วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ลิโด ฉายรอบปฐมทัศน์เรื่อง ศึกเซบาสเตียน (Guns for San Sebastian) และเริ่มสร้างความทรงจำในใจผู้คนแต่ละยุคสมัย

ปี 2536 ลิโดจำเป็นต้องปรับปรุงอาคารขนานใหญ่เนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยเปลี่ยนจากโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่จุ 1,000 ที่นั่ง มาเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก 3 โรงอย่างที่ใครหลายคนคุ้นเคย

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ด้วยเหตุผลทางธุรกิจทำให้ลิโดจำเป็นต้องยุติการให้บริการ และในวันสุดท้ายมีการจัดกิจกรรม ‘Farewell to Our Theater’ เพื่ออำลาโรงภาพยนตร์ที่ยืนหยัดมากว่า 50 ปี โดยจัดฉายภาพยนตร์ 2 เรื่อง ได้แก่ Kids on the Slope และ Tonight, at Romance Theater

ตั๋วที่ถูกขายจนเกลี้ยงยันแถวหน้าและแววตาที่สื่อสารกันระหว่างผู้ชมกับสุภาพบุรุษสูทเหลืองที่ยืนรอต้อนรับหลังหนังรอบปัจฉิมทัศน์จบลง บ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงความผูกพันที่ทุกคนมีต่อโรงภาพยนตร์แห่งนี้

อาจกล่าวได้ว่าลิโดเป็นมากกว่าตัวอาคาร หากแต่มันคล้ายเป็นสถาบันที่มีคนหลายรุ่นมาใช้ชีวิตและเติบโต

หลายคำถามจึงเกิดขึ้นหลังจากลิโดปิดตัวว่า สิ่งที่จะมาแทนที่ลิโดคืออะไร ในพื้นที่ทำเลทองฝังเพชรตรงนั้นจะกลายเป็นอะไร จะทุบทิ้งแล้วสร้างเป็นห้างสรรพสินค้าหรือเปล่า ฯลฯ

และบทสนทนาภายในสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ หรือ PMCU ในเย็นวันหนึ่งได้ช่วยคลี่คลายคำถามต่างๆ ในย่อหน้าบน

สิ่งที่ยืนยันได้คือ ‘ลิโด’ จะกลับมาอีกครั้ง โดยนอกจากเติมไม้โทที่ชื่อให้กลายเป็น ‘ลิโด้’ แล้ว ยังมีวิธีคิดเบื้องลึกที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจจนอยากเอามาเล่าต่อ

ก่อนที่กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ลิโด้ที่คิดถึงจะกลับมาให้บริการ

1

เราจะพัฒนาอย่างไรให้คงเสน่ห์เหมือนเดิม”

หลังจากทางผู้เช่าพื้นที่เดิมอย่างผู้บริหารโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ (Apex) ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาพื้นที่ลิโด โจทย์ที่ทาง PMCU ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ต้องคิดเป็นอันดับแรกคือจะจัดการพื้นที่นั้นต่ออย่างไร

จะทุบทิ้งแล้วสร้างสิ่งใหม่ หรือจะทำอย่างไรกับอาคารที่ผ่านอายุการใช้งานมายาวนาน

“ลิโดอยู่กับเรามาปีนี้ปีที่ 50 ตั้งแต่ปี 1968 จำง่ายเพราะเป็นปีเกิดผม ประวัติศาสตร์ลิโดนั้นยาวนาน เพราะเป็นจุดศูนย์กลาง มีแฟนคลับเยอะแยะ พอสัญญาหมดเราก็เห็นสภาพเก่าเนื่องจากก่อสร้างมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทาง PMCU ก็เลยมาคิดกันว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะเอาพื้นที่ที่อยู่ใจกลางขนาดนี้กลับมาพัฒนาบูรณะมันอย่างไรให้มันคงเสน่ห์เหมือนเดิม” รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม เกริ่นเมื่อเราถามถึงอนาคตที่หลายคนสงสัย

ด้วยคำถามที่เป็นคล้ายเข็มทิศนี้ PMCU จึงมองหาทีมเพื่อเข้ามาช่วยบริหารและจัดการพื้นที่

“ทาง PMCU ตั้งใจสร้างพื้นที่ที่สร้างคุณค่าเพิ่มให้สังคม ซึ่งคำว่าคุณค่าเพิ่มมันก็แล้วแต่มุมมอง แล้วแต่คำจำกัดความของแต่ละคน ทางเราซึ่งเป็นพื้นที่การศึกษาเราก็อยากจะให้มันเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างให้สังคมมีความรู้เพิ่มขึ้นไม่ว่าในด้านใดก็แล้วแต่ มันก็ย้อนกลับมาที่เราอยากจะสร้างชุมชนที่สร้างการเรียนรู้ เราก็ตั้งคำถามว่า แล้วเราจะทำยังไง โดยที่เราไม่คิดว่าจะทำเองอยู่แล้ว เราต้องหาพันธมิตร คนที่เก่งแล้วมีแพสชันร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายตรงกันที่จะมาทำพื้นที่นี้ เราใช้เวลาหาหลายเดือน ให้ทีมงานลองดูว่าจะหาพันธมิตรที่ไหนได้บ้าง”

หลังการค้นหาหลายเดือน คำตอบก็มาตกที่ทีม LOVEiS ค่ายเพลงที่ก่อตั้งโดย บอย โกสิยพงษ์ ซึ่งมีคอนเนกชันทางสายดนตรีและวงการสร้างสรรค์มากมาย

“เลิฟอีสมาจาก Bakery Music ที่มีจุดกำเนิดมาจากสยามสแควร์ ผมว่าอันนี้เป็นตัวหลักที่น่าสนใจ” รองอธิการบดีอธิบาย “ประเด็นที่สองคือเรื่องของดนตรี เราไม่มีย่านที่เปิดโอกาสให้เยาวชนหรือใครมาแสดงออก มีพื้นที่เรียนรู้ที่ชัดเจนว่าเรื่องดนตรีต้องมาย่านนี้แหละ ผมยังนึกไม่ออกนะว่ามีที่ไหน ก็เลยลองพูดคุยกันดู

“หลังจากได้คุยกับคุณบอย โกสิยพงษ์ กับคุณนภ พรชำนิ แล้ว วัตถุประสงค์ของเราตรงกัน มุมมองใกล้เคียงกัน ว่าเราไม่ได้มาตรงนี้เพื่อสร้างรายได้สูงสุด แต่เรามองว่ามาสร้างคุณค่าเพิ่มร่วมกันให้สังคม ต้องเป็นธุรกิจที่ต้องยั่งยืน แล้วก็สร้างชุมชนใหม่ๆ ไม่เฉพาะด้านดนตรี แต่ขยายขอบเขตไปมากกว่านั้น อาจจจะเป็นเรื่องการแสดง เรื่องศิลปวัฒนธรรมที่มาอยู่รวมกันได้ โดยคีย์เวิร์ดสำคัญคือการให้โอกาส ให้โอกาสผู้ประกอบการได้มีพื้นที่ในการโชว์ของ แสดงตัวตนออกมา

“อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมถึงเป็นเลิฟอีส”

Lido, ลิโด้

2

เราจะไม่กระโดดข้ามคนรุ่นเก่า”

“ตอนยังเด็กผมเคยมาดูหนังเรื่อง Jaws ครั้งแรกที่นี่ จำได้ว่าน่ากลัวมาก ตอนนั้นลิโดยังเป็นโรงเดี่ยวอยู่ แต่ผมไม่ได้เรียกลิโดว่าลิโด้ตั้งแต่เด็กนะ ผมเรียกว่าลิโด เพราะมันไม่มีไม้โท ดังนั้น สำหรับผม ในความทรงจำลิโดคือลิโด ส่วนที่เราจะทำใหม่คือลิโด้ มีไม้โทด้วย” บอยย้อนเล่าทรงจำที่มีต่อลิโดในอดีต

ไม่ใช่แค่บอย, สิ่งที่สังเกตได้คือทุกคนที่มีส่วนร่วมในโปรเจกต์นี้ล้วนมีความผูกพันกับลิโด

และนี่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การทุบอาคารเดิมทิ้งแล้วสร้างใหม่ไม่อยู่ในตัวเลือกเลยตั้งแต่แรก

ทุกคนที่ว่าประกอบด้วย บอย โกสิยพงษ์ และ นภ พรชำนิ ตัวแทนจากค่าย LOVEiS อู๋-ภฤศธร สกุลไทย Design Director บริษัท PIA interior และ พี-รวมพร ถาวรอธิวาสน์ ผู้ก่อตั้งและ Managing Director บริษัทติโตติโต ที่รับหน้าที่ในการคิดคอนเซปต์และออกแบบ โดยทั้งพีและอู๋เคยมีประสบการณ์ในการรีโนเวตพื้นที่เก่าให้กลับมามีลมหายใจและน่าสนใจหลายโปรเจกต์ เช่น Freeform Festival ที่แปลงโรงเรียนร้างเป็นพื้นที่สร้างสรรค์

ตอนนี้ทุกที่มีแต่สิ่งใหม่เต็มไปหมด แต่ความเป็นสยามแสควร์มันมีความขลังอยู่ สิ่งที่เราทำมันคือการ Respect สิ่งที่คนรุ่นเก่าสร้างไว้” นภ พรชำนิ เริ่มเล่า “คำถามคือพวกเราที่มีหน้าที่ตรงนี้จะทุบทิ้งมั้ย หรือว่าเราจะอนุรักษ์แล้วทำให้มันดีกว่าเดิม ซึ่งเรารู้สึกว่าอย่างหลังดีกว่า เราอยากจะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าของคนรุ่นเก่าด้วย ไม่ได้จะกระโดดข้ามหัวไป ไม่ใช่ว่าฉันมีเงิน ทุบเลย ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างนั้นมันง่ายไง

“เราคือคนที่จะเข้าไปปฏิบัติการต่อจากผู้ปฏิบัติการเก่า เราคือคนอีกรุ่นหนึ่งที่จะไม่กระโดดข้ามคนรุ่นเก่า แต่เราจะพยายามอนุรักษ์ เราจะทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้เห็นค่าของสิ่งที่ทีมเก่าเขาสร้างเอาไว้แต่เขาอาจจะหมดแรงแล้ว ไม่มีแรงที่จะทำต่อแล้ว ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวพวกผมจะทำให้มันเข้มแข็งขึ้น โดยการเปลี่ยนให้มันดีขึ้น เข้มแข็ง แข็งแรงขึ้น โดยอนุรักษ์ทุกอย่างไว้ โดยเอาแนวคิดเดิมที่ว่า สร้างมุมมองเปิดโลกทัศน์ เรามาเปิดให้มันมากกว่าเดิมอีก”

สิ่งที่พวกเขาตัดสินใจทำคือการไปคุยกับเจ้าของเดิมอย่าง คุณนันทา ตันสัจจา ประธานโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ เพื่อบอกเล่าถึงความตั้งใจที่จะเก็บโรงภาพยนตร์ทั้งสามโรงของลิโดเดิมเอาไว้ แล้วรีโนเวตเพื่อเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับศิลปวัฒนธรรมหลากหลายแขนง

“วันนั้นพี่นภไปเดินดูแล้วก็คุยกับคุณนันทาในโรงหนัง ซึ่งเป็นภาพที่ผมรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์มาก” อู๋บอกความรู้สึก ก่อนที่นภจะเล่าต่อ “ต่อไปที่นี่จะไม่ได้มีแค่หนังแล้ว แต่มีทั้งดนตรี ทั้งการละคร มาหมดเลย หรือจะจัดฉายหนัง จัดสัมมนา หรือเปิดตัวสินค้าที่มันช่วยเหลือสังคม ได้หมด เราทำให้มันครบมากขึ้น ซึ่งผมก็ได้นำไอเดียนี้เสนอทั้งทางทีมจุฬาฯ และไปคุยกับทางทีมลิโดเดิมว่า เราทำด้วยความเคารพจริงๆ เราจะทำให้ทุกคนหันมามองลิโด้ว่านี่คือ World-class Case Study ซึ่งคุณพีก็เอากรณีศึกษาที่ฮ่องกง ที่เบอร์ลิน มาให้ดูว่ามันทำได้ แล้วมันจะสามารถดึงคนที่ชอบอนุรักษ์ของเก่ามาได้”

ท่าทีอันเป็นมิตรและให้เกียรตินี้ทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไม่มีฝ่ายใดต้องเจ็บปวดเพราะเห็นสิ่งล้ำค่าที่ผ่านกาลเวลาถูกทุบทำลาย

ผมชอบที่นภบอกว่า เลิฟอีสเป็นตัวเปลี่ยนผ่านที่นุ่มนวล ในเรื่องกายภาพ อาคาร ทางนี้ถือเป็นตัวเปลี่ยนผ่านที่นุ่มนวลจริงๆ เพราะว่ามีส่วนในการไปคุยกับเจ้าของเดิมเพื่อให้การรื้อถอนอะไรต่างๆ ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์อยู่ ไม่ใช่ทุบทิ้งทำลายแล้วสร้างกันใหม่ แล้วสิ่งที่จะเห็นโฉมต่อไปมันจะมีกลิ่นอายของเดิมอยู่บ้าง เห็นแล้วคนจะรำลึกถึง” วรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผู้อำนวยการ PMCU บอกความรู้สึกถึงตอนที่ทีมเลิฟอีสมาบอกเล่าคอนเซปต์ให้ฟัง

อู๋ ภฤศธร ซึ่งเป็นผู้ออกแบบบอกว่า ไฮไลต์สำคัญของการรีโนเวตครั้งนี้คือการที่รูปร่างหน้าตาของตัวอาคารจะกลับไปเหมือนโรงภาพยนตร์ลิโดแบบดั้งเดิม ก่อนที่จะไฟไหม้เมื่อปี 2536

“มันคือความทรงจำที่เด็กรุ่นผมไม่เคยเห็น รูปร่างหน้าตาของลิโดเวลามองมาจากถนนในสมัยที่สร้างตั้งแต่แรกคือยุคปี 1968 เราจะย้อนอดีตกลับไปตรงนั้น เรากลับไปเปิดรูปค้นดูว่าเขาทำไว้ยังไง แล้วก็ขอข้อมูลจากเอเพ็กซ์ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็จะ Back to original หน้าโรงภาพยนตร์จะเป็นลักษณะคล้ายคลึงประมาณสัก 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ แต่เราใส่ความเป็นปัจจุบันเข้าไปด้วย

“เราจะทำให้มันดีขึ้นไปอีกทั้งในเชิงความรู้สึกและในเชิงฟังก์ชัน”

Lido, ลิโด้

3

ทำพื้นที่ไพรม์ที่สุดให้มันมีประโยชน์สูงสุด”

“เรามีความทรงจำที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่กับพื้นที่ลิโด และเป็นความทรงจำที่เราเอามาใช้ทำพื้นที่ใหม่” นภ พรชำนิ เกริ่นก่อนจะเล่าบางเรื่องราวในอดีตที่ส่งผลต่อวิธีคิดในการจัดการฟังก์ชันของพื้นที่ลิโด้

“ผมกับ ป๊อด (ธนชัย อุชชิน) และ โป้ โยคีเพลย์บอย (ปิยะ ศาสตรวาหา) เคยไปเล่นเปิดหมวกกันที่ใต้ลิโดตอนประมาณปี 1 ปี 2 ตรงทางออกโรงหนัง พนักงานโรงหนังไม่ว่าอะไรเลย ปล่อยให้เล่นสบายๆ ทั้งที่ขณะนั้นหนังกำลังฉายอยู่ด้วย แต่ร้านค้าที่อยู่แถวนั้นเขาไม่พอใจ เพราะเรามาเล่นแล้วคนมายืนมุงอยู่ตรงนั้นเต็มเลย แล้วร้านข้างๆ ก็เปิดเพลงไล่ เราจะร้องแข่งก็ไม่ได้ คือมุมมองของคนตรงนั้นเขายังปิดกั้น นี่เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าตรงนั้นมันเป็นจุดที่เด็กทุกคน ถ้ามีของ เราอยากจะให้เด็กได้มาแสดงออก เหมือนอย่างที่ผมอยากไปทำแต่ตอนนั้นไม่มีโอกาส ไม่มีพื้นที่”

นั่นเป็นหนึ่งในที่มาของความคิดที่จะทำให้ลิโด้เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างเพื่อให้โอกาสให้เด็กรุ่นใหม่และผู้คนในวงการสร้างสรรค์ได้มาใช้พื้นที่

โดยพวกเขาใช้นิยามลิโด้โฉมใหม่ว่า ‘Co-cultural Space’ โดยแต่ละชั้นก็มีฟังก์ชันต่างกันไป

Lido, ลิโด้

Lido, ลิโด้

ชั้น 1

Co-inspiring Space

ชั้น 1 ซึ่งแต่เดิมเป็นร้านค้าแฟชั่นจะถูกปรับเป็นพื้นที่สำหรับ Commercial โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เป็นอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือก็จะเปิดกว้างสำหรับร้านค้าและบริการอื่นๆ

“เราไม่ได้จะทำแต่ร้านแฟชั่นอย่างเดียว เรามองว่าอะไรที่เป็นคัลเจอร์แล้วมันเอื้อกันกับสิ่งที่พวกเราทำมันได้หมด ถ้าพูดถึงดนตรีมันแตกได้เยอะเลยนะว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไร หรือถ้าพูดถึงงานดีไซน์มันก็แตกได้อีก เราถึงยังไม่ระบุว่าร้านประเภทไหนกี่เปอร์เซ็นต์ แต่แน่นอนทุกคนต้องกินต้องดื่ม เรามีไว้ก่อน เพื่อให้คนที่มาแสดงเขามีที่กินหรือฝากท้องได้ในราคาที่เขาโอเค ที่เหลือเหมือนมาเสริมกันมากกว่า” อู๋บอกถึงภาพที่คิดไว้

โดยโจทย์เพียงโจทย์เดียวที่เป็นเหมือนข้อบังคับและเกณฑ์ในการคัดเลือก คือทุกร้านที่มาอยู่จะต้องออกแบบกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคม ไม่ใช่มาแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว

“ลิโด้คือที่ที่ไพรม์ที่สุด เราก็เลยอยากทำพื้นที่ไพรม์ที่สุดให้มันมีประโยชน์สูงสุดกับสังคม เราเลยกำหนดว่าร้านค้าที่เข้ามาร่วมกับเรา เขาจะมาเช่าเราได้เขาก็ต้องมีกิจกรรมอะไรบางอย่างที่จะทำเพื่อสังคมให้เราเห็น มาเสนอเราก่อน แล้วลิโด้มันก็จะกลายเป็นตึกแห่งโอกาส” บอยอธิบายก่อนที่จะเปิดรับสมัครร้านต่างๆ ที่อยากมามีส่วนร่วมในพื้นที่แห่งนี้

ในแง่การปรับพื้นที่ อู๋บอกว่า “ถ้าสังเกตชั้นล่างมันจะค่อนข้างเตี้ย ของเดิมมันมองไม่เห็นกัน เราก็พยายามเปิดพื้นที่ตรงกลางให้มันกว้างขึ้น แล้วก็พยายามเปิดพื้นที่ด้านนอกให้มันโปร่งขึ้น จากด้านหน้าถนนวิ่งไปถึงด้านหลังลิโด้ได้เลย ทำให้พื้นที่ตรงนี้มันเป็นพื้นที่ตรงกลางที่ใครใช้ก็ได้ คนที่เดินรอบลิโดมองเข้าไปจะเห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้น มันเอื้อประโยชน์กัน

“นอกจากนั้น มันยังมีพื้นที่ที่เป็น Event Space จุดนี้ตั้งใจดีไซน์เพราะพี่นภบอกว่าเคยมาเล่นที่นี่แล้วโดนไล่ ผมก็เลยบอกว่าเอาตรงนั้นเลยที่พี่เคยเล่น ผมขออนุญาตเอาร้านออกสักนิดหนึ่งเพื่อเปิดตรงกลางให้มันเป็นเวิ้ง แล้วพอมันเป็นเวิ้งที่เป็น Event Space เราจะทำอะไรกับมันก็ได้แล้ว ซึ่งอันนี้โดยหลักการมันก็คือการคืนพื้นที่ให้กับสาธารณะ”

“นี่เป็นที่ที่ผมจะไปเล่นเปิดหมวกได้” หลังประโยคนี้ของนภ เราเห็นรอยยิ้ม

Lido, ลิโด้

ชั้น 2

Co-performing Space

ชั้น 2 แต่เดิมเป็นโรงภาพยนตร์ 3 โรง แต่ละโรงจุผู้ชมแตกต่างกันไป โรงที่ 1 จุ 147 ที่นั่ง โรงที่ 2 จุ 243 ที่นั่ง และโรงที่ 3 จุ 243 ที่นั่ง ซึ่งจากขนาดที่ว่า ทุกคนเล็งเห็นตรงกันว่าถือเป็นขนาดที่น่าสนใจ

“บ้านเรายังขาดพื้นที่ขนาดประมาณนี้บนพื้นที่ใจกลาง มันไม่มีพื้นที่ที่เป็นโรงละครหรือโชว์ขนาดกลางๆ” อู๋ให้ความเห็นก่อนที่บอยจะเสริม “สำหรับผมที่นี่มันคือขนาดเล็กที่พอดี ศิลปินเพิ่งเกิดใหม่ก็เล่นได้ ศิลปินใหญ่ที่อยากจะทำงานนิชก็เล่นได้”

โดยสิ่งแรกที่มีการปรับปรุงขนานใหญ่คือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่แห่งนี้เหมาะกับการเป็นพื้นที่ใจกลางแห่งศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

“ผมจำได้ว่าเวลาผมมาดูหนังที่นี่ ผมเข้าห้องน้ำไม่ได้ ห้องน้ำมันไม่พอ เราก็เพิ่มจำนวนห้องน้ำ แล้วก็มีห้องน้ำสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เพราะเราไม่ได้มองแค่กลุ่มวัยรุ่น แต่เรามองถึงกลุ่มครอบครัวด้วยว่าถ้าเขาพาพ่อพาแม่มาดูโชว์จะเป็นยังไง เราก็ต้องคิดถึงคนแก่ด้วย อันนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทางจุฬาฯ ช่วยเราปรับปรุง รวมถึงระบบระบายน้ำ เพราะว่าที่นี่น้ำเคยท่วม เราก็ปรับไม่ให้น้ำท่วมแล้ว งานระบบทั้งหมด แอร์ น้ำ ไฟ ระบบความปลอดภัย ทุกอย่างใหม่หมดเลย” อู่บอกถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไป

“อีกสิ่งที่พวกเราตั้งใจกันมากก็คือการเตรียม Facility ที่จะอำนวยความสะดวกให้ทุกคนที่มาอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นระบบการจองบัตรหรือว่าการประชาสัมพันธ์ให้ที่นี่เป็น Destination ใหม่ของกรุงเทพฯ นักท่องเที่ยวจะรู้ทันทีว่าปีนี้มีอะไร ฉันจองตั๋วมาเลย”

และอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น โรงภาพยนตร์ทั้งหมดจะถูกปรับปรุงสำหรับการใช้งานที่ต่างกันไป

“เรามองถึงการเชื่อมโยงศิลปะและวัฒนธรรมหลายแขนง ชั้นบน ด้วยฟังก์ชันของมันเราเรียกมันว่า Co-performing Space โดยรีโนเวตโรงภาพยนตร์ให้เหมาะกับการแสดงสดทุกประเภท เช่น Music, Performing Art, Design หรือแม้กระทั่ง e-Sport ที่เป็น Technology และ Innovation” พีอธิบายแนวคิดในการปรับปรุงพื้นที่เดิม

โดยโรงภาพยนตร์ทั้งสามถูกปรับและเปลี่ยนอย่างน่าสนใจ บางโรงยังคงเค้าโครงเดิม ในขณะที่บางโรงก็มีหน้าเปลี่ยนไป

Lido, ลิโด้

Lido, ลิโด้

โรงภาพยนตร์ที่ 1

“โรงภาพยนตร์ที่ 1 เราเก็บไว้ทั้งหมด จอเดิมก็ยังอยู่ ที่นั่งก็ยังอยู่ เหมือนเดิม ยกเว้นพื้นซึ่งเป็นพรมที่เราต้องเอาออก เพราะไม่อย่างนั้นเราต้องทำความสะอาดและเสียค่าบำรุงรักษาเยอะ อีกอย่างเราคุยกับกลุ่มการละคร ก็เห็นกันว่าเชื้อโรคมันอยู่ในพรมเยอะมาก แล้วถ้าเขามาใช้สถานที่ก็อาจจะป่วยได้

“เวลาเราทำงานอนุรักษ์ บางอย่างเราต้องยอมตัดใจทิ้งไป ประนีประนอมไม่ได้ บางอย่างมีปลวกบ้าง มีราบ้าง พวกนี้เราทำความสะอาดได้หมด ไม่ใช่ต้องเก็บไว้อย่างนั้น

โรงนี้ก็จะเหมาะคนที่ไม่ได้มีงบมากมาย เหมาะกับการแสดงประเภทที่มาคนเดียว”

โรงภาพยนตร์ที่ 2

โรงภาพยนตร์ที่ 2 ใหญ่ขึ้นมาหน่อย เราก็เก็บเก้าอี้ไว้ทำความสะอาดใหม่ เพิ่มไฟที่สามารถส่องเวทีได้ แต่ว่าโรงนี้ต้องตัดใจเอาจอภาพยนตร์ออก แล้วก็เพิ่มหลังเวทีที่เป็น Backstage เข้าไป

“เราโรงนี้เรียกว่า Live House เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมประเภทดนตรี”

โรงภาพยนตร์ที่ 3

โรงภาพยนตร์ที่ 3 เรายอมเอาออกทั้งหมด รื้อเก้าอี้ออกทั้งหมด แล้วรอบโรงภาพยนตร์จะล้อมม่านทั้งหมด ทำให้เป็นสีดำ ซึ่งมันก็คือ Black Box Theater แล้วเราก็เติมไฟเป็นกริดเข้าไป

“โรงภาพยนตร์นี้ตั้งใจมีไว้รองรับกลุ่ม Performing Art ซึ่งคนที่มาดูเขาก็จะบอกว่า ฉันจะได้มาเล่นในนี้ที่สยามในสเกลนี้ ในราคาค่าเช่าเท่านี้ จริงเหรอ ต่อไปนี้เขาจะสามารถสร้างงานได้แล้ว จากที่เขาเคยจ่ายเป็นแสน เขาได้มาอยู่ที่นี่ด้วยราคาที่แบบทุกคนสงสัยว่านี่คือความจริงเหรอ”

Lido, ลิโด้ Lido, ลิโด้

สุดท้ายอู๋บอกว่า การปรับเปลี่ยนหาได้นั่งเทียนเขียนแบบกันเอาเองในสตูดิโอ หากแต่มีการเชิญศิลปินหลากหลายกลุ่มมาลงพื้นที่และสอบถามความต้องการ เพื่อจะได้ออกแบบพื้นที่ให้ตรงกับการใช้งานจริงมากที่สุด

“ที่นี่มันเป็น Live Performance ดังนั้น มันจะมี 2 กลุ่มหลักๆ ที่เข้ามาช่วยเราดีไซน์ตั้งแต่แรกคือฝั่งดนตรีและการละคร โดยให้เขาเข้ามาเดินกับเราตั้งแต่วันแรกที่ยังไม่ได้เริ่มการรีโนเวตเพื่อเช็กลิสต์ว่าที่มีอยู่ขาดอะไรไปบ้าง มีอะไรที่ดีอยู่แล้วบ้าง แล้วเราก็ใส่คุณภาพเข้าไปในสิ่งที่มันตกๆ หล่น

ที่พูดเพื่อจะบอกว่า ผมไม่ได้ดีไซน์จากความรู้สึกผมนะ แต่ผมดีไซน์จากความต้องการของคนพวกนี้”

ฟังถึงตรงนี้ เราชักอยากเห็นเหลือเกินว่าหน้าตาของลิโด้จะออกมาเป็นแบบไหน แล้วคนที่เคยผูกพันกับมันจะรู้สึกยังไงเมื่อกลับไปอีกที

กรกฎาคมปีนี้หวังว่าจะได้พบกัน

Lido, ลิโด้

ภาพ :  ลิโด้   Co-cultural Space

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan