จะเป็นยังไงถ้าจิตรกรรมฝาผนังไทยเคลื่อนไหวได้? 

เราขอเสนอ รามาวตาร แอนิเมชันที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของจิตรกรรมฝาผนังและสร้างความแปลกใหม่ให้วงการแอนิเมชันด้วยการใช้ภาพจริงจากจิตรกรรมรอบพระระเบียงพระอุโบสถวัดพระแก้ว แทนการใช้หุ่นปั้นในโปรแกรมแบบแอนิเมชันที่เราคุ้นเคย ทั้งยังเป็นแอนิเมชันเรื่องแรกของโลกที่เสนอเรื่อง รามเกียรติ์ จากจิตรกรรมฝาผนัง

อ่านไม่ผิด! ภาพจากจิตรกรรมฝาผนัง คุณคงสงสัยไม่แพ้เราว่าจะทำยังไง และจะออกมาเป็นยังไง 

ตามไปคุยกับ อธิปัตย์ กมลเพ็ชร ผู้กำกับภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ดลยา กมลเพ็ชร ผู้อำนวยการสร้าง และ กวี พูลทวีเกียรติ์ ผู้จัดการเผยแพร่ภาพยนตร์ ว่ากว่าจะเป็น รามาวตาร จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิตสุดสนุกนั้นเป็นอย่างไร 

อธิปัตย์ กมลเพ็ชร ผู้กำกับภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ดลยา กมลเพ็ชร ผู้อำนวยการสร้าง และ กวี พูลทวีเกียรติ์ ผู้จัดการเผยแพร่ภาพยนตร์

จากการชมแอนิเมชันมาแล้ว 1 รอบ ขอกระซิบว่า อย่าเพิ่งกลัวว่าดูแล้วจะงงตาแตกตามไก่  ไม่ต้องมีความรู้เรื่อง รามเกียรติ์ ว่าใครลูกใคร และไม่ต้องยืนอึ้งหน้าฝาผนังยาวเป็นพืดว่าจะชมยังไง เพราะ รามาวตาร ดูง่ายและภาพดีงามเหมือนได้เดินรอบวัดพระแก้วด้วยตัวเอง

ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญลงทะเบียนเพื่อรับชม 

01

ก่อนจะเป็น ‘รามาวตาร’

นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว อธิปัตย์มีโอกาสร่วมทำ DVD Interactive จิตรกรรมฝาผนังรอบพระระเบียงวัดพระเเก้วประกอบคำอธิบายแและบทร้อยกรอง เขาเห็นว่าจิตรกรรมแสนเก๋ที่ตนได้สัมผัส ไม่ได้ไทยประเพณีจ๋า แต่มีความร่วมสมัยซ่อนอยู่ ทั้งยังเป็นเรื่องที่มีคุณค่าแต่ไม่ค่อยมีใครเห็นค่าเพราะดูล้าสมัย เขาจึงปิ๊งไอเดียต่อยอดงานครั้งนั้นเป็นแอนิเมชันจากจิตรกรรมฝาผนังขนาดสั้น ตอน ธรรมะแห่งราชา เมื่อ พ.ศ. 2554 เพื่อนำเสนอเรื่องราวของพระราม ราชาผู้ทรงธรรม จากนั้น เรื่องราวของ รามาวตาร จึงถือกำเนิดขึ้น 

ทีมงาน รามาวตาร พยายามระดมทุนสนับสนุนภาพยนตร์ตอน รามาวตาร อีกหลายปีจนกระทั่งใน พ.ศ. 2561 ไทยเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพอาเซียน และโขนไทยได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก ความฝันของทีมงานและผู้ที่เคยชมแอนิเมชันจิตรกรรมฝาผนังตอน ธรรมะแห่งราชา จึงเป็นจริง

02

จักรวาลรามเกียรติ์

นอกจากจักรวาล Marvel ที่ทุกคนรู้จักดี จักรวาลรามเกียรติ์เป็นอีกหนึ่งจักรวาลที่ทีมผู้สร้างอยากนำเสนอให้ทุกคนรู้จัก 

จักรวาล Marvel บู๊ล้างผลาญขนาดไหน จักรวาลรามเกียรติ์ก็บู๊พ่นไฟไม่แพ้กัน รามาวตาร เล่าเรื่องกระชับฉับไว แต่ไม่ทิ้งใจความสำคัญที่จะสื่อ ฝ่ายพระรามคงเป็นเหล่าฮีโร่แบบที่ Iron Man เป็น และแน่นอน ทศกัณฐ์ต้องเป็นเหล่าร้ายที่มาล้างโลก (ขอจัดให้เป็นธานอสใน The Avengers

รามาวตาร แอนิเมชัน 2.5 มิติฝีมือคนไทยที่ปลุกชีพให้จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วเคลื่อนไหวได้
รามาวตาร แอนิเมชัน 2.5 มิติฝีมือคนไทยที่ปลุกชีพให้จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วเคลื่อนไหวได้

เริ่มกันที่ปฐมบทของไตรภาค รามาวตาร ที่เล่าตั้งแต่ตอนที่พระนารายณ์สาปให้นนทุกไปเกิดใหม่เป็นทศกัณฐ์มี 10 เศียร 20 มือ และพระองค์จะไปจุติเป็นพระราม ที่แม้เป็นกษัตริย์แต่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาเดินดิน เพื่อพิสูจน์ว่าถึงนนทุกใจมารจะมีอิทธิฤทธิ์มากกว่าก็ยังต้องแพ้พ่ายไป จนถึงตอนที่พระรามสั่งให้เหล่าพลลิงเอาหินไปสร้างเป็นถนนข้ามมหาสมุทรเพื่อบุกไปยังลงกา 

จุดที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์กับผู้ชมคือ ทุกครั้งที่ตัวละครใหม่ปรากฏ จะมีข้อความสีขาวบอกชื่อและตำแหน่งของตัวละครนั้นๆ ทำให้คนที่มีความรู้เรื่อง รามเกียรติ์ เป็นศูนย์ก็เข้าใจและสนุกกับเรื่องได้ 

รามาวตาร แอนิเมชัน 2.5 มิติฝีมือคนไทยที่ปลุกชีพให้จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วเคลื่อนไหวได้

“จักรวาลรามเกียรติ์จะมัดใจคนดูยังไง เพราะ รามเกียรติ์ นั้นดูเก่าเกินที่เด็กน้อยวัยใสและผู้ใหญ่วัยมันสมัยนี้จะเข้าถึง” เราถาม

“ธรรมะย่อมชนะอธรรม เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์ทุกชนชั้น ถ้ามีรัก โลภ โกรธ หลง จะเกิดอะไร แก่นยังตรงกับปัจจุบันที่คนทั่วไปสัมผัสได้ไม่ยาก” นนทรีย์เฉลยสิ่งที่เขาสัมผัสได้จากการอ่านบทภาพยนตร์ แท้จริงแก่นของ รามาวตาร กับเรื่องราวในจักรวาล Marvel นั้นเหมือนกัน เพียงนำเสนอต่างรูปแบบและเทคนิคเท่านั้น

03

เปลี่ยนวรรณคดีเป็นบทภาพยนตร์

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้จิตรกรรมฝาผนัง 44 ห้องภาพ และวรรณคดีไทยขนาดยาว 40 จาก 117 เล่มสมุดไทยกลายเป็นภาพยนตร์ 1 ชั่วโมง 

ทีมเขียนบทเป็นอีกทีมที่ต้องแก้งานแล้วแก้งานอีก เพื่อให้ร้อยกรองหลายบรรทัดกลายเป็นคำพูดเพียง 2 ประโยคด้วยภาษาปัจจุบัน กวีบอกกับเราว่า เรื่องนี้เหมือนนำโขน 10 ตอนที่ปะติดปะต่อยากมาเสนอผู้ชมให้เข้าใจง่ายในตอนเดียว

ฟังแล้ววิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม แต่ความยากยังไม่หมดเท่านั้น ทีมงานต้องตีความและใส่เหตุผลทุกฉากทุกตอนเพื่อให้คนดูเข้าใจแนวคิดที่แฝงอยู่เบื้องหลังการกระทำของตัวละคร ขจัดความสงสัยของผู้ชมว่าเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ทำไมต้องรบกัน 

อธิปัตย์ กมลเพ็ชร ผู้กำกับภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ดลยา กมลเพ็ชร ผู้อำนวยการสร้าง และ กวี พูลทวีเกียรติ์ ผู้จัดการเผยแพร่ภาพยนตร์

“ทำไมต้องจองถนนและรบกับทศกัณฐ์ ให้หนุมานพานางสีดาเหาะไปก็ได้ แต่เพราะพระรามเป็นมนุษย์ มันคือการนำธรรมะไปปราบอธรรมด้วยวิถีของมนุษย์ สิ่งนี้น่าจะทำให้มันคลาสสิกจนส่งต่อมายาวนาน” อธิปัตย์บอกเราและเล่าต่อว่า นอกจากต้องตัดทอนรายละเอียดยิบย่อย ทีมงานยังต้องสร้างให้ รามาวตาร มีความเป็นภาพยนตร์มากที่สุด และนนทรีย์ ผู้กำกับภาพยนตร์มากฝีมือ คือผู้ที่เข้ามาทำให้จิตรกรรมฝาผนังและวรรณคดีที่ใครๆ ก็มองว่าแสนเชยกลายเป็นภาพยนตร์สุดมันได้ 

“เราใส่ทั้งความเป็นหนังและความสนุกลงไปให้คนได้เห็น บางครั้งต้องบอกทีมงานว่า นี่มันลิเกแล้ว ไม่ใช่หนัง มันต้องมีอารมณ์ความรู้สึก ทำสิ่งนี้ไปแล้วผลที่ได้คืออะไร” หลายครั้งที่ทีมงานถกเถียงกันว่าจะใส่บทร้องเอื้อนหรือจะใช้บทพูด แต่นนทรีย์ก็พยายามเลือกอย่างหลังและใช้ดนตรีประกอบแบบหนังแทน 

รามาวตาร แอนิเมชัน 2.5 มิติฝีมือคนไทยที่ปลุกชีพให้จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วเคลื่อนไหวได้
รามาวตาร แอนิเมชัน 2.5 มิติฝีมือคนไทยที่ปลุกชีพให้จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วเคลื่อนไหวได้

หลังจากเราดูไปแล้ว 1 รอบ ขอบอกว่าภาพดี เสียงปัง และบทเลิศ รามาวตาร มีความเป็นภาพยนตร์อย่างปฏิเสธไม่ได้ การกระทำของตัวละครมีเหตุผลและเดินเรื่องดี มีจุดเริ่ม จุดไคลแม็กซ์ และแม้จะเล่าไม่ถึงตอนท้ายเพราะเป็นเพียงภาคแรก แต่ก็ลงจบตอนจองถนนได้อย่างสวยงาม ปูเรื่องให้เรารอชมตอนต่อไปแทบไม่ไหว

04

จากฝาผนังสู่จอภาพยนตร์ 

ทีมงานใช้เวลาในการเก็บภาพ 44 ห้องภาพจาก 178 ห้องภาพ นานเกือบ 2 เดือน แบ่งเก็บภาพ 2 ส่วน ส่วนแรกคือถ่ายเต็มห้องภาพ แต่ละ 1 ห้องภาพต้องถ่ายทั้งหมด 120 ครั้ง เพื่อได้ภาพใหญ่เท่าขนาดฝาผนังจริง อีกแบบคือถ่ายโคลสอัพสารพัดส่วนของตัวละคร แทบไม่อยากคิดว่าภาพทั้งหมดที่ต้องเก็บมีกี่ล้านภาพ! 

รามาวตาร แอนิเมชัน 2.5 มิติฝีมือคนไทยที่ปลุกชีพให้จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วเคลื่อนไหวได้

เพราะผนังวัดมีอายุตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ย่อมผุพังตามกาลเวลาและอุดมด้วยความชื้น บางภาพที่ต้องการก็ไม่เหลือให้เก็บ 

รามาวตาร แอนิเมชัน 2.5 มิติฝีมือคนไทยที่ปลุกชีพให้จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วเคลื่อนไหวได้
รามาวตาร แอนิเมชัน 2.5 มิติฝีมือคนไทยที่ปลุกชีพให้จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วเคลื่อนไหวได้

“ภาพพระรามปราบนนทุกก็เลาะออกไปแล้ว ดีที่ 12 ปีก่อนเราเก็บภาพนี้ไว้แต่ไม่ได้คมมาก เพราะตอนนั้นไม่ได้ถ่าย 120 ภาพแบบนี้ ครั้งนี้เราเตรียมตัวมากขึ้น มีไฟ LED ที่ไม่ทำลายภาพ มีมุมกล้องที่ดี” อธิปัตย์เล่าถึงความลำบากแต่สนุกครั้งนั้นให้เราฟังด้วยเสียงหัวเราะ 

เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ เป็นอีกคำขวัญที่เราอยากมอบให้ทีมงาน 

กระบวนการสร้างตัวละคร 1 ตัว ในแอนิเมชันเรื่องอื่นมักสร้างหุ่น 1 ตัว แล้วใส่ข้อต่อลงไปเพื่อเปลี่ยนขยับเป็นท่าทางอะไรก็ได้ตามชอบ 

รามาวตาร แอนิเมชัน 2.5 มิติฝีมือคนไทยที่ปลุกชีพให้จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วเคลื่อนไหวได้
รามาวตาร แอนิเมชัน 2.5 มิติฝีมือคนไทยที่ปลุกชีพให้จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วเคลื่อนไหวได้

แต่ตัวละคร 1 ตัวในเรื่องนี้มีร่างอวตารอีกเป็นสิบๆ ร่าง ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย หากเหล่าผู้สร้างแอนิเมชันรุ่นเยาว์จาก 6 สตูดิโอ มีภาพพระรามในชุดฤษีเดินไว้ในคลัง แต่อยากได้ภาพพระรามในชุดกษัตริย์กำลังนั่ง ก็ต้องไปหาภาพนั้นๆ จากจิตรกรรม ไม่สามารถนำพระรามในชุดฤษีที่กำลังเดินมาใช้แทนได้ และเมื่อได้มาก็ต้องนำมาตัดออกเป็นสารพัดส่วน ทั้งขา แขน คิ้ว ตา ฯลฯ แล้วนำมาประกอบให้ขยับ จากนั้นยังต้องปรับภาพมุมสูงของจิตรกรรมให้มีมุมมองระดับสายตาคนเพื่อให้ผู้ชมเสมือนนั่งอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ จนอินไปกับเรื่อง

 ไม่พอ! แอนิเมชันส่วนใหญ่ที่เราดูมักเป็นสามมิติ เช่น Toy Story หรือเป็นสองมิติอย่าง Mulan เวอร์ชันการ์ตูน แต่ รามาวตาร ใช้เทคนิค 2.5 มิติ คือสร้างตัวละครแบนราบแบบสองมิติไปใส่ในฉากหลังที่มีความตื้นลึกแบบสามมิติ 

แล้วทำไมไม่ทำเป็นสามมิติเหมือนแอนิเมชันอื่น? 

อธิปัตย์บอกเราพร้อมสายตามุ่งมั่นที่จะคงความเป็นจิตรกรรมให้มากที่สุดว่า “ไม่ใช่ว่าเราทำไม่ได้ แต่เราเลือกโดยตรงที่จะทำแบบนี้ อยากให้เป็นภาพจิตรกรรมที่เคลื่อนไหวได้ สร้างโลกจิตรกรรมให้คนเข้าไปอยู่” เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจวัฒนธรรมและสิ่งรอบตัวได้อย่างลุ่มลึกและสนุกกว่าเดิม 

05

ปลุกโขน

ถึงเวลาสนุกแล้วสิ! เพราะตัวละครบนฝาผนังทำท่าอย่างโขน การปลุกชีพจิตรกรรมจึงต้องมีท่าทางอย่างโขนด้วย รามาวตาร จึงจับคนทำภาพยนตร์ คนทำแอนิเมชัน มารู้จักโขนอย่างลึกซึ้งถึงแก่นด้วยการจัดอบรมให้ทุกคนเรียนรู้และลองทำท่าโขนแบบที่ไม่เคยทำที่ไหน 

ทุกขั้นตอนการสร้าง รามาวตาร จึงมีครูรุ่นใหญ่ผู้มากประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา “อาจารย์จะทำให้ดูว่าต้องขยับต่างกันยังไง ท่านบอกว่า อย่าไปเกาลงนะ เกาลงนั่นหมา ต้องเกาขึ้นถึงเป็นลิง (หัวเราะ) เด็กๆ ก็จะสนุก พอเขาเข้าใจก็นำไปพัฒนางาน

อธิปัตย์ กมลเพ็ชร ผู้กำกับภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ดลยา กมลเพ็ชร ผู้อำนวยการสร้าง และ กวี พูลทวีเกียรติ์ ผู้จัดการเผยแพร่ภาพยนตร์
อธิปัตย์ กมลเพ็ชร ผู้กำกับภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ดลยา กมลเพ็ชร ผู้อำนวยการสร้าง และ กวี พูลทวีเกียรติ์ ผู้จัดการเผยแพร่ภาพยนตร์

“เราจะทำยังไงให้เขาใส่วิญญาณ ให้เชื่อว่าตัวละครมีชีวิต แต่ยังสื่อความหมายและอารมณ์ตามเรื่อง ทัพลิงเดินขบวนปรากฏหลายครั้ง เด็กๆ ก็คิดกันว่าครั้งแรกลิงจะไม่ค่อยเป็นกองทัพเท่าไร พอมาอยู่กับพระรามแล้วจะเป็นระเบียบมากขึ้น สุดท้ายจะกลายเป็นทัพพระรามที่ดุดันและมีพลังเพื่อบุกไปลงกา เด็กเขาพัฒนา เจ๋งมากนะ” อธิปัตย์เล่าอย่างภูมิใจ

“การอบรมนี้ทำให้เรารู้ว่าถ้าเด็กรุ่นใหม่ได้รู้ที่มาจริงๆ เขาจะสนุกมาก เข้าใจแล้วก็เริ่มสร้างสรรค์ กำแพงต่างๆ จะหายไปหมดเลย” ดลยาเสริม

06

‘รามาวตาร’ จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต

กว่า 10 ปีที่รวบรวมทุนและพัฒนาเทคนิคการสร้าง และ 1 ปีที่ทุ่มเท เราถามว่า เหนื่อยขนาดนี้ทำไมยังมุ่งมั่นทำอยู่

“อุปสรรคเกิดขึ้นทุกวัน แต่ทุกคนพร้อมจะแก้ไขเพราะมองเห็นผลเลิศกับเรื่องนี้ ไม่มีใครพูดเรื่องเงิน พูดแต่เวลา ถ้าแก้ตรงนี้จะทันมั้ย” นนทรีย์เล่าความในใจแทนทีมงานทุกคนที่ร่วมเดินทาง

“ศิลปะคือเครื่องส่งต่อแรงบันดาลใจ ศิลปินตีความเรื่องราวเป็นภาพที่วิจิตรงดงาม เป็นโอกาสดีถ้าเราทำให้อยู่ในรูปแบบที่คนรุ่นใหม่เสพได้ง่าย สนุกตื่นเต้นกับหนังที่เราเล่า” อธิปัตย์ปิดท้ายอย่างสวยงามตามความตั้งใจที่จะส่งภาพยนตร์ชุดนี้ไปให้ถึงภาคสุดท้าย

อธิปัตย์ กมลเพ็ชร ผู้กำกับภาพยนตร์ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ดลยา กมลเพ็ชร ผู้อำนวยการสร้าง และ กวี พูลทวีเกียรติ์ ผู้จัดการเผยแพร่ภาพยนตร์

การเดินชมจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้วอย่างเข้าใจและซาบซึ้งคงเป็นเรื่องยาก ทั้งนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลและความเข้าใจจิตรกรรมฝาผนัง รามาวตาร จึงเสมือนเป็นไกด์นำทางคนสำคัญที่จะพาทุกคนท่องฝาผนังและอยากกลับไปเดินที่วัดพระแก้วอีกครั้ง

สำหรับเรา รามาวตาร เป็นแอนิเมชันสุดเจ๋งเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นวรรณคดีและจิตรกรรมที่มีคุณค่า แต่ถือเป็นอีกก้าวใหม่ของทั้งวงการแอนิเมชันไทยและศิลปะไทยโบราณ เป็นการเก็บจิตรกรรมไทยบนผนังที่ไม่คงทนให้อยู่ยืนยงส่งต่อได้ในรูปแบบไฟล์ ทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนและส่งทอดความรู้ระหว่างคนต่างศาสตร์ และจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ นำเสนอความเป็นไทยแบบไม่จำเจด้วยการเปลี่ยนวรรณคดีบนหน้ากระดาษและจิตรกรรมที่ถูกตรึงบนฝาผนังกว่า 250 ปี ให้มีชีวิตโลดเเล่นอยู่บนจอภาพยนตร์

เราเชื่อว่าพวกเขามีชีวิต 

ยังไม่ต้องเชื่อเราก็ได้ ขอท้าให้คุณไปพิสูจน์ในโรงภาพยนตร์เอง

หากประชาชน หรือบริษัทใดต้องการสนับสนุนภาพยนตร์ 

สามารถติดต่อเพื่อจัดรอบชมได้ที่ รามาวตาร จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต

สำหรับผู้สนใจชมภาพยนตร์ สามารถลงทะเบียนในโครงการ “ชมแสน” เพื่อรอแจ้งรอบชมจากทางทีมงาน

รายละเอียดเพิ่มเติม

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan