ถ้าพูดถึงประเด็นที่จุดประกายให้คนทั่วโลกลุกฮือขึ้นมาประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวในปีนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวสีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายจนเสียชีวิต ทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาประท้วงจนลุกลามระบาดไปทั่วโลกไม่แพ้ COVID-19 เลยทีเดียว แต่เรื่องที่เราจะเล่าผ่านรูปภ่าพเซ็ตนี้ คือภาพความเป็นจริงของความขัดแย้งในอดีตที่ยังคงไม่จางหายไปถึงแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม และความขัดแย้งที่ว่านี้ไม่ใช่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติหรือสีผิว แต่เป็นความขัดแย้งทางศาสนาในประเทศไอร์แลนด์เหนือ ถึงแม้จะเป็นศาสนาคริสต์เหมือนกันแต่คนละนิกาย เลยกลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนทุกวันนี้

ย้อนกลับไป 7 ปีก่อน เราซึ่งเป็นนักเรียนปริญญาโทอยู่ที่ประเทศอังกฤษสำเร็จการศึกษาและมีวีซ่านักเรียนเหลืออยู่ ใจจริงก็อยากจะไปท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่ติดที่ว่าต้องทำวีซ่าเชงเก้นเสียก่อน เราจึงเบนเข็มไปเที่ยวประเทศไอร์แลนด์เหนือแทน ซึ่งอยู่ในเครือจักรภพสหราชอาณาจักรที่เราถือวีซ่านักเรียนอยู่แล้ว

เราไปถึงเบลฟาสต์ (Belfast) เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือแล้วแวะเที่ยวอยู่ 2 – 3 วัน ก่อนจะนั่งรถไฟไปหาเพื่อนที่เมืองลอนดอนเดอร์รี่ (Londonderry) ดูจากภายนอกประเทศนี้ไม่ได้แตกต่างจากประเทศอังกฤษเสียเท่าไหร่ ร้านรวงส่วนใหญ่คล้าย ๆ กัน แต่ในความคล้ายก็มีความต่างอยู่ด้วย เช่น ธนบัตรที่ใช้ สำเนียง วัฒนธรรม และนิกายศาสนา คนอังกฤษส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายแองกลิคัน (Anglicanism) ซึ่งแตกหน่อมาจากนิกายโปรเตสแตนต์ (Protestantism) ส่วนคนไอริชเหนือส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก (Catholic) และด้วยความแตกต่างทางนิกายศาสนานี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาช่วงที่อังกฤษเข้าครอบครองไอร์แลนด์เหนือ ประชาชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ไอร์แลนด์เหนือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพ สหราชอาณาจักรก็ยังยืนยันที่จะนับถือคาทอลิก และยังเชื่อว่าไอร์แลนด์เหนือเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐไอร์แลนด์หรือไอร์แลนด์ใต้นั่นเอง ในขณะเดียวกันประชาชนบางส่วนก็เห็นด้วยกับการที่ดินแดนไอร์แลนด์เหนือรวมเข้ากับเครือจักรภพสหราชอาณาจักร และการนับถือศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายอังกฤษ

ด้วยความขัดแย้งนี้เองที่นำมาสู่ปัญหาความไม่เป็นธรรม คนเชื้อสายไอริชคาทอลิกรู้สึกว่ากฎหมายต่างๆ นั้นเอื้อประโยชน์ให้กับโปรแตสแตนต์เชื้อสายอังกฤษมากกว่า จึงทำให้เกิดการประท้วงและการก่อการร้าย เพื่อหวังจะแยกดินแดนหลายเหตุการณ์ และกลุ่มที่สร้างความปั่นป่วนมากที่สุด คือกลุ่มกบฏ IRA (Irish Republican Army) จนรัฐบาลของสหราชอาณาจักรต้องให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมประชาชน โดยไม่ต้องมีข้อหาเพื่อกวาดล้างกบฏกลุ่มนี้ ทำให้ประชาชนไม่พอใจและออกมาเดินประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชน อันนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด (Bloody Sunday) ที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ และทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตนับสิบราย

ผ่านมา 41 ปี จากวันที่เกิดเหตุจนถึงวันนี้ เรามีโอกาสมาเยือนสถานที่เกิดเหตุในเมืองลอนดอนเดอร์รี่ด้วยตัวเอง แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมานานมากแล้ว แต่บรรยากาศรอบๆ เมืองยังมีความเศร้าเจือจางอยู่ และรอบๆ เมืองเต็มไปด้วยสิ่งเตือนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความขัดแย้งก็ยังคงมีต่อไป มีการแบ่งเขตฝักฝ่ายอย่างชัดเจน โดยดูได้จากธงหรือสีธงชาติของไอร์แลนด์ ซึ่งคือเขียว ขาว และส้ม และของสหาชอาณาจักรคือ แดง ขาว และน้ำเงิน ในใบสมัครงานก็จะมีให้กรอกศาสนาด้วยเพื่อลดความขัดแย้งในที่ทำงาน และช่วงที่เราพักอยู่ในลอนดอนเดอร์รี่ก็เพิ่งมีเหตุการณ์คนยิงกันเพราะความขัดแย้ง ห่างจากที่พักเราแค่หัวมุมถนน 

สำหรับเราแล้ว กรณีของไอร์แลนด์เหนือก็คล้ายกับกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ต่างกันแค่เรื่องเชื้อชาติกับศาสนาเท่านั้นเอง และดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ต้องเสียเลือดเนื้อสักเท่าไหร่ ความขัดแย้งก็ยังคงไม่หายไป ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาเท่าไหร่ก็ตาม

Write on The Cloud

Photo Essay

ถ้าคุณมีเซ็ตภาพถ่ายที่อยากมาอวดในคอลัมน์นี้ ช่วยส่งเซ็ตภาพพร้อมคำบรรยาย(แบบไม่ยาวมาก) รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Photo Essay

ถ้าเซ็ตรูปของคุณได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ศิริญญา มังคลา

อดีตนักเรียนปริญญาโทอังกฤษที่กลายมาเป็นคนอังกฤษ รักการท่องเที่ยวและการเดินหาของอร่อยกิน ปัจจุบันยุ่งอยู่กับการคิดเมนูแต่ละวันในช่วงกักตัว