ได้ยินมาหลายครั้งว่า ‘สกาลา’ คือโรงภาพยนตร์ stand alone ที่สวยที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ ผมยังไม่กล้าฟันธงว่าสวยที่สุดในเอเชียอาคเนย์หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ในสายตาของตัวเอง ที่นี่คือโรงภาพยนตร์ที่สวยที่สุดในประเทศและยังมีชีวิตอยู่

นอกจากนั้นผมเคยได้ยินชื่อของ ‘สกาลา’ ว่าไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย โรงภาพยนตร์ชื่อซ้ำกันนี้มีมากกว่าหนึ่งแห่งในโลก

แล้วทำไมชื่อ ‘สกาลา’ ถึงได้รับความนิยม

พอไปค้นความหมายของคำว่า La scala ในภาษาอิตาเลียนนั้นแปลว่า บันได (staircase) ทำให้ยิ่งเกิดคำถามน่าคิดว่า บันไดเกี่ยวข้องกับโรงภาพยนตร์ได้อย่างไร

บันไดอันศักดิ์สิทธิ์

ย้อนกลับไปในประเทศอิตาลี ราวปี ค.ศ. 1778 ยุคสมัยที่สังคมชนชั้นสูงนิยมดูมหรสพ การแสดงโอเปร่าและบัลเล่ต์ ทำให้ก่อกำเนิดโรงอุปรากรขนาดใหญ่ขึ้นมาในเมืองมิลาน ชื่อว่า Teatro alla Scala เป็นโรงอุปรากรสถาปัตยกรรมรูปแบบ Neoclassic ที่มีชื่อเสียงและมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ภายในประดับประดาอย่างวิจิตรบรรจงตามสถานะกิจกรรมของชนชั้นสูง

และย้อนกลับไปไกลกว่านั้นอีกนิด ก่อนที่โรงอุปรากรแห่งนี้จะสร้างขึ้น เดิมที่ตรงนี้คือโบสถ์ Santa Maria della Scala อันหมายถึงบันไดสู่พระแม่มาเรีย เป็นหนทางศักดิ์สิทธิ์สู่สรวงสวรรค์นั่นเอง และจากนั้นความนิยมของคำว่า La Scala หรือชื่อแบบสั้นๆ ของ Teatro alla Scala ก็ติดปากผู้ชมมหรสพทั้งหลายทั่วโลก

La scala
en.wikipedia.org/wiki/La_Scala

จากมิลานสู่เกาะอังกฤษ

ในช่วงศตวรรษที่ 19 กระแสความนิยมดูมหรสพกระจายออกไปไกล ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมต่างๆ ขึ้นมารองรับกิจกรรมประเภทนี้ และที่เกาะอังกฤษก็เช่นกัน หัวมุมถนน Charlotte ในลอนดอน มีอาคารเก่าแก่ที่เปิดแสดงละครมาอย่างยาวนาน แต่ถูกไฟไหม้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียหายอย่างมาก จนเมื่อปี ค.ศ. 1903 – 1905 หมอชาวอังกฤษ Edmund Distin Maddick ได้เข้ามาซื้อตึกหัวมุมถนนนี้ แล้วให้ Frank Verity สถาปนิกผู้คร่ำหวอดการออกแบบโรงมหรสพสมัยนั้น ดัดแปลงอาคารกลายมาเป็นโรงภาพยนตร์อย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1911 และตั้งชื่อว่า ‘Scala Theatre’ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีโถงบันไดอันโอ่อ่าสมกับความหมายเดิมเลยก็ตาม

Scala Theatre
scala.co.uk

โปรตุเกส สกาลา และแอฟริกา

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ยุคสมัยอาณานิคมของโปรตุเกสมาถึงชายฝั่งแอฟริกาเช่นกัน มาพร้อมๆ กับความเจริญเติบโตของเมืองในอาณานิคมอย่างเมืองมาปูโต ประเทศโมซัมบิก เกิดสถาปัตยกรรมสไตล์ Art Deco ที่กำลังเป็นที่นิยมสมัยนั้นเต็มบ้านเต็มเมือง ทั้งอาคารบ้านเรือน และสถานที่ราชการต่างๆ ก็ออกแบบไปในทิศทางนี้ รวมไปถึงโรงภาพยนตร์ ‘Scala’ ที่สร้างในปี ค.ศ. 1931 โดยบริษัทภาพยนตร์ของแอฟริกาใต้ และยังคงเป็นโรงภาพยนตร์ stand alone ที่เปิดให้บริการอยู่

แม้ภายในโรงจะไม่มีบันไดที่โออ่านัก แต่ก็คงเสน่ห์ด้วยเก้าอี้ไม้หุ้มเบาะหนัง ยึดขาเก้าอี้ด้วยเหล็กหล่อแบบโบราณ และมีตัวอักษรโลหะ A, B, C, D, … ติดไว้กับพื้นไม้เพื่อบอกแถวที่นั่ง

Scala
Scala
Scala
Scala
Scala

สกาลาในสยาม

กลับมาที่เมืองไทย ถ้าจะนับตามลำดับโรงภาพยนตร์ในย่านสยามสแควร์นี้ ก็ต้องเรียงตามลำดับพี่น้อง คือ สยาม, ลิโด และสกาลา ทั้งสามแห่งเคยอยู่ภายใต้การดูแลของ คุณพิสิฐ ตันสัจจา ประธานโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ ผู้บุกเบิกพัฒนาพื้นที่อันห่างไกลความเจริญย่านปทุมวัน จนกลายเป็นแหล่งความเจริญหน้าหนึ่งของสังคมไทย จากโรงภาพยนตร์ทั้งสามโรง จะเห็นว่าสกาลานั้นเป็นผลงานออกแบบอย่างวิจิตรบรรจงที่สุด

รูปแบบสถาปัตยกรรมของสกาลานับเป็นเพชรน้ำงามของสถาปัตยกรรม Art Deco ในประเทศไทยจริงๆ ฝีมือของสถาปนิกอย่างคุณจิระ ศิลป์กนก นั้นการันตีความทันสมัยไว้กับอาคารหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น โรงแรมอินทราที่ประตูน้ำ ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ถนนสุรวงศ์ โรงภาพยนตร์เอเธนส์ โรงภาพยนตร์วงเวียนใหญ่รามา รวมไปถึงรูปแบบของธนาคารกสิกรอีกหลายๆ สาขา

แม้จะเป็นช่วงปลายของความนิยมกระแสโมเดิร์น แต่สถาปนิกกลับเลือกใช้ศิลปะแบบ Art Deco คือการใช้เส้นโค้งและเส้นตรงเรียบง่ายแต่แข็งแรง มีการใช้เส้นที่คมชัด เหลี่ยมมุมชัดเจน มักได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ รวมไปถึงรูปทรงเรขาคณิต ในยุคนั้นคนทั่วไปจะมีทัศนคติต่อศิลปะ Art Deco ว่าเป็นศิลปะแห่งความหรูหรา

ฉะนั้น สิ่งที่โรงภาพยนตร์สกาลาแห่งนี้แสดงความหรูหราให้เราเห็นได้ชัดเจน คือ บริเวณโถงบันไดทั้งหมดนั้น ถูกออกแบบอย่างประณีต ทั้งฝ้าเพดานและเสาคอนกรีตโค้ง ลวดลายประดับอื่นๆ ล้วนมีความหมาย เช่น ฝ้าลวดลายม้วนฟิล์ม ลายด้านหลังเคาน์เตอร์ขายตั๋ว รวมไปถึงโคมไฟระย้าจากอิตาลี ทั้งหมดนี้ส่งเสริมให้คำว่า Scala มีโถงบันไดที่อลังการสมความหมาย

สกาลา
Scala
Scala
สกาลา

บันไดที่ถูกทิ้งร้าง

แต่ถ้ายังรู้สึกเฉยๆ กับ ‘บันได’ ของสกาลาในเมืองหลวง ยังมีพี่น้องของสกาลาอีกแห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในต่างจังหวัด ผมว่าบันไดของที่นี่ดูอลังการกว่าสกาลากรุงเทพฯ จุดหมายสุดท้ายของเราคือ โรงภาพยนตร์เมืองทองรามา เป็นโรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสิงห์บุรี

จะว่าไปรูปร่างหน้าตาของโรงหนังแห่งนี้แทบจะถอดแบบกันมา เพียงแต่โถงตรงกลางนั้นไม่ได้วิจิตรอะไรมากมายนัก ฝ้าเพดานและเสาคอนกรีตก็เรียบๆ แต่สิ่งที่ทำให้โรงหนังแห่งนี้มีเสน่ห์ก็คือ บันไดทางขึ้นชั้นสองที่ออกแบบไว้งดงาม แม้จะไม่ได้แบ่งเป็น 2 ฝั่งเหมือนในกรุงเทพฯ แถมยังมีป้ายตัวอักษรอันเก่าของสกาลามาติดไว้ที่ชั้นสองเนื่องจากอยู่ในเครือเดียวกัน

ปัจจุบันแม้ถูกปล่อยรกร้างไม่ได้ใช้งาน แต่หากลองจินตนาการย้อนอดีตในสมัยรุ่งเรืองก็พอจะนึกออกว่าบรรยากาศของการชมภาพยนตร์ ณ โรงหนังริมน้ำแห่งนี้ก็คงตระการตาไม่แพ้ในเมืองเช่นกัน

โรงหนัง
เมืองทองรามา
สกาลา
โรงหนัง

Writer & Photographer

Avatar

วีระพล สิงห์น้อย

ช่างภาพสถาปัตยกรรม และเจ้าของเพจภาพถ่ายอาคารเปี่ยมเสน่ห์ชื่อ FOTO_MOMO