เชื่อว่าหลายคนเคยเดินผ่านถนนท่าแพ ใจกลางเมืองเชียงใหม่ที่คึกคัก คราคร่ำด้วยนักท่องเที่ยว และรายล้อมด้วยอาคารบ้านเรือนเก่าแก่หลายหลัง มีทั้งถูกปิดตาย ปล่อยทิ้งร้าง ในขณะที่บางตึกปรับเปลี่ยนเป็นร้านค้า คาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรม หนึ่งในสถาปัตยกรรมโบราณอันโดดเด่นบนถนนเส้นนี้ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด คือ ‘บ้านตระกูลนิมากร’ ตึกไม้สักสไตล์โคโลเนียลสีเขียวขาวทั้งหลัง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ‘ระมิงค์ทีเฮ้าส์’ หรือ ‘บ้านชาระมิงค์’ แบรนด์ชาสัญชาติไทยอันเก่าแก่ที่บุกเบิกโดย คุณตาประสิทธิ์ พุ่มชูศรี เกษตรกรผู้ค้นพบแหล่งชาประวัติศาสตร์ทางตอนเหนือของประเทศไทย และเป็นผู้ให้ความสำคัญกับการทำไร่ชาออร์แกนิกแบบยั่งยืนในถิ่นต้นน้ำปิงมานานกว่า 80 ปี 

Raming Tea House ร้านน้ำชาจากไร่ชาออร์แกนิกในบ้านโคโลเนียล 107 ปี บนถนนท่าแพ เชียงใหม่
Raming Tea House ร้านน้ำชาจากไร่ชาออร์แกนิกในบ้านโคโลเนียล 107 ปี บนถนนท่าแพ เชียงใหม่

“คุณตาเป็นเกษตรกรตัวอย่างในสมัยนั้น เป็นผู้ค้นพบแหล่งชาประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่มาก อยู่ทางตอนเหนือของไทย ต้นชาในถิ่นนั้นขึ้นอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ในป่า สมัยนั้นชาวบ้านยังไม่รู้จักการทำใบชาหรือการดื่มชาเลย แต่เขาเก็บใบชามาหมักทำเมี่ยงกินหรือเคี้ยว เน้นทำของชูกำลัง กินแทนกาแฟ

“สมัยที่คนไทยเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตก ก็เริ่มรับวัฒนธรรมการดื่มชาเข้ามาด้วย แต่ตอนนั้นการดื่มชายังเป็นเรื่องของชนชั้นสูง ต้องนำเข้าใบชา ซึ่งมีราคาแพงมาก คุณตาเลยคิดว่าทำไมเราไม่ผลิตในประเทศเสียเอง เพราะประเทศไทยมีแหล่งชาดั้งเดิมอยู่แล้ว เป็นชาพันธุ์อัสสัม คุณตาจึงเดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อเรียนรู้การทำใบชาและนำเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ กลับมาด้วย”

Raming Tea House ร้านน้ำชาจากไร่ชาออร์แกนิกในบ้านโคโลเนียล 107 ปี บนถนนท่าแพ เชียงใหม่

แนน-วงเดือน วังวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด ทายาทรุ่นสาม แบ่งปันจุดเริ่มต้นของแบรนด์และทีเฮ้าส์แห่งนี้ด้วยความภูมิใจ เพราะชาระมิงค์นับเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมไร่ชาแห่งแรกในไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2480 โดยใช้ชื่อแบรนด์ ‘ใบชาตราภูเขา’ เริ่มทำโปรดักต์ชาเมื่อ พ.ศ. 2484 เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ชาระมิงค์’ ใน พ.ศ. 2510 เพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งปลูกชาบนต้นน้ำแม่ปิง ซึ่งเดิมชื่อแม่ระมิงค์ 

“ชาระมิงค์เป็นชาจากต้นน้ำในพื้นที่ 2 อำเภอ คือแม่แตงและดอยหลวงเชียงดาว เป็นต้นน้ำปิงที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ต้นชามีมอส ไลเคน มาอาศัยด้วย เราตั้งใจปลูกชาตามระบบนิเวศของป่าแถวนั้นให้มากที่สุด ชาระมิงค์จึงเติบโตอย่างทนทานตามธรรมชาติ และไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมีหรือปุ๋ยบำรุงในการปลูกชาเลย เราพยายามรักษาสภาพแวดล้อมในป่าแถบนั้นให้ได้มากที่สุด เราไม่ตัดไม้หรือทำลายสิ่งมีชีวิตในป่า แม้แต่รังผึ้งเราก็ปล่อยไว้แบบนั้น น้ำผึ้งเราก็ไม่เก็บ พืช สัตว์ แมลง อยู่ด้วยกันได้หมด เรียกว่าป่าในอดีตเป็นอย่างไร เราก็เก็บรักษาไว้แบบนั้นจนถึงทุกวันนี้” เธอเล่าความตั้งใจที่ทำมาตลอด

Raming Tea House ร้านน้ำชาจากไร่ชาออร์แกนิกในบ้านโคโลเนียล 107 ปี บนถนนท่าแพ เชียงใหม่

ชาระมิงค์จึงเป็นชาที่มีความเป็นธรรมชาติและบริสุทธ์มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นกำเนิด สายพันธุ์ รวมทั้งคนดูแลชาที่เป็นชาวเขาท้องถิ่น พวกเขาสืบทอดความรู้เรื่องการปลูกชารุ่นสู่รุ่น ทั้งหมดนี้กลายเป็นความโดดเด่นของชาระมิงค์ที่หาไม่ได้จากชาแบรนด์ไหน โดยเฉพาะชาที่อิมพอร์ตจากต่างประเทศ

“เราอยากให้คนไทยได้ดื่มชาที่มีเอกลักษณ์ สดใหม่ มีกลิ่นหอม ส่งตรงจากถิ่นกำเนิด และเราไม่เก็บไว้ในสต็อกนาน แตกต่างจากชาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาผ่านกระบวนการต่าง ๆ ข้ามน้ำข้ามทะเลนานมากกว่าจะมาถึงเรา ความสดใหม่ของชาก็ไม่เท่ากันแล้ว”

ในฐานะที่แนนเป็นคนหลงใหลการดื่มชามานาน มีโอกาสเดินทางไปทดลอง เรียนรู้เรื่องชาจากหลายประเทศและหลายวัฒนธรรม เช่น ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น เธอมองว่าชาที่ดี คือชาที่สะท้อนรสชาติแบบตรงไปตรงมา มีคาแรกเตอร์ชัดเจน ที่สำคัญ ควรเป็นชาที่ดื่มแล้วให้ความรู้สึกคลีน ไม่มีอะไรตกค้างในปากหรือคอ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้หาได้จากชาระมิงค์ 

Raming Tea House ร้านน้ำชาจากไร่ชาออร์แกนิกในบ้านโคโลเนียล 107 ปี บนถนนท่าแพ เชียงใหม่

“ชาอาจจะไม่ได้มีคาแรกเตอร์เหมือนกาแฟที่กินปุ๊บแล้วตื่นตัว แต่เสน่ห์ของชาคือให้ความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ด้วยประสบการณ์การทำชามากว่า 80 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณตาที่บินไปเรียนรู้จากประเทศอินเดีย และการลองผิดลองถูกอย่างยาวนาน เราจึงมีเทคนิคการดึงคาแรกเตอร์ของชาออกมาให้ได้มากที่สุด และทำให้รสชาติของชาดั้งเดิมมากที่สุด

 “เวลาซื้อผักจากตลาด เราจะล้างก่อนลงมือทำอาหาร แต่โดยทั่วไปเราไม่ล้างใบชา หากเก็บใบชามาจากแหล่งที่ใช้สารเคมีหรือปลูกในที่ที่มีสารปนเปื้อน เศษฝุ่น มลพิษ เท่ากับว่าเราบริโภคสารตกค้างเหล่านี้เข้าไปด้วย แต่ชาระมิงค์ของเป็นออร์แกนิก ไม่มีสารเคมีใด ๆ และได้รับการรับรองจากอเมริกาด้วย”

นอกจากรสชาติออริจินัลของตัวชาที่เป็นเสน่ห์ของชาระมิงค์ สถาปัตยกรรมโบราณที่มีอายุร่วมกว่าศตวรรษ ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนเป็นระมิงค์ทีเฮ้าส์สุดคลาสสิก ก็กลายเป็นภาพจำของชาระมิงค์เช่นกัน 

โดยครอบครัวของแนนตั้งใจคงความดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด

Raming Tea House ร้านน้ำชาจากไร่ชาออร์แกนิกในบ้านโคโลเนียล 107 ปี บนถนนท่าแพ เชียงใหม่
Raming Tea House ร้านน้ำชาจากไร่ชาออร์แกนิกในบ้านโคโลเนียล 107 ปี บนถนนท่าแพ เชียงใหม่

“บ้านหลังนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2458 โดย ขุนอนุกรบุรี ข้าราชการไทยเชื้อสายจีนในสมัยรัชกาลที่ 6 บางส่วนมีการผุพังไปตามกาลเวลา แต่ครอบครัวของเราพยายามคงสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด ส่วนไหนที่ต้องซ่อมแซม เราก็ต่อเติมให้เหมือนเดิม จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมเด็จพระเทพฯ ใน พ.ศ. 2547 และเป็นบ้านโบราณเพียงไม่กี่หลังในเชียงใหม่ที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้อย่างสมบูรณ์ 

“แนนอยากชวนให้คนไทยหรือคนท้องถิ่นเข้ามาที่ระมิงค์ทีเฮ้าส์ เราอยากให้ทุกคนเข้ามาชม มาถ่ายรูปสถาปัตยกรรมโบราณหลังนี้ ไม่ต้องเข้ามาดื่มชาหรือกินข้าวก็ได้ เรายินดีต้อนรับ”

Raming Tea House ร้านน้ำชาจากไร่ชาออร์แกนิกในบ้านโคโลเนียล 107 ปี บนถนนท่าแพ เชียงใหม่

ถ้าใครมานั่งจิบชาที่ระมิงค์ทีเฮ้าส์ จะได้ดื่มด่ำกับความดั้งเดิมในทุกสัมผัส รวมถึงการเสิร์ฟชาด้วยเครื่องเคลือบศิลาดล เซรามิกสีเขียวไข่กาแตกลายงา งานช่างฝีมือเก่าแก่ตั้งแต่สมัยล้านนา ซึ่งทุกวันนี้หาคนทำยากมาก และระมิงค์ทีเฮ้าส์ยังเสิร์ฟอาหารที่หากินที่อื่นไม่ได้ เช่น เมี่ยงหมูย่างใบชาสด ผัดไทยและสปาเกตตี้ที่ใช้ใบชาเป็นเบสในการทำซอส ทุกเมนูมีส่วนผสมของใบชาที่ช่วยเพิ่มรสอูมามิ รวมทั้ง ‘สโคนข้าวก่ำ’ กินคู่ ‘คาเวียร์กาแฟ’ แกล้มแยมมะม่วง แยมเสารสสไตล์โฮมเมด จิบคู่กับชาหอม ๆ หรือลิ้มลองชาสูตรพิเศษที่ใช้ใบชายอดแรกของฤดูกาล ให้แร่ธาตุแบบเน้น ๆ และให้รสชาติที่ดีที่สุดของปี 

ลิ้มลองชารสชาติบริสุทธิ์ที่ Raming Tea House เติบโตท่ามกลางธรรมชาติในป่าเก่าแก่ของไทย ในบ้านโคโลเนียลและสวนอังกฤษใจกลางเชียงใหม่

สำหรับคนที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องชาอย่างลึกซึ้ง แนนเปิดโรงเรียน Asian School of Tea – Thailand เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้เรื่องชาในทุกมิติ รวมทั้งสอนให้เข้าถึงวัฒนธรรมการปลูกชาออร์แกนิก และยกระดับชาของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านคอร์สเรียนหลากหลายรูปแบบ ทั้งคอร์ส Tea Connoisseur สำหรับเตรียมตัวสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชา โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เรียนรู้การใช้ประสาทสัมผัสในการแยกแยะกลิ่น-รส การดื่มชาและชงชาในแบบต่าง ๆ ส่วนคอร์ส Tea Tasting & Blending Masterclass สอนการใช้ศาสตร์และศิลป์ เล่นแร่แปรธาตุเพื่อเบลนด์ชาให้เป็นเอกลักษณ์และสร้างเมนูของตัวเอง และคอร์ส Tea Sommelier หลักสูตรเจาะลึกที่เรียนรู้เฉพาะชาแบบครบถ้วน รวมทั้งการใช้เครื่องมือชงชา การเตรียมชา การชงชาให้รสชาติดี เหมาะสำหรับคนที่อยากเสิร์ฟชาในร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม สอนโดยผู้เชี่ยวชาญคนไทยและต่างชาติที่มีประสบการณ์ในวงการชากว่า 20 ปี

ลิ้มลองชารสชาติบริสุทธิ์ที่ Raming Tea House เติบโตท่ามกลางธรรมชาติในป่าเก่าแก่ของไทย ในบ้านโคโลเนียลและสวนอังกฤษใจกลางเชียงใหม่

“โดยส่วนตัว แนนชอบเรียนรู้เรื่องชาและวัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ เพราะการเรียนรู้เรื่องชาไม่มีที่สิ้นสุด เราพบว่าโรงเรียนสอนชาของฝรั่งมีหลายแห่ง แต่โรงเรียนที่พาไปดูแหล่งปลูกด้วยมีน้อยมาก เพราะเขาไม่มีแหล่งชาของตัวเอง ไม่มีการสอนการเก็บชา วิธีการดูสายพันธุ์ชาต่าง ๆ มีแค่การเรียนทฤษฎีในห้องสี่เหลี่ยม เรามีไอเดียว่า ในเมื่อเรามีแหล่งชาที่เปรียบเสมือนแหล่งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เราก็น่าจะเปิดโรงเรียนที่เผยแพร่และส่งต่อความรู้เรื่องชา เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้หายไป”

ทุกวันนี้เราเห็นคาเฟ่กาแฟมากกว่าร้านชา แต่หากมองในระดับโลก แนนบอกว่าชาเป็นเครื่องดื่มที่คนนิยมเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำเปล่า ในประเทศใหญ่ ๆ อย่างจีนหรืออินเดีย คนส่วนใหญ่ไม่ได้จิบชาเพียงวันละ 1 หรือ 2 แก้วแบบกาแฟ แต่เขาดื่มชากันทั้งวัน และถือเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี-วัฒนธรรมด้วย

“เพราะการดื่มชาคือการดื่มวัฒนธรรม ในชามีเรื่องราว ประวัติศาสตร์ และมีจิตวิญญาณของคนปลูก” แนนตบท้ายก่อนชวนเราจิบอาฟเตอร์นูนทีในสวนสวยที่ซ่อนตัวอยู่ในระมิงค์ทีเฮ้าส์แห่งนี้

ลิ้มลองชารสชาติบริสุทธิ์ที่ Raming Tea House เติบโตท่ามกลางธรรมชาติในป่าเก่าแก่ของไทย ในบ้านโคโลเนียลและสวนอังกฤษใจกลางเชียงใหม่

Raming Tea House Siam Celadon

ที่ตั้ง : 158,162 ถนนท่าแพ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)

เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.30 – 17.00 น.

โทรศัพท์ : 0 5323 4518, 09 3134 3341

Facebook : Raming Tea House Siam Celadon

Writer

Avatar

นันทรัตน์ สันติมณีรัตน์

นักเขียนฟรีแลนซ์ที่ชอบทดลองทำหลายอาชีพ

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย