ช่วงนี้ถ้าใครข้ามสะพานพระราม 8 ก็คงเห็นอาคารหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับสะพานแขวน มันเป็นอาคารเก่าที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นไม่เหมือนที่อื่น และที่ด้านหลังของตัวอาคารเหมือนกับมีตะแกรงเหล็กครอบทั้งตึกอยู่ เป็นอาคารที่มีกลิ่นอายของความเก่าผสมผสานกับความใหม่ได้อย่างลงตัว ในบางมุมมันทำให้ผมนึกถึงงานรีโนเวทอาคารชื่อดังระดับโลกอย่าง Reichstag Dome ที่เบอร์ลิน หรือ King’s Cross Concourse ที่ลอนดอน ซึ่งใช้วิธีผสมผสานระหว่างอาคารเก่าและอาคารใหม่เข้าด้วยกันใกล้เคียงกับอาคารนี้เลย

อาคารหลังนี้เคยเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ตอนนี้ถูกปรับปรุงครั้งใหญ่ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งการเรียนรู้ใหม่เอี่ยม ซึ่งภายในอาคารประกอบด้วย ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ Co-working Space แบบห้องประชุม Co-working Space พร้อมกับร้านกาแฟ และห้องประชุมใหญ่

ที่สำคัญกว่านั้นคือ อาคารริมน้ำวิวร้อยล้านหลังนี้เปิดให้พวกเราเข้าไปใช้บริการได้ฟรี!(เฉพาะในส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่ฟรีแค่ในช่วง 6 เดือนแรก) ถ้าไม่ตื่นเต้นกันตอนนี้ก็ไม่รู้จะต้องตื่นเต้นกันตอนไหนแล้วล่ะ

นี่คือการปรับตัวครั้งใหญ่ของหน่วยงานราชการที่เปลี่ยนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเขตหวงห้ามที่สุดให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ นับเป็นการฉลองวาระครบรอบ 75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจอย่างมาก และน่าจะเป็นแบบอย่างด้านการอนุรักษ์อาคารเก่าที่ดีอันนึงในบ้านเรา

คนที่จะเล่าเรื่องพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่เอี่ยมให้เราฟังได้ดีที่สุดก็คือ คุณประภากร วรรณกนก ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 

จากโรงพิมพ์ธนบัตรสู่พื้นที่สาธารณะ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2485 ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยแล้วยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยรับหลักการในเรื่องทางการเงิน 3 หนึ่งใน 3 ข้อนั้นคือ การตั้งธนาคารกลางโดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานเป็นชาวญี่ปุ่น เพื่อเอื้อประโยชน์แก่กองทัพญี่ปุ่น รัฐบาลไทยจึงอ้างกับทางญี่ปุ่นว่ากำลังดำเนินการจัดตั้งธนาคารกลางอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ามามีอำนาจควบคุมทางการเงินและเครดิตของประเทศ โดยมีพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เร่งดำเนินการโดยใช้เวลาเพียงแค่สองเดือนเท่านั้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงที่เงินเฟ้อและขาดแคลนธนบัตร การสร้างความมั่นคงด้านการเงินให้กับประเทศทางหนึ่งคือการมีโรงพิมพ์ธนบัตรในประเทศ จึงมีการสร้างโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เร่ิมก่อสร้าง พ.ศ. 2506 เสร็จ พ.ศ. 2512

อาคารหลังนี้สร้างและออกแบบโดย ดร.รชฎ กาญจนวนิช และ ม.ล.สันธยา อิสระเสนา ซึ่งเป็นวิศวกรโครงสร้างและสถาปนิกชั้นนำของยุคนั้น ที่นี่จึงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแตกต่างจากอาคารอื่นๆ โดยเฉพาะโครงสร้างหลังคาคอนกรีตหล่อรูปไข่ซ้อนกัน

อาคารแห่งนี้ต้องรองรับเครื่องพิมพ์และเครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ฐานรากของโรงพิมพ์จึงมีความแข็งแรงสูงมากๆ ด้วยความที่เครื่องพิมพ์มีขนาดใหญ่มาก อาคารหลังนี้จึงไม่มีเสารับน้ำหนักกลางห้อง หลังคาของอาคารจึงถูกออกแบบเป็นคอนกรีตหล่อตามยาว และเป็นรูปโค้งซ้อนกันหลายชั้น เพื่อช่วยดูดซับเสียงจากเครื่องจักรด้านใน

โครงหลังคานี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของโรงพิมพ์ที่ทำให้คนจดจำได้ จึงถูกหยิบมาใช้เป็นโลโก้ของศูนย์การเรียนรู้ด้วย

เมื่อความต้องการใช้ธนบัตรเพิ่มจำนวนขึ้น รวมไปถึงมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงสร้างโรงพิมพ์แห่งใหม่ที่จังหวัดนครปฐม และเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2550 ที่นี่จึงถูกปิดทิ้งไว้เฉยๆ จนกระทั่งวาระครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้บริหารของแบงก์ชาติจึงตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนมาใช้ประโยชน์ได้

“ตัวโครงสร้างหลังคาคอนกรีตและโครงสร้างอาคารยังสมบูรณ์และแข็งแรงมาก อยู่ในสภาพที่แทบจะเหมือนเดิมทั้งที่สร้างมา 48 ปีแล้ว ตัวพิพิธภัณฑ์ชั้นล่างอยู่ต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปทั้งสองชั้น แต่ก็ไม่เจอปัญหาเรื่องน้ำรั่วหรือซึมจากแม่น้ำเจ้าพระยาเลยแม้แต่นิดเดียว ปัญหาเรื่องความชื้นก็ไม่มี เดิมห้องนี้ใช้เก็บธนบัตรด้วย อาคารหลังนี้จึงเป็นอาคารเก่าที่มีลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมที่ในปัจจุบันอาคารในยุคเดียวกันนี้ถูกรื้อถอนไปเกือบหมดแล้ว และยังมีประวัติศาสตร์ด้านการเงินของประเทศด้วย” คุณประภากรเล่า

 

จากพื้นที่สาธารณะสู่ศูนย์การเรียนรู้

“เป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ชีวิตของประชาชนสัมพันธ์กับเราเสมอ ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวประชาชนคืองานของแบงก์ชาติ แต่คนทั่วไปรู้สึกว่าเรื่องที่เราทำไกลตัว เพราะเราทำเรื่องที่เข้าใจยาก ซับซ้อน และไม่สนุก ที่ผ่านมาแบงก์ชาติให้ความรู้เรื่องการเงินแก่ประชาชนเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้คนมีวินัยทางการเงิน รู้จักออมเงิน วางแผนทางการเงิน คุ้มครองตัวเองในการลงทุนได้ เราเลยอยากทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนสนใจด้านการเงิน เป็นแหล่งรวมความรู้ด้านเศรษฐกิจการเงิน รวมไปถึงเข้าใจบทบาทการทำงานและหน้าที่ของแบงก์ชาติ”

ผู้อำนวยการเล่าที่มาของแนวคิดการทำพื้นที่สาธารณะว่า

“ก่อนเริ่มโครงการเรามีการศึกษาความเป็นไปได้ และมีข้อสรุปว่าพื้นที่แห่งนี้ควรเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ผสมผสานระหว่างความรู้กับพื้นที่สาธารณะ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ Co-working Space และห้องประชุม เพราะคนสมัยนี้ไม่ได้ต้องการแค่สถานที่แบบห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์เท่านั้น บางคนแค่อยากมานั่งริมแม่น้ำบรรยากาศดีๆ อย่างเดียวก็ได้ เราเลยต้องทำตัวเป็น third place ดึงดูดให้คนเข้ามา จะได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปหันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจการเงินด้วย”

จากอาคารข้างสะพาน สู่การข้ามสะพาน

เมื่อแบงก์ชาติได้ข้อสรุปด้านการใช้งานอาคารหลังนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการประกวดแบบ คุณประภากรบอกว่าคอนเซปต์ที่บรีฟให้กับสถาปนิกคือ

“ประชาชนส่วนมากไม่รู้ว่าแบงก์ชาติทำอะไร มีความสำคัญอะไร บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีแบงก์ชาติอยู่ ภาพลักษณ์ของแบงก์ชาติดูเป็นคุณลุงในสายตาคนทั่วไป เพราะคนที่เราติดต่อด้วยเป็นสถาบันการเงิน นักวิชาการ หน่วยงานของรัฐ เราเลยอยากให้ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นประตูบ้านของแบงก์ชาติ เชื่อมภายในและภายนอก ให้ประชาชนได้เข้าใจการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง”

Creative Crew บริษัทสถาปนิกที่ชนะการประกวดแบบตีโจทย์ เป็นการสร้างความเชื่อมโยงกับประชาชน โดยการหยิบเอาส่วนเปลือกด้านนอกที่ปิดทึบของโรงพิมพ์ออก จากเดิมที่โรงพิมพ์ธนบัตรต้องมีความปลอดภัยระดับสูงสุด ทุกสิ่งต้องปิดมิดชิดอยู่ภายในอาคาร ไม่มีแม้กระทั่งช่องแสงหรือหน้าต่าง เพราะภายในอาคารมีวัสดุอุปกรณ์การทำธนบัตรรวมไปถึงธนบัตรที่พิมพ์เสร็จแล้วจำนวนมหาศาล โดยโครงสร้างด้านนอกของอาคารยังคงแบบเดิมไว้ทั้งหมด

ความเชื่อมโยงยังถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของการเชื่อมกันระหว่างอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรเก่ากับอาคารสำนักงานที่อยู่ติดกัน โดยใช้ตะแกรงเหล็กฉีกมาปิดครอบอาคารสำนักงานทั้งหลัง มองจากภายนอกจะเห็นเป็นอาคารใหม่ที่เชื่อมติดอยู่กับอาคารโรงพิมพ์เก่า

ส่วนการสัญจรด้านนอกศูนย์การเรียนรู้ การเดินทางยุคก่อนใช้แม่น้ำเป็นหลัก แต่อีกไม่นานจะมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ ทางสถาปนิกเลยออกแบบให้ตัวอาคารมีบันไดอยู่รอบด้าน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างบริบทเดิมกับบริบทใหม่ นั่นก็คือเชื่อมแม่น้ำกับรถไฟฟ้า ส่วนพื้นที่ว่างรอบอาคารก็ออกแบบให้ใช้จัดกิจกรรมได้ทั้งหมด ทั้งโถงบันได ลานกว้างด้านนอก เพื่อให้ทุกส่วนของศูนย์เรียนรู้เชื่อมต่อกันทั้งหมด

คิดถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก

ฟังก์ชันต่างๆ ของศูนย์การเรียนรู้ออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือประชาชนทั่วไป

ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยไม่ได้ออกแบบให้เป็นห้องสมุดทั่วไป แต่ทำเหมือนร้านหนังสือสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนที่มาใช้ จะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากและไกลตัว หนังสือที่ให้บริการมีทั้งหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และด้านอื่นๆที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงาน เช่น บัญชี กฎหมาย ซึ่งหนังสือส่วนหนึ่งมีเฉพาะที่ห้องสมุดนี้แห่งเดียวเท่านั้น ไปจนถึงหนังสือท่องเที่ยว นอกจากนี้ห้องสมุดยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายห้องสมุดชั้นนำของโลกอีกกว่า 7,000 แห่ง เช่น ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Stanford และ MIT ถ้าเราอยากยืมหนังสือจากห้องสมุดในมหาวิทยาลัยของอเมริกา ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยก็เป็นธุระจัดการให้ได้

ส่วนของพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแบบโดยคำนึงถึง Universal Design หรือการออกแบบเพื่อคนทุกประเภท ไม่ว่าจะนั่งวีลแชร์มา หรือมองไม่เห็น ก็เข้าถึงนิทรรศการทุกส่วนได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะตัวนิทรรศการออกแบบมาให้สอดรถเข็นเข้าไปข้างใต้ได้ คำอธิบายทุกอย่างในนิทรรศการมีภาษาเบลล์อยู่ด้วยทั้งหมด ถ้าเราโหลดแอพพลิเคชันของพิพิธภัณฑ์ก็จะมี audio guide ให้บริการด้วย

เนื้อหาหลักๆ ของพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านการตามหาความหมายของเงินตรา เรื่องรู้ความสำคัญและหน้าที่ของเงินตรา โดยทั้งหมดนั้นผ่านการจัดวางแบบ discovery ให้ผู้ชมได้ทดลองหยิบจับค้นหาเอง

ความเจ๋งของที่นี่น่าจะอยู่ที่ของจัดแสดง มีตั้งแต่เหรียญลิเดีย ซึ่งเป็นเหรียญกษาปณ์แรกของโลก เหรียญในสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา ธนบัตรในยุคแรกเริ่ม รวมไปถึงธนบัตรที่พิมพ์ในวาระพิเศษต่างๆ ของบ้านเรา เรียกว่าเราจะได้เห็นวิวัฒนาการของเงินในแผ่นดินนี้ทั้งหมด

ส่วนของ Co-working Space ก็เตรียมปลั๊กไฟ ไวไฟ รองรับการเอาคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเลตทุกประเภทเข้ามาใช้งาน ถ้าไม่มีหรือไม่ได้เตรียมมาก็มีคอมพิวเตอร์ไว้ให้บริการด้วย

จากพื้นที่แห่งความเป็นทางการ สู่ที่แฮงเอาต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

การตกแต่งภายในศูนย์การเรียนรู้ดูสบายๆ ผ่อนคลาย ผนังโมเสกที่ร่อนหลุด โครงสร้างเหล็กที่เห็นความเป็นสนิม ดูค่อนข้างไม่เป็นทางการ ช่างดูขัดแย้งภาพของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ควรจะดูภูมิฐานน่าเชื่อถือ

“เราอยากเป็นคุณลุงใจดี” คุณประภากรตอบพร้อมเสียงหัวเราะ “คนส่วนใหญ่มองแบงก์ชาติเป็นภาพนักวิชาการ แต่ศูนย์การเรียนรู้เป็นเหมือนด้าน soft side ของแบงก์ชาติ ถ้าแบงก์ชาติทำนโยบาย ดูแลธนาคาร ฝั่งนี้ก็เป็นหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจการเงิน ที่อยากมาแบ่งปันหรือช่วยเหลือประชาชนทั่วไป แบงก์ชาติแถลงนโยบายอะไร ทางศูนย์เรียนรู้ก็จะเป็นด้านที่อธิบายนโยบายพวกนั้นในภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย”

ผู้อำนวยการชี้ให้ดูสีเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายในทั้งหมด ว่าเป็นสีรองใน Corporate Identity ของแบก์ชาติ แล้วเล่าต่อว่า

“ความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดีในยุคหนึ่ง แต่ปัจจุบันความรู้ยังเกิดได้จากการแบ่งปันระหว่างคนกับคน มันสร้างความรู้ได้กว้างไกลและน่าสนใจกว่า เราจึงต้องมีพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดสิ่งนี้ด้วย พื้นที่ว่างๆ ด้านนอกรอบอาคารพร้อมจะปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับกิจกรรมทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ได้ทั้งหมด แตกต่างกับห้องสมุดยุคก่อนที่เข้าไปแล้วเราจะเห็นชั้นหนังสือเต็มไปหมด เราไม่ได้ต้องการสร้างความร่ำรวยของความรู้ผ่านชั้นหนังสือ แต่ต้องการให้ความร่ำรวยของความรู้เกิดขึ้นระหว่างคนกับคน พื้นที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้สร้างขึ้นมาแบบนั้นค่ะ”

จากห้องที่สุดมั่นคงสู่การก่อสร้างที่ยากขึ้น

“ปัญหาหลักๆ คือระยะเวลา” คุณประภากรตอบคำถามเรื่องสิ่งที่ยากที่สุดของงานนี้ “เราใช้เวลาปรับปรุงที่นี่ 14 เดือน กรอบเวลานี้รวมตัวสถาปัตยกรรมและพิพิธภัณฑ์ด้วย ตามหลักของการทำสัญญาก่อสร้างของรัฐ นั่นแปลว่าตัวพิพิธภัณฑ์ต้องทำไปพร้อมๆ ไปกับงานโครงสร้าง แต่ของที่นำมาจัดแสดงจะเข้ามาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้เมื่อสภาพแวดล้อมอย่างอุณหภูมิและความชื้นในอาคารเหมาะสม ทุกฝ่ายต้องทำงานพร้อมกันตามกรอบเวลาแบบเป๊ะๆ

“ในการปรับปรุงอาคารเก่าเราเจอเรื่องไม่คาดฝันทุกวัน ยิ่งเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้งานจากโรงพิมพ์ธนบัตรที่ค่อนข้างเป็นสถานที่ปิดมาเป็นพื้นที่เปิด ผนังของห้องมั่นคงที่เคยเป็นห้องเก็บธนบัตรมีความหนาประมาณ 80 เซนติเมตร ทำให้ใช้เวลาทุบออกนานกว่าที่วางแผนไว้ แม้แต่การย้ายประตูเซฟของห้องมั่นคงเอามาใช้งานบริเวณชั้นอื่นยังขนย้ายกันยากมากๆ”

จากศูนย์การเรียนรู้สู่ทุกคน

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดหวังว่าคนที่มาใช้งานจะเดินออกไปพร้อมกับอะไร

“เราอยากให้คนที่เดินเข้ามามีความรู้มากขึ้น ในตอนที่เขาเดินออกไป นี่คือเป้าหมายใหญ่สุดของเรา ไม่ว่าจะผ่านพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด Co-working Space หรือกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะถ้าประชาชนมีความตระหนักรู้และมีวินัยทางการเงินจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ ปัญหาหนึ่งที่แบงก์ชาติกังวลมากก็คือ การไม่เก็บออมเงิน และไม่วางแผนการเงินในอนาคตของชาว Gen Y

“เราเป็นธนาคารกลาง เป็นผู้นำทางนโยบายการเงิน แต่เราก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชน ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จึงไม่ใช่สถานที่ให้ความรู้กับประชาชนทางเดียว แต่เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแบงก์ชาติและประชาชนมากกว่า” คุณประภากรทิ้งท้ายถึงหัวใจหลักของการปรับเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้จากสถานที่ที่เคยปิดมิดชิดที่สุด สู่สถานที่สาธารณะที่ชวนทุกคนเข้ามาให้บริการ

นอกจากสถาปัตยกรรมภายนอกที่สวยงามแล้ว แทบทุกส่วนด้านในไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด Co-working Space ห้องประชุม รวมไปถึงระเบียงไม้ริมแม่น้ำ ก็สวยงามและน่ามาใช้บริการอย่างมาก นอกจากบรรยากาศดีแล้วยังได้มีความรู้เพิ่มเติมกลับไปบ้านด้วย

น่าลองมาเยือนที่นี่ดูสักครั้งนะครับ 🙂

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งชาติ

ระยะเวลาการปรับปรุง : 14 เดือน

สถาปนิก : Creative crew

เปิดให้บริการ : ตั้งแต่วันนี้ (4 มกราคม 2561) เป็นต้นไป ตั้งแต่เวลา 09.30 – 20.00 น.

โดยพิพิธภัณฑ์จะปิดในเวลา 16.00 น. (เข้าชมฟรี 6 เดือนแรก-รีบมากันนะทุกคน)

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพ 10200

ข้อมูลเพิ่มเติม : ให้บริการอาคารจอดรถ (จุ 150 คัน) ค่าบริการชั่วโมงละ 20 บาท

ถ้าประทับตราบัตรจอดรถเมื่อมาใช้บริการที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ จะจอดฟรี 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีที่จอดรถจักรยานยนต์และจักรยานให้บริการ (นำที่ล็อกจักรยานมาเอง)

www.bot.or.th

 

Facebook : bankofthailandofficial

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan