ในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งจากมลภาวะและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ อย่างโควิด-19 หนึ่งในเทรนด์สำคัญที่เราเห็นได้ชัดคือ การหันมาใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค

หนึ่งในวิธีการดูแลสุขภาพที่ง่ายและใกล้ตัวที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะการเลือกวัตถุดิบปลอดสารเคมีและดีต่อสุขภาพ จนทำให้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกเป็นที่หมายตา และได้รับการยอมรับจากผู้คนอย่างกว้างขวางในเมืองไทยต่างจากยุคก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง ซึ่ง ‘รังสิตฟาร์ม’ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นตลอด 23 ปีที่ผ่านมา

รังสิตฟาร์ม คือหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการฟาร์มออร์แกนิกรายแรก ๆ ของประเทศ ที่ผลิตผักออร์แกนิกป้อนตลาดมาอย่างยาวนาน ทั้งในซูเปอร์มาเก็ตตลอดจนโรงแรมชั้นนำ ภายใต้แนวคิด ‘จากฟาร์มสู่ผู้บริโภค’ (From Farm to Consumption)

วันนี้ The Cloud มีนัดหมายพิเศษกับ คุณปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ผู้ก่อตั้งรังสิตฟาร์มและประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย เพื่อศึกษาแนวคิดเบื้องหลังการสร้างธุรกิจที่ขับเคลื่อนวงการเกษตรอินทรีย์จนเป็นที่ยอมรับ บอกเลยว่าแม้จะเป็นธุรกิจอายุกว่า 20 ปี แต่ความคิดของผู้บริหารคนนี้ทันโลก ทันสมัย ราวกับเป็นคนรุ่นใหม่อย่างไรอย่างนั้น

รังสิตฟาร์ม ผู้บุกเบิกวงการออร์แกนิกไทยมา 23 ปี กับแนวคิด From Farm to Consumption

Aware

ชื่อ ‘รังสิตฟาร์ม’ แท้จริงแล้วเริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงปี 1960 คุณพ่อของคุณปริญญาประกอบกิจการส่งวัตถุดิบจากฟาร์มให้โรงแรมชื่อดังต่าง ๆ อย่างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล จากนั้นเขาและน้องชายก็ได้กลับมาช่วยกิจการของที่บ้าน โดยปัจจุบันธุรกิจเดิมอยู่ภายใต้การดูแลของน้องชายในชื่ออื่น ขณะที่คุณปริญญาหยิบชื่อรังสิตฟาร์มกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง เพื่อเปิดฟาร์มออร์แกนิกย่านรังสิต ในสมัยที่การเกษตรเป็นแบบเคมี 100 เปอร์เซ็นต์

“คนยังไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพมากนัก ขณะที่เราเรียกตัวเองว่าเป็น Kitchen of the World เป็นผู้ผลิตอาหาร แต่คนไทยเป็นมะเร็งตายอันดับหนึ่ง ปลูกเอง กินเอง ตายเอง

“จริง ๆ ออร์แกนิกมันอยู่กับโลกเรามาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว แต่เราถูกเบรกโดย Green Revolution ที่ต้องมุ่งเกษตรเชิงปริมาณ เน้นเรื่องความร่ำรวย เน้นเรื่องผลผลิตดีอย่างเดียว โดยไม่ได้ใส่ใจเรื่องระบบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่มี”

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณปริญญารู้จักคำว่าออร์แกนิก คือช่วงที่เขาไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาได้มีโอกาสทำงานที่ร้านอาหาร Aware Inn ซึ่งใช้วัตถุดิบจากฟาร์มออร์แกนิกที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น จนมีบุคคลมีชื่อดังแวะเวียนมาไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็น Charles Bronson, Olivia Hussey หรือ James Coburn ก็ตาม

“มันเป็นอาหารที่คนรวยไม่เคยปฏิเสธราคา แล้วเขาก็ยินดีที่จะซื้อ เพราะนอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ยังมีเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”

นั่นคือจุดที่เขาค่อย ๆ ซึมซับแนวคิดเกี่ยวกับวัตถุดิบออร์แกนิก แม้จะยอมรับว่าในช่วงแรกก็ไม่ได้คาดคิดว่าวันหนึ่งตนจะได้มาทำงานด้านเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ อีกหนึ่งพื้นฐานความรู้ด้านการเกษตรของคุณปริญญา คือประสบการณ์และเรื่องราวของคุณพ่อ ผู้บุกเบิกการนำเอาผักผลไม้จากต่างประเทศ เช่น แคนตาลูป ผักกาดหอม เข้ามาปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ในประเทศไทย

รังสิตฟาร์ม ผู้บุกเบิกวงการออร์แกนิกไทยมา 23 ปี กับแนวคิด From Farm to Consumption
รังสิตฟาร์ม ผู้บุกเบิกวงการออร์แกนิกไทยมา 23 ปี กับแนวคิด From Farm to Consumption

Start

หลังเรียนจบทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก Los Angeles City College คุณปริญญาตัดสินใจเข้าสู่วงการเกษตร เพราะเห็นปัญหาการใช้สารเคมีมากเกินไปของเกษตรกรไทย จากที่เคยทำธุรกิจสวนส้มของครอบครัวอยู่ระยะหนึ่ง ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจในหลาย ๆ อุตสาหกรรมถดถอย ทว่าในช่วงเวลานั้น ตลาดผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกกลับเติบโตขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เขาเลยต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้าไม่ลงมือทำให้จับต้องได้ ก็คงจะเป็นเพียงอุดมคติต่อไป

ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง คุณปริญญาสร้างรายได้กว่าร้อยล้านบาทต่อปีจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้ว่าธุรกิจของเขาจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงวิกฤตนั้น เพราะไม่ได้ขยายกิจการจนเกินตัว แต่ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านเข้ามา ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองใหม่

“วิกฤตต้มยำกุ้งทำให้เราเห็นความลำบากของมนุษย์ ก็เลยไม่คิดเรื่องเงินแล้ว แต่คิดว่าอะไรคือทางออก เสถียรภาพของชีวิตอยู่ตรงไหนกับภาวะที่เรากำลังเชิญอยู่ แล้วก็พบว่าออร์แกนิกคือทางออก เลยหันมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“การทำการเกษตรไม่ได้แปลว่าเป็นคนจน เรากลับมาดูตัวเอง พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา แล้วเราก็คิดว่าประสบการณ์ที่เรามีกับเกษตรกรมีวิธีคิดต่างกัน วิธีมองต่างกัน เราอาจจะไม่มีกำลังเรี่ยวแรงมากเท่ากับเกษตรกรอาชีพ แต่ว่าเรามีศักยภาพในมุมอื่น ๆ ที่นำไปปรับใช้ได้”

สำหรับเขา การเกษตรเปรียบเสมือน Soft Power ของประเทศในฐานะผู้ผลิตอาหาร ซึ่งถือเป็นอำนาจต่อรองสำคัญในเวทีนานาชาติ ดังนั้น การส่งเสริมให้ภาคการเกษตรแข็งแรงขึ้นได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้ประเทศไทยยืนหยัดอยู่บนเวทีโลกได้

“เราพยายามทำให้เกิด Solution เผื่อใครจะนำไปใช้ต่อ หลายคนถามว่าไปสร้างคู่ต่อสู้หรือเปล่า ผมไม่เคยคิดจะแข่งกับใครเลย การเป็นนักดนตรีหรือศิลปินเดี่ยวที่ทำให้หลายคนเข้ามาร่วมเล่นเหมือนวงออร์เคสตรามันสวยงามกว่า”

ในยุคนั้น ผักผลไม้ที่วางขายเรียกได้ว่าแทบจะมาจากเกษตรเคมีทั้งสิ้น การที่คุณปริญญาหันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง จึงทำให้รังสิตฟาร์มเป็นฟาร์มออร์แกนิกแบรนด์แรกที่เข้าตลาดในซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำอย่าง Tops และเมื่อไหร่ที่หน่วยงานหรือบุคคลต้องการศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์ก็จะเข้ามาที่นี่ ไม่เพียงเท่านี้ เขายังผลักดันให้เกิดการพัฒนาวงการเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เครื่องหมาย Organic Thailand

รังสิตฟาร์ม ผู้บุกเบิกวงการออร์แกนิกไทยมา 23 ปี กับแนวคิด From Farm to Consumption

Collaborate

นอกจากการสร้างแบรนด์ผ่านการวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่เคยเกิดขึ้นของรังสิตฟาร์ม คือการส่งผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกให้กับโรงแรมอย่าง Grand Hyatt Erawan จากแนวคิดที่เห็นสอดคล้องกัน ในเวลานั้น เชฟ Frederik Farina เข้ามาหาเขาเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายลดก๊าซคาร์บอนของทางโรงแรม โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนจากอาหาร ซึ่งเขาเล็งเห็นว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์นี้

รังสิตฟาร์มจึงนำเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศที่ฟาร์มอื่นไม่สามารถปลูกได้มาทดลองปลูกกว่า 3 ปี จนค้นพบโอกาสใหม่ ๆ

“บางตัวก็ต้องยอมแพ้ แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องพืชเมืองหนาวอยู่เยอะพอสมควร และพบว่าเรามีศักยภาพที่จะปลูกพืชหลายตัว ซึ่งมีมูลค่า แต่เราไม่เคยปลูก เพราะว่าปลูกแล้วเรากินไม่เป็น แล้วก็ไม่รู้จะไปขายใคร

“สุดท้าย เราก็ผลิตพืชที่มีคุณภาพคงที่ส่งโรงแรมได้ จนห้องเย็นโรงแรมล้น เชฟที่เริ่มโครงการกับเราก็ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลจาก Condé Nast Traveller เท่ากับว่าสร้าง Brand Image มูลค่ามหาศาลให้เขา

“เราจึงไม่ได้แค่ขายผัก แต่ขับเคลื่อนวงการให้ประสบความสำเร็จ จนทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียง”

Different

แน่นอนว่า การเป็นผู้บุกเบิกไม่ว่าในวงการใดก็ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย

“ถ้าเราไม่เคยวิ่งบนถนนลูกรังที่ขรุขระ เราก็จะเคยชินกับความเรียบของถนน แต่ถ้าคุณอยู่กับชีวิตถนนลูกรัง คุณจะรู้สึกว่าหลุมต่าง ๆ ไม่เป็นปัญหาอะไรเลย เพราะฉะนั้น ถามว่าพบปัญหาอะไรไหม เราเจอตลอดทาง”

หนึ่งในตัวอย่างที่คุณปริญญาหยิบยกมาให้เราฟังคือ วิธีคิดของคนทำการค้ากับคนทำสินค้าออร์แกนิกที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ขณะที่การทำเกษตรอินทรีย์เน้นความมั่นคงและความพอเพียง การทำการค้าย่อมไปในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสิ่งที่ทำให้แบรนด์ก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้มาได้ ก็คือประสบการณ์จากที่เคยทำระบบ Supply Chain มาก่อน

3 แนวคิดหลักที่เขานำเข้ามาใช้เพื่อสร้างความแตกต่าง คือ

หนึ่ง  การสร้างคาแรกเตอร์แบรนด์เพื่อเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค

“วิธีคิดของเราคือต้องมีผู้บริโภคอยู่กับแบรนด์ของเรา เราไม่ได้คาดหวังให้เป็นแบรนด์ที่ใหญ่โต แต่ให้เป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของผู้บริโภค แล้วก็ทำเรื่องนี้เรื่อยมา อย่างแรก ในคาแรกเตอร์ของเรามีความตั้งใจอยู่ในนั้น เรามีความสุขเมื่อเขาได้สัมผัสสินค้าของเรา เราให้สินค้าขายตัวมันเอง”

โดยรังสิตฟาร์มจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในกระบวนการปลูก ตั้งแต่การพัฒนาดินไปจนถึงการไม่ใช่สารเคมีหรือสารใด ๆ ในการเร่งการเจริญเติบโตของพืชเลย ทำให้เมื่อลูกค้าสัมผัสหรือรับประทาน เขาเหล่านั้นจะรับรู้ได้ทันทีว่าผักและผลไม้จากรังสิตฟาร์ม มีรสชาติและคุณภาพต่างจากแบรนด์ออร์แกนิกอื่น ๆ หรือผลผลิตจากเกษตรเคมีทั่วไป

มีลูกค้าหลายคนที่ติดตามบริโภคสินค้าจากรังสิตฟาร์ม จนกระทั่งในวันนี้ เขาเหล่านั้นกลายเป็นเจ้าของแบรนด์เอง

สอง ใช้การตลาดแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและการบออกต่อออกไปในวงกว้าง จากการที่รังสิตฟาร์มมีคาแรกเตอร์ที่เน้นความพิถีพิถัน จึงทำให้เกิดภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดีในใจของผู้บริโภค และนั่นทำให้ผู้บริโภคเหล่านั้น ตัดสินใจนำเรื่องราวของรังสิตฟาร์มไปบอกต่อให้กับคนรอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะสินค้าออร์แกนิกเป็นสินค้าที่ต้องการความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์สูง ดังนั้นการมีบุคคลที่ 3 ชี้นำและเป็นมือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand) ในการช่วยขาย จึงทำให้แบรนด์เกิดความยั่งยืนได้ “นั่นหมายความว่าการบอกต่อปากต่อปาก มันเกิด ส่วนมากเราได้ลูกค้าจากวิธีนี้ ลูกค้าเก่าเป็นคนบอก”

สาม พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความแตกต่างและสินทรัพย์ไว้สำหรับอนาคต

“รู้จักผักเคลไหม” เขาถาม “เราเป็นผู้บุกเบิกผักเคลตั้งแต่ตอนที่ทำโปรเจกต์กับ Grand Hyatt Erawan เมื่อปี 2008”

คุณปริญญาพูดถึงชื่อผักที่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วอาจไม่มีใครกินเป็น แต่ในวันนี้สายสุขภาพแทบทุกคนต้องรู้จัก
ผักเคลและผักสลัดอีกหลาย ๆ ชนิด เป็นสิ่งที่รังสิตฟาร์มทดลองปลูกมาเนิ่นนาน เพียงแต่ในวันนั้น คนไทยยังไม่นิยม ทำให้ผักหลายชนิดของฟาร์มแห่งนี้แตกต่างจากฟาร์มอื่น และเมื่อนำผักเหล่านี้มาสื่อสารก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่นิยมรับประทานผักเหล่านี้มาก่อนคนไทย

จนถึงทุกวันนี้ รังสิตฟาร์มยังทดลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอด หรือที่เขาเรียกว่า ‘สินทรัพย์’ ที่ยังไม่ได้นำออกมาสู่ตลาด เพราะต้องรอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม

“สิ่งที่เราต้องมีก็คือความพร้อม และสิ่งที่เราพร้อมที่สุดก็คือสิ่งที่เรามี การที่เราทำอะไรใหม่ ๆ เหล่านี้แต่ไม่ได้นำออกมาเล่าให้ใครฟัง ก็เป็นเหมือนการเตรียมความพร้อมเอาไว้”

Catch Up

ในการบริหารธุรกิจ อีก 2 สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และความเท่าทันต่อเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาด สำหรับรังสิตฟาร์ม คุณปริญญานำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้ลดความเสี่ยงหลายอย่างได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาตลาดและกระแสใหม่ ๆ อยู่เสมอ

“ก็ต้องดูว่าโจทย์เรามีอะไร แล้วอะไรที่ทำให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจเราได้”

ตัวอย่างหนึ่งที่ทำก็คือนำผลไม้ Organic Cold Press ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้รักษาเอนไซม์และสารสำคัญต่าง ๆ จากผักและผลไม้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากผักและผลไม้จำนวนมากในน้ำผลไม้เพียงขวดเดียว ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดี ลูกค้าต่างเรียกร้องให้นำมาขายออนไลน์ จนถึงขั้นที่ว่าในตอนแรก ทางซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ยอมให้เขานำน้ำผลไม้เข้ามาขาย เพราะมองว่ามีแบรนด์ขายน้ำเยอะแล้ว แต่เมื่อผู้บริหารของ Tops Supermarket ได้เข้ามาชมและคุยกับคุณปริญญา ผู้บริหารท่านนั้นถึงกับเอ่ยชมว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ 

ผู้บุกเบิกวงการออร์แกนิกไทยที่ขับเคลื่อนวงการมากว่า 20 ปี ภายใต้แนวคิด ‘จากฟาร์มสู่ผู้บริโภค’
ผู้บุกเบิกวงการออร์แกนิกไทยที่ขับเคลื่อนวงการมากว่า 20 ปี ภายใต้แนวคิด ‘จากฟาร์มสู่ผู้บริโภค’

Transfer

“ถ้าผมรู้เรื่องแล้วผมเก็บไว้คนเดียว มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนอื่นนำไปพัฒนาต่อได้”

จากในวันแรกที่รังสิตฟาร์มเป็นเพียงฟาร์มของคุณปริญญา วันนี้รังสิตฟาร์มมีเครือข่ายเกษตรกรเป็นของตัวเอง และเครือข่ายนี้ก็ขยายใหญ่ขึ้นทุก ๆ วัน

“เขาเก่งด้านไหน เราก็จะให้เขาทำด้านนั้น แล้วเขาก็ส่งผลผลิตให้เรา ในขณะที่ตัวรังสิตฟาร์มจะเป็นที่ที่นำอะไรใหม่ ๆ เข้ามาทดลอง และคอยสนับนุนเครือข่ายเกษตรกรเวลาเกิดปัญหา”

สิ่งแรกที่คุณปริญญาทำเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยคือ การให้ความรู้กับหน่วยงานของรัฐเรื่องของออร์แกนิก ไม่ว่าจะเป็นผ่านการเป็นวิทยากร ไปจนถึงการเป็นกรรมการในคณะทำงานต่าง ๆ

สิ่งที่สองคือ การสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนเกี่ยวกับกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงการรับรองมาตรฐานออร์แกนิกได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ท้ายที่สุดคือ การให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกรร่ายย่อยโดยตรง เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตสินค้าออร์แกนิก ทำให้เกษตรกรเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมองเห็นเทคนิคและปัญหาต่าง ๆ ในการปลูกพืชพันธุ์ได้

ปัจจุบัน รังสิตฟาร์มยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการวิจัยเกี่ยวกับผักผลไม้ออร์แกนิกต่าง ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ รอจังหวะที่ตลาดพร้อมให้สินค้าเข้าไปโลดแล่นเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

Future

ด้วยหลักคิดต่าง ๆ ทำให้แม้ในช่วงโควิด-19 รังสิตฟาร์มก็ไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยังคงครองใจผู้บริโภค จะหายไปบ้างก็คงเป็นเพียงกลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องกลับประเทศ แต่เมื่อวิกฤตการณ์ผ่านพ้น เขาเหล่านั้นก็จะกลับมาอุดหนุนอีกครั้ง ยังไม่รวมสมาชิกนับร้อยในกลุ่ม Rangsit Farm Consumer Community ที่เป็นแฟนคลับแบรนด์อย่างเหนียวแน่น

ในปัจจุบัน รังสิตฟาร์มมีผลิตภัณฑ์ผักออร์แกนิก (Organic Wet Market) สลัดบาร์ (Organic Salad Bar) และน้ำผลไม้ Cold Press (Organic Juice Bar) ซึ่งจำหน่ายผ่านสาขาเซ็นทรัล ชิดลม เป็นหลัก โดยจากที่ก่อนหน้านี้รังสิตฟาร์มขายสินค้าผ่านทาง Modern Trade อย่างหลากหลาย คุณปริญญาได้ตัดสินใจลดจำนวนสาขาในช่วงโควิดเนื่องจากข้อจำกัดที่มากมายของผู้ค้าปลีก และเพื่อให้สอดคล้องกับยุค New Normal ที่ผู้คนออกจากบ้านน้อยลง 

ณ ปัจจุบัน เขากำลังปรับเปลี่ยนช่องทางการขาย โดยเปลี่ยนมาขายออนไลน์ให้แก่ลูกค้าประจำกลุ่มที่เป็น Niche Market ผ่านกลุ่มปิดที่เหล่าแฟนคลับคอยชวนคนรอบข้างเข้ามาเป็นลูกค้าประจำรายใหม่เรื่อย ๆ

สำหรับก้าวต่อไปของรังสิตฟาร์มหลังวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่จะตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคได้ต้องมีมากกว่าแค่สินค้าลงมาร์เก็ตเพลส แต่เป็นองค์ประกอบทั้งออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กัน (O2O Marketing) ดังนั้น คุณปริญญาจึงมองไปถึงการสร้างระบบและช่องทางจำหน่ายของรังสิตฟาร์มโดยตรง หรือวันหนึ่งหากเหมาะสม ก็อาจมีร้านค้าใน Metaverse

ผู้บริหารวัย 60 กว่าคนนี้กำลังวางแผนเรื่องการส่งต่อธุรกิจสู่ทายาทรุ่นสองของเขา ไม่แน่ว่าหลังจากนี้ เราอาจจะได้เห็นทายาทของรังสิตฟาร์มอยู่ในคอลัมน์ทายาทรุ่นสองของ The Cloud ก็เป็นได้

Lessons Learned

  • อย่ามองข้ามเรื่องเล็ก ๆ ในการเรียนรู้และพัฒนา เพราะทุกเรื่องเป็นบทเรียนทั้งสิ้น และประสบการณ์เล็ก ๆ เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่นำพาไปสู่แนวคิดใหม่ ๆ
  • การที่จะทำอย่างที่พูดให้ได้จะเหนื่อยและต้องใช้พลังงานมาก เพราะฉะนั้นคุณต้องรักในสิ่งที่คุณทำก่อน ถึงจะพามันก้าวต่อไปได้
  • 2 สิ่งที่จะนำพาไปสู่เป้าหมายได้ คือต้องมีวิสัยทัศน์ รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไร และมีความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณสร้างตัวตนขึ้นมาได้
  • ในยุคปัจจุบันที่มีกระแสมากมายเข้ามาอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญคือต้องมีจุดยืนที่มั่นคงของตนเอง เพื่อไม่ให้โดนพัดไปตามกระแสที่อาจเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว
  • การแบ่งปันความรู้และทำงานร่วมกันเป็นสิ่งที่สวยงามกว่าการทำเพียงลำพัง การแข่งขัน แท้จริงแล้วคือการแข่งขันกับตนเอง เพื่อนร่วมอุดมการณ์และเครือข่ายที่มีจะช่วยให้เราพัฒนาไปได้ไกลยิ่งขึ้น

ภาพ : รังสิตฟาร์ม

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา