3 พฤศจิกายน 2023
2 K

สิ่งที่เราเห็นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา นั่นอาจเป็นดาวหางฮัลเลย์ก็ได้

“ไม่ใช่ครับ นั่นคือฝนดาวตกโอไรออนิดส์ (Orionids) เศษซากหรือร่องรอยที่ดาวหางฮัลเลย์ทิ้งไว้”

บ้างก็บอกว่า เห็นยูเอฟโอมากันเป็นกลุ่มเลยนะครับ

“อันนั้นดาวเทียมสตาร์ลิงก์ของ อีลอน มัสก์ ครับ”

อ้าว แล้วแสงสว่างวาบบนท้องฟ้าช่วงประมาณตี 4 ถึงตี 5 นั่นล่ะครับ คืออะไร

“เป็นเรื่องปกติครับ เราจะเห็นดาวเทียมได้ในช่วงหัวค่ำกับรุ่งเช้า จากการที่แผงโซลาร์เซลล์ทำมุมสะท้อนกับแสงของดวงอาทิตย์ เราเรียกสิ่งนี้ว่าอิริเดียมแฟลร์ (Iridium Flare)”

ถ้าอย่างนั้น คนที่บอกว่าติดต่อกับยูเอฟโอ กับมนุษย์ต่างดาวได้ล่ะ – “อันนั้นเรียกงมงาย” 

สิ่งเหล่านี้อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ นี่คือสิ่งที่ แจ็ค-ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัย​ดาราศาสตร์​แห่งชาติ (องค์การมหาชน)​ เชื่อเสมอมา และลงมือลงแรงกับการก่อร่างตั้งฐานหอดูดาวภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา (อีสานตอนล่าง) จังหวัดฉะเชิงเทรา (ภาคกลาง) และ จังหวัดสงขลา (ภาคใต้) ซึ่งมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นสำนักงานใหญ่

หอดูดาวทรงเปลือกหอย จ.ขอนแก่น ที่ให้คนอีสานสนุกกับดาราศาสตร์ เบิ่งดาวฟรีทุกวันเสาร์!
หอดูดาวทรงเปลือกหอย จ.ขอนแก่น ที่ให้คนอีสานสนุกกับดาราศาสตร์ เบิ่งดาวฟรีทุกวันเสาร์!

หอดูดาวภูมิภาค 3 แห่ง เห็นจะยังครอบคลุมไม่ทั่วประเทศ เขาจึงสร้าง ‘หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น’ ขึ้นมาอีกหนึ่งแห่ง เป็นหอดูดาวภูมิภาคแห่งที่ 4 ของประเทศไทยที่เพิ่งเปิดให้บริการประชาชนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา

จุดประสงค์ของหอดูดาว คือสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจ มีกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทุกคน ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สถานที่แห่งนี้ยินดีและพร้อมให้ความรู้ดาราศาสตร์ผ่านกิจกรรมดูดาวที่จะกลายเป็นประสบการณ์ทางสายตาอันน่าจดจำไม่รู้ลืม

กลุ่มดาวคนคู่

หอดูดาวทั้ง 4 แห่ง จะมีกลุ่มดาวเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว

ถ้าสงสัยว่าเลือกจากอะไร เฉลยให้ เลือกจากกลุ่มดาวที่มองเห็นชัดเจนที่สุด ณ หอดูดาวนั้น ๆ

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ​ พระชนมพรรษา นครราชสีมา คือกลุ่มดาวค้างคาว

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ​ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา คือกลุ่มดาวหมีใหญ่

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา คือกลุ่มดาวแมงป่อง

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น คือกลุ่มดาวคนคู่

หอดูดาวทรงเปลือกหอย จ.ขอนแก่น ที่ให้คนอีสานสนุกกับดาราศาสตร์ เบิ่งดาวฟรีทุกวันเสาร์!

แจ็คอธิบายถึงกิมมิกเล็ก ๆ ที่เลือกกลุ่มดาวนี้มาเป็นสัญลักษณ์ หนึ่ง คือหอดูดาวของจังหวัดขอนแก่นห่างจากตัวเมืองค่อนข้างมาก พื้นที่โดยรอบจึงค่อนข้างมืด มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่เหมาะต่อการสังเกตฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ได้ดีที่สุดในบรรดาหอดูดาวทั้งหมด สอง คือในภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหอดูดาวนครราชสีมากับขอนแก่นตั้งอยู่คู่กัน จึงเป็นที่มาของกลุ่มดาวคนคู่ 

แสง-ดาว

หอดูดาวฯ ขอนแก่น แบ่งส่วนให้บริการหลัก ๆ ดังนี้ อาคารนิทรรศการ อาคารท้องฟ้าจำลอง อาคารหอดูดาว ลานกิจกรรม และลานกางเต็นท์ ทุกจุดออกแบบให้รองรับผู้สูงอายุและผู้พิการด้วย

เราให้แจ็คเล่าถึงแนวทางการออกแบบสถานที่นี้ เขาเน้นว่า ยึดหลักวิทยาศาสตร์มากกว่าตกแต่งเพื่อแสดงออกถึงอีสานเพียงผิวเผิน แจ็คไล่เลียงเป็นข้อ ๆ ให้ฟัง เริ่มต้นด้วยการวางตำแหน่งของหอดูดาวให้อยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่สุด กล่าวคือ จุดที่ไร้แสงไฟรบกวน จากนั้นวางเฉียง 45 องศา

“เนื่องจากอุปกรณ์สังเกตการณ์ทางด้านดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์แต่ละตัวที่ตั้งอยู่เรียงกันจะมีแกนชี้ไปยังขั้วเหนือของท้องฟ้า วางเฉียง 45 องศา ช่วยให้ไม่มีวัตถุมาบดบังกล้องแต่ละตัว อีกอย่างหนึ่ง ตำแหน่งของลานดูดาวต้องมองเห็นทิศเหนือ เพื่อสังเกตเห็นถึงการเคลื่อนที่ของท้องฟ้าที่ขึ้นทางทิศตะวันออก ตกทางทิศตะวันตก และมองเห็นดาวที่โคจรรอบขั้วเหนือของท้องฟ้าได้” แจ็คอธิบาย

หอดูดาวทรงเปลือกหอย จ.ขอนแก่น ที่ให้คนอีสานสนุกกับดาราศาสตร์ เบิ่งดาวฟรีทุกวันเสาร์!
หอดูดาวทรงเปลือกหอย จ.ขอนแก่น ที่ให้คนอีสานสนุกกับดาราศาสตร์ เบิ่งดาวฟรีทุกวันเสาร์!

มีอยู่จุดหนึ่งที่เราฉุกคิดขึ้นมาไม่ได้ว่า ในพื้นที่ที่มีแสงรบกวนน้อยที่สุด แสงใดกันที่จะเหมาะสมต่อการตั้งอยู่หรือถูกใช้ในหอดูดาว นั่นคือสิ่งที่แจ็คกำลังจะเล่าให้ฟังอย่างง่าย ๆ และเข้าใจได้ทันที

แจ็คบอกว่าหอดูดาวไม่ใช้แสงสีขาว แต่เปลี่ยนมาใช้แสงสีเหลืองจากหลอดโซเดียม ส่วนแสงสว่างภายในพื้นที่หอดูดาวเป็นแสงสีแดง เขาเริ่มอธิบายว่า น้ำเงิน ขาว เหลือง ส้ม แดง สีเหล่านี้คือสีที่รบกวนสายตามนุษย์ โดยเรียงจากมากไปน้อยที่สุด ยิ่งรบกวนสายตาเราน้อย เราก็ยิ่งมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น เหมือนแสงสีแดงในห้องล้างฟิล์ม หรือการใส่แว่นเลนส์สีเหลืองขณะขับรถนั่นเอง

“แสงสีน้ำเงินเหมาะกับโซนนิทรรศการ เราพยายามให้คนรู้สึกเหมือนอยู่ในอวกาศ แต่พื้นที่ที่ใช้เพื่อสังเกตการณ์ เราจะใช้แสงสีแดงและแสงสีเหลือง เพราะรบกวนสายตาน้อยที่สุด” 

ดาว-ประดับฟ้า

หอดูดาวภูมิภาคแห่งที่ 4 นี้ (แจ็คขอไม่นับเชียงใหม่ที่เป็นสำนักงานใหญ่) ย่อมแตกต่างจาก 3 ที่ก่อนหน้าแน่นอน เพราะนอกจากบทเรียนที่ได้รับกลับมาแล้ว พวกเขายังเก็บข้อมูลเพื่อนำมาปรับใช้ให้ทุกคนเข้าถึงหมู่ดาวบนพื้นดินได้อย่างไม่เสียอรรถรส เช่น เพิ่มที่นั่งในท้องฟ้าจำลองจาก 60 ที่นั่งเป็น 80 ที่นั่ง และเมื่อพูดถึงท้องฟ้าจำลองแล้ว แจ็ครับประกันว่า 

“คุณจะได้เห็นท้องฟ้าจำลองแบบฟูลโดมดิจิทัลเต็มระบบ (Fulldome Digital Planetarium) พร้อมซอฟต์แวร์ในการฉายภาพจากฝีมือคนไทย”

หอดูดาวทรงเปลือกหอย จ.ขอนแก่น ที่ให้คนอีสานสนุกกับดาราศาสตร์ เบิ่งดาวฟรีทุกวันเสาร์!
หอดูดาวทรงเปลือกหอย จ.ขอนแก่น ที่ให้คนอีสานสนุกกับดาราศาสตร์ เบิ่งดาวฟรีทุกวันเสาร์!

ถ้าสงสัยว่า ฟูลโดมดิจิทัล คืออะไร (เราก็สงสัยเหมือนกัน) แจ็คให้ข้อมูลพื้นฐานว่า

ท้องฟ้าจำลอง มี 2 ระบบ คือ Digital และ Optical

“ระบบ Optical แค่เครื่องฉายก็ปาไป 100 กว่าล้านบาท เรามีงบประมาณสร้างหอดูดาวภูมิภาคที่ละ 200 กว่าล้านบาท ถ้าเอาเงินครึ่งหนึ่งไปซื้อเครื่องฉาย นั่นเท่ากับกำลังใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ” แจ็คพูดถึงสาเหตุแรกว่าทำไมเขาถึงเลือกใช้ระบบดิจิทัล

ส่วนสาเหตุที่ 2 เพราะผิดจุดประสงค์ ตามวัตถุประสงค์แล้ว ท้องฟ้าจำลองคือการจำลองท้องฟ้าให้ผู้คนเรียนรู้ เห็นถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์และแสดงกลุ่มดาวบนท้องฟ้าว่าหน้าตาจริง ๆ เป็นอย่างไร หากอยากดูท้องฟ้าที่สวยงามเทียบเท่าของจริง หอดูดาวทรงเปลือกหอยแห่งนี้ก็ตอบโจทย์นั้น เพราะหลังคาโดมเปิดออกได้ เพื่อให้เห็นท้องฟ้าและรู้ถึงทิศทางของกล้องโทรทรรศน์ที่กำลังส่องไป

หอดูดาวทรงเปลือกหอย จ.ขอนแก่น ที่ให้คนอีสานสนุกกับดาราศาสตร์ เบิ่งดาวฟรีทุกวันเสาร์!
หอดูดาวทรงเปลือกหอย จ.ขอนแก่น ที่ให้คนอีสานสนุกกับดาราศาสตร์ เบิ่งดาวฟรีทุกวันเสาร์!

และสาเหตุสุดท้าย มีพื้นฐานอยู่บนแผนการบริหารงานความเสี่ยง

“ปัญหาที่เราเรียนรู้จากอดีต คือท้องฟ้าจำลองที่นำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าหลอดภาพเสีย ต้องรอนำเข้าอะไหล่ ถ้ามีเด็ก ๆ จากต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกลมาชมแล้วเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น เขาจะเสียโอกาส เราจึงเลือกสิ่งที่เหมาะสม เพื่อให้เด็ก ๆ ไม่พลาดสิ่งที่อาจเป็นแรงบันดาลใจชั่วชีวิตของพวกเขา” 

ระบบดิจิทัลซ่อมแซมข้อผิดพลาดได้ภายในครึ่งชั่วโมง ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบได้ตลอดเวลา แจ็คกำลังพยายามเพิ่มความละเอียดของภาพจาก 8K เป็น 10K เพื่อประโยชน์ของผู้ชมทุกคน

วงแหวนดาวเสาร์

หนึ่งสิ่งที่ทั้งน่าแปลกใจ ดีใจ และชื่นชม คือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้รับการแต่งตั้งจาก UNESCO ให้เป็นหน่วยงานแรกของโลกในการทำหน้าที่ฝึกอบรมทางด้านดาราศาสตร์ และถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการสร้างความตระหนักรู้ ความตื่นตัวทางด้านดาราศาสตร์ให้แก่ประชาชน และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า นี่คือทีมที่เข้มแข็งที่สุดของโลก

“ผมเชื่อว่า ณ ตอนนี้ ไม่มีใครบ้าคลั่งเท่าเราแล้ว” แจ็คปิดท้ายสั้น ๆ เมื่อพูดชื่อโครงการยาว ๆ จบ

“การมาตั้งหอดูดาวในจังหวัดขอนแก่นเป็นเรื่องการวางตำแหน่งในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด เราต้องการกระจายโอกาสในการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ทุกภูมิภาค เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ซึ่งนครราชสีมากินพื้นที่อีสานตอนล่าง ขอนแก่นเป็นอีสานตอนบน เพื่อให้จังหวัดอื่น ๆ รอบข้างเข้าถึงได้ง่าย”

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น หอดูดาวภูมิภาคแห่งที่ 4 ของไทย ที่ให้คนรู้ถึงความสำคัญของดาราศาสตร์และความงามของหมู่ดาว
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น หอดูดาวภูมิภาคแห่งที่ 4 ของไทย ที่ให้คนรู้ถึงความสำคัญของดาราศาสตร์และความงามของหมู่ดาว

แจ็คยังบอกกับเราอีกว่า อันที่จริงแล้วดาราศาสตร์มีมากกว่าการดูดาว

กิจกรรมดูดาวเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น แต่ดาราศาสตร์คืองานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศจากโจทย์ด้านดาราศาสตร์ เรายกตัวอย่าง ‘โจทย์ทางด้านดาราศาสตร์’ ง่าย ๆ อย่างการเกิดขึ้นของกล้องดิจิทัล เนื่องจากฟิล์มมีความไวแสงไม่พอต่อการเก็บภาพดวงดาว จึงเป็นโจทย์ที่ก่อให้เกิด Charge-coupled Device (CCD) ที่อยู่ในกล้องดิจิทัลของเรามาจนทุกวันนี้

การมีอยู่ของหอดูดาวจึงไม่ใช่แค่การพาผู้คนเข้าไปนั่งในท้องฟ้าจำลองแล้วพบจอภาพขนาด 8K ที่นำดวงดาวอันไกลโพ้นกว่าหลายล้านปีแสงมาอยู่ตรงหน้าในระยะไม่กี่เมตร แต่เป็นประตูซึ่งอาจพาผู้ที่สนใจล่องลอยผ่านจักรวาลมากมายสู่ศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า ‘ดาราศาสตร์’ อันมีความเป็นไปได้ไม่รู้จบและกว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าจะค้นพบ และเข้าใจอย่างถ่องแท้ผ่านการนั่งหลังพิงเบาะ

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น หอดูดาวภูมิภาคแห่งที่ 4 ของไทย ที่ให้คนรู้ถึงความสำคัญของดาราศาสตร์และความงามของหมู่ดาว

ในช่วงท้าย ๆ ของการพูดคุย แจ็คอ้างอิงคำพูดของ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ถึงสิ่งที่ผลักดันให้เขาสร้างหอดูดาวภูมิภาคต่าง ๆ

ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ ดร.ศรัณย์ ในวัยเด็ก จากเลนส์กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก สู่ดวงตา ประทับเป็นความทรงจำ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านอยากทำสิ่งนี้ให้เป็นจริงได้สักวันหนึ่ง

โดยคำพูดที่ว่าคือ ก่อนจบ ป.6 เด็กไทยทุกคนต้องได้ดูดาวเสาร์

เราเชื่อมั่นว่าหอดูดาวทั้ง 4 แห่งทั่วประเทศไทยจะทำให้คำพูดที่ว่าเป็นจริงได้

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น หอดูดาวภูมิภาคแห่งที่ 4 ของไทย ที่ให้คนรู้ถึงความสำคัญของดาราศาสตร์และความงามของหมู่ดาว
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนเเก่น

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

พิชิต ชัยสิทธิ์

เรียนจบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่เป็นนักดนตรีกลางคืน ที่ชอบเขียนพลง ขายหนังสือตอนกลางวัน ที่แอบไปรับงานถ่ายรูป หลัง ๆ หลงรักการฉายหนัง ตั้งแคมป์ จัดคอนเสิร์ตเล็ก ๆ เล่นกับแมว INSTAGRAM : somjing2121