL PRINCE THEATRE HERITAGE STAY ด้านหน้าของผมนั้นคือ คุณป่าน-กิตติศักดิ์ ปัทมเสวี Chief Commercial Officer ของบริษัท Montara ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ และ อ.ตุ่ย-จิตติพันธ์ ศรีกสิกร ผู้ดูแลโปรเจกต์นี้ ทั้งสองคนนี้คือตัวแสดงหลักที่ลงมือและลงแรงเปลี่ยนแปลงโรงหนังแห่งนี้ ผมจึงได้ทักทายและเริ่มเปิดบทสนทนาถึงที่มาที่ไปของการปรับเปลี่ยนนี้

บริษัท Montara ของคุณป่านนั้นเป็นบริษัทที่ทำรีสอร์ตแบบ luxury อยู่ที่ภูเก็ตชื่อ TRISARA ซึ่งเป็นที่พักที่มีจุดเด่นอยู่ที่ห้องพักทุกหลังนั้นเป็นแบบ pool villa ทั้งหมด ซึ่งก็ถือว่าเป็นที่พักที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก หลังจากที่ดูแลพัฒนารีสอร์ตจนเริ่มอยู่ตัวแล้ว คุณป่านก็เลยเริ่มที่จะหันมามองการทำโรงแรมในกรุงเทพฯ ดูบ้าง โจทย์ในตอนนั้นของคุณป่านคือจะถ่ายทอดความพิเศษแบบวิลล่าที่ภูเก็ตมาสู่กรุงเทพไ้ด้อย่างไร คำตอบที่คุณป่านได้มาจากการทำรีเสิร์ชผสมกับความชอบอนุรักษ์อาคารเก่าของทางคุณพ่อและคุณแม่ ก็คือเรื่องราวและประสบการณ์ของอาคารเก่าในกรุงเทพฯ นั่นเอง นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มติดต่อกับทางกรมธนารักษ์

“ตอนแรกสุดที่เรามองหาโลเคชัน เราก็ได้พูดคุยกับทางกรมธนารักษ์และรับรู้ถึงตัวโปรเจกต์โรงหนังปรินซ์รามานี้ ตอนที่ได้ไปดูก็คิดว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้เลย โรงหนังปิดตัวไปแล้ว สภาพภายในก็เหมือนเป็นที่เก็บขยะของคนในชุมชนแทน คือเราก็เคยเห็นคนที่หยิบเอาอาคารเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วหลายอันมาปัดฝุ่นทำใหม่ ทั้งโกดังหรือโรงพิมพ์ แต่สำหรับโรงหนังแห่งนี้ที่สภาพโทรมมากๆ เนี่ยคิดว่าเราไม่น่าจะทำมันออกมาได้ บังเอิญว่าช่วงนั้นได้ไปพูดในงานเวิร์กช็อปเรื่องการเอาบ้านเก่ามาทำเป็นโรงแรม ก็ได้เจอกับ อ.ตุ่ย ที่มาพูดในงานเหมือนกัน หลังจากที่ได้พูดคุยกัน ก็เลยเริ่มมารู้สึกว่าด้วยคาแรกเตอร์ที่พิเศษของโรงหนังถ้าหยิบมาทำเป็นโฮสเทลก็อาจจะมีความเป็นไปได้อยู่ แล้วก็คงจะดีถ้ามีคนมาช่วยดูแลในส่วนนี้ ผมก็เลยเชิญ อ.ตุ่ย มาช่วยกันทำโรงแรมแห่งนี้ด้วยในฐานะ Managing Director” คุณป่านเล่าให้ฟังถึงที่มาของการหยิบโรงหนังปรินซ์รามามาทำใหม่

Prince Theatre Heritage Stay

Hotel Prince Theatre Heritage Stay

ผมหันมาถามทาง อ.ตุ่ย บ้างว่าเห็นอะไรในตัวโรงหนังนี้ ถึงยอมมาร่วมงานกับทางคุณป่านด้วยกัน

“ตัวผมเป็นคนชอบตึกเก่าในส่วนของความมีเรื่องราวที่ซ่อนไว้ และมันจะเป็นเหตุผลว่าทำไมตึกนี้ถึงหน้าตาแบบนั้น ความสนุกที่ได้รู้เรื่องราวของมันและได้รู้วิธีคิดในการสร้างมันขึ้นมา นี่คือเสน่ห์ที่เราหลงใหล ภาพแรกที่คนคิดถึงโรงหนังปรินซ์คือโรงหนังปรินซ์ เป็นที่ที่สกปรก ภาพลักษณ์ไม่ดี แต่จริงๆ มันมีเรื่องราวอื่นๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่ ที่มาของอาคารแห่งนี้มันเกิดจากความห่วงใยประชาชนของรัชกาลที่ 5 ส่วนตัวที่ผมไปศึกษามานั้นโรงหนังแห่งนี้เกิดขึ้นในตอนแรกเป็นโรงบ่อนหลวงถูกกฎหมายมาก่อน ทีนี้พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปก็เลยทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเลิกทาส โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดระบบทาสขึ้นนั้นมันมาจากการเป็นหนี้พนัน พระองค์เลยทรงมีพระราชดำริจะยกเลิกบ่อนทั้งหมด แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไปเพราะในยุคนั้นโรงบ่อนเฉพาะกรุงเทพฯ มีจำนวนถึง 413 แห่ง โรงบ่อนเหล่านี้สามารถเปิดได้อย่างเสรีโดยการประมูลส่งเงินเข้าหลวง คนที่ได้รับประมูลมาจะมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒนสมบัติที่เป็นตำแหน่งนายอากรบ่อนเบี้ย พระองค์จึงทรงค่อยๆ ควบคุม โดยการปิดบ่อนที่มีอยู่เดิม แล้วเปิดเป็นบ่อนหลวงขึ้นมาเองเพื่อจะได้ควบคุมและจัดการได้ง่ายขึ้นในปี 2455 ซึ่งมีทั้งหมด 5 แห่งในกรุงเทพฯ คือ บางรัก นางเลิ้ง ตลาดน้อย เยาวราช ก่อนที่จะปิดบ่อนอย่างถาวรลงในปี 2460 (ในยุครัชกาลที่ 6) พอหลังจากบ่อนปิดตัวแล้วก็ถูกปรับปรุงแล้วเปิดกิจการใหม่เป็นโรงหนังปรินซ์ต่อเนื่องมา ก่อนจะเริ่มซบเซากลายมาเป็นโรงหนังโป๊ และปิดตัวลงไปอย่างถาวรในปี 2008

“ซึ่งในมุมมองผม ผมเห็นถึงเรื่องราว ศักยภาพ และความเป็นไปได้ ที่จะทำออกมาให้เป็นโรงแรม จริงๆ แค่ไอเดียการปรับเอาโรงหนังมาทำเป็นโรงแรมใครได้ยินก็ต้องชื่นชอบกันอยู่แล้ว แล้วที่นี่เป็นโรงหนังที่ยังคงเป็นโครงสร้างไม้อีกด้วยก็ยิ่งทำให้มันมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้นไปอีก ผมก็เลยมาร่วมงานกันกับทางคุณป่านเพื่อพัฒนาโรงหนังแห่งนี้”

02

Cinema Paradiso

วันแรกที่เข้ามาดูมันคือสถานที่ทิ้งขยะของชุมชน เพราะก่อนหน้านี้ในตัวชุมชนก็พึ่งรีโนเวตปรับปรุงหน้าบ้านไปทั้งหมด อะไรที่เหลือหรือเกินออกมาเขาก็มาวางกันที่โรงหนังนี้ คนเร่ร่อนก็มีมานอนในนี้ เหมือนเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน” คุณป่านเล่าให้ฟังถึงสภาพของโรงหนังในวันแรกที่เข้ามาดูกัน ด้วยระยะเวลาการเช่าจากกรมธนารักษ์ซึ่งไม่ได้ยาวนานมากนักคือประมาณ 10 ปี (ในสัญญาฉบับแรกนี้) ทำให้ทางคุณป่านและคุณตุ่ยต้องมองหารูปแบบวิธีการปรับปรุงให้เป็นโรงแรมที่ต้นทุนต่ำที่สุดดู

“ไอเดียแรกสุดที่ทางคุณป่านกับ อ.ตุ่ย คิดขึ้นมาได้คือใช้รถบ้านหรือแคมปิ้งแวนมาทำเป็นห้องพัก คือมีคอนเซปต์เป็นเหมือนโรงหนังไดรฟ์อินเหมือนที่เราเห็นกันในหนังฮอลลีวูด ข้อดีที่สุดของการใช้รถบ้านมาทำเป็นห้องพักคือ มันง่ายและจบสมบูรณ์ในคันเดียว เพราะในหนึ่งคันมีทั้งห้องน้ำห้องนอนครบหมดโดยไม่จำเป็นต้องก่อสร้างอะไรขึ้นมาเลย แต่ด้วยกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานห้องพักที่เพดานต้องมีความสูง 2.60 เมตร ความสูงของแคมปิ้งแวนมันเตี้ยกว่าที่กฎหมายกำหนด ไอเดียนี้เลยตกไป จึงต้องกลับมาที่การก่อสร้างห้องพักขึ้นมาแทน โดยรูปแบบของห้องพักที่ถูกหยิบมาพิจารณานั้นกลับไม่ใช่ห้องพักแบบบูติกโฮเทลตามที่เราคุ้นเคยกัน แต่กลับกลายเป็นที่พักที่มีการแชร์ห้องน้ำกันอย่างโฮสเทลแทน ผมถามทางคุณป่านถึงที่มาซึ่งหยิบเอารูปแบบของโฮสเทลมาใช้งาน

Prince Theatre Heritage Stay

Hotel Prince Theatre Heritage Stay

“ผมเริ่มต้นจากบิซิเนสโมเดลก่อน ด้วยระยะเวลาการเช่าที่ไมไ่ด้ยาวนานนักผสมกับการลงทุนที่ค่อนข้างสูงของการรีโนเวต เราเลยมองรูปแบบที่พักที่สามารถรองรับแขกให้ได้มากที่สุด คือประมาณ 130 คน เลยมาลงตัวกันที่รูปแบบที่พักแบบแชร์ห้องน้ำกันอย่างโฮสเทล ทีนี้โฮสเทลที่มีในท้องตลาดมักจะเน้นไปที่ราคาถูกสำหรับนักเดินทางที่มีงบจำกัด และมีกิจกรรมหรือพื้นที่ที่ทำให้นักเดินทางได้เจอเพื่อนใหม่ๆ แต่สิ่งที่ยังไม่มีในท้องตลาดก็คือ คาแรกเตอร์และเอกลักษณ์ของที่พักอย่างพวกบูติกโฮเทลที่หยิบอาคารโรงพิมพ์เก่า โกดังเก่า ที่มีเรื่องราวมาทำให้ผู้ที่มาพักมีประสบการณ์แตกต่างจากที่อื่น ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการในยุคนี้ ทีนี้ผมก็ไปประชุมกับพวกเอเยนต์การท่องเที่ยวที่อเมริกามา ทางนั้นก็มีตัวเลขมาให้ดูว่ายอดการจองโรงแรมผ่านเอเยนต์ในปีหน้านี้ ยอดของบูติกโฮเทลมากกว่าของทาง chain hotel ไปแล้ว ความแข็งแกร่งของโรงแรมเชนที่มีมาตรฐานและคุณภาพเท่ากันทุกที่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวอีกต่อไป

“ด้วยความที่เรามักชอบฉีกออกมาจากคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา และพอมองเห็นโอกาสนี้ เราก็เลยจะเน้นเรื่องของตัวตึกอาคารที่เป็นโรงหนังเก่า มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมอบประสบการณ์แบบ heritage stay ให้แก่นักเดินทางที่มาพักโดยแตกต่างจากที่อื่น” คุณป่านเล่าถึงที่มาของไอเดีย

Prince Theatre Heritage Stay

หลังจากที่ได้รูปแบบของที่พักมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะมาออกแบบประสบการณ์ heritage stay ลงไปในโรงแรมแล้ว ทางคุณป่านและ อ.ตุ่ย ก็ได้เลือกหยิบเอาจุดแข็งของสถานที่อย่างโรงหนัง มาปรับใหม่ให้มีการใช้งานที่เหมาะกับรูปแบบของโรงแรมและนักเดินทาง อย่างส่วนของจอฉายหนังและเวทีซึ่งเป็นของเดิม บางวันก็จะมีจัดฉายหนังตามที่เคยเป็นมา และยังสามารถปรับให้ฉายเรื่องราวของผู้ที่มาพักได้อีกด้วย เพราะในยุคปัจจุบันเป็นยุคใหม่ที่ตัวตนของทุกคนอยู่ใน social media แล้วแทบทุกคนมีความรักในการเล่าเรื่องราวของตัวเอง จอหนังนี้ก็เลยจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่รวบรวมและเล่าเรื่องราวของนักเดินทางที่มาพักที่นี่ อย่างห้องขายตั๋วก็ปรับมาให้เป็นบาร์ขายเครื่องดื่มที่มีคอนเซปต์มาจากหนังเรื่องต่างๆ หรือการจัดทัวร์เดินชมร้านค้าพร้อมเล่าให้ฟังถึงที่มาและเรื่องราวรอบๆ บริเวณที่เหมือนเป็นระบบนิเวศของบ่อนเก่าแห่งนี้ได้อีกด้วย

และนอกจากประสบการณ์ความเป็น heritage ที่ใส่ลงไปในโรงแรมแล้ว ตัวห้องพักก็ยังคงต้องตอบสนองรูปแบบการเดินทางของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันอีกด้วย อย่างกลุ่มนักท่องเที่ยวหญิงล้วนที่เดินทางมาด้วยกันซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ในท้องตลาด ก็จะมีความต้องการก็จะต่างออกไปจากโฮสเทลเดิมๆ ห้องพักรวมของที่นี่ก็เลยมีห้องน้ำและห้องอาบน้ำอยู่ในตัวห้องเลย ไม่จำเป็นต้องเดินออกไปใช้ห้องน้ำส่วนกลาง และแยกส่วนของห้องพักหญิงออกมาจากส่วนอื่นๆ ของโรงแรมเลย หรือนักท่องเที่ยวที่อยากพักห้องส่วนตัวเราก็มีห้องส่วนตัวให้บริการเช่นกัน

03

Saving Private Ryan

อ.ตุ่ย ซึ่งเป็นผู้มาเริ่มลงมือรีโนเวตยิ้ม ก่อนจะบอกผมถึงเคล็ดลับขั้นตอนแรกและสำคัญที่สุดของการรีโนเวตนั่นก็คือ ‘การเก็บขยะ’

“สิ่งแรกและเป็นสิ่งสำคัญคือเก็บขยะที่มีอยู่ทั้งหมดออกไปครับ (ฮา) อย่างที่บอกว่าตั้งแต่ที่นี่ปิดกิจการไปก็กลายมาเป็นที่ทิ้งขยะของชุมชน เพื่อที่เราจะได้เห็นโครงสร้างและหน้าตาจริงๆ ของอาคารนี้ทั้งหมดและสามารถวางแผนต่อไปได้ ตัวผมเองก็ขึ้นไปในส่วนของออฟฟิศของโรงหนังเพื่อเก็บขยะเช่นเดียวกัน การรื้อกระดาษในโต๊ะทำงานมาทีละแผ่นๆ จะช่วยทำให้เราได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับที่นี่มาเยอะมาก อย่างหนังทุกเรื่องที่โรงหนังนี้เคยฉายมามีเรื่องอะไรบ้าง ความเป็นมาของโรงหนังเป็นยังไง ซึ่งจะสามารถให้เราหยิบเอามาเล่าเรื่องความเป็นมาได้อย่างลึกซึ้งขึ้น อย่างห้องพักส่วนตัวของเราก็มีธีมห้องงิ้วหรือโอเปร่า ซึ่งก็ได้ข้อมูลมาจากเอกสารที่เจอว่าช่วงพักเบรกในบ่อนมักจะมีการเล่นงิ้วเพื่อผ่อนคลายแก่นักพนัน

Hotel Prince Theatre Heritage Stay

Prince Theatre Heritage Stay

“แล้วพอเราเอาขยะทั้งหมดออกไปแล้วเราก็เรียกบริษัทที่ปรึกษาด้านโครงสร้างให้เข้ามาตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างเดิมที่มี ทั้งเสา เนื้อไม้ ผิวปูน ก็พบว่าเสาทุกต้นในโรงหนังแห่งนี้อยู่ในสภาพวิกฤต เสามันขาดจากฐานรากไปหมดแล้ว คืออธิบายง่ายๆ ว่ามันแทบจะรับแรงอะไรไม่ได้แล้ว การจะปรับปรุงก็ต้องคิดเผื่องบประมาณในเรื่องของการทำฐานรากและโครงสร้างใหม่ทั้งหมดขึ้นมาด้วย ทีนี้รูปแบบของโรงหนังโดยทั่วไปมันก็คล้ายกับโกดังหรือโรงงาน คือมีหลังคาคลุมอาคาร ด้วยการปรับฟังก์ชันจากโรงหนังที่เป็นพื้นที่โล่งมีหลังคาคลุมมาทำเป็นโรงแรมที่ต้องมีการกั้นพื้นที่ ปรับฟังก์ชันใหม่ ก็ทำให้เราต้องมาเลือกดูว่าจะเก็บความเก่าส่วนไหนไว้ จะเพิ่มพื้นที่การใช้งานภายใต้โครงเดิมได้ยังไงบ้าง เราก็พยายามเก็บคาแรกเตอร์ให้เหมือนเดิมโดยเปลี่ยนหลังคาเป็นเมทัลชีทแทน อารมณ์ก็แบบเดิม ฝนตกก็ดังเหมือนเดิม ด้านไหนที่เป็นผนังปูนเดิมเราก็ปล่อยไว้ ผนังด้านหลังของโรงหนังที่เป็นสังกะสีเราก็เปลี่ยนเป็นเมทัลชีทให้มันเป็นฟีลลิ่งเดิมเช่นเดียวกัน ส่วนพวกโครงสร้างไม้เดิมๆ นั้นผุไปประมาณ 20 – 30% เราก็ซ่อมโดยการเข้าโครงแบบเดิม ไม้ที่ผุเราก็เอาไม้มาเสริมประกบเข้าไปให้มันแข็งแรงขึ้นและดูภายนอกแล้วไม่แตกต่างไป หรือเสาต้นไหนที่ผุจริงๆ เราก็เอาเหล็กมาช่วยยึดโครงไว้โดยให้ยังคงเห็นเสาไม้แบบเดิมให้มากที่สุด”

Hotel Prince Theatre Heritage Stay

อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความโชคดีที่โรงหนังปรินซ์มีหลังคาที่สูงมาก ทำให้สามารถแบ่งกั้นด้านในออกได้เป็น 2 ชั้น ชั้นล่างจะเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ล็อบบี้ และห้องพักรวมเฉพาะผู้หญิง ส่วนชั้นสองจะเป็นห้องพักแบบส่วนตัวและห้องพักห้องรวมทั่วไป ความเจ๋งที่สุดของการที่หยิบเอาข้อไ้ด้เปรียบที่สุดของโรงหนังมาปรับใช้นั้นอยู่ที่ตัวห้องพักชั้นบนของโรงแรม เพราะด้วยความสูงที่เหลือเฟือจึงมากพอจะทำให้ห้องพักส่วนหนึ่งของชั้นบนมีชั้นลอยอยู่ด้านในอีกทีนึง หรือเป็นห้องแบบ duplex ถ้าจะพูดให้เห็นภาพมากขึ้นไปอีกคือเหมือนเป็นอาคาร 3 ชั้นที่อยู่ใต้กรอบโรงหนังปรินซ์เดิมนั่นเอง ห้องพักรวมก็มีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้นจากการมีชั้นลอย ห้องไพรเวทก็เลยเหมือนมีห้องนั่งเล่นอยู่ที่ชั้นล่างและห้องนอนอยู่ข้างบน ถือว่าเป็นการเล่นกับพื้นที่ที่มีได้อย่างน่าสนใจมากๆ

Prince Theatre Heritage Stay

04

Before Sunrise

ด้วยภาพโรงแรมที่สวยงามใกล้เสร็จสมบูรณ์เบื้องหน้า มันทำให้ผมนึกภาพจากตอนเริ่มแรกที่เป็นที่เก็บขยะไม่ออกเอาซะเลย การเปลี่ยนแปลงระดับหน้ามือเป็นหลังมือแบบนี้น่าจะมีปัญหาหน้างานอยู่เยอะมากแน่ๆ ผมเลยถาม อ.ตุ่ย ถึงอุปสรรคในการรีโนเวตโรงหนังแห่งนี้ว่าเจออะไรมากันบ้าง

“เจอมาเยอะมากครับ จริงๆ แล้วปัญหามันจะมีอยู่ทุกช่วง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่นๆ ในชุมชนที่ดี ชาวบ้านรอบๆ ชุมชนนี้เขานอนกันเร็วมากเพราะต้องตื่นแต่เช้ามาขายของกัน เราก็เลยจะไม่ทำงานก่อสร้างกันไปจนถึงตอนดึก คือต้องเห็นใจคนที่อยู่กันรอบๆ นี่จริงๆ

Prince Theatre Heritage Stay

Prince Theatre Heritage Stay

จุดที่ยากและวุ่นวายที่สุดของที่นี่คือถังบำบัด เพราะการที่เป็นที่พักค้างคืนและต้องรองรับคนจำนวนมาก ทำให้ถังบำบัดต้องมีขนาดใหญ่มากตามไปด้วย เราก็เลยขุดหลุมเพื่อจะฝังถังบำบัด แต่ด้วยการที่เป็นพื้นที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาก็เลยมีน้ำซึมเข้ามาในหลุมอยู่ตลอดเวลา เราก็ต้องคอยสูบน้ำออก พร้อมทั้งทำฐานราก ตอกเสาเข็ม ทำผนังกันดิน หล่อผนังปูน ก็กินเวลาไป 3 เดือนในการจัดการสิ่งนี้อย่างเดียว

แม้แต่การก่อสร้างก็ยากและวุ่นวายมาก เพราะพื้นที่ของโรงหนังจริงๆ มันก็ไม่ได้ใหญ่ พอเราเริ่มก่อสร้างหน้างาน ก็ทำให้เราไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับวางวัสดุก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้น ด้านนอกที่เป็นซอยเล็กๆ ก็เป็นที่สัญจรของชุมชนซึ่งเราก็ไม่สามารถวางวัสดุก่อสร้างได้ ก็เลยต้องทำชั้นลอยขึ้นมาก่อนเพื่อเก็บวัสดุก่อสร้าง และด้วยความที่โรงหนังมันตั้งอยู่ใจกลางชุมชนซึ่งถนนที่เป็นทางเข้ามันเล็กมากๆ จนรถปูนเข้ามาในไซต์งานไมไ่ด้ ทำให้โครงสร้างภายในทั้งหมดต้องเป็นโครงสร้างเหล็กเท่านั้น แล้วตัวเหล็กทั้งหมดที่เอาเข้ามาใช้ก็เอามาเป็นท่อนยาวไมไ่ด้เพราะติดปัญหาเรื่องขนาดของซอยเหมือนกัน ทำให้ต้องตัดเป็นท่อนๆก่อนแล้วค่อยมาเชื่อมกันอีกทีเมื่ออยู่ในไซต์แล้ว”

05

Begin Again

อย่างที่ อ.ตุ่ย เล่าให้เราฟังถึงอดีตของโรงหนังแห่งนี้ที่เคยเป็นโรงบ่อนมาก่อน แผนผังของการพัฒนาพื้นที่เพื่อทำโรงบ่อนในยุคนั้นก็เลยถูกคิดออกแบบมาให้โรงบ่อนอยู่ตรงกลาง มีร้านค้าและตลาดล้อมรอบเป็นชุมชน ผมเลยสงสัยว่าพอมาถึงในยุคนี้ที่โรงหนังถูกปรับเปลี่ยนมาให้กลายเป็นโรงแรมอีกทีนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้มันมีผลกระทบอะไรกับชาวบ้านในชุมชนนั้นบ้างมั้ย

“อย่างแรกเลยมีคนนึงเดินมาหาผมบอกว่าขอบคุณมากเลย เขามองโรงหนังร้างมาตลอดแล้วก็กลัวว่าจะเกิดไฟไหม้กับชุมชน พอเห็นเราก่อสร้างใหม่ก็โล่งใจ คือถ้าเปรียบเทียบกับสิ่งที่มันเป็นอยู่ก่อนเนี่ย ก็ถือว่ามันดีขึ้นมากแล้ว ชาวบ้านในชุมชนทุกคนเขาก็รอคอยให้โรงแรมเราเปิดตัวกันหมดเลย ทุกคนเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ตื่นเต้น ดีใจ อยากเห็นตอนที่มันเสร็จสมบูรณ์ รวมไปถึงอยากจะมีส่วนร่วมและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมนี้ แม้แต่คนที่ย้ายออกไปจากชุมชนนี้แล้วก็กลับมาดูโรงหนัง คือเขาอยากเห็นว่าโรงหนังที่เห็นมาตลอดตั้งแต่ตอนเขาเด็กๆ ถูกเปลี่ยนออกมาเป็นยังไง อย่างในช่วงตอนช่วงดีไซน์วีกเราก็จัดแสดงของใช้ที่เคยอยู่ในโรงหนังนี้ ชาวบ้านแถวๆ นี้ก็มีเดินมาหา ยกของที่บ้านมาให้เราด้วย บอกว่านี่รุ่นเก่าพอๆ กันเลย” คุณป่านเล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์หลังจากที่โรงแรมเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

“เราคิดในเรื่องของการ engage และทำงานร่วมกันกับชุมชน เรามีการพูดคุยกับชุมชนตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้าง ผมเองก็ไปคุยกับแต่ละบ้านว่าก่อนหน้านี้ทำอะไรมาบ้าง แล้วก็มาคิดว่าเขาจะมามีส่วนร่วมกับเราได้ยังไง อย่างอาม่าแซ่คูที่อยู่บ้านตรงด้านหน้าโรงหนัง ตอนนี้แกก็อยู่กับอากงกัน 2 คน แกเป็นคนทำผัดหมี่ซั่วอร่อยมาก เราก็เลยจะให้อาม่าแกทำผัดหมี่ซั่วมาเป็นอาหารเช้าให้กับแขกที่มาพัก แขกที่มาพักก็ได้ลองชิมอาหารท้องถิ่น อาม่าก็จะพอได้มีอะไรสนุกๆให้ทำอีกครั้ง ก็เหมือนทำให้ชีวิตแกมีคุณค่าและมีความหมายขึ้นมาอีกทีนึง แล้วปัจจุบันบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนนั้นถูกปิดประตูไปทั้งหมด ในอนาคตผมก็หวังว่าบ้านทุกหลังในชุมชนนี้จะได้เปิดประตูเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เหมือนสมัยที่โรงหนังรุ่งเรือง บ้านทุกหลังก็เปิดบ้านขายของแก่คนที่มาดูหนัง ซึ่งแต่ละหลังก็มีเรื่องราวของเขาเอง หนึ่งหลังก็มีหนึ่งเรื่องที่แตกต่างกันไป ถ้าทุกหลังเปิดประตูกันออกมาใหม่ก็จะทำให้ชุมชนนี้มีเสน่ห์มากขึ้นไปอีก” อ.ตุ่ย เล่าเสริมให้เราฟังเพิ่มเติม

Hotel Prince Theatre Heritage Stay

Prince Theatre Heritage Stay

06

What Dreams May Come

หลังจากที่พูดคุยกันไปจนมาถึงตอนท้ายแล้ว ผมก็นึกไปถึงโรงหนังสแตนด์อะโลนอื่นๆ ที่คงรอคอยการเปลี่ยนแปลงบางอย่างอยู่เหมือนกัน เลยถามทั้งสองคนในฐานะที่ได้เปลี่ยนโรงหนังปรินซ์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งนึงว่า สำหรับผู้ที่อยากจะชุบชีวิตโรงหนังแบบนี้บ้างควรจะเร่ิมต้นหรือเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษมั้ย

“สำหรับการปรับเปลี่ยนการใช้งานของโรงหนังสแตนด์อะโลนอื่นๆ ที่มีอยู่นั้น คุณต้องเข้าใจถึงตัวตนโรงหนังและความเป็นอยู่ของโรงหนังนั้นๆ มากกว่าจะไปเสริมแต่งเรื่องราวของมัน อย่างพอผมได้มาทำที่นี่ก็มีคนมาติดต่อบอกว่ามีโรงหนังแบบนี้อยู่ อยากทำให้มันเป็นโรงแรมแบบนี้บ้าง แต่ถ้าคิดแค่เรื่องของอาคาร สถาปัตยกรรมอย่างเดียวนั้นไม่ได้ เพราะนักเดินทางเขาก็มองแค่เรื่องที่นอน เขาจะซื้อที่นอนที่ไหนก็ได้ สิ่งที่เขามองหาอยู่จริงๆ นั้นคือประสบการณ์ ฉะนั้น ก่อนที่คุณจะเร่ิมลงมือก่อสร้างคุณต้องเข้าใจบริบทและเรื่องราวของมันให้ดีก่อน เราไม่ได้อยู่ดีๆ ก็สร้างขึ้นมา แต่เราศึกษามันจนเข้าใจเป็นอย่างดี อย่างหลังจากที่เราเปิดอย่างเป็นทางการก็จะมีระบบนิเวศของโรงบ่อนในอดีตด้วย เพราะที่ไหนมีโรงบ่อนที่นั่นจะมีโรงฝิ่น มีโรงโสเภณี มีตลาด อยู่ใกล้โรงรับจำนำ ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ถ้าคุณเข้าใจภาพเดิมก็จะสามารถร้อยเรียงไปยังภาพใหม่ที่คุณอยากให้เป็นได้ง่าย งานก่อสร้างมันก็เป็นเพียงแค่งานก่อสร้าง คุณสามารถก๊อปปี้มันได้ แต่เรื่องราวที่มันเป็นมันคือตัวตนของคุณคนเดียว ใครก็เอาสิ่งนี้ของคุณไปไม่ได้ ของใหม่ที่จะทำมันไม่สำคัญเท่าของเก่าที่คุณมีจริงๆ” อ.ตุ่ย เล่าให้เรารู้สึกเห็นภาพของเรื่องราวที่สำคัญกว่าตัวโรงแรมจริงๆ

“โปรเจกต์ HOTEL PRINCE THEATRE HERITAGE STAY ที่เราทำนี้พอมีคนรู้ก็จะมีคนหาว่าเราบ้ากันเยอะ ซึ่งจริงๆ แล้วผมค่อนข้างดีใจที่มีคนว่าเราแบบนั้นนะครับ (ฮา)

“เพราะมันหมายความว่าเรากำลังทำอะไรในสิ่งที่คนอื่นคิดไม่ถึง อย่างการที่เราสร้างอาคารขึ้นมาด้านในโรงหนังอีกทีเนี่ยมันค่อนข้างจะยากและซับซ้อน แต่การที่ทำแบบนี้มันเป็นการสร้างความแตกต่างได้จริงๆ เพราะเราอยากพิสูจน์ให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่าอาคารเก่าที่หลายคนคิดว่ามันไร้ประโยชน์เนี่ย จริงๆ มันยังมีคุณค่าอยู่ มันยังสามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก โดยเฉพาะในแง่ของธุรกิจก็ยังเป็นไปได้เช่นกัน เราอยากให้ที่นี่เป็นเหมือน show case ใหม่เพื่อให้ในอนาคตคนอื่นๆ ที่มีอาคารเก่ามีประวัติศาสตร์ก็สามารถนำมันกลับมาใช้ใหม่ให้มีคุณค่าที่สุดแบบนี้ได้” คุณป่านทิ้งท้ายให้เราเห็นถึงภาพอนาคตที่มีความหวังรางเลือนของเหล่าโรงหนังสแตนด์อโลนที่อื่นๆ ชีวิตของโรงหนังพวกนั้นก็คงจะไม่ต่างกับที่นักฉายหนังอัลเฟรโดพูดไว้ในหนัง Cinema Paradiso ตอนนึงว่า ‘Life isn’t like it the movie, life is much harder’ และเราคงจะได้เห็นกันในอนาคตอันใกล้นี้

Hotel Prince Theatre Heritage Stay โรงหนังปรินซ์

HOTEL PRINCE THEATRE HERITAGE STAY

ระยะเวลาการรีโนเวต 1 ปี
441/1 ถนนเจริญกรุง (ศรีเวียง) แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพ 10500

www.princeheritage.com
Facebook | Prince Theatre Heritage Stay

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan