เนื่องจากเดือนมีนาคมนี้มีวันสำคัญวันหนึ่ง นั่นก็คือ “วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า” ซึ่งตรงกับวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี ซึ่งวันนี้เป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน ดังนั้น ผมเลยขอนำเสนอหนึ่งในวัดที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้มีพระราชดำริในการสร้างด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของอาคารพิเศษที่มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย และใกล้ๆ กันยังเป็นที่ตั้งของลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ อันเป็นที่ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านด้วย เกริ่นมาขนาดนี้คิดว่าหลายคนน่าจะนึกออกแล้วว่าผมกำลังพูดถึงวัดอะไร ดังนั้น เราไปชมวัดราชนัดดารามวรวิหารกันครับ

วัดราชนัดดารามวรวิหารสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2386 โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์ (และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระอัครมเหสีองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีบรมราชเทวี)

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสฯ ยังเป็นผู้ก่อพระฤกษ์และเสด็จฯ มาทรงประกอบพิธียกขื่อพระอุโบสถด้วยพระองค์เองอีกด้วย ในการสร้างวัดราชนัดดารามวรวิหารแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) อธิบดีกรมพระนครบาล เป็นผู้จัดหาสถานที่สร้างวัด โดยเลือกบริเวณสวนผลไม้ริมกำแพงพระนครติดกับวัดเทพธิดาราม 

ในการก่อสร้างวัดนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) กำกับการสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ที่ต่อมาจะได้ดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เป็นแม่กองกำกับการก่อสร้างโลหะปราสาท และให้พระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ผู้ที่ต่อมาคือเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) กำกับการก่อสร้างกุฏิ เสนาสนะ กำแพงแก้ว เขื่อนรอบวัด และถนนที่ทะลุกำแพงลงสู่ท่าน้ำ วัดนี้จึงถือเป็นเมกะโปรเจกต์ในรัชกาลที่ 3 เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะการสร้างโลหะปราสาท อาคารพิเศษที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร

เมื่อเข้ามาถึงในเขตพุทธาวาสทางประตูฝั่งถนนมหาไชย เราก็จะเห็นพระอุโบสถของวัดตั้งตระหง่าน ขนาบหน้าและหลังด้วยพระวิหารและศาลาการเปรียญ โดยมีโลหะปราสาทตั้งเด่นอยู่ด้านหลัง เดี๋ยวผมจะพาไปชมให้ครบทุกหลังเลยครับ

พระอุโบสถของวัดราชนัดดารามแห่งนี้ถือเป็นอาคารสำคัญที่รัชกาลที่ 3 มีพระราชดำรัสเร่งให้สร้างเสร็จเป็นลำดับแรก ด้วยมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธเสฏฐุตตมมุนินทร์มาประดิษฐานเป็นประธานของพระอุโบสถนี้ ความพิเศษของพระพุทธรูปองค์นี้คือ เป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองแดงที่ขุดพบจากอำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา และสร้างคู่กับพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา พระประธานของวัดเฉลิมพระเกียรติ อีกหนึ่งวัดที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นในรัชกาลของพระองค์

พระอุโบสถหลังนี้ถือเป็นอาคารขนาดใหญ่หลังหนึ่งที่สร้างในรัชกาลที่ 3 ใหญ่กว่าพระวิหารและศาลาการเปรียญมาก ล้อมรอบทั้ง 8 ทิศด้วยซุ้มใบเสมา ซึ่งใบเสมาแต่ละใบนั้นด้านหนึ่งทำเป็นรูปธรรมจักร ส่วนอีกด้านทำเป็นรูปเทพนพเคราะห์ โดยมีชื่อผู้สร้างใบเสมาอยู่ที่ฐานของใบเสมาแต่ละใบครับ หน้าบันของพระอุโบสถทำเป็นลายเครือเถาดอกพุดตาน ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของหน้าบันในรัชกาลนี้ แทนที่จะทำเป็นลายพระนารายณ์ทรงครุฑหรือพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอย่างที่ทำกันมาแต่ก่อน

โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร
โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร

ภายในประดิษฐานพระพุทธเสฏฐุตตมมุนินทร์ (นามของพระพุทธรูปองค์นี้มีความหมายว่า พระพุทธองค์ผู้ทรงประเสริฐสูงสุดยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมุนีใดในโลก) เป็นพระประธาน ผนังภายในตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเขียนขึ้นในสมัยที่พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) เป็นเจ้าอาวาส ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากโทนสีของจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเน้นสีน้ำเงินนั้นเริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ประกอบกับมีภาพเหมือนของพระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) อยู่ที่ผนังระหว่างประตูทางเข้าด้านหน้าอีกด้าน

ส่วนผนังเหนือประตูหน้าพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นฉากที่ต่อเนื่องจากจิตรกรรมที่ด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนผนังเหนือช่องหน้าต่างทั้งสองฝั่งเขียนภาพสวรรค์แบบสมัยใหม่ ประกอบด้วยท้องฟ้าสีฟ้า เมฆสีขาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ วิมานเทวดา เทวดาและเทพธิดาเหาะพร้อมเครื่องสักการะ ที่สำคัญมีการเขียนกลุ่มดาวฤกษ์ 27 กลุ่มลงบนผนังด้วย ซึ่งการเขียนกลุ่มดาวฤกษ์ลงบนฝาผนังวัดนั้นถือเป็นของหายากมาก ในประเทศไทยพบเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่น หอไตร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร หรืออุโบสถวัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งวัดเหล่านี้วาดเป็นรูปกลุ่มดาว แต่ของวัดราชนัดดารามวรวิหารวาดเป็นรูปเทวดาแทน

โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร
โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร
โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร

ไม่หมดเท่านั้น บนบานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถนี้ แทนที่จะเขียนภาพเทพทวารบาลแบบไทย แบบจีน หรือแบบฝรั่ง ไม่ครับ ที่นี่อัปเกรดทวารบาลขึ้นเป็นรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดูทั้งหมด ทั้งพระนารายณ์ พระพรหม พระอิศวร พระอินทร์ พระพาย ฯลฯ โดยเทพเจ้าแต่ละองค์ถือของประจำพระองค์ พร้อมมีเทพพาหนะอยู่ด้านล่าง ที่สำคัญ มีชื่อกำกับอยู่ด้วย ดังนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเราจะดูไม่ออกว่าเทพเจ้าแต่ละองค์ท่านมีพระนามว่าอะไรบ้าง

โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร

พระวิหารและศาลาการเปรียญนั้นมีขนาดพอๆ กัน ศาลาการเปรียญอยู่หน้าพระอุโบสถ ผนังด้านในทำเป็นลายดอกไม้ร่วง พระประธานของศาลาการเปรียญหลังนี้เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง ซึ่งเป็นปางที่ไม่ค่อยใช้เป็นพระประธานสักเท่าไหร่ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) มีดำริให้หล่อขึ้น โดยประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนพระวิหารที่อยู่ด้านหลังพระอุโบสถนั้น ตกแต่งผนังด้านในด้วยลายดอกพุดตานในกรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีพระชุติธรรมนราสพ (นามของพระพุทธรูปองค์นี้มีความหมายว่า พระผู้องอาจกว่านรชนผู้ชัชวาล) พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทรเป็นพระประธาน พระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมยังไม่ได้ปิดทองและไม่มีชื่อ ผู้ที่ปิดทองและถวายพระนามให้พระพุทธรูปองค์นี้ก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

และบนผนังด้านหลังเหนือพระประธานมีการเจาะช่องเป็นห้องเวชยันต์พิมาน 3 ห้อง อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในห้องทั้ง 3 ประดิษฐานพระพุทธรูป มีฉัตรเบญจาขนาบ 2 ข้าง โดยทั้งหมดอยู่เหนือช้างสามเศียร

โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร
โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร

และอาคารที่สำคัญที่สุดของวัด นั่นก็คือ โลหะปราสาท ซึ่งถือเป็นอาคารพิเศษของวัดและเป็นอาคารประธานของวัดราชนัดดารามวรวิหารอย่างแท้จริง โลหะปราสาทหลังนี้ถือเป็นโลหะปราสาทหลังที่ 3 ของโลกต่อจาก ‘มิคารมาตุปราสาท’ โลหะปราสาทหลังแรกที่สร้างขึ้นโดยนางวิสาขา ณ ประเทศอินเดีย และหลังที่สองที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา

ปัจจุบัน มีเพียงโลหะปราสาทที่วัดราชนัดดารามวรวิหารเท่านั้นที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่จะบอกว่าสมบูรณ์ก็อาจพูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะการสร้างโลหะปราสาทนั้นถือเป็นงานที่ค้างคาและเพิ่งจะเสร็จสมบูรณ์จริงๆ เมื่อไม่กี่ปีที่มาผ่านมานี้เอง เพราะในสมัยรัชกาลที่ 3 โลหะปราสาทแห่งนี้ทำได้เพียงแค่โครงก่ออิฐสลับกับศิลาแลงโดยยังไม่ได้ฉาบปูนเลยด้วยซ้ำ ก่อนที่จะทำพื้น ฉาบปูน ตั้งยอดฉัตรชั้นบนในสมัยของพระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) ก่อนที่โครงสร้างภายนอกจะมาสมบูรณ์แบบเวอร์ชันยอดสีขาวในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังมีการบูรณปฏิสังขรณ์ให้เกิดโลหะปราสาทเวอร์ชันยอดสีดำ และกลายเป็นเวอร์ชันยอดสีทองดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร

โลหะปราสาทนี้เป็นปราสาท 7 ชั้นมีบันไดเวียนอยู่ตรงกลาง มียอดปราสาทรวมกันทั้งสิ้น 37 ยอด โดยที่ในปัจจุบันชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโลหะปราสาท และเมื่อค่อยๆ ไต่ขึ้นไปในแต่ละชั้นก็จะมีการจัดแสดงป้ายให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุภาษิตธรรม การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ พระอริยบุคคล เมื่อขึ้นไปถึงชั้นที่ 6 เราก็จะเห็นวิวโดยรอบได้ ทั้งวิวของวัดราชนัดดารามวรวิหารเอง หรือสถานที่อื่นๆ เช่น วัดสุทัศนเทพวราราม วัดอรุณราชวราราม ภูเขาทองวัดสระเกศ หรือแม้แต่พระบรมมหาราชวังเราก็มองเห็นได้ โดยมีป้ายติดอยู่ที่แต่ละด้านบอกให้เรารู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง ส่วนด้านบนสุดเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุครับ

โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร

และหลายคนอาจไม่รู้ นอกจากกลุ่มอาคารหลักเหล่านี้แล้ว ยังมีอาคารสำคัญอีกคู่หนึ่งของวัดแห่งนี้อยู่อีก นั่นก็คือ เขาพระฉาย (พระพุทธบาท) ซึ่งที่ตั้งปัจจุบันอยู่บริเวณแผงพระเครื่อง น่าเสียดายว่าไม่ปรากฏว่าทั้งสองสร้างขึ้นเมื่อไหร่ รู้เพียงว่ารอยพระพุทธบาทที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในมณฑปนั้นเดิมประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร สันนิษฐานว่าทั้งพระพุทธฉายและมณฑปน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่ผมมีเหตุผลนะครับ เพราะในรัชกาลนี้เกิดปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งขึ้น นั่นก็คือเทรนด์การสถาปนารอยพระพุทธบาทในกรุงเทพมหานครให้เป็นดั่งรอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งวัดราชนัดดารามวรวิหารก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่น่าเสียดายว่าวัดนี้น่าจะไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนจัดได้เพียงไม่กี่ครั้งก็คงไม่ได้จัดในที่สุด

โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร

พระฉายของวัดราชนัดดารามวรวิหารทำเป็นเพิงผาเรียบๆ ประดับงานปูนปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าและพระสาวก โดยมีรูปพระพุทธเจ้าปางอุ้มบาตรอยู่ตรงกลาง ขนาบ 2 ข้างด้วยรูปพระสาวกยืนข้างละ 2 องค์ ทั้งหมดล้วนครองจีวรแบบห่มคลุมมีริ้วตามธรรมชาติ ด้านหน้ามีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทโดยที่มีเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างพระฉายและมณฑปพระพุทธบาท

โลหะปราสาท อาคารพิเศษหลังเดียวในไทยและหลังที่ 3 ของโลกที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร

และนี่คือความงามของวัดราชนัดดารามวรวิหาร หนึ่งในสี่พระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาด้วยพระองค์เอง และยังเป็นพระอารามสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ควรค่าแก่การไปชมอย่างยิ่ง สำหรับใครที่เคยไปชมมาแล้วอยากไปชมอีกก็ไปชมได้ หรือถ้าใครที่ยังไม่เคยไปชม ผมก็อยากจะแนะนำให้ไปชมวัดนี้ครับผม


เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดราชนัดดารามวรวิหารถือเป็นวัดที่เดินทางไปชมได้ไม่ยาก จะโดยขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถแท็กซี่ หรือ เรือคลองแสนแสบก็ได้ หรือจะเป็นรถส่วนตัวก็ได้เหมือนกันครับ แต่อยากแนะนำให้ใช้ขนส่งสาธารณะมากกว่าเพราะที่จอดรถในวัดมีไม่เยอะนัก ถ้าจอดผิดที่เดี๋ยวจะโดนล็อกล้อซะก่อนนะครับ
  2. นอกจากวัดราชนัดดารามวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังสร้างวัดขึ้นอีก 3 วัด ได้แก่ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร และ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี ซึ่งผมเคยเขียนเรื่องของวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร ใน The Cloud ใครสนใจ ไปอ่านเพิ่มเติมได้นะครับ ส่วนอีก 2 วัดไว้จะหาจังหวะเขียนถึงในโอกาสถัดๆ ไปครับ
  3. นอกจากวัดราชนัดดารามวรวิหารแล้ว ยังมีวัดอีกหนึ่งแห่งที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติให้กับสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีด้วยนะครับ นั่นก็คือ วัดโสมนัสราชวรวิหาร ซึ่งสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใครสนใจลองแวะไปชมได้นะครับ อยู่ในกรุงเทพมหานครเรานี่เอง
  4. ส่วนข้อมูลของวัดราชนัดดารามวรวิหารหาในอินเทอร์เน็ตได้มากพอสมควร แต่หนังสือที่ผมใช้อ้างอิงหลักคือ ราชนัดดามหาเจษฎานุสรณ์ ครับผม

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ