ReCharge คือโครงการพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าสะอาดที่ช่วยให้ชุมชนในเกาะห่างไกลชายฝั่งที่ไฟฟ้าจากสายส่งหลักเข้าไม่ถึงอย่างเกาะจิก จังหวัดจันทบุรี สว่างไสวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ต้นทุนคุ้มค่า และสร้างโมเดลบริหารจัดการตัวเองรูปแบบใหม่ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง มีรายได้ 20 ปีล่วงหน้าจากการลงทุนของบริษัทต่างชาติ

เริ่มต้นจากงานวิจัยปริญญาโทของนักศึกษา 9 สัญชาติ 11 ชีวิต นำทีมโดย ธนัย โพธิสัตย์ ผู้หลงใหลเรื่องพลังงาน เขาอาสาใช้เวลาส่วนตัวพัฒนาโปรเจกต์นี้ให้ยั่งยืน รวมถึงขยายผลต่อไปที่เกาะบุโหลนดอน จังหวัดสตูล โดยไม่คิดค่าดำเนินการแม้แต่บาทเดียว

ReCharge โปรเจกต์พัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะไกลฝั่งแบบยั่งยืน มีรายได้ล่วงหน้า 20 ปี

“ผมพยายามเลือกเกาะที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปทำอะไรอย่างต่อเนื่อง เป็นพื้นที่ที่คนอาจมองข้าม ผมทำงานประจำด้านพัฒนาเครื่องกำเนิดไฮโดรเจนที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่แล้ว อยากช่วยพัฒนาชุมชนห่างไกลให้ไม่แพ้สังคมเมือง ทั้งทำงานที่มองไปข้างหน้าและช่วยคนที่เดินข้างหลังให้เกิดความเท่าเทียมด้วย” ธนัยกล่าวเหตุผลที่เขาลงพื้นที่ไปพบปะสร้างมิตรภาพกับชุมชนชาวเกาะอย่างเป็นกิจวัตร

ในประเทศไทย มีประมาณ 16 เกาะห่างไกลชายฝั่งที่ต้องใช้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง และอยู่ในแผนขยายเขตไฟฟ้าของการไฟฟ้าภูมิภาค แม้บางเกาะมีระบบจัดการไฟฟ้าที่ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่อาจเข้าถึงไฟฟ้าได้ตลอดเวลา และต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ

ReCharge คือความพยายามของคนรุ่นใหม่ที่อยากช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนร่วมกับหน่วยงานด้านพลังงานต่างๆ ตั้งแต่ 3 ปีก่อน จนวันนี้ สิ่งที่พวกเขาทำเริ่มเห็นผลเป็นไฟฟ้าและรอยยิ้มของผู้คนแล้ว 

แต่ธนัยบอกชัดเจนว่ายังไม่ถือว่าโครงการประสบความสำเร็จแต่อย่างใด เพราะต้องรอดูผลอีกเป็นทศวรรษ ถึงจะพิสูจน์ได้ว่ายั่งยืนจริง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และเขาเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนอย่างไรบ้าง

เราขอชวนคุณเก็บสัมภาระ ลงเรือลำนี้ไปหาคำตอบกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ด้วยกัน 

ReCharge โปรเจกต์พัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะไกลฝั่งแบบยั่งยืน มีรายได้ล่วงหน้า 20 ปี

เป็นมากกว่ารายงานให้เรียนจบ

จุดเริ่มต้นความสนใจด้านพลังงานของธนัยเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น จุดประกายโดยสารคดีรางวัลออสการ์อย่าง The Inconvenient Truth ที่ อัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา นำเสนอปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นรอบโลก ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2549

“ในตอนนั้นคนยังไม่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศมากเท่าวันนี้ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ แต่วันนั้นผมรู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นแน่ๆ และคนยังไม่แก้ไขเท่าที่ควร เลยตัดสินใจเรียนทางด้านนี้” ธนัยเล่า เรารู้กันในปัจจุบันว่าปัญหาที่เขาเห็นวันนั้น กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่คนตื่นตัวกันแล้ว

ความสนใจนี้นำพาหนุ่มกรุงเทพฯ ผู้นี้ ให้เลือกเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ฝึกงานกับองค์กรด้านพลังงานในยุคบุกเบิกของโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ในไทย และเรียนต่อปริญญาโทด้านพลังงานทดแทนที่สวีเดนและเนเธอร์แลนด์ เพราะเล็งเห็นว่าพลังงานทดแทนไม่ใช่เรื่องควรเก็บไว้คิดในอนาคต แต่ต้องเริ่มตอนนี้ เดี๋ยวนี้

เมื่อต้องส่งโปรเจกต์จบการศึกษา เขาเลือกเกาะจิกเป็นพื้นที่ศึกษาและทำงาน

ReCharge โปรเจกต์พัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะไกลฝั่งแบบยั่งยืน มีรายได้ล่วงหน้า 20 ปี
ReCharge โปรเจกต์พัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะไกลฝั่งแบบยั่งยืน มีรายได้ล่วงหน้า 20 ปี

หากกางแผนที่ขึ้นมาดู จะพบว่าเกาะจิกอยู่ห่างไกลจากชายฝั่งประมาณ 15 นาทีการเดินเรือ มีประชากรราว 400 คน เนื่องจากระบบสายส่งหลักไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ พวกเขาจึงต้องผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วยระบบไมโครกริดจากพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่เมื่อ 17 ปีก่อน 

“ก่อนหน้านั้น ผมเคยไปเกาะจิกประมาณห้ารอบ เพื่อเรียนรู้ระบบด้านพลังงานซึ่งน่าสนใจมาก เพราะเขาบริหารจัดการด้วยตัวเองมานาน เราอยากรู้ว่าเขาทำอย่างไร และได้เห็นว่ามีเทคนิคและโมเดลที่น่าจะต้องออกแบบใหม่เพื่อทำให้เติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน”

จากความคุ้นเคยกับพื้นที่มาบ้าง เขารวมทีมนักศึกษาปริญญาโทอีก 10 ชีวิตออกเดินทางบนท้องทะเลมุ่งหน้าสู่เกาะจิก ด้วยความตั้งใจช่วยให้ชุมชนเข้าถึงพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนขึ้น

“ทีมเราหลากหลายมาก แต่ทุกคนอยากทำอะไรที่จะไม่เป็นเพียงทฤษฎีอยู่บนกระดาษไว้ส่งอาจารย์เท่านั้น พอเห็นว่าเกาะจิกมีปัญหาให้แก้และเราพอทำอะไรได้บ้าง เราจึงเลือกพื้นที่นี้เพื่อเริ่มโปรเจกต์กันในชื่อ ReCharge”

เกาะจิกต้นแบบ

หากอยากเข้าใจว่าเกาะจิกเป็นอย่างไร หนึ่งในบุคคลที่ต้องพูดคุยด้วยคือ ณรงค์ชัย เหมสุวรรณ หรือผู้ใหญ่แต๊ก ผู้ใหญ่บ้านของเกาะจิกที่บริหารจัดการดูแลชุมชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 อย่างมีวิสัยทัศน์ 

“เกาะจิกเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านมีรายได้ค่อนข้างดีจากการประกอบอาชีพประมง แต่ตอนนั้นเราใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก มีใช้ตะเกียงหรือแบตเตอรี่บ้าง ปั่นไฟใช้กันเองในครัวเรือน ซึ่งตอนนั้นราคายังไม่แพง” ผู้ใหญ่แต๊กเล่าสถานการณ์สมัยเพิ่งเข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ระบบพลังงานแบบนี้ผลิตไฟฟ้าได้น้อย ค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเวลาผ่านไป เกิดมลพิษจากควันและเสียงที่น่ารบกวนใจอยู่เรื่อย

ReCharge โปรเจกต์พัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะไกลฝั่งแบบยั่งยืน มีรายได้ล่วงหน้า 20 ปี

ต่อมา พ.ศ. 2547 เกาะจิกได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในการติดตั้งระบบพลังงานทดแทน โดยเริ่มต้นจากแผงโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 7.5 กิโลวัตต์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซล (Diesel Generator) 50 กิโลวัตต์ และแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด (Lead-acid Battery) ทำให้เกาะจิกเป็นเกาะแรกๆ ของประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบไมโครกริด เป็นต้นแบบให้คนมาเยี่ยมชมศึกษา

วิธีการทำงานเบื้องต้นคือ ตอนกลางวันยามมีแสงแดด ส่วนกลางจะจ่ายไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ให้ชาวบ้านใช้ พอช่วง 4 โมงเย็นถึง 5 ทุ่มที่ความต้องการใช้ไฟเยอะ จะเปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแทน หลังจากนั้นจะใช้แบตเตอรี่ที่ชาร์จพลังงานเก็บไว้ในโรงไฟฟ้าปล่อยไฟแทนจนถึงประมาณตี 5 หมุนเวียนกันไปแบบนี้ทุกวัน

กล่าวโดยสรุปคือ ชุมชนมีไฟฟ้าใช้ต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายลดลงจากแต่ก่อน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในระดับหนึ่ง

ReCharge โปรเจกต์พัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะไกลฝั่งแบบยั่งยืน มีรายได้ล่วงหน้า 20 ปี
ReCharge โปรเจกต์พัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะไกลฝั่งแบบยั่งยืน มีรายได้ล่วงหน้า 20 ปี

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องระบบพลังงาน แต่ครอบคลุมถึงแนวคิดการจัดการของชุมชนด้วย

“สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นตอนนั้นคือ มีการเลือกสรรและจัดตั้งคณะกรรมการด้านพลังงานของชุมชน ทำให้ดูแลระบบได้อย่างยั่งยืน” ธนัยเสริม “กรรมการหนึ่งคน จะผ่านการคัดสรรและเป็นตัวแทนของชาวบ้านประมาณสามสิบคน มีหน้าที่วางกฎระเบียบ ออกนโยบาย และตัดสินใจ เช่น การขึ้นหรือลดค่าไฟฟ้า ประชุมกันเป็นประจำ

“คณะกรรมการกลุ่มนี้มีบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO เกาะจิก) ที่ไม่แสวงผลกำไรเป็นผู้ดำเนินงานต่างๆ โดยบริษัทจ้างคนในชุมชนเป็นพนักงานเพื่อดูแลการผลิต บำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์ และเก็บเงินค่าไฟ ทำให้สามารถดูแลระบบและแก้ไขปัญหาได้เรื่อยๆ”

หลังจากนั้น ชุมชนเกาะจิกค่อยๆ พัฒนาระบบพลังงานด้วยตัวเอง มีการติดตั้งระบบโซลาร์เพิ่ม ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ชุมชนมีกำไร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยทางชุมชนพยายามจดบันทึกผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมไว้คอยพิจารณาอยู่เสมอ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป อุปกรณ์ต่างๆ เสื่อมสภาพลง ต้องตกลงงดใช้ไฟฟ้ากันในบางช่วงและอุปกรณ์ ในขณะเดียวกัน โลกมีนวัตกรรมใหม่ที่ยั่งยืนกว่าให้เลือกใช้ในราคาที่เข้าถึงได้แล้ว

นั่นคือภารกิจของคนรุ่นใหม่อย่าง ReCharge ที่อาสาเข้าไปช่วยเหลือ

ReCharge โปรเจกต์พัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะไกลฝั่งแบบยั่งยืน มีรายได้ล่วงหน้า 20 ปี

เกาะจิก ReCharge

ReCharge เข้าไปทำงานกับชุมชนโดยเสนอการปรับเปลี่ยนทั้งทางเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจและการจัดการเชิงสังคมพร้อมๆ กัน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญที่มีอยู่

ด้านเทคโนโลยี พวกเขาวางแผนระบบให้ปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซลที่มีระบบเริ่มจ่ายไฟอัตโนมัติ เพื่อความสะดวกและลดการใช้งานที่ไม่จำเป็น คำนวณการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มโดยคำนึงถึงต้นทุนที่เหมาะสมกับชุมชนและขนาดพื้นที่ที่มีจำกัด

รวมทั้งช่วยสรรหา คิดวิธีติดตั้งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ดูเผินๆ เหมือนราคาแพงกว่า แต่หากคำนวณอายุการใช้งานที่นานกว่าเกือบเท่าตัว ประสิทธิภาพที่สูงกว่า (สูญเสียพลังงานระหว่างกระบวนการน้อยกว่า) และความปลอดภัย ถือว่าคุ้มค่า ไม่ควรใช้แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด ที่อายุการใช้งานประมาณ 5 ปีอีกต่อไปแล้ว

ส่วนการจัดการเชิงสังคม พวกเขาเปลี่ยนรูปแบบมิเตอร์เก็บค่าไฟ ซึ่งจะช่วยรักษาความสัมพันธ์ของชุมชนให้ไม่ต้องผิดใจกันอีกต่อไปด้วย

โครงการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะจิกและบุโหลนดอน ให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลบริหารชุมชนด้านพลังงานยั่งยืน

“เมื่อก่อนเกาะจิกคิดค่าไฟโดยใช้มิเตอร์แบบ Pre-paid ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเหมาะมากในสมัยก่อน วิธีการคือชาวบ้านเติมเงินค่าไฟไปก่อนแล้วใช้จนเครดิตหมด แต่ต่อมามิเตอร์พัง หาซื้อแบบที่เหมาะไม่ได้ เลยเปลี่ยนมาใช้แบบ Post-paid แทน จ่ายหลังใช้งานไปแล้วในแต่ละเดือน 

“ถ้าเป็นกรณีระบบไฟฟ้าที่มาจากการไฟฟ้าภูมิภาค หากคุณไม่จ่ายในเวลาที่กำหนด โดนตัดไฟได้ง่ายๆ เลย แต่พอเป็นเกาะที่คนทำงานคือคนในชุมชนเอง เป็นพี่น้องญาติมิตรกัน การตัดไฟหนึ่งบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้เกิดการขอยืม ติดเงินไว้ก่อน จนสะสมเยอะขึ้น” ธนัยอธิบาย 

“เพราะการใช้มิเตอร์แบบ Post-paid ทำให้บางทีชาวบ้านควบคุมการใช้ของครัวเรือนตัวเองไม่ถูก เกิดออกทะเลไม่ได้เพราะสภาพอากาศ น้ำเสีย ไม่มีสัตว์น้ำให้จับ เขาจะไม่มีรายได้มาจ่ายค่าไฟ” ผู้ใหญ่แต๊กเสริมสาเหตุเบื้องหลัง

หากต้องการจัดการให้ยั่งยืนและมีเงินทุนจากช่องทางอื่นๆ ระบบบัญชีควรเป็นไปตามหลักการ ReCharge จึงช่วยหาหนทางการนำมิเตอร์แบบ Pre-paid มาใช้อีกครั้ง

โครงการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะจิกและบุโหลนดอน ให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลบริหารชุมชนด้านพลังงานยั่งยืน

“เรื่องนี้ไม่ได้เป็นความต้องการของเรา แต่เกิดจากชุมชนเลยว่าเขามีประสบการณ์ที่ดีกับมิเตอร์แบบ Pre-paid อยากให้มีแบบแต่ก่อน แต่ไม่รู้จะหาจากที่ไหน 

“เราหาแหล่งให้ห้าถึงหกแห่ง มีทั้งตัวคุณภาพดีราคาสูงจนถึงตัวทั่วไป คำแนะนำเราคือ เลือกบริษัทที่มีสำนักงานอยู่ในไทย ถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นมาจะมีคนบริการและซ่อมได้ง่ายกว่า สุดท้ายได้ตัวราคากลางๆ ที่เหมาะสม”

เมื่อต้องมีการจัดซื้อครั้งใหม่ ธนัยติดต่อไปสถานทูตออสเตรเลียที่มีโปรแกรม Australian Aid สนับสนุนทุนเพื่อชุมชนที่ดำเนินงานสร้างผลกระทบเชิงบวก จนได้รับทุนมา 750,000 บาท และนำเงินทั้งหมดให้ชุมชนไปใช้จ่ายค่าอุปกรณ์ด้านพลังงาน 

ปัจจุบันมีการติดตั้งมิเตอร์เรียบร้อย เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดความตึงเครียดทางสังคม ส่วนการติดตั้งอุปกรณ์อื่นกำลังอยู่ช่วงเฟสสุดท้าย คาดว่าจะครบถ้วนภายในช่วงปีนี้ ทำให้เกาะจิกเป็นเกาะที่ใช้พลังงานทดแทนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

โครงการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะจิกและบุโหลนดอน ให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลบริหารชุมชนด้านพลังงานยั่งยืน

โอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลง

โอกาสใหม่ของการบริหารพลังงานให้ยั่งยืนบนเกาะจิกเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีบริษัทติดต่อมาซื้อ Environmental Attribute (ครอบคลุมทั้ง Carbon Credits, Renewables Energy Credits (RECs) และเครดิตด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ) ของโครงการนี้ล่วงหน้าไป 20 ปี

โครงการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะจิกและบุโหลนดอน ให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลบริหารชุมชนด้านพลังงานยั่งยืน

“ตอนนี้โลกมีสิ่งที่เรียกว่า RE100 หมายถึงบริษัทที่ตั้งใจใช้พลังงานทดแทนร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยหนทางทำให้บริษัทมีรายชื่ออยู่ในนี้ ไม่ได้ต้องเกิดจากการซื้อแผงโซลาร์หรือพลังงานทดแทนอื่นๆ มาติดตั้งเองเพียงอย่างเดียว บริษัทสามารถซื้อเครดิตจากที่อื่นๆ แทน ซึ่งไม่เป็นเพียง CSR พวกเขาจะได้รับใบประกาศไปด้วยว่าเป็นองค์กรที่สนับสนุนพลังงานสะอาด

“ปกติแล้ว บริษัทจะต้องเห็นการดำเนินงานของโครงการก่อนและมาตรวจสอบ ค่อยเกิดการซื้อขาย แต่มีบริษัทที่ยินดีจ่ายให้ก่อนเลย คิดคำนวณว่ายี่สิบปีข้างหน้า เกาะจิกจะมีผลิตพลังงานทดแทนได้เท่าไร ตีมูลค่าออกมาเป็นเงินประมาณหนึ่งล้านห้าแสนบาท และให้เงินทุนสนับสนุนชุมชนเลย ซึ่งอัตราการซื้อหนึ่ง เครดิตถือว่าสูงกว่าราคาทั่วไปสิบถึงยี่สิบเท่า แต่เขามองว่านี่ไม่ใช่การซื้อเครดิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการช่วยให้โครงการนี้เกิดขึ้นจริงและชุมชนได้รับผลประโยชน์” ธนัยเล่าช่องทางเงินทุนแหล่งใหม่ที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย

เงินจำนวนนี้ถูกนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนของชุมชน ไว้สำหรับสมทบค่าไฟ 1 บาทต่อหน่วยของคนในชุมชนตามมาตรการที่วางไว้ เช่น เดิมผู้ใช้ไฟต้องจ่ายค่าไฟ 13 บาทต่อหน่วย ตอนนี้จะลดเหลือ 12 บาทแทน

โครงการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะจิกและบุโหลนดอน ให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลบริหารชุมชนด้านพลังงานยั่งยืน

“มีหลายบริษัทที่สนใจซื้อเครดิตเหล่านี้ เป็นบริษัทชั้นนำของโลกเลย” ธนัยเสริมความเป็นไปได้ใหม่สำหรับใครที่สนใจ ทั้งภาคธุรกิจและสังคม

หลังจากเรียนจบปริญญาโท ReCharge เหลือสมาชิกทำงานในประเทศไทย 3 คน จากสายเทคโนโลยี การเงิน และกฎหมาย ต่อยอดจากรากฐานเดิมที่วางไว้ แม้มีเงินทุนเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการ แต่ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายหรือรายได้ใดๆ สำหรับการดำเนินงานเลย แม้ทำได้ตามเงื่อนไข

“เราทำด้วยความคิดที่ว่าต้นทุนของเรามีแค่เวลาและแรงที่ใส่ลงไป ซึ่งเรายินดีทำ เงินทุนจากหน่วยงานต่างๆ มีจำกัด ถ้าเราไปหักมาบ้าง มันจะแบ่งเงินส่วนที่ชุมชนต้องนำไปใช้จ่าย และทำให้พวกเขาต้องจ่ายมากขึ้น เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น”

อยู่อาศัย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้โปรเจกต์ร่วมกับชุมชนนี้ประสบความสำเร็จ คือความสม่ำเสมอและการยินดีใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนของธนัย 

“ตอนไปครั้งแรก ผมไม่ได้มีประสบการณ์ลงชุมชนเท่าไร แต่มีพี่ๆ กระทรวงพลังงานที่ลงชุมชนบ่อยเขาให้คำแนะนำว่าเราควรใช้เวลาอยู่กับชุมชนให้นานที่สุด ตอนแรกคนอาจคิดว่าเราเป็นแค่นักท่องเที่ยวหรือคนมาดูงานตามปกติ 

“เราต้องไปหลายรอบ ถ้าไปครั้งเดียวจะได้ข้อมูลไม่ครบ ครั้งที่สองอาจได้เพิ่มบ้าง พอครั้งต่อๆ ไปเราจะได้ยินปัญหาของหลายๆ ฝ่ายมากขึ้นและเกิดความไว้วางใจ เพราะเขาเห็นเจตนาของเรา หลังจากนั้น เรากลั่นกรองและเสนอกลับไป โดยรับฟังฟีดแบ็กและไม่ยัดเยียดคำตอบ มันเป็นการสื่อสารสองทาง”

โครงการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะจิกและบุโหลนดอน ให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลบริหารชุมชนด้านพลังงานยั่งยืน

นอกจากนี้ เกาะประเภทนี้มักไม่มีโรงแรมหรือรีสอร์ต ทำให้ต้องอาศัยอยู่ในโฮมสเตย์ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

“ถ้าเราทำงานแค่ช่วงกลางวันแล้วกลับ เราจะขาดมุมมองคนบนเกาะไปครึ่งหนึ่งเลยนะ เพราะส่วนใหญ่เขาจะออกทะเลกันไปตั้งแต่เช้ามืด กลับมาอีกทีก็เย็นแล้ว เราควรอยู่เจอพวกเขา เป็นเหตุให้การประชุมของชุมชนมักเกิดขึ้นตอนดึกด้วย แล้วจะได้เห็นวิถีชีวิตอีกแบบ”

สำหรับเกาะจิก ช่วงปีที่ผ่านมา ธนัยลงพื้นที่ประมาณปีละ 4 ครั้งตามวาระต่างๆ เช่น พาคนไปสำรวจพื้นที่ พานักลงทุนไปดูการจัดการ ในแต่ละครั้ง เขามักจะเชิญชวนหน่วยงานอื่นๆ รวมกันเป็น Taskforce เช่น กระทรวงพลังงานและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ที่มีส่วนดูแลการทำแผนพัฒนาจังหวัดลงพื้นที่ไปพร้อมกันด้วย เพื่อผสมผสานจุดแข็งและเกิดการร่วมมือกันของแต่ละฝ่ายจนสำเร็จผล

โครงการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะจิกและบุโหลนดอน ให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลบริหารชุมชนด้านพลังงานยั่งยืน
โครงการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะจิกและบุโหลนดอน ให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลบริหารชุมชนด้านพลังงานยั่งยืน

เกาะใหม่ วิธีใหม่

เมื่อเกาะแรกดำเนินการไปได้ด้วยดี เกาะที่สองก็ตามมาโดยธรรมชาติ

คราวนี้ ReCharge เลือกไปต่อที่เกาะบุโหลนดอน จังหวัดสตูล โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตออสเตรเลียเช่นเคย 

“เราเคยสำรวจเกาะบุโหลนดอนตอน พ.ศ. 2560 ความน่าสนใจคือ เป็นเกาะที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปทำอะไร ผู้คนอาศัยอยู่เป็นชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน แต่ตอนนี้พื้นที่ถือว่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อาศัยอยู่ได้ แต่ขยายพื้นที่ ไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภค ยากมาก เพราะข้อกำหนดทางกฎหมาย กลายเป็นชุมชนที่ได้รับความสนใจจากภายนอกน้อย

“พอลองไปสำรวจตอน พ.ศ. 2563 พบว่าพื้นที่แทบไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเลย ถ้าปล่อยไว้คงไม่เกิดอะไรขึ้น น่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง”

บุโหลนดอนอยู่ห่างไกลจากท่าเรือประมาณ 22 กิโลเมตร หรือใช้เวลาประมาณ 90 นาทีในการเดินเรือ ผู้คนต้องรอใช้ไฟจากเครื่องปั่นไฟ ทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ได้ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง ต้องนอนร้อนๆ ตอนกลางคืน อดดูข่าวตอนเช้า แทบไม่มีใครได้ใช้ตู้เย็น ต้องไปซื้อน้ำแข็งที่ฝั่งกลับมาใส่ไว้ในคูลเลอร์แทน ซึ่งอยู่ได้ไม่นาน

เมื่อมีข้อจำกัดทางพื้นที่ ธนัยประสานงานกับทั้งทางอุทยานฯ หน่วยงานด้านพลังงานของจังหวัด พูดคุยหาทางออกที่เหมาะสม จนได้คำตอบคือการทำโซลาร์โฮม ติดตั้งแผงโซลาร์ประจำบ้านแบบเติมเงินที่เรียกว่า Pay-As-You-Go โดยมีตัวเลือกเป็นแผงโซลาร์และแบตเตอรี่ขนาดต่างๆ ตามความต้องการใช้ไฟและรายได้ จ่ายก่อนค่อยใช้

เช่น ขนาดเล็กสุด ใช้ไฟได้เป็นหลัก ถ้าขยับมาเป็นไซส์กลางจะมีไฟพอสำหรับทีวีและพัดลม เป็นต้น โดยรายได้ทั้งหมดเข้าบัญชีรวมของกลุ่มไว้เป็นค่าบริหารจัดการเช่นเคย และหากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย พวกเขาสามารถเคลมประกันจากกลุ่ม

“เราเรียนรู้ว่าการทำไมโครกริดไม่ได้เป็นคำตอบแบบ One size fits all สำหรับเกาะจิก เราเข้าไปอัปเกรดของเดิมที่มีอยู่และทำให้เข้มแข็งมากขึ้น ส่วนเกาะบุโหลนดอนเหมือนเริ่มต้นนับหนึ่งและมีข้อจำกัดต่างกัน ซึ่งความสวยงามของการคิดระบบแบบนี้ คือการออกแบบระบบให้ตรงความต้องการของผู้ใช้งาน” 

ส่วนสิ่งที่ไม่ต่างไปจากเกาะจิก คือการลงพื้นที่ร่วมกันเป็น Taskforce โดยในกรณีนี้ มีผู้ใหญ่บ้านแต๊กจากเกาะจิกมาช่วยให้คำแนะนำกลุ่มชาวบ้านในบุโหลนดอนด้วย เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นเกาะเหมือนกัน ประกอบอาชีพคล้ายกัน ย่อมคุยกันได้อย่างถูกปากถูกคอ

ปีที่ผ่านมา ธนัยแวะเวียนไปที่เกาะบุโหลนดอน 6 ครั้งในช่วงประมาณ 10 เดือน ช่วยติดตั้งโซลาร์โฮมไปแล้วประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือน และเปลี่ยนเกาะที่เคยถูกมองข้ามในความมืดมิดให้สว่างไสวกว่าที่เคยเป็นมา

ความสำเร็จวัดกันที่อีกทศวรรษ

“ความสำเร็จของผมไม่ได้วัดจากโปรเจกต์ที่สร้างเสร็จแล้วจบนะ แต่เป็นความยั่งยืนของสิ่งที่เราทำไว้ ต้องมองถึงระดับสิบห้าถึงยี่สิบปี อย่างที่เกาะจิก เราตั้งเป้าว่าการพัฒนาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ต้องใช้เงินทุนจากภายนอก” ธนัยตอบเรื่องเครื่องชี้วัดความสำเร็จของสิ่งที่ทำ

ในอนาคต เมื่อต้องมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์หรือปรับเปลี่ยนระบบ เขาคาดหวังชุมชนเหล่านี้จะบริหารจัดการเองได้จากภายใน โดยไม่ต้องมีทีม ReCharge หรือทุนสนับสนุนภายนอกแล้ว และอาจพัฒนาต่อไปเป็นนิติบุคคลรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ทุกคนมีหุ้นอยู่ในบริษัทอย่างเท่าเทียม ถ้าบริหารงานแล้วมีกำไร ก็เกิดการแบ่งเงินปันผลให้กันได้ ทุกอย่างมีการจดบันทึกและตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส

ในส่วนอุตสาหกรรมพลังงานภาพใหญ่ ธนัยมองว่าต่อไปจะเริ่มมีคนและองค์กรหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายกระตุ้นเหมือนที่ผ่านมา เพราะการติดตั้งและใช้ไฟจากพลังงานโซลาร์จะถูกกว่าการซื้อจากการไฟฟ้า เกิดการซื้อขายระหว่างหน่วยงานกันเอง กระจายการผลิตพลังงานให้เข้าถึงทุกแห่งมากขึ้นเหมือนประเทศฝั่งตะวันตก เพื่อให้ทุกชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองหรือสร้างรายได้จากศักยภาพด้านนี้ เช่น ในประเทศเยอรมนีที่บางเมืองผลิตไฟฟ้าเองได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และมากเกินความต้องการ จนส่งไฟฟ้าไปขายให้พื้นที่อื่นได้

หากเราร่วมกันวางแผนให้ดี แต่ละชุมชม ไม่ว่าจะเป็นเกาะ ป่า หรือภูเขา อยู่เหนือ ใต้ ออก ตก คงจะมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง มีการพัฒนานวัตกรรมที่มีศักยภาพมากขึ้น และเกิดการสนับสนุนพลังงานทดแทนในวงกว้างอย่างยั่งยืน

ReCharge คือหนึ่งในความพยายามนั้น และโลกยังต้องการคนอีกมากเข้ามาร่วมภารกิจนี้เพื่ออนาคตของเรา

โครงการพัฒนาระบบพลังงานสะอาดบนเกาะจิกและบุโหลนดอน ให้ชุมชนเข้าถึงไฟฟ้าแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลบริหารชุมชนด้านพลังงานยั่งยืน

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป