17 มิถุนายน 2022
5 K

The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

ตอนที่เราดูหนังแล้วรู้สึกว่า นักแสดงในเรื่องมีความน่าเชื่อถือทั้งบุคลิก หน้าตา และการแสดงในบทบาทต่าง ๆ หรือแม้แต่บางคนเห็นเพียงไม่กี่วินาที แต่กลับรู้สึกว่าเขาเป็นคนคนนั้นได้อย่างสมจริง นั่นคืองานของ Casting Director ที่ทำการคัดเลือก ทดสอบ ผ่านขั้นตอนตามระบบกองถ่าย จนเข้าสู่การแสดงในภาพยนตร์

ผมอยากชวนทำความรู้จักกับคนทำงานตำแหน่งนี้ ซึ่งผ่านการทำงานยาวนานเกือบ 40 ปี กับกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศที่มาถ่ายทำในประเทศไทยและย่านอาเซียน เขาคือ หนอน-ระวีพร ยุงไมเยอร์ ผู้เคยร่วมงานกับผู้กำกับต่างประเทศ อย่าง Danny Boyle, Luc Besson, Oliver Stone และในภาพยนตร์-ซีรีส์สารพัดเรื่อง อาทิ Only God Forgives, Heaven & Earth, The Beach, The Lady, Buoyancy, The Rocket, Bangkok Breaking ฯลฯ และเธอก็รวมกลุ่มกับเพื่อนพี่น้องคนทำงานสร้างสรรค์ จัดตั้ง กลุ่ม CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ขึ้นมาด้วย

หนอน ยุงไมเยอร์ Casting Director วัย 58 ผู้เฟ้นหานักแสดงให้หนังต่างประเทศมานานกว่า 29 ปี
ถ่ายบนเรือที่เขมร ตอนถ่ายทำภาพยนตร์ Buoyancy

“สวัสดีครับ ผม โป๋ย ศักดิ์ชาย ทำงานเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ เป็นหนังไทยแบบอินดี้หน่อยนะครับ ไม่ค่อยมีตำแหน่งCasting Directorแบบชัดเจนมาก พอดีทางเว็บเขาชวนมาทำสัมภาษณ์ ตอนนี้ผมเป็นผู้กำกับว่างงาน เลี้ยงวัวอยู่แถวบ้าน (สุรินทร์) เลยมาทำดูครับ เคยทำสัมภาษณ์ลงหนังสือเมื่อนานมาแล้ว เลยได้กลับมาลองดูอีกที”

ผมแนะนำตัวกับคุณหนอน ก่อนถามเธอต่อว่า “คุณหนอนอายุเท่าไหร่ครับ”

“58 เกือบจะ 59 แล้วค่ะ” เธอตอบ “ผม 52 แต่คุณดูเด็กกว่าผมอีกครับ” ผมตอบ

ระบบการทำงานของ Casting Director ในกองถ่ายภาพยนตร์ฝรั่งเป็นยังไงบ้างครับ

ในกองถ่ายทำหนังฝรั่ง ทางแคสติ้งจะปล่อยให้แผนกแคสติ้งทำ แบ่งเป็น Casting Director กับ Extra Casting ซึ่งคนทำCasting Directorต้องเก่งการจัดการ ต้องออดิชันเลือกคนที่เล่นเป็น ครีเอทีฟในการกระจายบท ตีความบท เลือกสคริปต์ เลือกว่าจะเอาซีนไหนให้เขาเล่น ส่วนแพลนการทำงานก็ชัดเจน เป็นระบบ

อาชีพนี้ เรามีหน้าที่หาความเป็นไปได้ของนักแสดงในแต่ละบทมาให้มากที่สุด โดยฟังจากความต้องการของผู้กำกับเป็นหลัก อาจแอบใส่สิ่งที่ตัวเองชอบหรือความคิดของตัวเองไปบ้างก็ได้ แต่อย่าให้เขาจับได้ (หัวเราะ) การมี Casting Director ช่วยให้ผู้กำกับทำงานสร้างสรรค์และต่อยอดไปได้อีก โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยหานักแสดงเอง

(คุณหนอนถามกลับ) ใน ‘หนังไทย’ ผู้กำกับจะใช้ผู้ช่วยผู้กำกับเป็นแคสติ้งใช่ไหมคะพี่โป๋ย

บางบริษัทหรือหนังทุนเยอะ ๆ ก็อาจจะมีครับ แต่ในงบแบบที่ผมทำ นักแสดงหลัก ถ้าเป็นดาราก็ไม่ต้องมีแคสต์ แต่นักแสดงประกอบ พูด 2 – 3 ประโยค ก็อาจใช้ผู้ช่วยผู้กำกับทำหน้าที่แคสติ้ง บางทีเนื้อเรื่องหรือสถานที่ก็มีส่วนเหมือนกัน ถ้ากองถ่ายในกรุงเทพฯ ก็เอาคนมาได้เยอะ ถ้ากองถ่ายต่างจังหวัด มีทั้งค่าเดินทาง ค่าอื่น ๆ เลยต้องแคสต์คนท้องถิ่นมาเล่นทั้งหมด ผมเป็นบ่อยมาก ทุนไม่สูง ก็เอาทีมงานหรือทีมไฟมาเล่น เอาความใกล้เคียงกับคาแรกเตอร์ ซึ่งมันจะไม่เป็นระบบเหมือนหนังฝรั่งที่กองใหญ่ ๆ หรือทุนเยอะกว่า

Casting Director เป็นสายงานที่ผมไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ ก็เลยอยากรู้ว่าหนังฝรั่ง เขาแคสต์บทเยอะขนาดไหน บทที่มีแค่ 2 – 3 ไดอะล็อกก็แคสต์ด้วยใช่ไหมครับ

ใช่ค่ะ ถ้าหนังฝรั่งมาถ่ายเมืองไทย เมื่อสมัยก่อนเขาเอาทีมงานฝรั่งมาเป็น Casting Director และมีผู้ช่วยเป็นคนไทย ส่วนใหญ่บทพูดเยอะ ๆ เขาหานักแสดงมาหมดแล้ว เหลือบทพูดเล็ก ๆ น้อย ๆ พวก Featured Extras จะหาที่เมืองไทย

Casting Assistant ที่เป็นคนไทยก็ไปหาตัวเลือกมาให้เพื่อมาออดิชัน พอหลัง ๆ เขาเห็นว่าเมืองไทยเริ่มมีนักแสดงพูดภาษาอังกฤษได้ พอจะเล่นบทพูดได้บ้าง ก็หาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เขาก็เริ่มจ้างเราเป็น Casting Director โดยไม่ต้องจ้างทีมงานฝรั่งมาเป็นเจ้านาย แล้วเราก็หาบทที่ใหญ่ขึ้นได้ด้วย

จริง ๆ ตัวเราก็ค่อนข้างอยากนำเสนอด้วยค่ะ (หัวเราะ) เวลามีบทมา สมมติเขาให้หานักแสดงเบอร์ 21, 22, 23, 26, 27 เราก็อาจจะสรรหาเบอร์ 14 มานำเสนอ เห้ย! ประเทศเราก็มี ไม่ต้องเอานักแสดงมาก็ได้ ลองดูประเทศเราไหม เราเริ่มจากตรงนั้น ค่อย ๆ เป็น Casting Director โดยที่เขาไม่ต้องส่งฝรั่งมา ประหยัดเงินเขา จ้างคนไทยแทน

หนอน ยุงไมเยอร์ Casting Director วัย 58 ผู้เฟ้นหานักแสดงให้หนังต่างประเทศมานานกว่า 29 ปี
ถ่ายตอนทำหนังเรื่อง The Beach หาตัวประกอบเป็นแบ็กแพกเกอร์จริง ๆ ที่ภูเก็ต กระบี่ เกาะพะงัน

การทำงาน Casting Director หมายถึง จัดบทมาแคสต์พระเอก นางเอก ตัวรอง ผู้ร้าย แล้วตำแหน่งนี้มีสิทธิ์ตีความบทขนาดไหน หรือผู้กำกับกำหนดมากน้อยแค่ไหนในกระบวนการทำงาน

แล้วแต่ผู้กำกับค่ะ  ผู้กำกับบางคนไม่กำหนดเลย บางคนอ่านบทแล้วให้เราหามาเลย หรือผู้กำกับบางคนก็บอกความต้องการมาเลย อายุเท่านี้ถึงเท่านี้ เป็นคนเชื้อชาตินี้ ต้องถูกต้องตามที่ผู้กำกับต้องการ

อาจจะเป็นความเข้าใจผิดของผมก็ได้ สมมติว่า หนังเตรียมงานเดือนกุมภาพันธ์ ถ่ายทำเดือนมีนาคม งานแคสติ้งไม่ได้จบตั้งแต่ตอนเตรียมงาน ตอนถ่ายก็ยังต้องไปทำงานอยู่ใช่ไหมครับ

สมมติถ่ายทำเดือนมีนาคม เราจะถูกจ้างตั้งแต่เดือนธันวาคมหรือเดือนมกราคม เพื่อให้ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องเลือกนักแสดง เช่น โปรดิวเซอร์ ไดเรกเตอร์ และทำสัญญากับนักแสดงที่มีบทเยอะ ๆ เพราะบางครั้งต้องซ้อม ต้องฝึกความสามารถบางอย่าง เช่น ขี่ม้า พูดภาษาต่างประเทศ ฯลฯ หลังจากนั้น Extra Casting จะหาตัวประกอบทั้งหมดที่ไม่มีบทพูด ส่วน AD (Assistant Director หรือผู้ช่วยผู้กำกับ) ก็จะมี Breakdown มาให้วางแผนว่าจะไปจังหวัดนั้นในวันนี้ เพื่อหาตัวประกอบเตรียมไว้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 แผนก ตามความถูกต้องจริง ๆ ของระบบหนังนะคะ ในตอนแรกที่เราทำให้หนังฝรั่ง เราทำเองหมดเลย ตั้งแต่ Casting Director จนถึง Extra Casting

สำหรับเรา การออดิชันสำคัญมาก การตัดต่อ การเลือกเทก บางครั้งตอนเราถ่าย เราบอกคนตัดต่อว่า เราชอบเทก 2 พอมานั่งดูจริง ๆ มาตัดต่อจริง ๆ เราจะพบอะไรบางอย่างที่รู้สึกว่า ขอนำเสนอเทก 3 ดีกว่า เลยเป็นเหตุผลที่เมื่อก่อนเราทำเองทุกอย่าง เราชอบตัดเอง เราทำงานหนัก เรายอมอดนอน เราไม่กลัว (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้แก่แล้ว ก็มีผู้ช่วยที่รู้ใจช่วยตัดต่อให้บ้างในบางงานค่ะ

ยุคแรกของการทำงานได้รับค่าตอบแทนเท่าไหร่ครับ

ตอนนั้นได้ค่าตอบแทนเป็นสัปดาห์ค่ะ เพียงแต่ค่าตัวเราอาจจะถูกกว่าเขาหน่อย (หัวเราะ) 25,000 ต่อสัปดาห์นะ ไม่ใช่ต่อเดือน เป็นค่าตัวสมัยก่อน เขาจ้างเราทั้งเรื่องเลย สำหรับฝรั่ง ค่าตัวคนทำงานในเมืองไทยถูกมากนะ ซึ่งคนฝรั่งที่ทำอาชีพแคสติ้ง ค่าตัวต่อสัปดาห์แพงมาก 5,000 เหรียญฯ ได้ ขอลองคูณ 30 นะ 150,000 บาท

หน้าที่เราทำตั้งแต่หานักแสดงมีบทพูด จนถึงหาเอ็กซ์ตร้า ซึ่งการหาเอ็กซ์ตร้าเป็นงานที่เราชอบมาก ไปภูเก็ต พังงา ถือกล้อง 1 ตัว แล้วก็ไปเดินหาเอ็กซ์ตร้า บางทีหาบทพูดเล็ก ๆ ในท้องถิ่นหรือในโลเคชัน ซึ่งงานแบบนี้เขาเรียกว่า Street Casting ทำงานมาจนถึงตอนนี้ก็ได้ค่าตัวเพิ่มขึ้นตามเครดิตและประสบการณ์ค่ะ

ก่อนเริ่มต้นทำงาน Casting Director คุณหนอนค่อย ๆ สะสมประสบการณ์จากงานอื่นมาก่อน

เราเรียนสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนเกี่ยวกับ Visual Communication พอจบออกมาก็ทำงานเอเจนซี ตำแหน่งครีเอทีฟ จนเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ พอมีโอกาสออกกองหนังโฆษณาในฐานะครีเอทีฟในตอนนั้น ก็รู้สึกว่าชอบทำงานโปรดักชันมากกว่า เลยลาออกจากเอเจนซีไปสมัครงานโปรดักชันที่สยามสตูดิโอ

เริ่มทำตั้งแต่แผนกอาร์ตจนได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ได้เป็นเป็นผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณาที่นี่อยู่ 3 ปี พอดีช่วงนั้นมีหนังฝรั่งเข้ามาถ่ายเมืองไทยเยอะ ที่โปรดักชันเฮาส์เขาก็ส่งพวกแผนกกล้อง แผนกไฟไปออกกองหนังฝรั่ง ให้เช่าเครื่องมือเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็อยากไปดูว่ากองฝรั่งเขาทำงานกันยังไง ก็ไปขอเจ้านาย เจ้านายไม่ให้ไป ก็เลยลาออก มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับฟรีแลนซ์ แล้วไปสมัครงานกองหนังฝรั่ง

หนอน ยุงไมเยอร์ Casting Director วัย 58 ผู้เฟ้นหานักแสดงให้หนังต่างประเทศมานานกว่า 29 ปี
ภาพตอนหาตัวประกอบที่พังงา ตอนนั้นทำหนังฝรั่งเรื่องแรก ชื่อ Heaven & Earth ของ Oliver Stone

ในงานแต่ละงาน คุณมีสังกัดที่รู้จักแล้วชวนกันต่อ หรือว่าชื่อของคุณถูกรีเควสต์ครับ

ระบบโปรดักชันจากเมืองนอก เวลายกกองมาประเทศไทย มี 2 แบบ เรียกว่า Service Company เช่น Living Film, Indochina, Santa International กรณีนี้เขาจะมีคนที่ใช้งานกันประจำอยู่แล้ว แต่ถ้ากองถ่ายมาแบบอินดี้ ไม่รู้จักใคร ไม่มีตังค์ หรือไม่ใช่บริษัทใหญ่ ๆ จะมีสิ่งที่เรียกว่า Internet Movie Database (IMDb) เป็นแหล่งข้อมูลของคนทำหนังจากทั่วโลก เขาจะรู้เลยว่าประเทศไทยมีใครเคยทำตำแหน่งอะไรบ้าง เขาก็อาจจะติดต่อหาเราโดยตรง ซึ่งคนที่ทำงานกับหนังฝรั่งในเมืองไทย ส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์กันหมดค่ะ

มีกองถ่ายหนังเรื่องไหนที่ทำงานด้วยแล้วประทับใจไหมครับ

เรื่อง Only God Forgives ค่ะ เป็นหนังอินดี้นิด ๆ ผู้กำกับไม่ใช่ผู้กำกับฮอลลีวูด แต่พอดีเขาได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเรื่อง Drive จากคานส์ แล้วค่อยมาทำ Only God Forgives เราประทับใจตรงที่ผู้กำกับค่อนข้างเป็นอาร์ติสต์ เขาบอกเราว่าไม่ต้องไปทำเทสต์เยอะแยะ เลือกคนมาสัมภาษณ์ก่อน ถ้าไอชอบชีวิตเขา ไอจะเลือก ช่วยไปหาคนจริง ๆ นะ อย่างตำรวจเนี่ย ก็ไปหาตำรวจจริง ๆ ถ้าเป็นมือปืน หนอนไปหาคนเป็นมือปืนมาเลย ไออยากรู้ว่ามันมีท่าทียังไง

เรารู้สึกว่ามันเป็นงานแคสติ้งที่ได้โจทย์เหมือนเขาเอาเงินมาให้เราเล่น ได้เงิน ได้ทำงาน แล้วก็ได้หาคนประหลาด ๆ มาด้วย ซึ่งฝรั่งที่เล่นเป็นตัวประกอบที่โดนทรมานในหนัง ดังไปเลยนะ หลังจากนั้นมีงานที่อังกฤษเพียบเลย

แล้วอย่างหนังเรื่อง The Lady ล่ะครับ

เรื่องนี้เป็นของผู้กำกับ Luc Besson เขาเป็นผู้กำกับเบอร์หนึ่งของฝรั่งเศสค่ะ ซึ่งเราเป็นแฟนเขาจากเรื่อง Nikita, Léon, The Fifth Element ซึ่งหนังเรื่อง The Lady เราแคสต์นักแสดงทุกคนที่ไม่ใช่ Michelle Yeoh แฟน Michelle Yeoh และครอบครัวในเรื่อง นั่นเขาแคสต์มาจากฝรั่งเศสกับอังกฤษแล้ว ที่เหลือแคสต์ในเมืองไทยค่ะ

ด้วยความที่หนังเรื่องนี้เป็นหนังเกี่ยวกับพม่า เราก็อยากหาคนที่พูดภาษาพม่าได้จริง ๆ ในประเทศไทย เพราะยกกองไปถ่ายที่พม่าไม่ได้ ก็พยายามเจาะทุกทาง เจาะเข้าไปหาคนในชุมชนพม่า แต่เขาไม่ไว้ใจใครง่าย ๆ เราใช้เวลาอยู่นานมาก จากคนไม่รู้จักกลายเป็นคนรู้จัก เราใช้เวลาประมาณ 4 – 5 สัปดาห์ กว่าจะเจาะได้ 1 คน พอเจาะได้ 1 คน เขาไว้ใจเราแล้ว เขาก็จะบอกต่อ สนุกมาก แล้วคนพม่าเป็น Non-actor ที่เล่นหนังเก่งทุกคน ให้ร้องไห้ก็ร้อง

มีหนึ่งฉากที่น่าสนใจ คือตอนที่ Michelle Yeoh เล่นเป็น อองซานซูจี แล้วขึ้นไปกล่าวปราศรัย ตอนนั้นเธอไม่มีเวลาพอที่จะฝึกภาษาพม่าจริง ๆ แต่ฝึกพูดจากการศึกษาเทปของอองซานซูจีตอนกล่าวปราศรัย เธอฝึกพูดจนเหมือนมาก พอต้องเข้าฉากขึ้นปราศรัย นักแสดงตัวประกอบพม่าร้องไห้เลย โอ้ ประทับใจมาก เก่งมาก

หนอน ยุงไมเยอร์ Casting Director วัย 58 ผู้เฟ้นหานักแสดงให้หนังต่างประเทศมานานกว่า 29 ปี
ทีมแคสติ้งไทยถ่ายภาพกับ Luc Besson เป็นที่ระลึกในวันถ่ายวันสุดท้ายของภาพยนตร์ The Lady

นอกจากงานในประเทศ คุณยังขยายการทำงานของอาชีพ Casting Director ในอาเซียนด้วย

มีไปประเทศกัมพูชา ลาว แต่เรื่องที่กัมพูชา เขาขอถ่ายเมืองไทยไม่ได้ เลยต้องไปที่นู่น (กัมพูชา) เป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงงานประมง สมัยหนึ่งที่ The Guardian ออกข่าวว่า ประเทศไทยใช้แรงงานทาสในเรือประมง คนที่มาคุยกับเราเป็นคนออสเตรเลีย แล้วเราต้องไปหาตัวเอกเป็นเด็กเขมรที่ถูกหลอกมาขายเป็นทาสบนเรือ มีไต้ก๋งเป็นคนไทย

เราไปหานักแสดงเด็กตัวเอกในพนมเปญ ไปหาในวิทยาลัยการแสดงก็ได้ตัวเลือกมาส่วนหนึ่ง แล้วเราก็ไปเสียมเรียบไปถึงก็ไปเจอ NGO Organization ที่ดูแลรับเลี้ยงเด็กข้างถนนที่เสียมเรียบ มีเด็กคนหนึ่งน่ารักมากเลย อายุ 15 เราเทสต์เด็กในนั้นทุกคน แล้วคนนี้โดดเด่นมากที่สุด เลยได้เป็นพระเอกในหนังเรื่อง Buoyancy แล้วก็มีไปถ่ายในประเทศพม่าบ้าง เป็นพวกหนังโฆษณาค่ะ

คุณหนอนมีวิธีหาคนมาแคสต์จากไหนบ้างครับ

เราทำอาชีพนี้ สะสมคนไว้เยอะค่ะ เวลาไปเจอใคร เพื่อน เพื่อนของเพื่อน เพื่อนของพี่ เพื่อนของพี่คนนั้นคนนี้ เขารู้ว่าเราเป็นแคสติ้งก็จะแนะนำมาอยู่แล้ว จากนั้นเราก็จะเก็บไว้ใน Database พอมีเฟซบุ๊กเราก็ไปติดตามเขา แล้วก็ติดตามเพื่อนของเขา (ในเฟซบุ๊ก) เพราะเพื่อนกันจะมีไทป์หรือความสนใจที่คล้ายกัน จนเรารู้สึกว่า Mark Zuckerberg แม่งต้องมีญาติทำแคสติ้ง เพราะว่าตั้งแต่มีเฟซบุ๊ก ชีวิตแผนกแคสติ้งก็ดีขึ้นนะคะ

เมื่อก่อนกว่าคุณจะหาเบอร์นักแสดงสักคน หาไม่ได้หรอก คุณต้องค่อย ๆ หา ค่อย ๆ ถามคนนู้นคนนี้ ต่อไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้เปิดอินสตาแกรมทีเดียว คุณได้เบอร์ทุกคนเลย จบ สมมติอยากเช็กว่าเขาเป็นแบบไหน เคยทำอะไรมาบ้าง ก็เช็กได้จากยูทูบ กูเกิล เหมือนกัน เราก็ไปเช็กมาว่าพี่โป๋ยทำหนังอะไรมาบ้าง (หัวเราะ)

นอกจาก Casting Director เคยเปลี่ยนไปทำตำแหน่งอื่นไหมครับ

จากที่ทำมาหลายเรื่อง มีช่วงหนึ่งที่หนังฝรั่งเข้ามา แต่ไม่มีบทที่น่าสนใจเลย เป็นหนังบู๊เสียส่วนใหญ่ เขาก็จะให้เราหาตัวประกอบ หาคนกล้ามใหญ่ ๆ เราว่ามันน่าเบื่อ พอดีมีหนัง Rambo 4 เข้ามา เราเลยบอกโปรดิวเซอร์ว่า ไม่อยากทำแล้วนะ เบื่อ ไม่อยากคุยกับฝรั่งกล้ามใหญ่ ให้ทำผู้ช่วยผู้กำกับได้ไหม

เขาบอกว่าไม่มีตำแหน่งว่าง มาเป็น UPM (Unit Production Manager) ของกอง 2 ให้ได้ไหม ซึ่ง UPM คือผู้จัดการกองถ่าย ถ้าเทียบกับหนังไทย คือ ธุรกิจการจัดการในกองถ่าย เราก็ถามกลับว่า “หนอนจะทำได้เหรอ ไม่เคยทำ” เขาบอกว่า “กองเล็กนิดเดียว เธอเคยเป็น AD มาแล้ว ทำได้อยู่แล้ว ถ่ายแค่ 2 สัปดาห์เอง” เราก็เลยรับทำ

สนทนากับ หนอน-ระวีพร ยุงไมเยอร์ ผู้เฟ้นหานักแสดงทั่วราชอาณาจักร ถึงเส้นทางเกือบ 40 ปีของอาชีพ Casting Director
ถ่ายกับนักแสดงอังกฤษที่แคสต์มาเล่นภาพยนตร์เรื่อง Mechanic: Resurrection

พอตกลงทำ UPM แล้วเป็นยังไงบ้างครับ

พอทำไปทำมา กอง 1 ดันขี้เกียจ ซึ่งกอง 1 ผู้กำกับคือ Sylvester Stallone เขากำกับเอง เล่นเอง ถ่ายตัวเอง แสดงไปนิดเดียวแล้วก็เลิก ที่เหลือทิ้งให้กอง 2 มันเป็นแบบนี้ทุกวัน กอง 2 ก็เลยยาวและใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จาก 2 สัปดาห์ ก็เป็น 3 สัปดาห์ 4 สัปดาห์ 5 สัปดาห์ 6 สัปดาห์ กลายเป็นถ่ายอยู่ 2 – 3 เดือน (หัวเราะ)

ด้วยทุนสร้างที่เยอะ กองถ่ายหนังฝรั่งเลยมีความพร้อมในการทำงานมากกว่า

กอง Rambo 4 ส่วนที่สำคัญที่สุด คือสตั๊นท์ สตั๊นท์ในหนังฝรั่งเป็นเรื่องทางเทคนิคมาก มันมีสิ่งที่เรียกว่า Stunt Adjustment บางครั้งบางฉากที่เสี่ยงอันตรายมาก ๆ เขาจะคิดราคาเป็นเทก พอคิดเป็นเทก ก็จะต้องผ่านการอนุมัติจากคนหลายคน ดังนั้น การที่เราจะจ่ายเงินคนคนนี้เท่าไหร่ เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่มากในกองใหญ่

กองถ่ายหนังที่มีทุน มีเงินเยอะ เขาจ้างคนเยอะ กองก็ใหญ่ กลายเป็นอุปสรรคตรงกันข้ามกับหนังที่มีเงินน้อย คนมีเงินน้อยก็จะกองเล็ก ๆ เคลื่อนย้ายง่าย ไม่ต้องผ่านขั้นตอนเยอะ ไม่ต้องรอคำตอบนาน พอกองใหญ่ เจ้านายเยอะ กว่าจะอนุมัติต้องผ่านหลายขั้นตอน เคลื่อนย้ายไปไหนก็เป็นเรื่องใหญ่ เช่น เดินทาง ขนคน เตรียมพื้นที่ จัดที่ให้นั่งพัก ฯลฯ นี่เป็นเรื่องใหญ่มากในกองใหญ่ หนอนชอบทำกองเล็ก ๆ มากกว่า ชีวิตมีความสุข มีเจ้านายคนเดียว

ถ้าอยากทำอาชีพ Casting Director ต้องเริ่มต้นจากอะไรครับ

เริ่มได้หลายทาง อย่างตัวเราเริ่มจากเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ซึ่งปัจจุบันทุกคนเรียนได้เท่ากันจากอินเทอร์เน็ต ดังนั้น มาเป็นผู้ช่วยแคสติ้งสักเรื่องหนึ่งก็พอแล้ว ถ้าชอบจริง ๆ ทำได้จริง ๆ เป็น Casting Director เลยก็ได้ เพียงแต่งานนี้ไม่ได้ประกอบไปด้วยงานครีเอทีฟอย่างเดียว ต้องรู้จักการจัดการ เข้าใจเทคนิคการตัดต่อ การอัปโหลด ดาวน์โหลด ซึ่งประกอบด้วย 2 อย่าง ทั้งทางครีเอทีฟ ทั้งทางบริหารเงิน บริหารเวลา บริหารการนำเสนอ เสร็จแล้วก็มาบริหารการทำสัญญา เพราะมีสัญญาแบบต่าง ๆ จากสตูดิโอ เราก็ต้องเป็นหูเป็นตาให้นักแสดง ในฐานะที่นักแสดงเราอาจไม่เก่งภาษา เราเองก็ไม่มีประสบการณ์เรื่องการทำสัญญาอะไรสักเท่าไหร่หรอก แต่ก็มาช่วยเขาดูว่ามันยุติธรรมไหม ก็คือต้องทำหน้าที่เป็น Lawyer นิด ๆ ด้วย

สนทนากับ หนอน-ระวีพร ยุงไมเยอร์ ผู้เฟ้นหานักแสดงทั่วราชอาณาจักร ถึงเส้นทางเกือบ 40 ปีของอาชีพ Casting Director
ถ่ายกับสตั๊นท์ไทยที่เล่นเป็นทหารพม่าในเรื่อง The Lady รอยสักบนหน้าคือของปลอม ช่างแต่งหน้าวาดให้

ต้องมีคุณสมบัติอื่นอีกไหมครับ

ต้องชอบหนัง อย่างเราชอบดูหนังมาก ๆ ชอบอ่านหนังสือ เพราะคนที่อ่านหนังสือไม่เก่ง จะอ่านบทไม่เข้าใจ บางทีเข้าใจแค่ผิวเผินก็ไม่ได้ เพราะคนเขียนบทเก่ง ๆ จะซ่อนอะไรบางอย่างไว้ เขาไม่บอกตรง ๆ แต่จะมี Between the Lines เช่น ซีนที่ 16 มีบทพูดแบบนี้ แต่เขาไม่ได้พูดขึ้นมาเฉย ๆ นะ เขาพูดเพราะมีที่มา ถ้ามีทักษะเรื่องการอ่านก็ช่วยได้เยอะ ที่สำคัญต้องขยัน

ถ้าเราทำงานในแบบที่เราชอบ เราจะขยันโดยอัตโนมัติ เพราะมันสนุก พอสนุก เราจะไม่รู้สึกว่ากำลังทำงาน เราจะรู้สึกว่าเรากำลังเล่น มันสนุกดี I Love My Job! (พูดทันที)

ทำไมคุณหนอนถึงกล้าพูดเสียงดังเลยว่า I Love My Job!

สำหรับเรา มันเป็นอาชีพที่ชอบ ได้ทำหนังดี ๆ กับผู้กำกับดี ๆ หรือเวลาได้โจทย์ที่ท้าทาย เรารู้สึกว่ามันคุ้มค่าเวลาชีวิตที่จะทุ่มเทและขยันทำงาน ซึ่งการทำ Casting Director ก็เหมือนผู้กำกับในกองเล็ก ๆ ของเราเอง โดยเรามีอำนาจทุกอย่าง ไม่มีใครเป็นเจ้านายเรานอกจากผู้กำกับ เราได้เจอผู้กำกับในดวงใจหลายคน เจอ Danny Boyle ใน The Beach เจอ Luc Besson ใน The Lady เจอ Oliver Stone ใน Heaven & Earth ผู้กำกับแต่ละคน ใครบ้างจะไม่อยากเจอตัวจริง เราก็อยากเจอตัวจริง (หัวเราะ) และอาชีพนี้มันเป็นส่วนประกอบของทุกอย่างในตัวเรา เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออดิชัน การหาคน แล้วก็ใช้ความเป็นนักอ่าน ได้อ่านบท ได้อ่านสคริปต์แปลก ๆ

อีกอย่างเราเป็นคนแรกที่เปลี่ยนบทในกระดาษแผ่นนั้นให้ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว

เกือบ 40 ปีของการทำงาน คุณหนอนเรียนรู้อะไรบ้างในตำแหน่ง Casting Director

เราเรียนรู้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ มนุษย์ไม่ได้รู้จักตัวเองมากเหมือนกับที่คิด เมื่อคนอื่นมองเรา เขาจะเข้าใจตัวเรามากกว่าที่เราเข้าใจตัวเอง เราสังเกตจากการทำงาน บางทีผู้กำกับบอกว่าเขาเป็นคนแบบนี้ แต่จริง ๆ เขาไม่ได้เป็น การทำแคสติ้งทำให้เราเจอคนเยอะ ทำให้เราได้ออกค้นหามนุษย์ตั้งแต่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ลงมาถึงล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร จนถึงคนที่แม่งไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่อาหารเลย แต่นั่นแหละ มันทำให้งานเราสนุกมาก

ยิ่งเป็นคนที่สนใจในเรื่องมนุษย์ด้วยนะ รับรองถูกใจ

สนทนากับ หนอน-ระวีพร ยุงไมเยอร์ ผู้เฟ้นหานักแสดงทั่วราชอาณาจักร ถึงเส้นทางเกือบ 40 ปีของอาชีพ Casting Director
ถ่ายกับ Gaffer ไทยที่ไปถ่ายโฆษณาด้วยกันที่พม่า

คุณค่าของงานที่ทำมามากกว่าค่อนชีวิตสำหรับคุณหนอนคืออะไร

Casting Director พาเราไปสู่ข้อสรุปที่ว่า การพูดความจริงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แม้ว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือ การตบตีกันก็ตาม แต่การพูดความจริงต่อกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์กระทำต่อกันได้

คุณหนอน ยุงไมเยอร์ มองอนาคตในอีก 5 ปี 10 ปี ไว้แบบไหนครับ

ไม่ได้มองไกลขนาดนั้น เพราะแก่แล้วค่ะ (หัวเราะ)

เรามองปีหน้า ปีมะรืน ถ้ายังสนุกอยู่ ถ้ายังมีงานให้ทำอยู่ ก็จะหางานทำไปเรื่อย ๆ ถ้าเรารู้สึกเหนื่อย ก็จะหยุด เราไม่คิดว่าตัวเลขมีผลกับเรา แต่เราจะดูเอเนอจี้ตัวเองเป็นหลัก ตอนนี้ก็อยู่ที่แม่ฮ่องสอนเป็นหลัก ที่นี่เป็นเมืองเล็ก ๆ พอหน้าร้อนก็ร้อนมาก แต่ไม่เป็นไร เพราะหน้าหนาวมันคุ้มมาก ในวันที่ไม่ต้องทำงาน เราก็ขี่จักรยาน ดูหนัง เดินขึ้นเขา ทำสวน เล่นกับหมาคนอื่น เพราะเราไม่เลี้ยงหมา ไปทำหนังทีหลายเดือน เดี๋ยวหมาตาย จะเลี้ยงของตัวเองไม่ได้จนกว่าเราจะเกษียณ ก็เลยไปเล่นกับหมาข้างบ้านแทน แต่หมาข้างบ้านมันทำตัวเหมือนเป็นหมาเราเลยนะ (หัวเราะ)

ทุกวันนี้นอกจากทำแคสติ้งเป็น Casting Director ก็ขยับตัวเองไปเป็นครีเอเตอร์ของ Original Content และสิ่งที่อยากทำตอนนี้ คือ Thai Original Content บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มาเปิดในเมืองไทย ตอนนี้เขาเริ่มจ้างคนไทยเป็น Creative Head ทำให้เรามีความหวังว่า สตรีมมิ่งเซอร์วิสที่มาลงทุนจะช่วยให้วงการหนังไทยพัฒนา เราเชื่อแบบนั้นนะ

และท้ายนี้ เราอยากใช้โอกาสนี้ขอบคุณทุกผู้กำกับที่สอนงานและให้งานเรามาทั้ง คุณคธา พี่ไมค์ พี่พล พี่ตุ้ม ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่มีงานไหนเลยที่ทำได้คนเดียว ผู้ช่วยของเราเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้งานมันสำเร็จลงได้ ตั้งแต่โบว์ใหญ่ จมปู้ ปุ้มปุ้ม โบเล็ก ร่มไทร พี่กรองทอง พี่แมวป่า น้องเอ๋ปาป้า พี่อ้วนที่ตอนนี้ไม่อ้วนแล้ว พี่แดง นังปีเตอร์ แซมแซมที่เขมร น้องมิ้นท์ น้องอาร์ นุ๊กกี้ จนมาถึงผู้ช่วยคนสุดท้องตอนนี้ คือน้องโบโบ้ Couldn’t have done it without YOU!

ภาพ : ระวีพร ยุงไมเยอร์ 

The Cloud Golden Week คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ทีมงานก้อนเมฆขอประกาศลาพักร้อน 1 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสฉลอง The Cloud ครบ 5 ปี เราเลยเปิดรับวัยอิสระ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ เข้ามาประจำการแทนใน The Cloud Golden Week ขอเรียกว่าเป็นการรวมพลังวัยอิสระมา ‘เล่าเรื่อง’ ในฉบับของตนเองผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ เพราะเราเชื่อว่า ‘ประสบการณ์’ ของวัยอิสระคือเรื่องราวอันมีค่า เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้

แคมเปญนี้เราร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้วัยอิสระกล้ากระโจนเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกมาพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อเติมฟืนไฟให้กาย-ใจสดใสร่าเริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงาน The Cloud มีสมาชิกอายุรวมกันมากกว่า 1,300 ปี!

Writer

Avatar

ศักดิ์ชาย ดีนาน

นักเขียนบท ผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งค้นพบว่ามาเลี้ยงวัวที่สุรินทร์ (บ้านเกิด) ก็ทำหนังได้ แถมมีเวลาดื่มมากกว่าอยู่กรุงเทพฯ อีก