The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

คนไทยใช้พลาสติก 8 ชิ้น ต่อคน ต่อวัน

เมื่อนำสถิติคำนวนตามจำนวนประชากรไทยในปัจจุบันรวม 65 ล้านคน อ้างอิงจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาคำนวณแล้ว คนไทยทั้งประเทศจะใช้พลาสติกรวมๆ กัน 520 ล้านชิ้นต่อวัน

มองข่าวแพขยะลอยกลางทะเลจนเกิดมลพิษทางน้ำ ทำให้สัตว์น้ำตายเป็นเบือ หรือข่าวช็อกโลกอย่างเต่าทะเลกินชิ้นพลาสติกจนตาย แม้กระทั่งภาพกองขยะพลาสติกพะเนินเทินทึกที่ไม่เกิดการนำไปจัดการอย่างถูกวิธี กลายเป็นปัญหาใหญ่มากปัญหาหนึ่งที่ทุกภาคส่วนทั่วโลกต่างร่วมกันแก้ปัญหานี้ 

ในขณะเดียวกันเมืองยังคงต้องเติบโตเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ อุตสาหกรรมต่างๆ ยังคงต้องขับเคลื่อนต่อไป เพราะคนก็ยังคงต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการดำเนินชีวิต แต่หากภาวะโลกร้อนแก้ไขไม่ได้ภายในระยะเวลา 12 ปีข้างหน้า ทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งมนุษย์ พืชพรรณและสัตว์จะแย่กันหมด 

ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การผลิตและบริโภคทรัพยากรเหล่านั้น เป็นไปอย่างยั่งยืนที่สุด

บล็อกปูถนนรีไซเคิล โครงการแปรขยะพลาสติกจากครัวเรือนให้เป็นบล็อกปูถนนทนทานแต่ต้นทุนต่ำ

คอลัมน์ Sustainable Development Goals ชวนคุณไปหาคำตอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 9 Industry, Innovation and Infrastructure ภายในปี พ.ศ. 2573 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงให้อุตสาหกรรมมีความยั่งยืน โดยเพิ่มการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยี และกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ผ่าน ‘โครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิล’ โครงการของภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในความดูแลของ ศ. ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือ อาจารย์เป้า ของนักศึกษา นี่คือโครงการที่ใช้ ‘ถนนรีไซเคิล’ ผลงานของอาจารย์ มาต่อยอด จนกลายเป็นอีกนวัตกรรมซึ่งช่วยจัดการขยะพลาสติกที่ล้นโลกให้หมุนเวียนและเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน

 ศ. ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือ อาจารย์เป้า

ฐานบัญชาการของโครงการ คืออาคารหน้าตาเรียบง่ายที่สร้างจากวัสดุเหลือใช้ ตั้งอยู่ด้านหลังภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นักศึกษาหลายกลุ่มกำลังง่วนอยู่กับการคัดแยกพลาสติกจากหลายแหล่ง บางกลุ่มกำลังอยู่หน้าเครื่องจักรเพื่อเตรียมการผลิตสำหรับวันนี้ อาจารย์เป้าพาชมกรรมวิธีการผลิตอย่างละเอียดยิบ พร้อมชวนแยกขยะถุงพลาสติกที่กองตรงหน้า เพื่อลงมือผลิตบล็อกปูถนนที่ช่วยโลก 

เคยนับไหมว่าในแต่ละวัน คุณใช้ถุงพลาสติกไปกี่ใบ ดูดน้ำด้วยหลอดพลาสติกไปกี่หลอด

พลาสติกเหล่านั้นถูกใช้ในมือคุณเพียงไม่กี่นาที แต่มันจะคงอยู่บนโลกนี้ไปอีกหลายร้อยปี ดังนั้นอย่างแรกเราควรลด ละ เลิกใช้ และเปลี่ยนพลาสติกที่มีอยู่แล้วให้กลับมาเป็นทรัพยากรอีกครั้ง ด้วยนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างโครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิลที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้

01

เริ่มต้นจากลูกน้อยในทะเลถุงพลาสติก

7 ปีที่แล้วในทริปทัศนาจรทะเลของอาจารย์และครอบครัว น่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่สุขสันต์ตามปกติ หากแต่อาจารย์พบความแปลกประหลาดของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของอาจารย์เป้า เพื่อจัดการอะไรสักอย่างกับขยะในทะเลแห่งนั้น

“ผมอาจจะเล่าแล้วดูดราม่านิดหนึ่งนะ แต่มันคือความจริงเลย (หัวเราะ) เป็นแรงบันดาลใจเลย อาจารย์พาลูกชายไปเที่ยวทะเล มันเป็นครั้งแรกที่เขาเห็นทะเล เด็กเห็นทะเลก็โดดลงว่ายน้ำ เราเป็นผู้ใหญ่ มองจากข้างบนก็เห็นว่าทะเลที่ลูกว่ายไม่ได้มีแต่น้ำทะเล มันมีขยะพลาสติกลอยอยู่ในทะเล เราสลดใจว่าเราตั้งใจมาดูธรรมชาติ มาเที่ยวทะเล แต่เรากลับเจอขยะแบบนี้ จึงตัดสินใจจะหาวิธีกำจัดถุงพลาสติก ต้องเน้นถุงพลาสติกอย่างเดียว แต่ถ้าขยะพลาสติกมันยังอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวโตไปลูกก็รู้เองว่าไม่ได้ว่ายอยู่ในทะเลที่มีแต่น้ำ” อาจารย์เป้าเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ส่งอิทธิพลต่อการลงมือช่วยทะเล

บล็อกปูถนนรีไซเคิล โครงการแปรขยะพลาสติกจากครัวเรือนให้เป็นบล็อกปูถนนทนทานแต่ต้นทุนต่ำ

ประกอบกับอาจารย์เป้าเป็นวิศวกรโยธาที่มีองค์ความรู้เรื่องคมนาคมและถนนหนทาง จึงเริ่มทดลองนำถุงพลาสติกแบบต่างๆ มาผสมในส่วนประกอบผลิตวัสดุปูถนนร่วมกับยางมะตอย เนื่องจากยางมะตอยและพลาสติกมาจากกระบวนการเผาปิโตรเคมีซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน ทำให้เกิดแรงยึดเหนี่ยวที่ทำให้วัสดุยึดเกาะกันได้ดีขึ้น ส่งผลให้วัสดุมีความแข็งแรง นำไปสู่การพัฒนาเป็นโครงการถนนรีไซเคิลในเวลาต่อมา

บล็อกปูถนนรีไซเคิล โครงการแปรขยะพลาสติกจากครัวเรือนให้เป็นบล็อกปูถนนทนทานแต่ต้นทุนต่ำ

“อาจารย์ทดลองนำขยะถุงพลาสติกมาผสมในยางมะตอย ปรากฏว่ามันทำให้ยางมะตอยมีค่าประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและดีขึ้น ก่อนผสมขยะถุงพลาสติกเข้าไป จากที่เริ่มทดลองเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ค่าความแข็งแรงของยางมะตอยสูงกว่าเดิมไปประมาณสัก 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เราพัฒนาให้ค่านั้นสูงกว่ามาตรฐานปกติ 300 เปอร์เซ็นต์ ยางมะตอยที่มันแข็งขึ้นหมายความว่าเราจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และใช้ถนนของเราได้ทนทานและนานขึ้น” อาจารย์อธิบายถึงขั้นตอนการพัฒนาโครงการถนนรีไซเคิล

02

จากพระเอกสู่ตัวร้าย

อาจารย์คิดว่าพลาสติกมีประโยชน์อย่างไรบ้าง? 

อาจารย์เป้าตอบว่า “พลาสติกเคยเป็นพระเอกมาก่อน เมื่อประมาณ 100 กว่าปีมีคนผลิตพลาสติกสำเร็จ พลาสติกทำให้โลกของเรามีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดเลย พลาสติกทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบาย แต่ตอนนี้พลาสติกกลายเป็นผู้ร้าย เพราะมนุษย์ใช้พลาสติกเยอะมากจนเกิดเป็นไมโครพลาสติกเยอะ เกิดเป็นอะไรต่างๆ มันไม่ใช่ จริงๆ ต้องกลับมามองที่คน คนต่างหากที่ไปใช้อย่างไม่บันยะบันยัง มันก็เลยเกิดปัญหา”

พลาสติกไม่ใช่วายร้ายที่เคยเป็นคนดี แต่พลาสติกคือทางเลือกของบรรจุภัณฑ์ที่มีประโยชน์เหลือคณานับ ทว่าสิ่งที่อาจารย์เป้ากำลังสื่อสารกับฉันคือ มนุษย์ขาดความตระหนักรู้ในการจัดการขยะให้เกิดประสิทธิภาพและหมุนเวียนอย่างยั่งยืน จนไม่เกิดปัญหาขยะพลาสติกกองมหึมา

 ศ. ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือ อาจารย์เป้า

นั่นคือ การคัดแยกขยะ นำไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่อาจารย์เป้านำมาปรับใช้ในโครงการพัฒนาวัสดุรีไซเคิล

“แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนคือผลิตและการใช้ให้เกิดของเหลือน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า Zero-waste คล้ายๆ กันคือ ใช้ให้ได้มากที่สุดจนจำนวนของเสียไม่เหลือ หรือเรียกว่าระบบเดิม ให้มันถูกใช้ในอุตสาหกรรมเดิม หรืออุตสาหกรรมที่เป็นลูกข่าย แตกย่อยออกไปจนกระทั่งไม่มีเศษอะไร ในอุตสาหกรรมนี้เราทำกันมานานแล้วครับ แต่เราไม่ได้เรียกแนวความคิดแบบนี้เฉยๆ” อาจารย์เป้าอธิบายแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ถึงตรงนี้อาจนึกภาพไม่ออกว่าในภาคอุตสาหกรรมจะมีกระบวนการ Zero-waste เกิดขึ้นได้อย่างไร อาจารย์เป้าจึงยกตัวอย่างแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากบทเรียนวิชาชีววิทยาที่เราคุ้นเคยอย่างดีคือ การผลิตปิโตรเคมี

“เรากลั่นปิโตรเคมีเป็นแก๊ส เป็นน้ำมัน พลาสติก ไล่มาจนเป็นยางมะตอยก็เป็นของที่เหลือทิ้งแล้ว พอเราจะทิ้งก็กลายเป็นยางมะตอยมาทำถนน แต่ตอนนี้เราจะเอาพลาสติกที่อยู่ในกระบวนการของปิโตรเคมีมาใช้กับยางมะตอยอีกที แล้วก็หมุนเวียนอย่างนี้ พลาสติกมันเหมือนน้ำกับน้ำแข็ง มันกลับไปกลับมาได้ ถ้าพลาสติกชิ้นไหนที่ย่อยสลายแล้ว โครงสร้างโมเลกุลภายในต่างๆ มันเสื่อมสลายไป ก็ต้องเสริมเติมโครงสร้างไปให้นำกลับมาใช้ได้อีก” อาจารย์เป้าอธิบาย

03

แยก ย่อย ตวง รวม อัด

โครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิลต่อยอดมาจากโครงการถนนรีไซเคิล ใช้วัสดุชนิดเดียวกันมาตัดแบ่งเป็นบล็อกปูถนนที่มีความทนทานสูงในราคาต้นทุนที่ไม่มากนัก

ขั้นตอนการผลิตเริ่มแรกคือ การคัดแยกขยะ เนื่องจากขยะถุงพลาสติกคือวัสดุที่รถรับซื้อของเก่าไม่รับซื้อ ขยะถุงพลาสติกจึงกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของบล็อกปูถนนรีไซเคิล อาจารย์เป้าเลือกขยะถุงพลาสติกที่ยืดได้หรือเป็นถุงแบบอ่อนเท่านั้น เพราะถุงที่แข็งและฉีกขาดง่ายต้องใช้อุณหภูมิสูงในการผลิต ทำให้ใช้พลังงานมากขึ้น

เมื่อได้ถุงพลาสติกตามต้องการในปริมาณที่เหมาะสม จึงนำถุงพลาสติกมาย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อใช้พลังงานการหลอมละลายให้น้อยที่สุด เมื่อย่อยชิ้นพลาสติกแล้วจึงนำไปตากให้แห้ง จากนั้นจึงนำทรายผสมในอัตราส่วน 1:3 คือพลาสติก 1 ส่วน ทราย 3 ส่วน ซึ่งทรายที่ใช้จะเป็นทรายหยาบหรือละเอียดก็ได้ แต่ควรเป็นทรายที่แห้งแล้ว หากยังไม่แห้งจะต้องเสียเวลานำทรายไปคั่วให้ไอน้ำออกจากทราย ซึ่งจะเสียเวลาและทำให้ขั้นตอนยุ่งยาก

บล็อกปูถนนรีไซเคิล โครงการแปรขยะพลาสติกจากครัวเรือนให้เป็นบล็อกปูถนนทนทานแต่ต้นทุนต่ำ
บล็อกปูถนนรีไซเคิล โครงการแปรขยะพลาสติกจากครัวเรือนให้เป็นบล็อกปูถนนทนทานแต่ต้นทุนต่ำ

เมื่อชั่งส่วนผสมจนได้อัตราส่วนที่ถูกต้องแล้ว จึงนำทรายใส่ในเครื่องผสมร้อนที่ทางภาควิชาคิดค้นและพัฒนาขึ้นมา ทิ้งไว้ให้อุณภูมิสูงราว 240 องศาเซลเซียส จึงนำพลาสติกใส่เข้าไป ให้เกิดการผสมและหลอมละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกันราว 5 – 10 นาที ต้องหมั่นสังเกตให้วัสดุทั้งหมดเป็นสีเทา และอย่าให้ผสมนานเกินไปเพราะพลาสติกอาจลุกไหม้ได้

บล็อกปูถนนรีไซเคิล โครงการแปรขยะพลาสติกจากครัวเรือนให้เป็นบล็อกปูถนนทนทานแต่ต้นทุนต่ำ

จากนั้นจึงเทวัสดุที่หลอมรวมกันแล้วบรรจุในพิมพ์เหล็ก แล้วอัด กระทุ้ง หรือตอก ด้วยค้อนเหล็กให้ได้ 70 – 75 ครั้ง จึงทิ้งให้เซ็ตตัว

อาจารย์เป้าแอบบอกเคล็ดลับการผลิตบล็อกปูถนนรีไซเคิลว่า เมื่อปล่อยให้วัสดุบล็อกปูถนนเย็นตัวแล้ว ควรนำไปแช่น้ำให้อุณหภูมิลดลงอีก ในขณะที่แช่น้ำควรคว่ำหน้าบล็อกลง เพราะถ้าหงายพลาสติกลงน้ำไม่ดี วัสดุจะกลายเป็นแอ่งไม่สวยงาม ควรให้หน้าวัสดุเรียบจึงแกะออกมาใช้งานได้

บล็อกปูถนนรีไซเคิล โครงการแปรขยะพลาสติกจากครัวเรือนให้เป็นบล็อกปูถนนทนทานแต่ต้นทุนต่ำ

04

ปูทางสู่การแบ่งปันองค์ความรู้

โครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิลเป็นที่พูดถึงอย่างรวดเร็วจากกระแสตื่นตัวรักษ์โลกในสื่อต่างๆ จนองค์ความรู้นี้เริ่มแพร่กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย อาจารย์เป้าเลือก 4 ภูมิภาค เพื่อเผยแผ่วิธีการลดขยะพลาสติก และใช้อย่างชาญฉลาด ได้แก่ ชุมชนวัดแม่สาหลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่, ตลาดแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม, ตลาดร่มโพธิ์ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และชุมชนอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากคนในพื้นที่

“ที่กระบี่เราไปคุย ไปนำเสนอ คนในชุมชนให้สร้างลานกิจกรรมด้วยบล็อกถนนรีไซเคิลจากขยะในชุมชน เราขอความร่วมมือให้ทุกคนคัดแยกขยะหน่อย พอบอกผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็งั้นๆ อะ ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ก็เลยเปลี่ยนแผนไปบอกเด็กๆ โรงเรียนอนุบาลว่า น้าจะเอามาทำลานกิจกรรมให้เด็กๆ นะ ให้เด็กๆ คัดแยกขยะมาวันละหนึ่งถุง เด็กก็ไปบอกผู้ปกครอง แต่ไปบอกท่าไหนก็ไม่รู้ว่า เนี่ย ให้คัดแยกขยะไป ถ้าไม่คัดแยกขยะมาจะโดนหักคะแนน แทนที่จะได้ขยะวันละถุง ก็ได้มาวันละหนึ่งกระสอบ เพราะผู้ปกครองช่วยกันคัดแยก”

 ศ. ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือ อาจารย์เป้า

เหมือนเป็นตลกร้าย แต่มันตอกย้ำสิ่งที่อาจารย์เป้าพูดกับฉันตลอดบทสนทนาว่า หากต้องการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องการคัดแยกหรือการเห็นคุณค่าการลดใช้ขยะพลาสติก ต้องปลูกฝังที่เด็กเล็กก่อนเป็นอันดับแรก

ในส่วนภาควิชาเอง โครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิลยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างของนักศึกษาที่ทดลองและต่อยอดขยะเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น หลังคาบ้าน แผ่นพื้น ผนัง หรือทดลองใช้วัสดุอื่นๆ เป็นส่วนประกอบหลัก อย่างการเปลี่ยนจากผสมทรายขวดแก้วบดละเอียดมาผสมกับขยะพลาสติกแทน 

ไม่ใช่เพียงเป็นประโยชน์ต่อโครงการ แต่เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และเปิดพื้นที่ทดลองให้นักศึกษาได้พัฒนาโครงการต่อไป

05

สุดท้ายต้องช่วยกัน

ปัจจุบันกำลังการผลิตบล็อกปูถนนรีไซเคิลต่อวันอยู่ที่ 50 ก้อน ต้องมีขยะถุงพลาสติกซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักต่อวันอยู่ที่ 50 กิโลกรัม และถ้าต้องการเร่งกำลังการผลิตให้ถึงจุดคุ้มทุน ต้องมีขยะถุงพลาสติกกว่า 1 ตัน

เมื่อมองในเขตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่เป็นฐานกำลังการผลิตหลัก กลับมีขยะพลาสติกที่นำมาใช้ผลิตต่อวันได้เพียง 9.38 กิโลกรัม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของอาจารย์เป้าที่บอกว่า 

“ขยะที่ไหน ต้องอยู่ที่นั่น”

“ขยะจริงๆ เราเริ่มจากให้นักศึกษาไปคัดแยกตามพื้นที่ในมหาวิทยาลัยและพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง แต่ก็พบว่าจำนวนขยะไม่พอ ได้เพียง 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ ของขยะทั้งมหาวิทยาลัยที่จัดการได้ ก็เลยขอบริจาคหรือมีคนที่สนับสนุน ส่งมา หรือคัดแยก มาช่วยเรา รวมทั้งหน่วยงานทางสิ่งแวดล้อม กลุ่มจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยอื่นก็มีนะ ที่คัดแยกแล้วส่งมา 

“บางทีก็ได้จากในตลาดสดนี่แหละ ด้วยความเป็นอาชีพของเขาที่ต้องกินต้องใช้เลยไม่มีเวลามาก แต่ถ้าถามเขาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของตลาด คนขาย คนซื้อ เขาก็อยากแยกขยะเหมือนกัน อาจารย์จึงเริ่มอีกโครงการหนึ่งคือ นำถุงพลาสติกจากเมื่อวานกลับมาด้วย คือเราจ่ายกับข้าวอะไรวันนี้ พรุ่งนี้ต้องไปจ่ายตลาดอีก ก็เอาถุงพลาสติกของเมื่อวานกลับมาไว้ที่ตลาด ตลาดในเชียงใหม่ก็จะคัดแยกมาไว้แล้วส่งมาให้เรา 

“สำหรับผู้ที่สนใจอยากส่งขยะถุงพลาสติกที่คัดแยกแล้วมาสนับสนุนโครงการ ส่งมาให้ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้เสมอ หากใครไม่สะดวกส่งจริงๆ สำหรับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่หรือพื้นที่ใดก็ตาม เพียงแค่คัดแยกขยะบรรจุในถุง เจ้าหน้าที่เก็บขยะจะทำการคัดแยกและส่งมาทางภาควิชาเอง

ถึงตรงนี้ อาจารย์เป้าย้ำถึงการแยกขยะหลายครั้ง ถ้าเราไม่แยกขยะ จะเกิดอะไรขึ้น?

“เพราะว่าขยะมันไม่มีที่ไป มันก็จะกองสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และถ้าไม่คัดแยกมันก็จบอยู่ที่ไม่เผาก็ฝัง เผานี่ไม่มีใครแฮปปี้กับวิธีการนี้แน่ๆ เพราะทำให้โลกร้อน ทำลายชั้นบรรยากาศ ถ้าฝังลงดินก็เป็นผลเสียต่อพื้นที่การเกษตร บริเวณนั้นเราก็จะอยู่อาศัยไม่ได้ แล้วก็ทำกสิกรรมไม่ได้ มันก็จะขยายเป็นปัญหาต่อไปอีก ยังไม่รวมว่าขยะจากต่างประเทศมาหาเรา ขยะอยู่ในสุญญากาศแล้ว มันต้องหาที่ไปให้มันที่ไม่ใช่โยนกันไปมา ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ขยะจะล้นโลก” อาจารย์เป้าตอบทิ้งท้าย

 ศ. ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือ อาจารย์เป้า

เป็นเรื่องดีมากที่ไม่ว่าจะภาครัฐก็ดี เอกชน นักกิจกรรม หรือคนตัวเล็กๆ อย่างเราก็ดี ต่างเห็นความสำคัญอย่างพร้อมเพรียง เกิดเป็นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย 

อย่างการลดใช้พลาสติกที่เข้มข้นกว่าเทรนด์ถุงผ้าที่ฉาบฉวย ทั้งการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วใช้กล่องลังเหลือๆ จากสต๊อกสินค้าของร้านเป็นหีบห่อบรรจุสินค้ากลับบ้าน 

รวมถึงการปรากฏตัวของหลอดนานาชนิดเพื่อทดแทนหลอดพลาสติก เทรนด์ปิ่นโตที่กำลังมาแรง การประกาศรับบริจาคขยะพลาสติกประเภทต่างๆ เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในหลายโอกาส หรือกระทั่งการแปรรูปขยะเหล่านั้นให้หมุนเวียนได้อย่างไม่รู้จบ 

ทั้งหมดนี้คือการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลากหลายข้อไปพร้อมกัน ทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 9Industry, Innovation and Infrastructure ที่มุ่งเน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 13 Climate Action ที่มุ่งเน้นการบูรณาการมาตรการรับมือสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co

Photographer

Avatar

ภูพิงค์ ตันเกษม

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย