3 พฤศจิกายน 2017
20 K

อากงและอาม่าของผมนั้นเป็นคนจีนมาจากซัวเถาเช่นเดียวกันกับคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากในบ้านเรา ทั้งสองท่านจากผมไปได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว

เรื่องไม่กี่อย่างที่ผมจำได้เกี่ยวกับอากงและอาม่าก็เห็นจะเป็นภาษาจีนปนไทยที่ครอบครัวอื่นมาฟังอาจจะไม่เข้าใจ แต่เราเอาไว้ใช้สื่อสารกันในครอบครัว และความทรงจำว่าอาม่าจะลุกขึ้นมาต้มข้าวต้มไว้ตั้งแต่เช้าตรู่ พร้อมทั้งเตรียมกับข้าวง่ายๆ อย่างผักกาดดองกระป๋อง ไข่เจียวไชโป้ว หรือหัวไชเท้าดอง ไว้ให้กินก่อนไปโรงเรียน ส่วนเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับทั้งคู่อีกเลย แม้แต่ว่าทั้งสองคนมาจากตำบลอะไร หมู่บ้านไหน เรือที่นั่งมาเป็นยังไง นั่งเรือนานแค่ไหน สัมผัสแรกที่ขึ้นมาเหยียบเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง แล้วหลังจากนั้นเป็นยังไง ทำไมซื้อบ้านตรงนี้ และอื่นๆ อีกมากมาย ในฐานะลูกหลานชาวจีนที่ไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเองก็ถือว่าน่าเศร้า แล้วถึงคิดอยากจะไปตามหารากนั้นตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนอยู่ดี

มีสถานที่แห่งหนึ่งในย่านคลองสานที่เพิ่งเปิดไปเมื่อวานนี้ ที่น่าจะช่วยให้เราได้เห็นอดีตของเหล่าบรรพบุรุษชาวจีนได้ง่ายขึ้น นั่นก็คือ ‘โครงการล้ง 1919’ หรือท่าเรือกลไฟของตระกูลหวั่งหลีนั่นเอง เพราะที่นี่คือท่าเรือของเหล่าพ่อค้าชาวจีนที่ไม่ได้แค่ขนสินค้ามาอย่างเดียว แต่ขนคนจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบย้ายถิ่นฐานมาแสวงโชคในลำเดียวกัน บรรพบุรุษของหลายๆ คนที่มีตาเป็นขีดในบ้านเราต่างก็มาเหยียบแผ่นดินสยามกันที่แรกก็ตรงท่าเรือ ‘ฮวยจุ่งล้ง’ แห่งนี้นี่แหละครับ และท่าเรือแห่งนี้กำลังจะถูกรีโนเวตขึ้นมาใหม่ ให้กลายมาเป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’

อาคารเก่า

บ้านจีน

ก่อนจะเล่าต่อก็ขอย้อนกลับในสมัยรัชกาลที่ 4 ถ้าเรายังพอจำบรรยากาศในวิชาประวัติศาสตร์ได้ล่ะก็ เราทุกคนก็ต้องยังจำชื่อของสนธิสัญญาเบาว์ริงได้อย่างแน่นอน พูดตามตรงผมก็ไม่ค่อยรู้จักสนธิสัญญานี้สักเท่าไหร่ รู้แค่ว่าเราเริ่มเป็นประเทศส่งออกข้าวกันก็ตอนนั้นเอง แต่ความจริงแล้วสนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้เกิดการค้าเสรีระหว่างประเทศขึ้น เรือสินค้าจากสารพัดประเทศแล่นเข้ามาค้าขายกันอย่างครึกครื้น โดยแต่ละชาติจะแวะจอดกันที่ท่าของตัวเอง ท่าเรือ VOC หรือเอเชียทีคตรงถนนตก เป็นท่าเรือของฝรั่งยุโรป / ท่าสุรวงศ์ เป็นท่าเรือของคนญี่ปุ่น / ท่ามหาราช ก็จะเป็นท่าเรือของเจ้านายและข้าราชการไทย

และสุดท้าย ท่าเรือฮวยจุ่งล้ง ก็เป็นท่าเรือของเหล่าคนจีนตามที่เล่าไปด้านบน

ท่าเรือฮวยจุ่งล้ง แปลตามตัวก็คือ ท่าเรือกลไฟ สร้างโดย พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่เข้ามารับราชการในสยาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พระยาพิศาลศุภผลประสบปัญหาทางการเงิน เลยขายท่าเรือกลไฟแห่งนี้ให้กับตระกูลหวั่งหลี ซึ่งยังคงใช้เป็นท่าเรือ โชว์รูมสินค้า ออฟฟิศ และที่อยู่อาศัย รวมกันทั้งหมดในที่เดียว ก่อนที่ท่าเรือนี้จะค่อยๆ ซบเซาลงเนื่องมาจากการคมนาคมขนส่งที่เริ่มมีทางเลือกหลากหลายขึ้น และสุดท้ายฮวยจุ่งล้งก็เลิกทำหน้าที่ท่าเรือ และกลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าพนักงานในพื้นที่เรื่อยมาจนปัจจุบัน

ล้ง 1919

อาคารโบราณ

ตัวท่าเรือฮวยจุ่งล้ง เป็นอาคารชุดที่มีตึกเรียงต่อกัน 3 หลังเป็นรูปตัว U มีพื้นที่โล่งอยู่ตรงกลาง (ในภาษาจีนรูปแบบตึกทรงนี้ถูกเรียกว่าตึกแบบ ‘ซาน เหอ หยวน’ 院) ก่อสร้างด้วยวิธีก่ออิฐถือปูน ใช้ผนังเป็นตัวรับแรง คานและพื้นเป็นไม้สัก ส่วนตัวโกดังสินค้าอยู่ฝั่งด้านที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลในยุคสมัยที่การเดินเรือยังเป็นเรื่องน่ากลัวอยู่ แถมบางคนก็หอบเสื่อผืนหมอนใบมาตั้งรกราก ชาวจีนเลยนำเจ้าแม่หม่าโจ้วจากเมืองจีนขึ้นเรือเดินทางมาประดิษฐานไว้ที่นี่ด้วย เพื่อช่วยปกปักรักษาและเป็นขวัญกำลังใจแก่คนในชุมชน เวลาคนจีนเดินทางมาถึงฝั่งประเทศไทย ก็จะมากราบสักการะท่าน เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยทำให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีน ก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน

จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2559) ตระกูลหวั่งหลีเห็นว่าตัวอาคารได้ทรุดโทรมลงมาก เลยอยากจะบูรณะพื้นที่นี้ขึ้นมาใหม่ก่อนที่ตัวอาคารจะพังทลาย และไม่สามารถซ่อมแซมได้อีก นั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการ ล้ง 1919 (ฮวยจุ่งล้งมีอายุ 167 ปีแล้ว แต่ที่เลือกใช้ ค.ศ. 1919 เพราะเป็นปีที่ทางตระกูลหวั่งหลีได้มาเป็นเจ้าของ)

ในยุคนี้การปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานให้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะดูจะได้รับความนิยมมากในเมืองใหญ่ๆ ทั่วทั้งโลก เพราะพื้นที่สาธารณะเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น เราจึงเห็นการเปลี่ยนสนามบินเก่า ทางรถไฟลอยฟ้าเก่า โรงงานเก่า และพื้นที่เก่าๆ ซึ่งแทบไม่มีการใช้งาน ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งแทบทั้งหมดที่ว่ามามักจะเป็นพื้นที่ของทางรัฐแทบทั้งหมด ไม่ได้มีพื้นที่ของเอกชนสักเท่าไหร่

สำหรับคนทั่วๆ ไป ถ้าเรามีที่ดินขนาดใหญ่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีมูลค่าสูงมากๆ แล้วยังเป็นอาคารโบราณที่มีประวัติศาสตร์ เวลาที่คิดจะปรับปรุงพื้นที่คงจะมีอยู่แค่ไม่กี่ทางเลือก อย่างแรกคือทำโรงแรม ยิ่งถ้าเป็นตึกเก่าๆ สวยๆ มีประวัติศาสตร์ ก็เปลี่ยนให้เป็นบูติกโฮเทลได้เลย อีกทางหนึ่งคือ ทุบทุกอย่างออกไปให้หมดแล้วก็เปลี่ยนเป็นคอนโดมิเนียมซะ

พื้นที่สาธารณะ โกดังสินค้า

ทั้งสองทางนี้ต่างตอบโจทย์ทางธุรกิจได้อย่างแน่นอน แต่ ล้ง1919 เลือกทำสิ่งที่แตกต่างออกไป นั่นคือการทำพื้นที่นี้ให้เป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’

เอ่อ เป็นพื้นที่สาธารณะจริงๆ ไม่ต้องขยี้ตาครับ คุณไม่ได้อ่านผิด ที่นี่จะประกอบไปด้วยศาลเจ้าแม่หม่าโจ้เป็นอาคารหลัก ในพื้นที่เดียวกันยังมีที่ทางสำหรับทำกิจกรรมเวิร์กช็อปอย่างสอนเขียนพู่กันจีน พื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานออกแบบและงานฝีมือที่มุ่งสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ ลานกิจกรรมกลางแจ้ง และโกดังริมแม่น้ำที่ถูกปรับการใช้งานให้เป็นพื้นที่ทางการค้า ซึ่งจะประกอบไปด้วย ร้านกาแฟ ร้านอาหาร (พูดกันแบบโลกไม่สวย โครงการจะอยู่ได้ก็ต้องมีการหารายได้บ้างแหละนะ แต่ก็ถือว่าสัดส่วนของพื้นที่ส่วนนี้ก็ถือว่าเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดอยู่ดี)

อะไรทำให้พื้นที่ขนาด 6 ไร่ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านที่ต่อไปจะมีความเจริญทั้งจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่และรถไฟฟ้า ยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้กันได้แบบไม่ต้องเสียเงินกันแน่

Hypothesis

ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ทางสถาปนิกผู้ร่วมออกแบบและวางโปรแกรมการใช้งานพื้นที่ คุณเจษฎา เตลัมพุสุทธิ์ และ คุณมนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา จากบริษัท Hypothesis ถึงวิธีการทำงานนี้ และขอสปอยล์ล่วงหน้าเลยว่า สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการนี้เริ่มการรีโนเวตด้วยเซียมซีแทนที่จะเป็นปากกา

“ผมได้รับการติดต่อมาจาก คุณเปี๊ยะ-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ที่เป็นเจ้าของโปรเจกต์และเจ้าของบริษัทอินทีเรียชื่อ PIA ด้วย ให้ทาง Hypothesis ในฐานะสถาปนิกให้ทำงานร่วมกันกับ PIA ที่เป็นบริษัทออกแบบภายใน ตอนที่รับโปรเจกต์ผมก็ลองไปที่ไซต์ ก็ไปไหว้เจ้าแม่ดู ผมก็ตั้งคำถามแล้วอธิษฐานกับเจ้าแม่หม่าโจ้ว่าผมควรจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เป็นอะไรดี แล้วให้เจ้าแม่ตอบกลับมาผ่านทางเซียมซี  

“พื้นที่ในโลกนี้มีอยู่ 2 แบบคือ พื้นที่ส่วนตัว กับพื้นที่สาธารณะ ตัวพื้นที่ของโครงการที่เป็นอาคารเก่า และยังคงมีสภาพที่ค่อนข้างดีมากๆ แบบนี้ ความคิดแรกสุดของคนทุกคนคงจะอยากพัฒนาให้เป็นบูติกโฮเทลกันหมด ผมจำได้แม่นเลยว่าได้เซียมซีเบอร์ 26 เจ้าแม่ตอบกลับมาว่า ‘เลือกให้ถูก ก้าวหน้ามีหวัง พระเจ้าจะช่วย’ คือหวังจะได้คำตอบแต่กลับได้คำถามกลับจากเจ้าแม่มาอีก (หัวเราะ)”

Hypothesis เลยมานั่งระดมความคิดกันว่าทางตระกูลหวั่งหลีก็มีโรงแรมอยู่หลายที่แล้ว แถมแต่ละที่ก็ใหญ่โตกว่าที่นี่ตั้งหลายเท่า การจะเปลี่ยนท่าเรือนี้ให้เป็นโรงแรมอาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร แล้วศาลเจ้าแม่ก็อยู่ปกปักรักษาคุ้มครองคนในชุมชนตรงนี้มาร้อยกว่าปีแล้ว เลยเกิดไอเดียว่าจะทำให้ท่านอยู่ดูแลคนแถวนี้ต่อไปแบบที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ไหม

ทางสถาปนิกเลยเสนอตระกูลหวั่งหลีว่าพื้นที่นี้ควรเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือ community space โดยที่มีศาลเจ้าแม่เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ทุกๆ คนไม่ว่าจะยากดีมีจนก็สามารถเข้ามาหาเจ้าแม่ได้

ศาลเจ้า

บ้านจีนโบราณ

“ผมเชื่อว่าการอนุรักษ์อาคารเก่า มีวิธีการบูรณะให้ความเก่าคงอยู่ ไม่จำเป็นต้องซ่อมแล้วทาสีออกมาให้ดูเป็นตึกใหม่เอี่ยมเสมอไป มันไม่ตอบโจทย์ความงามในมุมส่วนตัวของผม เหมือนเป็นการลบเรื่องเล่าในอดีตให้หายไปทั้งหมด นึกภาพดูว่าถ้าอากงอาม่าพาลูกหลานมาที่นี่ ก็คงจะมีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อก่อนอากงเคยอยู่ที่นี่ รูปที่ผนังมันหมายถึงอะไร ปูนแตกๆ ตรงนี้เพราะเมื่อก่อนเคยตอกตะปูไว้แขวนของ อะไรแบบนั้น

“ส่วนตัวโกดังด้านหน้าที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาถูกสร้างทีหลังตัวอาคารหลัก ผมปรับการใช้งานให้เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และพื้นที่สำหรับจัดอีเว้นท์ เนื่องจากโถงกลางระหว่างโกดังนั้นใหญ่ รองรับคนได้เยอะมาก โชคดีที่ทางคุณเปี๊ยะก็เห็นด้วยกับที่ทางเราคิดไป โดยเฉพาะการบูรณะอาคารไม่ให้มันดูเป็นของใหม่”

หลังจากรู้คอนเซปต์เบื้องต้นจากทางสถาปนิกแล้ว ผมได้เดินดูพื้นที่รอบๆ และเห็นจริงอย่างที่ Hypothesis อธิบาย บรรยากาศอาคารที่ได้รับการซ่อมแซมเหมือนกับนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปสมัยยุคอากงอาม่าหอบเสื่อขึ้นเรือมายังสยามจริงๆ  

หวั่งหลี

แล้วก็ถึงเวลาที่ผมจะได้พูดคุยกับทาง คุณเปี๊ยะ-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ที่เป็นทั้งเจ้าของโปรเจกต์และผู้ร่วมออกแบบรีโนเวตของโครงการนี้ ผมถามเธอถึงสาเหตุการเลือกเปลี่ยนพื้นที่ส่วนบุคคล (ตัวโครงการอยู่ติดกับตัวบ้านของตระกูลหวั่งหลี) ให้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะแทนที่จะพัฒนาสถานที่เป็นธุรกิจครอบครัว

“ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ของตระกูลหวั่งหลีตามกฎหมายอยู่ แค่เราอยากให้สาธารณชนเข้ามาเยี่ยมชมได้ และได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้ เพราะถ้าเสียเงินซ่อมแซมบูรณะแล้วแต่ปิดไว้เฉยๆ ก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรจากการซ่อมตรงนี้เลย ดังนั้นถ้าเราจะซ่อมขึ้นมาก็ต้องทำให้อาคารเหล่านี้มีประโยชน์ใช้สอยแก่สาธารณชนให้มากที่สุด ส่วนตัวบ้านหวั่งหลีที่อยู่ติดกันนั้นเราก็ปิดไว้เฉยๆ มีมาใช้งานตอนทำพิธีไหว้บรรพบุรุษปีนึงไม่กี่ครั้งเท่านั้นเอง

“ส่วนเรื่องการไม่ทำคอนโด ดิฉันคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่ต้องรักษาของที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ อาคารตรงนี้เรียกว่า ซานเหอหยวน มันไม่ได้เป็นตึกพิเศษอะไร มันก็คืออาคารพาณิชย์หรือตึกแถวที่มีอยู่ทั่วไปในสมัยนั้น แต่โชคดีที่ตึกนี้มีเราเป็นเจ้าของคนเดียว จึงได้อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ ทางตระกูลหวั่งหลีเคยใช้ที่นี่เป็นทั้งท่าเรือ โกดัง และโชว์รูมขายสินค้าอย่างพวกข้าวสาร กระเบื้อง พอท่าเรือซบเซาลงก็ยกพื้นที่ให้พวกลูกน้องมาอยู่กันโดยแทบไม่ได้คิดค่าเช่าอะไรเลย

ล้ง 1919 โกดังริมน้ำ

“แต่เมื่อปีที่แล้วตัวตึกมันทรุดโทรมและพังไปมาก เราก็เลยคิดว่าควรต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่งั้นมันคงจะไม่อยู่ต่อไปในอนาคตแน่ๆ ตอนแรกสุดก็คิดเหมือนกันว่าหรือควรเอามาทำเป็นโรงแรมดี แต่พอลักษณะของอาคารมันทำไม่ได้ เพราะเป็นอาคารที่ใช้ผนังรับแรง ทำให้เราไม่สามารถกั้นหรือเจาะช่องแสงด้านในอาคารได้เลย ตัวงานระบบสุขาภิบาลก็เป็นเรื่องยุ่งยากมาก ประกอบกับอายุเราก็มากแล้ว และมีประสบการณ์การทำโรงแรมมามากมายหลายที่ ได้เห็นปัญหาและความวุ่นวายในการทำโรงแรม เลยตัดสินใจไม่ทำโรงแรมดีกว่า จากที่เราคุยกับทาง Hypothesis ก็เห็นตรงกันเรื่องของศาลเจ้าแม่และพื้นที่สาธารณะ พัฒนาให้เป็นสถานที่เวิร์กช็อปความรู้แบบจีนๆ และพื้นที่พาณิชย์เพื่อตอบโจทย์คนที่มาใช้งานพื้นที่แทนค่ะ”

วิธีการรีโนเวตแบบเรียบแต่ไม่ง่าย

“เราใช้วิธีการซ่อมแซมแบบเรียบง่าย ค่อยๆ ทำไปทีละขั้นตอน อะไรเสียก็ซ่อม อะไรผุพังก็เปลี่ยนให้มันใช้งานได้อย่างปลอดภัย และคล้ายของเดิมที่สุด โครงสร้างไม้สักของที่นี่ช่างสมัยนั้นทาสีน้ำมันทับไว้ เราก็ลอกเอาสีเก่าออกให้เห็นเนื้อไม้ ตรงไหนผุก็เอาไม้เก่าที่มีในโครงการมาซ่อมให้เหมือนเดิมที่สุด ราวบันไดอันเดิมที่ผุเราก็ใช้วิธีถอดเอาของเดิมที่ยังมีเหลืออยู่ไปให้ช่างทำขึ้นมาใหม่

“อย่างภาพเขียนสีเก่า เราเจอโดยความบังเอิญจากการที่ผู้รับเหมาลอกสีอาคารออกแล้วไปเห็นเข้าพอดี ตอนนี้เราก็ให้คนมาค่อยๆ ขูดเอาสีที่ทาทับไว้ออกไปทีละนิดๆ เพื่อให้ภาพวาดเหล่านี้ได้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมที่สุด ถ้าภาพที่มีอยู่เดิมซีดหรือจางเราก็เขียนเติมให้สมบูรณ์ขึ้น แต่ถ้าภาพขาดหรือหายไปเราก็จะไม่เขียนขึ้นมาใหม่ จะปล่อยให้โล่งๆ แบบนั้น อย่างปูนที่เราใช้ซ่อม เราก็ใช้ปูนน้ำอ้อยที่เป็นปูนสูตรโบราณในสมัยนั้นแทนที่จะเป็นปูนสมัยใหม่ เพราะพื้นดินที่ติดแม่น้ำแบบนี้นั้นมีความชื้นสูง อิฐที่เป็นโครงสร้างด้านในนั้นจะดูดความชื้นขึ้นมาที่ตัวเยอะ ถ้าใช้เราใช้ปูนแบบเดิมที่มีรูพรุนสูง ความชื้นจากอิฐก็จะสามารถถ่ายเทออกได้ซึ่งจะทำให้ไม่เจอปัญหาเรื่องปูนแตกร้าวและหลุดร่อน

ผนังปูน อาคารโบราณ

“ถึงเราพยายามให้มันออกมาดูเหมือนเดิมที่สุด แต่มันก็ไม่มีกฎตายตัว หลายอย่างที่มีถ้ามันไม่เหมาะสมเราก็เปลี่ยน เพราะอาคารที่ทำเสร็จแล้วควรจะตอบโจทย์การใช้งานของคนในยุคนี้ด้วย หน้าต่างทุกบานในนี้เมื่อก่อนมีขนาดที่เล็กมาก ทำให้ในห้องมืดมากและอากาศถ่ายเทไม่ดีจนอับชื้น  เราก็เปลี่ยนหน้าต่างให้เป็นช่องแสงใหญ่ขึ้น รวมไปถึงตัดพื้นชั้นสองออกไปในบางห้องเพื่อให้มีเพดานที่โปร่งโล่งขึ้นมา”

อุปสรรคการซ่อมแซม

“ระบบสุขาภิบาลคืออุปสรรคใหญ่ที่สุด ท่าเรือฮวยจุ่งล้งของคนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบไม่มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะใช้มาโดยตลอด พูดให้เห็นภาพคือคนเมื่อก่อนจะถ่ายใส่ถังแล้วค่อยยกไปทิ้ง พอมาในยุคปัจจุบันที่เราต้องมีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ การจัดการเรื่องระบบท่อน้ำทิ้งและสุขาภิบาลเลยเป็นเรื่องที่วุ่นวายมากๆ แล้วยุคนั้นก็ไม่มีกฎหมายเทศบัญญัติ อาคารนี้เลยสร้างเต็มเนื้อที่โดยไม่ได้มีการร่นระยะอะไรเลย การขุดดินเพื่อวางท่อเลยยากลำบากมากเพราะต้องระวังไม่ให้ขุดไปโดนโครงสร้างเดิมด้วย พอเสร็จเรื่องการเดินท่อก็มาเจอปัญหาต่อไปก็คือการขุดฝังถังบำบัด เพราะที่ดินอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาเลยทำให้เจอน้ำจากแม่น้ำซึมเข้ามาท่วมในหลุมที่ขุดอยู่ตลอด ต้องสูบออกไปพร้อมๆ กับหารอยรั่วแล้วอุดให้หมด ซึ่งกินเวลาในการทำงานไปเยอะมาก”

มีคำแซวกันในหมู่บรรดาสถาปนิกว่า สถาปนิกออกแบบบ้านให้ได้ทุกคนยกเว้นบ้านตัวเอง ในฐานะที่คุณเปี๊ยะเป็นทั้งอินทีเรียและเจ้าของโครงการด้วย พอต้องมาทำการรีโนเวตในรูปแบบที่ทำตึกเก่าออกมาเป็นตึกเก่าคล้ายเดิมซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยในบ้านเรา จึงต้องสื่อสารกับครอบครัวหรือคนรอบๆ ข้างให้ชัดเจน

“คงเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่ทางบ้านไว้วางใจและเชื่อว่าเราจะทำให้เขาดีที่สุด ช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำก็พยายามอธิบายกับคนในครอบครัวอยู่เสมอ แต่ความสวยความงามมันเป็นเรื่องนามธรรม สามีดิฉันเดินเข้ามาในโครงการเห็นสภาพแล้วบอกว่า ‘น่าเกลียดมากเลย ดูสกปรกยังไงไม่รู้’ เราก็พยายามค่อยๆ บอกเขาเสมอๆ ว่าเสน่ห์ของความเก่าแบบนี้มันสร้างขึ้นด้วยมือคนไม่ได้ มันสร้างได้ด้วยกาลเวลาเท่านั้น คนอื่นมีแต่สร้างตึกใหม่แล้วมาทำให้ดูโบราณ แต่ตอนนี้เรามีสิ่งที่สร้างด้วยกาลเวลามาอยู่ในมือแล้ว เราจะทิ้งไปได้ยังไง เวลามีคนข้างนอกมาดูแล้วชมกันว่าสวยบ่อยๆ เข้า รสนิยมคนในบ้านก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป เขาก็เข้าใจเรามากขึ้น”

ตึกปูน

สินค้ามีดีไซน์

สังกะสี

พื้นที่สำหรับเดินไปด้วยกัน

คำถามสุดท้ายที่ผมถามคุณเปี๊ยะคือ ท่าเรือกลไฟแห่งนี้มีความหมายยังไงกับคุณเปี๊ยะและกับชุมชน

“ความสำคัญของพื้นที่นี้กับเรา ตระกูลหวั่งหลี ก็คือ ที่นี่เป็นที่ที่เราหยั่งรากในแผ่นดินสยาม เราเหยียบที่นี่เป็นที่แรก โตและทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวก็จากที่นี่ เพราะฉะนั้นสำหรับเราแล้วที่นี่คือที่กำเนิดของเรา แต่ถ้าเราเก็บที่นี่ไว้เป็นแต่ของตัวเอง ไม่แบ่งปันให้คนอื่น มันจะมีค่าอะไร ถ้าคนอื่นไม่เห็นมัน ไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บไว้ ทำให้เป็นประโยชน์กับสังคมดีกว่า  ก็เลยเป็นเวลาที่เราจะแบ่งปันให้คนอื่น ให้เขามาเห็น มารับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าลูกหลานคนจีนโพ้นทะเลที่มาใช้เวลาร่วมกันได้ในสถานที่นี้ทั้งหมด อากงอาม่าก็ไหว้ศาลเจ้าแม่ พ่อกับแม่ก็กินอาหารเข้าร้านกาแฟ เด็กๆ ก็มาร่วม กิจกรรมเวิร์กช็อปได้

“แล้วถ้าจะให้โครงการอยู่อย่างยั่งยืนเราก็ต้องหาวิธีอยู่ร่วมกันกับคนในชุมชนค่ะ ให้คนในชุมชนเข้ามาเป็นเจ้าของพื้นที่นี้ด้วยกัน ถ้าเราทำโครงการแล้วเราอยู่ได้แค่คนเดียว คนอื่นลำบากหมดนั่นมันก็ไม่ใช่ความยั่งยืนแล้ว  วันแรกๆ ที่เราเริ่มเข้ามาทำ ปัญหาที่เราเจออย่างแรกเลยคือ เหล่าแม่ค้าที่ขายอาหารอยู่บนฟุตปาธตรงทางเข้า พอเราเข้ามาเริ่มทำก็ต้องคุยกับเหล่าแม่ค้าอธิบายให้ฟัง ให้ขยับออกไปจากตรงทางเข้าก่อน แต่เราก็ไม่ได้ขับไล่หรือทิ้งพวกเขานะคะ เราสัญญาว่าอยากจะให้ทุกๆ คนในชุมชนนี้เดินไปด้วยกัน ช่วงก่อสร้างทุกวันศุกร์ เราก็จัดให้แม่ค้าขายอาหารที่อยู่ด้านหน้าสลับกันเข้ามาบริการให้คนในโครงการ เขาก็มีรายได้ในช่วงนี้ที่โครงการยังไม่เสร็จ พอโครงการเสร็จแล้วเราก็จะจัดสรรพื้นที่ให้และหาวิธีอยู่ร่วมกันต่อไป

ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ล้ง

“เรายังเชื่อในเรื่องการให้โอกาสของคนในท้องที่  อย่างด้านปากทางเข้าโครงการของเราก็เป็นโรงเรียนฝึกอาชีพของกรุงเทพมหานคร นักท่องเที่ยวส่วนมากก็ชอบไปร้านนวด เราเลยคิดว่าเปิดพื้นที่ให้คนจากโรงเรียนฝึกอาชีพมารับนวดนักท่องเที่ยวในโครงการให้มีรายได้มีงานทำดีกว่า ทางเขตคลองสานก็มาคุยกับเราว่าในอนาคตจะให้ที่นี่เป็นจุดหมายหนึ่งในการเดินทางของนักท่องเที่ยวแล้ว อยากพัฒนาให้ถนนเชียงใหม่กลายมาเป็นถนนคนเดินในบางโอกาส เนื่องจากย่านนี้ก็มีวัดสวยๆ และมีเส้นทางที่น่ามาเดินเที่ยวได้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราอยากให้โครงการของเราอยู่ร่วมกันกับชุมชนได้ค่ะ”

ผมคิดว่าหลังจากที่โครงการเปิดแล้ว ว่าจะโทรชวนป๊ากับมาม้าเดินเล่นที่นี่สักหน่อย เผื่อว่าเราจะได้เห็นอดีตในสมัยที่อากงอาม่ามาเมืองไทย และนอกจากนั้นแล้วยังจะได้เห็นอนาคตของการจัดสรรพื้นที่ริมแม่น้ำที่เลือกจะก้าวเดินไปด้วยกันกับชุมชนอีกด้วย

โครงการล้ง 1919 เปิดวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 มีกิจกรรมเปิดตัวเป็นตลาด Great Outdoor Market ถ้ากำลังหาที่เดินเล่นพักผ่อนริมแม่น้ำที่นี่ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีและควรค่าแก่การมาเยือนดู

โครงการ ล้ง 1919

Facebook | LHONG 1919

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan