The Cloud x LA MER

10 ปีที่แล้ว กลางทะเลสีฟ้าใส จังหวัดสตูล

“ตู้มมม…!!”  สมอหนักอึ้งถูกโยนลงผืนน้ำ ไกด์หนุ่มชี้ชวนให้นักท่องเที่ยวดูฝูงปลาที่แหวกว่าย นักท่องเที่ยวต่างตื่นเต้นกับท้องทะเลสีฟ้าใส แต่ไม่มีใครสนใจปะการังก้อนหนึ่งที่แตกกระจายอยู่ที่พื้นทะเล

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว การทิ้งสมอ การให้อาหารปลา การเหยียบปะการัง ไปจนถึงการจับสัตว์น้ำ ยังเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป-ไม่ใช่แค่ที่สตูลเท่านั้น แต่รวมถึงที่อื่นๆ ในทะเลไทย

“พวกเขาอยู่กับทรัพยากรมายาวนาน ทำทุกอย่างด้วยความเคยชิน มันมีคำพูดหนึ่งของคนสมัยก่อนที่อยู่ริมทะเลว่า ปลามันไม่มีวันหมดจากทะเลจิระพงศ์ จีวรงคกุล นักวิชาการอิสระ ผู้จัดการฝ่ายมูลนิธิเอ็นไลฟ และที่ปรึกษากลุ่ม Reef Guardian Thailand บอกเล่าถึงสภาพในอดีตให้ฟัง

จิระพงศ์ทำงานด้านการอนุรักษ์ทะเลมายาวนาน เช่นเดียวกับ La Mer ซึ่งทำงานอนุรักษ์มหาสมุทรผ่านโครงการ La Mer Blue Heart เนื่องในวันมหาสมุทรโลกปีนี้ La Mer ก็เลยชวนเรามาพบจิระพงศ์ที่เกาะบุโหลน จังหวัดสตูล

จิระพงศ์ จีวรงคกุล

ท่ามกลางทรัพยากรที่ค่อยๆ ถูกทำลาย คนในพื้นที่ของจังหวัดสตูลกลุ่มหนึ่งเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาจึงติดต่อจิระพงศ์เพื่อขอคำปรึกษา เพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาจริงๆ หรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็ยืนยันว่า นั่นคือปัญหาจริงๆ

และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันเพื่อหาทางปกป้องทรัพยากรบ้านเกิด โดยมีจิระพงศ์เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ

ปฏิบัติการของพวกเขาเริ่มต้นง่ายๆ ที่ ‘การพูดคุย’ โดยจิระพงศ์รับอาสาเป็นผู้ให้ความรู้ว่า ทำไมเราไม่ควรให้อาหารปลา ทำไมเราไม่ควรจับสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปะการัง ที่หลายคนยังนึกว่ามันเป็นก้อนหิน ซึ่งก็ต้องสร้างความเข้าใจใหม่ว่า แท้จริงแล้วปะการังเป็นสัตว์ที่ป่วยได้ ตายได้ และการจับหรือเหยียบก็เท่ากับการทำร้ายมัน และเมื่อใดที่ไม่เหลือปะการัง สัตว์น้ำมากมายก็จะหายไป เช่นเดียวกับอาหารทะเลในจาน การท่องเที่ยว และอาชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิต

จิระพงศ์ จีวรงคกุล

ถึงแม้เขาจะเป็นนักวิชาการ แต่ด้วยความที่เป็นคนสตูล เติบโตมากับทะเลและวิถีชาวบ้าน เขาจึงรู้วิธีสื่อสารเพื่อให้คนท้องถิ่นเข้าใจ

“โชคดีอย่างหนึ่งที่ไกด์ท้องถิ่นที่นี่ใฝ่รู้ พอเขาฟังจากเรา เขาก็จะไปเล่าให้นักท่องเที่ยวฟัง ทำให้ทริปของเขามีความน่าสนใจมากขึ้น พอนักท่องเที่ยวประทับใจ พวกเขาก็เกิดความภูมิใจ”

แต่ความยากอย่างหนึ่งก็คือ การเอาชนะความเชื่อแบบเดิมๆ ของไกด์ท้องถิ่นหลายคนที่ว่า การจับสัตว์น้ำขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวดูบนเรือจะทำให้ผู้มาเยือนประทับใจและให้ทิปพวกเขามากขึ้น

“เราก็ชวนเขาคุยว่า มีวิธีการอีกมากที่จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกดี ไม่ใช่แค่จับปลามาโชว์ขายความสวยงามอย่างเดียว เราเป็นไกด์ เราไม่มีความรู้อะไรที่จะแนะนำเขาเลยเหรอ แล้วทุกวันนี้โซเชียลมันเร็ว ถ้าทำอะไรแล้วเขาตกเป็นจำเลยสังคม ในที่สุดเขาก็จะไม่กลับมาหาคุณอีก… ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราต้องสอนเขาคือ วิธีหาคำอธิบายให้กับแขกที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเราจับสัตว์น้ำมาให้ดูไม่ได้”

จากคนกลุ่มเล็กๆ ที่เริ่มเข้าใจถึงปัญหา พวกเขาก็ใช้หลัก ‘กองทัพมด’ ค่อยๆ แทรกซึมไปในหมู่ไกด์ท้องถิ่น อาศัยความเป็นคนพื้นที่ด้วยกันพูดคุย และด้วยความที่พวกเขามีความใกล้ชิดกันในหมู่เครือญาติ พอใครคนหนึ่งเห็นพรรคพวกมีการเปลี่ยนแปลง เขาก็เริ่มเปลี่ยนตาม

พลังของ Reef Guardian Thailand เริ่มกระจายตัวไปทั่วพื้นที่แล้ว

จิระพงศ์ จีวรงคกุลและReef Guardian อาสาสมัครชาวบ้านผู้พิทักษ์ ทะเลสตูล

ปฏิบัติการกลางทะเลสีฟ้าใส

“ตู้มมมม… !!” เสียงวัตถุที่กระทบผิวน้ำในวันนี้ ไม่ใช่สมอเรือ แต่คือทุ่นที่ถูกโยนลงน้ำ

นี่คือหนึ่งในภารกิจยุคแรกๆ ของกลุ่ม Reef Guardian Thailand เพื่อยุติความเสียหายของปะการังรอบเกาะต่างๆ ในจังหวัดสตูล

ทุ่น คือนวัตกรรมง่ายๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนการทิ้งสมอเรือ ตัวทุ่นจะเป็นลูกกลมๆ ลอยอยู่ที่ผิวน้ำและถูกร้อยไว้กับเชือกสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งจะถูกยึดไว้ใต้น้ำในตำแหน่งที่มั่นคง ส่วนอีกฝั่งจะทำเป็นบ่วงลอยอยู่ผิวน้ำ เพื่อให้เรือคล้องขึ้นไปยึดเวลาที่จอดลอยลำ นอกจากนั้น ยังมีทุ่นอีกประเภทคือ ทุ่นไข่ปลา ที่มีไว้กั้นเขตแนวปะการังไม่ให้เรือเข้าไป

ความสำเร็จของภารกิจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนใหญ่ๆ ที่มีทุกสิ่งพร้อม แต่เกิดจากคนเล็กๆ ในพื้นที่ที่มาร่วมแรงร่วมใจกัน จากกลุ่มนำร่องที่เริ่มคิดวางแผน สู่การร่วมสนับสนุนของผู้ประกอบการที่ช่วยลงเงิน ซื้อทุ่น ซื้อเชือกให้ คนที่มีเรือก็ให้ยืมเรือ ครูสอนดำน้ำและไกด์ก็มาช่วยกันลงแรง จนเกิดเป็นความภูมิใจที่ถูกเล่าต่อให้นักท่องเที่ยวฟัง

จากภารกิจป้องกันความเสียหาย ขั้นถัดมาก็คือภารกิจฟื้นฟูปะการังที่สูญเสียไป โดยมีหัวใจสำคัญคือการรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด นั่นคือจะไม่ไปหักปะการังที่สมบูรณ์มาปลูก แต่จะใช้วิธี ‘ช่วยชีวิต’ เศษซากปะการังที่แตกหักตามพื้นทะเล ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้มันจะจมทรายและตายไป

ปะการัง

ปะการัง

“เราจะไม่แทรกแซงกระบวนการธรรมชาติ แต่เราจะรับผิดชอบในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ในเมื่อกิจกรรมของมนุษย์มันทำให้ปะการังพัง เราก็ต้องรับผิดชอบ เป็นการชดเชยไถ่โทษในสิ่งที่มนุษย์ทำกับธรรมชาติไว้” ที่ปรึกษาทางวิชาการของกลุ่มกล่าว

ปฏิบัติการกู้ชีพปะการังจะเริ่มจากการดำน้ำเก็บ ‘Substrate’ หรือ ‘ฐาน’ ที่จะให้ปะการังเกาะ เช่น ก้อนหินหรือก้อนปะการังที่ตายแล้ว นำมาวางรอที่น้ำตื้นหน้าหาด จากนั้นก็ดำน้ำลงไปอีกครั้งเพื่อเก็บเศษชิ้นส่วนปะการังที่แตกหักขึ้นมา ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคหรือมีสาหร่ายเกาะออก แล้วนำชิ้นส่วนที่ยังมีสภาพดีมาติดกับฐาน หยอดกาวและสารเพิ่มอัตราการสมานของเนื้อเยื่อ นำกลับลงน้ำ โดยวางเรียงไว้ที่น้ำตื้นหน้าหาดก่อน แล้วค่อยเคลื่อนย้ายลงที่ลึกในตำแหน่งที่สำรวจไว้แล้วว่ามีสภาวะที่เหมาะสมต่อการเติบโตของปะการัง โดยทุกขั้นตอนมีหลักวิชาการรองรับ

จิระพงศ์ จีวรงคกุลและReef Guardian อาสาสมัครชาวบ้านผู้พิทักษ์ ทะเลสตูล

ภารกิจของกลุ่ม Reef Guardian Thailand ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำงานใต้น้ำเท่านั้น แต่พวกเขายังทำงานสร้างคน เช่น เข้าไปสอนเด็กๆ ในชุมชน อบรมมัคคุเทศก์ รณรงค์ลดการสร้างขยะพลาสติก ไปจนถึงกิจกรรมเก็บขยะ ดำน้ำตัดอวน ซึ่งทุกกิจกรรมไม่มีใครได้ค่าจ้าง ไม่มีใครได้เงินเดือน

“Reef Guardian Thailand มันเป็นมากกว่าแค่องค์กร แต่เป็นเรื่องของจิตสำนึกร่วมกัน คนกลุ่มนี้ก็เป็นคนในพื้นที่ มีความหวงแหนบ้านตัวเอง เมื่อเขาเห็นว่าเราทำงานเพื่อทรัพยากรบ้านเราจริงๆ เขาก็ยินดีที่จะทำตามและเข้ามาร่วมกัน

“สิ่งที่ดีใจอย่างหนึ่งในวันนี้คือ มีคนที่มีจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นกว่าเดิม มีกฎกติกาที่เราคิดร่วมกัน และทุกคนในกลุ่มปฏิบัติตาม เช่นการวางแนวเขตปะการัง”

เมื่อคนพื้นที่มีจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรมากขึ้น ความหวังของการรักษาความสวยงามของท้องทะเลให้อยู่ไปจนถึงชั่วลูกชั่วหลานก็ดูไม่ไกลเกินความเป็นจริง

ดำน้ำ

วันนี้… กลางทะเลสีฟ้าใสแห่งเดิม

“ตู้มมม…!!”  เสียงนักดำน้ำตีลังกากลับหลังลงสู่ทะเล ผ่านมากว่า 8 ปีแล้ว แต่ภารกิจฟื้นฟูปะการังยังคงดำเนินต่อไป

จิระพงศ์ จีวรงคกุลและReef Guardian อาสาสมัครชาวบ้านผู้พิทักษ์ ทะเลสตูล

ทะเลสตูล ในวันนี้แทบไม่มีใครทิ้งสมออีกแล้ว คนให้อาหารปลาหรือจับสัตว์น้ำก็แทบไม่มีให้เห็น มีการทำทุ่นเพิ่มขึ้นร่วมกับกรมอุทยานฯ ในขณะที่บนฝั่งก็มีอาสาสมัครผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นหูเป็นตา คอยเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้เดินลงชายหาดช่วงน้ำลง เพราะเสี่ยงต่อการเหยียบปะการังเสียหาย และเริ่มใช้ระบบธงเขียวธงแดง ที่ธงเขียวหมายถึงน้ำขึ้น สามารถว่ายน้ำหรือดำสนอร์เกิลได้ ส่วนธงแดงหมายถึงน้ำลง ห้ามลงไปเดินเล่น

ภาพความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเหล่านี้ เกิดขึ้นได้เพราะกลุ่มคนธรรมดาๆ ที่ไม่นิ่งเฉยเมื่อเห็นปัญหา

“สมาชิกของ Reef Guardian Thailand เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไร เป็นไกด์ เป็นลูกจ้าง เป็นชาวบ้านธรรมดาที่หาเช้ากินค่ำ แต่ทุกคนกล้าที่จะใช้เวลาส่วนหนึ่งในชีวิตมาช่วยทำงานเพื่อบ้านเกิดของตัวเอง มีผู้ประกอบการในพื้นที่มาสนับสนุน จนกระทั่งหน่วยงานราชการในท้องถิ่นเริ่มให้การยอมรับเรา ผมชอบบรรยากาศในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายแบบนี้” จิระพงศ์เล่าถึงความประทับใจในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าปัญหาทุกอย่างจะหมดไป หนึ่งในปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่ค่อยใช้บริการไกด์ท้องถิ่น แต่จะออกเรือไปดำน้ำกันเอง ซึ่งบางครั้งก็ไปในจุดที่ไม่อนุญาตให้ดำ ไปให้อาหารปลา หรือเหยียบปะการัง ซึ่งทางกลุ่มก็อยู่ในระหว่างหาทางแก้ไข เช่นการพยายามผลักดันให้เกิดการบังคับที่ว่า ต้องมีไกด์ท้องถิ่นติดเรือเพื่อคอยแนะนำนักท่องเที่ยว แต่งานนี้ก็เพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น

นอกจากนั้น ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ก็ยังมีปัญหาปะการังฟอกขาวจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี ขยะพลาสติกที่เก็บเท่าไหร่ก็ดูไม่มีวันหมดสิ้น รวมถึงอวนที่ถูกทิ้งลงทะเล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเรือประมงภายนอกพื้นที่

“ผมคิดว่าเรายังภูมิใจไม่ได้ เรายังไม่ควรรีบภูมิใจกับอะไร เรายังมีงานที่ยังต้องทำอีกเยอะเลย สำหรับผม กว่าจะภูมิใจได้ก็คงเป็นวันสุดท้าย”

ปะการัง ปะการัง

แม้ปัญหาจะมากมาย และมหาสมุทรก็กว้างไกลเกินกว่าที่มนุษย์ตัวเล็กๆ กลุ่มหนึ่งจะแก้ไขได้ทั้งหมด แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่พวกเขาจะหยุดทำ ดังเช่นคำพูดหนึ่งในวงการอนุรักษ์ที่ว่า “Think globally, act locally.” – มองให้เห็นภาพใหญ่ แต่ลงมือทำในส่วนเล็กๆ ที่เราทำได้ ในพื้นที่ที่เราอยู่

“ยิ่งสถานการณ์มันแย่ เราก็ต้องยิ่งทำ เพราะถ้าหยุด สิ่งที่เราอยากเห็นก็คงไม่มีวันมาถึง” จิระพงศ์ในฐานะตัวแทนของ Reef Guardian Thailand ยืนยันหนักแน่น  

“ถ้าคนเล็กๆ ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน แล้วในที่สุดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ก็ตามมาเอง ก็เหมือนชาว Reef Guardian Thailand หลายคน ที่เมื่อก่อนก็เป็นคนที่ทำให้ทรัพยากรเสียหายเหมือนกัน แต่พอเปิดใจ รับฟังว่าทำยังไงให้ทรัพยากรมันดีขึ้น เพื่อที่จะได้มีทรัพยากรอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน พวกเขาก็ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม จากคนเล็กๆ ไม่กี่คน ก็ส่งผลต่อเนื่องยาวไกลได้”

เช่นเดียวกันกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในวันนี้ ที่หากทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ เริ่มจากตัวเองก่อน ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็เกิดขึ้นได้

ปะการัง จิระพงศ์ จีวรงคกุลและReef Guardian อาสาสมัครชาวบ้านผู้พิทักษ์ ทะเลสตูล

“ถ้าคุณรักธรรมชาติ รักทะเล รักทรัพยากร นั่นคือคุณเป็น Reef Guardian Thailand แล้ว ไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก คุณสามารถเป็นสมาชิกได้ด้วยตัวคุณเอง ถ้าวันหนึ่งคุณมาเที่ยวสตูล ก็มาร่วมเก็บขยะกับเราได้ หรือต่อให้ไม่เจอพวกเรา ถ้าคุณเห็นชายหาดสกปรกแล้วเดินเก็บขยะ คุณก็เป็น Reef Guardian Thailand

“เราไม่อยากให้ Reef Guardian Thailand เป็นเพียงชื่อขององค์กรหนึ่ง แต่เราอยากให้สิ่งนี้เป็นจิตวิญญาณของคนที่มีใจรักและหวงแหนธรรมชาติและทะเล” จิระพงศ์สรุป

บางที…การเป็นฮีโร่ช่วยชีวิตเต่าทะเล อาจไม่จำเป็นต้องลงไปดำน้ำตัดอวน การเป็นฮีโร่พิทักษ์ปะการังก็อาจไม่จำเป็นต้องถึงกับไปดำน้ำทำทุ่น เพียงแค่เราช่วยกันลดการสร้างขยะพลาสติกในชีวิตประจำวัน ช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอน เลือกครีมกันแดดที่ไม่มีสารเคมีที่ทำร้ายปะการัง ช่วยกันเผยแพร่ความรู้ในการเที่ยวทะเลอย่างถูกต้อง สนับสนุนคนทำงานด้านอนุรักษ์

ต่อให้อยู่ห่างไกลทะเลเป็นร้อยกิโลเมตร คุณก็เป็นฮีโร่พิทักษ์จักรวาล Marine ได้เช่นกัน

ภาพ : Digitalay

เตรียมติดตามชม “ปลูกทะเลสู่ยอดดอย” สารคดีสั้นที่เราชวนแพรี่พาย และน้องสร้อย เด็กหญิงผู้พิทักษ์ป่าดอยหลวงเชียงดาว ผู้ไม่เคยสัมผัสทะเลมาก่อนสักครั้งในชีวิตไปพบกับผู้พิทักษ์ปะการังแห่งเกาะบูโหลน ได้ที่นี่ เร็วๆ นี้

ภายในเดือนมิถุนายน ลาแมร์เชิญชวนคนรักมหาสมุทรทั่วโลกโพสต์ภาพและข้อความผ่านทาง Instagram ว่า “คุณสัญญาจะปกป้องมหาสมุทรเพื่อใคร?” พร้อม Tag #LaMerBlueHeart #LaMerDonation @LaMerThailandOfficial ในทุกๆ โพสต์* ลาแมร์จะบริจาคเงิน 25 เหรียญสหรัฐ โดยยอดบริจาครวมสูงสุด 650,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อเข้ากองทุน La Mer Blue Heart Ocean Funds ในการส่งเสริมการทำงานด้านอนุรักษ์มหาสมุทรขององค์กรต่างๆทั่วโลก

*เฉพาะ Instagram Feed ที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’