บนเส้นทางที่ชื้นแฉะและลาดชัน อันเนื่องมาจากฝนที่โปรยปรายมาตลอดคืน ผมเปิดไฟฉายคาดหัวขึ้นเพื่อส่องให้เห็นทางข้างหน้าในความมืด เพื่อนร่วมทริปหลายคนเดินนำไต่ขึ้นไปบนทางที่สูงชันเป็นระยะ มองเห็นแสงไฟฉายของแต่ละคนที่ค่อย ๆ เว้นระยะทอดห่างออกไปเบื้องหน้า

เราตื่นนอนกันตั้งแต่ตี 3 ครึ่ง ก่อนจะลงเรือยางจากเรือมาขึ้นบนเกาะ Waigeo เกาะที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มเกาะที่เรียกกันว่า ‘ราชาอัมพัต’ ในภาษาอินโดนีเซีย แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า 4 Kings (ที่ไม่ได้หมายถึงโรงเรียนอาชีวะ 4 แห่งในยุค 90 ของบ้านเราที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์) ราชาทั้ง 4 ของหมู่เกาะประกอบไปด้วย Waigeo, Misool, Salawati และ Batanta ที่มีเกาะน้อยใหญ่เป็นบริวารมากกว่า 1,500 เกาะนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณฝั่งตะวันตกของเกาะปาปัว เกาะขนาดใหญ่ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ทางฝั่งตะวันตกเป็นประเทศปาปัวนิวกินี ส่วนฝั่ง West Papua เป็นดินแดนของประเทศอินโดนีเซีย ในพื้นที่ที่ในอดีตเรียกกันว่า Iran Jaya ก่อนเปลี่ยนมาเป็น West Papua ในปี 2002 

พาสำรวจ 'ราชาอัมพัต' ราชา 4 ของหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย สวรรค์ของนักดำน้ำและตัวอย่างระบบการจัดการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับทุกฝ่าย
ราชาอัมพัตประกอบไปด้วยเกาะหลักขนาดใหญ่ 4 เกาะ และแวดล้อมไปด้วยเกาะหินปูนน้อยใหญ่ที่เป็นบริวารมากกว่า 1,500 เกาะ ตั้งอยู่ใจกลางของความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกใบนี้

แม้ว่าจุดมุ่งหมายของเราคือการมาดำน้ำ แต่การเดินป่าขึ้นไปเฝ้าชมการจับคู่กันของนกปักษาสวรรค์แดง หรือ Red Bird-of-paradise (Paradisaea rubra) นกประจำถิ่นที่พบเฉพาะบนเกาะ Weigeo และ Batanta ในหมู่เกาะราชาอัมพัตแห่งนี้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ที่รักธรรมชาติไม่ควรพลาด

สำรวจ ‘หมู่เกาะราชาอัมพัต’ สวรรค์ของนักดำน้ำที่พยายามพัฒนาไปพร้อม ๆ กับรักษาธรรมชาติ
นกปักษาสวรรค์แดง เป็นนกประจำถิ่นที่พบในบริเวณเกาะ Weigeo และ Batanta ในบริเวณหมู่เกาะราชาอัมพัตเพียงเท่านั้น นกตัวผู้จะมีปลายหางยาวคล้ายเส้นลวดเพื่อใช้ดึงดูดความสนใจจากนกตัวเมีย
สำรวจ ‘หมู่เกาะราชาอัมพัต’ สวรรค์ของนักดำน้ำที่พยายามพัฒนาไปพร้อม ๆ กับรักษาธรรมชาติ
Cuscus สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้อง มีถิ่นอาศัยในบริเวณป่าฝนของปาปัว บนเกาะ Weigeo เกาะนิ่งอยู่บนเรือนยอดของป่า จ้องมองเราอยู่บนเส้นทางเดินระหว่างทางลงมาจากยอดเขา

การเฝ้าชมพฤติกรรมการจับคู่กันของนกปักษาสวรรค์นั้น เราต้องเข้าไปนั่งซุ่มอยู่ในบังไพรตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง ก่อนที่แสงแรกของวันจะสาดส่องลงมาเหนือพื้นป่า ในขณะที่ฟ้าเริ่มสว่างขึ้นทีละน้อย เราก็จะเห็นเหล่านกปักษาสวรรค์แดงกระโดดออกมาร่ายรำอยู่บนยอดคบไม้เพื่อเกี้ยวพาราสีนกตัวเมีย นกตัวผู้ที่มีหน้าสีเขียวจะใช้หางที่ยาวเหมือนเส้นลวดทั้ง 2 ข้าง เพื่อเรียกร้องและดึงดูดความสนใจจากนกตัวเมียที่อยู่ในบริเวณนั้น ก่อนเริ่มต้นจับคู่กันบนเรือนยอดไม้ใจกลางป่าที่ราบต่ำบนเกาะอันห่างไกล ใจกลางของความหลากหลายของระบบนิเวศที่หลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกใบนี้ จากเรือนยอดไม้สู่แนวปะการังใต้ท้องทะเล

นักดำน้ำหลายคนชอบถามผมว่า จุดเด่นของราชาอัมพัตคืออะไร ทำไมหลาย ๆ คนถึงยกให้เป็น ‘สวรรค์ของนักดำน้ำ’ ถ้าถามผม ผมคิดว่าที่นี่มีความลงตัวในหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการังที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ ฝูงปลานานาชนิดที่อยู่กันอย่างอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีการทำประมงขนาดใหญ่ (แน่นอนว่าไม่มีเรืออวนลาก) ปลาใหญ่ที่พบเห็นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปลากระเบนราหูหรือ Manta Rays ในบริเวณจุดดำน้ำที่มีชื่อเสียงอย่าง Manta Sandy และ Manta Ridge ที่ฝูงกระเบนราหูจะแวะเวียนเข้ามาให้ปลาตัวเล็ก ๆ ทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ

สำรวจ ‘หมู่เกาะราชาอัมพัต’ สวรรค์ของนักดำน้ำที่พยายามพัฒนาไปพร้อม ๆ กับรักษาธรรมชาติ
ฉลาม Wobbegong โผขึ้นจากพื้นทรายในขณะที่กระเบนราหูสีดำ 2 ตัวกำลังว่ายวนเวียนทำความสะอาดร่างกายในบริเวณจุดดำน้ำที่เรียกกันว่า Manta Sandy

นอกจากนี้ ราชาอัมพัตยังได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งม้าน้ำแคระหรือ Pygmy Seahorse เพราะพบเห็นม้าน้ำแคระตัวจิ๋วที่มีขนาดเพียงไม่กี่เซนติเมตรอย่างน้อย 4 – 5 สายพันธุ์ พรางตัวให้กลมกลืนไปกับกัลปังหาและสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ได้

สำรวจ ‘หมู่เกาะราชาอัมพัต’ สวรรค์ของนักดำน้ำที่พยายามพัฒนาไปพร้อม ๆ กับรักษาธรรมชาติ
Santa Claus Pygmy Seahorse เป็นชื่อเล่นของ Denise’s Pygmy Seahorse ม้าน้ำแคระตัวจิ๋วที่มีขนาดประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร พบบ่อยในบริเวณหมู่เกาะราชาอัมพัต มีสีแดงตัดกับขาว เพื่อพรางตัวให้คล้ายกับ Gorgonian สีแดงจุดขาวที่อาศัยอยู่

เนื่องจากราชาอัมพัตมีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ การไปดำน้ำตามจุดดำน้ำต่าง ๆ ให้ครบทุกแห่งในเวลาสั้น ๆ เพียง 1 สัปดาห์นั้นอาจทำได้ยาก (เมื่อ 10 ปีก่อนผมเคยใช้เวลาบนเรือ Liveaboard ดำน้ำในบริเวณหมู่เกาะราชาอัมพัตต่อเนื่องนานเกือบ 20 วัน ยังไม่ครบทุกจุดในบริเวณนี้เลย)

ทุกวันนี้ทริปดำน้ำของราชาอัมพัตมักแบ่งง่าย ๆ ออกเป็น 2 เส้นทาง คือทางตอนเหนือ บริเวณเกาะ Waigeo และ Batanta และทางตอนใต้ บริเวณเกาะ Misool ซึ่งตั้งห่างออกมาทางด้านใต้ ถ้าจะเปรียบเทียบให้ฟังง่าย ๆ ก็คล้าย ๆ กับทะเลอันดามันบ้านเรา ทางตอนเหนือเป็นจุดดำน้ำที่ฝูงปลาเยอะ น้ำค่อนข้างใส ในขณะที่ทางใต้นั้นงดงามไปด้วยสีสันของปะการังอ่อนและกัลปังหารูปทรงต่าง ๆ รวมไปถึงโลกมาโครอันหลากหลาย

เรือให้บริการดำน้ำในแถบนี้จัดโปรแกรมที่หลากหลายตั้งแต่ 5 วันไปจนถึง 2 สัปดาห์ สำหรับการเดินทางดำน้ำที่แตกต่างกันออกไป เรือบางลำอาจแวะกลับเข้ามาเติมเสบียงหรือส่งนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่เมืองโซรอง หรือบางลำออกทริปยาวไปเลยรวดเดียว 2 สัปดาห์เลยก็มี

นอกเหนือจากเรือให้บริการดำน้ำแบบ Liveaboard แล้ว ในหมู่เกาะราชาอัมพัตยังมีรีสอร์ตและโฮมสเตย์ของชาวบ้านที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ตามเกาะแก่งที่กระจัดกระจายกันอยู่ในบริเวณ Dampier Strait ไม่ว่าจะบนเกาะ Aborek เกาะ Mansuar และเกาะ Kri

สำรวจ ‘หมู่เกาะราชาอัมพัต’ สวรรค์ของนักดำน้ำที่พยายามพัฒนาไปพร้อม ๆ กับรักษาธรรมชาติ
ฝูงปลาที่หนาแน่นและแนวปะการังอันอุดมสมบูรณ์ คือเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดของราชาอัมพัต เนื่องจากในบริเวณนี้ไม่มีการทำประมงขนาดใหญ่ มีเพียงประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเท่านั้น

การเดินทางมาราชาอัมพัตเที่ยวนี้ ผมใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์อยู่บนเรือภานุณี เรือให้บริการดำน้ำของคนไทยที่ย้ายมาประจำการอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย วิ่งสลับฤดูกาลระหว่างหมู่เกาะราชาอัมพัตในช่วงปลายปีไปจนถึงเดือนมีนาคม ก่อนจะย้อนกลับไปที่หมู่เกาะโคโมโดในช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงตุลาคม นับเป็นประสบการณ์ดำน้ำที่แปลกใหม่ ผมดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารไทยหลากหลายเมนู จากฝีมือแม่ครัวคนไทยตลอด 2 สัปดาห์ ใจกลางทะเลอินโดนีเซียที่ห่างไกลจากบ้านนับพันไมล์

การดำน้ำโดยใช้เรือให้บริการดำน้ำแบบ Liveaboard นั้น แม้ว่าเราจะต้องใช้ชีวิตอยู่บนเรือขนาดใหญ่ตลอดเวลา แต่ก็มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือในแต่ละวันเราเดินทางเปลี่ยนจุดดำน้ำขยับไปเรื่อย ๆ ได้ ซึ่งสะดวกและเหมาะกับการเดินทางมาดำน้ำในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของหมู่เกาะราชาอัมพัตนี้มาก เพราะไม่ต้องขนของเปลี่ยนย้ายที่พัก เมื่อต้องการจะเดินทางไปดำน้ำในจุดดำน้ำต่าง ๆ ที่ห่างไกลกัน เพียงแต่เราใช้เวลาล่องเรือไปเรื่อย ๆ 

ช่วงสัปดาห์แรก ผมแวะเวียนไปดำน้ำทางตอนเหนือ ในบริเวณ Dampier Strait ตื่นตาตื่นใจไปกับฝูงปลามหาศาลและแนวปะการังน้ำตื้นที่ Melisa’s Garden ฝูงปลากระเบนราหูผลัดเวียนกันเข้ามาให้ปลาผีเสื้อตัวเล็ก ๆ และปลานกขุนทองทำความสะอาดร่างกายที่ Manta Ridge เดินป่าขึ้นไปชมนกปักษาสวรรค์บนเกาะ Weigeo และสิ่งที่ผมเฝ้ารอมานานกว่า 10 ปี ก็คือการลงไปเฝ้าบันทึกภาพฝูงปลา Ribbon Sweetlips นับร้อยที่จับกลุ่มรวมตัวกันอยู่ในห้วงความลึกกว่า 30 เมตร ในบริเวณ Cape Kri และเดินขึ้นไปดู Geosite Piyanemo จุดชมวิวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของราชาอัมพัต

สำรวจ ‘หมู่เกาะราชาอัมพัต’ สวรรค์ของนักดำน้ำที่พยายามพัฒนาไปพร้อม ๆ กับรักษาธรรมชาติ
ฝูงปลา Ribbon Sweetlips นับร้อยรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน บริเวณเหนือกองหินในความลึกกว่า 30 เมตรที่ Cape Kri

ส่วนสัปดาห์ที่ 2 เราเดินทางล่องใต้ลงไปยังบริเวณรอบ ๆ เกาะ Misool ประกอบไปด้วยกลุ่มเกาะหินปูนเกาะเล็กเกาะน้อยนับพันเกาะ ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็คล้าย ๆ กับการยกเอาอ่าวพังงา 10 อ่าวไปตั้งอยู่กลางทะเล บริเวณพื้นที่ใจกลางความหลากหลายของสรรพชีวิตในท้องทะเลซึ่งเรียกกันว่า Coral Triangle กินอาณาบริเวณตั้งแต่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไปจนถึงปาปัวนิวกินีและหมู่เกาะโซโลมอน

นอกเหนือไปจากความยิ่งใหญ่และความงดงามของธรรมชาติแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากที่สุด ก็คือความพยายามรักษาธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ในการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับพื้นที่ สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือระบบการจัดการการดำน้ำของราชาอัมพัต โดยสมาคมผู้ประกอบการดำน้ำตกลงร่วมกันว่า จะมีการจำกัดการลงดำน้ำในแต่ละจุดดำน้ำ โดยจำกัดจำนวนคนให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่ เรือแต่ละลำต้องจัดระเบียบการลงดำน้ำโดยสลับเหลื่อมช่วงเวลากัน 

สำหรับจุดดำน้ำทางตอนใต้ในบริเวณเกาะ Misool จะจัดการและควบคุมการดำน้ำโดย Misool Foundation เป็นองค์กรเอกชน ตั้งขึ้นโดย Misool Eco Resort เข้ามาจัดระเบียบการใช้พื้นที่ของเรือทุกลำที่เข้ามาดำน้ำ จัดตั้งหน่วยลาดตระเวนในพื้นที่ Misool Marine Reserve ห้ามการทำประมงผิดกฎหมายและห้ามจับฉลาม โดยใช้ Park Ranger เพียง 18 คน ซึ่งเป็นคนในพื้นและเป็นชาวประมงดั้งเดิม ใช้เรือเร็วติดเครื่องยนต์จำนวน 5 ลำ คอยตรวจตราสอดส่องพื้นที่ที่เรียกว่า No Take Zone ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหมดใช้เงินสนับสนุนจากการเก็บค่าธรรมเนียมบริหารจัดการของแขกที่มาเข้าพักที่ Misool Eco Resort และเรือทุกลำที่เข้ามาใช้พื้นที่จำนวน 100 USD ต่อคน 

ระบบการจัดการการดำน้ำในบริเวณเกาะ Misool นี้แทบไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงานของภาครัฐเลย แต่เป็นความร่วมมือกันขององค์กรภาคเอกชนหลาย ๆ แห่ง จากหลายประเทศร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็น Wildaid The Nature Conservancy Conservation International รวมไปถึงองค์การ USAID หรือ US Agency for International Development ของสหรัฐอเมริกา

พาสำรวจ 'ราชาอัมพัต' ราชา 4 ของหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย สวรรค์ของนักดำน้ำและตัวอย่างระบบการจัดการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับทุกฝ่าย
แส้ทะเลและกัลปังหารูปพัดที่ขึ้นปกคลุมกองหินในบริเวณข้างจุดดำน้ำ ชื่อว่า Whale Rock จุดดำน้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในบริเวณเกาะ Misool

หลายครั้งหลายหน เมื่อเรามีโอกาสเดินทางย้อนมาบนเส้นทางเดิม ในห้วงเวลาที่ผ่านไป สิ่งที่เรามักพบเห็นคือความเปลี่ยนแปลง ครั้งแรกที่ผมเดินทางมาหมู่เกาะราชาอัมพัตเมื่อปี 2004 ผมใช้เวลาเดินทางแวะพักค้างคืนบนเมือง ตามเส้นทางด้วยเครื่องบินใบพัดไม่ต่ำกว่า 2 วัน กว่าจะเดินทางข้ามมาถึงเมืองโซรอง เพื่อไปดำน้ำ ณ ท้องทะเลในดินแดนที่แทบจะไม่มีคนรู้จัก หลายปีต่อมา ราชาอัมพัตกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและกลายเป็นจุดดำน้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

พาสำรวจ 'ราชาอัมพัต' ราชา 4 ของหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย สวรรค์ของนักดำน้ำและตัวอย่างระบบการจัดการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับทุกฝ่าย
Moon Jellyfish กับแสงสุดท้ายของวันในอ่าวอันเงียบสงบในบริเวณเกาะ Gam ที่ผมเคยบันทึกไว้สมัยเดินทางมาราชาอัมพัต เพื่อทำหนังสือรวมภาพใต้น้ำ Okeanos เมื่อ 10 ปีก่อน

สนามบินเล็ก ๆ เป็นตึกชั้นเดียว กลายสภาพมาเป็นสนามบินมาตรฐานที่รองรับเครื่องบินไอพ่นขนาดใหญ่ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร เริ่มขยายตัวต้อนรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในเมืองโซรอง

ช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แทบไม่มีที่ไหนบนโลกที่ไม่ถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวนั้นยั่งยืน ส่งผลกระทบกับธรรมชาติให้น้อยที่สุด และสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนนั้นได้มากที่สุด

พาสำรวจ 'ราชาอัมพัต' ราชา 4 ของหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย สวรรค์ของนักดำน้ำและตัวอย่างระบบการจัดการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับทุกฝ่าย
อ่าวรูปหัวใจ หรือ Heart Shape Lagoon บนเกาะ Karawapop เป็น Geosite โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของราชาอัมพัตตอนใต้ ในบริเวณเกาะ Misool ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม