มีคนเคยกล่าวไว้ว่าการอ่านเปลี่ยนชีวิตคนได้ การเปิดหน้ากระดาษหนังสือดี ๆ สักเล่ม เหมือนการเปิดบานประตูสู่มุมมองใหม่ ๆ ของชีวิต ถ้อยคำที่ถูกร้อยเรียงมาอย่างดีเปรียบเสมือนพรวิเศษที่อวยพรให้ชีวิตของผู้อ่านดีขึ้น

เชียงใหม่อ่าน กลุ่มคนทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของจังหวัดเชียงใหม่เชื่อเช่นนั้น และมองมากไปกว่านั้น พวกเขาเชื่อมั่นว่า นอกจากการอ่านจะเปลี่ยนชีวิตของผู้อ่านแล้ว ยังเปลี่ยนชีวิตของผู้คนโดยรอบผู้อ่าน ไปจนถึงเมือง หรือ ระดับประเทศที่ผู้อ่านนั้นอยู่ให้ดีขึ้นได้

ตลอด 8 ปีที่เชียงใหม่อ่านก่อตั้งขึ้นมา ทุกผลงานและกิจกรรมของพวกเขาถูกออกแบบขึ้นโดยไม่ได้หวังผลให้เกิดขึ้นแค่กับตัวผู้อ่าน แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นโดยใช้นิทานเป็นเครื่องมือ

“มีคนใช้นิทานกับเด็กเยอะมาก และเรามีภาพจำกันว่าเด็กที่ได้อ่าน เขาจะกลายเป็นเด็กเก่ง เป็นเด็กฉลาด ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่แล้วทำไมสังคมไทยถึงยังมีปัญหาเยอะมากอยู่เลยล่ะ นั่นเพราะเราคิดในแง่ปัจเจก คนไหนอ่านหนังสือคนนั้นจะเป็นคนเก่ง แต่สังคมจะดีได้ไม่ใช่เพราะมีคนเก่งและฉลาดอย่างเดียว แต่สังคมจะดีได้ก็ต่อเมื่อทุกคนคิดถึงกัน นี่คือสิ่งที่เชียงใหม่อ่านเชื่อและสอดแทรกไว้ในนิทานทุกเล่มของเรา” อ๋องหนึ่งในผู้จัดทำกล่าวกับเรา

การอ่านเปลี่ยนชีวิตคนและทั้งเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร บรรทัดต่อจากนี้เชียงใหม่อ่านจะเล่าให้คุณฟัง

โครงการเชียงใหม่อ่านเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2556 จากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ของ สสส. ที่ติดต่อเครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ ให้รวบรวมเครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ การอ่านและเขียนในจังหวัดเชียงใหม่มาประชุมร่วมกัน เพื่อวางแผนโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในจังหวัดเชียงใหม่ ผลจากความร่วมมือครั้งนั้นทำให้เกิดโครงการขึ้นมา

ตลอด 8 ปีของการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ เชียงใหม่อ่านมีองค์ความรู้และนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน มีหนังสือนิทานที่ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องราวของเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่เขาอยู่ มีการทำงานร่วมกับครูกว่า 800 คน จากทุกอำเภอของเชียงใหม่ จากความสำเร็จของการปฏิบัติการในจังหวัด เชียงใหม่อ่านยังถูกเชิญให้ออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อมา เช่น เชียงราย ขอนแก่น และอุบลราชธานี ได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการดีเด่นด้านส่งเสริมการอ่านที่ถูกนำเสนอต่อกลุ่มประเทศอาเซียน ในงานประชุมประจำปีของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือระดับภูมิภาคอาเซียน และเป็นโครงการตัวอย่างด้านส่งเสริมการอ่านที่นำไปปรับใช้กับจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และมีส่วนช่วยจัดทำหนังสือนิทาน ช่วยให้กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) อ่านไม่ออก ให้อ่านได้

ความสำเร็จของเชียงใหม่อ่านไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งขึ้นมา แต่เกิดจากการเรียนรู้ข้อบกพร่องในแต่ละปีที่ผ่านมาของโครงการ ความร่วมมือของเครือข่าย ครูของเด็ก ๆ จำนวนมาก และการสู้ไม่ถอยของ อ๋อง-ทัทยา อนุสสรราชกิจ และ เสย-รายา ผการ์มาศ คู่รักนักเขียนผู้ขับเคลื่อนหลักของโครงการในปัจจุบัน

เชียงใหม่อ่าน โครงการที่ใช้การอ่านเปลี่ยนชีวิตคนและเมือง ด้วยพลังหนังสือนิทาน

บทเริ่มต้นของเชียงใหม่อ่าน ปีแห่งการทดลอง เรียนรู้

กิจกรรมแรกของเชียงใหม่อ่านคือ ‘งานผ้าป่าหนังสือ’ งานที่ชักชวนคนมาบริจาคหนังสือ โดยมีหนังสือพิมพ์ ไทยนิวส์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเชียงใหม่เป็นหัวเรือ จากงานนั้นเชียงใหม่อ่านได้รับหนังสือและทุนสนับสนุนสำหรับทำงานโครงการ และยังมีทุนจากแผนงานส่งเสริมการอ่านของ สสส. ที่เข้ามาสนับสนุนอีกทาง

“ปีแรกของโครงการเชียงใหม่อ่าน เราทำงานร่วมกับเครือข่ายที่ทำงานด้านสังคมกว่า 20 หน่วย เราตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า จะทำให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านขึ้นที่เชียงใหม่ ปีแรกใช้วิธีมอบหมายให้แต่ละเครือข่ายแยกย้ายไปจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตามที่แต่ละคนถนัดในพื้นที่ของตัวเอง เราเองก็เข้ามาในฐานะเครือข่ายสโมสรนักเขียนเชียงใหม่” อ๋องเล่า

หลังจากปีแรก กลุ่มเชียงใหม่อ่านและเครือข่ายค้นพบว่า การแยกย้ายไปทำให้ผลของการทำงานออกมาค่อนข้างคลุมเครือ ไม่นำไปสู่เป้าหมาย ต่อมาแต่ละเครือข่ายจึงนำผลจากกิจกรรมที่ทำมาประชุมถอดบทเรียนร่วมกัน จนเกิดเป็นนวัตกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อใช้ยึดในการออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไป แบ่งออกเป็น 4 แบบใหญ่ คือ

         1. การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับการอ่าน เข้าถึงหนังสือได้ทันที เห็นหนังสือตลอด

         2. ใช้วัฒนธรรมกระตุ้นให้เกิดการอ่าน

         3. อ่านแล้วเอามาเล่า คือการนำเรื่องที่อ่านมาส่งต่อสู่ผู้อื่น นั่นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการอ่าน

         4. ทำให้ห้องสมุดมีชีวิต สร้างกิจกรรมให้มีความเคลื่อนไหว ดึงคนไปห้องสมุด สถานที่ที่ทำให้เกิดการอ่าน

จากการถอดบทเรียนจนสรุปออกมาเป็นนวัตกรรมทั้ง 4 แบบ เพื่อตอบโจทย์เรื่องการสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่าย เชียงใหม่อ่านจึงจัดกิจกรรม ‘บาทเดียวก็อ่านได้’ ขึ้นมา โดยแต่ละครั้งจะมีธีมในการจัด นอกจากนำหนังสือมาขาย พวกเขาจะนำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแนวหนังสือในงานแต่ละครั้งมาจัดร่วมกัน ผลตอบรับของบาทเดียวก็อ่านได้ ได้รับผลตอบรับที่ดีและจัดอีกหลายครั้ง ซึ่งต่อมาทางมูลนิธิกระจกเงาติดต่อขอนำรูปแบบกิจกรรมนี้ไปจัดต่อ

“พอจัดกิจกรรมในตัวเมืองได้สักพัก เรารู้สึกว่าจะทำกิจกรรมบาทเดียวก็อ่านได้เฉพาะตัวเมืองไม่ได้ อำเภออื่น ๆ ที่เขาอยู่ไกลก็ควรได้รับโอกาสเท่ากัน เลยตัดสินใจนำกิจกรรมนี้ไปจัดที่อำเภอต่าง ๆ ในเชียงใหม่ เป็นเชียงใหม่อ่านสัญจร” 

กิจกรรมที่ออกแบบโดยยึดจากนวัตกรรม 4 ข้อเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก มีการล้อมวงเล่าเรื่องหนังสือ จัดทำชั้นหนังสือสาธารณะ เวียนเปลี่ยนหนังสือทุกเดือน วางไว้ตามจุดที่มีผู้คนรวมกันอยู่เยอะ กิจกรรมปั่นปันปัญญา ระดมทุนและหนังสือเพื่อจัดทำธนาคารหนังสือ มีการอบรมครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเกี่ยวกับความสำคัญของการอ่าน การใช้นิทานในเด็กปฐมวัย ฯลฯ

กิจกรรมที่เกิดขึ้นทำให้เชียงใหม่อ่านเป็นที่สนใจ และถูกผลักดันให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระดับจังหวัดในแผนงานปฏิรูปการศึกษาขององค์การบริหารจังหวัดเชียงใหม่ในที่สุด ต่อจากนี้งานส่งเสริมการอ่านที่เกิดขึ้นจะมาจากองค์กรระดับจังหวัด และขยายไปทั่วทั้งจังหวัดและประเทศในที่สุด เหมือนเป็นตอนจบที่ดี แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น

“มันเงียบกริบเลย ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราได้แต่ถามคนที่ประสานงานตรงกลางว่า เราต้องทำอะไรไหม เพราะงานมันไปสู่นโยบายระดับจังหวัดแล้ว เราก็ไม่ได้คำตอบอะไร แต่ในเมื่อยังได้รับงบมาปีละ 10,000 อยู่ เราก็นำงบนั้นมาจัดกิจกรรมต่อ กระทั่งตอนหลังเครือข่ายก็ค่อย ๆ ลดบทบาทลงจนเงียบหายไปทีละคน” อ๋องพูดตามตรง

เชียงใหม่อ่าน โครงการที่ใช้การอ่านเปลี่ยนชีวิตคนและเมือง ด้วยพลังหนังสือนิทาน
เชียงใหม่อ่าน โครงการที่ใช้การอ่านเปลี่ยนชีวิตคนและเมือง ด้วยพลังหนังสือนิทาน

บทบาทที่แท้จริงของเชียงใหม่อ่าน

ในช่วงที่เชียงใหม่อ่านกำลังไร้ทิศทางไปต่อ พ.ศ. 2560 ก็เกิดเหตุการณ์หมู่บ้านป่าแหว่ง การบุกรุกพื้นที่ดอยสุเทพโดยโครงการบ้านตุลาการเชิงดอยสุเทพจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับกระแสต่อต้านจากประชาชนจำนวนมาก ในปีนั้นโครงการ Spark U Lanna และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน มีไอเดียร่วมกันจะจัดกิจกรรม ‘อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน’ เป็นไอเดียจากต่างประเทศที่ชวนผู้คนในเมืองมาอ่านหนังสือที่อยู่ในประเด็นเดียวกัน ซึ่งเชียงใหม่เลือกที่จัดอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันในหัวข้อ ‘อ่านดอยสุเทพ’ เพื่อปลุกจิตสำนึกของคนต่อดอยสุเทพ โดยทำหนังสือสำหรับเด็ก 3 เล่มแบ่งตามช่วงวัยคือ กราบดอยสุเทพ, หนูน้อยไปดอยสุเทพ และ ป่า ดอย บ้านของเรา ส่วนของผู้ใหญ่ คือ จิตวิญญาณเชียงใหม่

เชียงใหม่อ่านก็ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ โดยอ๋องและเสยนำแนวคิด อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน มาแปลงให้เป็นกิจกรรมประกวดทำหนังสือเล่มเล็ก หัวข้อ ดอยสุเทพไม่ใช่แค่ภูเขา โดยลงพื้นที่ไปเล่าเรื่องราวของดอยสุเทพ สร้างแรงบันดาลใจให้กับครูและนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ กิจกรรมครั้งนั้นมีเด็กเข้าร่วมส่งประกวดมาจำนวนมาก

หนังสือเกี่ยวกับดอยสุเทพทั้งหมดจากโครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน ของ Spark U Lanna ได้รับการตีพิมพ์และนำไปแจกภายในงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติที่ปีนั้นจัดที่จังหวัดเชียงใหม่

“พิมพ์หนังสือมาจำนวนพันเล่ม แจกภายในงานจนเหลือประมาณร้อยเล่ม แจกใครบ้างก็ไม่รู้ ถ้าดูเพียงจำนวนที่หนังสือถูกมอบไปโครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันก็น่าจะประสบความสำเร็จแล้ว…” อ๋องหยุดชั่วครู่ก่อนพูดต่อ “แต่สำหรับเราสองคนมันไม่ใช่ เรารู้สึกว่าอ่านดอยสุเทพไม่น่าจะจบแค่นี้ ด้วยความที่เราสองคนไปปูพื้นฐานเรื่องอ่านดอยสุเทพกับโรงเรียนต่าง ๆ เราก็เริ่มอิน เรารู้สึกว่าแนวคิดอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันเป็นแนวคิดที่ดี มันใช้ให้เกิดพลังได้มากกว่านี้ มากกว่าแค่การแจกหนังสือแล้วก็จบกัน

“หนังสือล้านเล่มที่ไม่มีใครพลิกอ่านเลย มีค่าน้อยกว่าใบปลิวโฆษณาที่คนอ่านซ้ำ ๆ เสียอีก เพราะแบบนี้นิทานดอยสุเทพจึงจบแค่แจกหนังสือไม่ได้ ยังมีอย่างอื่นที่ต้องทำต่อ” อ๋องอธิบายความตั้งใจของเธอและเสย

“พอดีกับที่ปีนั้นคนที่เคยเป็นผู้ประสานงานของเชียงใหม่อ่านกำลังจะออก เขาถามเราว่าสนใจจะเข้ามาทำต่อไหม เพราะเห็นเราทำในนามเครือข่ายมาตั้งแต่ต้น ถ้าเราไม่ทำ เชียงใหม่อ่านก็จบ ไม่มีแล้ว” อ๋องเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

“เรารู้สึกว่าเชียงใหม่อ่านขับเคลื่อนอะไรได้อีกมาก โครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกันยังสร้างประโยชน์ได้อีก ตอนที่เราทำงานอบรมครูเกี่ยวกับความสำคัญของการอ่านนิทานให้เด็กปฐมวัยฟัง เราค้นพบว่านิทานมีพลังอย่างมาก และช่วงของเด็กปฐมวัยก็เป็นช่วงวัยสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม

“เราสองคนทบทวนกันแล้ว ตัดสินใจเข้ามารับทำเชียงใหม่อ่านต่อ” เสยเล่าเหตุผลที่เขาและอ๋องเข้ามาทำเชียงใหม่อ่านเต็มตัว

โครงการแรกที่ทั้งสองเข้ามาทำในฐานะเชียงใหม่อ่าน คือการหางบจัดพิมพ์หนังสือนิทาน 3 เล่ม ของ อ่านดอยสุเทพ อีกครั้ง มีการจัดตั้งกองทุน ฮอมหื้อดอย ขึ้นมาระดมทุนเพื่อจัดพิมพ์หนังสือไปแจกเด็กปฐมวัย

“พอพิมพ์หนังสือเสร็จ เรามานั่งคิดกลไกการแจกหนังสือยังไงให้ถึงเด็กมากที่สุด เราติดต่อไปถามกับจังหวัดว่า ทั้งเชียงใหม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกี่แห่ง เราพบว่ามีทั้งหมด 600 กว่าแห่ง เราจัดการประสานงานกับท้องถิ่นจังหวัดให้ช่วยแจกจ่ายหนังสือนิทาน ส่งไปให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในท้องถิ่นต่าง ๆ เราเชื่อว่านี่คือวิธีการกระจายหนังสือไปสู่มือครู และครูอ่านนิทานให้กับเด็ก ๆ ฟังได้มากที่สุด ทุกอย่างดูจะลงเอยจบด้วยดี แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น

“เราอยากรู้ว่าหนังสือไปถึงมือครู ถึงนักเรียนจริง ๆ ไหม เราอยากรู้ว่าสิ่งที่เราลงแรงไปมันเกิดผลอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าหนังสือหลายเล่มไปไม่ถึงมือครู กลายเป็นว่าพอ อบต. รับมอบหนังสือมา ตามระเบียบราชการมันเลยกลายเป็นทรัพย์สินทางราชการ ถ้าหายขึ้นมาก็วุ่นวายเลยไม่มีใครกล้าใช้ หนังสือถูกวางทิ้งไว้ในตู้ ส่วนหนังสือที่ไปถึงมือครูเราก็ลองติดต่อไปหาสมาคมครูในท้องถิ่นต่าง ๆ เขาก็บอกกับเราตามตรงว่าไม่ได้หยิบมาใช้เลย เพราะมันเป็นเรื่องดอยสุเทพ เล่าให้เด็กฟังยาก ไม่เหมือนเรื่องแปรงฟัน เป็นอะไรที่ใกล้ตัวเด็กกว่า

“เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้แล้วว่า ต่อไปเชียงใหม่อ่านจะต้องทำอย่างไร” อ๋องอธิบายโดยเสยพยักหน้าเห็นด้วย

เชียงใหม่อ่าน โครงการที่ใช้การอ่านเปลี่ยนชีวิตคนและเมือง ด้วยพลังหนังสือนิทาน

บทบาทของครู

         “เราค้นพบว่าไม่ค่อยมีใครสอนครูเล่านิทาน ยิ่งพอเป็นนิทานดอยสุเทพที่เล่ายาก ตัวครูเองก็ไม่อิน เขายิ่งไม่หยิบขึ้นมาแน่นอน ต่อให้เราพิมพ์หนังสือนิทานอะไรออกมาอีกเท่าไหร่ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาตรงนี้ หนังสือที่ออกมาก็จะถูกวางไว้บนชั้น ไม่ถูกนำมาใช้ แล้วหนังสือนั้นจะมีประโยชน์อะไร พ.ศ. 2562 เราตัดสินใจเขียนโครงการขอทุน อ่านดอยสุเทพ อีกรอบ เราขอสู้อีกสักครั้ง คราวนี้เอาใหม่ จะทำยังไงให้ครูเห็นความสำคัญของนิทานกับเด็กช่วงปฐมวัย

         “เนื้อหาสำคัญที่สุดที่เราต้องจัดการ คือเปลี่ยนแปลงทัศนคติของครูปฐมวัยใหม่ว่า เขาไม่ได้เป็นแค่พี่เลี้ยงเด็ก แต่เขาคือคนสร้างอนาคตของเมือง ถ้าครูสอนเด็กแบบไหน เราก็จะมีอนาคตของเมืองแบบนั้น เราทำให้ครูปฐมวัยเห็นคุณค่าในตัวเอง และยังเป็นบทบาทที่สำคัญมาก เพราะจากงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ เขาสรุปออกมาว่า ถ้าเราสอนอะไรให้เด็กในช่วงนี้ มันจะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต

         “เราถามครูว่าอยากให้เด็กรักท้องถิ่นของเขาไหม ถ้าใช่ เราก็ต้องสอนเขาตั้งแต่ตอนนี้ และนิทานดอยสุเทพคือจุดเริ่มต้น” อ๋องพูดด้วยแววตาจริงจัง

         ปีนั้นเชียงใหม่อ่านระดมทุนมาจัดพิมพ์หนังสือ หนูน้อยไปดอยสุเทพ อีกครั้ง คราวนี้พวกเขาได้พัฒนาตัวเล่มให้กลายเป็นป๊อปอัปขึ้นมา เพื่อสร้างจุดสนใจให้กับครูและเด็ก

         “เราทำงานกับครูปฐมวัยมาก่อน ทำให้เรารู้ว่าโดยธรรมชาติของครูเด็กเล็ก เขาไม่ชอบฟังเนื้อหาวิชาการมาก เขาชอบทำอะไรจุกจิก ๆ มีความเคลื่อนไหว หลังจากนั้นเราก็ชวนครูมาวิเคราะห์หนังสือเล่มนี้ด้วยกันว่ามีข้อดีและไม่ดีอย่างไร มีจุดไหนนำมาสอนเด็กได้บ้าง ใช้คลิปวิดีโอสอนวิธีการเล่านิทาน เราไปขอครูที่เซียนเรื่องการเล่านิทานมาถ่ายบันทึกเปิดให้ครูได้เห็นเป็นตัวอย่าง เขามีเทคนิค มีลีลาการเล่าที่ดึงความสนใจของเด็ก ๆ ได้” อ๋องอธิบายหลักสูตรที่พวกเขาออกแบบ

         เมื่อพวกเขาคิดหลักสูตรที่จะทำให้ครูใช้งานนิทานกับเด็กปฐมวัยได้ดีเสร็จ อ๋องและเสยจึงชวนประธานของเครือข่ายครูแต่ละอำเภอเป็นตัวแทนมาฟังหลักสูตร เมื่อเห็นหลักสูตรตัวแทนครูเสนอกับเชียงใหม่อ่านว่า อยากให้พวกเขาไปอบรมให้กับครูทุก ๆ อำเภอ ในความเป็นจริงอ๋องและเสยสามารถจัดอบรมแค่ครั้งเดียว โดยเชิญครูแต่ละอำเภอมาเรียนพร้อมกันในห้องประชุมใหญ่ แต่พวกเขามองเห็นว่าการไปคุยกับครูในแต่ละพื้นที่ด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ดีกว่า

         “เหตุผลหลัก ๆ ที่เราตั้งใจลงพื้นที่ นอกจากเรื่องหลักสูตร เราต้องการสร้างทัศนคติของครูต่อการใช้นิทานใหม่ เนื้อหาสำคัญของการที่เราลงไปพบครูในพื้นที่ ก็เพื่อจะบอกกับเขาว่าครูสำคัญแค่ไหน และมีส่วนช่วยสร้างอนาคตของเมือง พอวางแผนเรียบร้อย เราสองคนก็บ้ากันมาก ตัดสินใจขายรถคันเดิม เปลี่ยนมาใช้คันที่เหมาะสำหรับเดินทางไกลได้เพื่องานนี้” อ๋องพูดเสร็จก็หัวเราะยิ้มแย้มกับเสย

         พวกเขาใช้งบเหลืออยู่ไม่มากหลังจัดพิมพ์หนังสือ ออกแบบการทำงานลงพื้นที่กับครู โดยแบ่งรอบอบรมเป็นช่วงเช้ากับบ่าย เพื่อประหยัดค่าอาหารกลางวัน มีทีมงานคืออ๋องและเสยเป็นวิทยากรด้วยตนเอง พวกเขาเดินทางไปอบรมได้ทั้งหมด 19 รอบ ใน 24 อำเภอ กับครูจำนวนถึง 800 คน

คู่รักนักเขียนใช้พลังของนิทานและการอ่าน ทำให้เด็กเข้าใจเมือง สังคม และวัฒนธรรม จนมีครูเครือข่าย 800 คนทั่วเชียงใหม่
คู่รักนักเขียนใช้พลังของนิทานและการอ่าน ทำให้เด็กเข้าใจเมือง สังคม และวัฒนธรรม จนมีครูเครือข่าย 800 คนทั่วเชียงใหม่

บทพิสูจน์

         ตลอดระยะทางหลายกิโลที่อ๋องและเสยขับรถเข้าไปหาครูในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ของเชียงใหม่ ทำให้ครูมองเห็นคุณค่าในบทบาทของพวกเขา และในที่สุดก็มีบทพิสูจน์ออกมาให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่อ๋องกับเสยพยายามทำนั้นถูกต้อง

         “หลังจากลงพื้นที่ เราจะมีกลุ่มไลน์ไว้สื่อสารกับครู บางวันครูก็ส่งรูปมาให้ดูว่า ทุกวันนี้เขายังคงใช้หนังสือ หนูน้อยไปดอยสุเทพ ที่เป็นป๊อปอัปอยู่เลย บางคนก็บอกว่าขาดแล้ว ขอใหม่ได้ไหม เราก็ส่งไปให้ ทุกรูปที่ครูส่งมาเราดูละเอียดมากเลยนะ เราสนทนากับครูทั้งหมด 800 คน 24 อำเภอ ช่วยกันพัฒนาด้วยกันให้หลักสูตรออกมาดีที่สุด” อ๋องพูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

         ในที่สุดผลจากความพยายามก็แสดงผลออกมา เมื่อวันหนึ่งครูเล่าให้อ๋องและเสยฟังว่า หนังสือป๊อปอัป หนูน้อยไปดอยสุเทพ ทำให้เด็กออทิสติกอ่านหนังสือได้ ครูเอาหนังสือไปอ่านให้เขาฟังทุกวัน เขามานั่งรอฟังทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งเขากลับไปบ้าน ก็ท่องหนังสือเล่มนี้ให้พ่อกับแม่ของเขาฟังได้ พ่อแม่ต้องเดินทางมาหาครูที่โรงเรียนว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจู่ ๆ ลูกของเขาที่ไม่เคยยอมอ่านหนังสือถึงอ่านได้

         “มันพิสูจน์ให้เราเห็นนะ นิทานมีพลังอย่างเหลือเชื่อ” เสยสรุปผลจากความพยายามของพวกเขา

คู่รักนักเขียนใช้พลังของนิทานและการอ่าน ทำให้เด็กเข้าใจเมือง สังคม และวัฒนธรรม จนมีครูเครือข่าย 800 คนทั่วเชียงใหม่

บทเรียนจากครู

         “เราสองคนก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่เคยอ่านหรือได้ยินมาว่า นิทานมีพลัง ซึ่งอธิบายได้โดยทฤษฎี เดิมเราก็มองหนังสือนิทานเหมือนคนทั่วไปที่มีตัวหนังสือไม่กี่ตัว มีไม่กี่หน้า อ่านไม่กี่นาทีก็จบ แต่พอไปทำงานกับครู ครูนั่นแหละที่สอนเรา อย่างนิทาน หนูน้อยไปดอยสุเทพ ครูเปิดหน้าที่มีรถแดง (รถโดยสารของเชียงใหม่) จากเรื่องรถแดงครูขยายไปสอนเรื่องการเดินทางในเชียงใหม่ หนังสือนิทานเล่มเดียวครูสอนได้ทั้งเทอม ครูเป็นคนที่ทำให้เรารู้ว่า นิทานมันมีอะไรมากกว่านั้น ครูเป็นคนที่ทำให้เราเชื่อมั่นในพลังของนิทานจริง ๆ แค่คำว่า กระดึ๊บ ๆ อย่างเดียว เด็กก็สนุกกันได้แล้ว

         “การทำงานของเรา เราจะลงไปฟังคนทำงานด้วยว่าจริง ๆ เขาต้องการอะไร แบบไหนที่จะทำให้เขาทำงานได้ดียิ่งขึ้น” อ๋องอธิบายสิ่งที่เชียงใหม่อ่านได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกันกับครูที่พวกเขานำมาใช้พัฒนาต่อ

“เราได้เรียนรู้อะไรต่าง ๆ จากครูเยอะมาก ตอนทำเชียงใหม่อ่านช่วงแรก ๆ หนังสือเรามีขนาดเล็ก แล้วใหญ่ขึ้นมา  ก็มาจากครูที่นำนิทานของเราไปใช้ เขาแนะนำให้เรารู้ว่ารูปเล่มขนาดนี้มันใช้ไม่ได้สำหรับห้องเรียน มันเล็กไป ห้องเรียนมีสิบคน เด็กก็มองไม่เห็นแล้ว เรื่องสีสันในหนังสือก็สำคัญ แม้แต่การเย็บเล่ม ตอนหลังเชียงใหม่อ่านเลือกใช้การเย็บด้วยเชือกแบบมุงหลังคาแทนแม็ก เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ทำให้หนังสือมีอายุการใช้งานทนทาน และกางหน้าหนังสือได้เต็มที่”

คู่รักนักเขียนใช้พลังของนิทานและการอ่าน ทำให้เด็กเข้าใจเมือง สังคม และวัฒนธรรม จนมีครูเครือข่าย 800 คนทั่วเชียงใหม่
คู่รักนักเขียนใช้พลังของนิทานและการอ่าน ทำให้เด็กเข้าใจเมือง สังคม และวัฒนธรรม จนมีครูเครือข่าย 800 คนทั่วเชียงใหม่

บทบาทของนิทานและคนอ่าน

         “พ.ศ. 2562 เราลงพื้นที่ไปอบรมครูตามอำเภอต่าง ๆ จนมีเครือข่ายครูที่ทำงานด้วยทั่วจังหวัด แต่เราทำกับรอบนอกหมดเลย แล้วเด็กในเมืองล่ะ เราเลยคิดจะจัดงานในเมืองขึ้นชื่อ ‘มหกรรมนิทานสร้างเมือง’ เราจะใช้พลังของหนังสือสร้างเมืองที่น่าอยู่

         “ไอเดียจัดงานนี้มาจากการที่เราสองคนไปร่วมงานวิสัยทัศน์ของเมืองมาหลายงาน เรามักเห็นคนพูดว่าเชียงใหม่จะมีวิสัยทัศน์อย่างนี้นะ อยากเห็นเมืองเป็นแบบ แต่สุดท้ายก็อยู่แต่ในกระดาษ ภาคปฏิบัติไม่เคยมีการสนับสนุน สมมติเราอยากได้เมืองเกษตรอินทรีย์ ถามว่าเด็กได้เรียนเรื่องเกษตรอินทรีย์ไหม เราไม่ได้เตรียมประชาชนสำหรับไปสู่วิสัยทัศน์นั้นเลย ถ้าเราสอนเรื่องนี้ให้เด็ก ๆ ให้เขารู้ว่าการรักเมืองคืออะไร ต้องรักแบบไหน ต้องทำอะไรให้เมืองบ้าง สอนตั้งแต่เขาอายุไม่เกิน 6 ขวบ อีก 20 ปีข้างหน้าเราก็จะได้คนที่รักเมืองอย่างที่เราอยากเห็น

         “ในงานมหกรรมนิทานสร้างเมือง เราเอาหนังสืออีกเล่มจากอ่านดอยสุเทพ ‘ป่าดอยบ้านของเรา’ ที่มีเนื้อหายากในการสอนเด็กเล็กมาเป็นพระเอกของงาน เราเอาหนังสือเล่มนี้มาขยายให้กลายเป็นฐานกิจกรรมต่าง ๆ จำนวน 10 ฐาน จากเนื้อหาภายในหนังสือเล่มเดียว” อ๋องอธิบายการออกแบบงานของพวกเขา

คล้ายกับการเปลี่ยนหนังสือ หนูน้อยไปดอยสุเทพ ที่เปลี่ยนให้เป็นหนังสือป๊อปอัป พิ่มความน่าสนใจกับเด็กและครู คราวนี้พวกเขาก็ใช้วิธีป๊อปอัปเช่นกัน แต่เป็นการนำเนื้อหาจากภายในหนังสือ ป่าดอยบ้านของเรา ให้ออกมาเป็นฐานจริง ๆ ภายในงานมหกรรมนิทานสร้างเมือง ทำให้เด็กเข้าถึงเนื้อหาภายในเล่มได้ง่ายและเป็นรูปธรรม

         “เราตีความคำว่าเมืองว่าหมายถึงอะไร คือสิ่งแวดล้อมกับวัฒนธรรม ในหนังสือเล่มนี้มีอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมบ้าง เราดึงออกมาตั้งเป็นฐานให้หมด หลังจากนั้นก็ชวนภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นในแต่ละฐานมาออกแบบเนื้อหาในฐานของพวกเขา เช่น ของศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพฯ เขาทำเรื่องสัตว์บนดอย เราก็ชวนเขามาทำเรื่องสัตว์บนดอย เพราะในหนังสือเล่มนั้นมีเนื้อหานี้อยู่ แล้วให้เขามาตั้งฐาน มีเรื่องราวของสัตว์เฉพาะถิ่นบนดอยสุเทพ ส่วนเรื่องของพันธุ์นก เราก็ไปชวนชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนามาร่วม มีเรื่องคลองแม่ข่าในเมือง ที่ในฐานมีโมเดลคลองแม่ข่ามาให้เด็กได้เห็นว่าน้ำมาจากไหน มีเรื่องใบไม้บนดอยก็เอาโรงเรียนที่สอนเด็กตำใบไม้มาทำเป็นสีระบาย

         “เราดึงเนื้อหาในหนังสือออกมาเป็นฐานให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับเนื้อหาในเล่มจริง ๆ เพราะเชียงใหม่อ่านไม่ได้ต้องการสร้างหนอนหนังสือ อยู่แต่กับหนังสือ เราต้องการให้เห็นว่าการอ่านนำไปสู่การเป็นคนคิดเป็น อยู่กับตัวเองได้ หาความรู้เองได้ มีกระบวนการลำดับถามคิดตอบในสมอง ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปอ่านหนังสือดังตามกระแสหรือวรรณกรรมระดับโลก ขอแค่คุณใช้หนังสือตอบขั้นตอนการเข้าใจชีวิตของคุณได้ จะอ่านจากในอินเทอร์เน็ตก็ได้ นอกจากตัวเองการอ่านจะทำให้เราเห็นชีวิต หลายชีวิตที่อยู่โดยรอบ ช่วยให้เราคิดถึงผู้อื่น เห็นสังคม เห็นบ้านเมืองที่เขาอยู่ และนำความรู้ที่เขาได้จากการอ่านไปใช้พัฒนาชีวิตและสังคมของเขา” อ๋องอธิบายนิยามของนักอ่านที่เชียงใหม่อ่านฝันถึง

         งานมหกรรมนิทานสร้างเมือง เป็นอีกงานที่ได้รับการตอบรับที่ดี มีเด็ก ๆ พ่อแม่และผู้คนจำนวนมากมาเข้าร่วมงาน และบอกต่อกันในโซเชียลเน็ตเวิร์กออกไปจำนวนมาก ใน พ.ศ. 2563 เชียงใหม่อ่านยังได้จัดทำหนังสือนิทาน มาช่วยเพื่อนเรากันนะ ขึ้นอีกเล่ม เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของเด็กต่อปัญหาขยะ ที่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนสิ่งมีชีวิตร่วมโลกของพวกเขา

คู่รักนักเขียนใช้พลังของนิทานและการอ่าน ทำให้เด็กเข้าใจเมือง สังคม และวัฒนธรรม จนมีครูเครือข่าย 800 คนทั่วเชียงใหม่

         “เราค้นพบว่านิทานเกี่ยวกับขยะที่ผ่านมามักจะสอนเด็กว่าต้องทิ้งขยะให้ลงถัง ทิ้งลงให้ถูกถัง ก็จบแล้วสำหรับเรื่องขยะกับเด็ก แต่เราไม่เชื่อเช่นนั้น เราเลยตัดสินใจทำนิทานที่จะช่วยปลูกจิตสำนึกเรื่องการจัดการขยะสำหรับเด็กขึ้นมา ถ้าเปิดหนังสือ มาช่วยเพื่อนเรากันนะ จะพบว่าเราไม่ได้นำเสนอวิธีจัดการขยะใด ๆ ลงในเนื้อหาของเล่มเลย แต่เราใช้วิธีไปสร้าง Mindset เขย่าเด็กให้รู้สึกอ่อนไหว ผ่านเรื่องราวของสัตว์ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่จัดการขยะ เราทำให้เด็กสงสัยว่าสัตว์ต่าง ๆ ในเรื่องรู้สึกเศร้าเพราะอะไร มีอะไรเป็นสาเหตุ เราเชื่อว่าถ้าเขารู้สึกว่าตัวเขาเองมีผลกับเรื่องที่เกิดขึ้นในเล่ม เขาจะค่อย ๆ เริ่มตั้งคำถามขึ้นมา และเริ่มหาวิธีจัดการปัญหานี้ของเขาเอง โดยมีครูหรือผู้ปกครองคอยชี้แนะ

         “เราได้ลองแจกหนังสือเล่มนี้ให้กับโรงเรียนในเมือง ด้วยความเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการจัดการขยะที่สุดทดลองนำนิทานไปใช้กับเด็กดู ผลที่ได้จากการอ่านนิทานของครูที่เล่าเก่ง ๆ เขาเล่าให้เด็กน้ำตาคลอได้ และหลังจากนั้นโรงเรียนที่ว่าก็รู้โดยทันทีเลยว่า เขาจะสอนเรื่องการจัดการขยะกับเด็กได้ เพราะเด็กรู้สึกอินกับประเด็นนี้แล้ว” อ๋องเล่าที่มาและผลของนิทานอีกเล่มจากเชียงใหม่อ่าน

         ปีถัดมาเชียงใหม่อ่านก็ทำโครงการเชื่อมโยงกับเมืองอีกครั้ง คราวนี้พวกเขาตั้งชื่อว่า นิทานสร้างเมืองอยู่ดีกินดี

         “คำว่าเมืองอยู่ดีกินดี จริง ๆ ก็คือวิสัยทัศน์เมือง เมืองที่คนอยากจะอยู่ก็คือเมืองที่อยู่ดีกินดี เราใช้คำนี้มาเป็นจุดร่วมในการดึงภาคประชาสังคมที่ทำงานพัฒนาเมืองด้านต่าง ๆ มาร่วมมือและหารือกัน ช่วงเช้าในหัวข้อเมืองอยู่ดี ช่วงบ่ายในหัวข้อเมืองกินดี ซึ่งในปีที่เราจัดโครงการสถานการณ์โรคระบาดโควิดทำให้สังคมเกิดความห่วงใยต่อประเด็นความมั่นคงทางอาหาร เราจึงทำนิทานในหัวข้อกินดีเป็นอันดับแรกชื่อ น้องหล้าหาผักแกงแค

         น้องหล้าหาผักแกงแค นำเสนอเรื่องราวของภูมิปัญญาก้นครัวและพืชผักสวนครัวท้องถิ่นของเชียงใหม่ ให้เด็กเรียนรู้การใช้ประโยชน์พื้นที่โดยรอบบ้านให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร รู้จักชื่อของพืชพื้นถิ่นต่าง ๆ จนถึงการแยกแยะพืชที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น การแยกเพศของใบตำลึงที่ตัวผู้จะมีลักษณะหยัก ๆ กินแล้วท้องเสีย หรือแม้แต่เห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติ บางชนิดมีพิษต้องระวัง นอกจากเรื่องอาหาร ทางเชียงใหม่อ่านยังนำตัวละครเด็กชายเข้ามาช่วยแม่ในครัว เพื่อลดทอนค่านิยมเก่าทางสังคมเกี่ยวกับบทบาททางเพศว่า เด็กผู้หญิงต้องอยู่ช่วยแม่ในครัว ทั้งที่จะเป็นเพศไหนก็ได้

คู่รักนักเขียนใช้พลังของนิทานและการอ่าน ทำให้เด็กเข้าใจเมือง สังคม และวัฒนธรรม จนมีครูเครือข่าย 800 คนทั่วเชียงใหม่

บทขยาย

         จะเห็นได้ว่าตลอด 8 ปี เชียงใหม่อ่านค่อย ๆ เติบโตโดยเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่ผ่านมา และเรียนรู้ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ร่วมกับเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน ทำให้เครือข่ายที่ทำงานกับเชียงใหม่อ่านเองก็ได้เติบโตไปด้วยกัน

         “ปีแรก ๆ ที่เราทำงานกับครูในแต่ละอำเภอ เราได้แกนนำจากครูพื้นที่ต่าง ๆ และสมาคมครูคอยช่วยเป็นคนประสานงานให้ พอทำเสร็จเราจะคุยกับครูเสมอว่าเขาอยากทำอะไรต่อ พอทุกคนได้เห็นผลที่เกิดขึ้นจากการใช้นิทาน ครูทุกคนจึงมักบอกกับเราว่า เขาอยากเติบโตขึ้น อยากเป็นวิทยากรสอนครูคนอื่น ๆ เราก็เลยอบรมเอานิทานเรื่อง ป่าดอยบ้านของเรา เอามาให้กลุ่มครูที่สนใจ คิดว่าถ้าเขาจะต้องไปอบรมครูในพื้นที่ของเขาเอง เขาจะสร้างสื่อแบบไหน ออกแบบหลักสูตรของเขาเองขึ้นมา ดันเขาขึ้นมาแทนเรา เราชวนแกนนำและคนที่มาคู่กับเขา เท่ากับเรามี 50 แกนนำใน 25 อำเภอ ที่จะกลับไปอบรมต่อกับครูในพื้นที่ของพวกเขา โดยที่เราไม่ต้องลงพื้นที่เองแล้ว

         “เราเชื่อว่าทุกการทำงานต้องมีการเติบโตทั้งลงลึกและกว้าง ถ้าเราใช้เขาเป็นแค่คนประสานงาน เขาจะเป็นแค่คนประสานงานตลอดชีวิต จะไม่เติบโตเลย แต่สิ่งที่เราหวังคือ ทุกหน่วยต้องแข็งแรงพอที่จะไปใช้งบของท้องถิ่นได้ นั่นแปลว่าผู้บริหารท้องถิ่นมองเห็นว่าการอ่านสร้างอะไรกับท้องถิ่นได้จริง ๆ ถึงจะสนับสนุน และเกิดขึ้นโดยคนในท้องถิ่นเองเป็นคนเรียกร้อง นี่คือสิ่งที่เรามองระยะยาว” อ๋องเล่าความฝันที่มีต่อไปกับเครือข่ายครูที่ทำงานร่วมกับเชียงใหม่อ่าน

บทต่อไปของเชียงใหม่อ่าน

จากความสำเร็จของโครงการอ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน ทำให้เชียงใหม่อ่านถูกองค์กรระดับประเทศเข้ามาชวนให้พวกเขานำความรู้และกิจกรรมที่ทำในจังหวัดเชียงใหม่ลองนำไปใช้กับจังหวัดอื่น ๆ จนเกิดเป็นโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านขึ้นในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี และต่อไปอีกมาก

เชียงใหม่อ่านได้รับเลือกให้เป็นโครงการตัวอย่างที่ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในงานประชุม The Asian Festival  of Children’s Content (AFCC) 2021 ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือระดับภูมิภาคอาเซียน ทำให้เชียงใหม่อ่านได้มีโอกาสทำหนังสือร่วมกับนักเขียนชาวสิงคโปร์ เกี่ยวกับปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน บอกเล่าเรื่องราวความร่วมมือกันระดับนานาชาติเพื่อช่วยเหลือชีวิตเด็ก ๆ ตีพิมพ์เร็ว ๆ นี้

อีกโครงการที่เชียงใหม่อ่านกำลังทำอยู่ตอนนี้ คือการทำหนังสือนิทานเพื่อช่วยแก้ปัญหาการอ่านหนังสือไม่ได้ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder)

“วันหนึ่งมีคนจากมูลนิธิช่วยเหลือเด็กพิเศษติดต่อเชียงใหม่อ่านมา เขาอยากหาหนังสือนิทานไปใช้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางการอ่านหรือเด็กแอลดี เขาควรใช้เล่มไหนดี มันเป็นโจทย์ที่ยาก เราไม่อยากให้มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะช้ากว่าคนอื่น เด็กควรได้โอกาสเท่ากันทุกคน เด็กเหล่านี้ต่างก็มีความฝัน และเราไม่ชอบทิ้งความฝันของใคร เราจึงเริ่มพยายามค้นคว้าหาหนังสือสำหรับเด็กแอลดี ปรากฏว่าไม่มีหนังสือนิทานสำหรับเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ของไทยเลย” อ๋องพูดด้วยน้ำเสียงเหนื่อยใจ

“แต่ยังโชคดีที่มีชุดหนังสือ อ่าน อาน อ๊าน เป็นนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาให้เด็กที่อ่านหนังสือได้ช้ากว่าเพื่อน เป็นหนังสือเล่มบาง ๆ สำหรับเด็กทั่วไป เราติดต่อขอนำชุดหนังสือนี้มาใช้กับเด็กในเชียงใหม่ เราเลือกโรงเรียนที่มีค่ามาตรฐานการอ่านของเด็กต่ำที่สุดในประเทศ ปรากฏว่าได้ผล เด็กอ่านได้ เราจึงชวนครูที่รับผิดชอบการสอนหนังสือชุด อ่าน อาน อ๊าน มาประชุมร่วมกับนักวิชาการ เพื่อถอดองค์ความรู้ว่ามีอะไรบ้างที่จะส่งผลให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการอ่านให้อ่านหนังสือได้ เราจะลองนำไปใช้กับเด็กแอลดี”

พวกเขาองค์ความรู้จากการประชุมครั้งนั้นถอดออกมาใช้ตั้งเป็นกติกาในโครงการ ‘นิทานดีดีเพื่อน้องแอลดี’ โครงการประกวดหนังสือนิทานสำหรับแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกของเด็กแอลดี

“เราเลือกจัดเป็นงานประกวด เพราะเราอยากให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของโรคนี้ เด็กอ่านไม่ออกไม่ใช่เพราะเขาไม่ฉลาด แต่เป็นเพราะความบกพร่องในสมองของเขา มีคนส่งหนังสือเข้ามาประกวด 50 เล่มจากทั่วประเทศ ดีมาก ๆ ทุกเล่มเลย แต่มีอยู่หนึ่งเล่มที่เรามองว่าตรงกับเงื่อนไขสำหรับการเรียนรู้ของเด็กแอลดีที่สุด นั่นคือนิทาน ยากจังตอบไม่ได้

“หากเป็นคนทั่วไปมาเปิดหนังสือเล่มนี้อ่าน ผิวเผินก็ดูเหมือนหนังสือสำหรับเด็กทั่วไป แต่จริง ๆ ทุกรายละเอียดของหนังสือเล่มนี้มีการออกแบบมาอย่างดีให้เหมาะสำหรับเด็กแอลดี เราต้องเข้าใจก่อนว่าที่เด็กแอลดีอ่านหนังสือไม่ได้เพราะสมองเขาแยกบางคำไม่ออก เช่น ด ต ค ก ถ ม น ดังนั้นในหนังสือเล่มนี้จึงให้ตัวอักษรที่แยกยากมีสีของตัวเอง ขนาดของตัวอักษรใหญ่ มีการเว้นช่องระหว่างตัวอักษร ใช้คำซ้ำเยอะ ๆ อีกลักษณะหนึ่งของเด็กแอลดีก็คือ เขามีสมาธิสั้น ถูกรบกวนง่าย แต่ละหน้าจึงต้องไม่มีอะไรรก หนังสือไม่ควรมีเกิน 3 บรรทัด สีต้องไม่ฉูดฉาดไปกระตุ้นเด็ก หรือมีภาพอะไรไปรบกวนสายตา

“นอกจากเรื่องตัวอักษร ตัวละครที่เลือกมาใช้ในหนังสือก็มีเหตุผล ลักษณะของตัวตุ่นขี้กลัวในหนังสือคือตัวแทนของเด็กแอลดี และเต่าคือตัวแทนของครูใจเย็นที่เข้าใจ และค่อย ๆ สอนตุ่นจดจำทีละตัวอักษร ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ไม่กดดัน” อ๋องอธิบายเหตุผลเบื้องหลังการออกแบบต่าง ๆ ภายในเล่ม ยากจังตอบไม่ได้

ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้กระจายไปยังโรงเรียนต่าง ๆ แล้ว โดยมีเชียงใหม่อ่านคอยช่วยเหลือครูในการใช้หนังสือนิทานเล่มนี้กับเด็กแอลดีให้เกิดผลที่สุด ท้ายที่สุดผลลัพธ์ของหนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนชีวิตของเด็กได้หรือไม่ นั่นคือบทถัดไปของเชียงใหม่อ่านที่พวกเขาตั้งใจทำให้ดีที่สุด

เชียงใหม่อ่าน โครงการที่ใช้การอ่านเปลี่ยนชีวิตคนและเมือง ด้วยพลังหนังสือนิทาน

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ