27 กุมภาพันธ์ 2020
1 K

“วินาทีที่เราเห็นนกแล้วจรดมือลงบนสมุด เรากับนกก็ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่อีกต่อไปแล้ว การวาดรูปทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับเขา ได้สังเกตเขาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ขนเป็นอย่างนี้ รูปร่างเป็นแบบนี้ รวมถึงสีสันและพฤติกรรมต่างๆ บางตัวสีขนเหมือนใส่หมวกกันน็อก ตาแป๋ว แต่นกอีเสือนี่หน้าดุ หงุดหงิด หรือบางตัวก็ไม่แยแสโลก ทุกตัวมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง เป็นปัจเจกนก”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง คือบุคคลที่คนในวงการสิ่งแวดล้อมและคนรักธรรมชาติล้วนรู้จักและให้การชื่นชม เขาเป็นทั้งอาจารย์แพทย์โรคหัวใจ นักดูนก นักอนุรักษ์ นักสื่อสารเรื่องราวธรรมชาติ และผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ กับสมุดบันทึกธรรมชาติที่กำลังกลายมาเป็นหนังสารคดี

นอกจากนั้น เขายังเป็นเจ้าของภาพวาดสีน้ำในสมุดบันทึกธรรมชาติจำนวน 15 เล่ม ที่กำลังจะนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการและถ่ายทอดในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Dr Birdman

“ผมคุยกับพี่สาวว่า ถ้าวันหนึ่งผมจากโลกนี้ไป ผมอยากให้ฉายหนังเรื่องนี้ในงานศพ เพราะแพสชันทั้งหมดที่ผมมีอยู่ในการมีชีวิตอยู่ในหนังเรื่องนี้ มันเป็นสิ่งที่ผมเชื่อ มันคือโลกที่ผมไปเห็นมาและต้องการถ่ายทอดให้คนอื่น นี่คือสิ่งที่ผมรัก คือสิ่งที่ผมหวงแหน และอยากชวนคนให้รักและหวงแหนด้วย”

หากใครได้มีโอกาสเห็นภาพที่หมอหม่องวาด คงสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยน เช่นเดียวกับบุคลิกของเขาที่มีต่อคนรอบข้างและสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์

“ผมไม่กล้าเรียกตัวเองว่าศิลปิน เพราะคำนี้ดูยิ่งใหญ่มาก แต่ถ้าศิลปินหมายถึงคนที่สื่อความงาม สื่อความจริงของสิ่งต่างๆ ให้คนอื่นได้รู้สึก เกิดความรัก ความหวงแหน เกิดความอ่อนโยนขึ้นในหัวใจ ผมก็หวังมากกว่างานที่ผมทำจะส่งสารนี้ได้ ถ้าเกิดสิ่งนี้กับเขา ผมก็คงภูมิใจและเต็มใจที่จะเรียกตัวเองว่าศิลปิน และผมก็หวังว่าเขาจะรับรู้สิ่งวิเศษนี้ได้เหมือนกับที่ผมได้รับ”

ต่อจากนี้คือเส้นทาง ‘ข้างหลังภาพวาด’ ของ Dr Birdman นับตั้งแต่วัยเด็กที่ได้รับการหล่อหลอมและปลูกฝังความรักธรรมชาติจากคุณแม่ จนถึงวันนี้ที่กลายเป็นผู้ถ่ายทอดความรักนั้นให้ผู้อื่น

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ กับสมุดบันทึกธรรมชาติที่กำลังกลายมาเป็นหนังสารคดี

เปิดบันทึก

ผู้เปิดประตูสู่โลกธรรมชาติ

“ผมชอบวาดรูปสัตว์ตั้งแต่จำความได้”

หมอหม่องเล่าย้อนถึงความทรงจำในวัยเด็ก ซึ่งมีคุณแม่ ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ถ่ายทอดและเปิดประตูให้เขาได้พบกับความอัศจรรย์ของโลกธรรมชาติ

“ผมน่าจะเริ่มจากรู้จักสัตว์ในนิทานก่อน แม่มีนิทานเกี่ยวกับสัตว์เล่าให้ฟังเยอะมาก นิทานเจ้าหญิงเจ้าชายผมไม่ค่อยอินเท่าไหร่ ถ้าเป็นเรื่องสัตว์ผมจะสนุก ตาโต ไม่ใช่นิทานสัตว์แบบนิทานอีสปนะ แต่เกี่ยวกับสัตว์จริงๆ เป็น Fact มากกว่า Fiction แม่ไม่ได้เล่าในเชิงวิทยาศาสตร์แห้งๆ แต่เล่าให้เรารู้สึก มองเห็นความน่ารัก และเข้าใจชีวิตของมัน ทำให้เราสนุกกับตรงนั้น”

จากนิทานในห้องนอนสู่การได้เห็นสัตว์ตัวจริง คุณแม่ของหมอหม่องพาเด็กชายไปเที่ยวทั้งสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ สวนงู ไปจนถึงผืนป่ากว้างใหญ่ แม้ว่าคุณแม่ของหมอหม่องเกิดและเติบโตที่อังกฤษจึงไม่มีความรู้เรื่องป่าในเมืองไทยมากนัก แต่ด้วยวิธีสอนที่ชวนให้คิดและน้ำเสียงการเล่าที่เหมือนนิทาน ก็ทำให้เด็กชายตื่นเต้นและสนุกตลอดทาง

“แม่ไม่ได้มีความรู้ว่าต้นไม้นี้ชื่ออะไร แต่แม่สอนให้มองแบบเชื่อมโยงและตั้งคำถาม เช่น ทำไมตัวนี้ถึงทำแบบนี้ มันดำรงชีวิตแบบนี้ได้ยังไง มีโจทย์อะไรในชีวิตบ้างที่มันต้องแก้ไข เป็นความสนุกที่เราได้มองในเชิงความสัมพันธ์ ในเชิงสังคมป่า ทำให้เรามองเห็นว่า ต้นไม้และสัตว์ต่างๆ มันมีอาชีพของมัน แต่ละตัวแบ่งหน้าที่กัน”

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดินไปเจอพืชชนิดหนึ่งเกาะอยู่บนลำต้นของต้นไม้อื่น เธอก็ชี้ชวนให้เด็กชายดูและตั้งคำถามว่า ทำไมต้นนี้ถึงต้องขึ้นไปอยู่บนนั้น เมื่อเด็กชายหม่องตอบว่า น่าจะเป็นเพราะมันอยากได้แสงเยอะๆ เพราะข้างล่างใบไม้บัง คุณแม่ก็ถามต่อว่า ได้แสงเยอะแล้วต้องเจอปัญหาอะไรหรือเปล่า ซึ่งก็นำมาสู่คำถามต่อมาว่า รากไม่อยู่กับดิน แล้วจะเอาแร่ธาตุและน้ำจากไหน

วิธีหาคำตอบก็คือการชวนกันปีนขึ้นไปดู จนเด็กชายได้พบกับความมหัศจรรย์ของโลกอีกใบที่ซ่อนอยู่ในนั้น

“นี่คือต้นโกฐพุงปลา ต้นเป็นกระเปาะ พอดูข้างในก็เจอดินเต็มเลย เอ๊ะ ใครเอาดินเข้าไปใส่ แล้วก็มีมดเต็มเลย ใครเอามดเข้าไปใส่ รากของมันก็อยู่ในนั้น เราก็ได้เรียนรู้ว่า พอมดทำรังก็มีเศษอาหาร ซากใบไม้ต่างๆ ซึ่งก็ย่อยสลายกลายเป็นดิน กลายเป็นแร่ธาตุให้ต้นไม้ ส่วนมดก็ได้บ้านอย่างดี เป็นการอิงอาศัย ทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ในระบบนิเวศที่ไม่ใช่แค่เสือกินกวาง กวางกินหญ้าแบบในหนังสือเรียน แต่มันซับซ้อนกว่านั้น แล้วแม่ก็เล่าถึงสัตว์ที่ช่วยผสมเกสร สัตว์ที่ช่วยปลูกป่า ทำให้เราได้เห็นถึงความหลากหลายทางอาชีพของสัตว์ต่างๆ”

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการได้เรียนรู้ถึงความเคารพธรรมชาติและเพื่อนต่างสายพันธุ์โดยมีคุณแม่เป็นแบบอย่าง

“เราได้เห็นแม่พูดคุยกับต้นไม้ ทักทายสัตว์ตลอดเวลาเหมือนสโนไวท์ เช่น เอ๊ะ คุณเป็นใครเนี่ย วันก่อนเดินผ่านไม่เห็นคุณเลย คุณสวยจังเลยนะ’ เหมือนคุยกับคน เราก็ซึมซับสิ่งเหล่านี้ว่า แม่มองต้นไม้ มองสัตว์ทั้งหลายเท่าเทียมกับเรา ไม่ใช่มนุษย์อยู่เหนือมัน ไม่ใช่มันเป็นแค่ทรัพยากรเอาไว้ใช้ ไม่ แต่นี่คือเพื่อน คือสิ่งที่อยู่ร่วมกันในระบบนิเวศและเราเป็นหนึ่งในนั้น ทำให้เราเคารพชีวิตทั้งหลายตามแม่ ไม่ว่าจะตัวใหญ่เท่าวาฬหรือเล็กเท่ามด เราก็คิดว่ามันสำคัญ”

ไม่ใช่แค่ผืนป่าเท่านั้นที่ทำให้เด็กชายได้เห็นถึงความงามของธรรมชาติ แต่ในพื้นที่รอบบ้านที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ก็ทำให้หมอหม่องได้สัมผัสถึงความมหัศจรรย์ มีอยู่ครั้งหนึ่งซึ่งหมอหม่องยังจำได้ดีมาถึงทุกวันนี้ นั่นคือวันที่เขายังอยู่มัธยมปลายและต้นตะขบหน้าบ้านที่เชียงใหม่กำลังออกผล ภาพที่มองเห็นจากหน้าต่าง คือฝูงนกพญาไฟใหญ่และนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทองกระโดดไปมาบนกิ่งก้านที่ห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตร ต้นตะขบขณะนั้นเต็มไปด้วยทั้งสีเขียว เหลือง แดง กลายเป็นนาทีแห่งความประทับใจที่ทำให้หมอหม่องตกหลุมรักนก และเริ่มดูนกอย่างจริงจัง

หมอหม่อง กับสมุดบันทึกธรรมชาติที่กำลังกลายมาเป็นหนังสารคดี
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ กับสมุดบันทึกธรรมชาติที่กำลังกลายมาเป็นหนังสารคดี

Colors of the Wild

สีสันแห่งพงไพร

“คนทั่วไปมองนกเป็นนกเหมือนกันหมด แต่ถ้าเรามองในรายละเอียด จะพบว่ามันมีความหลากหลายเยอะเลย เราจะเห็นความอัศจรรย์ ความซับซ้อน ว่านกแต่ละชนิดก็มีถิ่นอาศัยไม่เหมือนกัน พฤติกรรมไม่เหมือนกัน นกบางชนิดอพยพ บางชนิดไม่อพยพ บางชนิดเหลือน้อยมากแล้วในโลกใบนี้ แต่ละชนิดก็มีอาชีพที่ต่างกันไป การแยกชนิดนกได้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการไขกุญแจอันนี้”

การเริ่มต้นดูนก ทำให้หมอหม่องได้ออกเดินทางไปที่ต่างๆ มากมาย จากเหนือจรดใต้ จากป่าเมฆยอดดอยสู่ป่าพรุราบต่ำ จากป่าดิบถึงทุ่งหญ้า จากบึงน้ำสู่ชายเลนริมทะเล จากป่าเมืองไทยสู่ป่าอีกซีกโลก ซึ่งทุกครั้งจะมีกล้องสองตา สมุด ปากกา และตลับสีน้ำติดตัวไปด้วยเสมอ

“ผมได้แรงบันดาลใจจากหนังสือชื่อ Travel Diaries of a Naturalist ของปีเตอร์ สก็อต เขาเป็นศิลปิน เดินทางและวาดรูป ผมไปเจอเล่มนี้ในห้องสมุดสมัยเป็นนักศึกษา เราก็หลงรักหนังสือเล่มนี้ พอเริ่มดูนกก็รู้จัก อาจารย์กมล แกดูนกเก่งมาก วาดรูปก็เก่งมาก เห็นสมุดที่แกบันทึกแล้วว้าวจริงๆ คือเป็น Field Sketches ที่เห็นแล้ววาดตรงนั้น ลงสีเร็วๆ หลวมๆ เห็นแล้วรู้สึกเลยว่าต้องทำบ้าง”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ กับสมุดบันทึกธรรมชาติที่กำลังกลายมาเป็นหนังสารคดี

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ หมอหม่องมีสมุดบันทึกธรรมชาติรวมแล้วถึง 15 เล่ม เก็บความทรงจำและความประทับใจต่างๆ มากมายตลอดระยะเวลา 36 ปี ไม่ว่าจะเป็นฝูง ‘นกไต่ไม้สีสวย’ แห่งดอยภูคา ที่กว่าจะได้เจอต้องตะเกียกตะกายขึ้นภูเขาสูงชัน แต่ความเหนื่อยล้าทั้งหมดก็หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อได้ยินเสียงรัวเหมือนปืนกลและเจ้าของเสียงเริ่มโผล่มาทีละตัวสองตัว จนกลายเป็นฝูงใหญ่บินล้อมรอบกาย โชว์ลีลาการป้อนอาหารลูก

ไปจนถึง ‘นกเคทซาล’ (Quetzal) แห่งคอสตาริกา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนกที่สวยที่สุดในโลก ตัวสีเขียว-แดง หางยาวเฟื้อย จนหมอหม่องเปรียบเทียบว่าเหมือนริ้บบิ้นห่อของขวัญวันคริสต์มาส หรือล่าสุดในเฟซบุ๊กของคุณหมอ ก็มีภาพวาด ‘นกแซวสวรรค์’ ตัวสีดำ-ขาว หางยาว นั่งอยู่บนรังรูปถ้วยเหมือนโคนไอศครีม ซึ่งหมอหม่องเปรียบเทียบว่าตัวนกเหมือนไอศครีมคุกกี้แอนด์ครีม 1 ก้อนที่โปะอยู่ หางยาวของมันก็คือไอศครีมที่ละลายไหลเยิ้มลงมา

“คนอาจถามว่า เดี๋ยวนี้กล้องถ่ายนกเยอะแยะ ถ่ายออกมาชัดมาก จะวาดให้เมื่อยทำไม ถ้าพูดถึงความเหมือน กล้องนี่แน่อยู่แล้ว สิ่งสำคัญของการวาดไม่ใช่ผลสุดท้ายที่เป็นรูป แต่คือกระบวนการที่ทำให้เราต้องสังเกต ยิ่งวาดเราก็ยิ่งเข้าใจเขา ยิ่งเข้าใจเขาก็ยิ่งทำให้เราวาดได้ดีขึ้น มีช่วงหนึ่งผมหันไปถ่ายรูปเยอะ เพราะเห็นเขาถ่ายกัน เราก็อยากถ่ายบ้าง แต่กลับกลายเป็นว่าผมไม่ค่อยกลับมาชื่นชมรูปที่ผมถ่ายเท่าไหร่ แต่ผมจะกลับมาดูรูปที่ผมวาด พอดูปุ๊บ ความรู้สึกของวันนั้น กลิ่นอายต่างๆ มันกลับมาทันที เพราะเราลงแรง ลงพลังไปเยอะมาก มันจึงมีความหมายกับเรามากกว่าการกดชัตเตอร์หลายเท่า”

แต่ทั้งนี้หมอหม่องก็เน้นย้ำว่า ไม่ได้แปลว่าการวาดภาพดีกว่าการถ่ายรูป แต่ทั้งสองอย่างล้วนมีความสำคัญในมุมที่แตกต่างกัน

“การถ่ายภาพเป็นเรื่องดีมาก มันทำให้คนเห็นความงาม ความถูกต้องทางชีววิทยา ผมไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่าอะไร มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วผมก็อยากให้คนที่อยากวาด ไม่ต้องกลัวว่าวาดแล้วจะไม่สวย อยากให้สนใจกระบวนการมากกว่า เพราะการบันทึกมันให้อะไรกับเรามากจริงๆ”

ไม่ใช่แค่สมุดของตัวเองเท่านั้นที่หมอหม่องวาดรูปนกลงไป หลายครั้งเวลาที่หมอหม่องจัดกิจกรรมพาเด็กๆ เดินป่าดูนก คุณหมอก็มักนั่งลงบรรจงวาดภาพนกที่เห็นให้เด็กๆ ในสมุดของพวกเขา พร้อมกับอธิบายจุดเด่นของนกชนิดนั้นให้พวกเขาฟัง

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ กับสมุดบันทึกธรรมชาติที่กำลังกลายมาเป็นหนังสารคดี
หมอหม่อง กับสมุดบันทึกธรรมชาติที่กำลังกลายมาเป็นหนังสารคดี

Nature Mentor

ผู้สื่อความหมายธรรมชาติ

“ถ้าเรามีความรักกับสิ่งใดมากๆ ผมเชื่อว่าคนที่อยู่ใกล้เราจะรู้สึกได้ เราก็เหมือนเป็นทูตธรรมชาติ ให้เขามองเห็นในสิ่งที่ไม่เคยมองหรือมองข้ามไป”

สิ่งหนึ่งที่หมอหม่องพูดเสมอเวลามีงานบรรยาย คือการให้เด็กๆ ได้มีโอกาสใกล้ชิดธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ พวกเขาควรมีโอกาสปีนต้นไม้ ลุยโคลน ช้อนลูกอ๊อด เพราะหากพวกเขาอยู่แต่กับหน้าจอมือถือ วิ่งเล่นในห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว พวกเขาคงไม่ผูกพันและไม่แคร์ธรรมชาติ โลกในอนาคตก็คงไม่มีใครสนใจดูแล

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่หมอหม่องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของชีวิต คือการเป็นนักสื่อสารเรื่องราวธรรมชาติ พาคนเดินป่า เพื่อให้ความรู้และความรักเกิดควบคู่กัน หากใครได้เคยไปเดินป่ากับหมอหม่องจะรู้ว่าวิธีการอธิบายของหมอหม่องนั้นไม่เหมือนใคร เพราะไม่ใช่การบอกแค่ชื่อ แต่คือการชวนให้สังเกตความงามและเล่าความมหัศจรรย์ของสิ่งเล็กๆ รอบตัวที่ปกติคนมักเดินผ่าน

เส้นทางในวันนี้ เราไม่ได้ไปน้ำตกใหญ่โต เราไม่ได้ไปดูทะเลหมอกสุดสายตา แต่เราจะลองดูว่าถ้าเราเดินป่า แค่เส้นทางสั้นๆ และสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ข้างทาง เราจะเห็นอะไร ได้ยินอะไรบ้าง ปลายทางของเราคือวิหารศักดิ์สิทธิ์ที่สวยงามที่สุดในป่านี้ เป็นวิหารธรรมชาติ”

 นี่คือประโยคเริ่มต้นของหมอหม่องในกิจกรรม Nature Walk ที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งจัดโดยชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาเมื่อหลายปีที่แล้ว

ระหว่างทางเดินแคบๆ ที่สองข้างทางดูเหมือนไม่มีอะไร แต่หมอหม่องได้ชวนให้มองสิ่งข้างทางเล็กๆ ที่ปกติเราไม่เคยสังเกตเห็น ไม่ว่าจะเป็นใบไม้ที่มีเส้นสีขาวขดไปขดมา พร้อมเล่าว่านี่คือการทำเหมืองบนใบไม้ของแมลงชนิดหนึ่งที่ชื่อ Leaf Miner หรือปุยขาวๆ บนกิ่งไม้ข้างทางที่ดูเผินๆ เหมือนเชื้อรา แต่หมอหม่องก็หยิบแว่นขยายขึ้นมาและชวนให้เด็กๆ ส่องดู ‘ดอกไม้เดินได้’ ก่อนจะเฉลยว่าที่จริงมันคือเพลี้ยแป้ง หรือแม้กระทั่งใบไม้ที่ไม่รู้จักชื่อ ซึ่งมีจุดขาวกระจายอยู่เหมือนใครทำอะไรหกใส่ หมอหม่องก็ตั้งชื่อให้ว่าต้นคาลามายด์หก

“นี่ ดูนี่สิ ใครมาถุยน้ำลายไว้ตรงนี้” หมอหม่องสร้างความตื่นเต้นให้เด็กๆ พร้อมชี้มือให้ดูฟองขาวที่อยู่ตรงก้านใบไม้ ก่อนเฉลยว่ามันคือตัวอ่อนของเพลี้ยที่สร้างฟองปกคลุมเพื่อไม่ให้ผู้ล่าเห็นมันง่ายๆ

หลายเรื่องเล่าระหว่างทาง ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กๆ ได้สังเกตและตื่นเต้น แต่ยังทำให้พวกเขาเห็นความเชื่อมโยงของชีวิตต่างๆ ทั้งการชวนให้ดูปลวกที่ซ่อนตัวในขอนไม้และเล่าถึงบทบาทการเป็นนักรีไซเคิลของมัน หรือการหยิบลูกก่อหนามมาเล่าเรื่องการกระจายพันธุ์และความเชื่อมโยงกับกระรอก พาเด็กๆ ทักทายแมงมุม Daddy long leg ที่ไม่มีพิษและเล่าความสำคัญของแมงมุม เพื่อให้เด็กๆ ไม่เกลียดไม่กลัวพวกมัน หรือชวนกอดคุณทวดต้นไม้ใหญ่ที่มีมอสสีเขียวขึ้นปกคลุม

เด็กๆ ลองมาจับกันดูนะครับ ว่ามันนุ่มขนาดไหน ต้นนี้คือคุณทวดของหนูเลย ลองกอดคุณทวดดูนะครับ”

เมื่อมาถึงปลายทาง ‘วิหารศักดิ์สิทธิ์’ ที่เป็นไฮไลต์ของวัน นั่นคือต้นไทรใหญ่ที่แผ่รากกว้างใหญ่ราวกับวิหาร หมอหม่องชวนให้เด็กๆ ลอดอุโมงค์ต้นไทร พร้อมเล่าความลับการก่อกำเนิดต้นไทรให้พวกเขาฟัง จากนั้นก็ปล่อยให้เด็กๆ ปีนคุณปู่ต้นไทรเล่นอย่างสนุกสนาน

ก่อนเดินกลับ คุณหมอก็เล่าปิดท้ายถึงความเชื่อมโยงกับนกเงือก

“ต้นไทรต้นนี้ ในอดีตเคยมีนกเงือกมากินทั้งหมดสี่ชนิด แต่ปัจจุบันบนป่าดอยสุเทพไม่มีนกเงือกแล้ว ทำให้ผลไม้ลูกใหญ่ๆ หลายอย่าง เวลาออกผลไม่มีใครมากินเลย น่าเศร้ามาก นกเงือกไม่มี ชะนีไม่มี นกเล็กก็กินไม่ได้ ลูกก็จะร่วงแล้วเน่าเสีย ที่สำคัญคือจะไม่มีต้นลูกอีกแล้ว เพราะลูกที่หล่นมาจากต้นอัตราการงอกต่ำมาก ลูกไม้พวกนี้ถูกออกแบบมาให้ผ่านการย่อยหรือถูกกระตุ้นด้วยเอนไซม์ในสัตว์ก่อนถึงจะงอกได้ มีงานวิจัยบอกว่าถึงต้นไม้ในป่าของดอยสุเทพดูสมบูรณ์ดี แต่อนาคตไม่สดใสเลย เพราะต้นไม้เดินไม่ได้ สัตว์ที่ช่วยกระจายพันธุ์ก็ไม่มีอีกต่อไปแล้ว”

การเดินป่ากับหมอหม่องจึงมีความหมายมากกว่าแค่ไปให้ถึงปลายทางหรือถ่ายรูปกับป้าย แต่คือการได้มีโอกาสมองเห็นความงาม ความลับ และนิทานที่ซ่อนอยู่ในใบไม้แต่ละใบ

“ถ้าเราไม่ใช่เดินแบบกุลีกุจอให้ถึงจุดหมาย จะเห็นว่าข้างทางมีอะไรให้เราดูเยอะเลย หลายอย่างผมก็ไม่รู้จักชื่อ อย่างต้นคาลามายด์หก แต่ผมคิดว่าเราก็ดูเพื่อชื่นชมและเพื่อเรียนรู้ว่าเขาอยู่ยังไง เขามีความสำคัญยังไง ในความเห็นผมมันสำคัญกว่าที่เราจะรู้ชื่อยืดยาวมัน แต่ไม่ได้รู้ประโยชน์หรือหน้าที่ ผมคิดว่าถ้าเราใช้เวลาเข้ามาเรียนรู้ธรรมชาติ มันมีอะไรให้เราเรียนไม่จบจริงๆ เส้นทางเล็กๆ แค่ไม่กี่กิโลฯ ยังมีขนาดนี้”

หมอหม่องกล่าวปิดท้ายกิจกรรม ซึ่งหลังจากนั้น ก็เป็นเวลาที่เด็กๆ ได้วิ่งเล่นท่ามกลางธรรมชาติอย่างอิสระ โดยมีต้นไม้ใหญ่เป็นฉากหลัง

“จริงอยู่เด็กมีความสนใจหลากหลาย แต่ถ้าครั้งหนึ่งเขาเคยมีต้นไม้เป็นเพื่อน มีนกเป็นเพื่อน เคยปีนต้นไม้ เคยช้อนลูกอ๊อด เคยสัมผัสสิ่งเหล่านี้มา มันจะอยู่ในหัวใจเขา ถ้าเขาเคยเห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ว่ามันมีความสำคัญ มีตัวตนอยู่ในโลก เขาจะไม่มองผ่านมันไปอีก สิ่งนี้มันไม่มีทางทดแทนด้วยการมองผ่านจอ ไม่มีการทดแทนด้วยการดูสัตว์ที่ถูกกักขังในสวนสัตว์ มันจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในธรมมชาติ ไม่จำเป็นต้องเป็นป่า อาจจะเป็นสวนก็ได้”

และนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่หมอหม่องบอกว่า การมีพื้นที่สีเขียวในเมืองเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติไม่ถูกตัดขาดอย่างทุกวันนี้ จนทำให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักโลโก้สินค้ามากกว่าชื่อนกข้างบ้าน

“ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสเข้าป่า ถ้าเมืองเรามีพื้นที่สีเขียว มีธรรมชาติมากขึ้น คนจะได้ไม่อยู่ไกลจากธรรมชาติ เขาก็จะกลับมาเชื่อมสัมพันธ์ได้ สังคมมันต้องเอื้อให้มีสถานที่แบบนี้ พ่อแม่ก็ไม่ใช่ว่าจัดเวลาตอนเช้าให้ลูกเรียนบัลเลต์ ตอนบ่ายเรียนเปียโน ตอนเย็นเรียนพิเศษ เราต้องให้เขามีอิสระในการเล่นแบบมีจินตนาการได้เอง ให้ได้เบื่อบ้าง จะได้ไปปีนต้นไม้เล่น ไปช้อนลูกอ๊อดบ้าง”

หมอหม่องเล่าถึงความหวังที่อยากเห็น เพื่อให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้เติบโตขึ้นมาพร้อมหัวใจที่อ่อนโยนต่อธรรมชาติ ซึ่งสิ่งที่คุณหมอนักอนุรักษ์ทำก็ไม่ใช่เพียงแค่พูดหรือฝัน แต่คือการลงมือทำจริงด้วยการใช้เงินส่วนตัวซื้อพื้นที่ผืนหนึ่งกว่า 80 ไร่ เพื่ออนุรักษ์ให้เป็นบ้านของนก เป็นโอเอซิสอันปลอดภัยของสรรพสัตว์ ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์นกโดยเอกชนแห่งแรกๆ ของไทย

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ กับสมุดบันทึกธรรมชาติที่กำลังกลายมาเป็นหนังสารคดี

Pass It to the Next Generation

มรดกธรรมชาติ

“แม่บอกว่า มรดกที่แม่ทิ้งไว้ให้ลูกไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นแผ่นดินสีเขียวให้ลูก”

ย้อนกลับไปในสมัยที่หมอหม่องเรียนอยู่ต่างประเทศ เขาได้เห็นถึงพื้นที่อนุรักษ์ของอังกฤษที่ไม่ได้มีแค่อุทยานแห่งชาติ แต่ยังมีพื้นที่อนุรักษ์อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมูลนิธิเป็นเจ้าของ โดยเป็นการซื้อพื้นที่ธรรมชาติที่เสี่ยงต่อการถูกทำลาย เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ มาฟื้นฟูและอนุรักษ์ไว้ เมื่อได้เห็นหมอหม่องก็ฝันมาตลอดว่าอยากให้มีที่ไทยบ้าง จนกระทั่งเมื่อถึงวันที่คุณแม่เสียเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว สิ่งที่ถูกเขียนอยู่ในพินัยกรรมก็คือเงินจำนวนหนึ่งที่คุณแม่มอบให้หมอหม่องทำตามความฝัน นั่นคือการสร้างพื้นที่อนุรักษ์นก จนก่อกำเนิดเป็น ‘พื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ’ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

“นกไม่ใช่ว่าอยู่ตรงไหนก็ได้ แต่ละพันธุ์ก็มีความต้องการเฉพาะของมัน อย่างพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก แต่ล่อแหลมต่อการถูกทำลาย ผมก็เลยไปหาซื้อพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อที่จะเก็บเอาไว้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของนก และเป็นทางเลือกให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในวันหยุด แทนที่จะไปแต่ห้าง”

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นทุ่งนาเก่า ดินถูกกระหน่ำด้วยปุ๋ยเคมีมาตลอด คุณหมอและทีมนักอนุรักษ์จากชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนามาช่วยกันฟื้นฟู ปลูกต้นแขม ปรับปรุงพื้นที่ จากกล้าแขมไม่กี่ต้น วันนี้กลายเป็นพื้นที่ให้สัตว์มากมายได้อาศัย กลายเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย มีพื้นที่ชุ่มน้ำและต้นไม้ใหญ่ ป่าแขมที่ดูเผินๆ เหมือนพงหญ้ารกที่ไม่มีอะไร แต่เมื่อเข้าไปดูจริงๆ จะพบกับนกน่ารักหลากหลายชนิดซ่อนตัวอยู่ในนั้น หลายชนิดเป็นชนิดหายาก เราเห็นเป็ดฝูงใหญ่ลอยน้ำอย่างมีความสุข มีซุ้มบังไพรที่ให้เราเข้าไปซ่อนตัวเพื่อแอบดูนกได้อย่างใกล้ชิด

หมอหม่องเล่าว่า แนวทางพื้นที่อนุรักษ์โดยเอกชนแบบนี้ ในหลายประเทศก็ทำกันแล้ว แต่ในไทยยังเป็นเรื่องใหม่ แม้แต่ฮ่องกงซึ่งที่ดินแพงมหาศาล ที่นั่นก็ยังแบ่งปันพื้นที่ธรรมชาติให้สรรพสัตว์ได้อาศัย เศรษฐีนักเล่นหุ้นบางคนก็เลือกที่จะเก็บพื้นที่ให้เป็นแหล่งศึกษานก หลายประเทศเมื่อถึงวันหยุด พ่อแม่ก็จะพาลูกมายังสถานที่เหล่านี้

“คนไทยเรานิยมมากในการทำบุญให้กับวัด แต่ผมว่าการทำบุญโดยการให้ทานกับชีวิต ให้ชีวิตต่างๆ ในโลกนี้มีที่อาศัย ให้สายใยเหล่านี้ไม่ขาดสะบั้นลง และส่งต่อมรดกทางธรรมชาตินี้ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้ น่าจะเป็นการทำบุญที่วิเศษที่สุด” หมอหม่องกล่าวประโยคนี้ไว้ในงานบรรยายครั้งหนึ่ง

และในงานนิทรรศการภาพวาด ‘บันทึกป่าของหมอหม่อง’ ครั้งนี้ ภาพส่วนหนึ่งจะถูกจัดพิมพ์รวมเล่มและวางจำหน่าย เพื่อระดมทุนให้สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูและปรับปรุงพื้นที่อนุรักษ์นกชายเลน บ้านปากทะล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 49 ไร่ ซึ่งมูลนิธิฯ เพิ่งระดมทุนซื้อมาเมื่อไม่นานนี้

“ผมอยากสร้างพินัยกรรมซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติให้ถึงลูกหลานมากที่สุด เราคงไม่อยากทิ้งโลกใบนี้ในสภาพที่พังๆ ให้กับพวกเขา”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ กับสมุดบันทึกธรรมชาติที่กำลังกลายมาเป็นหนังสารคดี

ภาพยนตร์สารคดี ‘Dr Birdman’

สถานที่ : Cinema Oasis

วัน-เวลา : 29 กุมภาพันธ์ เวลา 19.00 น. และ 1 มีนาคม เวลา 14.00 และ 19.00 น.

รอบฉายอื่นๆ ติดตามได้ใน www.cinemaoasis.com

นิทรรศการ ‘บันทึกป่าของหมอหม่อง’

สถานที่ : Galerie Oasis

วันที่ : 29 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2563

ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.cinemaoasis.com/

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล