The Cloud X dtac SME 

รวิศ หาญอุตสาหะ คือทายาทรุ่นที่ 3 และ CEO ของบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด

ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักหลังจากพลิกฟื้นคืนชีวิตให้แบรนด์เครื่องสำอางอายุกว่า 70 ปี จากแป้งราคาหลักสิบสู่ราคาหลักร้อย จากการวางขายในร้านเล็กๆ ต่างจังหวัดสู่ห้างร้านหรูในเมือง สร้างผลประกอบการหลักร้อยล้าน ถูกยกเป็นตัวอย่างของการสานต่อธุรกิจครอบครัว และมีคนทั้งในและนอกวงการธุรกิจพูดถึงอยู่เสมอ

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้มาจากการเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าและบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยเพียงอย่างเดียว กลยุทธ์ที่คิดต่างจากคนในยุคนั้นก็ใช่ แต่สิ่งสำคัญคือความรู้สึกที่อยากเห็นธุรกิจเติบโต ไม่ใช่แค่ยังคงอยู่

หลังจากวันนั้น ชื่อและเรื่องราวของคุณรวิศปรากฎในสื่อมากมาย ได้รับเชิญไปบรรยายสิ่งที่ทำ สร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานที่ฝันอยากมีธุรกิจลุกขึ้นมาเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง ผ่านซีรีส์หนังสือหลักการตลาดหลายเล่ม มีรายการวิทยุของตัวเอง ถ้า Apple มี สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ศรีจันทร์ก็มี รวิศ หาญอุตสาหะ

รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์ ไอดอลคนทำธุรกิจผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการเครื่องสำอางไทย

The Cloud นัดหมายคุณรวิศที่ออฟฟิศย่านพระราม 9 เพื่อพูดคุยกันถึงวิธีคิดที่ทำศรีจันทร์และธุรกิจอื่นๆ ของเขา เพียงแต่ครั้งนี้เราอยากรู้เรื่องราวภาคต่อหลังจากศรีจันทร์กลับมายืนโดดเด่นในวงการ จึงได้รู้ว่าศรีจันทร์วันนี้เป็น Marketing-based Company ที่ทำงานสนุกมาก 

พวกเขาติดตาม ประมวลผล และเปลี่ยนแผนสื่อสารตลอด 365 วัน มีสินค้าและแคมเปญการตลาดสนุกๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ มากมาย

จากแบรนด์ที่อยากผลิตเครื่องสำอางที่ดีที่สุด วันนี้ศรีจันทร์ปรับวิธีการทำงาน มีพาร์ตเนอร์ที่เก่งๆ รอบตัวเพื่อดำเนินธุรกิจเติบโตยั่งยืน แทนที่จะมุ่งสร้างสรรค์แป้งที่ดีที่สุดเพียงลำพัง เขาทุ่มพลังกับการสร้างสิ่งที่แก้ปัญหาชีวิตลูกค้า นักเรียนที่อยากแต่งหน้าบางๆ ไปโรงเรียน พนักงานออฟฟิศที่อยากโชว์งานผิวยามพวกเธอออกกำลังกาย

มากไปกว่านั้น เราดีใจที่บทสนทนาระหว่างเรายอมให้เห็นมุมของกัปตันทีมศรีจันทร์ที่ธรรมดาเหมือนพวกเรา คนที่เหนื่อยเป็น คนที่อยากทำให้ลูกน้องรัก คนที่ชีวิตมีเรื่องเสียดาย และอื่นๆ

คุณรวิศรอเราอยู่แล้ว ให้เขาเล่าเองเลยแล้วกัน

CEO ศรีจันทร์ ไอดอลคนทำธุรกิจผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการเครื่องสำอางไทย

นักเรียนวิศวกรรมศาสตร์มาเป็นนักธุรกิจได้อย่างไร

สิ่งที่น่าสนใจในโลกยุคใหม่คือ ความรู้ที่เรียนมาแทบไม่ถูกนำมาใช้ แต่เป็นการหาเติมความรู้ใหม่ระหว่างทาง ซึ่งใครขยันมากกว่าก็มองเห็นโอกาสที่มากกว่า ผมเชื่อว่ามนุษย์เรามีสัญชาตญาณการค้าขายในตัวทุกคน แม้คุณพ่อคุณแม่จะไม่ได้ทำธุรกิจของครอบครัวโดยตรง แต่ผมก็ได้ยินคนในครอบครัวคุยเรื่องงานบนโต๊ะอาหารเสมอ ตัวเราเองก็ชอบขายของ ทำของขายตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พอทำไปก็เริ่มเห็นทาง

คุณเอาความมั่นใจมาจากไหน จึงตัดสินใจลาออกจากงานสายการเงินและธนาคารที่กำลังไปได้ดีเพื่อกลับมาทำธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจเครื่องสำอางเป็นธุรกิจที่สินค้าไม่เปลี่ยนมาหลายสิบปีแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ตลาด คู่แข่ง และพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งเปลี่ยนเยอะสุด จริงอยู่ที่สินค้าของเราในยุคแรกๆ ไม่ทันสมัย แต่ก็มีแบรนด์ไม่น้อยที่ดูไม่ทันสมัยแต่ก็อยู่ได้ ผมเริ่มคิดว่าการจะพาแบรนด์ไปต่อให้ใหญ่นั้นยาก เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดและทำใหม่ ช่วงนั้นเศรษฐกิจดี เราเป็นเด็กอายุ 26 – 27 ปี ที่คิดว่าถ้าทำธุรกิจครอบครัวไม่รอดก็จะลาออกไปหางานใหม่ได้

ทำไมถึงอยากทำให้บริษัทใหญ่ขึ้น ไม่ทำแค่ให้แบรนด์ยังอยู่

มนุษย์เราถูกออกแบบมาให้อยากเติบโต เป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้หยุดพัฒนา

แผนการแรกก็คือ

ไม่คิดอะไรเยอะ รู้สึกว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำเราก็ทำ เริ่มจากบันทึกข้อมูลให้อยู่บนคอมพิวเตอร์ เพื่อการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลที่มี

ย้อนกลับไป อะไรคือจุดแข็งของศรีจันทร์ในอดีตที่คุณอยากรักษาไว้

ความตั้งใจทำผลิตภัณฑ์ให้ดีมากๆ เวลาที่ผลิตภัณฑ์ออกมาไม่เป็นอย่างที่คิด เราจะใช้ต้นทุนที่มีทั้งหมดแก้ไขหรือทำให้ดีขึ้น ฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐานที่ใครๆ ก็คงทำกัน แต่จริงๆ แล้วไม่ เพราะบ่อยครั้งที่เราอยู่กับตัวเลือกมากๆ เช่นทางนี้ถูกกว่า เราก็อาจจะลืมว่าทำสิ่งนี้เพื่ออะไร เราท่องเสมอว่าถ้ามีทางเลือกที่ส่งผลต่อราคาและผลิตภัณฑ์ เราจะเลือกทำเพื่อคุณภาพของสินค้าก่อน เครื่องสำอางเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเปลี่ยนบ่อย แบรนด์ที่อยู่ได้คือแบรนด์ที่สินค้ามีคุณภาพดี ดีระดับที่คนยอมกลับมาใช้หลังจากที่ลองอย่างอื่นมามากมาย

ไม่เพียงคุณภาพ แต่วิธีคิดและวิธีทำงานของคุณได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงศรีจันทร์ไม่น้อย

โจทย์ของเราคือลูกค้า สิ่งที่ศรีจันทร์ทำงานหนักมากคือส่วนที่ทำงานกับลูกค้า เอาสินค้าไปให้ลอง เพื่อเก็บข้อมูลว่าพวกเธอชอบอะไร ไม่ชอบอะไร รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าอยากได้จริงๆ และอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าคิดว่ามีก็ดีแต่ไม่มีก็ได้ อะไรคือแก่นของสินค้าที่คนจดจำ

รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์ ไอดอลคนทำธุรกิจผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการเครื่องสำอางไทย

ไม่เหมือนกำลังขายเครื่องสำอางเลย ศรีจันทร์กำลังขายอะไร

ธุรกิจความงามและสุขภาพทั้งหมดในอุตสาหกรรม กำลังขาย Hope หรือความหวัง ไม่มีใครอยากได้ลิปสติกหรอก มีแต่คนอยากได้ปากสีสวยๆ และในอนาคตอาจจะไม่มีลิปสติกแล้วแต่เป็นนวัตกรรมอื่นๆ

ข้อมูลจากการทำงานกับลูกค้าเยอะๆ และเป็นจุดเปลี่ยนของแบรนด์ศรีจันทร์ในยุคของคุณ คืออะไร

การเข้ามาของกล้องโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้อย่างรุนแรงมาก โดยเฉพาะกับเด็กวัยรุ่น เราพบข้อมูลว่า สำหรับพวกเขา อะไรก็ตามที่ไม่ถูกบันทึกเป็นภาพลงอินสตาแกรม เขาถือว่าสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง ความทรงจำในนิยามของพวกเขาคือภาพที่อยู่บนโลก ทำให้คิดถึงคนรุ่นก่อน เรากับเพื่อนมีรูปถ่ายด้วยกันน้อยมาก รู้แบบนี้ผู้ใหญ่คงรู้สึกว่าทำไมต้องขนาดนั้น แต่นี่คือความจริงของโลกของพวกเขา ถ้าเราอยากขายของให้เขา เราต้องไปอยู่ในโลกของเขาให้ได้ ตลาดนักเรียนน่าสนใจเพราะโดยหลักการแล้วเด็กนักเรียนแต่งหน้าไปโรงเรียนไม่ได้นะ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบ้างที่แอบแต่ง เพียงแต่สาเหตุสำคัญของดีกรีการแอบแต่งในวันนี้เข้มข้นขึ้นมาจากกล้องถ่ายรูปนี่แหละ 

มีมุกตลกหนึ่งที่ผมชอบหยิบขึ้นมาเล่าบ่อยๆ ที่ฟิตเนสแห่งหนึ่งมีคนเข้าไปเล่นเยอะมาก สิ่งที่พบคือฟิตเนสที่นี้ใช้ดัมเบลใหญ่กว่าที่อื่นเมื่อเทียบน้ำหนักเท่ากัน คนก็ชอบเพราะถ่ายรูปออกมาแล้วดูเหมือนยกน้ำหนักเยอะ เช่นกันเราจึงเห็นคนแต่งหน้าไปวิ่ง ฟังดูไม่น่าใช่สิ่งที่ต้องทำ แต่มีคนทำเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตลาดนี้ค่อนข้างโต เหตุผลคือเขาไม่ได้อยากสวยตอนวิ่ง แต่เขาอยากสวยตอนถูกถ่ายรูป เวลาเราพูดถึงคำว่าโลกของลูกค้า โลกของแต่ละคนก็แตกต่างกัน แต่เขาจะมีแพตเทิร์นอยู่ 

ยังไง

เราค้นหาว่าวันนี้เรื่องแบบไหนอยู่บนหน้าไทม์ไลน์ของกลุ่มเป้าหมาย และเรามีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ บ้าง แคมเปญการตลาดสมัยก่อน คือการคิดงานร่วมกับครีเอทีฟ เรามาทำหนังโฆษณากัน มาคิดแคมเปญร่วมสนุกกัน แต่วันนี้สมมติมีเหตุการณ์สักอย่างเกิดขึ้นแล้วเราลองปล่อยแผนที่ 1 ไป ถ้าไม่รอดก็ปรับแล้วปล่อยแผนที่ 2 ทำแบบนี้ทุกวัน 365 วัน เราจะเริ่มเห็นรูปแบบซ้ำๆ โจทย์แบบนี้ต้องพูดด้วยเนื้อหาและน้ำเสียงไหน เราเริ่มเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายตอบสนองกับภาพและเนื้อหาแบบไหน หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ของเราประเภทไหน มีสีหรือไม่มีสี ลูกค้าเขาก็ตอบรับผ่านกระบวนการที่แตกต่างกัน

อย่างนี้ไม่ต้องไล่ตามทุกเรื่องไปเรื่อยๆ หรือ

เป็นงานของยุคนี้เลย เราจำเป็นที่ต้องไล่ตามไปเรื่อยๆ นั่นทำให้วิถีของคนทำการตลาดเปลี่ยน เพียงแต่เราต้องชัดเจนและรู้ว่าแก่นของเราคืออะไร

CEO ศรีจันทร์ ไอดอลคนทำธุรกิจผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการเครื่องสำอางไทย
รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์ ไอดอลคนทำธุรกิจผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการเครื่องสำอางไทย

สัดส่วนของทีมงานในศรีจันทร์เป็นอย่างไร

ทีมการตลาดคือทีมที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์และฝ่ายขาย มาจากการดูว่าเราเก่งอะไร หรือเราอยากเป็นบริษัทแบบไหน วันนี้ศรีจันทร์เราเป็น Marketing-based Company การพัฒนาผลิตภัณฑ์เราก็สนใจ แต่ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ที่พาร์ตเนอร์ เราไม่จำเป็นต้องมีคนเยอะ ขอแค่พาร์ตเนอร์เราเก่งก็พอแล้ว สำคัญคือการเลือกพาร์ตเนอร์ให้ถูก

เพราะอะไร

เวลาเราทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือ R&D เราอาจจะมีทีมงาน 5 คน แต่บริษัทพาร์ตเนอร์เราที่เกาหลีมี R&D 800 คน คนละสเกลเลย สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ เราจะสื่อสารความต้องการที่มีอย่างไร ลำพังแค่อุปกรณ์หรือแม้แต่เทคโนโลยีก็เทียบกันไม่ได้ เราก็ควรทำสิ่งที่เราถนัด ในเมื่อเราตั้งใจเป็น Marketing-based Company ที่ถ่ายทอดเรื่องราวและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ผ่านสินค้าคุณภาพดี โดยที่เราไม่จำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาเองก็ได้ เพราะเรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่

เป็นไปได้หรอที่บริษัทจะขยายตัวโดยไม่เพิ่มคน

แต่ให้เพิ่มพาร์ตเนอร์ เช่น ระบบโลจิสติกส์ สำรวจว่าเราทำเองได้ไหม จริงๆ ก็ได้ แต่การทำคลังสินค้าเองอาจจะสู้คนที่ทำคลังเป็นอาชีพไม่ได้ ก็ต้องมีพาร์ตเนอร์มาช่วย เพื่อเอาเวลาไปโฟกัสสิ่งที่เราถนัดหรือเพื่อทำให้ดีขึ้นไปอีก ตอนนี้เรามีพาร์ตเนอร์ตั้งแต่ ผู้ผลิตต่างชาติ ธนาคาร เครือข่ายโทรศัพท์ ร้านค้าปลีก แบรนด์ต่างๆ ที่ทำงานร่วมกัน สิ่งสำคัญคือการสื่อสารที่ดีทั้งในและนอกบริษัท

เมื่อก่อนคนทำธุรกิจจะรวมทุกเรื่องไว้กับตัวเอง การมอบให้คนนอกองค์กรทำงานแทนเราถือเป็นความเสี่ยงของการทำธุรกิจรูปแบบนี้ไหม

เป็นความเสี่ยง แต่เรากลับคิดว่ายิ่งมีคนทำแบบนี้มากขึ้นจะยิ่งลดความเสี่ยงลงเพราะมีตัวเลือกในตลาดมากขึ้น และดีในแง่ที่หากบริษัทมี 16 แผนก การจะคุยงานประชุมกับหัวหน้าทั้ง 16 คน ให้ครบถ้วนและรู้เรื่องนั้นไม่ง่าย แต่ถ้าโฟกัสในส่วนงานที่แม่นยำ หาคนเก่งมาช่วยเสริมส่วนที่เหลือ ก็ทำให้องค์กรเติบโตได้เร็วกว่า

ไม่กลัวว่าจะเสียตัวตนของแบรนด์ หรือกลัวการลอกเลียนผลิตซ้ำ

การที่พาร์ตเนอร์ผู้ผลิตมีเทคโนโลยีสูงกว่าถ้าเขาจะทำ เขาทำได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาทำไม่ได้คือแบรนดิ้ง เช่น Nike ก็ไม่มีโรงงาน ต่อให้โรงงานที่ผลิตสินค้าให้แบรนด์ไนกี้จะทำรองเท้าแข่งกับ Nike ก็ทำไม่ได้

เป็นลักษณะการทำธุรกิจที่มีชื่อเรียกไหม

คล้ายกับ Sharing Economy เพียงแต่เป็นสัดส่วนอย่างบริษัทเท่านั้นเอง คนนี้ทำโลจิสติกส์เก่ง ก็ให้เขาทำไป เราก็ไปทำอย่างอื่น แต่ต้องมีจุดที่ตกลงกันว่าข้อมูลชุดนี้ใครเป็นคนเก็บหรือใครเป็นเจ้าของ จะเห็นว่าหลายๆ บริษัทในโลกก็เปลี่ยนวิธีการทำงานไป มีบริษัทสมัยใหม่ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสุดๆ ไปเลยเยอะขึ้น ผมคิดว่าโมเดลลักษณะนี้จะขับเคลื่อนธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ต่อไปในอนาคต

รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์ ไอดอลคนทำธุรกิจผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการเครื่องสำอางไทย

ทฤษฎีการตลาดข้อไหนที่คนชอบกันมาก แต่คุณไม่เชื่อ

ไม่ขนาดนั้น ผมรู้สึกว่าทฤษฎีหรือกรอบความคิดที่เคยรู้มา ไม่ได้บอกว่าผิด แต่ไม่รู้ว่าจะใช้ได้จริงกับบางสถานการณ์หรือเปล่า ตอนนี้เลยชอบการทดลองมากที่สุด เป็นกรอบความคิดและหลักในการทำงาน นั่นคือไม่ต้องเถียงกันว่าของจะขายออกไหม ทดลองเลยแล้วกัน กระบวนการที่เกิดขึ้นคือ ทำอย่างไรให้การทดลองนั้นใช้เงินน้อยๆ แต่รู้ผลเร็วๆ เราจะได้ไปต่อได้

สมัยก่อน เวลาคิดผลัตภัณฑ์ใหม่จะเริ่มจากห้องประชุม และตกลงได้คำตอบเกือบครบแล้วในห้องประชุม แต่ตอนนี้ทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะความรู้เราน้อยกว่าลูกค้า ความรู้สึก ความเข้าใจว่าตลาดอยากได้อะไร อยู่ที่มือผู้บริโภคทั้งสิ้น แทนที่จะคิดให้มากเหมือนแต่ก่อน ผมเริ่มทำสินค้าต้นแบบทดสอบตลาด เราไม่ถามว่าเขาอยากซื้อสินค้ารุ่นนี้ในราคาเท่าไหร่ เขาตอบมาจริงๆ แต่อาจจะไม่ซื้อของเราก็ได้ วิธีที่ใช้คือ เราตั้งราคาของสินแบบเดียวกันไว้ที่ 3 ราคา เช่น 300 400 500 จากนั้นปล่อยโฆษณาไปสู่กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มที่คล้ายกันและมีบางปัจจัยที่ต่างกัน ทดสอบว่าราคาไหนเกิดการซื้อขายจริงมากที่สุด เราพบว่า บ่อยครั้งราคาที่ตั้งแพงที่สุดกลับขายดีที่สุด เหตุผลเพราะเครื่องสำอางเป็นสินค้าที่ถ้าถูกไปคนก็ไม่อยากใช้

ซึ่งวัดผลจากอะไร

ขึ้นกับจุดประสงค์ ถ้าเป็นเรื่องราคา เราก็วัดจากยอดการซื้อ

บรรยากาศตอนประชุมเดี๋ยวนี้ไม่ได้คุยว่าจะทำอะไร แต่คุยกันว่าจะลองทำอะไรมากกว่า เมื่อก่อนเราประชุมเพื่อหาทางออก ตอนนี้ประชุมเพื่อหาคำถามว่าจะถามลูกค้าว่าอะไรดี

ศรีจันทร์ในวันนี้กำลังพูดหรือสนใจเรื่องอะไร

ศรีจันทร์ปีนี้พูดเรื่อง Beauty Ready Go สวยก่อนพร้อมกว่า คุณไม่จำเป็นต้องมีเครื่องสำอางเยอะ ศรีจันทร์ทำให้หน้าไม่เทา ลิปสติกทาแล้วดื่มน้ำสีไม่ติดแก้ว ขณะที่แบรนด์ Sasi by ศรีจันทร์ พูดเรื่อง Live a Little ขอให้ทุกวันมีความสุข เป็นคอนเซปต์ที่ได้จากการคุยกับเด็กมัธยม โมเมนต์ที่มีความสุขที่สุดคือ ตอนที่แต่งหน้าไปยืนหน้าเสาธงแล้วครูจับไม่ได้ เป็นความรู้สึกแบบอย่างน้อยวันนี้ต้องมีหนึ่งเรื่องที่ดีเกิดขึ้นกับฉัน

ถ้าวันหนึ่งไม่มีศรีจันทร์บนโลกนี้ มีใครเดือดร้อนไหม

เป็นคำถามที่เราถามตัวเองเสมอนะ ว่าถ้าวันหนึ่งเราไม่อยู่แล้วจะมีคนคิดถึงเราไหม เราเชื่อว่ายังมีคนที่รู้สึกว่าใช้ของเราแล้วเป็นของที่คุ้มค่า ซื้อมาเป็นตลับที่ 30 แล้วในชีวิต เราเชื่อว่ามีคนเหล่านั้นอยู่ที่อยากให้เราอยู่ต่อ เราพยายามสร้างคนเหล่านั้นให้มากขึ้น นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของการทำสินค้า ทำแบรนด์และทำธุรกิจที่ดี

รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์ ไอดอลคนทำธุรกิจผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการเครื่องสำอางไทย

การทำธุรกิจในวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมแค่ไหน

เมื่อก่อน การทำธุรกิจต้องมีบริษัท มีคน มีที่ดิน มีปัจจัยมากมาย แต่วันนี้เรากำลังพูดถึงความสามารถที่คุณขายแก่ใครก็ได้ คนละแบบกับฟรีแลนซ์นะ เช่น งานของ Mission to the Moon เป็นการตกลงกันระหว่างผมกับทีมงาน มีลักษณะเป็น Profit Sharing Based นั่นคืองานที่ทำแปรผันตรงกับผลตอบแทน เหตุผลที่ต้องทำแบบนี้เพราะปริมาณงานไม่คงที่ ซึ่งจะมีงานลักษณะนี้เยอะมากขึ้น ต่อไปเราจะไม่พูดถึงเวลาทำงานแล้ว เราแทบไม่สนใจว่าคุณอยู่ที่ไหนตราบใดที่ได้รับชิ้นงานที่มีคุณภาพตามปริมาณที่ตกลง

คนทำธุรกิจเป็นกับคนทำธุรกิจที่ดีแตกต่างกันอย่างไร

คนทำธุรกิจเป็นจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้และมีกำไร แต่คนทำธุรกิจที่ดีจะคิดถึงและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนขององค์กร โดยเฉพาะความสุขของคนที่อยู่กับเรา ซึ่งต้องผ่านวิธีคิดที่ลึกซึ้งกว่าการทำธุรกิจให้มีกำไรเพียงอย่างเดียว

ลึกซึ้งขนาดไหน

คุณอาจจะคิดว่าการให้ค่าตอบแทนที่มากพอเท่ากับมอบความสุขให้ทีมงาน แท้จริงคือการได้ทำงานที่มีความหมาย เขารู้ว่าเขาทำอะไรไปเพื่ออะไร กระบวนการออกแบบวิธีสร้างความสุขนั้นไม่ยาก สิ่งที่ยากคือการติดตามผลของความรู้สึกว่าเขาทำงานอยู่ที่นี่แล้วมีความหมาย อยากอยู่ทำงานไปเรื่อยๆ

คุณเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน

ผมทำงานกับทีมโดยอยู่ในสมมติฐานที่ว่าเขาทำงานนั้นได้ดีกว่าผมทำเอง ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่ผมทำไม่ใช่การสั่งงานแล้วไปตาม แต่นั่งคุยกันว่าคุณอยากทำอะไร นี่คือโจทย์ใหญ่เลย เมื่อตกลงกันว่าเขาจะทำสิ่งนี้ผมจะถามต่อว่าต้องการให้ผมช่วยอะไรบ้าง จากนั้นติดตามผลกันและกันเพื่อให้โอกาสเขาได้ทำงานที่เขาอยากทำมากที่สุด ผมมีความเชื่อว่าเราจำเป็นที่ต้องหาคนที่ทำงานนั้นได้เก่งกว่าเรา ไม่งั้นเราก็จะต้องทำงานเองอย่างอดไม่ได้ เราก็จะเหนื่อย เขาก็จะไม่ภูมิใจ

งานเขียน งานพูดให้แรงบันดาลใจ งานพอดแคสต์ และวิ่ง ทำให้คุณมองโลกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

เกี่ยวกับวิ่ง ดีต่อสุขภาพ แต่ถ้ามาเกินไปก็อันตราย วิ่งสอนเราว่าชีวิตก็เท่านี้ไม่มีอะไรซับซ้อน วิ่งพาเรากลับไปสู่รากของการเป็นมนุษย์ ผมใช้เวลานี้อยู่กับตัวเองไม่คิดอะไร และเนื่องจากมีการวัดผลตลอดเวลาก็ทำให้ผมตั้งเป้าหมายใหม่ๆ กับตัวเอง ได้ความตื่นเต้นนะ ส่วนพอดแคสต์ทำมานานมากและเราก็ได้อะไรเยอะ บางเรื่องคงไม่ได้อ่าน ไม่ได้รู้ หากทำไมพอดแคส เช่น กฎประเภทไหนที่ทำให้คนทำผิดเยอะกว่ากัน ที่เขาบอกว่า Live Long Learning สำหรับเราก็คงเป็นเรื่องนี้ ตัวอย่างเรื่อง Introvert Extrovert สมัยก่อนเราไม่มีทางเข้าใจ พอค่อยๆ อ่านก็เริ่มเห็นตัวเอง เริ่มเห็นคุณค่าของการให้และรับฟีดแบ็กจากคนอื่น ทำให้ผมชอบเขียนบทความถึงเรื่องการรับมือกับกระแสตอบรับทั้งบวกและลบ เพราะมันค่อนข้างสำคัญกับชีวิตการทำงานร่วมกัน

รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์ ไอดอลคนทำธุรกิจผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการเครื่องสำอางไทย

มีเส้นแบ่งหรือจุดไหนที่ยอมรับกับตัวเองว่ากำลังเหนื่อยเกินไป

มีคนชอบคิดว่าผมเป็นคนชอบทำงานตลอดเวลา จริงๆ แล้วไม่ได้ขนาดนั้น มีวันที่เหนื่อยจากการทำงานมาก มีวันที่คิดพอดแคสต์ไม่ออก 

จุดที่คิดว่า เฮ้ย เรายังไหว เราทำงานได้อีก แต่ความจริงคือไม่ไหวแล้ว ไม่สนุกแล้ว เราถามตัวเองว่าเพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้ ก็มาจากจุดที่ว่า เรารู้อยู่แล้วแหละว่าเกือบจะไม่ไหวแล้ว แต่เรากลัวโอกาสนี้จะหลุดลอยไป เรากลัวว่าถึงวันที่งานนั้นสำเร็จแล้วเราต้องมานั่งเสียดายที่ไม่ทำมัน เราจึงตัดสินใจรับงานนั้นมาทำและอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งไม่ดีนะ ไม่มีประสิทธิภาพ มันเหนื่อยเกินไป เราจะคิดอะไรไม่ออก ผมเช็กอีเมลไม่จบมาหลายวันแล้ว เพราะระหว่างที่เช็กก็คิดเรื่องอื่นไปด้วย บอกตัวเองว่าอยากพัก แต่พอดูปฏิทินแล้วทำไมได้

เพราะไม่ปฏิเสธโอกาสที่เข้ามาหาเลยหรือเปล่า

สมัยก่อนเป็นคนไม่ปฏิเสธคนนะ เดี๋ยวนี้ดีขึ้นมากแล้ว แต่พอปฏิเสธไปเราก็อยากไปหาอะไรมาทำอยู่ดี

เชื่อว่าหลายคนเป็นเหมือนกัน อาการเหมือนคนหมดไฟ แต่เรารู้ตัวว่าไม่ได้หมดไฟ แค่เหนื่อยเกินไป อยากทำทุกอย่างแต่มันเหนื่อยแล้ว ขอคำแนะนำได้ไหม

ผมก็ยังหาทางอยู่นะ ถ้ามั่นใจว่าอยากทำทุกอย่างให้เกิดขึ้นจริงๆ ต้องยอมเข้มงวดกับตารางชีวิตประจำวัน 

คือต้องยอมสุดโต่ง

ประมาณหนึ่งเลย ช่วงที่ผ่านมาใช้วิธีนี้ กำหนดเวลาในการทำสิ่งต่างๆ เป๊ะมากๆ หรือไม่ก็คงต้องทบทวนว่ามีบางอย่างเราทำไปเป็นกิจวัตรทั้งๆ ที่ไม่อยากทำแล้วและเลิกได้บ้างไหม

คุณบอกตัวเองยังไงให้ยอมถอยจากสิ่งที่ชอบทำ

ต้องบอกตัวเองว่าถ้าไม่ถอยงานอื่นก็เละ คุณภาพของงานเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะไม่ปล่อยผ่านเลย อะไรที่ตกลงกันได้ก็ลองพูดคุยกัน ดีกับเขาด้วยนะเพราะไม่ทำให้คุณภาพงานลดลง ตัวอย่างงานของ Mission to the Moon มันใหม่ทุกวัน คนที่ทำงานพวกนี้ ใช้พลังงานสร้างสรรค์มาก และไม่มีมนุษย์คนไหนทำได้ตลอดเวลาหรอก เท่าไหร่คือไหว หาจุดนั้นให้เจอและบริหารจัดการมัน

ในชีวิตนี้มีเรื่องไหนที่คุณรู้สึกเสียดายอะไรบ้าง

อยากเรียนหนังสือเยอะกว่านี้ มีความคิดอยากกลับไปเรียนหนังสือในห้องเรียนจริงจัง อยากเรียนจิตวิทยา เชื่อไหมว่าผมลงเรียนคอร์สออนไลน์มานับไม่ถ้วน แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่เรียนจบ เพราะบรรยากาศที่ทำให้ไม่มีสมาธิ ขณะที่ฟังครูสอนก็อยากเช็กเมลไปด้วย สุดท้ายก็ไม่ได้ฟังต่อ ผมสงสัยว่ามีคนเรียนคอร์สออนไลน์จบหลักสูตรมั้ย เจอข้อมูลว่ามีคนเรียนจบเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ขนาดว่าจ่ายเงินเรียนแล้วนะ หลายคนยอมจ่ายคอร์สออนไลน์เพียงเพื่อบังคับให้ตัวเองเรียน แต่ก็เรียนไม่จบอยู่ดี ผมรู้สึกว่าต้องการอะไรสักอย่างเชื่อมเรากับห้องเรียน

ทำไมสนใจวิชาจิตวิทยา

มนุษย์เราซับซ้อนนะ และมีโอกาสที่จะซับซ้อนมากไปกว่านี้อีก คนที่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจะขายของได้ จะมีชีวิตที่ดี สำคัญคือต้องเข้าใจตัวเอง บางทีความสุข ความทุกข์ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์แต่เป็นตัวเราที่มองเหตุการณ์นั้นมากกว่า ยุคนี้การสอบเข้าคณะจิตวิทยาใช้คะแนนสูงมากและจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์ ไอดอลคนทำธุรกิจผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการเครื่องสำอางไทย

10 Questions Answered

by CEO of Srichand United Dispensary Co.,Ltd.

1. สิ่งแรกที่ทำเมื่อถึงออฟฟิศ

เขียน ผมมีสมุดจด 4 เล่ม ชอบเครื่องเขียนมากจะมีสติกเกอร์เล็กๆ สำหรับจดบันทึกประจำวันว่าเรื่องไหนสำคัญ วันนี้จะคุยกับใครบ้าง ทุกเช้าจะคิดธีมแต่ละวัน ไม่ใช่เช็กลิสต์ด้วยนะ เขียนให้เต็ม 1 หน้ากระดาษขนาด A5

2. ถ้าให้คุณเขียนจดหมายถึงตัวเองในอดีตจะเขียนถึงช่วงเวลาไหน และเนื้อความส่วนใหญ่พูดเรื่องอะไร

เขียนถึงตัวเองช่วงเรียนจบใหม่ๆ เพื่อบอกว่าให้ตั้งใจทำงานและออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ มากกว่านี้

3. คำถามสัมภาษณ์พนักงานใหม่

อะไรคือเรื่องเลวร้ายที่สุดที่คุณเจอ แล้วคุณผ่านเรื่องราวเหล่านั้นมาได้อย่างไร

4. คำพูดติดปาก

เวลามีคนถามว่าอยากให้ส่งงานนี้เมื่อไหร่ ผมจะตอบกลับไปว่า อยากได้เมื่อวาน

5. ถ้าให้เลือกทำอาชีพได้เพียงอย่างเดียว

ขอเป็นครู อยากสอนวิชาจิตวิทยา

6. หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน

PARIS IN PAIRS ปารีสบนดาวดวงอื่น ของ โชติกา ปริณายก

7. สเตตัสล่าสุดที่เขียน

รื่องวิ่ง มีพี่คนหนึ่งบอกว่า เราจะเป็นคนอายุ 40 ปี ที่เดินขึ้นบันได 3 ชั้นแล้วเหนื่อย หรือวิ่งมารธอนจบก่อนเวลา 3 ชั่วโมงก็ได้

8. เบอร์รองเท้าวิ่ง

เบอร์ 10

9. ความสามารถพิเศษที่คนไม่ค่อยรู้

เป็นความสามารถแย่ๆ ได้ไหม เราเป็นคนร้องเพลงไม่ได้เลย ถ้าจำเป็นต้องร้องจริงๆ จะเลือกเพลงคีย์ต่ำๆ ไว้ก่อน

10. คุณไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้ตอนไหนได้บ้าง

Nike

CEO’s TIP

“ในอนาคตจะเห็นธุรกิจเติบโตโดยที่ไม่ได้ขึ้นกับขนาดของอาคารสำนักงานหรือขนาดของทีมอีกต่อไป แต่ขึ้นกับไอเดียของธุรกิจนั้นว่าส่งผลกระทบต่อวงการหรือตลาดมากแค่ไหน” รวิศ หาญอุตสาหะ

ศรีจันทร์ก้าวข้าม SME ไปสู่องค์กรที่ทำงานมืออาชีพ ด้วยการบริหารจัดการทีมที่คนน้อยๆ เป็นองค์กรลีน ที่บริหารโดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า สิ่งสำคัญคือ ต้องมีพาร์ทเนอร์ที่เก่งในแต่ละด้าน ซึ่งช่วยให้องค์กรทำงานคล่องตัวและยืดหยุ่นได้ ช่วยสนับสนุนให้ทำธุรกิจง่ายขึ้น และพาร์ทเนอร์ทางด้านการสื่อสาร ที่ศรีจันทร์ไว้วางใจ คือ dtac SME ที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ด้วยการใช้ Cloud เชื่อมต่อระบบและเก็บข้อมูลการโทร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน 

“เวลาผมเดินทาง หรือทีมทำงานกันอยู่ข้างนอก ไม่อยู่ออฟฟิศก็สามารถโทรเข้ามาด้วยระบบประชุมสาย และแพ็กเกจโทรกลุ่มด้วยระบบโทรศัพท์สำนักงานที่ทำให้รับสายลูกค้าที่โทรเข้าเบอร์สำนักงานได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านมือถือ ระบบนี้ทำให้บริษัทสามารถจัดการสายเข้า เช่น ระบบเสียงตอบรับอัตโนมัติ ระบบโอนสาย รับสาย โทรออก ที่เป็นมาตรฐานเดียวกับระบบโทรศัพท์สำนักงานแบบตู้สาขาโทรศัพท์ดั้งเดิม (PBX) แต่ประหยัดกว่าหลายเท่า ช่วยให้รับสายลูกค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องอยู่ออฟฟิศ ไม่ต้องวางระบบที่ลงทุนสูงเหมือน PBX ไม่ต้องจ้างพนักงานดูแลระบบ และไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษา เนื่องจากดีแทค เป็นผู้ดูแลระบบให้”

ระบบจัดการโทรศัพท์สำนักงานแบบใหม่ ทำให้ศรีจันทร์ออกแบบเบอร์โทรต่อสาย เชื่อมการทำงานติดต่อสื่อสารในแบบมืออาชีพ ไม่ว่าภายในและภายนอกองค์กรไม่มีสะดุด เพราะยกระบบเข้ามาอยู่ในโทรศัพท์มือถือทั้งหมด เพื่อให้เข้ากับออฟฟิศการทำงานยุคใหม่ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ dtac SME หรือซิม WorryFree ได้ที่  dtac.co.th/sme (http://bit.ly/dtacsme_srichand) หรือโทร 088-188-1678

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan