ตายแล้วไปไหน 

เราเชื่อว่าน่าจะเป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ต้องโผล่ในห้วงความคิดสักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการนึกถึงรูปพรรณสัณฐานของที่ที่จะไป หรือสารร่างของตัวเราในวันที่ไม่มีลมหายใจแล้ว แตกแขนงคำตอบออกไปได้อย่างไม่สิ้นสุด

แต่กลับกัน ถ้าถามว่าแก่แล้วไปไหน ใช้ชีวิตอย่างไร

เรากลับแทบไม่เคยใช้เวลาสำรวจความคิด และลิสต์คำตอบออกมาอย่างจริง ๆ จัง ๆ เมื่อเทียบกับชีวิตช่วงวัยอื่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่แน่นอน ร่วมกับภาพชินตาของวิถีชีวิตสูงวัยสโลว์ไลฟ์อยู่กับบ้าน แต่คำถามสำคัญคือ ถ้าถึงวันนั้นแล้วเรายังอยากพบเจอ ทำกิจกรรมร่วมกับผู้คน จะทำอย่างไร จะไปที่ใด

 คอลัมน์ Public Space ครั้งนี้ไม่มีเฉลย แต่มีตัวอย่างคำตอบจาก ‘สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม’ นอกจากเป็นสถานีพยาบาลแล้ว ยังรับหน้าที่พื้นที่สาธารณะใกล้บ้าน ที่เปิดโอกาสให้คุณลุงคุณป้าได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างมีชีวิตชีวา

สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษม บางหว้า ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ห่างกับห้างซีคอนสแควร์เพียงซอยคั่นและอยู่ในระยะเดินไหว เหงื่อยังไม่ทันไหลจากสถานี MRT ภาษีเจริญ 

แรกเริ่มเดิมทีสถานีกาชาดแห่งนี้ ได้รับบริจาคที่ดินและงบประมาณจาก นางผิน แจ่มวิชาสอน เจ้าของโรงงานวิเศษนิยมและญาติใน พ.ศ. 2508 และได้มีปรับปรุงเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานเรื่อยมา จนถึง พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการปรับปรุงครั้งล่าสุด มีหมุดหมายสำคัญในเรื่องการออกแบบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานและ Universal Design ประกอบไปด้วยอาคารทั้งหมด 4 ส่วน คือ อาคารรักษาผู้ป่วย ชมรมผู้สูงอายุ อาคารหอพักพยาบาล และคลังบรรเทาทุกข์

สวนในสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม พื้นที่สาธารณะที่ชวนคุณลุงคุณป้าผู้ใช้สวนมาช่วยดีไซน์
ภาพ : สภากาชาดไทย

ส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม

ทีมบริษัท ฉมา จำกัด (Shma) นำโดย ยศ-ยศพล บุญสม เล่าให้เราฟังว่าหลังตกปากรับคำและเข้าสำรวจพื้นที่พร้อมสังเกตการใช้งานของคุณลุงคุณป้า เขาและทีมมองเห็นปัจจัยสำคัญ 2 ข้อที่นำไปสู่การจัดเวิร์กชอปกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้งานตัวจริง ซึ่งเป็นบทเรียนที่ต่อยอดมาจากการโครงการบ้านมั่นคงที่บางปู เพราะมีรูปแบบคล้ายกัน คือเน้นการใช้งานของคนเป็นศูนย์กลาง โดยได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจาก ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ และ บริษัท ฉมาโซเอ็น จำกัด (Shma Soen)

สวนในสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม พื้นที่สาธารณะที่ชวนคุณลุงคุณป้าผู้ใช้สวนมาช่วยดีไซน์
ภาพ : เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจัยแรก เพราะความเชี่ยวชาญด้านจักษุของคุณหมอ และความพร้อมของสถานที่ที่มีห้องผ่าตัดรองรับจักษุศัลยกรรม ทำให้มีผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นเข้ารับบริการจำนวนมาก ซึ่งมาพร้อมกับการเคลื่อนไหวที่คล่องตัวน้อยลงไปตามวัย จึงต้องอาศัยหลัก Universal Design ในการออกแบบ 

“จากการทำเวิร์กชอปนี้ ทำให้เราได้พบเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เช่น เมื่อเขารักษาตาใหม่ ๆ แล้วตาจะพร่า การทรงตัว การเดินจะไม่ค่อยดี เราก็คิดเลยว่าถ้าอย่างนั้นทางเดินมันต้องมีที่จับ มีระยะที่เหมาะสม” ยศเสริม

ปัจจัยที่ 2 คือการมีชมรมผู้สูงอายุตั้งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์เดิมดีอยู่แล้ว เพราะมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมตอนเช้าและเล่นกีฬาสม่ำเสมอ รวมถึงมีการนัดพบกันเพื่อไปเที่ยวพื้นที่ใกล้ ๆ ด้วย ยศจึงมองว่านี่เป็นสารตั้งต้นสำคัญที่นำไปสู่การเปิดบทสนทนาจากคุณลุงคุณป้าซึ่งเป็นผู้ใช้งานจริง เพื่อค้นหารูปแบบที่เหมาะสมของพื้นที่ใช้งานในสถานีกาชาดโฉมใหม่ โดยเน้นการใช้รูปภาพสื่อสารทางเลือกต่าง ๆ ให้ง่ายต่อความเข้าใจ 

สวนในสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม พื้นที่สาธารณะที่ชวนคุณลุงคุณป้าผู้ใช้สวนมาช่วยดีไซน์

“ตอนนั้นเราจำได้ว่าเริ่มจากคำถามง่าย ๆ เช่น ถ้าเรามีที่นั่งในลักษณะในการรวมกลุ่ม คุณลุงคุณป้าเขาอยากนั่งเแบบไหน เนื่องจากเขามีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งรวมกลุ่มนั่งคุย ทานอาหาร รูปภาพที่เขาเลือกก็จะเป็นแบบมีพนักพิงและมีที่เท้าแขนให้จับ สะดวกต่อการลุกและนั่ง”

นอกจากรายละเอียดการใช้งาน บรรยากาศของสิ่งแวดล้อมโดยรอบก็เป็นอีกสิ่งที่ได้รับการใส่ใจเช่นกัน อย่างพันธุ์ไม้ที่เลือกปลูกเป็นพันธุ์ไม้ที่คุณลุงคุณป้าคิดว่าเหมาะสม โดยเฉพาะไม้ไทยที่มีกลิ่นหอม ช่วยทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย ร่วมกับต้นไม้ที่ผลิดอกออกสีสันชวนให้รื่นรมย์

สวนในสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม พื้นที่สาธารณะที่ชวนคุณลุงคุณป้าผู้ใช้สวนมาช่วยดีไซน์
ภาพ : Shma

Shma ตั้งใจบรรจุความต้องการของเหล่าผู้ใช้งานที่ถอดรหัสมาจากกระบวนการมีส่วนร่วม และใส่การออกแบบอย่าง Universal Design เข้าไปในทุกพื้นที่

สำหรับ Active Lawn หรือพื้นที่ด้านหน้าอาคารชมรมผู้สูงอายุ จัดเป็นพื้นที่โล่งพร้อมสนามหญ้า เป็นสัดส่วนและเข้าถึงง่าย เหมาะสำหรับกิจกรรมที่ค่อนข้างกระฉับกระเฉง เช่น การเต้นแอโรบิก การฝึกชี่กงในตอนเช้า ซึ่งได้รับความเห็นมาจากการจัดเวิร์กช็อป ศาลานั่งเล่นพบปะสังสรรค์ รายล้อมไปด้วยพันธุ์ไม้หอมและดอกไม้สีสด อีกฟากมีทางเดินหินนวดเท้าพร้อมราวจับหลายระดับ และมีทางลาดช่วยให้การเปลี่ยนระดับเข้าสู่พื้นที่ส่วนถัดไปสะดวกสบายมากขึ้น 

สวนในสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม พื้นที่สาธารณะที่ชวนคุณลุงคุณป้าผู้ใช้สวนมาช่วยดีไซน์
สวนในสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม พื้นที่สาธารณะที่ชวนคุณลุงคุณป้าผู้ใช้สวนมาช่วยดีไซน์
สวนในสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม พื้นที่สาธารณะที่ชวนคุณลุงคุณป้าผู้ใช้สวนมาช่วยดีไซน์

ส่วน Passive Lawn หรือสวนภายในคอร์ทชมรมผู้สูงอายุ มีลักษณะเป็นสวนสมุนไพรที่รายล้อมด้วยลานระเบียงไม้ เพื่อให้เกิดบรรยากาศอบอุ่น ร่มรื่น ลดทอนความเข็งกระด้างของตัวอาคาร ในสวนสมุนไพรมีทางเดินกรวดเล็ก ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าไปดูแลและศึกษาพันธุ์ไม้ที่ใช้เป็นยาได้ และยังมี 2 ศาลาเล็กสำหรับจัดกิจกรรมผู้สูงอายุหรือนั่งพักผ่อนได้

ยศเล่าให้ฟังว่า ในแบบจริง ๆ แล้ว ส่วนนี้ตั้งใจจัดวางที่นั่งตามจุดต่าง ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานหลากหลายของทุกคน ทั้งม้านั่งแบบมีและไม่มีพนักพิง โต๊ะล้อมวงสนทนา ที่นั่งม้าหิน ชิงช้า แต่เข้าใจว่าด้วยข้อจำกัดของเวลา งบประมาณ และการดูแล ทำให้ยังไม่บรรลุเป้าหมายความตั้งใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นบทเรียนที่เขาบอกว่าจะเก็บไว้ปรับปรุงการวางแผนให้ยืดหยุ่นและรอบคอบมากขึ้นในครั้งหน้า รวมถึงเหมาะสมกับกรอบการทำงานของราชการ

สวนในสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม พื้นที่สาธารณะที่ชวนคุณลุงคุณป้าผู้ใช้สวนมาช่วยดีไซน์
ภาพ : สภากาชาดไทย
สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม สร้างพื้นที่ให้ผู้สูงวัยใช้งานอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและ Universal Design
ภาพ : Shma

นอกจากสวนสำหรับผู้สูงวัยแล้ว ในหอพักพยาบาลก็มีพื้นที่ให้สัมผัสธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยคอร์ทขนาดเล็กกลางอาคาร และพื้นที่สีเขียวที่แทรกตามระเบียงเพื่อลดความแข็ง เพิ่มความมีชีวิตชีวาให้อาคาร นอกจากนั้นยังมีแปลงปลูกผักสวนครัวด้านหลังอาคาร ที่พี่ ๆ พยาบาลปลูกไว้ใช้ทำอาหารกันอีกด้วย 

 พอพูดคุยถึงส่วนนี้ เราก็อดไม่ได้ที่จะขอคำแนะนำเกี่ยวกับพืชพันธุ์ที่เหมาะแก่การปลูกในร่ม จากภูมิสถาปนิกมืออาชีพอย่างเขา

“ส่วนใหญ่เป็นหมากกับปาล์ม ส่วนไม้คลุมดินเป็นพลูด่าง เพราะทนต่อการอยู่ในร่ม ดูแลง่าย หรือเป็นไม้ยืนต้นหรือพวกที่ใบหนาหน่อยอย่างต้นจิก แล้วก็มีแก้วมุกดาที่ขนาดย่อมลงมา นอกจากนั้นก็มีเฟิร์นข้าหลวงกับคล้า โดยถ้าเป็นโครงการรัฐที่คำนึงเรื่องการบำรุงรักษา ก็จะพยายามเลือกให้น้อยชนิดและดูแลรักษาง่าย”

สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม สร้างพื้นที่ให้ผู้สูงวัยใช้งานอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและ Universal Design
ภาพ : สภากาชาดไทย

ที่ว่างเพื่อการเติมเต็ม

‘กระบวนการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น’ 

น่าจะเป็นคำที่เราคุ้นหูกันมาบ้างพอสมควร แต่ที่น่าสนใจคือ ทำไมหลาย ๆ โครงการที่เลือกใช้วิธีนี้ถึงได้ผลลัพธ์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง กุญแจสำคัญที่พาไปสู่คำตอบที่ดีคือสิ่งไหน ยศขอพาเราย้อนไปในวันเวลาก่อนหน้านี้ ตอนที่เขาบอกว่ายังสลับหมวกไม่ทัน

“อันดับแรกเลยคือ ตอนเราออกแบบโดยที่ไม่ได้ฟังผู้ใช้งานให้มาก ๆ มันจะมีการอนุมานไปแล้วด้วยอีโก้ คืออยากให้มันเป็นแบบที่เราคิดว่าจะดี ซึ่งเราก็เคยคิดแบบนั้น แล้วไปทำงานกับชุมชน เราเปลี่ยนหมวกไม่ทัน อาศัยความเป็นตัวเรามากกว่า มันรู้สึกได้เลย ซึ่งไม่เชิงว่าคุณป้าไม่ฟังนะ เพราะเขารู้ว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เรารู้สึกได้ว่าความเชื่อใจ ไว้ใจ ควรจะเป็นสิ่งที่สร้างด้วยกัน มันไม่เป็นแบบนั้น เหมือนว่าเขาทำตามสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญบอก แต่มันไม่ได้ใจ

“สมมติถามคุณป้าชอบมั้ย เขาก็อาจถามคำตอบคำ คือรู้สึกว่าเขาไม่ได้อินกับสิ่งที่อยากให้เกิด ซึ่งผลลัพธ์มันต่างกันมากนะ เพราะพอบทสนทนามันเปิด ในตัวแบบทำช่องว่างให้มีมาก เป็นบทสนทนาที่เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งในบางครั้งที่รู้อยู่แล้วว่าแบบนี้มันดีกว่า เราก็ควรรับฟังก่อน เพราะมันอาจคลี่คลายมาว่าสิ่งที่เรามองว่าดี ก็ไม่ใช่อย่างงั้นเสมอไป หรือบางทีคุณป้าเห็นว่าอย่างที่หนูบอกมันก็ดีเหมือนกันนะ 

“เรารู้สึกว่าพอที่ว่างมันเปิดให้ต่างฝ่ายต่างเติมเต็ม มันได้แบบที่ดี ซึ่งคำว่าดี หมายถึงเห็นพ้องต้องกัน พอทุกคนเห็นแบบนี้ โปรเจกต์ที่ทำก็จะเป็นสิ่งที่ทุกคนตั้งตารอเห็นมันเสร็จ หรือต่อให้ออกมาไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนก็เข้าใจและยอมรับได้ว่ามันเป็นประมาณนี้ แล้วเดี๋ยวเราก็ค่อย ๆ เติมเต็มต่อ

“เราว่านี่คือการออกแบบที่ไม่ได้มองเรื่องเชิงกายภาพเป็นเป้าหมายสูงสุด แต่มันคือโปรเจกต์ที่มีเป้าหมายรวมถึงคนเข้าไปด้วย ที่สำคัญ มันเป็นแบบที่คุณลุงคุณป้าเป็นคนบอก ความรู้สึกมันภูมิใจนะ ต่อให้แบบไม่ได้ออกมาสวยมาก เนี้ยบมาก แต่มันเป็นแบบที่ฉันเลือกเองกับมือ เป็นแบบที่ฉันบอกเขาให้ทำนะ ทำให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เราว่าแบบนี้ดีกับผู้ใช้งาน”

สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม สร้างพื้นที่ให้ผู้สูงวัยใช้งานอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและ Universal Design
ภาพ : Shma

อีกตัวอย่างสำคัญที่ยศยกมาเล่าให้เห็นภาพถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งเติมเต็มให้พื้นที่ได้ใช้งานจริง นั่นก็คือการที่คุณลุงคุณป้าไปทำสวนกันเอง 

“ตอนแรกเราออกแบบเป็นลานระเบียงไม้ บรรยากาศอบอุ่น มีราวจับสองข้างกว้างพอทั้งสำหรับรถเข็นและการพยุงตัว แล้วมีช่องเว้นไว้ ไม่ได้ต่อเนื่องกันทั้งหมด เอาไว้เป็นทางกรวดเพื่อเข้าไปดูแลต้นไม้ข้างใน แต่ปรากฏว่าตอนที่กลับไปดู เขาก็ใช้แปลงนี้แหละปลูกสมุนไพร ปลูกสวนครัวเพิ่มกับเจ้าหน้าที่ ก็เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานจริง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ออร์แกนิก เติมเต็มสิ่งที่ตอนแรกเราอาจไม่คิดเผื่อไว้

“ถ้ามันประสบความเร็จ คือการที่เขาได้ใช้อย่างที่คิดไว้ มีส่วนร่วม ช่วยกันดูแล แล้วพื้นที่มันมีชีวิตต่อเนื่อง อันนี้เรารู้สึกว่าเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งถ้าถามว่าพื้นที่นี้มันได้มั้ย มันได้นะ เพราะเขาใช้ได้ต่อเนื่อง อีกข้อดีที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจ คือความที่ดีไซน์โล่ง ๆ ไม่ได้หวือหวา มันง่ายต่อการที่เขาจะปรับเปลี่ยน หรือทำอะไรได้มากขึ้น” ภูมิสถาปนิกอธิบายย้ำ

สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม สร้างพื้นที่ให้ผู้สูงวัยใช้งานอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและ Universal Design
ภาพ : Shma
สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม สร้างพื้นที่ให้ผู้สูงวัยใช้งานอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและ Universal Design

สำหรับโครงการนี้ ถ้าคะแนน เต็ม 10 ยศบอกว่าเขาให้คะแนนตัวเองที่ 7 – 8 คะแนน ส่วนที่ขาดไป เป็นเรื่องกระบวนการที่ไม่ได้ไปติดตาม หรือรับฟีดแบ็กว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่ตรงนี้ใช้งานได้ดีขึ้นมากกว่านี้ 

“จริง ๆ มันน่าจะทำได้ เรารู้สึกว่าบทบาทของนักออกแบบไม่ควรหยุดแค่แบบ ควรมีการวิเคราะห์ปรับปรุงร่วมกับผู้ใช้งาน ซึ่งจะต่อยอดให้โปรเจกต์เป็นประโยชน์ได้จริง ๆ อย่างในงานคอนโดฯ ก็มีฟีดแบ็กว่าต้นไม้บางชนิดดูแลรักษายากนะ เขาจะมีหน่วยที่คอยตรวจเช็กว่าดีเทลนี้ไม่เวิร์ก น้ำขัง แล้วลิสต์มาว่าอะไรควร ไม่ควรใช้ แต่ส่วนใหญ่เป็นมุมของหน่วยดูแลรักษากับการใช้งานมากกว่า กับลูกบ้านโดยตรงยังไม่มีโอกาสสัมภาษณ์จริงจัง แต่เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่อยากทำของปีนี้”

พื้นที่สาธารณะและเมืองในอนาคต

สำหรับคำถามสุดท้าย เราเลือกขยายความถามถึงอนาคตของพื้นที่สาธารณะในเมืองว่าควรเป็นอย่างไร เมื่อสถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม ทำให้เห็นว่าสวนเล็ก ๆ ในที่แห่งนี้ ก็เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนได้เหมือนกัน

“ต้องมีหลายทางเลือก เมื่อก่อนจะมีอยู่แบบเดียว สนามเด็กเล่นเป็นแบบนี้ สวนสาธารณะต้องเป็นแบบนี้ แต่พอทำกระบวนการมีส่วนร่วม ทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นอะไรก็ได้ สวนจะเป็นป่าก็ได้ เป็นสวนบำบัดก็ได้ ถ้าเปิดโอกาสให้มีความหลากหลายทางความคิด ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่อยากเห็นและอยากขับเคลื่อนให้มีมากขึ้น รวมถึงกลุ่มคนที่มีส่วนในการทำ ไม่ใช่รัฐอย่างเดียว แต่รวมถึงเอกชนหรือเจ้าของที่ดินด้วย

“เราคิดว่าถ้ามีองค์ความรู้หรือกรอบการทำงานที่เข้าใจร่วมกัน ว่าสวนทำอย่างไร ขนาดพื้นที่แบบนี้ อยู่ใกล้บ้าน ควรมีองค์ประกอบอะไร ควรมีใครมาช่วยออกแบบ ถ้ามันมีข้อตกลงหลวม ๆ น่าจะทำให้เรื่องนี้ ง่ายต่อการรับรู้ หรือทำความเข้าใจร่วมกัน ทั้งการคิด การสร้าง การใช้ ไม่อยากให้มันเป็นเรื่องเฉพาะรัฐเท่านั้นที่ทำได้ แล้วควบคุมทรัพยากรฝ่ายเดียว 

“ซึ่งสิ่งที่ทำผ่าน we!park คือการพยายามพูดถึงสวนใกล้บ้าน สวนในระยะ 400 เมตร เพราะอยากทำให้เห็นว่า ของดี ๆ มันควรกระจายตัว แล้วรูปแบบในแต่ละที่ควรพัฒนาจากคนที่ใช้รอบ ๆ เข้าถึงง่าย อย่างล่าสุดทำสวนที่ซอยหน้าวัดหัวลำโพง ซึ่งจริง ๆ พื้นที่นี้อยู่ใกล้สวนลุมพินีนะ แต่ผู้สูงอายุก็บอกว่าเขาไปไม่ไหว หรือแม้ไม่ใช่ผู้สูงอายุก็ต้องเสียเงิน เสียเวลาในการเดินทาง เราเลยรู้สึกว่ารัฐต้องลงทุน ต้องไม่มองแค่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือเรื่องใหญ่ ๆ โดยมองข้ามจุดเล็ก ๆ”

สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม สร้างพื้นที่ให้ผู้สูงวัยใช้งานอย่างมีชีวิตชีวา ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและ Universal Design
ภาพ : เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

มีที่ไป-ใช้ชีวิตอย่างมีชีวา

แก่แล้วไปไหน ใช้ชีวิตอย่างไร

เราถามคำถามเดิมจากตอนต้นกับตัวเองอีกที ถึงแม้จะยังไม่ชัดระดับนับตีนกาได้ว่าจะขึ้นที่หางตาทั้งหมดกี่เส้น แต่การได้เห็นพื้นที่ที่เป็นทางเลือกให้ผู้สูงอายุ ได้รวมตัวทำกิจกรรมกันในพื้นที่สาธารณะใกล้บ้าน ผ่านงานออกแบบเรียบง่าย ใส่ใจตั้งแต่เริ่มกระบวนการ เราพบว่ามันเป็นสัญญาณหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องผลักดันกันตั้งแต่วันนี้ และไม่ควรมีแค่ที่นี่ เพราะไม่ว่าวัยไหน เพศใด ฐานะใด ก็ควรมีโอกาสเข้าถึงพื้นที่ทางเลือกที่สนับสนุนให้ทุกคนในเมืองได้ใช้ชีวิตอย่างมีชีวา

Writer & Photographer

Avatar

นิปุณ แสงอุทัยวณิชกุล

สถาปนิกที่สนใจในงานเขียน สถาปัตยกรรม ที่ว่าง เวลา และหมาฟลัฟฟี่