19 พฤศจิกายน 2021
3 K

เมื่อเดือนที่แล้ว รายงานจาก IPCC Report (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Intergovernmental Panel on Climate Change) คาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เมตรภายในศตวรรษนี้ และอาจสูงถึง 5 เมตรภายใน ค.ศ. 2150 

ตัดภาพกลับมาที่เมืองกรุงเทพฯ 

น้ำที่จะท่วมกับน้ำรอระบาย ต่างกันอย่างไร 

น้ำท่วมจากมรสุม ท่วมจากภาวะโลกรวน และท่วมจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น คือเรื่องเดียวกันไหม 

ทำไมเรื่องน้ำถึงมีหลากหลายมิติ และทุกมิติกำลังเกิดขึ้นพร้อมกันซึ่งทวีความรุนแรงแบบคาดเดาไม่ได้

‘ทำอย่างไรให้ไม่ท่วม’ คือคำถามแบบหวาดผวาของคนกรุงเทพฯ พร้อมรอความหวังแบบลมๆ แล้งๆ น่าจะถึงเวลาต้องเปลี่ยนคำถามเป็น ‘เราจะอยู่กับน้ำ (ท่วม) อย่างไร ?’ เพราะการตั้งคำถามผิด มักจะจบด้วยคำตอบที่ผิด แก้ปัญหานั้น แต่ไปสร้างปัญหาโน้น 

คำถามบนความเข้าใจของเราว่าจะอยู่กับมันอย่างไรมากกว่า ที่จะนำไปสู่ทางออกที่แท้

5 โครงการฟื้นกรุงเทพฯ ย่านสาทร สีลม สวนลุม พระราม 1 คลองผดุง ผ่าน Blue-Green Infrastructure
คลองบางลำพู พ.ศ. 2423
ภาพ : teakdoor.com

เราอยู่กับน้ำท่วมมานมนานแล้ว

บันทึกอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์บางส่วนจากหนังสือ ‘เหตุการณ์น้ำท่วม พ.ศ. 2485’
ของกระทรวงมหาดไทย บอกเราว่า

พ.ศ. 2328 ช่วงรัชกาลที่ 1 เกิดน้ำท่วมใหญ่ปีมะเส็ง ซึ่งเป็นปีที่สร้างกำแพงพระนครและพระราชวังกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จนั้นเอง ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ปรากฏว่าระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว

พ.ศ. 2362 ในรัชกาลที่ 2 น้ำท่วมเดือนตุลาคม ข้าวยากหมากแพงเหมือนครั้งแรก

พ.ศ. 2374 ในรัชกาลที่ 3 น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายน คราวนี้น้ำท่วมทั่วพระราชอาณาจักร และมากกว่าปีมะเส็ง

พ.ศ. 2402 ในรัชกาลที่ 4 น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายน และ พ.ศ. 2410 น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายนอีกเช่นกัน แต่เสียหายไม่มาก เพียงท่วมภายนอกกำแพงพระราชวังเท่านั้น

พ.ศ. 2422 ในรัชกาลที่ 5 น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายน น้ำท่วมเพียงประตูพิมานไชยศรี

พ.ศ. 2460 ในรัชกาลที่ 6 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้า ถึงกับมีการแข่งเรือกันได้

ตามด้วยน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2485, 2526, 2518 และ 2554 ที่เราเริ่มคุ้นตา

เมื่อดูรูปแบบการท่วมตามฤดูกาลผันเปลี่ยน วนเวียนช้านาน คนบางกอกโบราณคงจะฝากคำถามถึงคนกรุงเทพฯ สมัยนี้ว่า

“ทำไมเจ้ากลายเป็นคนกลัวน้ำ เมืองบางกอกก็กลายเป็นเมืองกลัวน้ำ ช่างน่าประหลาดใจ”

5 โครงการฟื้นกรุงเทพฯ ย่านสาทร สีลม สวนลุม พระราม 1 คลองผดุง ผ่าน Blue-Green Infrastructure
แผนที่บางกอก พ.ศ. 2462

แผนที่เมืองบางกอก พ.ศ. 2462 เต็มไปด้วยโครงข่ายคูคลองน้อยใหญ่ จนผู้มาเยือนขนานนามเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เวนิสตะวันออก’ มีเอกลักษณ์ดังชุมชนกึ่งบกกึ่งน้ำ บ้านไม้ริมน้ำ เมืองเสาสูง ใต้ถุนเรือนชานเป็นเรื่องสามัญ เป็นภูมิปัญญาที่สะท้อนวิถีคนเมืองน้ำได้ชัดกว่าอะไร จะแห้งบ้าง ท่วมบ้าง คนบางกอกก็ปรับเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อยมา เพราะถือว่าเราคือองค์ประกอบหนึ่งของธรรมชาติ ไม่โกรธ ไม่บ่น เพราะน้ำคือชีวิต หมุดหมายของการมีชีวิตที่เอนอิงธรรมชาติ น้ำท่วมพัดพาตะกอนอันอุดมมาเติมปุ๋ยโอชะให้ดินในผืนนาและเรือกสวน 

เมื่อเมืองลืมคลอง

ตั้งแต่อดีตจนถึงปลายรัชกาลที่ 5 เราพัฒนาเมืองด้วยการขุดเปิด ขยายโครงข่ายคลอง เพื่อประโยชน์ทั้งการคมนาคม การชลประทาน การเกษตรกรรม เป็นน้ำดื่มน้ำใช้ ลากยาวไปถึงน้ำดับเพลิงให้อัคคีภัยที่เกิดขึ้นเนืองๆ กับบ้านไม้ในเขตเมืองชุมชนหนาแน่น ภาพเก่าเล่าเรื่องได้มากมายถึงความสัมพันธ์ของเรือพายกับคลองน้อยใหญ่ในเมืองคลองแห่งนี้ เมื่อครั้งบางกอกยังสร้างบ้านแปงเมืองควบคู่กับการขุดคูคลอง คลองคูเมือง คลองรอบกรุง คลองผดุงกรุงเกษม คลองไผ่สิงห์โต คลองเตย และอีกนับสิบนับร้อยล้วนเป็นคลองขุดเพื่อการพัฒนาเมืองทั้งสิ้น

5 โครงการฟื้นกรุงเทพฯ ย่านสาทร สีลม สวนลุม พระราม 1 คลองผดุง ผ่าน Blue-Green Infrastructure
คลองขุดใหม่ ต่อมาคือคลองผดุงกรุงเกษม พ.ศ. 2444
ภาพ : teakdoor.com

แต่เมื่อรถยนต์มาถึง เราก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปพัฒนาเมืองด้วยการตัดถนน ตามหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับคลองสมัยรัตนโกสินทร์ เพิ่งปรากฏบันทึกเรื่อง ‘คลองจักรวรรดิ์’ ที่ถูกถมเปลี่ยนเป็นถนน เป็นชื่อแรกๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6 และตามมาด้วยคลองหรือถนนอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน การโตของเมืองอย่างไม่สิ้นสุดทำให้คลองถูกหลงลืม และเลือนหายไปจากการเป็นเส้นเลือดฝอยของเมืองบางกอก 

5 โครงการฟื้นกรุงเทพฯ ย่านสาทร สีลม สวนลุม พระราม 1 คลองผดุง ผ่าน Blue-Green Infrastructure
คลองสีลม พ.ศ. 2453
ภาพ : Titi (on pinterest)

บางส่วนของถนนที่เคยเป็นคลอง ได้แก่

ถนนสีลม : คลองสีลม

ถนนพระรามสี่ : ถมคลองหัวลำโพง/คลองถนนตรง/คลองวัวลำพอง

ถนนมหาจักร : คลองสำเพ็ง/คลองวัดจักรวรรดิ

คลองสาทร : คลองสาทร

ถนนราชดำริห์ : คลองราชดำริ

ถนนช่องนนทรี : คลองช่องนนทรี

ถนนราชดำริ : คลองราชดำริห์

กรุงเทพมหานครวันนี้อยู่ได้ด้วยเขื่อนคอนกรีต ปั๊มน้ำ ประตูน้ำ และท่อระบายน้ำ การบริหารแบบแยกส่วน คลองที่หายไปเรื่อยๆ ในช่วงเกือบ 100 ปีที่เมืองเติบโตขยายอย่างไรขอบเขต เราใช้ท่อแทนคลอง และใช้คลองแทนท่อ เมื่อการสร้างเมืองยังอยู่บนฐานที่ไม่ได้เข้าใจกายภาพแบบเมืองน้ำ สิ่งเหล่านั้นสะท้อน ย้อนกลับมาในทุกสิ่งที่เราเห็นจากกายภาพเมือง

ทางออกแบบอัมสเตอร์ดัมตะวันออก

มีคำกล่าวว่า “แท้จริงแล้วกรุงเทพฯ ไม่ใช่เวนิสตะวันออก แต่เราเป็นอัมสเตอร์ดัมตะวันออก (Amsterdam of the East)” อาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศศ บทเรียนจาก Dr. Fransje Hooimeijer แห่ง TU Delft ที่ส่งตรงข้ามโลกมาบอกเรา…

5 โครงการฟื้นกรุงเทพฯ ย่านสาทร สีลม สวนลุม พระราม 1 คลองผดุง ผ่าน Blue-Green Infrastructure
ประวัติศาสตร์เครื่องมือในการต่อสู้กับน้ำที่เนเธอร์แลนด์ผ่านมา 
ภาพ : เอกสารประกอบการสอนวิชา Messy Fluid Urbanism,Washington university in st. Louis โดย Dr. FransjeHooimeijer

นี่คือประสบการณ์วิธีแก้ปัญหาเมืองต่ำ ลายแทงการต่อสู้กับน้ำหลายศตวรรษที่เนเธอร์แลนด์ผ่านมาจนถึงปัจุบัน เราไม่จำเป็นต้องเดินตามความพยายามทุกย่างก้าวที่เขาลองผิดลองถูกมา เราสามารถกระโจนไปที่ทางออกสุดท้ายได้เลย ทางออกสุดท้าย ที่ยอมรับกันทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงเวลาแบบนี้ ‘Nature-based Solution’ แปลตรงตัวว่า การแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน 

ดร.เพชร มโนปวิตร อธิบายไว้อย่างครอบคลุมและงดงามด้วยคำความที่เข้าใจง่าย ขยายประเด็นเฉพาะเรื่องการทำสงครามกับน้ำ ถ้าทำในแบบ Nature-based Solution ก็คือเลิกทำสงคราม เพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับหน่วง และซึมน้ำ (ฝน) ไหลนองให้ได้มีทางกลับคืนสู่ผืนดิน คืนชีวิตให้นิเวศชายตลิ่ง ใช้พืชพรรณริมน้ำช่วยดักตะกอนลดการตื้นเขิน คือเพิ่มปริมาตรที่คลองจะรองรับน้ำได้ ฟื้นฟูโครงข่ายคูคลองให้กลับมาเกิดใหม่ ด้วยการเลียนแบบ ปรับใช้วิธีของธรรมชาติ

Regenerative City 
เมืองฟื้นชีวิต

คนส่วนใหญ่มองเมืองในฐานะที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มีมนุษย์เป็นเจ้าของ เราวุ่นวายกับเมือง อาณาจักรของมนุษย์ แผ่นดินผืนหนึ่งจะมีค่าอื่นใด หากมิใช่เพียงเป็นฐานเพื่อสร้างตึกราม บ้าน คอนโดฯ ให้คนเมืองได้อยู่อาศัย สร้างร้านรวง ห้างสรรพสินค้า เป็นสถานที่ทำมาหากิน ขับเคลื่อนธุรกิจ เป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และวิวัฒน์จนเกิดวัฒนธรรม มิติของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่มนุษย์พยายามขับเคลื่อนเมือง เหล่านี้คือทุกสิ่งอย่างที่เมืองต้องเป็นและควรจะเป็น คล้ายจะครอบคลุม แต่เปล่าเลย เรากำลังหลงลืมบางมิติที่สำคัญ

สามเหลี่ยมแห่งชีวิต
ดัดแปลงจาก อาจารย์ ดร.ดนัย ทายตะคุ

เราเห็นแผ่นดินผืนนั้นเป็นเพียงระนาบที่ให้เกิดขอบเขตซึ่งมนุษย์สร้างถิ่นฐาน เข้าใจ ดำรงอยู่ ควบคุม จนเราลืมนึกไปว่า แผ่นดินผืนเดียวกันนั้นมีพลวัตรของธรรมชาติที่ทำงานคู่ขนานอยู่ตลอดเวลา ในทุกมิติ ไม่ว่าจะใต้ดิน บนดิน ในอากาศ และนั่นคือรากฐานของทุกสรรพสิ่งที่เปลี่ยนแปลง สั่นสะเทือน สร้างแรงกระเพื่อมซึ่งกันและกันในกงล้อแห่งธรรมชาติ แผ่นดินผืนนั้นไม่ใช่เพียงแผ่นดินแบนๆ ในมิติเดียว แต่เชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งของ ระบบ ‘นิเวศ’ ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ‘บ้าน’ แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงบ้านของมนุษย์ แต่เป็น ‘บ้านของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล’

มนุษย์ไม่เคยหยุดคิดพัฒนาเมืองเพื่อมนุษย์ ขยายขนาด ปรับเปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อยๆ ส่งน้ำสร้างไฟฟ้าสรรหาทรัพยากรจากเมืองหนึ่งไปหล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ให้อีกเมืองหนึ่ง ทิ้งร่องรอยบอบช้ำทำลายระบบอื่นตามรายทางโดยมิได้ตั้งใจ 

กว่าจะรู้ตัว ธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบจนหลุดไปจากสภาวะที่เราคาดเดาการเปลี่ยนแปลงได้ไปเสียแล้ว ตัวอย่างที่ชาวโลกเผชิญในปัจจุบันคือสภาวะโลกร้อนและโรคระบาด ซึ่งอาจเป็นเพียงปฐมบท

แล้วกรุงเทพฯ เตรียมเมืองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

Regenerative City [n.] : เมืองที่พัฒนาอยู่บนพื้นฐานของการยอมให้ธรรมชาติกลับฟื้นคืนชีวิต 

แนวคิด Regenerative City (เมืองฟื้นชีวิต) เป็นกระบวนทัศน์ของการพัฒนาเมืองในยุคศตวรรษที่ 21 เกิดขึ้นเพื่อแก้สารพันปัญหาแห่งการทำลายล้าง (Degeneration) จากความเจริญของสังคมมนุษย์แบบเดิม เป็นความสัมพันธ์ในเชิงสนับสนุน ไม่เพียงมุ่งแต่เอาประโยชน์เชิงทรัพยากร แต่เป็นการรักษาสภาวะสมดุลของการมีอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และช่วยฟื้นฟู ยกระดับขีดความสามารถของนิเวศบริการที่ระบบนิเวศมีให้กับเมืองด้วย

โดยมีการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของนิเวศเมือง (Urban Ecology) เป็นเครื่องมือสำคัญ เปิดพื้นที่ฟื้นฟูโครงข่ายน้ำและพื้นที่สีเขียวในเมือง ให้ฟันเฟืองธรรมชาติกลับมาหมุนตามปกติ ผลิตอาหารเองได้ นำของเสียกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งการพัฒนาเมืองในลักษณะนี้ จะช่วยทำให้เมืองมีความยืดหยุ่น (Urban Resilience) มากขึ้น ในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงรุนแรง 

พื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต
Regenerative Bangkok
Blue-Green Infrastructure

“‘สายน้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผม’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพูดประโยคนี้เสมอ ท่านมีบ้านเกิดอยู่ริมคลอง เป็นที่มาของแนวคิด ‘Regenerative City ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต’ ที่ท่านริเริ่ม” คุณเอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง โฆษกหนุ่มหน้ามนพูดถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแนวคิดใหม่ล่าสุดที่กรุงเทพมหานครจะมุ่งไป พร้อมขยายความเพิ่มว่า

“การพัฒนาเมืองกับคลองแยกขาดจากกันไม่ได้ เพื่อพลิกฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับธรรมชาติ ถักทอโครงข่ายคลอง ถนน ทางเท้า พื้นที่สีเขียว เชื่อมโยงย่านต่างๆ ร่วมกับองค์ประกอบสำคัญของเมือง”

ฟื้นเมือง : ฟื้นฟูชีวิตให้ภูมินิเวศเมืองบนพื้นที่โครงการนำร่องถนน-ทางเท้า ฟื้นฟูโครงข่ายคูคลอง พื้นที่สีเขียว ผ่านการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเมือง ให้ความสำคัญระบบเหล่านี้เทียบเท่าระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมือง

เชื่อมย่าน : การคมนาคม รถ ราง เรือ เชื่อมโยงย่านสำคัญของเมือง การพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นโครงข่าย เพื่อสร้างผลลัพธ์ในระดับย่าน

  สานอนาคต : วิเคราะห์พื้นที่ที่มีศักยภาพในการเชื่อมต่อร่วมกับนักผังเมือง เพื่อวางแผนการพัฒนาสำหรับอนาคตที่จะปฏิบัติจริง

5 โครงการฟื้นกรุงเทพฯ ย่านสาทร สีลม สวนลุม พระราม 1 คลองผดุง ผ่าน Blue-Green Infrastructure
ฟื้นชีวิตให้เขื่อนคอนกรีตริมคลอง
ภาพ : LANDPROCESS

กุญแจดอกสำคัญของงานนี้ คือการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานสีฟ้าและเขียวของเมือง วางรากฐานให้ Bangkok Blue-Green Infrastructure ที่จะต้องถูกยกระดับความสำคัญเทียบเท่าโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของเมือง

Blue Infrastructure คือ น้ำ คือคลอง คืนชีวิตให้คลอง ในทุกมิติของการบริหารจัดการน้ำ น้ำเสีย น้ำฝน น้ำท่วม น้ำแล้ง 

Green Infrastructure คือ พื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ ต้นไม้ที่ช่วยเมืองดัก กัก เก็บ หน่วง ซึม กรองตะกอน ของน้ำฝนไหลนอง ฟอกอากาศ ช่วยลดปัญหาเกาะร้อนในเขตเมือง (Urban Heat Island)

ยิงปืนนัดเดียวบรรเทาปัญหาร้อยแปด

อาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกหนึ่งใน 100 บุคคลที่จะทรงอิทธิพลในอนาคต จัดอันดับโดยนิตยสารไทม์ TIME 100 Next ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ เล่าถึงเครื่องมือสำคัญของโครงการว่า

“การพัฒนาสุขภาพคนควบคู่ไปกับสุขภาพเมือง เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำฝน เพิ่มการใช้ประโยชน์คลอง สอดผสานกับพื้นที่สีเขียว ให้เป็นโครงข่ายของเมืองที่ช่วยเรารับมือกับสภาพอากาศ และสร้างประโยชน์ในหลายมิติ (นิเวศบริการ) เช่น ในการเป็นแหล่งน้ำที่สะอาด สร้างออกซิเจน เป็นพื้นที่รับน้ำฝน ออกแบบปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ ทางเท้า สะพาน ถนน จากสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วให้ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งเราเลือกโครงการนำร่องห้าโครงการมาทำก่อน”

Blue Infrastructure
โครงข่ายระบบน้ำ

ก่อนจะไปถึง 5 โครงการนำร่อง ฉันยังมีความฉงนเรื่องการฟื้นฟูคูคลอง ปัญหาน้ำเน่า น้ำท่วม น้ำแล้ง จนผลักให้คนกรุงเทพฯ ต้องไปใช้น้ำบาดาลวนไป วังวนนี้คงไม่อาจหายขาดได้ในพริบตา อาจารย์กชกรชิงไขข้อข้องใจว่า พิมพ์เขียวแผนการแก้ปัญหาระบบการจัดการน้ำของกรุงเทพฯ ในเชิงภูมิสถาปัตยกรรม ต้องเริ่มจากการฟื้นฟูโครงข่ายระบบน้ำของเมือง ผ่านหลักการสำคัญ 4 ข้อ คือ

1. แก้ปัญหาน้ำเน่า คลองตัน เพิ่มระบบดักขยะในลำคลอง แยกน้ำเสียออกจากน้ำฝน ลดภาระโรงบำบัด ใช้ท่อแทนคลอง แต่ไม่ใช้คลองแทนท่อ แปลว่าน้ำเสียจากบ้านเรือนจะถูกแยกลงท่อระบายน้ำเสีย ไม่ลงคลองอีกต่อไป เชื่อมโยงโครงข่ายคลองให้กลับมาไหลเวียนได้อีกครั้ง

2. บรรเทาปัญหาน้ำท่วม เพิ่มพื้นที่หน่วง และซึมน้ำฝน ลดพื้นที่ดาดแข็ง เพิ่มสวนน้ำฝน (Rain Garden) บ่อหน่วงน้ำแบบเปียก (Retention Pond) และแบบแห้ง (Detention Pond/ Detention Lawn) เพิ่มพืชพรรณช่วยดักตะกอนชะลอการตื้นเขินของคลอง เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำฝนจากคลองที่สะอาดขึ้น ปรับปรุงระบบการจัดการน้ำ

3. นำน้ำจากโรงบำบัดน้ำเสียกลับมมาใช้รดน้ำต้นไม้ ฉีดอัดเพิ่มการหมุนเวียนน้ำในโครงข่ายคลองสาขาต่างๆ

4. สร้างพื้นที่กักเก็บน้ำฝนเป็นแก้มลิงเล็กๆ นับร้อยนับพัน

Regenerative Bangkok ฟื้นชีวิตให้กรุงเทพฯ แบบ Nature-based Solution ผ่าน 5 โครงการที่เน้นจัดการเรื่องน้ำและพื้นที่สีเขียว
โครงข่ายคลองและพื้นที่สีเขียวนำร่อง
ภาพ : กรุงเทพมหานคร

โครงการที่ 1 ฟื้นชีวิตโครงข่ายนำร่องคลอง ช่องนนทรี-นราธิวาส-สาทร
สวนลุมพินี คลองไผ่สิงโต คลองต้นสน

“นี่คือการฟื้นฟูโครงข่ายคลองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ผ่านสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี สวนสาธารณะคลองที่ยาวที่สุดในประเทศ 4.5 กิโลเมตร กินพื้นที่สามเขต บางรัก สาทร ยานนาวา” คุณเอิร์ธเริ่มเปิดประเด็นถึงโครงการนำร่อง” 

มีการปรับใช้ Nature-based Solution โดยอ้างอิงกับสภาพภูมินิเวศของกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Tidal Zone) มีปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง ตามฤดูกาลหน้าน้ำ-หน้าแล้ง ในการวางระบบการจัดการน้ำในคลอง Reuse น้ำดี (น้ำเสียบำบัดแล้ว) กลับเข้าคลองช่องนนทรี อัดฉีดน้ำดีนี้ไปช่วยผลักน้ำเสียออกจากโครงข่ายคลองโดยรอบ 

จากคลองช่องนนทรี > คลอง > สวนลุมพินี > คลองไผ่สิงโต > สวนเบญจกิตติ 

และอีกส่วนหนึ่งผ่านสวนลุมพินี > ต้นสน > คลองแสนแสบ 

เพิ่มชีวิตให้ระบบนิเวศริมคลอง ดึงธรรมชาติกลับมาให้คนเมือง ช่วยหน่วง ซึม และ พร่อง น้ำฝนรอระบายก่อนลงเจ้าพระยา กรองตะกอน บำบัดน้ำผ่านพืชพรรณ และปรับรูปแบบการเดินรถ BRT และ เปลี่ยนการใช้พื้นที่ให้ให้เขียวมากยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ

Regenerative Bangkok ฟื้นชีวิตให้กรุงเทพฯ แบบ Nature-based Solution ผ่าน 5 โครงการที่เน้นจัดการเรื่องน้ำและพื้นที่สีเขียว
รูปตัดแนวความคิดการใช้พื้นที่คลองช่องนนทรี
ภาพ : LANDPROCESS

โครงการที่ 2 คลองผดุงกรุงเกษม

Regenerative Bangkok ฟื้นชีวิตให้กรุงเทพฯ แบบ Nature-based Solution ผ่าน 5 โครงการที่เน้นจัดการเรื่องน้ำและพื้นที่สีเขียว
คลองผดุงกรุงเกษม
ภาพ : กรุงเทพมหานคร

คลองประวัติศาสตร์ ขุดสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อการขยายเมืองชั้นที่ 3 เชื่อมจากย่านค้าขายปากคลองเทเวศร์ไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ฟื้นฟูความเชื่อมโยงของคนกับคลอง ประเมินสภาพต้นหางนกยูงฝรั่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ หากแต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง จึงผุเป็นโพรงลุกลามจนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ศึกษาเรื่องราวจากอดีต ความสัมพันธ์กับชุมชน หย่อมย่าน และการเชื่อมต่อต่างๆ ในปัจจุบัน สะท้อนสื่อสารผ่านงานออกแบบอย่างบูรณาการ

Green Infrastructure
โครงข่ายสีเขียว-เชื่อมย่าน

เมืองคาร์บอนต่ำ (Low-carbon City) เมืองเดินได้ (Walkable City) เมืองจักรยาน เมืองสุขภาวะ เมืองอนุรักษ์พลังงาน ล้วนเป็นกระบวนทัศน์ของการพัฒนาเมืองในศตวรรษที่ 21 และทุกแนวคิดมุ่งสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อการเดิน ขี่จักรยาน และระบบขนส่งมวลชน ลดการใช้รถยนต์ เพื่อลดการใช้พลังงาน การสัญจรสีเขียว นอกจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นผลดีต่อสุขภาพคนเมือง ทั้งในเรื่องอากาศสะอาด และเป็นโอกาสให้คนได้ออกกำลังกายในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องปลีกเวลาไปเข้าฟิตเนส 

กายภาพที่สนับสนุนเป้าประสงค์นี้คือโครงข่ายภูมิทัศน์ทางเท้าที่ร่มรื่น ปลอดภัย ตอบโจทย์การใช้งานของคนทุกสถานะ (Universal Design) มีสภาวะน่าสบายเหมาะแก่การเดิน กระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก เชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวสาธารณะและหมุดหมาย (Node) สำคัญต่างๆ ของเมือง 

โดยเริ่มจากการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ขนานไปกับการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้กรุงเทพฯ พัฒนาไปในทางนั้น เริ่มจากโครงการเชื่อมสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี ผ่านสะพานเขียว ไปสู่สวนเบญกิตติ โครงการต้นแบบทางเท้าที่ถนนพระราม 1 และถนนสีลม

โครงการที่ 3 เชื่อมสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี ผ่านสะพานเขียว ไปสู่สวนเบญกิตติ

Regenerative Bangkok ฟื้นชีวิตให้กรุงเทพฯ แบบ Nature-based Solution ผ่าน 5 โครงการที่เน้นจัดการเรื่องน้ำและพื้นที่สีเขียว
ปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี
ภาพ : LANDPROCESS

สวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน โครงการปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จเพื่อเฉลิมฉลองใน พ.ศ. 2568 ด้วยแนวคิดหลัก 5 ด้าน คือ ขับเน้นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ (Historic Park) อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงรุนแรง (Climate Action Park) เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรม (Cultural Integration) รองรับกิจกรรมนันทนาการยุคใหม่ (Modern Recreation) และประยุกต์ใช้ Universal Design เพื่อการใช้งานของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ (Inclusive for All) พร้อมกันนั้นได้พัฒนาโครงการสะพานเขียว เชื่อมโยงสวนลุมพินีกับสวนเบญจกิตติ เป็นจุดตั้งต้น ‘โครงข่ายพื้นที่สีเขียว 810 ไร่’ ใจกลางมหานคร

โครงการที่ 4 ถนนพระราม 1
บูรณาการคือคำตอบ

Regenerative Bangkok ฟื้นชีวิตให้กรุงเทพฯ แบบ Nature-based Solution ผ่าน 5 โครงการที่เน้นจัดการเรื่องน้ำและพื้นที่สีเขียว
ถนนพระราม 1
ภาพ : LANDPROCESS

“เราพบว่าการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของเมือง ต้องการความร่วมมือร่วมใจอย่างจริงจังของหน่วยงานจำนวนมาก ตัวอย่างงานทางเท้า บนดิน มีเสาสายไฟฟ้า-สื่อสาร ป้ายจราจร ป้ายโฆษณา จุดจอดรถประจำทาง จุดจอดมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ใต้ดินมีท่อและบ่อพักของงานระบายน้ำ ไฟฟ้า ประปา สื่อสาร ซึ่งการซ่อมแซมบำรุงรักษางานเหล่านี้ต้องรื้อเปิดบล็อกปูทางเท้าและการปิดกลับด้วยปูนฉาบ ทำให้ผิวทางเดินมีแผลเป็น” คำบอกเล่าของคุณเอิร์ธทำให้ฉันเห็นตัวเองเดินหลบทางเท้าเดาระเบิดแบบเกม Minesweeper สุดคลาสสิกในวันฝนพรำ เป็นภาพขำที่ไม่ขำในความทรงจำของคนเดินเมืองทุกคน

Regenerative Bangkok ฟื้นชีวิตให้กรุงเทพฯ แบบ Nature-based Solution ผ่าน 5 โครงการที่เน้นจัดการเรื่องน้ำและพื้นที่สีเขียว
รูปตัดการจัดการองค์ประกอบถนนพระราม 1
ภาพ : LANDPROCESS

“โครงการถนนพระราม 1 เราดึงการไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง องค์การโทรศัพท์ (บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)) สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม วินมอเตอร์ไซค์ คุณซาบะแห่งเพจ Accessibility is Freedom ตัวแทนผู้ใช้วีลแชร์ มาร่วมเดินหน้างาน แล้วช่วยกันตัดสินใจว่าอะไรรื้อถอนได้ อะไรต้องขยับขยาย อะไรต้องคงไว้ นี่เป็นครั้งแรกที่เราทำแบบนี้ และผมว่ามันดีมากๆ” 

อาจารย์กชเสริมต่อจากคุณเอิร์ธว่า “เราเลือกขยับทุกอย่างไปไว้ในแนวกระบะต้นไม้ ซึ่งตรงนั้นแสงน้อย ปลูกต้นไม้ใหญ่ไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อต้องซ่อมบำรุง ก็ไม่ต้องมารื้อทางเท้ากันอีก ดูแลต้นไม้ให้เราก็พอ การจัดระเบียบโครงสร้างพื้นฐานใต้ทางเท้าคือสิ่งที่ยากที่สุด แต่ก็เกิดขึ้นได้เมื่อทุกฝ่ายเห็นภาพเป้าหมายเดียวกัน คือทางเท้าที่ดี-ทางเท้าต้นแบบ-เพื่อคนกรุงเทพฯ และใช่ค่ะ มากกว่าทางเท้าคือเมืองทั้งเมือง ที่รอการเปลี่ยนแปลงอย่างบูรณาการ ไม่ต้องห่วงค่ะ โครงการแรกทำเป็น ‘ต้นแบบทางเท้า’ ได้ โครงการต่อไปก็ง่ายแล้วค่ะ”

โครงการที่ 5 ถนนสีลม
พัฒนาทางเท้าสู่การเชื่อมต่อย่านธุรกิจ

Regenerative Bangkok ฟื้นชีวิตให้กรุงเทพฯ แบบ Nature-based Solution ผ่าน 5 โครงการที่เน้นจัดการเรื่องน้ำและพื้นที่สีเขียว

ติดตามปรับใช้แนวคิดนนต้นแบบทางเท้ากับถนนทุกพลุกพล่านด้วยอาคารพาณิชย์และสำนักงาน ย่านเศรษฐกิจชุมชน ดึงข้อมูลจากนักผังเมืองจุฬาฯ ทีม อาจารย์พนิต พู่จินดา ซึ่งได้ศึกษาวิเคราะห์ไว้มาประยุกต์ใช้จริง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมที่คนเมืองจะได้ร่วมแสดงความคิดเห็นมากเป็นพิเศษ โดยเน้นเริ่มทำจากส่วนที่อยู่ใต้ทางเดินรถไฟฟ้า BTS ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ทางจำนวนมากก่อน

  โจทย์ที่คาดเดาไม่ได้อีกต่อไป

“ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในรอบสองล้านปี โลกได้ก้าวเข้าสู่พรมแดนที่เราไม่เคยเจอมาก่อน” ดร.เพชร มโนปวิตร พูดไว้แบบนั้น

เราพัฒนาเมืองมาถึงจุดที่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบร้อยปีที่แล้ว หรือในยุคที่กรุงเทพฯ มีประชากรเพียงไม่กี่หมื่นคนได้อีกต่อไป ถูกแล้วที่เมืองไม่เหมือนเดิม เพราะการปรับตัวคือหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราอยู่รอดได้ และนี่คือช่วงเวลาแห่งการปรับอย่างใหญ่หลวง ทั้งการกิน การอยู่ วิถีชีวิตทั้งหมด ปรับผ่านการศึกษาบทเรียนหลักการจากธรรมชาติ ปรับเปลี่ยนบนพื้นฐานที่เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่แน่นอน

วันนี้กรุงเทพมหานครเริ่มแล้ว คุณล่ะ เริ่มหรือยัง

Writer

Avatar

พัชรา คงสุผล

อดีตภูมิสถาปนิกมดงานที่อินกับการดูแลต้นไม้ใหญ่ กินง่ายอยู่ง่าย และทำให้โลกยิ้ม :)