ก่อนหน้านี้ถนนหลวงบริเวณห้าแยกพลับพลาชัยถือเป็นแหล่งรวมตัวของร้านก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่มากมายหลายร้าน (มีบางร้านได้รับชื่อแนะนำไว้ในมิชลินไกด์ด้วยนะ) จนเรียกได้ว่าเมกกะของก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่เลยก็ว่าได้

แต่เมื่อสัก 2 ปีก่อนในช่วงที่คนไทยเริ่มตื่นตัวกับคราฟต์เบียร์ มีบ้านหลังเล็กๆ บนถนนสายนี้ที่อาจหาญเปิดเป็นร้านคราฟต์เบียร์ทำเองชวนให้ผู้คนหลากหลายได้มาลองชิมเบียร์รสแปลกๆ แบบที่ไม่เคยได้ลองชิมมาก่อน จนเริ่มเกิดการยอมรับคราฟต์เบียร์ขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องเกินเลยถ้าจะบอกว่าวงการคราฟต์เบียร์มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะร้านนี้แหละ ร้านที่มีชื่อเกี่ยวกับความตายที่ฟังแล้วไม่ค่อยจะสบายหูสักเท่าไหร่ นั่นก็คือ LET THE BOY DIE ซึ่งมาจากวลีว่า Let the boy die, let the man be born จากการที่ผู้ก่อตั้งตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเริ่มอาชีพใหม่เป็นคนทำคราฟต์เบียร์และร้านนี้

LET THE BOY DIE

LET THE BOY DIE

หลังจากเปิดประตูให้ผู้คนมากมายได้เดินเข้ามาลิ้มลองเบียร์รสชาติใหม่ๆ ได้ไม่นาน เจ้าเด็กคนนี้ก็ตายหายไปจากถนนสายนี้จริงๆ เหลือไว้เพียงแค่ความทรงจำของคนที่เคยมาแวะเวียนมาอยู่เป็นประจำเท่านั้น แต่ข่าวดีก็คือตั้งแต่วันนี้ไป LET THE BOY DIE ได้ฟื้นคืนชีพกลับมาใหม่แล้วเป็นที่เรียบร้อย และนี่ก็คือเรื่องของการคืนชีพของเด็กคนนั้น

ร้าน LET THE BOY DIE ไม่ได้ปิดกิจการเพราะเหตุผลด้านธุรกิจ แต่ประเด็นหลักคือ เรื่องของเสียงที่ดังรบกวนเพื่อนบ้าน ทำให้ คุณเปี๊ยก-พิพัฒนพล พุ่มโพธิ์ ผู้ก่อตั้งร้าน LET THE BOY DIE และผู้ก่อตั้งคราฟต์เบียร์ชื่อ Golden Coins ตัดสินใจปิดร้านที่ถนนหลวง แล้วไปเปิดร้านที่เอกมัยแทน ในใจคุณเปี๊ยกยังคงคิดถึงทำเลแถวบ้านของตัวเองบนถนนสายนี้อยู่เสมอ จนกระทั่งได้มาเจอกับตึกแถวห้องคู่ที่อยู่ตรงข้ามแบบเยื้องๆ กับร้านเดิม เลยตัดสินใจเปิดร้าน LET THE BOY DIE  ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

LET THE BOY DIE

ผมเดินเข้ามาในตึกแถวอายุกว่า 60 ปีที่เป็นที่ตั้งใหม่ของร้าน บรรยากาศภายในร้านเป็นแสงสลัวๆ มีแสงไฟจากหลอดไส้สีอุ่นบนโคมไฟเพดานกระจายอยู่เป็นจุดๆ ทั่วทั้งร้าน ผนังอิฐก่อหยาบๆ ทับไปบนผนังเดิมของอาคารให้บรรยากาศดิบๆ โดยรวมๆ ให้ความรู้สึกสบายๆ ไม่ต้องเกร็งเวลาที่เดินเข้ามาในร้าน สิ่งแรกที่เห็นตอนเดินเข้ามาก็คือ โต๊ะยาวสำหรับให้คนที่มาได้มานั่งจอยกันได้ ซึ่งเป็นเหมือนจุดเด่นของร้านเดิม แถมยังยาวกว่าเดิมอีกด้วย ด้านหลังสุดเป็นผนังขาวโล่งสะดุดตาด้วยหัวก๊อกสำหรับกดเบียร์สดเรียงรายกันเป็นแถวยาว กระดานดำด้านบนบอกให้เรารู้ว่าที่ร้านนี้มีเบียร์ต่างๆให้ชิมกันมากถึง 12 ชนิด (จากร้านเดิมที่มีเพียงแค่ 6 ชนิด) ผมมีนัดกับคุณเปี๊ยกเพื่อพูดคุยถึงการรีโนเวตร้านนี้กลับมา

LET THE BOY DIEtap beer

LET THE BOY BE BORN

ในยุคแรกเริ่มของคราฟต์เบียร์ แทบทุกแบรนด์ทำเบียร์กันเองแบบที่ลองผิดลองถูก หลายคนใช้วิธีทำเบียร์บรรจุขวดไปฝากขายตามร้านต่างๆ ก่อนจะค่อยๆ หาลู่ทางขยับขยาย แต่คุณเปี๊ยกเลือกที่จะเปิดหน้าร้านขึ้นมาเลย ผมถามคุณเปี๊ยกไปว่าการตัดสินใจเปิดเป็นหน้าร้านมันมีความสำคัญยังไงบ้างกับตัวคนทำเบียร์ 

“มันเหมือนเป็นสนามทดลองให้เรา เพื่อให้เราพัฒนาคุณภาพเบียร์ของเราให้ไปได้ไกลขึ้น ความสำคัญที่สุดของร้านนี้คือการสื่อสารกับผู้คน ถ้าเราเป็นคนทำเบียร์ไปวางขายตามร้านหรือซูเปอร์มาร์เก็ต คนจะรู้จักข้อมูลเกี่ยวกับเบียร์ผ่านแค่ทางฉลากที่พันขวดอยู่แค่นั้น ตัวนี้แอลกอฮอล์สูง หรือเบียร์ดำแค่นั้น แต่การจะสื่อสารให้ความรู้ว่าเบียร์แต่ละประเภทมันแตกต่างกัน ทำไมตัวนี้ขม ทำไมเบียร์แบบเดียวกันรสชาติไปกันคนละทาง มันก็ทำได้แค่ในวงแคบๆ แล้วการพัฒนาคุณภาพของเราก็ไปได้ยาก แต่พอมาเปิดร้านก็ได้เจอและพูดคุยกับลูกค้าจริงๆ ได้ให้ความรู้ว่าทำไมกลิ่นมันไม่เหมือนกันทั้งที่เป็นเบียร์ประเภทเดียวกัน คุณภาพของเบียร์ที่ดีจะวัดกันยังไง นี่คือสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจเปิดร้านขึ้นมา”

tap beer

เบียร์

LET THE BOY DIE 2

เวลาที่ได้มาสัมภาษณ์การรีโนเวตที่เจ้าของกิจการนั้นๆ เป็นสถาปนิกหรือนักออกแบบ ผมมักจะสนใจในเรื่องของการออกแบบตกแต่งหรือสไตลิ่งเป็นพิเศษ เพราะสถาปนิกและนักออกแบบเป็นอาชีพที่ต้องบริการผู้อื่นด้วยการออกแบบ งานออกแบบที่เหล่านักออกแบบอยากทำแต่ถ้าลูกค้าไม่ชอบก็จะไม่มีทางได้ทำออกมา พอมาทำอะไรของตัวเองก็ถือเป็นโอกาสดีที่ตัวเองจะได้ปล่อยของ

ผมมองบรรดาแผ่นไม้เก่าขึ้นเสี้ยน ขาเหล็กที่เชื่อมติดกันแบบไม่ได้เนี้ยบเป๊ะแต่แข็งแรง ไปจนถึงผนังอิฐมอญที่ก่อแบบหยาบๆ ก่อนจะถามคุณเปี๊ยกถึงที่มาของการตกแต่งภายในที่ดูดิบๆ แบบนี้

LET THE BOY DIE

“เบียร์มันง่ายครับ” คือคำตอบแรกที่คุณเปี๊ยกพูดออกมา ก่อนจะอธิบายต่อว่า เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่เหมือนไวน์หรือเหล้า ไม่มีพิธีรีตองมากมายนัก กินคู่กับอาหารอะไรก็ไม่มีผิดถูก กระบวนการหมักก็ง่ายไม่ซับซ้อน ไม่ได้ใช้เวลานานเป็นปีๆ ในการหมัก

“มันเป็นความสุขพื้นฐานของคนเลยนะ เหมือนกับเป็นจุดเริ่มของคำว่า ชิลล์ เลยนะ เราหยิบเบียร์แช่ในถังน้ำแข็ง ทำงานมาเหนื่อยๆ นั่งจิบเบียร์เย็นๆ ก็มีความสุขแล้ว อย่างสปอร์ตบาร์ของฝรั่งเนี่ย มันก็มีแค่เปิดบอลให้ดูพร้อมกับขายเบียร์ คนก็เข้ามาดูบอลกินเบียร์คุยกันแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน แต่คราฟต์เบียร์ซับซ้อนกว่าเบียร์ปกติมาก มันมีความพิถีพิถันมากขึ้น พอเรามาทำร้านเลยคิดถึงสิ่งอื่นที่มากกว่าไปกว่าการมีฟุตบอลให้แขกดู หรือมีโต๊ะพูลให้เล่น ร้านของเราเชื่อมั่นอยู่เสมอในเรื่องของ good beer, good music, good food และ community เราก็เลยมีหุ้นส่วนใหม่ในร้านอย่างคุณปอจากร้าน Meat & Bones มาเป็นคน set up เมนูให้ หรืออย่างดนตรีเราก็มีเวที มีเครื่องเสียงที่มันเป็นที่เป็นทางมากขึ้นกว่าร้านเดิม ทั้งหมดนี้คือแกนหลักของมัน”

LET THE BOY DIE

“ในด้านของการออกแบบร้านนี้ ด้วยความที่ชื่อร้านมันตรงไปตรงมา มีความใต้ดินนิดๆ เหมือนกับเบียร์นี่ล่ะครับ เบียร์ก็มีความตรงไปตรงมาของมัน ร้านนี้เลยออกแบบมาภายใต้บรรยากาศแบบนั้น คือมีบรรยากาศที่สบายๆ ดิบๆ หน่อย แต่ฟังก์ชันมันยังสื่อสารกับลูกค้าได้อยู่ ส่วนเฟอร์นิเจอร์คนภายนอกอาจจะเห็นว่ามันคือดีไซน์แบบ Industrial หรือแบบ Rustic ส่วนตัวของผม ผมมองที่นี่เป็นเหมือนฐานทัพของเรา วัสดุที่เราเอามาใช้ต้องใช้งานได้จริงๆ และต้องประหยัดที่สุด ผมไม่อยากเสียงบไปกับการตกแต่งให้มันสวยไปเปล่าๆ แต่ไม่มีประโยชน์การใช้งาน ถ้าดูพวกขาโต๊ะขาเก้าอี้ทั้งหมดมันจะมีแค่สองขา น็อตที่ยึดก็มีเท่าที่จำเป็น โจทย์ที่เรามีคือจะทำยังไงให้ใช้วัสดุน้อยที่สุด โดยที่มันจะยังเป็นโต๊ะอยู่และใช้งานได้ดี ไม้ท่อนหนึ่งจะผ่าออกมายังไงให้เป็นได้ทั้งที่นั่งและโต๊ะ คือเป็นการใช้วัสดุที่น้อยที่สุดแต่ใช้งานได้จริง แล้วมันก็ออกมาเป็นรูปแบบของมันเองตามที่เห็น”

ผมหันไปมองบรรดาโต๊ะสองขาในร้านรอบๆ ตัว และเหล่าม้านั่งทั้งหลาย พร้อมกับนึกถึงประโยคอมตะของเหล่าสถาปนิกและนักออกแบบแห่งช่วงศตวรรษ 20 ขึ้นมาทันทีว่า FORM FOLLOWS FUNCTION ก็คงเริ่มต้นด้วยวิธีคิดแบบนี้เช่นเดียวกัน

LET THE BOY DIELET THE BOY DIE

LET THE BOY MEET THEIR FRIENDS

ของสิ่งแรกที่เวลาเดินเข้าไปแล้วจะเจอ ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านเก่าหรือร้านใหม่นี้ คือโต๊ะยาวๆ ที่อยู่หน้าร้าน ชื่อของมันคือ communicate table เป็นสิ่งที่คุณเปี๊ยกเริ่มทำมาตั้งแต่เมื่อตอนที่เปิดร้านครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน ในร้านใหม่โต๊ะตัวที่ว่ายังคงอยู่ และยาวขึ้นกว่าเดิมอีก ผมได้ถามถึงความหมายของโต๊ะตัวนี้

“คราฟต์เบียร์เป็นของที่ใหม่มากในโลกใบนี้ อะไรก็ตามที่เป็นของใหม่มันต้องการการยอมรับ ของใหม่ที่ไม่ได้รับการยอมรับจะกลายเป็นของที่ดูสะเหร่อ แต่ถ้าเป็นของใหม่แล้วคนมียอมรับ มันจะต้องมีรากที่ลึกและแข็งแรง การสร้างรากให้กับสิ่งหนึ่งต้องใช้สิ่งที่เป็นวัฒนธรรม อะไรที่เป็นวัฒนธรรมมันก็จะไม่ใช่แฟชั่น ไม่ใช่สิ่งที่มาแล้วไป ร้าน LET THE BOY DIE พยายามสร้าง culture หรือวัฒนธรรมมาโดยตลอด ทั้งในแง่ของฟังก์ชันการออกแบบร้าน การบริการ ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างคนที่มากินเบียร์ที่ร้าน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเราไม่คิดค่าบริการ เพราะทุกคนต้องเดินไปสั่งเบียร์เองที่เคาน์เตอร์ สั่งเสร็จ จ่ายเงิน ก็หยิบเบียร์กลับมาเอง คนได้เดินไปมาในร้านบริการตัวเอง สิ่งเหล่านี้มันเป็นวัฒนธรรมที่ใหม่ในบ้านเรา พอเราสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาได้ คนก็จะเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง พอร้านใหญ่ขึ้น โต๊ะ community ที่เป็นเอกลักษณ์ของร้านก็ใหญ่ขึ้นด้วย เวลาคนที่มาร้านเรา เราก็อยากให้เขาได้เจอคนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่มากินเบียร์นั่งฟังเพลงกันอยู่แค่สองสามคน แต่เราไมไ่ด้คาดหวังว่าจะต้องรู้จักกันแลกเบอร์ไปเที่ยวด้วยกันต่อ เราแค่อยากเห็นคนนั่งอยู่ร่วมกัน กินเครื่องดื่มแบบเดียวกัน อาจจะแชร์กันว่าชอบไม่ชอบอะไรกับเบียร์ที่ตัวเองกินอยู่บ้างนิดหน่อย อะไรแบบนั้นน่ะครับ มันเหมือนเป็นบรรยากาศรวมๆ ที่มีจุดร่วมเดียวกันอะไรแบบนั้น”

LET THE BOY DIELET THE BOY DIE

LET THE BOY BE BORN AGAIN

ผมถามคุณเปี๊ยกว่าเห็นหรือเชื่ออะไรในทำเลบริเวณตรงนี้ บริเวณที่ไม่ได้โดดเด่นหรือพิเศษอะไรในสายตาของคนทั่วๆ ไปแบบผม

“ผมไม่ได้เลือกที่จากทำเลที่ตั้งหรืออะไรหรอกครับ มันคือความผูกพันกับคนแถวนี้ ผมเติบโตขึ้นมาในละแวกย่านนี้ก็เลยอยากจะใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่เราชิน ถ้าให้ผมไปเปิดที่ซอยนานา ตรงเยาวราชที่แม้จะอยู่ใกล้ๆ กันนี้เองผมก็ไม่ไปหรอก ผมไม่รู้สึกว่าเป็นที่ของเรา แล้วคนที่อยู่แถวละแวกนี้เค้าชื่นชอบและรัก LET THE BOY DIE มากๆ จริงๆ อย่างร้านของชำแถวนี้เขาก็ขายของได้เพิ่มขึ้น ร้านก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ก็มีคนมากินเยอะขึ้น ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดตรงนั้นก็ขายได้ เขาก็ชื่นชมที่เรากลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง

ถ้าถามว่าทำไมเขาถึงชื่นชม ก็คงเพราะย่านนี้ในสายตาคนอื่นๆ อาจจะเป็นย่านที่ไม่ค่อยมีคุณค่ามานานแล้ว หลังจากเราเปิดร้านมันก็มีคุณค่าอีกครั้ง มีคนมาเยอะขึ้น สำคัญมากนะครับคนที่จะรีโนเวตพื้นที่ ถ้าคุณไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบๆ ตรงนั้น ต่อให้คุณทำออกมาสวยแค่ไหน ขายดีแค่ไหน ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อมองไปในบริบทรอบข้าง คนที่อยู่แถวๆ นี้เวลาเจอผมเขาก็อวยพรให้เราขายดีๆ คนเยอะๆ อยู่เสมอ  นี่คือเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ผมอยากกลับมาเปิดร้านในละแวกนี้ ละแวกที่เติบโตมา”

LET THE BOY DIE

LET THE BOY DIE

หลังจากประตูร้านเปิดออก ผมนั่งอยู่ที่มุมร้านคอยมองดูผู้คนเดินผ่านเข้าออก พร้อมๆ กับที่อาเจ็กอาซ้อในบริเวณใกล้เคียงที่เดินออกมาทักทายคุณเปี๊ยกเป็นระยะ แววตาและสีหน้าบนใบหน้าของคนแถวนั้นบอกผมว่าพวกเขาดีใจที่เห็นเด็กคนนี้กลับมามาชีวิตอีกครั้งจริงๆ เช่นเดียวกับคนอีกมากมายที่เดินเข้าออกร้านในคืนวันนี้ ไม่ใช่ทุกครั้งหรอกที่เราจะเห็นการรีโนเวตซึ่งทำให้ชุมชนที่เงียบเหงากลับมาคึกคักได้อีกครั้งแบบนี้ ผมเลยขอหันไปสั่งเครื่องดื่มด้านหลังมาจิบสักหน่อย เพื่อฉลองให้กับการได้เห็นเรื่องที่ดีๆ ในคืนนี้ 🙂

คราฟต์เบียร์

LET THE BOY DIE

Facebook | Let The Boy Die

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan