อ่านเถิดหนา’ คราวนี้ชวนคนมาอ่านหนังสือกันที่หอสมุดแห่งชาติ สถานที่ที่รวบรวมหนังสือหลากประเภท หลายภาษา ไว้กว่าหมื่นเล่ม พวกเราชาวอ่านเถิดหนา 05 : ที่รักของชั้น นัดพบกันเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ณ มุมหนังสือนวนิยาย นอกจากให้สมาชิกแต่ละคนแนะนำหนังสือที่รักประจำชั้นที่เตรียมมา ยังมีไฮไลต์จากเจ้าบ้าน โดยตัวแทนบรรณารักษ์จากห้องหนังสือหายาก หอสมุดแห่งชาติ เปิดคลังขนหนังสือหายากมาให้ชมกันแบบใกล้ชิด พร้อมเล่าเรื่องเบื้องหลังของหนังสือหายากทั้งหมดให้ฟัง 

เริ่มจากทำความรู้จัก ‘หนังสือหายาก’ กันก่อน ในห้องสมุดแต่ละแห่งก็จะมีเกณฑ์ในการคัดเลือกหนังสือหายากเป็นของตัวเอง สำหรับหนังสือที่จัดเป็นหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติ คือหนังสือที่เป็นมรดกตกทอดและเคยให้บริการตั้งแต่คราวก่อตั้งหอสมุดวชิรญาณ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเอกสารที่มีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหาและเทคโนโลยีการพิมพ์ คณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติจึงมีมติให้รวบรวมหนังสือเหล่านี้ในหมวดหมู่ของ ‘หนังสือหายาก’ และจัดหมวดหมู่หนังสือตามระบบงานบรรณารักษ์ เพื่อผู้ใช้บริการสืบค้นข้อมูลได้ พร้อมเพิ่มระบบการจัดเก็บหนังสือให้ยังคงสภาพเดิมที่สุด 

นอกจากนำหนังสือหายากทั้งหมดเข้าสู่ระบบแคตตาล็อกแล้ว หอสมุดแห่งชาติยังจัดประเภทของหนังสือหายากออกเป็นหมวดต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา ซึ่งแต่ละหมวดมีที่มาที่ไปว่าทำไมหนังสือในหมวดนี้จึงหายาก ความน่าสนใจของหนังสือหายากเหล่านี้จึงไม่ใช่เพียงเรื่องความเก่า แต่เป็นความเก๋าที่ซ่อนอยู่ในแต่ละเล่มต่างหาก! 

 ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือหายาก แต่พี่ๆ บรรณารักษ์หอสมุดแห่งชาติหาให้ได้ ถ้าอยากชมใกล้ๆ จดลิสต์หมวดหนังสือหายากที่ถูกใจ หรือถ้าใครเสิร์ชชื่อหนังสือจากฐานข้อมูลหอสมุดแห่งชาติแล้วเจอชื่อหมวด RBBK แปลว่าหนังสือที่คุณอยากอ่าน มีให้บริการที่ห้องหนังสือหายาก อาคาร 1 ชั้น 3 หอสมุดแห่งชาติ สอบถามกับพี่ๆ บรรณารักษ์ได้เลย 

01

หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก

ชื่อหนังสือ : ไกลบ้าน (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1)

ผู้แต่ง : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2417 

ชื่อหนังสือ : ไกลบ้าน (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2)

ผู้แต่ง : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2466 

ชื่อหนังสือ : ไกลบ้าน (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3)

ผู้แต่ง : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2479 

นักอ่านทั้งหลายอาจจะไม่ทราบว่า นอกจากให้บริการหนังสือหลายประเภท หลากภาษาแล้ว หอสมุดแห่งชาติยังมีหน้าที่สำคัญอีกอย่าง คือการเก็บต้นฉบับสื่อสิ่งพิมพ์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์รายวัน ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ที่ระบุว่า หากมีการผลิตสิ่งพิมพ์ทุกประเภท จะต้องส่งต้นฉบับมาที่หอสมุดแห่งชาติอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อใช้เป็นต้นฉบับกรณีมีการตีพิมพ์ครั้งต่อไป รวมถึงใช้เป็นหลักฐานยืนยันต่อศาลกรณีมีคดีความ หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องเสียค่าปรับคราวละ 12 บาท ซึ่งใช้อัตราค่าปรับนี้มาตั้งแต่แรกเริ่มมีกฎหมายจนถึงปัจจุบัน 

ด้วยเหตุนี้ หอสมุดแห่งชาติจึงเป็นสถานที่ที่รวบรวมต้นฉบับสิ่งพิมพ์มากมายเอาไว้ แต่ถ้าให้เลือกเพียง 1 เรื่องที่ทางหอสมุดแห่งชาติภูมิใจนำเสนอที่สุด เห็นจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 เรื่อง ไกลบ้าน เพราะไม่เพียงเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก แต่หนังสือเล่มนี้ ยังเป็นครั้งแรกของเผยแผ่พระราชหัตถเลขา 43 ฉบับเมื่อคราวเสด็จฯ ประพาสยุโรปมาเป็นตัวหนังสือให้ประชาชนทั่วไปได้อ่าน ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์อย่างแพร่หลาย จนส่งให้ ไกลบ้าน เป็นพระราชนิพนธ์ที่ทุกคนรู้จัก 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ, หนังสือไกลบ้าน

โดยพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 แบ่งเนื้อหาจากต้นฉบับที่เป็นพระราชหัตถเลขาออกเป็น 4 เล่ม และมีการตัดเนื้อความบางส่วนออกไป ต่อมาในวาระฉลองพระชันษาพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ (พระมารดาของเจ้าฟ้านิภานภดลฯ) จึงจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยถือว่าเป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด เพราะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่ถูกตัดไปกับเพิ่มรูปภาพประกอบ โดยทั้งหมดเป็นรูปทรงถ่ายของรัชกาลที่ 5 

และพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน อีกฉบับที่บรรณารักษ์เลือกมาให้ชม เป็นฉบับพิมพ์ครั้ง 3 จัดพิมพ์ในวาระพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพของเจ้าฟ้านิภานภดลฯ ซึ่งภาพหน้าปกเป็นภาพเดียวกับฉบับที่ยังจัดพิมพ์จนถึงปัจจุบัน

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ, หนังสือไกลบ้าน
เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ, หนังสือไกลบ้าน

02

หนังสือที่จัดพิมพ์ในโอกาสพิเศษ 

ชื่อหนังสือ : ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แลหอสมุดสำหรับพระนคร 

ผู้แต่ง : หอพระสมุดวชิรญาณ เรียบเรียงโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2459

ชื่อหนังสือ : The Vajirana National Library 

ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) 

ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1924

ในยุคที่การอ่านหนังสือยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ประกอบกับเทคโนโลยีการพิมพ์ยังยุ่งยากซับซ้อน การจัดพิมพ์หนังสือแต่ละครั้งจึงมักทำขึ้นในโอกาสพิเศษของพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูงเท่านั้น อย่างการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกงานศพที่มีขึ้นครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 5 ในพิธีพระราชทานเพลิงศพพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ตั้งแต่นั้นมา จึงเกิดเป็นธรรมเนียมแพร่หลายในการนำข้อเขียน ตั้งแต่พระราชนิพนธ์ วรรณคดี บทสวดมนต์ ไปจนถึงตำราวิชาการจากสมุดไทยโบราณมาจัดพิมพ์ในรูปแบบของหนังสือ 

นอกจากเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ศาสตร์ความรู้ต่างๆ สู่คนทั่วไป และเป็นการบันทึกข้อเขียนโบราณให้ยังคงอยู่ ในมุมของการศึกษาทางประวัติศาสตร์ หนังสือที่จัดพิมพ์ในโอกาสพิเศษเป็นกุญแจสำคัญที่จะพาเราไปเห็นภาพวิถีชีวิตของสังคมไทยในยุคสมัยนั้นๆ เพราะหนังสือเหล่านี้ไม่ได้บันทึกเพียงข้อเขียนที่เป็นตำราหรือวรรณกรรม แต่ยังมีส่วนที่เป็นประวัติของบุคคลหรือสถานที่ที่เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพ ความสนใจ และโลกทัศน์ของสังคมไทยในยุคร้อยกว่าปีก่อนได้เป็นอย่างดี

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

เช่นเดียวกับหนังสือ ตำนานหอพระสมุดฯ ที่พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสภานายก กรรมการ และเจ้าหน้าที่หอพระสมุดวชิรญาณ เรียบเรียงขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในคราวเสด็จฯ เปิดหอสมุดสำหรับพระนคร (ต่อมาคือหอสมุดแห่งชาติ) เมื่อ พ.ศ. 2459 โดยเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่มูลเหตุที่ตั้งหอสมุดสำหรับพระนครแห่งชาติ ตำนานหอพระสมุดทั้งสามแห่งก่อนจะรวมกันเป็นหอสมุดสำหรับพระนคร กรรมการชุดแรก การชำระหนังสือ การพิมพ์หนังสือ การจัดแผนกหนังสือ ฯลฯ 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

ต่อมาใน พ.ศ. 2461 ได้มีการจัดทำเป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษ ในชื่อ The Vajirana National Library โดย ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) อดีตบรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอสมุดวชิรญาณ ซึ่งหนังสือที่จัดพิมพ์ในโอกาสพิเศษทั้งสองเล่มข้างต้น เป็นทั้งบันทึกประวัติการก่อตั้งหอสมุดแห่งชาติ และยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงว่าประเทศไทยได้มีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไปมาเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

03

หนังสือส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ชื่อหนังสือ : The Tour of Doctor Syntax, In Search of the Picturesque ; A Poem 

ผู้แต่ง : วิลเลียม คอมบ์ (William Combe) 

ชื่อหนังสือ : Treatise on Fortification and Artillery, Volume 1

ผู้แต่ง : เฮคเตอร์ สเตรธ (Hector Straith)

ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1852

ชื่อหนังสือ : The Four Gospels: Arranged as a Practical Family Commentary

ผู้แต่ง : The Author of “The Peep of Day”, etc.

ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1852

ยุคสมัยหนึ่ง พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความสนพระทัยในการอ่านและสะสมหนังสือมักจะหอสมุดส่วนพระองค์และแสดงความเป็นเจ้าของหนังสือโดยการประทับตราประจำพระองค์ หรือ Book Plate ลงบนหนังสือ ซึ่งประเภทของหนังสือที่เจ้านายแต่ละพระองค์สะสมไว้ สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญและความสนใจในศาสตร์แขนงต่างๆ 

หนังสือส่วนพระองค์ที่ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ห้องหนังสือหายาก หอสมุดแห่งชาติ โดยมากเป็นหนังสือที่มาจากห้องสมุดส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เนื้อหาของหนังสือก็แสดงถึงความสนพระทัยในหลายแขนง ทั้งการทหาร การเดินเรือ บทกวี โคลงกลอน รวมไปถึงหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ นอกจากทุกเล่มจะมี Book Plate หรือตราประจำของพระองค์ติดอยู่ที่ปกในของหนังสือแล้ว ความพิเศษอีกประการที่พบในหนังสือของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ คือ หนังสือหลายเล่มของพระองค์ระบุข้อความและตัวเลข ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพิกัดในการเดินเรือเอาไว้ด้วย 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

แล้วเราควรจะศึกษาหนังสือส่วนพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ไปด้วยเหตุผลใด คำตอบก็คือ เมื่อเราได้ทราบว่าพระบรมวงศานุวงศ์แต่ละพระองค์มีความสนพระทัยที่สะท้อนผ่านการสะสมหนังสือประเภทใด ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจว่า รากฐานความเจริญของประเทศไทยที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยเจ้านายพระองค์ต่างๆ ล้วนมาจากพระปรีชาสามารถ และอาจจะมีไม่มากก็น้อยที่ความเจริญในปัจจุบันเป็นผลมาจากการศึกษาหนังสือเหล่านี้ 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ
เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ
เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

04

หนังสือภาษาอื่นๆ 

หนังสือหายากทั้งหมดในการครอบครองของหอสมุดแห่งชาติ เป็นหนังสือที่เคยให้บริการตั้งแต่สมัยหอพระสมุดวชิรญาณ ก่อนจะนำมาจัดหมวดหมู่ตามระบบงานบรรณารักษ์ แต่ก็ยังมีหนังสืออีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้จัดเข้าระบบเพื่อผู้ใช้บริการสืบค้นข้อมูล เนื่องจากเป็นหนังสือภาษาอื่นๆ ที่ยังไม่มีการถอดความ บ้างก็เป็นภาษาโบราณที่แม้แต่ประเทศเจ้าของภาษาก็ไม่มีการใช้งานแล้ว ทำให้ไม่สามารถระบุว่าหนังสือภาษาอื่นๆ เหล่านี้มีชื่อเรื่อง เนื้อหา หรือรายละเอียดต่างๆ อย่างไรบ้าง 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

อย่างหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติได้รับตกทอดมาจากหอสมุดส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านภาษาบาลี-สันสกฤต หนังสือของพระองค์ที่หอสมุดแห่งชาติรวบรวมไว้จึงมีทั้งหนังสือพิมพ์ด้วยอักษรอริยกะ (อักษรที่ใช้เขียนภาษาบาลี) หนังสือพิมพ์ด้วยอักษรเทวนาครี (อักษรที่ใช้เขียนภาษาฮินดีและภาษาสันสกฤต) จนไปถึงหนังสือพิมพ์ด้วยภาษาพม่าโบราณ ซึ่งเก่าแก่และต่างจากภาษาพม่าในปัจจุบันขนาดที่ว่าขนาดเจ้าของภาษายังอ่านไม่ออก 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

ด้วยเหตุนี้ หนังสือที่พิมพ์ด้วยภาษาโบราณยากต่อการตีความจึงกลายเป็นขุมทรัพย์ทางการศึกษาด้านภาษาศาสตร์ บรรณารักษ์หอสมุดแห่งชาติเล่าเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีผู้เชี่ยวชาญพยายามถอดความจากภาษาโบราณเหล่านี้และบันทึกลงในบัตรรายการ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ทั้งในการศึกษาภาษาและเป็นประโยชน์ในส่วนงานบรรณารักษ์ สำหรับใครที่มีความสามารถหรือสนใจศึกษา ทางหอสมุดแห่งชาติก็ยินดีให้ใช้หนังสือเหล่านี้เป็นแหล่งเรียนรู้

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

05

หนังสือประวัติบุคคล

ชื่อหนังสือ : บุรุษเรืองนาม 

ผู้แต่ง : หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2466

ชื่อหนังสือ : นารีเรืองนาม 

ผู้แต่ง : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2462

ย้อนไปในคาบเรียนวิชาวรรณคดีไทย วรรณคดีประเภทหนึ่งเราต้องเคยเรียนคือบทยอพระเกียรติ วรรณคดีประเภทนี้แต่งขึ้นเพื่อเชิดชูพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านมาสู่อีกยุคหนึ่ง รูปแบบของการเชิดชูพระเกียรติพระมหากษัตริย์จึงเปลี่ยนมาเป็นการนำเสนอผ่านหนังสือ และไม่ได้จำกัดการเชิดชูเกียรติเพียงในชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ยังมีการเชิดชูและกล่าวถึงประวัติของวีรบุรุษ วีรสตรี คนทั่วไป รวมถึงชาวต่างชาติ ที่สร้างคุณงามความดีทั้งต่อประเทศไทยและในระดับโลก 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

หนังสือประวัติบุคคลที่จัดว่าเป็นหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติที่เราได้ชมกันคือ บุรุษเรืองนาม และ นารีเรืองนาม โดยเนื้อหาหลักยังเป็นการกล่าวถึงประวัติบทสรรเสริญบุคคลต่างๆ 

อย่างในเล่ม บุรุษเรืองนาม ที่หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) รวบรวมพิมพ์เพื่อแจกในงานศพของนายนูน ปาจิณพยัคฆ์ ผู้เป็นบิดา ก็เป็นหนังสือที่รวบรวมบทสรรเสริญคุณความดีของผู้ชายที่มีตั้งแต่พระมหากษัตริย์ไทยในอดีต พระเจ้ากรุงเบลเยียม นายขนมต้ม พันท้ายนรสิงห์ สุนทรภู่ พระสงฆ์ ไปจนถึงขงจื๊อและเล่าปี่จากวรรณกรรมจีนเรื่อง สามก๊ก โดยนำเสนอในรูปแบบของโคลงกลอนหลายรูปแบบ 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ
เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

ส่วนในเล่ม นารีเรืองนาม โคลงสุภาษิตพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ก็มีบทสรรเสริญผู้หญิงทั้งไทยและต่างชาติมากมาย อาทิ นางนพมาศ ท้าวเทพกษัตรี คุณหญิงโม พระราชินีวิกตอเรีย นางวิสาขา ไปจนถึง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ซึ่งบทสรรเสริญทั้งหมดทรงแต่งด้วยรูปแบบการประพันธ์ที่หลากหลาย ทั้งฉบัง 16 , สัทธรา 21, สุรางคนางค์ 28, อินทรวิเชียร 11, วสันตดิลก 14 เป็นต้น 

06

หนังสือรูปเล่มสวยงาม : หน้าปก

ชื่อหนังสือ : มัทนะพาธา 

ผู้แต่ง : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2468 

นอกจากการศึกษาเนื้อหาของหนังสือหายากแต่ละเล่ม แต่ละประเภท จะสะท้อนภาพชีวิตความเป็นอยู่และความสนใจของคนไทยในยุคร้อยกว่าปีก่อนแล้ว หากมองในมุมของความเก่าแก่ หนังสือหายากเหล่านี้ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นดีที่แสดงถึงเทคโนโลยีการพิมพ์หนังสือในยุคแรกเริ่ม กว่าที่จะมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมากว่าร้อยปี แต่หนังสือหายากเหล่านี้ยังได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดี นอกจากจัดหนังสือทุกเล่มเข้าหมวดหมู่ตามระบบงานบรรณารักษ์แล้ว ทางห้องหนังสือหายาก หอสมุดแห่งชาติ ยังเพิ่มระบบดูแลรักษาหนังสือ โดยเก็บในอาคารที่ควบคุมด้วยระบบอัจฉริยะ มีเครื่องปรับอากาศที่ควบคุมได้ทั้งอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ พร้อมทั้งมีระบบป้องกันเพลิงไหม้ และหนังสือทุกเล่มในห้องหนังสือหายากยังให้บริการด้วยระบบชั้นปิด (Closed Stack) คือการจัดหนังสือที่เจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะเป็นผู้หยิบเล่มหนังสือที่ผู้ใช้บริการต้องการออกมาให้เท่านั้น ทั้งนี้ หากมีหนังสือที่ชำรุดเสียหาย ทางหอสมุดแห่งชาติก็มีกลุ่มงานสงวนรักษาหนังสือ มีหน้าที่ซ่อมแซมหนังสือทุกประเภทให้คงสภาพเดิมที่สุด 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ, มัทนะพาธา

ในคราวนี้ เราก็มีโอกาสได้ชมหนังสือเก่าบางส่วนที่ทางห้องหนังสือหายากจัดว่าเป็นหนังสือรูปเล่มสวยงาม เริ่มต้นด้วยเล่มที่คนรักวรรณคดีทุกคนต้องรู้จัก คือหนังสือ มัทนะพาธา บทพระราชนิพนธ์บทละครพูดในรัชกาลที่ 6 นอกจากได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์ รูปเล่มของ มัทนะพาธา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 นี้ยังจัดว่าเป็นหน้าปกที่สวยงามมาก โดยภาพหน้าปกมาจากสัญลักษณ์สำคัญของเรื่องอย่างดอกกุหลาบที่ลงด้วยสีทอง แม้จะเป็นฉบับเก่าแก่ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2468 แต่ก็ยังสวยสดใสเหมือนใหม่ เพราะได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดี มีการห่อปกด้วยพลาสติกไมลาร์เพื่อป้องกันความชื้นและความร้อน

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ, มัทนะพาธา

หน้าปกรูปดอกกุหลาบของ มัทนะพาธา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 สวยงามและได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง โดยฉบับที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นการตีพิมพ์ซ้ำครั้งสำคัญ เนื่องจากคงสภาพและรายละเอียดจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งฉบับพิมพ์ใหม่นั้นได้จำหน่ายหมดไปแล้ว แต่ถ้าใครอยากสัมผัสเล่มจริง ติดต่อที่ห้องหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติได้เลย 

07

หนังสือรูปเล่มสวยงาม : รูปเล่ม

ชื่อหนังสือ : Treaty of Peace between the Allied and Associated Powers and Germany

ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 19191

ชื่อหนังสือ : Nouvelle Géographie universelle

ผู้แต่ง : Elisee Reclus 

ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1877

ชื่อหนังสือ : The Unrepealed Central Acts of the Governor-General in Council (Third Edition)

ผู้แต่ง : D.E. Cranenburgh

ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1893

นอกจากหนังสือรูปเล่มสวยงามที่มีหน้าปกโดดเด่นแล้ว หนังสือหายากอีกประเภทที่ห้องหนังสือหายากภูมิใจนำเสนอ คือหนังสือที่มีรูปเล่มสวยงามและมีความหนาของกระดาษมากกว่า 700 แผ่น โดยหนังสือหายากเล่มหนาที่มาจากต่างประเทศเหล่านี้ไม่เพียงดีงามที่ปริมาณ แต่ยังอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ เพราะความหนาของเล่มที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ใส่เทคนิคและรายละเอียดลงไปได้มากขึ้น เช่น สันหนังสือที่ระบุทั้งรายละเอียดของหนังสือและภาพประกอบ ขอบหนังสือที่เคลือบด้วยวัสดุแข็งแรง ไปจนถึงการเคลือบขอบกระดาษทุกแผ่นด้วยสีทอง และมีกล่องสำหรับจัดเก็บ ซึ่งข้อดีของการมีกล่องเก็บหนังสือเช่นนี้ ทำให้การรักษาสภาพหนังสือทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่ารายละเอียดทุกส่วนของหนังสือแสดงถึงความใส่ใจ และเทคโนโลยีการพิมพ์ของต่างประเทศที่ก้าวไกลมาก 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ
เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ
เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ
เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

08

หนังสือขนาดใหญ่

ชื่อหนังสือ : Romeo and Juliet

ผู้แต่ง : วิลเลียม เชกส์เปียร์ (William Shakespeare)

ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1884 

ยังอยู่กับเรื่องรูปเล่มของหนังสือ นอกจากหนังสือที่รูปเล่มสวยงามในแบบต่างๆ แล้ว ห้องหนังสือหายาก หอสมุดแห่งชาติ ก็ยังให้บริการหนังสือที่มีขนาดพิเศษ ซึ่งขนาดที่ต่างกันไปของหนังสือเหล่านี้ เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาในหนังสือแต่ละเล่ม และสะท้อนถึงวัตถุประสงค์ที่อยากให้ผู้อ่านได้รับจากหนังสือ 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ, Romeo and Juliet

เริ่มต้นจากหนังสือขนาดใหญ่ เล่มที่เราเลือกมาเล่าให้ฟังเป็นวรรณกรรมเรื่อง Romeo and Juliet นักอ่านทั้งหลายคงจะเคยเห็นรูปเล่มของวรรณกรรมระดับโลกเรื่องนี้ผ่านตามามากมาย แต่หลายคนอาจไม่เคยเห็นเวอร์ชันเล่มใหญ่จุใจเท่านี้มาก่อน 

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1884 เรื่องขนาดของเล่มที่ว่าใหญ่ คือต้องใช้ 2 คนช่วยกันเปิดและพลิกหน้า หน้าปกก็มีภาพวาดและฟอนต์ตัวหนังสือที่สวยงาม ปกหลังเป็นภาพสเกตซ์ที่วาดลงบนเล่มจริงๆ ด้านในมีภาพวาดประกอบที่เป็นไฮไลต์สำคัญของเรื่อง โดยถ้าหน้าใดมีภาพวาดอยู่ ก็จะมีกระดาษแผ่นบางคั่นหน้าเอาไว้เพื่อป้องกันการเสียหาย 

ส่วนคุณภาพกระดาษทุกแผ่นก็ยังดี หมึกพิมพ์ตัวหนังสือชัดเจนสุดๆ สันนิษฐานว่าสาเหตุที่ต้องทำรูปเล่มให้ใหญ่กว่าหนังสือทั่วไป ก็เพื่อให้นักอ่านได้ดื่มด่ำไปกับความเรียงผลงานของวิลเลียม เชกส์เปียร์ พร้อมกับพลิกมาดูภาพวาดและองค์ประกอบอื่นๆ ในเล่ม ที่จะส่งให้ผู้อ่านได้ซึมซับและรับรู้อารมณ์รักโรแมนติกของโรมิโอและจูเลียตได้ดียิ่งขึ้น 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ, Romeo and Juliet
เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ, Romeo and Juliet

ขอบอกไว้ก่อนว่าหนังสือขนาดใหญ่ที่บรรณารักษ์ขนมาให้ชมกันในวันนี้นับว่ายังไม่ใช่ที่สุดที่หอสมุดแห่งชาติเก็บรักษาไว้ เพราะเล่มที่ใหญ่ที่สุดมีความกว้างคูณยาวมากกว่าโต๊ะหนังสือเสียอีก

08

หนังสือเล่มเล็ก

ชื่อหนังสือ : ละครพูดสองฉาก เรื่องล่องแก่งแม่ปิง

ผู้แต่ง : หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2503

ชื่อหนังสือ : ปะติทินหลวง ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๒ 

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2462

ชื่อหนังสือ : สามดาว ตอนที่ 13

ผู้แต่ง : ป. อินทรปาลิต

ปีที่พิมพ์ : พ.ศ. 2474 

ชื่อหนังสือ : The Poetical Works Volume II

ผู้แต่ง : วิลเลียม คาวเปอร์ (William Cowper)

ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1838 

ชื่อหนังสือ : Poem by Shelley

ผู้แต่ง : เพอร์ซี เชลลีย์ (Percy Shelley)

อวดโฉมหนังสือขนาดใหญ่แล้ว ต่อไปก็มาถึงตาหนังสือเล่มเล็กบ้าง หนังสือเล่มเล็กที่เราได้ชมกันมีหลากภาษา มาจากหลายประเทศ ส่วนมากมีขนาดประมาณฝ่ามือ แม้รูปเล่มจะเป็นขนาดจิ๋ว แต่ตัวอักษรที่อยู่ด้านในก็มีขนาดที่อ่านได้สบายตา สันนิษฐานว่าวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มเล็กก็เพื่อส่งเสริมการอ่านให้แก่ประชาชนทั่วไป เมื่อหนังสือเล่มเล็กพกพาง่าย น่าจะทำให้อยากหยิบหนังสือติดกระเป๋าไปอ่านได้ทุกที่ ทุกเวลา 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

เริ่มเล่มแรกด้วยหนังสือชุด บทละครพูดชุดเล็ก สำหรับเผยแพร่เป็นละครวิทยุของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ต่อมาเป็นหนังสือ ปะติทินหลวง ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๒ (สะกดตามชื่อหนังสือ) เนื้อหาด้านในบอกวันหยุดราชการประจำปีและกำหนดงานพิธีต่างๆ ตามมาด้วยเล่มนี้ที่โดดเด่นด้วยรูปภาพหน้าปกสีสันสดใสกับนิยายเรื่อง สามดาว ตอนที่ 13 ของ ป. อินทรปาลิต 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

นอกจากหนังสือเล่มเล็กที่เป็นภาษาไทยแล้ว ยังมีที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งห้องหนังสือหายากได้รับมอบมาจากหอสมุดส่วนพระองค์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ Poem by Shelley หนังสือรวมบทกวีที่มีทั้งตราส่วนพระองค์และเป็นปกหนัง รวมถึง The Poetical Works Volume II ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1838 

10

หนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยที่เขียนโดยชาวต่างชาติ 

ชื่อหนังสือ : SIAM DAS LAND DER TAI 

ผู้แต่ง : วิลเฮล์ม เครดเนอร์ ( Wilhelm Credner)

ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1966 

ชื่อหนังสือ : A New Historical Relation of the kingdom of Siam

ผู้แต่ง : ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère)

ปีที่พิมพ์ : ค.ศ. 1693

ปิดท้ายความพิเศษจากการเปิดคลังหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติในครั้งนี้ ด้วยหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยที่เขียนโดยชาวต่างชาติ ซึ่งบรรณารักษ์จากห้องหนังสือหายาก หอสมุดแห่งชาติ เล่าให้ฟังถึงวิธีการที่กว่าหนังสือเหล่านี้จะเดินทางสู่สายตาของพวกเรา ส่วนใหญ่ได้มาจากในคราวที่พระบรมวงศานุวงศ์หรือเจ้านายชั้นสูงเสด็จฯ ไปยังประเทศต่างๆ และทรงไปพบกับหนังสือเหล่านี้ในต่างแดน จึงได้เก็บรวบรวมไว้เป็นเพื่อเป็นหลักฐานของประวัติศาสตร์ชาติไทย บ้างก็ได้มาจากคราวที่อัครราชทูตจากต่างแดนขนข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมามอบให้เป็นของที่ระลึกในการเจริญสัมพันธไมตรี ซึ่งหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยที่เขียนโดยชาวต่างชาติทั้งหมดนี้ เป็นแหล่งความรู้ชั้นดีที่จะทำให้เรามองเห็นคุณค่าของสยามประเทศ ในมุมมองจากนานาอารยชนทั่วโลก 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

เช่นหนังสือ SIAM DAS LAND DER TAI จากเยอรมนี พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1935 และ A New Historical Relation of the kingdom of Siam จากฝรั่งเศส ที่พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1969 เล่าถึงสยามในมุมมองที่หลากหลาย ทั้งประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงเรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อย่างการระบุแหล่งปลูกผลไม้และพืชพร้อมด้วยภาพประกอบทั้งภาพถ่ายและภาพวาด 

เรื่องเบื้องหลังหนังสือหายาก 10 หมวดที่มีอายุกว่าร้อยปีของ หอสมุดแห่งชาติ

  สำหรับใครที่อยากชมภาพของหนังสือหายากทั้งหมด และฟังเรื่องราวเต็มๆ จากพี่บรรณารักษ์ รับชมได้ที่นี่เลย 

Writer

สุดาวรรณ วนสุนทรเมธี

สุดาวรรณ วนสุนทรเมธี

นักพิสูจน์อักษรวัยเตาะแตะที่มักจะหลงรักพระรองในซีรีส์เกาหลี และอยู่ระหว่างรักษาระยะห่างจากชานมไข่มุก

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ