3 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก (World Wildlife Day) เพื่อเตือนให้ผู้คนในโลกหันมาสนใจเพื่อนร่วมโลกจำนวนมากที่กำลังสูญพันธุ์ลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในบ้านเรา จะรู้จักกันดีกับคำว่า สัตว์ป่าสงวน

สมัยเป็นเด็ก เวลานึกถึงสัตว์ป่าสงวน เรามักจะคิดว่า เป็นสัตว์ป่าที่สูญพันธุ์ไปหมดจากเมืองไทยนานแสนนาน ห่างไกลจากการรับรู้ของคนทั่วไป และแน่นอนว่า ภาพสัตว์ป่าสงวนตัวแรกที่ผุดขึ้นมาคือ สมันหรือเนื้อสมัน ตัวผู้จะมีเขาแตกแขนงออกไปมากมายเหมือนกิ่งไม้ จนได้ชื่อว่าเป็นกวางที่มีเขาสวยงามที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง

สมันเคยเดินหากินชุกชุมอยู่ตามทุ่งโล่งกว้างในภาคกลางของประเทศ แถวทุ่งรังสิต รวมถึงบริเวณกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากล่าได้ง่ายมาก และสมันไม่อาจหนีเข้าป่าทึบได้ เพราะเขาขนาดใหญ่ทำให้ติดกิ่งไม้ จึงถูกมนุษย์ล่าจนหมดสิ้นไปจากโลกเมื่อเกือบร้อยปีก่อน

‘สัตว์ป่าสงวน’ หมายความว่า สัตว์ป่าหายากหรือสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จำนวน 19 ชนิด ได้แก่

นักวิชาการไทยเพาะพันธุ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ละมั่ง นกกระเรียน กวางผา คืนป่าสำเร็จ
นักวิชาการไทยเพาะพันธุ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ละมั่ง นกกระเรียน กวางผา คืนป่าสำเร็จ

กระซู่ กวางผา กูปรี เก้งหม้อ ควายป่า พะยูน แมวลายหินอ่อน แรด ละองหรือละมั่ง เลียงผา วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ สมเสร็จ สมันหรือเนื้อสมัน นกกระเรียน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกแต้วแล้วท้องดำ เต่ามะเฟือง ปลาฉลามวาฬ วาฬบรูดา วาฬโอมูระ เต่ามะเฟือง และล่าสุด คือ นกเงือกชนหิน ที่อยู่ในระหว่างการประกาศ

ในบรรดาสัตว์ป่าสงวนทั้งหมดนี้ มี 2 ชนิดที่สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว คือ สมันและนกเจ้าฟ้าสิรินธร และอีกหนึ่งชนิดที่คาดว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้วคือ กูปรี

ภาพความทรงจำของสัตว์ป่าสงวนในสายตาของคนทั่วไป คือสัตว์ที่อนาคตมืดมนมาก ใกล้สูญพันธุ์เต็มที ไปแล้วไปลับไม่กลับมาอีก

วันหนึ่งในช่วงต้นฤดูร้อนที่อากาศควรจะร้อนจัดแต่กลับมีฝนตก ผู้เขียนเดินสำรวจพรรณไม้ในช่วงป่าผลัดใบอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน พลันสายตาเหลือบไปเห็นกวางตัวใหญ่ชนิดหนึ่งกำลังเดินออกจากราวป่า เขาอันโค้งงามสง่าของเค้า ทำให้รู้ว่าละมั่งตัวผู้ปรากฏต่อหน้าจริง ๆ เป็นละมั่งขนาดใหญ่กว่าที่ผู้เขียนเคยเห็นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อหลายปีก่อน

ในอดีต ป่าในเมืองไทยเคยมีละมั่ง 2 สายพันธุ์คือ ละมั่งสายพันธุ์ไทย (Siamese Eld’s deer) พบกระจายในภาคกลาง ภาคเหนือ และอีสาน และละมั่งสายพันธุ์พม่า (Thamin Eld’s deer) พบทางด้านตะวันตกของประเทศ แต่พอเวลาผ่านไป ละมั่งทั้งสองสายพันธุ์ได้เคยสูญพันธุ์ไปแล้ว จากป่าธรรมชาติถิ่นอาศัยที่ถูกทำลายและการไล่ล่า มีเหลือบางส่วนที่เลี้ยงกระจายอยู่ในสวนสัตว์ขององค์การสวนสัตว์ และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นักวิชาการไทยเพาะพันธุ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ละมั่ง นกกระเรียน กวางผา คืนป่าสำเร็จ

บางคนที่เคยไปเที่ยวสวนสัตว์เขาดินในวัยเด็ก คงนึกภาพละอง ละมั่ง เขางามในกรงได้

จนกระทั่งเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามของหลายหน่วยงาน คือ คณะวนศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การสวนสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อร่วมกันคัดสายพันธุ์และขยายจำนวนละมั่งในกรงเลี้ยงให้เพิ่มขึ้น

จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 มีการปล่อยละมั่งกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติเป็นครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวม 44 ตัว ซึ่งเมื่อมีการติดตามผล ปรากฏว่าละมั่งรอดน้อยมาก ไม่สามารถปรับตัวได้ เกิดโรคพยาธิ เป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่า เสือดาว เสือโคร่ง หมาใน ฯลฯ

ผู้เขียนเคยเข้าไปสำรวจละมั่งในช่วงเวลานั้น และพบว่าไม่นานละมั่งหายไปเกือบหมด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปล่อยในพื้นที่ที่ห่างไกล และเมื่อเคลื่อนย้ายละมั่งจากในสวนสัตว์มาแล้วปล่อยเข้าป่าทันที โดยไม่มีโอกาสปรับตัวก่อน โอกาสรอดจึงยากมาก

แต่พอมีการสรุปบทเรียนและปล่อยละมั่งรุ่นต่อมา มีการให้ละมั่งพักอยู่ในกรงขนาดใหญ่ในป่าห้วยขาแข้งก่อน เพื่อให้ปรับตัวสักระยะ ก่อนจะปล่อยละมั่งคืนสู่ธรรมชาติ และเมื่อมีการติดตามผล ปรากฏว่าอัตราการตายลดลงมาก หลังจากทีมงานได้สรุปบทเรียนแล้ว ในเวลาต่อมาจึงมีการปล่อยละมั่งคืนสู่ธรรมชาติอีกหลายแห่ง อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ จังหวัดพะเยา อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ฯลฯ

ช่วงหลังมีการใช้เทคโนโลยีผสมเทียมมาช่วยในการคัดเลือกสายพันธุ์ที่แข็งแรง ใน พ.ศ. 2552 จึงเริ่มโครงการผสมเทียมละมั่งพันธุ์พม่า ด้วยการรีดน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์แข็งแรงพันธุกรรมแกร่งจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และฉีดน้ำเชื้อที่ผ่านการแช่แข็งเข้าสู่ปีกมดลูกของแม่พันธุ์จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี

ไม่นานนักแม่ละมั่งได้คลอดลูกที่เกิดจากการผสมเทียมเป็นครั้งที่ 2 ของโลก และตั้งชื่อว่า อั่งเปา และใน พ.ศ. 2555 อั่งเปาได้กลับคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นละมั่งที่เกิดจากการผสมเทียมตัวแรกของโลกที่ปล่อยออกไปดำรงชีวิตในป่าธรรมชาติ และเป็นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพระบบสืบพันธุ์ ในการก่อกำเนิดลูกสัตว์พันธุ์ดีที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงแล้วมีความแข็งแรง จนนําปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติได้

นักวิชาการไทยเพาะพันธุ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ละมั่ง นกกระเรียน กวางผา คืนป่าสำเร็จ

3 ปีก่อน ผู้เขียนเคยติดตามทีมงานไปสำรวจละมั่งลึกเข้าไปในป่าสลักพระ เห็นลูกหลานของอั่งเปาหลายสิบตัว อยู่รวมกันเป็นฝูงเดินเล่นอยู่ชายป่า ไม่ไกลจากที่พัก ละมั่งเมื่อโตเต็มวัย จะเล็กกว่ากวางป่า มีความสูงที่ไหล่ 1.2 – 1.3 เมตร และน้ำหนักประมาณร้อยกิโลกรัม ซึ่งนักวิชาการสัตว์ป่าเชื่อว่า ละมั่งรุ่นแรกที่อยู่ในป่า ตัวยังไม่ใหญ่ น้ำหนักยังไม่ได้มาตรฐาน แต่พอรุ่นลูก รุ่นหลาน จะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น รู้จักหาอาหาร เอาตัวรอดจากสัตว์ผู้ล่า และขนาดน้ำหนักน่าจะเพิ่มขึ้น สร้างสายพันธุ์แข็งแรงได้ดีตามธรรมชาติ

นักวิชาการสัตว์ป่าประเมินว่า ละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในป่าหลายแห่งมาเป็นเวลาสิบกว่าปี น่าจะมีประชากรรุ่นลูกรุ่นหลานที่มีความแข็งแรง และมีสัญชาตญาณเอาตัวรอดได้เก่งขึ้น ประมาณ 200 – 300 ตัว และเป็นนิมิตหมายอันดีว่า ละมั่งที่เคยสูญพันธุ์ไปในป่าธรรมชาติกลับคืนมาได้แล้ว

นักวิชาการไทยเพาะพันธุ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ละมั่ง นกกระเรียน กวางผา คืนป่าสำเร็จ

เช่นเดียวกับนกกระเรียน หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนอีกชนิดหนึ่ง กล่าวกันว่า ในบรรดานก 18,000 ชนิดบนโลกนี้ นกกระเรียนนับได้ว่าเป็นนกที่สง่างามติดอันดับต้น ๆ จากรูปร่างอันเพรียวบาง สูงเป็นสง่า ดูอ่อนไหวเวลาย่างกราย ท่าเต้นรำเกี้ยวพาราสีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเมื่อกระพือปีกขึ้นโบยบินแล้วเป็นความงดงามอันเหลือเชื่อ

แต่น่าเสียดาย นกกระเรียนไทยที่เคยบินอยู่เหนือพื้นที่ชุ่มน้ำบนแผ่นดินอีสาน ได้สูญพันธุ์ไปตามธรรมชาติกว่า 50 ปีแล้ว

จนกระทั่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน สวนสัตว์นครราชสีมาประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์นกกระเรียนไทยในกรง และเป้าหมายต่อมาคือ ทำให้นกกระเรียนไทยคืนถิ่นอาศัยในธรรมชาติ และใน พ.ศ. 2554 ได้เริ่มทดลองจะปล่อยนกกระเรียนกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยมีพื้นที่เหมาะสมคือ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากมีหลักฐานภาพถ่ายยืนยันว่า จังหวัดนี้เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนในอดีตบริเวณอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง

จนถึงปัจจุบันมีการปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติจำนวน 133 ตัว และจากการติดตามอย่างใกล้ชิด พบว่านกกระเรียนสามารถรอดชีวิตได้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และนกกระเรียนวางไข่ออกลูกออกหลานได้เองตามธรรมชาติ

ความพยายามกว่าทศวรรษของนักวิชาการด้านสัตว์ป่า จนเพาะพันธุ์ ละมั่ง นกกระเรียน กวางผา คืนสู่ธรรมชาติสำเร็จ

นกกระเรียนเป็นนกน้ำขนาดใหญ่ ทั่วโลกพบ 15 สายพันธุ์ และนกกระเรียนไทยจัดว่าเป็นนกขนาดใหญ่ที่สุด โตเต็มวัยอาจสูงท่วมหัวคน คือ 1.8 เมตร น้ำหนักร่วม 10 กิโลกรัม และหากวันนี้ใครเดินทางไปจังหวัดบุรีรัมย์ อาจเห็นนกกระเรียนเดินหากินอยู่ในนาข้าว และกลายเป็นนกที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์อย่างจริงจัง และศัตรูโดยธรรมชาติคือมนุษย์ ก็ไม่มีใครกล้าล่าสัตว์ป่าสงวนตัวนี้เป็นอาหารอีกต่อไป

ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 บนดอยหลวงเชียงดาว ถิ่นอาศัยสำคัญของกวางผา สัตว์ป่าสงวนอีกชนิดหนึ่ง ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเดินทางติดตามผลการปล่อยกวางผาคืนถิ่น อันเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

กวางผาเป็นสัตว์จำพวกแพะแกะเช่นเดียวกับเลียงผา มีขนาดเล็กกว่า โตเต็มที่มีความสูงที่ไหล่มากกว่า 50 เซนติเมตรเล็กน้อย น้ำหนักตัวประมาณ 30 กิโลกรัม ขนบนลำตัวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลปนเทา เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ในเมืองไทยพบที่ดอยหลวงเชียงดาว ดอยอินทนนท์ และดอยม่อนจอง จังหวัดเชียงใหม่

สาเหตุที่กวางผาใกล้สูญพันธุ์ จากการบุกรุกถางป่าในภูเขาสูง เพื่อทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา และการล่ากวางผาเพื่อเอาเนื้อมากิน และเอาน้ำมันมาทำยา

แต่โชคยังดี กวางผาในธรรมชาติยังเหลือรอดพอสมควร ไม่หายสาบสูญในธรรมชาติเหมือนกับละมั่งและนกกระเรียนในอดีต เนื่องจากกวางผาอาศัยบนเขาสูงชัน ยากที่มนุษย์ผู้ล่าจะเข้าถึง และความคล่องตัวปราดเปรียวที่ทำให้สัตว์ผู้ล่าจับได้ยาก ปัจจุบันมีรายงานว่ากวางผาในธรรมชาติน่าจะมีมากกว่า 300 ตัว

ความพยายามกว่าทศวรรษของนักวิชาการด้านสัตว์ป่า จนเพาะพันธุ์ ละมั่ง นกกระเรียน กวางผา คืนสู่ธรรมชาติสำเร็จ

ใน พ.ศ. 2563 ทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย มีแนวคิดจะนำเอากวางผาที่เพาะเลี้ยงในกรงจำนวน 6 ตัวกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในการระดมทุนหาปลอกคอวิทยุ เพื่อติดตามพฤติกรรมของกวางผา และมีการปล่อยกวางผาที่เลี้ยงในกรงคืนสู่ดอยหลวงเชียงดาว

จากการติดตามข้อมูลจากปลอกคอวิทยุ เจ้าหน้าที่พบว่ากวางผาที่ปล่อยไปมีชีวิตอยู่ได้ในธรรมชาติและสืบพันธุ์ได้ แต่ต้องเรียนรู้ที่จะหลบหลีกจากผู้ล่า คือมนุษย์และหมาใน

สัตว์ผู้ล่าโดยตรงคือหมาใน มีร่องรอยเมื่อปีก่อน พบว่าหมาในเข้ามาใช้ทางด่านเดียวกันกับกวางผา และเริ่มเรียนรู้วิธีการล่ากวางผา โดยการแบ่งทีมไล่และดักซุ่มโจมตีจนประสบผลสำเร็จมาแล้ว นอกจากนี้ยังพบกองมูลหมาในที่มีขนของกวางผารวมอยู่ด้วยอีกหลายกอง

การทดลองปล่อยกวางผาครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำสัตว์ป่าสงวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ ไม่ต่างจากละมั่งและนกกระเรียน ที่นำร่องไปก่อนล่วงหน้าและประสบความสำเร็จด้วยดี

สัตว์ป่าสงวนทั้ง 3 ชนิด ผู้เขียนคาดหวังว่าน่าจะไม่สูญพันธุ์ไปจากโลก มีโอกาสอยู่รอดและขยายพันธุ์ตามธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

มนุษย์มีด้านที่โหดร้ายต่อสัตว์ป่าในฐานะผู้ล่าและทำลาย แต่อีกด้านของมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่มุ่งฟื้นฟูและพยายามทุกวิถีทางให้สัตว์ป่าอยู่รอด

อนาคตกำลังพิสูจน์ว่า ด้านใดของมนุษย์ที่จะลดลง และด้านใดจะมากขึ้น

ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว