เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแแปลงของโลกชัดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อไม่กี่ปีมานี้

สภาพอากาศที่ฝนตกในฤดูหนาว หรือฤดูหนาวมาช้าและอยู่ไม่นาน ยังไม่หายคิดถึง

แบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกทุ่มสื่อสารเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง

ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำประกาศยกเลิกนโยบายแจกถุงพลาสติก หันมาขายถุงผ้า

มีกิจกรรมสาธารณะเกี่ยวกับความกรีนจากทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย

คนใกล้ตัวเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เราต่างหาทางช่วยโลกในแบบที่ตัวเองทำได้ แม้แต่บริษัทใหญ่อย่าง ปตท. ก็ลงสนามเข้ามาช่วยอีกแรง 

ทั้งหมดเกิดจากวิสัยทัศน์ล่าสุดที่ตั้งใจพาบริษัทให้เป็น Powering life with future energy and beyond การเลือกทำโปรเจกต์ภายในจึงเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่ อย่าง ReAcc ที่เรานำมาเล่าให้ฟังวันนี้ ก็คือผลพวงจากโครงการ AI and Robotic ที่ประสบความสำเร็จจนสามารถทำเป็นอีกธุรกิจบริหารแบบเอกชน

ถ้าต้องเล่าว่า ReAcc คืออะไรเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ กัส-ณัฐชาต เจิดนภาพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท รี แอค จำกัด (ReAcc) เอ่ยตรง ๆ ว่า มานั่งคุยกันคงอธิบายได้ง่ายที่สุด

ReAcc แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเครดิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนธุรกิจที่มีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน

ถ้าบอกเล่าต่อตามคำของเขา ReAcc คือผู้หาโซลูชั่นด้านพลังงานสีเขียว โดยมีบริการบุกเบิกเป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขายใบรับรองการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificates : REC ซึ่งเอื้อประโยชน์ทั้งกับภาคธุรกิจและผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน

เรานั่งคุยกับเขาในสวนของร้านกาแฟใจกลางกรุง ลมอุณหภูมิ 24 องศาเซลเซียสในเดือนธันวาคมปะทะหน้า สภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้อีกต่อไป เพราะเมื่อสัปดาห์ก่อนฝนเพิ่งตก

01

ในยุคที่เทรนด์เรื่องความยั่งยืนกลายเป็นเรื่องใหญ่ คำว่า Carbon Neutrality และ Net Zero ปรากฏอยู่ในแผนธุรกิจและกลยุทธ์ของบริษัทใหญ่ ๆ ReAcc เกิดขึ้นเมื่อราว ๆ 3 ปีก่อน จากโปรเจกต์เล็ก ๆ ของ ปตท. พร้อมทุน 29 ล้านบาท ทดลองทำดูถ้าไม่สำเร็จก็ยกเลิก สู่การดำเนินงานภายใต้ชื่อ บริษัท เมฆาวี จำกัด และทุนจดทะเบียน 302 ล้านบาท

“เราทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Energy Management, Carbon Footprint และ REC ซึ่งต่อยอดเป็น Carbon Neutrality ได้” ไม่ใช่ครั้งแรกที่กัสพูดเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน

เขาอธิบายต่อว่านี่คือโอกาสใหม่ของธุรกิจ ปกติเวลาคนต้องการทำเรื่องนี้ จะนึกถึงการติดโซลาร์เซลล์เป็นอย่างแรก ๆ แต่โซลาร์เซลล์ก็มีข้อจำกัด

หนึ่ง ผลิตไฟฟ้าได้ไม่แน่นอน บางวันอาจผลิตได้น้อยกว่าที่ใช้

สอง ใช้ได้แค่ตอนกลางวันถ้าไม่มีแบตเตอรี่ ซึ่งมีราคาสูงพอ ๆ กับการติดตั้ง 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนเริ่มพูดถึง Carbon Credit มากขึ้น ยิ่งเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่ต้องรายงานความยั่งยืน ส่วนต่างที่เกิดขึ้นที่เขาหามาทดแทนไม่ได้ก็ต้องซื้อเครดิต”

ReAcc แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเครดิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนธุรกิจที่มีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน

02

กลไกของ Renewable Energy Certificates : REC ก็คล้าย ๆ กัน แต่เป็นเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า

1 REC เท่ากับไฟฟ้า 1 MWh

ใครที่ต้องการให้บริษัทเป็น Carbon Neutrality อย่างแท้จริง แต่ไม่สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ครบถ้วน ก็ซื้อ REC ในส่วนที่เหลือเพื่อให้ยอดสุดท้ายหักลบกลบกันแล้วเป็นศูนย์

ฝั่งคนซื้อเครดิตได้ประโยชน์ ยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่ต้องรายงานความยั่งยืนหรือเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ที่ต้องการความกรีนในทุกกระบวนการ ก็นำไปยืนยันได้ว่าธุรกิจนี้ดำเนินงานโดยการใช้พลังงานหมุนเวียนจริง ๆ

ส่วนฝ่ายขาย แทนที่จะขายแค่ไฟจากพลังงานหมุนเวียน เขาก็ขายเครดิตได้ด้วย 

“เนื่องจากค่าไฟบ้านเราไม่ได้สูงมากเหมือนต่างประเทศ สมมติค่าไฟหน่วยหนึ่งราคา 4 บาท คุณติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านอาจจะใช้เวลา 8-10 ปีในการคืนทุน แต่ถ้าขาย REC ด้วย จะมีโอกาสทำให้เวลาคุ้มทุนสั้นลงกว่านั้น

“เราคาดหวังว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดโรงงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในประเทศมากขึ้น ทุกวันนี้โรงงานโซลาร์เซลล์ต้องแข่งกับโรงงานไฟฟ้าถ่ายหิน ซึ่งมีมานานมากแล้ว คืนทุนได้เร็วกว่าแน่นอน ถ้าโซลาร์เซลล์ไม่มีแต้มต่อ โอกาสที่ความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility) จะชนะถ่านหินน้อยมาก

“ปตท. อยากให้มี Renewable Energy ในกริดไฟฟ้ามากขึ้น ReAcc ก็เลยเกิดขึ้นมา”

คนผลิตในวันนี้จึงมีรายได้ 2 ทาง ทางแรกคือการขายไฟฟ้าเข้าไปในกริด ซึ่งมีโควต้ารับซื้อในกรณีที่ผลิตเองแล้วใช้ไม่หมด ทางที่สอง คือ นำเครดิตไปขึ้นทะเบียนเป็น REC แล้วนำเครดิตไปขายให้คนหรือองค์กรที่ต้องการได้

03

ก่อนจะมาเป็น Managing Director ของ ReAcc กัสเป็นวิศวกรมาก่อน

ตอนเป็นวิศวกรทำงานต้องเป็นหลักการ เป็นเหตุเป็นผล ไม่ว่าจะทำอะไรต้องไล่ตามขั้นตอน หนึ่ง สอง สาม สี่ มีบทบาทเป็นผู้ซื้อ มาตอนนี้วิธีการทำงานเปลี่ยนจากหน้าเป็นหลังมือ ย้ายจากคนซื้อมาเป็นคนขาย ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับลูกค้า ต้องหาทางแก้ปัญหาให้เขา ยืดหยุ่นมากขึ้น

“ถ้าคุณเป็นบริษัทที่ต้องการความกรีน เข้ามาหาเรา เราจะมีโซลูชันให้” เขาลองขายงานจริงกับเราเป็นตัวอย่าง

“ทุกบริษัทใหญ่พูดเรื่อง Net Zero กับ Carbon Neutrality อยู่แล้ว การที่บริษัทหนึ่งจะชดเชยการใช้พลังงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อาหาร การใช้ไฟฟ้า หรือทำให้ทุกกระบวนการใน Supply Chian ไม่มีการปล่อยของเสียเลย เป็นศูนย์ ในวันนี้ยังเป็นไปได้ยากมาก ส่วนต่างก็ต้องอาศัยเครดิตหรือ REC เพื่อนำไปบอกต่อได้ว่าเราใช้ Renewable Energy”

กระบวนการขึ้นทะเบียนพลังงานหมุนเวียนเพื่อทำการซื้อ-ขายต่อนั้นยุ่งยาก ReAcc จึงมองตัวเองเป็น One-stop Service เรื่อง REC บริการจัดการให้ทุกอย่าง เพราะต้องการให้เกิดตลาดขึ้นมาจริง ๆ 

“ทุกคนอยากทำ อยากเป็น แต่มันไม่มีโซลูชัน เราเชื่อว่าแต่ละบริษัทมีองค์ประกอบ มีองคาพยพไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถเอาโซลูชั่นหนึ่งไป Fits all ได้ เราต้องเข้าไปพูดคุยกับเขา”

04

เขาเล่าต่อว่า ปตท. ตั้งเป้าว่าจะเป็น Carbon Neutrality ในปี 2040 และเป็น Net Zero ในปี 2050 ส่วนประเทศไทยวางแผนว่าในปี 2050 จะเป็น Carbon Neutrality และก้าวสู่ Net Zero ในปี 2065

Carbon Neutrality คือ ​การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณที่ดูดซับกลับคืนผ่านวิธีการต่าง ๆ

Net Zero คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 

ฟังดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากมาก แม้ในระดับระยะเวลากว่า 20 ปี แต่พอกัสอธิบายก็ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ เพราะนั่นก็คือสิ่งที่ ReAcc กำลังผลักดัน

ReAcc แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเครดิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนธุรกิจที่มีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน

“จะทำแบบนั้นได้ต้องให้กริดของไฟฟ้าส่วนกลางเป็น Renewable Energy ทั้งหมด ทุกวันนี้ในกริดมีพลังงานหมุนเวียนอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นสัดส่วนไม่มากที่เราสามารถพูดได้ว่าใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ 

“REC เป็นกลไกทำให้ตัวเลขนั้นเพิ่มขึ้น เพราะพอผู้ผลิตสามารถขายพลังงานพร้อมขายเครดิตได้ จุดคุ้มทุนของการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนก็มีเร็วขึ้น คนก็จะหันมาผลิตมากขึ้น”

05

ยอดขาย ReAcc โตขึ้น 10,000% หรือ 100 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่าง ๆ เริ่มหันมาเอาใจใส่เรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่างงานทายาทรุ่นสอง : ESG ที่ The Cloud จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็ใช้พลังงานหมุนเวียนในการจัดกิจกรรมทั้งหมด โดยซื้อเครดิต REC เช่นกัน

ReAcc จากโปรเจกต์ทดลองในองค์กรสู่แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเครดิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่มีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน

“แต่ก่อนคนมองว่าจะทำเรื่องความยั่งยืนคือภาคสมัครใจ ตอนนี้เป็นความสมัครใจกึ่งบังคับ ยังไม่ได้บังคับด้วยกฎหมาย แต่บังคับด้วยโลกใบนี้”

Climate Change กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับชีวิตประจำวันขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM 2.5 ภาวะน้ำท่วม อากาศไม่ตรงฤดู ภาคธุรกิจก็ได้รับผลกระทบ อาทิ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่ไม่สามารถคาดเดาสภาพอากาศเพื่อผลิตคอลเลกชันได้

หรืออย่างแบรนด์ใหญ่ ๆ ระดับนานาชาติที่มีข้อบังคับทางกฎหมายต้องปฏิบัติเรื่องความยั่งยืน ก็ต้องดูแลทุกกระบวนการทั้ง Supply Chain ต่อเนื่องมาถึงส่วนที่อยู่ในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการบริการหรือโรงงานรับผลิตส่วนประกอบ 

“สมมติโรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือสั่งชิพจากบ้านเรา โรงงานนี้ต้องการความกรีนทุกขั้นตอน เขาก็ต้องมาดูว่าซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิพกรีนไหม ใช้วัสดุยังไง ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไหม ถ้าไม่ก็เลิกใช้เจ้านี้ หรือถ้ายกตัวอย่างใกล้ตัวไปอีก สมมติวันนี้คุณช่างภาพต้องไปถ่ายรูปงานอีเวนต์ แล้วเป็นงานอีเวนต์เกี่ยวกับความยั่งยืนที่เข้มงวดมาก ๆ เขาอาจต้องการให้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากงานนี้กรีน รูปที่ถ่าย กล้องที่ใช้ ก็ต้องชาร์จแบตจากพลังงานกรีน ก็ซื้อ REC เพื่อชดเชยตรงนั้นได้

ReAcc จากโปรเจกต์ทดลองในองค์กรสู่แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเครดิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่มีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน

“ถ้าถามว่าสเกลเล็กระดับบุคคลทำได้ไหม ทำได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะยังไม่คุ้มค่า เราเลยพยายามฝังความกรีนนี้ลงในสินค้า ในกระเป๋า เสื้อผ้า ของใช้ ที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน”

กัสยกตัวอย่างให้ฟังถึงสตรอว์เบอร์รี่ Harumiki ที่ล่าสุดได้ติดสติกเกอร์ว่าปลูกโดยพลังหมุนเวียนแล้ว เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคให้เขารู้ว่าเรื่องนี้ใกล้ตัวกว่าที่คิด 

“เป็นสตรอว์เบอร์รี่สีแดงที่ใช้พลังงานสีเขียวปลูก” กัสว่าอย่างนั้น

06

อนาคตจะมีคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

ระดับบุคคลเวลาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ก็จะเอาใจใส่เรื่องนี้และยกให้เป็นเหตุผลในการใช้จ่าย

เมื่อโลกเปลี่ยน เราจะปรับ

กัสเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย และยังเป็นเรื่องใหม่ คำว่า Carbon Credit ยังไกลตัว ไม่ต้องพูดถึง REC ที่แทบจะไม่มีคนรู้จัก 

ReAcc จากโปรเจกต์ทดลองในองค์กรสู่แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเครดิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่มีเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน

แต่ด้วยตัวเลขยอดขายที่ขึ้นกว่า 100 เท่าน่าจะการันตีว่า ReAcc เดินมาถูกทาง คนซื้อให้ความสนใจมากขึ้นทำให้มีลูกค้าใหญ่ ๆ อย่าง Harumiki ที่ทำเรื่องสตอเบอรี่จากพลังงานสีเขียว การชาร์จรถไฟฟ้าด้วย Renewable energy ของ On-ion การให้เช่ารถไฟฟ้าแบบ Green fleet ของ Evme หรือแม้กระทั่ง Siam Piwat ที่มีการใช้ใบรับรองพลังงานสะอาดชดเชยการใช้พลังงานของส่วนในตึกออฟฟิส Siam Discovery ขณะเดียวกันฝั่งผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนอย่างฟาร์มโซลาร์เซลล์ก็มีทางเลือกในการหารายได้มากขึ้น โอกาสมากขึ้น ทำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เขาเชื่อว่าเรื่องนี้จะเข้มข้นขึ้นไปอีกในขวบปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป และ REC น่าจะเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ 

“ง่ายสุดคือเรามานั่งคุยกัน ค่อย ๆ ไล่ทีละเปราะ จะค่อย ๆ เห็นภาพขึ้นเรื่อย ๆ” นี่คือสิ่งที่ MD คนนี้ฝากไว้ให้ลูกค้าที่สนใจ

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ