“สมมติบอกว่า 5 แสนกว่าปีมาแล้ว มนุษย์เริ่มเข้ามาอยู่ในเขตประเทศไทย เร่ร่อนอยู่ตามป่าที่มีหมีแพนด้า มีเสือเขี้ยวดาบ คุณนึกออกไหม” 

รูปปั้นหน้ากาลเล็ก ๆ 8 หน้าเรียงกันอยู่ในห้องทำงานของ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช ในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เราสบตาหน้ากาล ใบหน้ายักษ์ปนสิงห์ที่เป็นตัวแทนของกาลเวลาที่กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วสารภาพว่าพอนึกออก แต่ให้จินตนาการว่าเขาเหล่านั้นคือบรรพบุรุษของคนไทย การเชื่อมโยงมนุษย์ตามถ้ำตามป่ากับอาณาจักรสุโขทัยหรืออยุธยาดูขาดหายไม่เชื่อมต่อ ไทม์ไลน์ที่ไกลลิบลิ่วจากปัจจุบันโดนเวลาสวาปามไปแทบไม่เหลือร่องรอย

การสืบค้นว่ากาลเวลากลืนกินอะไรเข้าไป คือหน้าที่ของนักโบราณคดี 

รัศมี ชูทรงเดช : การค้นพบโลงไม้สองพันปี และเส้นทางนักโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์

อาจารย์รัศมีเป็นหนึ่งในนักโบราณคดีไม่กี่คนในเมืองไทยที่ศึกษาร่องรอยยุคก่อนประวัติศาสตร์ พูดง่าย ๆ คือยุคที่มนุษย์ยังไม่ใช้ตัวอักษร สืบลึกไปไกลโพ้น ไม่ใช่แค่หลักพันปี แต่ไปถึงหลักหมื่นหลักแสนปี เพื่อเติมคำตอบที่คนทั้งโลกเฝ้าถาม – ปฐมบทของมนุษยชาติ ต้นทางของชีวิต

นอกจากการขุด ขุด และขุดค้นข้อมูลไม่หยุดยั้ง สิ่งที่นักโบราณคดีหญิงเพียรทำคือสื่อสารเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ให้คนทั่วไปเข้าใจ ลงลึกไปถึงขั้นร่วมทำโมเดลใบหน้าโครงกระดูกอายุหมื่นปีในเมืองไทย ให้คนเข้าใจว่ามนุษย์สมัยก่อนหน้าตาแทบไม่ต่างจากคนปัจจุบัน ไปจนถึงร่วมสร้างบอร์ดเกมโบราณคดี

ผลงานดังของอาจารย์และทีมงานที่คนฮือฮา คือการขุดค้นถ้ำผีแมนโลงลงรัก อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายในถ้ำมืดสนิทบนผาสูง คือสุสานเก็บโลงไม้อายุกว่า 2,100 – 1,600 ปีมาแล้วที่เต็มไปด้วยโครงกระดูกและโบราณวัตถุ ซึ่งช่วยไขปริศนาเรื่องอดีตของคนไทยให้กระจ่างมากขึ้น

ล่าสุดโครงการอนุรักษ์โลงไม้โบราณ ถ้ำผีแมนโลงลงรัก ซึ่งนำโดยอาจารย์ ได้รับทุนปีที่ 20 จากกองทุนเอกอัครราชทูตเพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม (U.S. Ambassadors Fund for Cultural Preservation – AFCP) จากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะใช้บูรณะโลงไม้ โบราณวัตถุ และออกแบบทางเดินในถ้ำต่อยอดให้คนทั่วไปมาเรียนรู้และได้เข้าใจโบราณคดีไทยยิ่งขึ้นอีก

เชิญทุกท่านจุดตะเกียง ก้าวตามหลังอาจารย์รัศมี ไปสืบค้นความลึกลับของสุสานแห่งนี้กัน

รัศมี ชูทรงเดช : การค้นพบโลงไม้สองพันปี และเส้นทางนักโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์

ปริศนาโลงไม้

อาจารย์เล่าเรื่องการค้นพบถ้ำผีแมนโลงลงรักให้ฟังหน่อยได้ไหม

จริง ๆ แล้วมันถูกค้นพบตั้งนานแล้วนะคะ ตั้ง 60 กว่าปี โดยนักโบราณคดีฝรั่งสมัยก่อน ตอนนั้นเขามาค้นหาจุดกำเนิดของการปลูกข้าว เขามาเจอโลงไม้ แต่เห็นไม้สักยังสภาพดี เลยเข้าใจว่าเป็นของปัจจุบัน แล้วไม่ได้ศึกษาต่อ ไม่รู้ว่าเป็นไม้จาก 2,000 กว่าปีที่แล้ว 

เราทำงานแถวกาญจนบุรี มีแหล่งโบราณคดีที่คล้ายกับแม่ฮ่องสอน พอมีโครงการสำรวจถ้ำใน พ.ศ. 2541 – 2543 แล้วเขาต้องการนักโบราณคดี เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็บอกว่าอาจารย์มาดูหน่อย เราก็สนใจเพราะฝันอยากดูแนวต่อเนื่องของภูเขาจากข้างบนลงมาข้างล่าง

ส่วนใหญ่นักโบราณคดีตามหลังเขาไปก้าวหนึ่งเสมอค่ะ แหล่งโบราณคดีมักถูกรื้อทำลายหรือรบกวนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้ำนี้มืดมาก ในอดีตชาวบ้านมาเจอ เขามองไม่เห็นอะไร ก็เลยเผาไม้สักในถ้ำ เราเข้าไปสำรวจแล้วแทบเดินไม่ได้ วัตถุตกเต็มไปหมด กระดูกเยอะมาก เราก็ทำบันทึกสำรวจซาก แต่จุดเปลี่ยนคือราว 5 – 6 ปีก่อน ทีมสำรวจเจอโลงที่ฝังอยูู่ในดินแล้วยังปิดอยู่ เราก็เลยตัดสินใจขุดถ้ำ เพราะว่าถ้าเราไม่ขุด เราจะไม่รู้อะไรเลย 

รัศมี ชูทรงเดช : การค้นพบโลงไม้สองพันปี และเส้นทางนักโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์
อ.รัศมี ชูทรงเดช และ ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย 
ภาพ : U.S. Embassy

การขุดถ้ำสำคัญอย่างไร

เราต้องการตรึงไทม์ไลน์ ใช้เกรียงขุดดินทีละก้อน ค่อย ๆ เกลี่ยพื้นดิน เหมือนลอกขนมชั้นออกมาทีละชั้น แต่ละชั้นจะมีร่องรอยของแต่ละยุคต่างกัน เหมือนไทม์แคปซูล เราต้องขุดทะลุเวลาในอดีตทั้งหมดเพื่อคำนวณอายุวัตถุต่าง ๆ วิธีการคล้าย ๆ กับนิติวิทยาศาสตร์ ถ้าเจอชิ้นกระดูกนิดเดียวเราเดาไม่ออก แต่ถ้าเจอเป็นจุด ๆ กับสิ่งของ เรารู้บริบทแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น 

ในคูหาเล็กนิดเดียว เจอชิ้นส่วนโครงกระดูกปะปนกันอยู่ 150 กว่าคน อายุต่างกันประมาณ 12 – 26 รุ่น เก่าแก่ราว ๆ 2,100 – 1,600 ปีมาแล้ว ตรงกับช่วงยุคสามก๊กในจีน ก่อนยุคสุโขทัย เราสันนิษฐานไว้ก่อนว่าโลงไม้นี้เป็นที่ฝังศพครั้งที่ 2 หมายความว่าครั้งแรกเขาคงจะฝังใต้ดินธรรมดา พอถึงเวลาร่างกายเน่าเปื่อยเหลือแต่กระดูก เขาก็เอากระดูกมาใส่กล่องในช่วงเวลาที่ต่างกันไป ไม่ใช่ทุกศพมาพร้อมกัน แล้วเราก็ได้แบบแผนว่าเขามีคอนเซ็ปต์เรื่องฮวงจุ้ย สุสาน นับถือบรรพบุรุษ ไม่ใช่ฝังมั่ว ๆ เลือกถ้ำในเชิงผามียอดสูง พื้นที่ที่ถมกว้าง ๆ มีโลงใหญ่

ปัจจุบันเราหาอายุ Dating ไม้และกระดูกได้ บางทีวิเคราะห์จากกะโหลกและสิ่งของ หัวโลงก็มีรูปแบบที่แสดงสายตระกูล ทำให้เรารู้ว่ามีศพคนหลายครอบครัว มีคนประมาณ 20 กว่าเจเนอเรชันในช่วงเวลาราว 424 ปี บางโลงมี 2 คน 5 คน 8 คน 12 คน 18 คน ลักษณะเหมือนสถูปของครอบครัว ฝาโลงมีรูเล็กนิดเดียวไว้งัดขึ้นแล้วใส่เติมเข้าไป 

รัศมี ชูทรงเดช : การค้นพบโลงไม้สองพันปี และเส้นทางนักโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์
รัศมี ชูทรงเดช : การค้นพบโลงไม้สองพันปี และเส้นทางนักโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์
รัศมี ชูทรงเดช : การค้นพบโลงไม้สองพันปี และเส้นทางนักโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์
ภาพ : ศิริลักษณ์ กัณฑศรี 

นอกจากกระดูก ในโลงมีอะไรอีก

สิ่งที่เจอกระจัดกระจายค่ะ เจอคากิหรือขาหมู ไก่ หมายถึงมีการเซ่นอาหาร เจอสุนัขฝังร่วมกับคน เจอหม้อ เครื่องประดับ บางโลงก็มีไม้ทอผ้าและชิ้นส่วนเสื้อผ้าใยกัญชง เราเลยไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อหาว่าใครทอผ้าด้วยไม้แบบนี้ ปรากฏว่าปกาเกอะญอเมืองแพม ปางมะผ้า ก็ทอผ้าแบบใช้เทคนิคการทอผ้าแบบห้างหลัง คนที่เราสัมภาษณ์บอกว่าไม้กี่ของเขามาจากแม่ของแม่ แสดงว่าของในโลงศพนี้แสดงตัวตนผู้ตาย เป็นของคู่ใจ เป็นสัญลักษณ์แสดงตัวตนผู้หญิง 

ผิวของโลงลงรัก คือทารักเคลือบไว้ เป็นวัฒนธรรมร่วมที่มีในกลุ่มไทใหญ่ เวียดนาม พม่า จีนตอนใต้ ซึ่งจีนยูนนานก็มีกลุ่มเยว่ที่แขวนโลงศพไว้ที่หน้าผา เป็นวัฒนธรรมร่วมที่บอร์เนียวก็มี ฟิลิปปินส์ก็มี 

เราต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อย ๆ รายละเอียดหลายอย่างยังเป็นปริศนา เราต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น และเราก็ยกโลงไม่ได้เพราะมันหนักมาก พื้นที่ก็แคบมาก ถ้ายกโลงไปปากถ้ำเราก็ออกไม่ได้ แล้วในถ้ำออกซิเจนน้อย ทำงานไปสักพักจะง่วงนอน 

แปลว่ายังสรุปไม่ได้ว่าคนพวกนี้เป็นใคร

จาก DNA บอกว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลาย มีทั้งมาจากจีนตอนใต้ ทิเบต และผสมกับคนพื้นเมือง สันนิษฐานนะคะว่าลักษณะเป็นชาวบ้าน อาจจะอพยพหนีสงครามลงมาจากจีน เพราะในเมียนมาและเวียดนามก็พบโลงไม้เหมือนกัน หนีเข้ามาอยู่ในดินแดนของประเทศไทยแล้วเขาอยู่กันโดดเดี่ยว คงใช้วิถีชีวิตแบบเดิมและค้าขายของป่าให้คนภายนอก 

อาจารย์เจอเรื่องลึกลับอะไรบ้างไหมในสุสานนี้

ก่อนเข้าไปเรามีการไหว้ขออนุญาตแล้ว และทำพิธีไหว้ทุกครั้งที่ไป เพราะตอนแรกชุมชนไทใหญ่เขาไม่เห็นด้วยกับการที่เราจะเข้าไปขุดค้นรบกวนผี เขาถือว่าเป็นที่หวงห้าม ไม่ให้ใครเข้าไปในถ้ำ เราจึงต้องพูดคุยกันเขาหลายครั้ง คือถ้าชาวบ้านไม่เห็นชอบ เราทำงานไม่ได้นะคะ ต้องเคารพชุมชนเจ้าของพื้นที่ 

เราอธิบายขั้นตอนทุกอย่างว่าเราจะทำงานยังไง ไม่ได้ไปลบหลู่ ในที่สุดผู้หลักผู้ใหญ่เขาบอกว่ายอม เพราะถ้าศึกษาก็จะทำให้รู้มากขึ้นว่าบ้านเรามีอะไร จากนั้นเขาให้เราทำอะไรก็ทำหมด ให้เราไปขอผี มีผู้รอบรู้เรื่องพิธีกรรมพาไปไหว้ แล้วเขาก็บอกว่าผีอนุญาตนะ เขายินดี เราก็ดีใจ 

ที่แปลกคือพอเข้าไปในถ้ำ เขาเดินไปอยู่จุดหนึ่งแล้วบอกได้ว่ากระดูกตรงนี้มีกี่คน มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก เราก็งงว่าลุงรู้ได้ยังไง เพราะผู้เชี่ยวชาญกระดูกเราก็บอกแบบเดียวกัน ลุงยังบอกอีกว่า เขาหิวมากเลยนะ ให้ไหว้ด้วยหมู ไส้หมู ข้าวเหนียว เกลือ กล้วยน้ำว้า 

ตอนทำงานเราไม่เจออะไร บอกในใจตลอดว่า ขอทำงานนะคะ ไม่ต้องให้เห็นเลยนะคะ เดี๋ยวทำงานไม่ได้ แต่คนอื่นก็เจอนะ ลูกศิษย์สามสาวเป็นผู้ช่วยนักวิจัย เขาทำงานกันคนละคูหา แล้วในนั้นมืดมาก เขาบอกว่าบางทีรู้สึกเหมือนมีคนมาลูบหลัง จนเขาชินไปเลย สามคนนี้จิตแข็งมาก 

จากนี้จะมีการค้นคว้าถ้ำผีแมนฯ อย่างไรต่อไป

ตอนแรกที่ทำ เราได้ทุนจาก สกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) พอวิจัยเสร็จเราเห็นว่าโลงมันผุ เลยอยากทำงานครบวงจรคือต้องอนุรักษ์ด้วย ทีนี้ความท้าทายคือเป็นหลักฐานที่อยู่ในถ้ำ เลยขอทุนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาไป แล้วเราก็ได้ทุนอนุรักษ์โลงไม้โดยไม่ใช้สารเคมีอันตราย ให้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติในถ้ำน้อยที่สุด ออกแบบพื้นที่แลนด์สเคปให้คนเข้าไปชม ทำทางเดินที่ดูธรรมชาติ ไม่ใส่ของที่ดูแปลกปลอม เราก็หวังสูงอีกว่าอยากให้งานนี้เป็นคล้าย ๆ เคสตัวอย่างให้ภูมิภาคเรา 

แผนคือเราพยายามจะดูว่าเราจะสแกนถ้ำได้ไหม สแกนเสร็จแล้วก็ลองประกบคู่โลงที่กระจัดกระจาย เป็นความท้าทายของเราเอง เหมือนเบรกจากงานวิจัยมาทำงานในเชิงสร้างสรรค์และอนุรักษ์ มีอาสารุ่นใหม่ไฟแรงหลายคน แล้วต่อไปเราก็จะพยายามทำเวิร์กชอปกับนักโบราณคดีในอาเซียนที่เขามีโลงไม้เหมือนกัน และเวิร์กชอปกับเยาวชนหรือชุมชนในพื้นที่ตรงนั้น ให้เขามาเรียนร่วมกับเรา และเป็นคนต้นแบบให้กับคนอื่นในพื้นที่ การอนุรักษ์ตรงนั้นก็ไม่ต้องเป็นเราที่เป็นคนนอก

ส่วนในแง่วิชาการ เราพยายามทำ Data ให้ดี เพื่อจะได้ส่งต่อให้กับคนในอนาคตได้ตั้งคำถามและค้นคว้าด้วย งานวิจัยที่ดีคือการทำงานที่ไม่มีวันจบ ยังมีอีกเยอะค่ะ แต่โบราณคดีเป็นของสาธารณะนะคะ วันนี้เราได้ข้อมูลพอสมควรแล้ว สิ่งที่อยากทำคือการเผยแพร่ สร้างแนวร่วมให้คนรู้สึกว่าอยากทำงานสืบค้นหาความจริง เราต้องการเห็นเด็ก ๆ ในประเทศไทย หรือนักวิชาการทำงานลักษณะ Investigation ไม่ใช่แค่สักแต่ว่าทำให้เสร็จ แต่ตั้งใจสืบค้นแบบไม่ฉาบฉวย สร้างคนที่รู้จริงในสิ่งที่เขาทำ เปิดพื้นที่ให้คนอื่นเขามาร่วมแบ่งปันด้วย 

มีนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจแบคทีเรีย เขาก็บอกว่าขอตัวอย่างดินในหลุมฝังศพหรือว่าดินในถ้ำมาค้นคว้าต่อ เราก็ โอ้โห เลิศมากเลยค่ะ มันงดงามเพราะว่าเกิดการต่อยอด ควรสนับสนุนการทำงานค้นคว้าวิจัยจริงจังแบบนี้เยอะ ๆ เพื่อสร้างสังคมอุดมปัญญาขึ้นมาจริง ๆ 

รัศมี ชูทรงเดช : การค้นพบโลงไม้สองพันปี และเส้นทางนักโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์

The Prehistory Age

ความน่าสนใจของเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนยังไง

ทั้งต่างและไม่ต่าง ต่างคือสภาพแวดล้อมที่เป็น Setting คือภูมิประเทศ แต่ก็คล้ายคลึงเมียนมา เวียดนาม เขมร และลาว คือวิวัฒนาการของมนุษยชาติตอนลงหลักปักฐานแต่ละที่มันคล้ายกัน คือใช้เครื่องมือหินทั่วโลก แต่พอเริ่มปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ถึงจะเริ่มเห็นลักษณะที่เป็นศิลปะ เริ่มมีลักษณะวัฒนธรรมที่ปรับกับพื้นถิ่น ถ้วยชาม เครื่องมือเครื่องใช้เริ่มไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ตามการใช้วัสดุ รสนิยมความงามของเขา อย่างโบราณวัตถุที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงก็ไม่เหมือนกับโคราช ในช่วงเวลาที่ตัดกัน ถ้าเจอของเหมือนกัน แสดงว่าเขาติดต่อกัน

ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จะเริ่มเห็นอัตลักษณ์เฉพาะในยุคโลหะ เพราะในสังคมเกิดงานศิลปหัตถกรรม ก่อนหน้านั้นยังเคลื่อนย้ายกลุ่มไปตามธรรมชาติ ไม่ค่อยมีของฟู่ฟ่าหรูหรา 

พอไม่มีความหรูหราฟู่ฟ่า แล้วอะไรคือสิ่งที่น่าดึงดูดใจของยุคก่อนประวัติศาสตร์แสนเก่า 

เรารู้สึกว่าเรื่องที่เก่ามาก ๆ คือต้นทางนะคะ เป็นปฐมบทความเป็นมาของมนุษยชาติและวัฒนธรรม สมมติเทียบกับสมัยน้ำแข็งในยุโรป ทะเลอ่าวไทยกลายเป็นแผ่นดินทั้งหมด แล้วคนที่อยู่ตรงนี้เขาปรับตัวกันยังไง มนุษย์ใช้ชีวิตแบบไหน ใช้กลไกทางวัฒนธรรมยังไงถึงทำให้ตัวเองอยู่รอด เราสนใจประเด็นเรื่องมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม 

เรามักจะนึกว่าคนยุคหินเป็นพวกไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ แต่ถ้าเขาไม่ฉลาดเขาอยู่ไม่ได้นะคะ เขาต้องคิดเรื่องคัดสรรทรัพยากร กักตุนอาหาร การล่าสัตว์โดยไม่ได้มีเครื่องมือที่ก้าวหน้า พอได้ต้นทาง ก็ค่อย ๆ สาวว่ามีวัฒนธรรมยังไง 

ยุคก่อนประวัติศาสตร์โยงเข้ากับธรรมชาติ ดูง่าย ๆ ว่ามนุษย์อยู่กับสิ่งแวดล้อมยังไง การทำลายสิ่งแวดล้อมของช่วงเวลานี้ยังไม่รุนแรงเท่ายุคประวัติศาสตร์ ถ้าเราสร้างวัด ก็ต้องเอาดินซึ่งเป็นของธรรมชาติมาทำเป็นก้อน ต้องตัดต้นไม้เพื่อมาเผาเป็นอิฐ พอยุคอุตสาหกรรมที่มีโลหะยิ่งแล้วใหญ่ แต่ก่อนหน้านั้นมนุษย์อยู่แบบกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ได้เปลี่ยนพันธุกรรมของพืชและสัตว์ได้ ดังนั้นเราต้องปรับตัวไปกับธรรมชาติ

เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้ารู้ว่ามีสัตว์อะไรบ้างอยู่ในช่วงเวลานั้น มันจะเป็นตัวบอกเราว่าสิ่งแวดล้อมเดิมเป็นแบบไหน สิ่งเหล่านี้เป็นดัชนีวัดว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนในแต่ละยุค แล้ววัฏจักรการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม หรือการเกิดภัยพิบัติในอดีต เช่นการยกตัวของเปลือกโลกจนมีแผ่นดินไหว ส่งผลกระทบยังไงกับคน 

นักโบราณคดีในประเทศไทยที่ทำงานเรื่องช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนต้นมีน้อยมากเลย อย่างในภาควิชาก็มีแค่ 2 คน แล้วคนที่ทำงานสายนี้จริง ๆ ก็มีอยู่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่ทำงานค้นคว้าสมัยที่เขาเรียกว่าก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเช่นบ้านเชียง เป็นยุคที่มีการติดต่อกับอินเดียแล้ว เห็นความร่ำรวยของโบราณวัตถุ แล้วก็มีการติดต่อกับผู้คนข้ามภูมิภาคทั้งจีน เวียดนาม แล้วก็กับตะวันตกด้วยนะ แต่ถ้าเราสาวไปถึงตอนต้นได้ เราจะแยกได้เลยว่าอะไรมาจากที่ไหน ในช่วงเวลาไหน 

การเรียนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็เลยไม่เป็นที่นิยมเท่ายุคประวัติศาสตร์

ใช่ เพราะยุคประวัติศาสตร์มันเห็นได้ง่ายไงคะ สมมติว่าดูละคร จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี หรือ บุพเพสันนิวาส โบราณสถานเป็นภาพใกล้ตัวเรา ไปอยุธยาเห็นวัดสวยจังเลย ความทรงจำอันนี้มันติดตา พอมีเรื่องเล่าประกอบว่าอดีตเป็นยังไง คนรู้สึกเชื่อมโยงได้ทันที 

แต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มันเป็นอดีตที่ไกลมาก ๆ สมมติบอกว่า 5 แสนกว่าปีมาแล้ว มนุษย์เริ่มเข้ามาอยู่ในเขตประเทศไทย เร่ร่อนอยู่ตามป่าที่มีหมีแพนด้า มีเสือเขี้ยวดาบ มีอะไรอย่างนี้ ภาพมันก็เป็นอีกชุดหนึ่งค่ะ แล้วเวลาที่เราพามาดูของจริงคือหลุมขุดค้น ก็เห็นแต่หลุม ไม่ได้เห็นวัดโออ่า ถึงหลุมนี้บอกเรานะว่าคนมาอยู่ที่นี่ตอนไหน ทำมาหากิน ทำอาหารยังไง ฝังศพที่ไหน มันก็ยากมากที่จะคนจะเห็นภาพแล้วเข้าใจ 

งั้นอาจารย์ทำยังไงให้คนเข้าใจยุคก่อนประวัติศาสตร์

ใช้เวลา ใช้สารพัดศาสตร์ เราใช้นักวิทยาศาสตร์อธิบาย มีศิลปินเข้ามาช่วยในแง่ตีความ เราต้องคิดวิธีการหา Medium ที่จะทำให้คนเข้าใจ 

อย่างการขึ้นรูปหน้าจากหัวกะโหลกอายุหมื่นกว่าปีของผู้หญิงที่ถ้ำลอด อันนั้นเป็นที่ฮือฮา ก็มีคนหลายคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการนี้นะคะ แต่เราสกัดหา DNA ไม่ได้ ซึ่งการหา DNA สมัยใหม่จะบอกได้ว่าตาสีอะไร ผมสีอะไร ผิวสีอะไร ดังนั้นเราควรทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจ ก็เลยไปโน้มน้าวคนมาช่วย ให้นักวิทยาศาสตร์ช่วยวาดภาพใบหน้า 2 มิติจากกะโหลก แล้วให้ศิลปินประติมากรรมขึ้นรูปใบหน้า 3 มิติจากภาพกะโหลก โดยไม่ได้ให้ทั้งคู่เห็นงานกันนะคะ ต่างคนต่างทำ พอสองคนเจอกัน เขาก็ตกใจกันน่าดูว่ามันออกมาคล้ายกัน ตอนนั้นเป็นข่าวฮือฮาด้วยอานุภาพสื่อ มันจุดประกายมนุษย์โบราณหมื่นกว่าปีที่อยู่ในแถบนี้หน้าตาเหมือนเรา ๆ เลย

ตอนสอนวิชาก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย เล่าเรื่องการขุดดินเป็นชั้น ๆ มีเด็กคนหนึ่งชอบเล่นบอร์ดเกมมาบอกว่า อาจารย์ ผมคิดว่าทั้งหมดที่อาจารย์พูดมาทำเป็นเกมเพื่อการสอนได้นะ ให้คนเล่นเกมขุดดินเป็นชั้น ๆ แล้วเอาหลักฐานที่ได้ไปสืบต่อ

เราก็นั่งคิดอยู่นานว่ามีบันทึกข้อมูลการทำงานที่ละเอียดอยู่แล้ว เอามาทำเกมให้คนค้นหาข้อเท็จจริง แล้วประกอบเข้าด้วยกัน มันก็จะฝึกเด็กเรื่องการค้นคว้า การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ ก็เลยชวนลูกศิษย์ที่ตอนนั้นอยู่ปี 3 มาเป็นนักวิจัย ให้ทำงานร่วมกับนักออกแบบ ส่วนเราเป็นที่ปรึกษา ออกมาเป็นเกม ‘นักสืบของอดีต’ ที่ให้คนเล่นสืบประวัติพื้นที่ประเทศไทยยุคหลายหมื่นปีก่อน มีชุดปริศนาโลงไม้ และนักสืบชาติพันธุ์ เพราะเราทำงานในที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ถามว่าปัจจุบันนี้เราได้ทำประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพี่น้องชาติพันธุ์จริง ๆ โดยไม่เหมารวมไหม เราเห็นความไม่เท่าเทียมและไม่ยุติธรรมเยอะ หวังว่าอย่างน้อยงานชุดนี้จะทำให้เด็กเข้าใจว่า กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ กะเหรี่ยง ม้ง ไทใหญ่ มีรายละเอียดต่างกัน

รัศมี ชูทรงเดช : การค้นพบโลงไม้สองพันปี และเส้นทางนักโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์

ดูเป็นงานที่ได้ร่วมงานกับผู้คนหลายแขนงมาก

ใช่ค่ะ งานแต่ละขั้นตอนในแต่ละช่วงเวลาเกิดมาจากความรู้สึกว่า เราอยากให้คนเข้าใจว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ไม่ได้ไกลตัวนะ เรื่องบรรพบุรุษของเรา ไม่ได้ไกลตัว เราเองก็ต้องเรียนรู้วิธีการเล่าเรื่อง สมัยก่อนเราก็เล่าเรื่องให้คนธรรมดาฟังไม่ค่อยเป็น (หัวเราะ) เคยเป็นไหมคะ เวลาฟังนักวิชาการพูดแล้วจะงง ๆ 

ตอนหลังเราก็ต้องปรับตัว ทำยังไงให้คนอยากรู้ที่มาของตัวเอง อย่างเราผิวออกขาวเหลืองกันทั้งคู่ แสดงว่าไม่ใช่คนที่อยู่ดั้งเดิมนะคะ คนดั้งเดิมผิวคล้ำ จมูกแบน เพราะฉะนั้นพวกเราคือพวกที่มาใหม่ ซึ่งมาหลายช่วงเวลาตั้งแต่เกิดรัฐโบราณ มีคนย้ายเข้าออก ติดต่อสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนผสมผสานวัฒนธรรมกัน ความจริงไม่เหมือนกับที่รัฐบอกเราว่าคนไทยเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราเห็นความเลื่อนไหลผ่านปฏิสัมพันธ์ของคนโบราณ ก่อนจะมาเป็นตัวเรา

ในช่วงที่อาจารย์ทำงานมา 34 ปี มีการค้นพบอะไรที่สั่นสะเทือนวงการโบราณคดีไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์

เอาตั้งแต่เริ่มเลยนะ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ของงานโบราณคดี งานชุดแรกคือตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

การค้นพบสำคัญแรก ๆ คือการขุดค้นที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งตอนนี้เขากำลังจะเปิดพิพิธภัณฑ์ ตอนนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ท่านดูโครงกระดูกแล้วบอกว่าลักษณะคล้ายกับคนไทย จึงเกิดข้อสมมติฐานตามมาว่าคนไทยอยู่ที่นี่มานานแล้ว ตอนนั้นยังมีคอนเซ็ปต์แพร่หลายว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต งานนั้นเปลี่ยนกระบวนการความคิดของคน ว่าไทยมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่มา 4,000 กว่าปี และโบราณคดีบอกอะไรบางอย่างได้ 

อีกช่วงหนึ่งคือการค้นพบโลหะที่บ้านเชียง ก็ทำให้เกิดข้อสมมติฐานฮือฮาว่าโลหกรรมอาจจะมีต้นกำเนิดที่บ้านเราเมื่อ 7,000 กว่าปีก่อน ไม่ใช่ที่ตะวันออกกลาง เป็นความพยายามบอกว่าดินแดนเราเก่าแก่ เพราะพอเกิดโลหกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการก่อตัวของรัฐ เกิดชนชั้น เกิดสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน จุดนี้แหละที่คนสนใจ เพราะเราต้องการรู้ว่าความไม่เท่าเทียมหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ในโลกมนุษย์ 

การค้นพบสองอย่างนี้ตอบโจทย์เรื่องสำคัญ อันแรกเป็นเรื่อง Local เพราะมันคือความเป็นมาของเรา อันที่สองตอบโจทย์ของโลก ในแง่ที่เราเอาประเทศไทยไปอยู่ในสถานะที่เชื่อมโยงกับโลก แต่ตอนหลังก็ค้นพบว่าโลหกรรมบ้านเชียงก็ไม่ได้เก่าอย่างที่เราคิดนะคะ แต่มันก็เป็นไฮไลต์ที่ทำให้เด็กที่เรียนโบราณคดีสนใจเรื่องโลหกรรม 

ต่อมาในรุ่นที่เราทำงาน เห็นงานที่ภาคใต้ของ ศาสตราจารย์สุรินทร์ ภู่ขจร ท่านสืบค้นแหล่งโบราณคดีเก่า ๆ แบบนี้เหมือนกัน แล้วเจอโครงกระดูกของมนุษย์เมื่อ 25,000 กว่าปีมาแล้ว เก่ากว่าที่ถ้ำลอดอีกนะคะ 

คำถามสำคัญของมนุษยชาติคือเรามาจากไหน นักวิทยาศาสตร์หรือใคร ๆ ก็ถาม จุดกำเนิดมนุษย์เรารู้แล้วว่าอยู่ที่แอฟริกา แล้วก็กระจายออกมาครั้งแรกคือ Homo erectus จากนั้นก็ทยอยออกกันมาอีก การเจอโครงกระดูก 25,000 ปี คืออีกช่วงเวลาสำคัญที่บ่งชี้มนุษย์ที่ออกนอกแอฟริกา 

มีการถกเถียงว่ามนุษย์ออกนอกแอฟริกาเมื่อหกเจ็ดหมื่นปีก่อน แล้วพัฒนาปรับเปลี่ยนกายภาพตามภูมิภาค ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียก็แบ่งเป็น Northern Mongoloid ลักษณะเหมือนกลุ่มจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วน Southern Mongoloid ก็ผิวคล้ำ อีกกลุ่มบอกว่าใช้ DNA วิเคราะห์ว่าเป็นอีกกลุ่มที่อพยพมาใหม่ ดังนั้นพวกเราเป็นคนระลอกใหม่ที่เข้ามาแทนที่คนกลุ่มเดิม อาจารย์สุรินทร์สืบได้ 25,000 ปี ของเราได้ 12,000 ปี และ 13,000 ปี กลายเป็นจุดที่เราลิงก์กับโจทย์ของโลกได้ น่าเสียดายที่เราสกัด DNA ไม่ออก แต่ก็ทำให้เราเห็นหลักฐานความเก่าแก่ของมนุษย์ที่นี่ 

ปัจจุบันอะไรคือแง่มุมหลักที่ทำให้คนสนใจยุคก่อนประวัติศาสตร์มากที่สุด

ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติเลยที่คนอยากรู้ และยังเป็นปัญหาสากลทุกวันนี้คือ หนึ่ง เรามาจากไหน สอง ธัญพืชและปศุสัตว์มีต้นกำเนิดยังไงที่ไหน คนเอเชียกินข้าว ฝรั่งหรือแขกกินขนมปังหรือโรตีจากข้าวสาลี ข้าวบาเล่ย์ ถ้าเรารู้จุดกำเนิดธัญพืช ลักษณะทางภูมิศาสตร์ก็จะทำให้เห็นว่าคุณสมบัติการเติบโตของธัญพืชเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับภูมิประเทศ ภูมิอากาศอย่างไร นำไปวิจัยต่อยอดในสิ่งแวดล้อมแบบไหนได้ เหมือนที่อเมริกาเทคโนโลยีก้าวหน้ามากจนปลูกข้าวได้แล้ว

สำหรับคนไทย คำถามว่าคนไทยมาจากไหน อันนี้ถกเถียงกันมาก อาจารย์หมอสุดบอกว่ามนุษย์ยุค 4,000 ปีนั้นใช้หม้อสามขา ซึ่งเหมือนกับของจีนเลย แสดงว่ามีคนมาจากทางเหนือ ไม่รู้ว่าเป็นคนจีนรึเปล่านะคะ แต่เอาวัฒนธรรมจีนเข้ามา 

แต่เขาจะใช่คนไทยหรือไม่ใช่ก็ได้ เพราะถ้าบอกว่าทุกโครงกระดูกที่เราพบในเส้นเขตแดนเมืองไทยปัจจุบันเป็นบรรพบุรุษเรา ก็แสดงว่ามีหลายกลุ่มไปหมดเลย

มีประชากรจากทางเหนือลงมาหลายระลอก เอาวัฒนธรรมมาพร้อมกับนวัตกรรมเกษตรกรรม คือการกินข้าว เอาปศุสัตว์อย่างหมู วัว มาด้วย เราไม่ได้อยู่แบบโดดเดี่ยว หลังจากนั้นสัก 2,000 ปี ทางแม่น้ำแดง ทางสาละวินก็มีกลุ่มโลงไม้ เพราะเราสกัด DNA เขาได้ พบว่ามีการผสมกลุ่มชาติพันธุ์คล้ายปัจจุบัน มีกลุ่มจีนตอนเหนือเยอะมาก คนไม่ได้เชื้อสายบริสุทธิ์แล้ว

ชาวเมดิเตอเรเนียนเข้ามาเมื่อ 2,000 ปีก่อน เขากลายเป็นรัฐ เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ก่อนเรา จึงเข้ามาด้วยเรื่องเศรษฐกิจ หาทรัพยากร อินเดียเดินทางมาเมื่อพันกว่าปีก่อนจากคันธาระ จีน เวียดนามก็เข้ามา เขมรก็เข้ามา ชวาก็มา เปอร์เซียก็มา ดังนั้นยิ่งใกล้ปัจจุบัน ก็จะยิ่งเห็นความหลากหลายแตกต่างของคนมากขึ้นเรื่อย ๆ 

นักโบราณคดีผู้ศึกษายุคก่อนประวัติศาสตร์ และลงลึกคำถามที่คนไทยอยากรู้ว่า เรามาจากไหน

นักสืบของอดีต

สถานการณ์นักโบราณคดีในบ้านเราเป็นยังไงบ้าง

บ้านเรายังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ขณะที่ทางตะวันตก จีน เกาหลี เขาก้าวหน้าขนาดที่นักโบราณคดีไม่ต้องทำงานในประเทศตัวเองแล้ว มีเพื่อนไปทำงานในอลาสก้า ถามว่ายูไปทำอะไร เขาบอกว่าไปศึกษาเรื่องปลาวาฬ หรือไปศึกษาเรื่องไดโนเสาร์ที่ต่างประเทศ คนเกาหลีไปศึกษาวัฒนธรรมโบราณในปากีสถาน คือถ้าเราพยายามจะโปรโมตว่าสังคมไทยคือสังคมที่เชื่อมโลก เราก็ต้องสร้างคนให้รู้สึกว่าเขาสามารถทำงานแบบนั้นได้จริง เริ่มต้นง่าย ๆ จากภูมิภาคเรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังได้เลย

ตอนที่อาจารย์เริ่มต้นทำงาน มีนักโบราณคดีหญิงเยอะไหม

มีนะคะ อาจารย์ของเราก็เป็นผู้หญิง งานภาคสนามก็ออก แต่อาจารย์ผู้ชายก็เยอะกว่าอยู่ดี สมัยที่เราเรียน ผู้หญิงผู้ชายจำนวนพอ ๆ กัน แต่ตอนหลังผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาจเป็นเพราะผู้หญิงสอบได้คะแนนสูงกว่า 

ภาพจำนักโบราณคดีมาจากหนังฮอลลีวูดคือใส่ชุดสีน้ำตาล ๆ ไปลุยสนามขุดค้น แล้วชีวิตจริงของนักโบราณคดีเป็นยังไง

คนใส่ชุดสวยกับส้นสูงไปเดินกางร่มสำรวจก็มีนะคะ การแต่งตัวไม่ควรมีข้อจำกัด ก็ใส่ตามความชอบของคน แต่เราทำงานพื้นที่สำรวจที่เป็นถ้ำ ภูเขา เราเดินแบบนั้นไม่ได้ ต้องใส่รองเท้า Hiking ทะมัดทะแมง หลาย ๆ คนเขาก็หล่อสวย แต่เราม่อบแม่บทุกครั้งล่ะ เหนื่อยเหงื่อออก ไม่ค่อยได้สนใจตัวเอง

ตอนนี้คณะโบราณคดีเป็นที่นิยมไหม

วันก่อนเพิ่งคุยกับคณบดีว่าปีนี้คะแนนสูงมาก เราก็แปลกใจ อาจจะมีข่าวคราวเกี่ยวกับคณะโบราณคดีมากขึ้น การค้นพบทางโบราณคดีในสื่อก็เยอะขึ้น เด็ก ๆ ก็อาจจะรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพหนึ่งในฝัน บางคนก็บอกว่าพ่อแม่อยากเรียนแล้วไม่ได้เรียน ก็เล่าให้ลูก ๆ ฟังว่าเรียนเถอะ อะไรอย่างนี้ 

สมมติว่ามีนักโบราณคดีรุ่นใหม่เกิดขึ้นเยอะในประเทศไทย อาจารย์คิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ในอุดมคติ คิดว่ามันจะสร้างสังคมที่รสนิยมทางวัฒนธรรมซับซ้อนขึ้นนะ อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 แต่คุณสมบัติของคนไทยในศตวรรษที่ 22 หรือ 23 ควรจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ในเชิงความเป็นจริง อาชีพที่เปิดกว้างให้คนที่ตั้งใจทางนี้จริง ๆ มีน้อย อัตรารับมีจำกัด 

คงไม่ถึงกับไม่มีความหวังหรือสิ้นหวังนะคะ ต้องสร้างความหวังที่ตัวเราก่อน ต่อให้เรียนแล้วไม่ไปเป็นนักโบราณคดี แต่ถ้าเขาทำงานศึกษาจริงจังในอาชีพต่าง ๆ ก็จะเป็นตัวกลางเผยแพร่ความรู้ ทำให้สังคมมีพื้นที่ความรู้ มีทางเลือกให้สังคมไทยมากขึ้น เช่น บางคนไปเป็นครู สอนเด็กตัวเล็ก ๆ ให้รู้เรื่องอดีตแบบไม่ใช่ท่องจำ แต่เรียนแล้วเข้าใจ อธิบายเรื่องความเป็นเหตุเป็นผล แล้วก็เปิดให้เขาอภิปรายได้ว่าเขาคิดว่ายังไง เขาก็ขยายแนวร่วมให้แล้ว

บทเรียนสำคัญที่อาจารย์พยายามสอนลูกศิษย์ทุกคนคืออะไร

ตอนนี้สอนเด็กทุกคนว่าอย่างน้อยเราก็ต้องมีอุดมการณ์ บางทีตอนเด็ก ๆ อาจจะไม่เคยมีใครสอนเราว่าเราควรมองเส้นทางชีวิตในอนาคต เราอยากเป็นอะไร อยากไปเห็นโลกข้างนอกไหม อยากทำอะไรกับพลังของเรา มีเงินอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องรู้จักทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น เราถึงจะรู้สึกถึงแรงขับเคลื่อนของเรา เราจึงจะรู้สึกว่าหน้าที่ของเราสำคัญ ถ้าเราเลือกเป็นนักโบราณคดี เราเลือกเส้นทางแสวงหาความรู้เพื่อมนุษยชาติ 

เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่าพารุ่นพี่ปีนึงไปขุด แล้วเจอเศษทองดิบ ๆ เป็นก้อนเลยที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ทุกคนตื่นเต้นมาก มันเป็นโอกาสที่เราได้จับของที่เป็นต้นทาง ได้รู้สิ่งที่คนอื่นไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้นหน้าที่เราในการเชื่อมข้อมูลเหล่านี้ไปสู่สาธารณะมันสำคัญมากเลยนะ แต่เราต้องเลือกเองนะ ถ้าอยากมีเงินเยอะ ก็คงไม่ได้ล่ะมั้ง (หัวเราะ) เพราะเดี๋ยวนี้เวลาถามเขา เด็กรุ่นใหม่น่ะนะคะว่าเขาอยากเป็นอะไร เขาบอกว่าอยากเป็นคนรวย

ในเมื่อเขาบอกเขาอยากรวย เวลาเราสอนไปเราก็จะบอกว่าวิชาวิจัยเป็นวิชาทำเงินได้นะ รีเสิร์ชข้อมูลทำบทหนังได้ ถ้าเขาสงสัยว่าคนยุคก่อนเขาแต่งตัวยังไง ใครจะมารู้ดีเท่าเด็กโบราณคดีที่ไปค้นคว้าประติมากรรมในวัด หรือเราเขียน Proposal เวลารับจ๊อบได้ มีความรู้ก็รับเป็นที่ปรึกษาได้ เหมือนหลอกเด็ก (หัวเราะ) แต่ไม่ได้หลอกนะ อะไรแบบนี้พูดจริงเลย

นักโบราณคดีผู้ศึกษายุคก่อนประวัติศาสตร์ และลงลึกคำถามที่คนไทยอยากรู้ว่า เรามาจากไหน

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล