ลืมภาพอาคารมัสยิดย่างที่เราคุ้นๆ ตาไปก่อน เพราะมัสยิดที่เราจะพาไปรู้จักนี้ไม่มีหลังคาโดมทรงกลมสีเขียวแบบที่เคยเห็น แต่กลับกลายเป็นหลังคาทรงแปลกตา ดูเหมือนดอกไม้ที่กำลังบาน ชูช่อดอกสูงขึ้นไปสู่พระเจ้าที่ชาวมุสลิมเคารพศรัทธา

มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย

มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย

ดอกไม้แห่งพระเจ้า

ถ้าเรานั่งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ผ่านแถวๆ สถานีรามคำแหง อาจจะสังเกตเห็นอาคารรูปทรงแปลกตาหลังหนึ่ง หลงยุคสมัยจากอาคารอื่นโดยรอบ หน้าตาดูคล้ายดอกไม้ สร้างด้วยคอนกรีตเป็นหลังคาผืนใหญ่ อาจดูทรุดโทรมบ้างตามกาลเวลา เพราะเนื้อปูนเหล่านั้นก็ไม่ได้ทาสีเพิ่มเติมให้สดใสขึ้นแต่อย่างใด แต่นั่นก็เป็นเพราะแนวความคิดหลักสำคัญในการก่อสร้างอาคารหลังนี้

อาคารหลังนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย’ หรือหน้าที่หลักจริงๆ ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย’ สถานที่ซึ่งชาวมุสลิมใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกัน

ย้อนกลับไปถึง พ.ศ. 2497 เมื่อเริ่มมีความคิดจะสร้างความเป็นปึกแผ่นของศาสนาอิสลามให้เกิดขึ้น ด้วยการจัดตั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางชาวมุสลิมเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาระดับประเทศ และเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ จึงมีโครงการก่อสร้างมัสยิดกลางแห่งประเทศไทยนี้ขึ้นภายใต้การนำของ ร.อ.ฉัตร ศรียานนท์ จนต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2514 จึงเริ่มวางรากฐานอาคารในสมัยของ นายเล็ก วานิชอังกูร ประธานมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยคนที่ 2

มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย

ดอกไม้แห่งคอนกรีต

ขณะนั้นเป็นยุคสมัยที่สถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นนับว่าเป็นแนวความคิดที่ก้าวหน้ามาก สถาปนิก ไพจิตร พงษ์พรรฦก ก็ใช้แนวความคิดนี้เป็นแกนหลักสำคัญ แทนที่จะสร้างมัสยิดตามแบบประเพณีเดิมที่หรูหราอลังการสมเป็นมัสยิดประจำชาติ ซึ่งหมายถึงงบประมาณอันมหาศาล คุณไพจิตรหาทางออกแบบภายใต้งบประมาณที่จำกัด ใช้โครงสร้าง Modular System ในการออกแบบ เชื่อมต่อกันเป็นหลังคาผืนใหญ่ สามารถทยอยก่อสร้างได้ทีละหน่วยๆ ต่อเติมได้เรื่อยๆ ตามสถานะการเงินช่วงนั้น

ภายใต้หลังคาหกเหลี่ยมกว้าง 12 เมตรแต่ละผืนนั้นเป็นคอนกรีตเปลือกบาง (Thin-shell Concrete) เทคโนโลยีการก่อสร้างสุดล้ำในยุคนั้น ที่แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็หาช่างก่อสร้างที่ทำออกมาสวยแบบนี้ได้ยาก

มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย

หล่อคอนกรีตจนออกมาเป็นกลีบดอกไม้ 6 กลีบที่กำลังบาน เสาที่รับน้ำหนักเปรียบเสมือนก้านดอกไม้ ซ่อนท่อระบายน้ำฝนจากด้านบนลงมา เมื่อแหงนมองเพดานจะเห็นความงดงามของโครงสร้างอันพิสุทธิ์โดยที่ไม่ต้องมีวัสดุฉาบผิวมาตกแต่งเพิ่มเติม

ที่สำคัญคือ พื้นที่ทั้งหมดเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว ทั้งโถงภายนอก ห้องโถงที่ประกอบพิธีด้านใน และห้องประชุมหกเหลี่ยมขนาดเล็ก และแฝงเอกลักลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอิสลามด้วยลวดลาย Moorish และ Arabian ลงบนบานประตู และการแกะสลักตัวอักษรประดิษฐ์ภาษาอาหรับลงบนผนังหินอ่อนสีดำที่อยู่ด้านทิศกิบลัตจำนวนทั้งหมด 21 แผงมัสยิดกลางแห่งประเทศไทย มัสยิดกลางแห่งประเทศไทยมัสยิดกลางแห่งประเทศไทย

ดอกไม้แห่งศรัทธา

แม้ว่ามัสยิดหลังนี้ใช้เวลาการก่อสร้างถึง 14 ปี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ Main Concept ของการออกแบบเปลี่ยนแปลงไป  พื้นผิวที่แข็งกระด้างของคอนกรีตไม่ได้มีผลต่อจิตอันละเอียดอ่อนมุ่งหน้าเข้าสู่พระผู้เป็นเจ้าตามบัญญัติ รูปทรงไร้โดมหลังคาด้านบนกลับสร้างโดมใต้หลังคาขึ้นมาใหม่ ญัติที่มุสลิมได้รับมอบหมายไว้คือการละหมาดวันละ 5 เวลา สถานที่นี้คงเป็นเพียงสถานที่อันไร้ชีวิตหากไม่มีพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อสถาปัตยกรรมได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขึ้นชื่อว่าที่ไหนๆ เราต่างก็มุ่งสู่ศรัทธาของตนเองได้ทุกแห่ง ตามแต่พระประสงค์ของพระเจ้า

มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย

Writer & Photographer

Avatar

วีระพล สิงห์น้อย

ช่างภาพสถาปัตยกรรม และเจ้าของเพจภาพถ่ายอาคารเปี่ยมเสน่ห์ชื่อ FOTO_MOMO