หากใครมีโอกาสผ่านไปมาบริเวณศาลหลักเมือง จังหวัดขอนแก่น คงคุ้นตาบ้านไม้กึ่งปูนขนาด 4 คูหาหลังนี้ไม่มากก็น้อย หากมองจากด้านหน้า ตึกแห่งนี้ละม้ายคล้ายคลึงกับตึกไม้ทั่วไปที่พบเจอบ่อย ๆ ตามเมืองเก่า แต่หากเขยิบไปอีกนิดและเดินออกไปอีกหน่อย พบผนังสีเหลืองสดน่าสนใจ แม้สีสดใสเหมือนเพิ่งทาไม่นาน แต่ร่องรอยที่ปรากฏก็พอคาดเดาได้ถึงตัวเลขอายุและความเก่าแก่ 

และหากใครมือซน เปิด GPS ดูภาพมุมสูงของสถานที่แห่งนี้แบบเราแล้วล่ะก็ จะพบว่าพื้นที่แห่งนี้ทอดตัวยาวเป็นแนวตั้ง ชวนสงสัยถึงอดีตก่อนกลายมาเป็น ‘Rak An Coffee – 樂安’ ในปัจจุบัน

Rak An Coffee เปลี่ยนโรงเลี้ยงหมูเป็นคาเฟ่ที่อนุรักษ์บ้านเก่า 67 ปี บอกเล่าวิถีคนขอนแก่น

เก๋-กีรติพร จูตะวิริยะ และ โต้ง-ประกิจ จูตะวิริยะ คู่สามีภรรยา เจ้าของบ้านผู้เปลี่ยนบ้านเก่าให้เป็นร้านกาแฟ พิพิธภัณฑ์ และตั้งใจเป็นห้องรับแขกแห่งเมืองขอนแก่น เล่าให้ฟังว่า ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นบ้านเก่าของอากงฝ่ายชาย ซึ่งเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมายังประเทศไทย ด้วยการขึ้นเรือที่กรุงเทพฯ จากนั้นเดินทางด้วยรถไฟสายอีสานมาสุดทางที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ตั้งรกรากอยู่บริเวณสถานีรถไฟ ประกอบอาชีพเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ และทำการเกษตร หลังจากกิจการรุ่งเรืองเติบโต ครอบครัวชาวจีนแต้จิ๋วครอบครัวนี้ก็โยกย้าย เดินทางกว่า 40 กิโลเมตร มาสร้างบ้าน (พ.ศ. 2498) และเปิดกิจการโรงเลี้ยงหมูใจกลางอำเภอเมือง ห่างจากสถานีรถไฟขอนแก่นเพียง 450 เมตร 

Rak An Coffee เปลี่ยนโรงเลี้ยงหมูเป็นคาเฟ่ที่อนุรักษ์บ้านเก่า 67 ปี บอกเล่าวิถีคนขอนแก่น

บ้านหลังนี้ถูกจัดสรรปันส่วนอย่างชัดเจนตามวัตถุประสงค์ในการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพ สร้างขึ้นด้วยฝีมือช่างไม้ชาวจีนที่อพยพมาในรุ่นราวคราวเดียวกัน จากไม้เนื้อแข็งประจำถิ่นอย่างไม้มะค่าโมง เต็ง รัง และชิงชัน จากบ้านท่าเม่า อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยด้านหน้าเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว และด้านหลังเป็นพื้นที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหมู 

นอกจากนี้ อากงยังเปิดร้านทองและร้านยาอยู่บริเวณไม่ใกล้ไม่ไกล เพื่อให้พี่น้องและครอบครัวได้ไปมาหาสู่กันง่าย ๆ บ้านหลังนี้ญาติชาวจีนจึงใช้อยู่อาศัยอย่างอบอุ่นมากว่า 3 เจเนอเรชัน ก่อนถูกปิดสนิทนานกว่า 10 ปี

รักบ้าน

“จนกระทั่งเราคิดว่า มันถึงเวลาบูรณะแล้วล่ะ” เก๋เกริ่น ก่อนจะเล่าด้วยน้ำเสียงฟังสนุกว่า

“อำเภอเมืองขอนแก่นเป็นเมืองเก่ากึ่งใหม่ ไม่เหมือนอุบลฯ ยโสธร หรือเมืองอื่น ๆ ที่มีบ้านร้อยปี เพราะสมัยก่อนอำเภอบ้านไผ่เจริญกว่าอำเภอเมืองเสียอีก ก่อนจะค่อย ๆ เจริญเติบโตตามเส้นทางรถไฟ ดังนั้น บ้านในขอนแก่นเก่าแก่สุดก็หลัก 70 – 80 ปี เราอยากอนุรักษ์บ้านหลังนี้ไว้ เพราะถ้าไม่เก็บไว้ ลูกหลานก็คงไม่ได้เห็นแล้ว 

“ถ้าสร้างใหม่ขึ้นใหม่ก็คงไม่ได้ไม้แบบนี้ แล้ววิธีสร้างแบบนี้จะหาที่ไหน ซึ่งเราก็ปรึกษาสถาปนิกหลายท่าน เขาจะรื้อบ้านเราอย่างเดียว เพราะซ่อมยาก รื้อเลยง่ายกว่า ค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่า โชคดีที่ รศ.ดร.นพดล ตั้งสกุล และ รศ.กุลศรี ตั้งสกุล มีแนวคิดตรงกัน มาช่วยดูโครงสร้างให้ ท่านบอกว่าโครงสร้างไม่ต้องไปแตะเลย แข็งแรงมาก เนื้อไม้ก็ดี ถ้าจะปรับปรุงพัฒนา ต้องทำด้านในให้ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ ถ้าอยากอนุรักษ์ ให้อนุรักษ์ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนา ก็เลยออกมาเป็นคอนเซ็ปต์เก่าในใหม่ ใหม่ในเก่า ใช้โครงสร้างเดิม เฟอร์นิเจอร์เดิม”

Rak An Coffee เปลี่ยนโรงเลี้ยงหมูเป็นคาเฟ่ที่อนุรักษ์บ้านเก่า 67 ปี บอกเล่าวิถีคนขอนแก่น

เจ้าบ้านทั้งสองต้องออกเดินทางตามหาช่างไม้ฝีมือเก๋ามาสบทบทีมด้วยตัวเอง ก่อนจะลงมือจริง 

“ยากมาก เดี๋ยวนี้หาช่างยากมาก” เจ้าบ้านย้ำ “เราเจอแต่ช่างปูน ไม่ค่อยเจอช่างไม้ฝีมือดี เพราะทำแบบธรรมดาไม่ได้ ตัวอาคารเป็นไม้เก่า เลยไปตามหาถึงโคราช เพราะโคราชก็เป็นเมืองเก่า มีช่างไม้เยอะ”

รักไม้

เมื่อไอเดียพร้อม สถาปนิกพร้อม ช่างไม้พร้อม โครงสร้างของร้าน Rak An Coffee จึงถูกคงไว้ให้เหมือนเก่าได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน โดยมีการเลาะพื้นบางส่วนออก แผ่นไม้บริเวณผนังบางชิ้นถูกแทนที่ด้วยแผ่นอะคริลิกสีแจ่ม เพื่อเพิ่มความโปร่งให้กับตัวบ้าน แม้รื้อออกไปแต่ไม้ทุกแผ่นยังคงถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี บ้างกลายร่างเป็นโต๊ะบาร์ บ้างกลายเป็นถาดเสิร์ฟกาแฟ และบางส่วนก็ถูกปะติดปะต่อใหม่ กลายเป็นรั้วไม้กันตกอยู่บนชั้นสอง 

Rak An Coffee เปลี่ยนโรงเลี้ยงหมูเป็นคาเฟ่ที่อนุรักษ์บ้านเก่า 67 ปี บอกเล่าวิถีคนขอนแก่น

เหตุผลที่เก๋และโต้งตั้งใจเก็บรักษาไว้อย่างดีนั้น นอกจากเรื่องความทนทานของไม้เนื้อแข็ง ที่พิสูจน์ด้วยการตั้งตระง่านถึงครึ่งศตวรรษ ความสวยงามเฉพาะตัวที่ซุกซ่อนอยู่ในเนื้อไม้ทุกแผ่น และเรื่องราววิถีชีวิตของครอบครัวที่ผสมผสานอยู่ในสีของไม้ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาแล้ว ไม้พื้นถิ่นเหล่านี้ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยย้ำเตือนถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าภาคอีสาน ในยุคปลาย พ.ศ. 2490 และอาจเป็นอีกเสียงที่กระซิบบอกผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาว่า นอกจากอนุรักษ์บ้านเก่าแล้ว ก็อย่าลืมอนุรักษ์ป่าไม้ให้ยังคงอุดมสมบูรณ์เฉกเช่นอดีตด้วยล่ะ 

รักอัน

แล้วทำไมถึงชื่อ ‘รักอัน’ – เราสงสัย

“เป็นชื่อเดิมค่ะ ชื่อห้างทองและร้านยารักอันเภสัช ตัวอักษรจีน 樂 ออกเสียงว่า เลอ แปลว่า สนุกสนาน 安 ออกเสียงว่า อัน แปลว่า ปลอดภัย ออกเสียงแบบแต้จิ๋วว่า ‘หลักอัน’ แต่คนไทยออกเสียงเป็นรักอัน

“รักอันเลยหมายถึงสถานที่ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและปลอดภัย” เธอคลายความสงสัย

Rak An Coffee เปลี่ยนโรงเลี้ยงหมูเป็นคาเฟ่ที่อนุรักษ์บ้านเก่า 67 ปี บอกเล่าวิถีคนขอนแก่น

บ้านเก่าสไตล์ไทย-จีน ที่เคยปิดเงียบมากว่าสิบปี ในวันนี้แม้ถูกแปรเปลี่ยนสถานะมาเป็นร้านกาแฟแนวอบอุ่นชวนย้อนอดีต แต่งเติมเสริมด้วยเฟอร์นิเจอร์วินเทจส่วนตัวจากบ้านหลังเก่า ร้านทอง และร้านยาของอากง 

“ทุกอย่างเป็นของเดิมหมดเลย ตั้งแต่กลอนประตูยันหน้าต่าง เวลาลูกค้าผู้สูงอายุมาที่ร้าน เขาจะรู้สึกเหมือนได้หวนคืนไปสู่อดีตวัยหนุ่มสาว เราก็บรรลุเป้าหมายด้วย เพราะชอบเก็บรักษาของเก่า แล้วของที่เอามาตกแต่งร้าน ก็เป็นของที่เราใช้กันจริง ๆ อย่างเก้าอี้หวายโบราณ ทนมาก ๆ บางชิ้นก็เอามาซ่อมแซ่ม เปลี่ยนเบาะ เพราะโครงสร้างยังแข็งแรง เราอยากให้ทุกคนที่มารู้สึกเหมือนกับเรา ของที่เขาเคยใช้กันในอดีต ทุกวันนี้มันก็ยังใช้ได้ดี” เก๋เล่าเรื่องราวข้าวของแต่ละชิ้นให้ฟังอย่างออกรส พร้อมแชร์สกรีนเปิดบรรยากาศร้านประกอบ 

แม้สถานการณ์โรคระบาดยังอยู่ จนทำให้อดไปเยือนและจิบกาแฟหอม ๆ ด้วยตัวเอง แต่สีหน้า แววตา และน้ำเสียงของคนไกล ทำเอาระยะทาง 400 กิโลเมตรของชลบุรี-ขอนแก่น ใกล้แค่เอื้อม กลิ่นหอมของกาแฟและบรรยากาศอบอุ่น เหมือนอยู่เพียงปลายจมูกเท่านั้น

Rak An Coffee เปลี่ยนโรงเลี้ยงหมูเป็นคาเฟ่ที่อนุรักษ์บ้านเก่า 67 ปี บอกเล่าวิถีคนขอนแก่น

“หน้าร้านที่เป็นประตูบานเฟี้ยม วิธีปิด ต้องเดินเข้าไปด้านหลังประตู ทำให้ตอนวางแผนติดกระจก ต้องติดเขยิบเข้าไปด้านใน เราก็ต้องแลก เพราะอยากเก็บไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้เห็น” เธอเล่าถึงประตูบานเฟี้ยมอันโตด้านหน้าร้าน ก่อนเปิดภาพที่มาของโลโก้หน้าตาน่ารักสีเหลืองสดใส แม้เห็นครั้งแรกรู้สึกขัดจากบรรยากาศร้านนิดหน่อย 

“เราออกแบบให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของตัวบ้าน บ้านเรามันลึกมาก มี 3 ส่วน ส่วนหน้าเป็นตัวบ้าน ส่วนกลาง และส่วนหลังเป็นห้องน้ำและครัว เวลาถ่ายภาพออกมามันเห็น 3 ส่วนนี้ชัดเจนมาก เลยใช้ภาพโมเดลสมัยใหม่แบบนี้จำลองตัวบ้าน เราต้องการให้คนเห็นแล้วจดจำว่า เป็นของเก่าที่มีชีวิตชีวาขึ้นมา ต้องไม่ใช่ของเก่าที่ทุกคนจะลืมมันไป แต่จะต้องเป็นของเก่าที่ฟื้นคืนชีวืตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เลยเลือกสีเหลือง เพราะเป็นสีเดิมของตัวบ้าน” 

Rak An Coffee เปลี่ยนโรงเลี้ยงหมูเป็นคาเฟ่ที่อนุรักษ์บ้านเก่า 67 ปี บอกเล่าวิถีคนขอนแก่น
Rak An Coffee เปลี่ยนโรงเลี้ยงหมูเป็นคาเฟ่ที่อนุรักษ์บ้านเก่า 67 ปี บอกเล่าวิถีคนขอนแก่น

ผนังสีเหลืองสดนอกจากเป็นภาพให้คนที่ผ่านไปผ่านมาจดจำ ยังกลายเป็นมุมถ่ายรูปมุมโปรดของนักท่องเที่ยวด้วย เก๋เล่าว่าเป็นอีกสิ่งที่ทำให้เธอประทับใจ เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 60 สิบปี ผ่านอากาศร้อน หนาว ฝนตกกระหน่ำ มีร่องรอยเปรอะเปื้อนบ้าง แต่สีเหลืองที่ถูกทาด้วยฝีมือช่างสมัยก่อน ยังคงแจ่มใสอย่างไม่น่าเชื่อ

บรรยากาศภายในร้านดูอบอุ่นโดยไม่ต้องพยายาม มั่นใจมากเลยว่าหากเข้าไป ต้องเจอของบางอย่างที่สปาร์คจอยเป็นแน่ ทั้งเก้าอี้ไม้ที่มีทุกบ้าน (ทุกบ้านจริง ๆ แม้นั่งไม่สบายก็ตาม) ถ้วยชามดีไซน์เก่าแต่เก๋า ตู้ยาหลังใหญ่ที่ประดับกำแพงบริเวณบาร์กาแฟ จนถึงโซฟาสีแดงตุ่นคุ้นตาในวัยเด็ก ขนาดของเหล่านั้นไม่ได้ตั้งอยู่ตรงหน้า ยังแอบคิดถึงบ้านญาติในวัยเด็กที่เคยวิ่งเล่นบ่อย ๆ หรืออาจรู้สึกอินเป็นพิเศษเพราะตั่วแปะเราก็เปิดร้านยาอยู่ต่างจังหวัดเหมือนกัน

แปลงโฉมบ้านพักและโรงเลี้ยงหมูอายุเกินครึ่งศตวรรษ เป็นคาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และห้องรับแขกแห่งขอนแก่น

เดินผ่านตัวร้านบริเวณที่นั่งและบาร์กาแฟเข้ามาส่วนกลางของบ้าน เจอตัวอักษรไม้เคลือบทองเรียงเป็นชื่อร้าน ดีไซน์เฉพาะตัวพบเห็นได้ตามร้านค้าชุมชนชาวจีนที่เก๋หยิบมาจากร้านรักอันเภสัช พร้อมโซฟาสีแดงสดฉบับร้านทองที่ขนมาจากห้างทองรักอัน บนกำแพงไม้ติดกรอบรูปอธิบายประวัติและที่มาของครอบครัว รวมทั้งวิธีการอนุรักษ์บ้านเก่า 

มีภาพวาดที่ใช้เก็บร่องรอย และรายละเอียดการชำรุดของตัวบ้าน ก็ติด QR Code ไว้ด้านข้างด้วย เผื่อใครสนใจก็สแกนเก็บไว้ศึกษาข้อมูลภายหลังได้ ภายในส่วนกลางของบ้านถูกเชื่อมต่อด้วยทางเดินยาวที่ในสมัยก่อนใช้เป็นทางเดินเท้าของคนในบ้าน แถมยังเป็นทางเดินเท้าของหมู ในการขนย้ายหมูตัวเป็น ๆ ไปขึ้นรถไฟด้วย

แปลงโฉมบ้านพักและโรงเลี้ยงหมูอายุเกินครึ่งศตวรรษ เป็นคาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และห้องรับแขกแห่งขอนแก่น

ขึ้นมาบนชั้นสอง พื้นไม้บางส่วนถูกนำออก เพิ่มความโปร่งโล่งให้กับบ้านไม้ที่มีลักษณะมืดทึบ นอกจากนำแผ่นไม้ไปทำไม้บาร์และถาดเสิร์ฟแล้ว ยังนำมาทำรั้วไม้กันตกสำหรับชั้นสอง เก๋เปิดภาพมุมต่าง ๆ ให้เราเชยชมผ่านหน้าจอขนาด 13 นิ้วที่อยู่ตรงหน้า แม้ภาพที่ได้เห็นจะไม่ได้คมชัดเท่ากับไปเห็นด้วยตา แต่ก็เพียงพอให้หัวใจได้เต้นตึกตัก

“ส่วนประกอบต่าง ๆ ในบ้านหลังนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นวิธีคิด มุมมอง ค่านิยม ความเชื่อของคนสมัยก่อนในการสร้างบ้าน พอเรามาดูช่องไฟ การเข้าไม้ ละเอียดมากเลยนะ ช่างไม้เก่งมาก ถ้าเป็นบ้านทั่วไป จะวางไม้ธรรมดา อาจมีการตอกตะปู แต่อันนี้เขาเซาะร่องไม้ทุกแผ่น เอาทุกแผ่นเข้าลิ่ม เข้าล็อกกันหมด ตั้งแต่พื้นไม้ทุกแผ่นในบ้านจนถึงบันได เหมือนเทคนิคในการปูแผ่นลามิเนตสมัยนี้ แต่เป็นเทคนิคตั้งแต่สมัยโบราณ เสาทุกต้นก็มีร่องรอยการติดแผ่นทองตำ เห็นชัดบริเวณชั้น 2 เพราะความเชื่อเรื่องสิริมงคลและเสาทุกต้นช่วยค้ำจุนบ้าน” เธอเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย 

แปลงโฉมบ้านพักและโรงเลี้ยงหมูอายุเกินครึ่งศตวรรษ เป็นคาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และห้องรับแขกแห่งขอนแก่น
แปลงโฉมบ้านพักและโรงเลี้ยงหมูอายุเกินครึ่งศตวรรษ เป็นคาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และห้องรับแขกแห่งขอนแก่น

ก่อนเสริมต่อถึงภาพแผนที่เมืองขอนแก่นที่ถูกวาดบนผนัง เรียกว่า ฮูปแต้ม ในภาษาอีสาน มาจากคำว่า ฮูป หมายถึง รูป และ แต้ม หมายถึงวาด เป็นเทคนิคการสร้างสรรค์จิตกรรมฝาผนังของอีสาน แบบเดียวกับที่มีอยู่ตามโบสถ์หรือวิหารในวัด จึงมาเพนต์เป็นสัญลักษณ์เมืองขอนแก่น เป็นรูปร่างของบ้านเรือนและลักษณะเมืองขอนแก่น

ถัดมาเป็นผ้าสีแดงผืนใหญ่ เขียนถ้อยคำอักขระสีดำเต็มผืน เก๋บอกว่าเป็นป้ายมงคลจากงานแต่งของป๊าและม้าของโต้ง หากเทียบกับยุคสมัยปัจจุบัน คงเทียบได้กับสมุดเขียนคำอวยพรในงานแต่งหนุ่มสาว ให้แขกมาลงชื่ออวยพร แต่ความพิเศษของป้ายมงคลผืนโตปักลายมังกรผืนนี้ กลับซ่อนเรื่องราวความหลากหลายของชุมชนในยุคนั้นให้เห็นอย่างชัดเจน ผ่านคำอวยพรโดยคนหลากหลายชาติ หลากหลายภาษาที่อยู่รวมกันบนผ้าผืนเดียว 

(อนุ) รักษ์กัน

“บางคนบอกเราว่าเคยเห็นพื้นที่ตรงนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ ดีใจที่ได้เข้ามาดู เขาคงจินตนาการไม่ออกว่าข้างในเป็นยังไง บางทีก็มีคนมานั่งวาดภาพร้านเราหน้าร้านเลย ที่ผ่านมาก็เพิ่งไปเจอรูปร้านเราในงานอีสานครีเอทีฟเฟสติวัล บางคนก็เข้ามาศึกษา เด็ก ๆ จากคณะสถาปัตยกรรม ม.ขอนแก่น ม.เกษตรศาสตร์ ก็มาดูงานด้านการอนุรักษ์ 

“ตัวเรา ครอบครัวเรา ญาติเราก็ดีใจ เขามาก็จะคุยกัน ตรงนี้สมัยก่อนเป็นมุมน้ำชานะ ตรงนี้เป็นที่วางเตาอั้งโล่นะ ครอบครัวเราบอกว่า ดีใจที่บ้านกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง” สาวเจ้าเล่าพร้อมรอยยิ้มมีชีวา

แปลงโฉมบ้านพักและโรงเลี้ยงหมูอายุเกินครึ่งศตวรรษ เป็นคาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และห้องรับแขกแห่งขอนแก่น

เมื่อเทียบกับความยากตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่ได้เผชิญ จนถึงวันนี้ คิดว่าคุ้มไหมคะ – เราถาม

“ทางด้านจิตใจมันคุ้มค่าแน่นอน ส่วนตัวเราเป็นคนชอบบ้านเก่าอยู่แล้ว เพราะไม้ทุกแผ่น ประตูทุกบาน มันมีความหมายมาก อย่างผนังด้านนอกของบ้าน เขาก็สร้างจากการเรียงไม้ทีละแผ่นจากล่างขึ้นบน เวลาฝนตกน้ำก็จะไหลออก การปิดบานพับด้วยการลั่นกลอนประตู การสร้างช่องลมให้อากาศถ่ายเท ลมพัดเย็นตลอดทั้งปี บางอย่างเราก็ไม่รู้ว่าเขาทำทำไม แต่พอมาดู อ้อ ทุกอย่างมันมีเหตุผลหมดเลย เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมากๆ ทำให้รู้ว่าคนสมัยก่อนเขาคิดมาดีมาก ละเอียดมาก เวลาที่เขาจะทำอะไร เขาไม่ได้แค่ทำให้เสร็จ แต่มันจะต้องดี และใช้ต่อได้ยาวนานหลายสิบปี 

“เราเห็นสิ่งเหล่านี้ในบ้านของเรา แล้วเราก็อยากให้คนอื่นได้เห็นด้วย ลูกหลานเยาวชนในอนาคตข้างหน้าได้เห็นด้วย ถ้าเราไม่เก็บแล้วใครจะเก็บ มันก็จะหายไปเรื่อย ๆ ต่อให้ของที่สร้างมาใหม่เหมือนขนาดไหนก็ทดแทนไม่ได้ สีของไม้ในบ้านเราแต่ละแผ่นต้องใช้เวลาเกือบ 70 ปีเลยนะกว่าสีจะออกมาเข้มแบบนี้ ร่องรอยต่าง ๆ ก็บอกเล่าประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ไม่อย่างนั้นเราจะไม่รู้เลยว่าสมัยก่อนเขาอยู่กันอย่างไร คิดอะไรอยู่ถึงทำสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา 

“ทุกอย่างมันมีความหมายในตัวหมดเลย” เก๋เน้นย้ำถึงการเก็บรักษาและอนุรักษ์บ้านเก่า

แปลงโฉมบ้านพักและโรงเลี้ยงหมูอายุเกินครึ่งศตวรรษ เป็นคาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และห้องรับแขกแห่งขอนแก่น

หากถามถึงคำนิยามรักอัน สำหรับเก๋และโต้ง สถาปัตยกรรมตรงหน้าแม้ผ่านกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังคงเป็นบ้านหลังเดิมที่เต็มไปด้วยความทรงจำและความอบอุ่น บ้างก็บอกว่าเป็นร้านกาแฟหน้าใหม่ใจกลางขอนแก่น และบางคนก็มองว่าเหมือนพิพิธภัณฑ์ 

แต่สำหรับเรา หลังจากบทสนทนาทั้งหมดจบลง รักอันเปรียบเสมือนบ้านหลังเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและความผูกพันของคนในครอบครัว ที่เปิดประตูต้อนรับผู้ผ่านไปผ่านมา ให้มานั่งพัก จิบกาแฟหอม ๆ พร้อมขนมรสเยี่ยม มีข้าวของเครื่องใช้และแผ่นไม้นับพัน ตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองอยู่บนบ้านไม้ขนาด 4 คูหาหลังนี้

แปลงโฉมบ้านพักและโรงเลี้ยงหมูอายุเกินครึ่งศตวรรษ เป็นคาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ และห้องรับแขกแห่งขอนแก่น

Rak An Coffee – 樂安

ที่ตั้ง : 28 ซอยดรุณสำราญ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 – 17.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 18.00 น.

โทรศัพท์ : 09 5661 0199

Facebook : Rak An Coffee – 樂安

Writer

Avatar

นิธิตา เอกปฐมศักดิ์

นักคิดนักเขียนมือสมัครเล่น ผู้สนใจงานคราฟต์ ต้นไม้และการออกแบบเป็นพิเศษ แต่สนใจหมูสามชั้นย่างเป็นพิเศษใส่ไข่

Photographer

Avatar

ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

นักเรียนวารสารศาสตร์จากมอน้ำชี ที่เชื่อว่าชีวิตต้องผ่านน้ำ เบื่อการเรียนออนไลน์ อยากเรียนจบแล้ว รักใครรักจริง