นี่คือคอลัมน์ของ The Cloud ที่ผมเสนอตัวขอรับภาระทำเองด้วยความเต็มใจ

ด้วยเหตุผลและรสนิยมส่วนตัวบางอย่าง ผมชอบและหลงรักเขตย่านเมืองเก่ามากกว่าย่านเมืองใหม่ ความชอบนี้ขยายอาณาเขตไปจนถึงตัวตึกและอาคารเก่าๆ อาจจะด้วยความที่ตึกเก่าเหล่านี้เป็นเหมือนหมุดหมายที่จดเหตุการณ์สำคัญในอดีตไว้ผ่านการตกแต่ง หรือห้องต่างๆ ด้านใน บางตึกยังพอเห็นเค้าโครงความนิยมเมื่อครั้งอดีต คราบสีแห้งร่อนเป็นแผ่นๆ จากการผ่านวันเวลา ความเปิ่นๆ โก๊ะๆ ของสถาปัตยกรรมจากยุคเก่าอย่างเสาโรมัน หน้าต่างวงกลม โค้งประตูที่ช่างไม่เข้ายุคสมัยกับยุคปัจจุบันเลย เวลาที่มีคนคิดจะบูรณะ หรือซ่อมแซมตึกเก่าให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งนั้น จึงทำให้ผมมักจะตื่นเต้น และคอยเอาใจช่วยอยู่เสมอ

ผมเข้าใจดีและไมไ่ด้ยึดติดว่าตึกเก่าเหล่านั้นต้องมีหน้าตาเก่าแก่สีลอกสีซีดแบบเดิมอยู่ตลอดไป

แต่ถ้าตึกเก่าเหล่านั้นจะได้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง ผมก็อยากให้มั่นใจว่ามันจะเป็นตึกใหม่ที่น่าภาคภูมิ-ทั้งในแง่ของหน้าตาและการใช้งาน พื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่เพื่อจะได้ใช้บอกเล่าความคิด การทำงาน เบื้องหลัง และการลงมือบูรณะปรับปรุงอาคารเก่าสักหลังเพื่อที่มันจะได้ทำหน้าที่บอกเล่าอดีตและหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ได้ต่อไป

Bangkok Publishing Residence

บ้านผมอยู่แถวฝั่งธน

ทุกเย็นผมต้องนั่งรถผ่านถนนหลานหลวงเพื่อข้ามสะพานปิ่นเกล้ากลับบ้าน

และก็เป็นทุกเย็นอีกเหมือนกันที่ผมได้เห็นตึกสีดำตรงปลายถนนหลานหลวง ที่จำได้แม่นยำก็เพราะชั้นล่างสุดของตึกสีเข้มหลังนั้นไร้ประตูและหน้าต่าง

วันหนึ่งก่อนที่ผมกำลังจะลงเรือแสนแสบที่ท่าเรือผ่านฟ้าฯ ผมก็นึกอยากรู้ขึ้นมาว่าตึกสีเข้มนั้นคืออะไร จนยอมเดินย้อนกลับมาเพื่อดูด้านหน้าตึก ป้ายแผ่นเล็กที่ติดอยู่หน้าตึกบอกเราว่า Bangkok Publishing Residence ตึกสีดำไร้หน้าต่างแห่งนี้คือโรงแรม

ผมจำชื่อโรงแรมกลับมาค้นหาช้อมูลเพิ่มเติม ก่อนจะเจออดีตอันรุ่งเรืองของโรงแรมแห่งนี้ ที่เคยเป็นโรงพิมพ์ของนิตยสาร บางกอก มาก่อน ภาพบรรยากาศภายในโรงแรมหลายๆ รูปบอกผมว่าการรีโนเวตครั้งนี้น่าสนใจและน่าบอกเล่าให้ผู้อื่นฟัง

หลังการนัดหมายในเวลาไม่นาน ผมก็ได้มีโอกาสเดินผ่านประตูเข้าไปในโรงแรมแห่งนี้สักที ตรงหน้าผมคือ คุณอุ้ม-ปณิดา ทศไนยธาดา เจ้าของและผู้ลงมือปรับโฉมโรงแรมแห่งนี้ด้วยตัวเอง

Bangkok Publishing Residence

จากตึกแถวสู่โรงพิมพ์

โรงพิมพ์แห่งนี้มีจุดเริ่มต้นจากคุณตาของคุณอุ้มซึ่งเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงเริ่มขายหนังสือกับเพื่อน ขายไปสักพักก็รู้จักนักเขียนเยอะขึ้น จนตัดสินใจเริ่มทำโรงพิมพ์เอง เป็นจุดเริ่มของนิตยสาร บางกอก ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จ เลยซื้อห้องแถวที่อยู่ติดกันเพื่อขยายกิจการโรงพิมพ์ ขยายยาวจนครบทั้ง 6 คูหาก็ยังไม่พอ จึงย้ายโรงพิมพ์ไปอยู่ที่ถนนศรีอยุธยาแทน ที่นี่กลายมาเป็นสำนักงานของบริษัทอื่นในครอบครัวของคุณอุ้มอยู่สักพัก ก่อนจะถูกทิ้งร้างไว้อีกหลายปี

นิตยสาร บางกอก เป็นนิตยสารนิยายรายปักษ์ มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้ชาย ภาพปกจึงมักจะเป็นผู้ชายกล้ามโตกับหญิงสาวนุ่งน้อยห่มน้อย โด่งดังมากจนมีการนำนิยายบู๊ที่ลงในนิตยสาร มาสร้างเป็นหนังและประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ช่วงนึงในวงการภาพยนต์ถึงกับได้สูตรสำเร็จในการทำหนังฮิตของยุคนั้นว่า

เป็นนิยายบู๊ที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร บางกอก ก่อนมาทำเป็นละครวิทยุคณะแก้วฟ้า แล้วเป็นหนังที่นำแสดงโดยมิตร-เพชรา และลงโฆษณาเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ

แน่นอนว่าหนังอย่าง อินทรีแดง ก็เป็นนิยายพิมพ์เป็นตอนๆ ของนิตยสาร บางกอก เช่นเดียวกัน

ด้านล่างนี่คือป้ายห้องน้ำชายและหญิง

Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence

ช่วงนั้นคุณอุ้มซึ่งเริ่มจะว่าง เพราะทำโปรเจกต์อื่นๆ เสร็จหมดแล้ว เจอคุณยายมายื่นกุญแจให้ แล้วบอกว่า เข้าไปดูที่ตึกแล้วทำอะไรกับมันหน่อย

“ทำเลน่าจะทำเป็นโรงแรมได้ แกก็คิดว่าทำโฮสเทลง่ายๆ ก็พอ ดีกว่าปิดตึกไว้เฉยๆ พออุ้มเข้ามาดู ก็เห็นว่ามันมีศักยภาพมากกว่านั้น คือถ้าทำโฮสเทล เราต้องแข่งกับทุกคนในย่านนี้เลย แล้วอุ้มเป็นคนขี้เกียจแข่งกับคนอื่นไง (หัวเราะ) ถ้าจะทำแบบนั้นก็แค่วางคอนเซปต์แล้วก็ไปจ้างบริษัท Developer ให้เข้ามาทำก็จบ

ถ้าทำแบบนั้นแล้วเราจะทำไปทำไม อุ้มเริ่มต้นรีโนเวตโดยคิดจาก 2 เรื่อง หนึ่ง เราอยากทำพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว แถวนี้มีพิพิธภัณฑ์เยอะมาก ถ้าที่นี่จะเป็นด้วยก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แค่ไม่ค่อยทำเงินเท่านั้นเอง (หัวเราะ)

สอง แถวนี้โฮสเทลเยอะก็จริง แต่โรงแรมดีๆ มีน้อยมาก อุ้มก็เลยเลือกทางออกง่ายๆ ที่ไม่ต้องไปแข่งกับใคร คือทำพิพิธภัณฑ์ผสมโรงแรมดีๆ ที่ไม่มีในละแวกนี้ คอนเซปต์ก็ง่ายๆ ที่นี่เคยเป็นอะไร ก็ดึงให้มันกลับมาเป็นแบบนั้น มันเป็นแรงผลักให้เรายิ่งอยากทำด้วย เพราะยุคของโรงพิมพ์นิตยสาร บางกอก เป็นยุคที่ถนนสายนี้เฟื่องฟูสุด เป็นแหล่งแฮงเอาต์ของนักเขียน พิพิธภัณฑ์สำหรับอุ้มคือต้องเก็บสิ่งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เหมือนได้ย้อนกลับไปในยุคที่มันเป็นตอนนั้น”

Bangkok Publishing Residence

จากโรงพิมพ์สู่โรงแรม

คุณอุ้มไม่ได้จบสถาปัตย์หรือมัณฑนศิลป์มาโดยตรง เลยต้องหาคนมาช่วยดูแลโครงการนี้ร่วมกัน ประกอบด้วย ทีมสถาปนิกคือ คุณศรันย์ สุนทรสุข คุณพงศกร กิจขจรพงษ์ คุณบัญญัติ ลิ้มตระกูล และคิวเรเตอร์ คุณเกี้ยว-ประคำกรอง พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเคยทำงานด้วยกันมาหลายงาน เข้าใจเรื่องรสนิยมกันอย่างดี ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นมาก

โรงพิมพ์แห่งนี้ถูกปรับปรุงมาหลายครั้ง จากตึกแถวมาเป็นโรงพิมพ์ และจากโรงพิมพ์มาเป็นสำนักงาน แต่ละช่วงมีการปรับปรุงดัดแปลงตึึกอยู่ตลอด ทำให้ตึกนี้มีหน้าตาเปลี่ยนไปจากยุคแรกเริ่มเยอะมาก คุณอุ้มได้ตึกมาโดยไม่มีแบบแปลนหรือผังอะไรทั้งนั้น เลยใช้วิธีการไปเดินดูตึกแถวในย่านราชดำเนินที่สร้างในยุคใกล้ๆ กันเพื่อดูว่าตึกแถวในยุคนั้นมีหน้าตาแบบไหน เหมือนเป็นการย้อนกลับไปหาหน้าตาเดิมๆ ของมัน พอเจอรูปแบบหน้าต่างที่ใช้กันในยุคนั้นก็เลยสั่งทำหน้าต่างใหม่ขึ้นมาใช้ติดที่ตึก

ด้วยความที่เจอปัญหาเรื่องเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือน เพราะด้านหน้าของโรงแรมอยู่ตรงป้ายรถเมล์พอดิบพอดี คุณอุ้มจึงตัดสินใจปรับให้ชั้นล่างสุดของโรงแรมเป็นผนังทึบไร้หน้าต่างตลอดทั้งแนวโรงแรม เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวของแขกที่มาพัก ที่นี่จึงไม่เปิดให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาเข้ามาชมโดยไมไ่ด้นัดหมายมาล่วงหน้า แม้กระทั่งลุงยามยังได้คำสั่งว่าให้ยืนขวางประตูไว้แทนที่จะเป็นยืนข้างประตู เพราะไม่ได้ต้องการให้คนภายนอกที่เดินผ่านไปมาเข้ามาพลุกพล่านด้านในจริงๆ

Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence

ตรวจภายใน

คุณอุ้มเล่าถึงสภาพภายในตึกว่าคือสภาพวิบัติ

ตอนสั่งแท่นพิมพ์เข้ามาใช้งานในโรงพิมพ์ในยุคนั้น เจอปัญหาแท่นพิมพ์ใหญ่กว่าอาคาร คุณตาคุณยายของคุณอุ้มไม่ได้คิดอะไรมาก จึงแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการทุบเสาทิ้งเพื่อให้แท่นพิมพ์เข้ามาตั้งข้างในได้ โดยไม่ได้ทำเสาใหม่มาวางค้ำอาคารด้วย (คุณอุ้มทึ่งมากที่ตึกยังคงตั้งอยู่ได้โดยไม่ถล่มไปซะก่อน) ถ้าเดินขึ้นไปชั้นบนก็จะเจอพื้นไม้อัด ซึ่งพื้นไม้มันเก่าจนผุทะลุลงไปจนไม่เหลือแม้แต่พื้นจะเดิน คุณอุ้มเล่าว่าคุยกับสถาปนิกได้แม้อยู่คนละชั้นผ่านช่องพื้นที่ทะลุเป็นรู

ก่อนที่จะเริ่มลงมือปรับปรุง คุณอุ้มเลยจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านโครงสร้างเข้ามาสำรวจทุกอย่าง ดูความแข็งแรงของปูน ของเหล็ก ของเสา ที่มีทั้งหมด มีการยิงเลเซอร์วัดระดับการทรุดตัวของอาคาร มีการขุดและเจาะดูระยะความลึกของเสาเข็มที่ตอกไว้ ปัญหาใหม่ที่เจอก็คือ เสาเข็มเดิมอยู่ตรงตาน้ำ ขุดลงไปก็เจอน้ำผุดขึ้นมาอยู่ตลอด จนต้องไปเอาปั๊มมาสูบน้ำออกไปให้หมดก่อนเริ่มทำงานต่อ ตัวลิฟต์ในโรงแรมก็ถูกบังคับให้ต้องอยู่ในจุดที่อยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นจุดเดียวที่เจาะเสาเข็มลงไปแล้วไม่เจอตาน้ำ ทำให้ต้องแก้แบบกันอีกหลายรอบจากปัญหาหน้างาน

เสาทุกต้นของตึกแถวทั้งหกห้องนี้ก็ไม่มีต้นไหนขนานกันเลย ตอนที่สถาปนิกมาทำแบบก็ต้องมาวัดหน้างานกันจริงๆ ทุกชั้น ทุกจุดทุกรายละเอียดเพื่อให้สามารถออกแบบโครงสร้างตึกที่ปลอดภัยได้จริงๆ

แม้แต่เสาเดิมๆ ของตัวอาคารก็เสื่อมสภาพเสียจนปูนด้านนอกของตัวเสาหลุดออกมาเป็นแผ่นๆ ไม่เกาะตัวเหล็กเส้นด้านในเสาอีกต่อไป คุณอุ้มแก้ปัญหาด้วยการฉาบปูนปิดเสาไปเหมือนเดิม แล้วใช้คานเหล็กไปเสริมค้ำรับแรงตัวเสาไว้ทั้งหมดเพื่อให้เสายังรับน้ำหนักตัวอาคารอยู่ได้ โดยออกแบบให้ดูเหมือนเป็นการตกแต่งแบบโรงงานในยุคนั้นแทน

Bangkok Publishing Residence

จัดระบบให้เป็นระเบียบ

ตึกแถวในสมัยนั้นไม่มีระบบบำบัดหรืออะไรทั้งนั้น ท่อน้ำทิ้งจากอาคารถูกต่อท่อให้เททิ้งไปที่ข้างหลังบ้านทั้งหมด คุณอุ้มจึงต้องทำระบบถังบำบัดน้ำเสียและถังดักไขมันใหม่หมด เช่นเดียวกับการเดินไฟฟ้า เดินท่อน้ำดีและท่อน้ำทิ้ง

Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence

มันก็แค่อากาศ

ปัญหาใหญ่ที่สุดของตึกแถวคือเรื่องแสงสว่างและการระบายอากาศ เพราะตึกแถวทั่วไปมีช่องให้แสงและอากาศเข้าเพียงแค่หน้าบ้านกับหลังบ้าน โรงพิมพ์แห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน คุณอุ้มเลยอยากให้ผนังด้านหลังเปิดโล่งออกไปเลย แต่ด้านหลังโรงแรมเป็นอู่ซ่อมรถที่มีคนเดินไปมาอยู่เยอะก็เลยตกไปด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ก่อนจะได้ข้อสรุปออกมาเป็นการติดตั้งหน้าต่างเข้าไปจนทั้งผนังด้านหลังของโรงแรมทั้งหมดตั้งแต่ชั้นสองจนถึงชั้นสี่ แล้วทุบพื้นของชั้นสองถึงสี่ออกไปด้วยเลย เพื่อให้เป็นช่องแสงและช่องอากาศแก่ทุกๆ ชั้น แต่ก็เกิดปัญหาใหม่มาแทน เพราะหน้าต่างที่สูงขนาดนั้นไม่สามารถเปิด-ปิดได้ ทีมสถาปนิกก็เลยต้องออกแบบกลไกพิเศษให้ผู้ดูแลสามารถเปิด-ปิดหน้าต่างเหล้านี้ได้ด้วยตัวคนเดียว (นึกภาพคล้ายๆ ก้านหมุนของหน้าต่างบานเกล็ด แต่อันนี้ใหญ่โตกว่ามาก)

ไม่ใช่แค่นั้น พอพื้นและผนังด้านหลังหายไป ก็ยังมีอีกปัญหาคือ ตึกบิดตัว ต้องให้วิศวกรมาออกแบบคานเพื่อยึดผนังหน้าต่างด้านหลังเข้ากับตัวอาคารเดิมอีกที คุณอุ้มบอกว่า ถ้าด้วยความสวยงามก็ไม่อยากให้มีคานตัวนี้อยู่ แต่ว่าเรื่องความปลอดภัยนั้นสำคัญกว่า

Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence : จากโรงพิมพ์สู่โรงแรม
Bangkok Publishing Residence

เรื่องพื้นๆ ที่ไม่เคยพื้น

ด้วยความที่ชั้นสองชั้นสามเป็นพื้นไม้อัดแบบที่ไม่เก็บเสียงและไม่เก็บฝุ่นใดๆ ทั้งสิ้น แต่ยังอยากเก็บพื้นไม้ไว้ ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการใช้ยางรองเครื่องจักรอุตสาหกรรมตามโรงงานมาปูรองพื้นด้านในก่อน แล้วค่อยปูไม้กระดานทับ ช่วยให้พื้นไม้เก็บเสียงและเก็บฝุ่นได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยางที่ว่าร้านวัสดุก่อสร้างที่ไหนๆ ก็ไม่มีขาย คุณอุ้มต้องไปถามเพื่อนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมว่าสั่งจากไหนแล้วขอฝากสั่งเพิ่มให้ด้วย

“พอทำออกมาแล้วมันเวิร์กจริงๆ ผู้รับเหมาทุกคนก็อึ้ง เพราะไม่มีใครเคยคิดและทำสิ่งนี้มาก่อนเลย พี่สรัญ (สถาปนิก) แกเจ๋งมาก ความดีความพิเศษทุกอย่างของโรงแรมนี้มันซ่อนอยู่หลังฝ้า หลังกำแพง ทั้งหมดเลย และไม่มีใครเห็นสิ่งเหล่านี้ รูปลักษณ์ภายนอกอย่างการตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ก็แค่โรยผักชี ยกอะไรมาวางให้มันสวยก็ได้ แค่เดินเข้าโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์สักแห่งแล้วก็เลือกเฟอร์นิเจอร์มาสักชุดให้ถูกยุคก็สวยแล้ว แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือสิ่งที่อยู่หลังกำแพง ใต้พื้น ใต้ฝ้า อะไรเหล่านี้ทั้งหมดต่างหาก

Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence

ตกแต่งภายใน

ด้วยความที่เป็นโรงพิมพ์โรงงานมาก่อน คุณอุ้มและทางทีมสถาปนิกเลยกำหนดให้วัสดุที่นำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมหลักๆ ก็เป็นเหล็ก ผสมด้วยปูน ซึ่งตอบโจทย์ความเป็นโรงงาน แต่ยังขาดความเป็นที่พักอาศัยไปจึงเติมไม้เข้ามาเพื่อช่วยให้บรรยากศดูผ่อนคลายมากขึ้น ในส่วนของห้องพักก็ใช้ผ้าม่านมาทำให้ดูเป็นบ้านมากขึ้น แต่สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดคงเป็นเรื่องของกระเบื้องยาง มันเป็นแบบเดิมที่โรงพิมพ์เคยใช้ แต่ตอนนี้ไม่มีขายแล้ว ต้องไปตามหาโรงงานเดิมที่ผลิตในยุคนั้นแล้วสั่งให้ผลิตขึ้นมาใหม่ เพื่อเอามาใช้งานในโรงแรมนี้อีกครั้ง

ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ ถึงคุณอุ้มเกิดไม่ทันได้เห็นโรงพิมพ์แห่งนี้ในยุคเฟื่องฟู แต่ก็ได้ทันเห็นชุดเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่เคยอยู่ที่นี่แล้วถูกย้ายไปที่โรงพิมพ์ตรงศรีอยุธยา พอเริ่มทำโปรเจกต์นี้ก็เลยต้องดึงกลับมา โดยของที่ยกกลับมาต้องเป็นของโรงพิมพ์จริงๆ

“พวกแท่นพิมพ์ทั้งหมดที่เห็นเป็นของตกแต่งในโรงแรมก็เคยอยู่ที่นี่จริงๆ ก่อนจะถูกยกไปที่นู่น พอเขาจะปิดโรงพิมพ์ที่นู่นอุ้มก็ไปรื้อแล้วดึงกลับมาหมดเลย มันเป็นโจทย์ในการตกแต่งเลยแหละ คือพอได้ของที่เคยอยู่ที่นี่มาแล้วก็ยกมาตั้งวางไว้ก่อนเลย เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่เหลือรอบตัวก็ต้องตามเขา ถ้าของเดิมที่ดึงกลับมาตอบการใช้งานได้หมดจบในตัวก็คือจบ ถ้าไม่ได้ก็ค่อยไปหาของอย่างอื่นมาวางเสริม แล้วค่อยวางของตกแต่งด้วยของจากโรงพิมพ์อีกทีหนึ่ง”

ในส่วนของห้องพักทั้งแปดห้องนั้นคุณอุ้มก็เลือกที่จะตกแต่งในสไตล์ที่แตกต่างกันทั้งหมด ส่วนหนึ่งนั้นมาจากเฟอร์นิเจอร์ที่คุณอุ้มได้มา

“เพื่อความประหยัด อุ้มก็ไปหยิบของจากบ้านพ่อบ้านแม่บ้านยายมา โชคดีเป็นจังหวะที่เขารีโนเวตบ้านใหม่พอดี อุ้มก็ไปรื้อไปค้นเอาชิ้นที่มันถูกยุคสมัยมา พอได้มาก็เอามาวางกองรวมกันที่ชั้นล่าง ตัวอุ้มยืนมองอยู่ชั้นบน แล้วค่อยๆ แยกเป็นกองๆ ตามสไตล์ของเฟอร์นิเจอร์ อารมณ์จีนๆ ไปด้านนั้น อารมณ์ฝรั่งไปด้านนู้น แล้วอุ้มก็ไปดูสีห้อง ดูลักษณะผนังที่สถาปนิกทำไว้ให้มันอยู่ที่อารมณ์ไหน แล้วก็ไปเอาเฟอร์นิเจอร์ที่สไตล์ไปในทางเดียวกันมาลงไว้ สิ่งเดียวที่ซื้อใหม่หมดเลยทุกห้องคือเตียง เดี๋ยวแขกจะกลัว (หัวเราะ)”

คุณอุ้มอยากให้ที่นี่เป็นโรงแรมกึ่งพิพิธภัณฑ์ ของที่วางอยู่ทั้งหมดในโรงแรมก็เลยสัมผัสได้ ตู้ก็ไม่ล็อก

หนังสือในคลังข้อมูลคุณอุ้มก็ยินดีที่จะให้แขกหยิบมาอ่านได้ โดยขอแค่ให้ใส่ถุงมือยางเพื่อป้องกันหนังสือเสียหาย แต่หนังสือที่พิมพ์หลังปี 2500 แขกสามารถจับได้ด้วยมือเปล่า

Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence

จากใจคนเคยทำมาก่อน

“ให้คาดหวังในสิ่งที่ไม่คาดหวัง คืออย่าคิดว่าจะไม่เจอปัญหา อย่าคิดว่ามันต้องโอเค อย่าคิดว่าเสามันต้องมี ท่อ มันต้องโอเค ไม่งั้นเขาอยู่กันมาได้ไง 50 – 60 ปี อย่าคิดแบบนั้น คือเขาอยู่ได้เพราะมันคือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้เราไม่ได้อยู่กันแบบนั้นอีกแล้ว การรีโนเวต ตึกก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบไปตามบริบทและวิถีชีวิตของคนที่จะเข้ามาใช้จริง คือให้มันอารมณ์เดิมได้ แต่ถ้าฟังก์ชันมันไม่ได้ก็ทำให้มันได้เถอะ ไม่งั้นมันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย”

Bangkok Publishing Residence

สิ่งที่ได้รับจากการยอมเหนื่อยทำโปรเจกต์รีโนเวตแห่งนี้

“อุ้มได้บทเรียนโคตรเยอะเลยค่ะ อุ้มไม่ได้จบสถาปัตย์ ไม่ได้จบวิศวกรรม ไม่ได้จบอินทีเรียอะไรมาด้วยซ้ำ การที่มาทำเราได้เรียนรู้ทั้งหมดเลย ตอนนี้อุ้มอ่านแบบก่อสร้างได้ด้วย ได้บทเรียนชีวิตโดยไม่ต้องไปเข้ามหาวิทยาลัยใดๆ เป็นการเรียนจากการทำจริง แล้วก็ได้บทเรียนกับคน คือเราต้องประสานงานตั้งแต่คนรับเหมาก่อสร้างไปจนถึงลูกค้าที่เข้าพักที่เป็นราชนิกุลจากที่นั่นที่นี่ คือเราได้เรียนรู้เยอะมากๆ

อีกอย่างคือ ทั้งหมดที่เรามีกินมีใช้อยู่ทุกวันนี้ก็เริ่มต้นจากโรงพิมพ์ที่นี่ บ้านอุ้มไม่ได้ร่ำรวยอะไรมาก่อน ได้มาเพราะนิตยสาร บางกอก นี่แหละ วันนี้โรงพิมพ์ปิดไปแล้ว บางกอก ปิดไปแล้ว ทุกคนลืมหมดแล้ว เราเลยอยากเอามันมาเก็บไว้ให้โลกยุคนี้ได้เห็นว่า นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของพวกเรา เรามาจากตรงนี้นะ นี่คือแรงผลักให้อุ้มทำได้”

ผมมั่นใจว่าใครก็แล้วแต่ถ้าได้มีโอกาสเข้ามาด้านในโรงแรมแห่งนี้ ก็คงจะรู้สึกและสัมผัสถึงสิ่งที่คุณอุ้มคิดและทุ่มเททำลงไปทั้งหมดได้

ก็เหมือนกับการอ่านหนังสือ เราอ่านมันด้วยตา

แต่รับรู้ถึงสารนั้นๆ ด้วยใจ

Bangkok Publishing Residence
Bangkok Publishing Residence

Bangkok Publishing Residence

ระยะเวลาการรีโนเวต: 6 ปี

สถาปนิก: คุณศรันย์ สุนทรสุข, คุณพงศกร กิจขจรพงษ์, คุณบัญญัติ ลิ้มตระกูล

31-33-35-37-37/1 ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพ

โรงแรมนี้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีมากและเพื่อความเป็นส่วนตัวของแขกที่มาพักอาศัย จึงไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปด้านใน ถ้าไม่ได้นัดหมายมาก่อนล่วงหน้า แนะนำให้ติดต่อเพื่อสอบถามและนัดวันเข้าชมได้ที่ 0-2282-0288

www.bpresidence.com

FB | bangkokpublishingresidence

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan