ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร เป็นนายธนาคารที่ขึ้นชื่อเรื่องความคิดต่าง คิดนอกกรอบ มีวิธีบริหารงานและบริหารคนที่แตกต่าง เข้ายุคเข้าสมัย บางอย่างก็ดูจะล้ำยุค จนน่าแปลกใจว่าเขาบริหารธนาคารของรัฐบาลแบบนี้ได้ด้วยหรือ

น่าสนใจขนาดนั้น The Cloud ก็เลยชวน ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มานั่งคุยกันเรื่องแนวคิดในการบริหารธนาคาร ในรายการ Talk of The Cloud ถ้าใครสนใจกลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘Quick Win’ สร้างชัยชนะด้วยความรวดเร็ว ในสงครามแบบมหากาพย์ที่ต้องรบกันแบบยาว ๆ ต้องลองชมกันดูครับ

ไหน ๆ ก็มีโอกาสได้นั่งคุยกับสุดยอดผู้บริหารนักคิด เราก็เลยขอคุยกับ ดร.รักษ์ อีกสักเรื่อง เป็นแนวคิดของการเป็นนักบริหาร ที่ผู้อ่านนำไปประยุกต์ใช้ได้แบบง่าย ๆ

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จัก ดร.รักษ์ กันสักนิด

ดร.รักษ์ EXIM BANK นายแบงก์ครีเอทีฟ ผู้สร้าง Quick Win ในสงครามมหากาพย์

เขาจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ ต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ตามด้วยปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ เคยนั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เมื่อปี 2559 แล้วย้ายไปรับตำแหน่ง กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่นั่นเขาได้ทำโครงการอันโด่งดังอย่าง ‘คลินิกหมอหนี้’ เป็นนายธนาคารที่สวมเสื้อยืดออกไปเดินข้างถนน แก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนให้ประชาชน

ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งนายใหญ่ของ EXIM BANK อีกรอบ เมื่อ 1 เมษายน 2564 ในวันที่เขามีอายุ 47 ปี

ถือเป็นหัวเรือใหญ่ของธนาคารที่อายุน้อยที่สุดในประเทศ

สถิตินั้นไม่น่าตื่นเต้นเท่า เขาทำให้ธนาคารบรรลุเป้าสินเชื่อปี 2564 ได้แล้ว ซึ่งตอนนี้ผ่านไปแค่ 5 เดือนเท่านั้น

ถ้าคุณชอบฟังผู้บริหารเล่าความคิดคม ๆ แบบแตกต่าง คุณจะรัก ดร.รักษ์ แน่นอน

ดร.รักษ์ EXIM BANK นายแบงก์ครีเอทีฟ ผู้สร้าง Quick Win ในสงครามมหากาพย์

อะไรคือความยากของการเป็นผู้บริหารธนาคารที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง

ผมว่าเป็นเรื่องการบริหารความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เหมือนคุณเป็นลูกค้าฝากเงินกู้เงินของธนาคารใดก็ตาม คุณก็คาดหวังกับธนาคารนั้น ความคาดหวังนี้เมื่อยี่สิบปีก่อน นายแบงก์หลายคนโดยเฉพาะนายแบงก์ภาครัฐ เขาไม่สนใจ ไม่ฟัง เขาสนใจแค่จะขายของชิ้นนี้ ราคาเท่านี้ เงื่อนไขแบบนี้ ซื้อก็ซื้อ ไม่ซื้อก็ไป พอซื้อแล้วเขาก็ไม่มาสนใจว่าคุณจะรู้สึกยังไง ได้วงเงินสินเชื่อสะดวกรวดเร็วไหม ตอนมีปัญหาโทรมา มีคนรับสายหรือเปล่า หรือต้องคุยกับคอมพิวเตอร์

นี่เป็นเรื่องการบริหารความคาดหวัง ใครบริหารความคาดหวังได้ดีที่สุด จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุด มันเป็นเกมช่วงชิงความคาดหวัง เพราะฉะนั้นนายแบงก์รุ่นใหม่ต้องไม่หูดับ ต้องฟังให้มากขึ้น แต่คนที่ขึ้นบันไดชีวิตขึ้นไปเรื่อย ๆ หูจะพิการ ตาจะเริ่มแคบ ไม่มองกว้าง แล้วมีสิ่งที่เรียกว่าอัตตา ก็คิดแบบนี้ จะทำอย่างนี้

ก่อนที่ EXIM BANK จะออกผลิตภัณฑ์ ผมจะมี Focus Group ให้พนักงานไปคุยกับพันธมิตร คนที่ร่วมปล่อยเงิน ลูกค้าจริงที่เดินเข้ามาในธนาคาร และคนที่เป็นผู้ตรวจประเมินเรา ถ้าเราทำแบบนี้คุณคิดยังไง เราก็จะบริหารความคาดหวังได้สามร้อยหกสิบองศา หลังจากนั้นก็มาดูว่า แล้วเพื่อนพนักงานของเราล่ะ ผมจะเช็กทุกครั้งเวลาที่มีโอกาสได้พูดคุยกันว่าเขาคิดยังไง มีประเด็นอะไรไม่พอใจในสิ่งที่เราดูแลไหม

เราเอาสิ่งที่เรียกว่า Flexi Hours มาใช้ก่อนโควิดอีก จะดีกว่าไหมถ้าไหน ๆ คุณต้องไปส่งลูกตอนเช้าอยู่แล้ว คุณก็เริ่มงานได้ตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่ง แล้วสามโมงครึ่งก็ไปรับลูก ทำไมต้องรอให้ถึงสี่โมงครึ่งหรือห้าโมงครึ่ง หลัง ๆ ผมไปไกลกว่านั้น คือ เอางานเป็นตัวตั้ง ผมไม่สนใจการตอกบัตร พอเรามีสัญญาใจระหว่างกัน ก็ถอดเครื่องสแกนนิ้วไปได้เลย สิ่งพวกนี้มาจากการคุยกับเขา ได้บริหารความคาดหวัง แล้วเขาก็รู้ว่าผมคาดหวังอะไรในตัวเขา

ผมไม่ชอบรำวง เพราะฉะนั้นผมจะเอาผลงานเป็นตัวตั้ง บางคนไม่สามารถส่งมอบผลงานได้ จะเอากระบวนการมาเป็นตัวตั้ง อ้างว่าทำไม่ถึงเป้าเพราะปัญหาตรงนั้นตรงนี้ ผมก็จะคุยกับเพื่อนพนักงานอย่างเป็นพี่เป็นน้องกันว่า ผมไม่สนใจกระบวนการว่าคุณจะมากี่โมงกลับกี่โมง หรือคุณจะแบ่งเวลาดูแลลูกครึ่งวัน ขออย่างเดียวว่าวันจันทร์ผมต้องได้ผลงานตามที่เราตกลงกัน

ผลงานก็เป็นการตกลงร่วมกัน ไม่ใช่นายจ้างจะสั่งเท่าไหร่ก็ได้ พวกคุณเสนอมาว่าคุณทำได้กี่ชิ้น คุณบอกแปดสิบ ผมบอกร้อย พบกันครึ่งทางได้ไหม แปดสิบห้า เก้าสิบ แต่เราสัญญากันแล้วนะ จับมือกันแล้ว ออกจากห้องไป วันจันทร์เจอกันเก้าสิบ นี่คือภาพที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น แล้วตกลงร่วมกันได้

เราต้องฝึกให้ทุกคนเปล่งเสียงความต้องการของตัวเอง เพราะบางคนโดนสะกดจิตตั้งแต่เด็ก ห้ามออกเสียง ห้ามเสนอความเห็น ปัจจุบันเป็นยุคที่ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่มีคลานเข่า ไม่มีคำว่านายกับลูกน้อง มันเป็นแค่หัวโขน เราต่างทำหน้าที่ของกันและกัน ผมเป็นนายคุณ ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตคุณ สิ่งที่เราปฏิบัติต่อกัน เราปฏิบัติด้วยความเคารพ ผมเคารพในวิชาชีพคุณ เคารพความเป็นมืออาชีพคุณ คุณก็ต้องเคารพในความเป็นมืออาชีพของผม ผมเป็นผู้ควบคุมคุณ แต่ควบคุมด้วยมนุษยธรรม ความยุติธรรม และหัวใจ

KPIs ที่นี่เป็นแบบสามร้อยหกสิบองศา ผมอาจจะได้คะแนนประเมินแย่ก็ได้ แต่ลูกน้องจะบอกได้ว่าผมฟัง และทำสิ่งที่ควรต้องทำ และทำมากกว่าที่คนคาดหวัง เพราะผมเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่านี้ได้อีกจากการฟังกันและกันมากขึ้น เพื่อดูแลกันและกันให้ดีขึ้น

การเป็นผู้บริหารองค์กรในวัยสี่สิบกว่า ๆ ต่างจากการเป็นในวัยสามสิบของธุรกิจยุคใหม่ หรือเป็นในวัยห้าสิบขององค์กรยุคเก่ายังไง

คนวัยสี่สิบกว่าคือวัยกลางคน ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไป บางคนมาอยู่ในตำแหน่งนี้ตอนอายุห้าสิบแปด เขาต้องยกการ์ดสูงเพราะเหลือเวลาน้อย เขาไม่สามารถ Commit อะไรที่ใหญ่เกินตัวได้ การมาอยู่ตรงนี้เร็วเกินไป ก็มีความฝันเยอะ มีความจริงน้อย มาอยู่ตอนวัยกลางคน เป็นรสชาติที่กำลังดี คือไม่ยกการ์ดสูง สร้างอะไรที่เซ็กซี่เฟี้ยวฟ้าวได้ แต่ก็ไม่ประมาท

ยุคนี้ไปลองดูผู้บริหารขององค์กรระดับโลก Top 20 ที่อยู่ใน Forbes หรือ Harvard Business Review เราจะเห็นว่าอายุของผู้บริหารที่เป็นไวน์ที่อร่อยที่สุดในการดื่มคือ สี่สิบเอ็ดบวกลบ ไม่แก่ไป ไม่เด็กไป สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยต้องปรับ ถ้าคุณรอให้เขาขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งตอนอายุห้าสิบเจ็ด ห้าสิบแปด เขาเหมือนมาพูลวิลล่า มาเพื่อเกษียณ มาเพื่อป้องกันตัว มาเพื่อทำอะไรบางอย่างที่อาจจะไม่เคยทำในอดีต มันเป็นแค่ความฝันของเขา ไม่ใช่ความฝันของประเทศ ไม่ใช่เป็นความฝันของประชาชน

ดร.รักษ์ EXIM BANK นายแบงก์ครีเอทีฟ ผู้สร้าง Quick Win ในสงครามมหากาพย์

อะไรคือทักษะที่ผู้บริหารยุคนี้ควรมีที่สุด

เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะว่ามีคำว่าที่สุด ผมคิดว่าเป็นเรื่องของส่วนผสม ผมอาจจะตอบไม่ตรงคำถามนะ ตอนที่เราโตมา เราอ่านหนังสือได้เป็นเล่ม ๆ แต่วันนี้การอ่านหนังสือแบบนั้นไม่ได้ถูกจริตกับคนยุคนี้อีกต่อไป ต้องเขียนอะไรให้ไม่เกินหนึ่งหน้าไลน์ หรือหนึ่งคืบ ต้องสื่อสารให้อ่านเข้าใจในหนึ่งคืบ ถึงจะโดน เราเปลี่ยนความคิดคนไม่ได้ แต่ปรับการสื่อสารของเราได้ จะไปยากอะไร เรามีหนังสือดีหนึ่งเล่ม แล้วก็มีเรื่องย่อหนึ่งคืบที่สรุปประเด็นไว้ปกหลัง ถ้าคุณอ่านเรื่องย่อแล้วโดนค่อยมาอ่านหนังสือ

ผู้บริหารในอนาคตควรมีทักษะการสื่อสาร ทั้งพูด อ่าน เขียน บางคนจบมาจากสถาบันที่ดีมาก แต่สื่อสารไม่ได้เรื่องเลย พูดสามนาทีบนโพเดียม ผมรู้สึกว่าเอาปืนจุดสามห้ามายิงผมดีกว่า ทนฟังไม่ได้ (หัวเราะ) วันนี้เราไม่ได้ลงทุนสร้างผู้ประกอบการอย่างเดียว แต่ต้องสร้างผู้บริหารที่จะไปโค้ชผู้ประกอบการด้วย

ทักษะหนึ่งที่ต้องสร้างคือ การสื่อสาร ผู้บริหารภาครัฐส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ทำ Media Training แต่ผมทำ ผมลงเรียนของผมเอง ผมทนไม่ได้ถ้าตัวเองอยู่หน้ากล้องแล้วพูดไม่รู้เรื่อง หรือตอบไม่ตรงประเด็น

คุณต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว ต้องเติมเนื้อหาใหม่ ๆ เข้าไปได้ แล้วก็ต้องลบความทรงจำเก่า ๆ ได้เหมือนกัน บางเรื่องมันใช้กับโลกอนาคตไม่ได้แล้ว เราต้องปลดพันธนาการของสิ่งที่เคยจดจำมาในอดีต สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ของผู้บริหารยุคใหม่

ถ้าสอนลูกน้องได้แค่เรื่องเดียว คุณอยากสอนอะไร

การถ่อมตัว การโน้มตัวลงมาให้ต่ำกว่าจุดที่คุณคิดว่าคุณจะต่ำได้ โดยยังรักษาความดีของตัวเอง ประนีประนอมให้มากที่สุด แต่ไม่ประนีประนอมกับเรื่องความไม่ถูกต้องและสิ่งไม่ดี ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนของเส้นทางอาชีพ คุณก็จะเปิดใจรับฟังคนได้ในทุกระดับชั้น ผมนั่งทานข้าวและคุยกับพนักงานทำความสะอาดของ กทม. ได้ คุยสนุกสนานกับพี่วินมอเตอร์ไซค์หรือคนขับแท็กซี่ได้ เพราะสิ่งที่เขาเล่า เป็นโจทย์ที่ผมต้องเข้าไปแก้ นี่คือพันธกิจของเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ถ้าเราไม่โน้มตัวลงไป หรือไม่เปิดใจรับฟัง เราจะไม่มีทางได้ยินเสียงของคนเหล่านั้นเลย

แล้วก็ให้พื้นที่ที่ปลอดภัยกับพวกเขา ผมจะพูดกับลูกน้องว่า ทุกอย่างจบที่ห้องนี้ ออกจากห้องไป เราจะกลับไปรู้สึกแบบเดิม ห้องนี้เป็นห้องแห่งความปลอดภัย เราต้องเคารพในความคิดเห็นของเขา ถ้าเป็นประโยชน์กับองค์กรเราก็ให้เครดิตเขา นายบางคนชอบขโมยไอเดียลูกน้อง ไปบอกว่านี่ฉันคิด ฉันทำ ผลออกมาตรงข้าม แต่ยิ่งผมบอกว่า คุณคนนั้นเป็นคนคิด คุณคนนี้เป็นคนทำ ผมเองยิ่งดูดี ผมจะบอกว่าของบางอย่างต้องโค้ชกัน การที่จะทำให้สังคมเรามีคุณภาพ โดยเฉพาะผู้นำของสังคม ต้องอาศัยการเรียนรู้ และการโค้ช

หลายคนถามผมว่า พอหมดเทอมที่นี่ผมจะทำอะไร ผมอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อยากเป็นเจ้าของโรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุดของประเทศ ผมรู้สึกว่ามันต้องเริ่มต้นจากตรงนั้น ตรงนี้มันสายเกินไปแล้ว เราต้องย้อนกลับไปสร้างประชากรที่มีคุณภาพตั้งแต่วัยเรียน

ดร.รักษ์ EXIM BANK นายแบงก์ครีเอทีฟ ผู้สร้าง Quick Win ในสงครามมหากาพย์

คุณว่าการทำงานกับคนวัยยี่สิบหรือวัยห้าสิบแบบไหนยากกว่า

ห้าสิบเป็นน้ำเต็มแก้ว ยี่สิบเป็นแก้วเปล่า ท้าทายกันคนละแบบ น้ำเต็มแก้วก็ต้องพยายามรินน้ำที่เต็มออกโดยไม่ให้หก หรือเปื้อนโต๊ะ แล้วก็ต้องเติมสิ่งที่เราต้องการในตัวตนของเขาเข้าไปใหม่ อายุห้าสิบมีตัวตน มีอัตตา ยากจะเปลี่ยนความคิด หรือแนวทางปฏิบัติเดิมของเขา

วัยยี่สิบเหมือนแก้วเปล่า เติมเท่าไหร่ก็แทบจะไม่เต็ม เพราะการเติมให้เต็มใช้เวลานาน มันเป็นเรื่องของการลงทุน เราต้องลงทุนกับพนักงานที่เพิ่งจบใหม่ เพื่อให้เขามีศักยภาพในการทำงาน หลายคนเขียนเป็นทฤษฎีว่า สามปีแรกของการเริ่มงานที่ไหนก็ตาม นายจ้างขาดทุน เงินเดือนหมื่นห้า สองหมื่น สามหมื่น ที่จ่ายให้ไป เราต้องตามไปโค้ชอีก เขายังทำงานไม่ได้เท่าเงินที่เราจ่ายไป

แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าก็คือ ทำยังไงให้วัยห้าสิบกับยี่สิบอยู่ด้วยกันได้ เพราะเขาคิดกันคนละแบบ เวลามองปัญหา มองกันคนละมุมเลย ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก ผมพยายามทำให้มีพื้นที่ปลอดภัย มีสิ่งที่เรียกว่า Community of Practice (CoP) เพื่อให้คนที่ไม่ต้องมีตำแหน่งระดับสูงในองค์กร แต่เป็นคนเก่งที่สุด เช่น ถ้าพูดเรื่องสินเชื่อเอสเอ็มอี อาจจะเป็นพนักงานระดับกลาง แต่เขาเก่งที่สุดในองค์กรนี้ พูดเรื่องเมียนมาอาจจะเป็นหัวหน้าสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้งที่เมียนมาซึ่งเก่งมาก เราก็ให้บทบาทเขาขึ้นมา ให้เขาได้แบ่งปันประสบการณ์ของเขา วันนี้ถ้าไปอยู่ในห้องเรียนของ EXIM BANK คนที่มาสอนคือลูกค้านะ ไม่ใช่นายแบงก์ เราเชิญคนที่ประสบความสำเร็จหรือผ่านปัญหานั้นมาได้ มาแบ่งปันประสบการณ์ให้เพื่อน ๆ ฟัง ไม่ใช่นายแบงก์มาสอน ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว

ตั้งแต่ทำงานมา จุดไหนที่คุณคิดว่าประสบความสำเร็จสูงสุด

คลินิกหมอหนี้ ผมทำตอนอยู่ที่ บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) วันนี้คลินิกหมอหนี้ ได้ยกวิทยฐานะจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว เป็นโครงการที่ขอให้ทุกสถาบันการเงินในประเทศไทยทำ กลายเป็นวาระแห่งชาติ กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

ในวันที่เราเอาระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานแทนคน จะต้องร่ำลาพนักงานเกือบร้อยคนเลย ทำยังไงไม่ต้องลาจากพวกเขา เขาก็มีลูกมีเมีย มีภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เราก็เปลี่ยนเขามาเป็นคุณหมอที่ช่วยบริหารจัดการหนี้เสียของประชาชน แทนที่จะแจกซองขาวให้เขา

จากจุดตั้งต้นในการแก้ปัญหาองค์กร วันนี้กลายมาเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาประเทศ เราทำก่อนที่หนี้ครัวเรือนจะโดดขึ้นมาเป็นเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ในวันนี้ เราเอานายแบงก์ที่ทำงานในปัจจุบันไม่ได้ ออกมาเดินข้างถนน มาช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศ

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ผู้เชื่อว่า “เราต้องแบ่งเวลาชีวิตเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณตัวเอง โดยไม่เป็นมนุษย์ที่บกพร่องต่อหน้าที่”

ชีวิตของคุณเคยเจอความล้มเหลวบ้างไหม แล้วมันสอนอะไรคุณบ้าง

ห้องประชุมที่อยู่ห่างจากตรงนี้ยี่สิบก้าว คือห้องที่ลูกน้องเคยอุ้มผมไปห้องไอซียู นี่คือความล้มเหลวของผม ผมนั่งประชุมจนเลือดท่วมกระเพาะอาหาร เลือดออกในช่องท้องผมสองลิตรครึ่ง เพราะผมเป็นกรดไหลย้อน ผมเป็นคนที่ถ้าคุณแทงผม ต้องแทงให้ลึกมาก กว่าผมจะร้อง ผมเป็นลูกทหาร ถูกฝึกให้กลืนความเจ็บปวดของตัวเอง ความเจ็บปวดของคนทั่วไปนั้นสำหรับผมถือว่าธรรมดามาก ร่างกายเตือนผมมาหลายปีแล้วนะ แต่ผมก็ไม่เคยฟัง

จนเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้องแตก เลือดก็เอ่อขึ้นมา พอลุกเปลี่ยนอิริยาบทก็อาเจียนเป็นเลือด ผมต้องไปนอนเล่นที่ห้องไอซียู ลูกน้องผมเลยเรียกห้องประชุมสะแกวัลย์ (ห้องที่เกิดเหตุ) ว่าห้อง Scary เพราะนายเกือบจะตายคางาน คนที่บอกว่าทำงานหนักไม่ตาย ไม่จริง ผมเกือบตายมาแล้ว

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงภาพลูกเมียยืนอยู่หน้าห้องผ่าตัด ถามว่าเอาชีวิตมาทิ้งตรงนี้คุ้มไหม เราเห็นหน้าเศร้า ๆ ของพ่อแม่ตัวเองที่ยังต้องดูแลในวันที่ท่านแก่เฒ่า มันคุ้มกันไหม ทุกวันนี้ผมเลยจัดสรรเวลาอ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนมาทำงาน ผมบอกเลขาว่า อย่าโทรหาผมก่อนสิบโมงเช้า ผมรู้ว่านี่คือเวลาที่ผมต้องบอกรักภรรยากับลูก ต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ ผมจะไม่ให้ปัจจัยที่ผมควบคุมได้มารบกวนเวลาของผม

แล้วผมก็พยายามสอนทุกคนว่า คุณต้องมีเวลาส่วนตัว มีเวลาที่จะเติมเต็มจิตวิญญาณของตัวเอง ขณะเดียวกันผมก็มีเวลาที่บอกลูกเมียว่า อันนี้เป็นเวลาของพ่อ ขอพื้นที่ส่วนตัวให้พ่อนะ นี่คือที่มาของการพยายามแบ่งตารางชีวิตตัวเอง ทุกคนมีเวลาเท่ากันคนละยี่สิบสี่ชั่วโมง ทำยังไงให้เติมเต็มจิตวิญญาณของเราได้มากที่สุด แล้วเราก็ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่บกพร่องต่อหน้าที่ ภาพตอนใช้ชีวิตในห้องไอซียูสอนผมแบบนี้

คุณอยากให้โลกจำว่าเป็นผู้บริหารแบบไหน

ไม่เคยคิดเลย (คิดนาน) อย่างแรก ผมไม่อยากมีตัวตน ไม่ได้อยากอยู่ในห้องจาริกานุสรณ์ เวลาคุณไปตามบริษัทใหญ่ ๆ จะเห็นภาพอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ติดทุก ๆ สองเมตร ให้จำ จำ จำ แต่ผมไม่เชื่อในความทรงจำเหล่านั้น ผมไม่เคยอินกับภาพผู้อาวุโสพวกนั้นเลยนะ

ผมอยากให้คนจำงานของผม จำว่ามีคลินิกหมอหนี้ จำได้ว่าช่วยผู้ประกอบการไทย ทำประโยชน์อะไร ให้กับใคร เราเอามาปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือเอากลับมาใช้ใหม่ได้ไหม สิ่งเหล่านี้น่าจดจำมากกว่า

ถ้าเกิดคนชื่นชมผลงานของคุณทั่วประเทศ แต่ไม่รู้ว่าใครทำ คุณจะเสียใจไหม

ไม่เลย มันเป็นความสวยงามมากกว่า พื้นที่สมองมีจำกัด ถ้าเราต้องมานั่งจำว่า นายสมชายทำงานนี้เมื่อปีนั้น นางสมหญิงทำงานนั้นเมื่อปีนี้ มันเปลืองสมอง จำแค่งานและประโยชน์จากงานนั้นน่าจะดีกว่า

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ผู้เชื่อว่า “เราต้องแบ่งเวลาชีวิตเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณตัวเอง โดยไม่เป็นมนุษย์ที่บกพร่องต่อหน้าที่”

10 เรื่องของ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

1. วิชาที่ชอบที่สุดสมัยเรียน

ประวัติศาสตร์ เพราะมันสอนให้เราไม่ทำผิดซ้ำซาก

2. ชื่อคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคุณ

พระพุทธเจ้า ผมรอดจากวิกฤตของชีวิตทุกครั้งด้วยธรรมะ

3. ตอนเช้าคุณทำอะไรก่อนออกจากบ้านบ้าง

ผมตื่นตีสี่ ช่วงตีสี่ถึงตีห้าผมจะอ่านหนังสือที่เติมเต็มจิตวิญญาณ ทั้งธรรมะ บทความ การเรียนรู้ใหม่ๆ ช่วงตีห้าครึ่งถึงหกโมงครึ่ง ผมจะวิ่ง วิ่งวันละหนึ่งชั่วโมง เป็นการเติมเต็มความแข็งแรงให้ร่างกาย แล้วก็ตรวจงานลูกน้อง พอลูกและภรรยาตื่น ก็เป็นเวลาที่อยู่กับครอบครัว อ่านนิทานให้ลูกฟัง ทำอาหารให้ภรรยาทาน แล้วค่อยอาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน สิบโมงเช้า ผมพร้อมทำงานเต็มที่

4. ช่วง WFH ถ้าไม่อยู่หน้าจอ คุณจะอยู่ที่ไหน

อยู่กับหนังสือ ผมอ่านหนังสือผ่านจอไม่ได้ ต้องได้กลิ่นกระดาษ กลิ่นหมึก ผมมีห้องสมุดของผมที่บ้าน มนุษย์ทุกคนควรมีเวลาใช้ชีวิตกับโลกแห่งหนังสือนะ

5.วันไหนมาออฟฟิศ คุณทานอาหารเที่ยงที่ไหน กับใคร

ทานข้าวคนเดียว ในห้องประชุม ผมใช้ชีวิตใกล้เคียงคนคุกนะ (หัวเราะ) ถึงเวลาพี่ ๆ น้อง ๆ ก็เอาอาหารมาให้ ผมก็อยู่กับงาน และอาหารตรงหน้า

6. คุณเดินไปแผนกไหนบ่อยที่สุด

สำนักกรรมการผู้จัดการ คือสำนักของผมเอง เพราะต้องไปตามงาน ถัดจากนั้นก็เป็นฝ่ายวิจัยธุรกิจ และทีมที่ดูแลงานพัฒนาผู้ประกอบการ

7. กลุ่มเพื่อนที่สนิทที่สุด

เพื่อนมัธยมปลาย ที่โรงเรียนจิตรลดา

8. ถ้าต้องเปิดร้านขายของออนไลน์ คุณขายอะไรได้บ้าง

ขายวิธีการแก้ปัญหา เป็นบริการให้คำแนะนำแบบออนไลน์

9. ถ้าพักร้อนปิดมือถือได้หนึ่งเดือนจะทำอะไร

ใช้หนี้คนที่ผมติดหนี้ นั่นคือ คุณพ่อคุณแม่ที่เกือบครึ่งปีแล้ว ผมแทบไม่เจอหน้าท่านเลย และลูกกับภรรยาที่ผมไม่เคยได้ทำตามสัญญาเลย เพื่อนที่บอกว่าจะไปกินข้าว ไปเที่ยวเล่นกับเขา แต่ไม่เคยได้ไป

10. เรื่องล่าสุดที่ได้เรียนรู้

การ WFH ทำให้รู้ว่า ภรรยาเรารับภาระหนักแค่ไหนในการดูแลลูกอายุหกขวบ เรามักคิดว่าฉันทำงานเหนื่อย เธอเป็นแม่บ้านสบาย พอวันนี้เราได้อยู่กับเขา เหมือนได้สลับวิญญาณกัน ก็รู้ว่ามันไม่ง่ายเลย ชีวิตแม่บ้านไม่ใช่งานสบายอย่างที่คิด ได้เข้าใจครอบครัว และการสร้างสมดุลชีวิตมากขึ้นด้วย

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน