โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่แห่งแรกของจังหวัดขอนแก่น ด้วยขนาด 55 เตียงเมื่อแรกก่อตั้ง โดยกลุ่มแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน 

นักบริหารชั้นเซียนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การบริหารโรงพยาบาลเอกชนนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่คนไข้อาจไม่ได้มีกำลังจ่ายเท่าคนในกรุงเทพฯ ในขณะที่โรงพยาบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาล ดังนั้นจึงเป็นจุดวัดใจว่าจะสร้างกำไรได้อย่างไร ภายใต้ปัจจัยจำกัด

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจและร้อนหนาวมามากมาย ด้วยการบริหารงานของ นายแพทย์ธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์ ผู้ร่วมก่อตั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารมายาวนานนับตั้งแต่โรงพยาบาลเพิ่งเริ่มก่อตั้ง

คุณหมอท่านนี้บริหารงานด้วยการซื้อใจคนทำงานอย่างทีมแพทย์ สร้างความเชื่อใจให้คนไข้ ในขณะเดียวกันก็ยังควบคุมอัตราค่าบริการโรงพยาบาลให้อยู่ในเรตราคาที่เข้าถึงได้ เทียบกับโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันนับว่าถูกเสียด้วยซ้ำ

โรงพยาบาลราชพฤกษ์เป็นที่รักของชาวขอนแก่น คนไข้จำนวนมากมายไว้วางใจให้รักษา ถึงขนาดที่ว่าคนไข้มารอรับบริการจนแน่นขนัด ไม่มีที่นั่งหรือยืน

สุดท้ายโรงพยาบาลจึงตัดสินใจย้ายมายังโรงพยาบาลหลังใหม่ ขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 200 เตียง ที่ร่วมกันออกแบบก่อสร้างถึง 7 ปี โดยนักออกแบบชั้นนำของเมืองไทย ทั้งสถาบันอาศรมศิลป์, กา-ละ-เท-ศะ, LD49 และ P Landscape

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน คืออยากสร้างความแตกต่างและผลลัพธ์ใหม่ๆ ให้วงการสาธารณสุขบ้านเราด้วยสถาปัตยกรรม พวกเขาใช้เวลาหลายปีศึกษาความเกี่ยวเนื่องของสภาพอาคาร และบริบทที่ส่งผลต่อคุณภาพการรักษาเยียวยา

ผลลัพธ์คือโรงพยาบาลในฝันแห่งนี้ ที่มีฟังก์ชันครบครัน และไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ไม่เหมือนโรงพยาบาล เหมือนบ้านหลังใหญ่เสียมากกว่า

ใช่แล้ว เพราะคุณหมอธีรวัฒน์และทีมนักออกแบบตั้งใจให้โรงพยาบาลราชพฤกษ์เป็นเหมือนบ้านแห่งการรักษาเยียวยา มีความเป็นพื้นถิ่นอีสานและยั่งยืนประหยัดพลังงานนั่นเอง อย่าช้าให้เสียเวลา ไปสนทนาและเยี่ยมชมโรงพยาบาลแห่งการเยียวยาแห่งนี้กัน

คุณหมอผู้กลายมาเป็นนักบริหารแบบไม่ได้ตั้งใจ

เมื่อ 30 กว่าปีก่อน สมัยที่คุณหมอธีรวัฒน์ยังเป็นอาจารย์แพทย์ สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณหมอไม่เคยคิดที่จะทำโรงพยาบาลมาก่อน 

“ช่วง พ.ศ. 2534 มีนายธนาคารเข้ามาหา บอกว่าจะให้สินเชื่อไปซื้อโรงพยาบาลเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ขนาดไม่ถึงสิบเตียง เขาคงเห็นว่าผมทำงานเกี่ยวกับการแพทย์ ผมรู้สึกมาตลอดว่าการทำโรงพยาบาลเป็นเรื่องยาก เพราะผมไม่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ แต่ตอนนั้นก็ทำธุรกิจอยู่เล็กๆ อยู่เหมือนกัน คือศูนย์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์

“ผมเลยไปถามพรรคพวก ปรากฏว่าเพื่อนๆ ในกลุ่มแพทย์หลายคนสนใจ เลยดำเนินการ แต่ทำกันไปได้ไม่นานก็เกิดเหตุขัดข้อง ทำให้ไม่ได้ไปซื้อโรงพยาบาลแห่งนั้นกับนายธนาคาร เมื่อเป็นอย่างนั้นเราก็มาคุยกันว่ายังอยากทำโรงพยาบาลไหม ถ้าทำจะทำที่ไหน อย่างไร สรุปทุกคนก็ยังสนใจ เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงพยาบาลราชพฤกษ์ขึ้นใน พ.ศ. 2536 โดยกลุ่มแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

คุณหมอธีรวัฒน์เล่าว่า แม้ขอนแก่นจะเป็นเมืองสำคัญทางการศึกษา ทางการแพทย์ และเป็นเมืองศูนย์กลางในระดับหนึ่ง แต่กลับไม่มีโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ โรงพยาบาลราชพฤกษ์ขนาด 55 เตียง จึงถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่โรงพยาบาลแรกของที่นี่

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

“มองย้อนกลับไป จริงๆ เป็นการเริ่มต้นที่ไม่ค่อยเหมาะสมนะ” คุณหมอธีรวัฒน์เล่ากลั้วหัวเราะ “เพราะพวกเราไม่มีความรู้เรื่องการบริหารและธุรกิจเลย แม้จะมีผู้ที่มีประสบการณ์ด้านโรงพยาบาลเอกชนจากกรุงเทพฯ มาเป็นหนึ่งในกรรมการและที่ปรึกษา รวมถึงพยายามเอาระบบจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มาใช้ แต่มันก็ยังออกมาไม่ค่อยเวิร์กในช่วงแรก อาจเพราะเราไปฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่เขาด้วย”

เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู ช่วง พ.ศ. 2536 ถึง พ.ศ. 2538 แม้คุณหมอธีรวัฒน์จะบอกว่าถึงไม่ค่อยเวิร์ก แต่โรงพยาบาลราชพฤกษ์ก็ประคองตัวได้ในช่วงขวบปีแรกๆ จนกระทั่งการมาถึงของวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจของประเทศดิ่งฟุบตัวลง โรงพยาบาลก็เกิดปัญหาวิกฤตด้านรายได้ทันที โดยมีต้นเหตุมาจาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ กำลังจ่ายของคนไข้ ปริมาณคนไข้ที่มาใช้บริการ และหนี้สินของโรงพยาบาล

“ก่อนหน้านั้นผมเป็นแค่ผู้ก่อตั้ง ไม่ได้เป็นผู้บริหาร พอเกิดวิกฤตก็ถูกทาบทามเชิงขอร้องให้มาช่วยเป็นผู้อำนวยการ บริหารโรงพยาบาลหน่อย จริงๆ ผมก็ไม่อยาก แต่ด้วยความจำเป็น ไม่งั้นโรงพยาบาลอาจต้องปิดตัว เลยตกลงรับตำแหน่ง”

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

ระบบโรงพยาบาลเอกชนที่ซื้อใจคุณหมอ

“ผมเข้ามาแก้ปัญหาแบบลูกทุ่ง อาศัยว่าใจสู้ พยายามจะแก้แต่ละปัญหาให้ผ่านพ้นไป หลักสำคัญที่สุดที่ทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตมาได้ คือการบริหารโรงพยาบาลตามสามัญสำนึกของความเป็นแพทย์ ด้วยจรรยาบรรณในการรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดของวิชาชีพ”

แม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่โรงพยาบาลราชพฤกษ์มีระบบความสัมพันธ์ของทีมบุคลากรการแพทย์ที่เกื้อกูลกันอย่างแข็งแรง “ตลอดเวลาเกือบสามสิบปี โรงพยาบาลของเราหลีกเลี่ยงการสร้างระบบที่มัน Commercial เกินไป เราไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่าโรงพยาบาลมีผลประโยชน์กับแพทย์ หรือมีความรู้สึกทางการค้า ทางธุรกิจใดๆ เกิดขึ้น”

ตามปกติ ค่าธรรมเนียมแพทย์ (Doctor Fee) ที่คนไข้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการรักษาเยียวยา จะถูกหักออกไปส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นรายได้ของโรงพยาบาล คุณหมอแต่ละคนมีค่าธรรมเนียมแพทย์ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญและความซับซ้อนในการรักษา และแต่ละโรงพยาบาลก็มีสัดส่วนการหักเงินนี้ไม่เท่ากัน 

“จริงๆ แล้ว สมัยโบราณ แพทย์รักษาคนไข้เขาไม่มีการตั้งราคาไว้หรอกว่าค่ารักษาต้องเท่าไหร่ เพราะแต่ไหนแต่ไรหัวใจของความเป็นแพทย์ คือความอยากเยียวยาให้คนไข้หายจากอาหารเจ็บป่วย พ้นจากความตาย พอรักษาเสร็จแล้ว คนไข้จะจ่ายเท่าไหร่ก็แล้วแต่จะให้เสียมากกว่า คล้ายๆ สินน้ำใจให้แพทย์เลี้ยงชีพได้ ไม่มีเงินก็เอาผลหมากรากไม้มาให้ ตอบแทนน้ำใจกันไป

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

“เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จึงมีการกำหนดราคาค่าธรรมเนียมแพทย์ขึ้นมา ผมยกเลิกนโยบายหักเงินค่าธรรมเนียมแพทย์ อธิบายง่ายๆ คือโรงพยาบาลราชพฤกษ์เลือกที่จะไม่ไปหักเงินก้อนนี้ของคุณหมอ ถือเป็นรายได้ให้คุณหมอแต่ละท่านไปเลย ที่ทำอย่างนี้เพราะเราอยากให้แพทย์ดูแลคนไข้เหมือนเป็นคนไข้ของเขาเอง ไม่ใช่คิดว่าเป็นคนไข้ของโรงพยาบาล

“เราพยายามสร้างระบบที่โรงพยาบาลไม่ไปยุ่งกับค่าธรรมเนียมที่แพทย์จะได้รับ โรงพยาบาลไม่หักเงินใดๆ จากคุณ ดังนั้นขอให้เป็นแพทย์ที่เป็น Care Giver จริงๆ ไม่เอาเรื่องเงินทองมาอยู่เหนือคุณค่าของการรักษาพยาบาล”

ค่าธรรมเนียมแพทย์ของโรงพยาบาลราชพฤกษ์เมื่อ 30 ปีก่อน แม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่คิดเพียง 150 บาท เมื่อค่าเงินบาทค่อยๆ มีมูลค่าสูงขึ้นตามยุคสมัย ก็จำเป็นต้องเพิ่มอัตราขึ้น แต่ก็ถือว่าไม่แพงอยู่ดี ทุกวันนี้ค่าธรรมเนียมแพทย์ต่อการดูแลของคนไข้ OPD ต่อคน อยู่ที่ครั้งละประมาณ 350 บาท

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

ความเชื่อมั่นที่มาพร้อมการเติบโต

คุณหมอธีรวัฒน์อธิบายว่า ช่วงที่โรงพยาบาลประสบภาวะวิกฤติทางรายได้ จากสภาพเศรษฐกิจถดถอย ทำให้กำลังซื้อ กำลังจ่ายทั่วไปของประชาชนฝืดเคือง โรงพยาบาลราชพฤกษ์ต้องหารายได้เพิ่ม จึงรับคนไข้กลุ่มประกันสังคม และคนไข้ 30 บาทรักษาทุกโรคมาในระบบเหมาจ่ายจากภาครัฐ

“สมัยเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว คนไข้เหมาจ่าย รัฐบาลจะให้เงินมาก้อนหนึ่ง ทั้งปีเราก็ต้องบริหารเงินเพื่อดูแลคนไข้กลุ่มนี้ให้ได้ เพราะต้องยอมรับว่าจำนวนเงินที่ได้มาต่อคนไข้หนึ่งคน ต่อปีนั้นไม่ได้มาก แต่ก็ทำให้เรามีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระดับหนึ่ง สำหรับผมช่วงนั้นเป็นหนึ่งในบททดสอบสำคัญเลย ว่าเรายืนหยัด เชื่อมั่นในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณแพทย์และความเป็นโรงพยาบาลเพื่อประชาชนแค่ไหน

“ต้องอธิบายก่อนว่าระบบเหมาจ่ายเนี่ย พอได้เงินก้อนมา มันก็แล้วแต่ละโรงพยาบาลจะบริหารเงินเหล่านั้นอย่างไร การที่เราจะบริหารแบบให้เงินเหลือ มีกำไรมากๆ มันก็ทำได้นั่นแหละ แต่การทำอย่างนั้นอาจจะไปเบียดเบียนการรักษาพยาบาล ทำให้การเยียวยาอาการป่วยไข้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างที่ควรเป็น เพื่อให้เงินนั้นเหลือเป็นกำไร

“แต่อย่างไรก็ตาม ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ โรงพยาบาลราชพฤกษ์ไม่มีวันทำอย่างนั้นเด็ดขาด ในจรรยาบรรณของความเป็นแพทย์ แม้จะเป็นคนไข้ในระบบเหมาจ่าย แต่เราไม่มีนโยบายให้แพทย์จำกัดการรักษา เราก็รักษาเหมือนคนไข้อื่นๆ ของโรงพยาบาลที่จ่ายเงินเองเป๊ะๆ รักษาเต็มที่ทุกคน ใช้วิชาชีพอย่างสุดความสามารถ รวมถึงเรื่องการอำนวยความสะดวกเช่นกัน คุณจะมาเวลาไหน เราก็ต้อนรับอย่างดีทุกคน”

แต่ถึงจุดหนึ่ง การรับคนไข้ในระบบเหมาจ่ายของโรงพยาบาลราชพฤกษ์ก็ต้องยุติไป ด้วยความเต็มที่ในการรักษา ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกินมาจนเข้าใกล้คำว่าขาดทุน แม้จะเป็นอย่างนั้นแต่ก่อนจะยุติ โรงพยาบาลก็ทำการรักษาทุกคนอย่างดีที่สุดอย่างที่เคยเป็นมา 

เมื่อเห็นความเต็มที่และสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ความเป็นโรงพยาบาลไม่ได้มุ่งถึงความเป็นกำไร คนไข้ก็มีความเชื่อมั่น ประกอบกับการเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ราคาเข้าถึงได้ ทำให้ตัวเลขคนไข้ที่มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ คนไข้เก่าก็ยังอยู่ คนไข้ใหม่ก็เข้ามาจนผ่านพ้นวิกฤตด้านรายได้มาได้ พร้อมกับความไว้ใจที่มีมากขึ้นระหว่างคนไข้และโรงพยาบาล

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

อยากให้โรงพยาบาลเป็นเหมือนบ้าน

“คนไข้ก็เยอะขึ้นๆ จนล้น บางครั้งไม่มีที่นั่ง ไม่มีที่ยืน โรงพยาบาลก็ก่อสร้างมาเป็นยี่สิบปีแล้ว ด้วยขนาดแรกสร้างแค่ห้าสิบห้าเตียง จึงคับแคบไปเมื่อเทียบกับปริมาณคนไข้ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นตามกาลเวลา ประกอบกับคนไข้รบเร้าให้ขยับขยายโรงพยาบาล เลยตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลไปยังที่แห่งใหม่ 

“พอคิดว่าจะย้ายโรงพยาบาลทั้งที เงินลงทุนก็ไม่ใช่น้อยๆ ผมจึงอยากให้โรงพยาบาลราชพฤกษ์แห่งใหม่มีรูปแบบที่พิเศษ แปลกใหม่ และสร้างแรงกระเพื่อมอะไรบางอย่างให้การแพทย์ด้วย” 

และนั่นทำให้คุณหมอธีรวัฒน์ได้พูดคุยกับสถาบันอาศรมศิลป์และกา-ละ-เท-ศะ สองบริษัทสถาปนิกที่มาช่วยออกแบบโรงพยาบาลราชพฤกษ์หลังใหม่จนเสร็จสิ้น ภายใต้ความเชื่อในสิ่งเดียวกันนั่นคือ โรงพยาบาลในฝันที่เป็นของทุกคน

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการออกแบบขีดเขียน ทีมนักออกแบบกลับชักชวนคนหลากหลายอาชีพ ช่วงวัย ไปจนถึงพื้นเพ มาระดมความคิด ด้วยการตั้งคำถามจากคนหลากหลายที่สุดว่า ‘โรงพยาบาลในฝัน’ ของทุกคนเป็นอย่างไร คำตอบนั้นมีมากมาย บางคนอยากให้โรงพยาบาลสว่างไสวไปด้วยแสงไฟ บางคนอยากให้โรงพยาบาลมีต้นไม้ใหญ่ห้อมล้อมไว้ให้ร่มรื่นชื่นใจ 

จากหลากหลายความคิดเห็น มีอยู่หนึ่งคำตอบที่ทุกคนมีร่วมกัน นั่นคือทุกคนอยากให้โรงพยาบาลมีความรู้สึกเหมือนบ้าน เพราะระบบความสุขในโรงพยาบาลเกิดจากความสัมพันธ์ที่คนมีต่อกันในกระบวนการเยียวยารักษา โรงพยาบาลจึงเป็นเหมือนบ้านที่อนุญาตให้ญาติจำนวนมากมาเยี่ยมเยียน เปี่ยมไปด้วยความหวังในการต่อสู้กับความป่วยไข้

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

กายป่วยแต่ใจไม่ป่วยไปด้วย

กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย คือแนวคิดในการออกแบบและข้อธรรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป. อ. ปยุตฺโต ที่คุณหมอธีรวัฒน์ยึดมั่นในการทำการเยียวยารักษาผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ ข้อธรรมนี้ถูกติดไว้บนผนังโรงพยาบาลราชพฤกษ์ตั้งแต่ที่อาคารหลังเก่า ทีมนักออกแบบจึงนำมาตีความให้เป็นกายภาพรูปธรรม

ภาพจำของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลภาครัฐหรือเอกชน ขับรถผ่านแวบเดียว เห็นเพียงหางตาก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือโรงพยาบาล ภาพจำของอาคารใหญ่โตทันสมัยสีขาวโพลน ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ไม่ใช่บ้าน ดังนั้นถ้าอยากสร้างโรงพยาบาลที่เป็นเหมือนบ้าน อาจจะต้องทำลายภาพจำเดิมๆ ของโรงพยาบาลออกไป นี่คือสิ่งที่ทีมนักออกแบบตั้งเป็นโจทย์ไว้ในใจ

บ้านคือพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติความเป็นมนุษย์ที่สุด ยิ่งการเยียวยาในเชิงจิตใจ ต้องมีทั้งปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อม ไปจนถึงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ในขณะที่ระบบการรักษาทางร่างกายดำเนินไป การเยียวยาทางใจจากสภาพแวดล้อมอันอบอุ่นของบ้านก็เกิดขึ้นไปพร้อมกัน

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

บ้านคือความรู้สึกไม่แปลกแยก เป็นอันหนึ่งอันเดียว โรงพยาบาลราชพฤกษ์เป็นโรงพยาบาลที่มีความผูกพันกับคนอีสานมายาวนานหลายสิบปี การที่โรงพยาบาลใช้ชื่อต้นราชพฤกษ์ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น ยิ่งตอกย้ำความเป็นพื้นถิ่นที่ต้องใส่ใจให้ความเคารพ

ทีมนักออกแบบใช้เวลาร่วมปีศึกษาความเป็นพื้นถิ่นอีสาน ผ่านการศึกษาพฤติกรรมของผู้คนไปจนถึงขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม เพราะหัวใจของโรงพยาบาลตั้งแต่แรกเริ่ม คือการเป็นโรงพยาบาลของสังคมที่ไม่ได้คิดค่าบริการสูง คนไข้จึงเป็นชาวบ้านทั่วไป 

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

ให้ธรรมชาติบำบัด

โรงพยาบาลราชพฤกษ์หลังใหม่ใช้เวลาออกแบบก่อสร้างนานถึง 7 ปี กว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยทีมนักออกแบบประกอบไปด้วยสถาบันอาศรมศิลป์และกา-ละ-เท-ศะ ผู้มาดูแลงานออกแบบสถาปัตยกรรม โดยกา-ละ-เท-ศะ รับหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมภายในด้วย นอกจากนี้ยังมี P Landscpae มาร่วมออกแบบงานภูมิสถาปัตยกรรม รวมถึง LD49 ที่มาดูแลการออกแบบ Lighting ของโรงพยาบาล 

ทีมนักออกแบบศึกษาลมอีสาน และทำ Simulation เรื่องลมที่พัดผ่านพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อให้ทุกคนในโรงพยาบาลสามารถอยู่กันได้แบบสบายๆ โดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ เป็น Hybrid System ประหยัดพลังงานไฟฟ้า เพราะส่วนกลางของโรงพยาบาลทั้งหมดไม่ติดเครื่องปรับอากาศ มีแค่ในแผนกนั้นๆ

ภาคอีสานช่วงหน้าหนาวอากาศเย็นสบายอยู่แล้ว ดังนั้นในโรงพยาบาลจึงแทบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ แม้แต่ตอนเช้าๆ พยาบาลก็ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดแค่ประตู หน้าต่าง อาคารก็มีอากาศไหลเวียนดีอยู่แล้ว

ถัดมาคือเรื่องการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ทุกพื้นที่ถูกจับจองไปด้วยสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่บริเวณพักคอย OPD ไปจนถึงห้องห้อง ICU ก็มีไม้เลื้อยปกคลุมให้ความร่มเย็น ทีมนักออกแบบตั้งใจหยิบธรรมชาติมาช่วยในการบำบัดผู้ป่วยด้วย แทนที่จะให้ทีมแพทย์เป็นผู้รักษาอย่างเดียว สถาปัตยกรรมทำหน้าที่เชื่อมคนเข้ากับธรรมชาติได้ ทั้งธรรรมชาติที่ถูกออกแบบขึ้น และธรรมชาติจริงๆ อย่างแสงแดด

งานสถาปัตยกรรมภายใน ถูกออกแบบให้มีความเป็นซุ้มประตู และติดตั้งพัดลมเพดานไว้ทั่วทั้งอาคาร เพื่อให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด
โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

ห้อง ICU และห้องพักคนไข้ของโรงพยาบาลราชพฤกษ์โอบล้อมไปด้วยต้นไม้และแสงแดด เพราะทีมนักออกแบบไปพบงานวิจัยที่ว่า แม้คนไข้จะนอนหลับไหลไม่ได้สติ แต่ร่างกายสามารถรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมรอบเตียง จากแสงแดดดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของวัน ดังนั้นการนอนอยู่ในห้องปิดทึบที่เปิดไฟอยู่ตลอดเวลา จะชะลอการฟื้นตัวของคนไข้ เพราะเขาไม่ได้รับรู้ถึงวันเวลา 

มนุษย์ทุกคนโหยหาธรรมชาติ แม้แต่ห้องกายภาพบำบัด ยังมีพื้นหญ้าชอุ่มให้คนไข้เดินออกไปเหยียบย่ำได้ 

ความเป็นอีสานถูกหยิบมาใส่ในองค์ประกอบต่างๆ ของโรงพยาบาลอย่างลงตัว อย่างแผงกันแดด (Facade) ก็ถอดแพตเทิร์นลวดลายมาจากเฉลว เครื่องรางตามความเชื่อของอีสานว่าจะช่วยปัดเป่าความชั่วร้าย และคนสมัยโบราณมักนำไปปักไว้ที่หม้อต้มยา

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

รักษาคน ไม่ใช่ทำธุรกิจกับคน

โรงพยาบาลราชพฤกษ์หลังใหม่เปิดทำการมาได้ 2 ปีเต็มแล้ว สิริเวลาทั้งสิ้นที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ให้การรักษาเยียวยาคู่เมืองขอนแก่นมาก็เกือบ 30 ปี คุณหมอธีรวัฒน์อธิบายทิ้งท้ายว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นเรื่องของการสร้างสมดุล

จิตวิญญาณของการรักษา จรรยาบรรณในความเป็นแพทย์ต้องมาก่อน และหน้าที่ของผู้บริหารคือทำให้ภายใต้การรักษาเยียวยา ธุรกิจยังสามารถอยู่รอดอยู่

ความสมดุลคือเรื่องของการขับเคลื่อนคุณภาพ เพราะความปลอดภัย เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและประสบการณ์ที่ดีของคนไข้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากเม็ดเงินที่ไปหล่อเลี้ยง ดังนั้นโรงพยาบาลก็ต้องมีกำไรเพียงพอที่จะนำไปขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้ากำไรน้อยเกินไปจนถึงขาดทุน นวัตกรรมการรักษาเยียวยาก็ไม่เกิดขึ้น

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ขอนแก่น โรงพยาบาลเอกชนอายุ 30 ปี ที่สร้างให้เหมือนบ้าน และทำสวนธรรมชาติบำบัด

แต่อย่างไรก็ตาม คุณหมอธีรวัฒน์ย้ำชัดอย่างหนักแน่นว่า “หน้าที่ของโรงพยาบาลคือการรักษาคน ไม่ใช่ทำธุรกิจกับคน ดังนั้นหัวใจคือการทำกำไรเท่าที่จะยังดำเนินกิจการต่อไปได้ ไม่ได้ใช้ธุรกิจนำ แต่ใช้จิตวิญญาณของความเป็นแพทย์มาดำเนินธุรกิจ ดังนั้นต้องไม่มากหรือน้อยเกินไป ทั้งสองส่วนของผสมผสานกันอย่างพอดีๆ ไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่เป็นกำไรที่เหมาะสม 

“เรามองคนไข้เป็นคนไข้ ไม่ได้มองคนไข้เป็นแค่ลูกค้า นี่คือหัวใจสำคัญ คำว่ายั่งยืนที่เราเน้นมาก อยู่ภายใต้คำว่า Care Giver ซึ่งหมายถึงการให้การดูแลรักษา การให้ (Give) ไม่ใช่ซื้อขาย (Trade) ทำงานตรงนี้ต้องมีความสุขจากการให้ การให้นี่แหละที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่มีสรรพสิ่งใดๆ ในโลกอยู่ได้โดยไม่มีการให้หรือการรับจากคนอื่น”

ภาพโดย ทรงธรรม ศรีนัครินทร์​

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน