ถ้าพูดถึงย่านที่คึกคักที่สุดในกรุงเทพฯ ตอนนี้ ชื่อหนึ่งที่คงถูกหยิบยกมาพูดถึงแน่ๆ ต้องเป็นซอยนานา ด้วยการเติบโตของร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ แกลเลอรี่ และอื่นๆ อีกมากมายในซอยที่มีชื่อเดิมว่าตรอกหมอ เพราะแต่เดิมเป็นย่านขายเครื่องยาจีนของเยาวราช แต่ผมก็ตระหนักได้ว่าแม้ตึกแถวเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาใหม่จนดูงดงามมากก็ตาม แต่กลับไม่มีร้านไหนที่ตกแต่งออกมาตามสัญชาติของตึกและย่านนี้เลย เรามีร้านที่ดูสวยแบบสแกนดิเนเวีย มีร้านตกแต่งสวยงามแบบไทย อีกฝั่งนึงก็มีหน้าตาราวกับอยู่นิวยอร์ก จนกระทั่งผมได้พบอาคารแห่งหนึ่งในซอยเดียวกันที่เป็นทั้งร้านอาหารกึ่งบาร์และห้องพัก ซึ่งตกแต่งโดยรักษาบริบทความจีนของย่านนี้ไว้ และยังทำได้ดูเป็นหมวยอินเตอร์อีกด้วย

ปาเฮ่า หรือ เบอร์แปด คือชื่อของอาคารนั้น

และนี่คือการพูดคุยกับ ทอพธนพลพจน์ โรจน์ณัฐกุล ผู้ออกแบบและสร้างห้องเบอร์แปดนี้ขึ้นมา

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย
Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย

เบอร์หนึ่ง : พบเจอ

“เรื่องของเรื่องเริ่มมาจากเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มที่บังเอิญเจอตึกแถวประกาศให้เช่าในซอยนานา เลยเกิดการคุยกันในหมู่เพื่อนๆ ที่อยากทำอะไรร่วมกัน ไอเดียที่สอดคล้องกันพอดี คือโฮสเทลและร้านอาหาร จนทำให้เกิดเป็นการปรับปรุงตึกแถวเก่าที่จี๊นจีนห้องนี้ให้กลายมาเป็นห้องพักและร้านอาหารแบบจีนร่วมสมัยขึ้นมา

“ตึกแถวย่านนี้เป็นตึกแถวแรกๆ ของกรุงเทพฯ คนที่อยู่แถวนี้เป็นคนจีนทั้งหมด ร้านค้าทั้งหมดบนถนนสายนี้เป็นที่ขายยาสมุนไพรจีน ตอนนี้เหลืออยู่เพียงแค่ 2 – 3 แห่งเท่านั้นที่ยังขายอยู่ ถ้าไปอยู่ที่ชั้นสี่เราจะยังได้กลิ่นยาจีนอยู่เลย”

ทอพซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนและสถาปนิกผู้ออกแบบและรีโนเวตอาคารเล่าเบื้องหลังก่อนปรับปรุงตึก

“เอาจริงๆ แล้วทุกคนที่มาทำต่างก็ไม่ได้เชื่อมั่นในทำเลตรงนี้เลย แต่ตอนนั้นบาร์ ร้านอาหาร และคาเฟ่ ในละแวกนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น มีคนมาอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่มีที่พักเกิดขึ้นในละแวกนี้เลย ด้วยราคาค่าเช่าและปัจจัยหลายอย่าง เรารู้สึกว่าถ้าไม่ทำตอนนี้ ก็คงจะไม่ได้ทำอีกแล้ว”

หลังจากที่ได้ทำสัญญาเช่าเรียบร้อย ทอพก็เข้ามาดูหน้างานเพื่อเตรียมออกแบบ

“สภาพแรกของตึกในตอนนั้นโทรมมาก เพราะถูกต่อเติมกลายเป็นโกดังเก็บของ ทุกๆ ชั้นถูกกั้นผนัง ซอยเป็นห้องทึบๆ ที่ไม่มีหน้าต่างหรือช่องแสงเลยแม้แต่ช่องเดียว ห้องน้ำก็ไม่ได้มีทุกชั้น ที่มีก็อยู่ในซอกท้ายตึกก็อับๆ ชื้นๆ สีภายในทั้งหมดก็สภาพร่อนๆ เปื่อยๆ เรียกว่าไม่มีความมั่นใจอะไรเลยว่าสุดท้ายตึกนี้จะออกมาเป็นยังไง”

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย

二 เบอร์สอง : ชีวิตในแผ่นกระดาษ

“ผมเริ่มต้นรีโนเวตด้วยการวางแปลนจากสภาพโครงสร้างที่เห็นทั้งหมดก่อน เพราะถ้าไม่มีแปลนแล้วมันทำอะไรต่อไม่ได้ การทำแปลนไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเขียนภาพด้านบนอย่างเดียว แต่มันคือการออกแบบชีวิตที่จะมาอาศัยอยู่ในตึก ถ้าชีวิตมันอาศัยอยู่ในตึกได้ ทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องการตกแต่งค่อยๆ เกิดขึ้นหลังจากที่เรารื้อของด้านในออกทีละนิดทีละหน่อย เพราะพอเรารื้อออกมาเจอของด้านใน บางทีโครงสร้างเก่าหรือการตกแต่งเดิมมันเจ๋ง เราก็เริ่มต่อยอดจากของที่เรามีแทน

“งานรีโนเวตมันอาศัยการที่เรามาอยู่ มาเห็นมันบ่อยๆ ตลอดเวลาที่ทำ ด้วยความที่ตึกนี้มันตั้งอยู่ในย่านคนจีน เวลาเรารีโนเวตตึกขึ้นมาใหม่ มันเหมือนเอาชีวิตมาใส่ลงในตึก ผมมองว่ามันเหมือนการฝังเข็ม เป็นการรักษาแบบหนึ่ง ถ้าเป็นหมอฝรั่งมาเห็นตึกนี้ก็คงต้องผ่าตัดใหญ่ เปลี่ยนและรื้อทุกสิ่งทุกอย่าง แต่หมอคนจีนใช้วิธีฝังเข็ม เริ่มแรกหมอจะเอามือมาจับชีพจรแล้วบอกว่าเลือดลมเราเดินดีหรือไม่ดี แล้วจะฝังเข็มแก้ปัญหาให้เราเป็นจุดๆ ไป วิธีรีโนเวตตึกนี้ก็เป็นแบบเดียวกัน อย่างชั้นสาม หน้าต่างเดิมมันเล็ก ผมก็ทุบเอาแค่จุดนั้นออก เปลี่ยนเป็นหน้าต่างให้ใหญ่ขึ้น แต่ไม่รื้อออกไปหมดทั้งแผง”

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย

三 เบอร์สาม : ด้วยความบังเอิญ

จากแผนตอนแรกที่จะทำโฮสเทล ทุกชั้นจะถูกซอยเป็นห้องๆ แต่ละห้องก็จะมีเตียง 2 ชั้นเรียงเป็นแถวๆ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดหลังจากที่ผู้รับเหมาเข้ามารื้อถอนผนังเบาที่กั้นห้องเดิมๆ อยู่ และบังเอิญเจอโครงบันไดเก่าของเดิมของตึก

“พอเสร็จจากการทำแปลนปุ๊บ ทางเราก็เรียกผู้รับเหมาเข้ามาดูหน้างานแล้วก็เริ่มก่อสร้างจริง พอช่างได้รื้อถอนผนังเบาที่กั้นห้องออกไปเท่านั้นแหละ เราก็เห็นพื้นที่โล่งโปร่งของชั้นสองมีพื้นไม้สักเดิมของตึกและโครงบันไดเก่าของเดิมที่ถูกผนังปิดทับเอาไว้ ซึ่งสภาพมันสวยมากๆ”

การค้นพบใหม่ทำให้การกั้นห้องใหม่ลำบาก ประกอบกับสถาปนิกเสียดายความสวยของบันได คอนเซปต์การทำโฮสเทลจึงถูกทบทวนใหม่อีกครั้ง

“ทีแรกก็เราก็คิดกันว่าชั้นสองไม่ทำเป็นโฮสเทลแล้ว จะทำเป็น Co-living Space แทน ให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับขึ้นมานั่งพักผ่อน ชาร์จมือถือ ดูหนัง นั่งเล่นเกม คุยกับเพื่อน แล้วก็ซื้อเครื่องดื่มอาหารของเรา แต่พอมองว่ามันเป็นที่พัก เราก็อยากให้แขกที่มาพักใช้พื้นที่มากกว่า ก็เลยทำชั้นสองให้เป็นเหมือนห้องนั่งเล่น แล้วปรับชั้นสามและสี่ที่เป็นห้องพักเดี่ยว ส่วนหนึ่งเพราะที่พักละแวกนี้มีแต่โฮสเทลราคาถูก ไม่มีห้องพักที่อยู่สบาย มีพื้นที่ส่วนกลางกว้างขวางแบบนี้ พอเป็นห้องพักที่มีบริการเพิ่มขึ้น เราก็สามารถตั้งราคาสูงกว่าโรงแรมอื่นๆ ได้อีกด้วย”

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย
Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย

四 เบอร์สี่ : ความคิดในห้องพัก

“ทำเลที่ตั้งตึกเราอยู่ในซอยนานา ซึ่งเป็นถนนที่ตัดแยกมาจากวงเวียน 22 กรกฎาคม วงเวียนนี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบๆ ร้อยปีที่แล้วเพื่อเป็นอนุสรณ์การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของสยาม เลยมีถนน 3 สายที่ตัดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างวงเวียน คือไมตรีจิตต์ มิตรพันธ์ สันติภาพ รวมกันทั้งสามสายจะได้ความหมายว่า ไมตรีจิตที่มีต่อฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้เกิดสันติภาพ

“เราเลยหยิบชื่อถนนทั้งสามสายนี้มาตั้งเป็นชื่อห้องพักของเรา ได้แก่ มิตรพันธ์ ไมตรีจิต สันติภาพ โดย มิตรพันธ์ คือชื่อของพื้นที่ส่วนกลางชั้นสอง เพราะเป็นพื้นที่ที่ให้คนมาอยู่ร่วมกัน เป็นมิตรกัน ไมตรีจิตคือห้องชั้นสาม ซึ่งผนังกั้นห้องพักกับห้องน้ำเป็นกระจกใสมองทะลุได้ ส่วนห้องชั้นสี่ได้ชื่อสันติภาพ เพราะดูผ่อนคลายที่สุด มีหน้าต่างใหญ่เห็นวิวชัดเจน และมีระเบียงออกไปนั่งเล่นได้”

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย
Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย

ประสบการณ์การออกแบบรีสอร์ทและโรงแรมทำให้สถาปนิกหนุ่มรู้ว่าการออกแบบที่พักแตกต่างกับการออกแบบบ้าน เพราะต้องออกแบบประสบการณ์อยู่อาศัยให้แตกต่างออกไป

“เวลาผมออกแบบโรงแรมสมัยที่ยังทำงานอยู่ออฟฟิศสถาปนิกจะต้องคิดเรื่องพวกนี้กันเสมอ การออกแบบห้องพักให้ผนังกั้นห้องนอนกับห้องน้ำเป็นกระจกใสที่ดูโป๊ๆ เปลือยๆ ไม่มีในบ้าน แต่มันจำเป็นมากสำหรับโรงแรม เพราะให้ประสบการณ์แปลกใหม่แก่ผู้มาพัก เจ้านายผมในสมัยนั้นมักจะถามผมเสมอว่า คนมาพักจะไปมีอะไรกันตรงไหนวะ? (หัวเราะ) คือไม่ได้ทะลึ่งนะ แต่มันสำคัญกับการออกแบบโรงแรมจริงๆ”

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย
Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย

五 เบอร์ห้า : รักษาภายนอก

“ด้วยความที่ผมเรียนสถาปัตย์มา ผมเลยค่อนข้างเคารพบริบทและประวัติศาสตร์ของย่านนี้มาก ตึกตึกนี้เป็นตึกแถวยุคที่ 2 ของกรุงเทพฯ คือประมาณ 60 – 70 ปีก่อน ตอนแรกมันเป็นตึก 3 ชั้น ทีนี้คนเช่าก่อนหน้านี้เขาต่อเติมให้มันกลายเป็นตึก 4 ชั้น แล้วผมเกลียดการต่อเติมตึกอยู่แล้ว เพราะมันทำให้ตึกมีสัดส่วนแปลกไป เวลามองจากด้านนอกชั้นสามกับชั้นสี่ที่ต่อเติมเพิ่มดูน่าเกลียด มันยื่นสูงกว่าแนวตึกอื่นๆ ในละแวกนี้ทั้งหมด ผมเลยต้องทำให้ตึกมันกลับไปหาหน้าตาเดิมๆ บริบทเดิมๆ คือด้านในอาคาร การตกแต่งของเราจะแปลกยังไงก็ได้ เราเอาชีวิตในยุคนี้ของเราใส่เข้าไป แต่ด้านนอก ผมหาวิธีปิดชั้นสามกับชั้นสี่ให้มองจากด้านหน้าแล้วดูกลมกลืนกับตึกข้างๆ ให้มากที่สุด”

ทอพแก้ไขปัญหาด้วยการให้ช่างไปวัดและสั่งทำหน้าต่าง 2 ชั้นล่างให้เป็นแบบเดียวกับตึกฝั่งตรงข้าม ส่วนชั้น สามและสี่ก็พยายามทำให้มองจากภายนอกแล้วมองไม่ค่อยเห็น โดยปลูกต้นไม้บนชั้นสี่ให้เลื้อยลงมาคลุมปิดชั้นสามไว้ ถ้าดูจากภายนอกเราก็จะไม่ค่อยเห็น 2 ชั้นที่ต่อเติมไปสักเท่าไหร่

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย

六  เบอร์หก : การตกแต่ง

“หุ้นส่วนแต่ละคนมีรสนิยมและความชอบไม่เหมือนกันเลย เรามีวิธีการแก้ปัญหาคือให้แต่ละคนเอารูปของที่ตัวเองชอบมาวางกองกันตรงกลาง แล้วหยิบมาวางไว้ในแต่ละห้อง ดูว่าแต่ละคนอยากให้มีอะไรอยู่ตรงไหนกันบ้าง มันเลยไม่ได้มีภาพที่ชัดเจนหรือมีสไตล์ที่เรียกได้เต็มปาก แต่มันกลายเป็นบ้านที่เราทุกคนเข้ามาอยู่แล้วสบายใจเท่านั้นเอง

“โชคดีอีกอย่างคือหุ้นส่วนของเราคนนึงสะสมเฟอร์นิเจอร์ตั้งแต่สมัยที่อยู่ที่ซานฟรานซิสโก เขามีเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ มากมาย รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างตู้เย็นด้วย ผมเลยหยิบเอาของเหล่านี้มาใช้ในส่วนห้องพัก ซึ่งสร้างบรรยากาศไปกันได้ดี ความโชคดีอีกอย่างนึงก็คืองบประมาณที่จำกัด เราไม่สามารถไปหาวัสดุอื่นมาปิดผนังตรงโถงบันไดได้ การทาสีเฉยๆ ก็ไม่ค่อยน่าสนใจ ผมเลยเลือกให้ช่างกะเทาะปูนที่ผนังออกให้เห็นเป็นแนวอิฐเปลือยแทน ซึ่งทำออกมาได้สวยและสร้างคาแรกเตอร์ให้กับตึกได้ดีมาก”

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย

七  เบอร์เจ็ด : ร้านอาหาร

ความโดดเด่นของตัวร้านอาหารและบาร์ด้านล่างนั้น ส่วนหนึ่งคงต้องให้เครดิตกับการเลือกใช้หินขัดเป็นส่วนประกอบของบาร์และที่นั่งด้านติดหน้าต่างทั้งหมด แม้หินขัดอาจดูเชย ตลก และประหลาด พอสมควรในยุคนี้ แต่ Ba hao หยิบวัสดุนี้มาสร้างความเก๋ได้อย่างลงตัว

“ด้วยความที่เราขายอาหารจีน เครื่องดื่มก็เป็นแบบจีนๆ เราคิดถึงวัสดุที่ฮิตมากในสมัยก่อนอย่างหินขัด คือคนสมัยนี้คิดว่าหินขัดมันดูไร้รสนิยม ดูจน เพราะมันติดมากับตึกแถว แต่คุณไม่รู้หรอกว่าในสมัยก่อนตึกแถวแพงมาก การสร้างตึกแถวของยุคก่อนก็ตั้งใจทำมากๆ พื้นหินขัดเป็นพื้นที่คุณภาพดี ทนทานสุดๆ พื้นแบบนี้มีขั้นตอนการทำเยอะ ต้องใส่ใจในการทำ หาช่างทำก็ยาก และราคาก็ถือว่าแพง ตารางเมตรหนึ่งก็หลายพันบาท แต่กลายเป็นว่าคนสมัยนี้รู้สึกว่ามันจน ผมเลยรู้สึกว่าอยากใช้หินขัด อยากให้คนเห็นว่าจริงๆ หินขัดก็ทำของที่ดูสวยงามได้ แต่เงินเราไม่ได้มีมากพอ เลยมาคิดว่าจะเลือกใช้หินขัดกับบางส่วนเท่านั้น อย่างบาร์ ม้านั่งหน้าร้าน เคาน์เตอร์ห้องน้ำ แล้วก็ใช้เป็นสีน้ำเงินที่ไม่ค่อยมีคนใช้เท่าไหร่”

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย

ทอพเสริมหลักการออกแบบบาร์อีกว่าต้องเริ่มต้นด้วยการวางตำแหน่งครัวกับบาร์ก่อน เพราะสองสิ่งนี้คือหัวใจหลักของร้านอาหารที่จะกำหนดการสัญจรและรูปแบบทั้งหมดของร้าน ทางทีมงานเลือกตำแหน่งวางกันหลากหลาย ก่อนสรุปตำแหน่งโดยอิงจากการสัญจรของคนและรถที่ผ่านถนนหน้าร้าน

ถ้าเราขับรถผ่านจะเห็นบาร์เป็นสิ่งแรกของร้าน และเห็นบันไดเป็นอย่างที่สอง ส่วนด้านในสุดของร้านที่มืดทึบ สถาปนิกคิดถึงการติดไฟเพื่อให้คนมองเห็นด้านในร้านจากภายนอก ก็เลยมาลงตัวที่การติดไฟนีออนไว้ที่ด้านใน เพราะตัวคานด้านบนช่วยสะท้อนแสงไฟลงมาด้านล่างอีกที และใช้ประตูห้องน้ำทองเหลืองขัดด้านล่างไฟนีออนช่วยสะท้อนแสงไฟซ้ำเพื่อทำให้ร้านดูมีมิติ

ส่วนเรื่องเสียงรบกวนจากบาร์ที่อาจจะส่งผลถึงตัวห้องพัก พื้นที่ชั้นสองที่เป็นห้องนั่งเล่นช่วยทำหน้าที่กันเสียงขึ้นไปรบกวนห้องพักด้านบน ทีแรกทีมงานกังวลว่าแขกที่มาพักอาจจะบ่นว่าการกลับขึ้นห้องพักนั้นไม่สะดวกเพราะต้องเดินผ่านบาร์ช้นล่าง แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นเสน่ห์ที่คนมาพักได้ความรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของร้าน และมานั่งเล่นที่ร้านอาหารข้างล่างกันเป็นประจำ

นอกเหนือจากการตกแต่ง ตัวอาหารที่เสิร์ฟนั้นก็ปรับปรุงหน้าตาให้งดงามเก๋ไก๋ด้วยเช่นกัน อย่างปาท่องโก๋ผัดพริกเกลือ เครปไส้ฟองเต้าหู้ราดซอสพริกเสฉวน พลิกโฉมให้หน้าตาคล้าย wrap ของทางเม็กซิกัน และบัวลอยน้ำขิงที่แยกบัวลอยกับน้ำขิงออกจากกัน เป็นต้น

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย

เบอร์แปด : หนักใจ

ปัญหาหลักๆ ของการรีโนเวตคงหนีไม่พ้นเรื่องคลาสสิกของการซ่อมบ้านคือเรื่องผู้รับเหมาหนีงาน แม้หุ้นส่วนของที่นี่จะเป็นสถาปนิกอยู่แล้วก็ตาม ตามกำหนดการตึกนี้ควรเปิดได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน แต่พอเจอผู้รับเหมาหนีงาน ก็ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดมา 1 ปี

ปัญหาถัดมาหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จคือเรื่องความร้อน ทางสถาปนิกคำนวณเลือกแอร์ให้มีขนาด BTU เหมาะกับพื้นที่ ผสมกับการที่อาคารหลังนี้นั้นเป็นอาคารที่ก่อสร้างแบบ Wall Bearing หรือใช้ผนังรับแรง (เสาทุกต้นในอาคารนั้นเป็นเสาที่ช่างปั้นปูนขึ้นมาเพื่อตกแต่งเฉยๆ) ตัวผนังจึงหนาระดับ 20 – 30 เซนติเมตร และควรจะกันความร้อนได้ดี แต่ปรากฏว่าหลังจากเปิดให้บริการไปช่วงหนึ่งก็ต้องติดแอร์เพิ่มให้กับทุกชั้นอีกที เพื่อให้ทุกห้องเย็นสู้ความร้อนของกรุงเทพฯ ในยุค 2017 ได้

หลังการพูดคุยและนั่งเล่นอยู่ในห้องเบอร์แปดมาเต็มวัน เห็นทั้งร้านอาหารและห้องพักด้านบนทั้งหมด ผมรู้สึกเหมือนได้รับการปรับทัศนคติใหม่ทั้งหมดเกี่ยวกับความเป็นจีนที่เรามองข้ามมันไป ที่จริงแล้วมันก็สามารถทำให้เก๋ได้ คูลได้ ไม่แพ้สไตล์แบบอื่นๆ ถ้าใครมีโอกาสผ่านมาย่านนี้แล้วอยากพบเจอประสบการณ์จีนๆ แบบนี้ก็ขอเชิญมาที่ห้องเบอร์แปดนี้นะครับ

谢谢 เซี่ยเซี่ย

Ba hao : รีโนเวตตึกแถวด้วยวิธีจี๊นจีนเป็นร้านอาหารและที่พักจีนจีนร่วมสมัย
 

ระยะเวลารีโนเวต: 1 ปี
สถาปนิก: ทอพธนพลพจน์ โรจน์ณัฐกุล

ที่อยู่ 8 ซอยนานา ถนนไมตรีจิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
ร้านอาหารและบาร์เปิดให้บริการ 18.00 – 24.00 น.
ติดต่อสอบถาม 081-454-4959

www.ba-hao.com
Facebook: Ba hao 八號

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan