ตราไปรษณียากร หรือ ‘แสตมป์’ เป็นหนึ่งในเครื่องบันทึกภาพประวัติศาสตร์

ไปรษณียบัตรในสมัยก่อนทำหน้าที่คล้ายจดหมายเหตุ เพราะมีระบุทั้งวัน เวลา สถานที่ เหตุการณ์ นอกจากตัวอักษรที่เขียนอยู่แล้ว ก็มีรูปที่อยู่บนแสตมป์นั่นเอง หรือของสิ่งใดที่หาดูได้ยาก เช่นโบราณวัตถุ หรือสัตว์สูญพันธุ์ ก็มักจะถูกบันทึกไว้เป็นลวดลายบนแสตมป์

สำหรับประวัติศาสตร์ไทยก็เช่นกัน หากลองค้นดูจะพบว่าที่ผ่านมามีแสตมป์ที่เกี่ยวเนื่องในรัชกาลที่ 10 มามากถึง 11 ชุดแล้ว โดยแต่ละชุดทำหน้าที่บันทึกความทรงจำตามพระราชวโรกาสสำคัญต่างๆ ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์

เมื่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์กำลังจะมาถึง นั่นคือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไปรษณีย์ไทยย่อมพลาดไม่ได้ ต้องออกแสตมป์ที่ระลึกสำหรับบันทึกเหตุการณ์นี้ด้วย The Cloud จึงขอร่วมเฉลิมฉลองผ่านการชวนคุณย้อนกลับไปดูแสตมป์ชุดต่างๆ ของไปรษณีย์ไทย ก่อนจะพาไปรู้จักแสตมป์ดวงใหม่สำหรับพระราชพิธีครั้งนี้ด้วย

ขอเชิญรับชม

 

01

ชุดที่ระลึกทรงบรรลุนิติภาวะ

28 กรกฎาคม 2515

พิมพ์ด้วยเทคนิค Photogravure ไกลถึงสำนักพิมพ์ของรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น

แสตมป์ ร. 10

 

02

ชุดที่ระลึกวันสถาปนามกุฎราชกุมาร

28 ธันวาคม 2515

ลักษณะ เทคนิค และที่พิมพ์ เหมือนชุดที่ 1 ทุกประการ เพียงแต่เปลี่ยนสีพื้นหลังเท่านั้น

แสตมป์ ร. 10

 

03

ชุดที่ระลึกเนื่องในวโรกาสคล้ายวันสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

28 ธันวาคม 2542

พระบรมรูปที่ปรากฏนำมาจากพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยพระองค์ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515

แสตมป์ ร. 10

 

04

ชุดที่ระลึกฉลองวันพระราชสมภพครบ 4 รอบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

28 กรกฎาคม 2543

พระบรมรูปในฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร ด้านข้างมีภาพพระราชกรณียกิจเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงหว่านข้าวที่จังหวัดสุพรรณบุรี

แสตมป์ ร. 10

 

05

ชุดที่ระลึก 50 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

28 กรกฎาคม 2545

แสตมป์ ร. 10

 

06

ชุดที่ระลึก 60 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

28 กรกฎาคม 2555

แสตมป์ ร. 10

 

07

ชุด 64 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

28 ก.ค. 2559

นำเสนอพระฉายาลักษณ์ในกิจกรรม Bike for Mom ‘ปั่นเพื่อแม่’ วันที่ 16 สิงหาคม 2558 และ Bike for Dad ‘ปั่นเพื่อพ่อ’ วันที่ 11 ธันวาคม 2558 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อม 2 ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ซึ่งได้รับพระราชทานภาพต้นแบบมาจัดพิมพ์แสตมป์

แสตมป์ ร. 10

 

08

ชุด 65 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

28 กรกฎาคม 2560

พระฉายาลักษณ์พระราชทานในฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ บนพื้นภาพสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ พร้อมข้อความบรรยาย เพิ่มเทคนิคปั๊มฟอยล์ทองบริเวณคำบรรยาย ชื่อชุด ชนิดราคา และคำว่าประเทศไทย

แสตมป์ ร. 10

 

09

ชุด 66 พรรษาฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

28 กรกฎาคม 2561

แสตมป์ ร. 10

 

10

แสตมป์พระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

28 กรกฎาคม 2561

ออกมาพร้อมชุดที่ 11 แต่ชุดนี้เป็นแสตมป์ทั่วไป ไม่ใช่แสตมป์ที่ระลึก มี 12 ชนิดราคา ไล่ตั้งแต่ 1 บาทไปถึง 100 บาทต่อดวง โดยราคาหลักหน่วยจะพิมพ์สีเดียว แต่หลัก 10 ขึ้นไปพิมพ์สองสี ใช้เทคนิคปั๊มดุนนูนกรอบภาพวงรีและลวดลายไทย และชนิดราคา 50 บาท กับ 100 บาท มีความพิเศษคือ ปั๊มฟอยล์แดงและฟอยล์ทองตามลำดับ ถือเป็น ‘แสตมป์พระฉายาลักษณ์’ ชุดแรกแห่งรัชกาลปัจจุบัน

แสตมป์ ร. 10

 

11

แสตมป์ที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

แสตมป์ชุดล่าสุดนี้ ออกเผยแพร่ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 โดยเชิญพระฉายาลักษณ์พระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารบกเต็มยศ ประกอบอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และภาพพระบรมมหาราชวัง แสตมป์กำหนดเป็นชนิดราคา 10 บาท จัดพิมพ์จำนวน 3 ล้านดวง

แสตมป์ ร. 10

หากสังเกตเทียบกันดูจะพบว่ารูปแบบคล้ายคลึงกับเมื่อครั้งจัดสร้างแสตมป์ที่ระลึกบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2493

ความพิเศษของแสตมป์ชุดนี้ คือการจัดพิมพ์บนกระดาษฟอยล์เงินกระจก ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่จะทำให้ภาพตราไปรษณียากร มีความสดใส เปล่งประกายสวยงาม แวววาว สมพระเกียรติเนื่องในการพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกของวงการตราไปรษณียากรไทยเลยที่ใช้เทคนิคนี้

ความพิเศษไม่ได้มาง่ายๆ บริษัทไปรษณีย์ไทยต้องส่งกระดาษที่ใช้พิมพ์ไปเคลือบฟอยล์เงินกระจกที่ประเทศอังกฤษก่อน แล้วเคลือบทับด้วยฟิล์มใสอีกชั้นหนึ่งที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อทำให้เกิดความเงาสะท้อนแสงเหมือนกระจก

นอกจากนั้น ยังพิมพ์ด้วยสี 5 สี คือฟ้า เหลือง แดง ดำ และขาว ทำให้ภาพมีสีสด โดยเฉพาะคำว่า ‘บรมราชาภิเษก ๒๕๖๒ CORONATION 2019’ และคำว่า ‘บาท BAHT’ ที่พิมพ์สีขาวให้โดดเด่น รวมถึงพิมพ์สีทองปั๊มดุนนูนที่อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. คำว่า ‘ประเทศไทย THAILAND’ และตัวเลข 10 ปั๊มดุนนูนบริเวณพระฉายาลักษณ์ และพิมพ์ลายเส้นสีทองบริเวณพระปรางค์เจดีย์

หากใครสนใจแสตมป์ชุดนี้ จะมีวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นต้นไป ที่ไปรษณีย์ทั่วประเทศเลย

 

ภาพ : บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ