“แต่ลูกมีหนวดนะ” คือประโยคที่ออกมาจากปากคุณแม่ของผม หลังจากที่ผมสารภาพกับท่าน ว่าผมชอบผู้ชายด้วยกัน

ในฐานะที่เดือนมิถุนายนเป็น Pride Month จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะเห็นการรณรงค์ความเท่าเทียมกันของเพศทางเลือก รวมถึงการรณรงค์เรื่องความหลายหลากทางเพศเต็มไปหมดในพื้นที่สื่อต่างๆ มากมาย

ผู้เขียนคอลัมน์ ‘วัตถุปลายตา’ เอง ได้ใช้ชีวิตในฐานะเกย์ ซึ่งหากจะพูดให้ถูกต้องก็คือการเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรม L.G.B.T.Q.I.A+ มานานกว่า 35 ปี

ธงสีรุ้ง จากสัญลักษณ์ในนิยาย เพลงพ่อมดแห่งออซ สู่สัญลักษณ์ความภูมิใจของ LGBTQIA+
Lego แบบ Pride

หากจะย้อนไปเพียง 10 กว่าปี หนึ่งในประสบการณ์ Come Out ส่วนตัวที่ผมยังจำได้ไม่ลืม 

ประโยคแรกของแม่ หลังจากที่ผมสารภาพว่าเป็นเกย์ คือ “แต่ลูกมีหนวดนะ?” ซึ่งทำให้เข้าใจภาพรวมของความเข้าใจเรื่อง เพศ เพศสภาพ รสนิยมทางเพศ ของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทยในสมัย Baby Boomer และ Gen ก่อนหน้านั้นได้เป็นอย่างดี

คอลัมน์วัตถุปลายตาในครั้งนี้ ผมจึงขออนุญาตหยิบยกเรื่องราวที่มาของ ‘ธงสีรุ้ง’ ที่ปัจจุบัน ไม่เพียงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความหลายหลายทางเพศและความเท่าเทียมกันของเพศทางเลือก แต่ยังถูกหยิบมา Commercialize ผ่านสินค้าต่างๆ มากมาย ว่ามันมีความเป็นมาอย่างไรกันแน่

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจงใจผสมเพิ่มเข้าไปในบทความครั้งนี้ คือการเดินทางส่วนตัวในฐานะเพศทางเลือก ; เกย์วัยกลางคน ที่ดิ้นรนหาที่ทางของตัวเองในสังคมไทยมาหลายครั้งหลายครา ใช่ครับ คอลัมน์วัตถุปลายตาครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ของวัตถุที่คนมองข้าม อย่างที่เคยเป็นมาแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ผมกราบขออนุญาตผู้อ่าน The Cloud ทุกท่าน ผนวกเรื่องส่วนตัวควบคู่เข้าไปด้วย หากท่านสงสัยว่า ‘ทำไม’ ผมหวังว่า หากท่านอดทนอ่านจนจบบทความ ท่านจะเข้าใจมากขึ้น ทั้ง ‘ที่มา’ ของธง และ ‘ที่ทาง’ ของคนอย่างผม ในประเทศที่มีสาวประเภทสองสวยมากความสามารถมากมาย แต่พวกเขาเหล่านั้นยังเลือกประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย เปิดเผย และเท่าเทียมไม่ได้ 

Pride ที่แปลว่า ความภาคภูมิ มีความหมายและเรื่องราวอะไรซ่อนอยู่ใต้แถบสีรุ้งเจ็ดสีนั้น ผมขอเชิญท่านตามเข้าไปสำรวจพร้อมๆ กันได้เลย

ภาพจำที่ติดมากับธงเจ็ดสี 

ในการแสดงตลก Stand Up Comedy ของ ฮันนาห์ แกดสบี้ (Hannah Gadsby) ชื่อ Nanette (ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัว เป็นหนึ่งในการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนที่ดีที่สุดที่เคยมีมาเลยทีเดียว) 

Hannah ที่เป็นเลสเบี้ยน นางพูดถึงดีไซน์ของ ‘ธงสีรุ้ง’ ว่า “It’s a little bit busy.” หรือแปลไทยได้ว่า “มันยุ่งเหยิงเกินไป ทำไมต้องมีแถบสีเจ็ดสี ซ้อนกันแน่นขนาดนั้น ไม่มีที่พักสายตาเลย” ซึ่งนั่นก็หนึ่งในมุกตลกของนางที่แซะภาพวัฒนธรรม LGBTQIA+ ที่เราคุ้นเคยกัน

ธงสีรุ้ง จากสัญลักษณ์ในนิยาย เพลงพ่อมดแห่งออซ สู่สัญลักษณ์ความภูมิใจของ LGBTQIA+
มันก็ยุ่งเหยิงจริงๆ นั่นแหละ

จริงๆ แล้ว Hannah เองยังได้วิพากษ์ถึงภาพที่ติดมากับธงสีรุ้งว่า ทำไมเกย์ (หรือ Gay ในภาษาอังกฤษ ที่ยังมีความหมายถึงความสดใส ซาบซ่า) จะต้องใช้ชีวิต ปาร์ตี้ เปรี้ยวซ่า สนุกสนานสุดติ่ง อยู่บนขบวนพาเรด ที่เต็มไปด้วยการอวดเนื้อหนังมังสาขนาดนั้น Hannah เองไม่ได้บอกว่าสิ่งนั้นมันผิด แต่ ‘ภาพจำ’ ที่ติดมากับธงสีรุ้ง อาจไม่ใช่ภาพที่ใช้อธิบายความหลากหลายของเพศทางเลือกได้ครอบคลุมและเท่าเทียมเสมอไป

“แกแค่แต่งตัว ให้เป็นตัวเองน้อยๆ ที่สุดอะ เอาเสื้อยืดเรียบๆ รัดๆ อย่าลายเยอะ ฉวัดเฉวียน เดี๋ยวคนน่าจะกล้าเข้ามาหาเอง” นั่นคือคำแนะนำของเพื่อนสนิทของผม เมื่อปรึกษาว่าทำไมทุกครั้งที่ไปสีลม ถึงไม่เห็นมีใครเข้ามาแอ๊วผม ที่แต่งตัวไม่ค่อยจะเหมือนคนอื่นบ้างเลย

ผมเองไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์อะไรเลยกับเกย์บาร์ แต่ถ้าเลือกได้ จะขอนอนอยู่บ้านฟังเพลงดีกว่า เพราะไม่ชอบที่ที่มีคนเยอะๆ หรือเสียงดัง ซึ่งทำให้ตลอดชีวิตของการ Come Out นั้น ไปบาร์เกย์สีลมแทบจะนับครั้งได้

Hannah Gadsby เองก็น่าจะเป็นเพศทางเลือกที่ชอบวิถีชีวิตที่ต่างจากภาพจำสีฉูดฉาดเช่นเดียวกันกับผม ผู้เขียนเช่นกัน ถ้าอย่างนั้นธงแบบไหนล่ะ ที่จะเป็นตัวแทนของความหลายหลายทางเพศและความเท่าเทียมได้ หากไม่ใช่ธงที่มีแทบจะทุกสีทุกสเปกตรัมอยู่ในนั้น

ต้นกำเนิดของตำนาน

ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดส่งมา 2 วันแล้วนั้น ทีวีที่ถูกเปิดทิ้งไว้เป็นเพื่อนกำลังฉายซีรีส์วายที่พระเอกหรือตัวแสดงแทบจะทุกคนในเรื่องนั้น ผมแทบจะแยกหน้าไม่ออก เพราะทุกคนขาวจิ้มลิ้ม จมูกโด่ง หน้าตาคล้ายกันไปเสียหมด ซึ่งมีผลต่อการปะติดปะต่อเรื่องราวของคนดูอย่างข้าพเจ้าด้วย เพราะไม่รู้จะแยกตัวละครไหนเป็นตัวละครไหน

อันที่จริงทุกครั้งที่ผมปรายตาไปที่ละครไทย ผมแทบจะไม่เห็นหนุ่มในสเปกของผม ที่ผิวเข้ม คล้ำ หน้าไทย จมูกไม่ต้องโด่งเป็นสัน แสดงเป็นบทนำใดๆ ในซีรีส์วัยรุ่นเลย ราวกับว่าโรงเรียนและวัยรุ่นในทีวี มีแค่อาตี๋ อาหมวย โอปป้า หรือถ้ามีหนุ่มสาวผิวเข้มโผล่มา เขาเหล่านั้นก็จะถูกยัดให้เป็น อีปริก คุณตำรวจ ชาวบ้านบางระจัน หรือนายช้อย ในหนังย้อนยุคเสมอๆ

เป็นความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ระหว่างการค้นคว้าเรื่องธงสีรุ้งนี้ เอาล่ะ ผมขออนุญาตกลับเข้าเรื่องธงกันดีกว่า

ย้อนไปในสมัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นาซีใช้สีชมพูและสามเหลี่ยมสีดำ เป็นสัญลักษณ์ในการบ่งบอก ทำเครื่องหมายว่า มนุษย์คนไหนเป็นเพศที่สาม รวมถึงสัญลักษณ์ขวานสองหัว ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แรกๆ ที่ถูกหยิบมาใช้ในการพูดเรื่องเพศทางเลือก 

ธงสีรุ้ง จากสัญลักษณ์ในนิยาย เพลงพ่อมดแห่งออซ สู่สัญลักษณ์ความภูมิใจของ LGBTQIA+
ตัวอย่างภาพจำลองการจำแนกเกย์ในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี

ในอดีตเคยมีความเชื่อว่าศิลปินชื่อ กิลเบิร์ต เบเคอร์ (Gilbert Baker) แห่งซานฟรานซิสโก เป็นผู้คิดค้นธงสีรุ้งแปดแถบสี เป็นคนแรกๆ ในพาเรด Pride ยุค ค.ศ. 1978 ร่วมกันกับศิลปินอีก 2 ท่าน ซึ่งภายหลังค้นพบว่าสีรุ้งกับธงและความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเพศซับซ้อนมากไปกว่านัั้น

การโบกสะบัดที่ยังไม่จบสิ้นของธงสีรุ้ง เส้นทางของ ‘เพื่อนของโดโรธี’ และประสบการณ์ Come Out ของผู้เขียน
Gilbert Baker

ตำนานบทเดิม

จริงๆ แล้ว หากจะกล่าวว่าธงสีรุ้งเพิ่งถูกคิดค้นมาเพียงแค่ 40 กว่าปีนั้นก็คงไม่ถูกนัก จริงๆ แล้วสเปกตรัมที่เราคุ้นตานี้ต้องย้อนไปไกลถึง ค.ศ.​ 1915 ในนวนิยายของยุคนั้น ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ค้นพบว่า นิยายของ D.H Lawrence ชื่อ The Rainbow พูดถึงความสัมพันธ์เชิงเลสเบี้ยนระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ไว้ เรื่องแรกๆ เช่นเดียวกับหนังสือชื่อ The Rainbow has Seven Colors ซึ่งพูดถึงความรักฉันท์ชู้สาวแบบเลสเบี้ยนที่ไม่สมหวังเช่นกันใน ค.ศ. 1958

สีรุ้งและสายรุ้งในทั้งสองเรื่องถูกใช้เป็นตัวแทนของการเริ่มต้นใหม่ ชีวิตในแต่ละช่วง รวมถึงการเปลี่ยนผ่านของบางสิ่งบางอย่างเสมอ

หลังจากนั้นรุ้งก็ค่อยๆ ปรากฏตัวในเรื่องสั้นที่มีเพศที่สามมาเกี่ยวข้องบ่อยขึ้น ใน ค.ศ. 1961 และ 1962 โดยถือเป็นเรื่องยากที่จะฟันธงว่าใครเป็นคนส่งอิทธิพลให้กับใครกันแน่ แต่รุ้งก็ยังคงใช้เป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาส่วนตัว ทั้งความรัก ชีวิต เพศ ไม่ว่าจะสมหวังหรือผิดหวังก็ตาม

ในบทประพันธ์เรื่อง The Christmas Rainbow โดย L.A.L มีเขียนบทสรุปไว้ว่า

“…to those of you who have found your Christmas rainbow, we extend a sincere hope that it will remain yours for always. To those of you who still may search, we extend the hope that you may be very close to attainment.”

“หากท่านได้พบพานกับสายรุ้งแล้ว เราก็ขอให้สายรุ้งนั้นเป็นของท่านตลอดไป ส่วนท่านที่ยังคอยตามค้นหา เราก็หวังว่า ท่านกำลังจะได้มันมาในไม่ช้า”

เพื่อนของโดโรธี

“แต่ลูกมีหนวดนะ” คือประโยคที่ออกมาจากปากคุณแม่ของผม หลังจากที่ผมสารภาพกับท่านว่าผมชอบผู้ชายด้วยกัน

“เป็นเกย์ก็ได้ แต่ต้องเป็นเกย์รุกนะ” คือประโยคที่ออกมาจากปากคุณพ่อของผม หลังจากที่ผมสารภาพกับท่านว่าผมชอบผู้ชายด้วยกัน ราวกับว่าความเป็นชายของผมมันยังไม่สูญเสียไป ตราบที่หน้าที่ของการเป็นผู้บุกรุก ยังเป็นของลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนดีคนนี้

ผมจำได้เลาๆ ว่าวันนั้น บทสนทนาจบด้วยการทะเลาะกันครั้งใหญ่ และผมก็เก็บเสื้อผ้าสองสามชุดออกจากบ้าน โดยไม่รู้ว่าจะไปอยู่ไหนด้วยซ้ำ

การโบกสะบัดที่ยังไม่จบสิ้นของธงสีรุ้ง เส้นทางของ ‘เพื่อนของโดโรธี’ และประสบการณ์ Come Out ของผู้เขียน
The Wizard of Oz

บางคน เมื่อกล่าวถึงสายรุ้งและเพศทางเลือก ก็จะนึกถึงเพลง Somewhere over the Rainbow เพลงประกอบจากหนังคลาสสิกที่เป็นที่ชื่อชอบของ LGBTQ+ มากมาย ได้แก่เรื่อง ‘The wizard of Oz’ หรือพ่อมดออซ

เพื่อนของโดโรธี หรือ A friend of Dorothy ถูกใช้เป็นโค้ดลับในการบอกว่าผู้ชายคนนี้นั้นเป็นเกย์ บ้างก็ว่าเป็นเพราะคาแรกเตอร์ที่มีความหลากหลายในบทประพันธ์ สื่อถึงความหลากหลายในการใช้ชีวิต บ้างก็ว่าในเวอร์ชันภาพยนตร์ที่แสดงนำโดยเกย์ไอคอน จูดี้ การ์แลนด์ (Judy Garland) นั้น สายรุ้งใช้สื่อถึงความฝัน ความหวัง มาตลอดช่วงเวลา 80 ปี หลังจากที่หนังแรกออกฉาย

การโบกสะบัดที่ยังไม่จบสิ้นของธงสีรุ้ง เส้นทางของ ‘เพื่อนของโดโรธี’ และประสบการณ์ Come Out ของผู้เขียน
Friend of Dorothy โค้ดลับโบราณของการบอกว่าเป็นเกย์

“Somewhere over the rainbow way up high
There’s a land that I heard of once in a lullaby.
Somewhere over the rainbow skies are blue
And the dreams that you dare to dream really do come true.”

บางแห่งที่ปลายสายรุ้ง

เหนือสูงขึ้นไปด้านบน

ที่นั่นมีดินแดนแห่งหนึ่งที่ฉันเคยได้ฟัง

ครั้งหนึ่งในเพลงกล่อมเด็ก

บางแห่งเหนือบนสายรุ้ง

ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าคราม

และความฝันที่เธอกล้าที่จะฝัน

มันจะกลายเป็นความจริง

ออกจากตู้

ต้นฉบับที่เขียนมาได้หลายหน้า ถูกคั่นเวลาด้วยการดูซีรีส์เบาสมอง เพื่อพักสายตาจากการจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ และซีรีส์ที่ผมลองเลือกเปลี่ยนดู ก็ยังมีตัวละครที่เป็นเกย์แสดงนำอยู่ แต่ดูไปได้ไม่กี่นาทีผมก็ต้องเปลี่ยน เพราะภาพของเพศที่สามที่ผมเห็นในทีวี มันไม่ได้ต่างอะไรกันเลยกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ตุ๊ด กะเทย เกย์ มีหน้าที่เดียวคือสีสัน ความตลก จัดจ้าน บันเทิง หรือไม่ก็เซ็กส์แบบวาบหวาม จนผมแทบจะเข้าใจไปเองว่าตัวเองต้องตลก ต้องเซ็กซี่ ถ้าไม่เช่นนั้นสมาคมเกย์ในทีวี เขาอาจจะส่งหนังสือมาเพิกถอนความเป็นเกย์ของผมได้

กว่าที่ผมจะเลิกเสพหรือเลิกเชื่อใน ‘ภาพซ้ำ’ ที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยส่งสารมาว่า เพศที่สามมีหน้าที่ บทบาท ที่ยืน อย่างไร ความมั่นใจในเพศสภาพ รสนิยมทางเพศ และทางเลือกในการชีวิตของผม ก็ถูกกัดกร่อนไปแล้วครึ่งหนึ่ง

การโบกสะบัดที่ยังไม่จบสิ้นของธงสีรุ้ง เส้นทางของ ‘เพื่อนของโดโรธี’ และประสบการณ์ Come Out ของผู้เขียน
อีกหนึ่งตัวอย่างของอิทธิพลที่ Wizard of Oz มีต่อวัฒนธรรมเกย์

ใน ค.ศ. 1977 นักเคลื่อนไหวชื่อ อาร์นี แคนโทรวิตซ์ (Arnie Kantrowitz) ได้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองชื่อ Under the Rainbow : Growing up Gay หยิบเอาสัญลักษณ์จากนิยายพ่อมดออซมาใช้เปรียบเปรย ทั้งในแง่อุปสรรคขวากหนาม และความสุข โดย Arnie เปรียบเทียบการเดินขบวนพาเรดว่าเหมือนการออกเดินทางไปหาพ่อมดออซ และดินแดนมหัศจรรย์ที่สุดปลายรุ้ง เราทุกคนกำลัง ‘ออกมา’ ซึ่งหมายความถึงการ Coming Out (of the closet) หรือการเปิดเผยว่าเป็นเกย์ด้วยเช่นกัน

หลังจากนั้น ตั้งแต่กลางยุค 70 เป็นต้นมา ‘ธงสีรุ้ง’ ก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง ความต่าง ความเท่าเทียม ความฝัน ความหวัง และการเดินทางค้นหา รวมถึงการต่อสู้ที่ยังไม่จบสิ้น ของกลุ่มคนที่ถูกสังคมกดทับ ด้วยความเชื่อ และค่านิยมบางอย่าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การโบกสะบัดที่ยังไม่จบสิ้นของธงสีรุ้ง เส้นทางของ ‘เพื่อนของโดโรธี’ และประสบการณ์ Come Out ของผู้เขียน
มันคือหนึ่งในสัญลักษณ์ของการประท้วงเรียกร้อง

ธงสีรุ้งโบกสะบัดในพาเรดครั้งแรกในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1978 ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งในเวอร์ชันแรก ธงนั้นมีแปดแถบสี รวมถึงสีชมพูและฟ้าเทอร์ควอยซ์รวมอยู่ด้วย แต่เนื่องจาก กิลเบิร์ต เบเคอร์ (Gilbert Baker)ศิลปินผู้ออกแบบธง ต้องการให้ธงนี้ผลิตในระบบ Mass Production ได้ด้วย จึงได้เอาสองสีนั้นออกไป และแทนสีฟ้าด้วยสีน้ำเงินธรรมดา ซึ่งสีเจ็ดแถบหรือหกแถบนี้ ก็กลายมาเป็นสแตนดาร์ดของธงสีรุ้ง ที่เราเห็นกันชินตาในทุกๆ วันนี้

Gilbert Baker ผู้ซึ่งเป็นเกย์และแดร็กควีนอย่างเปิดเผย และยังเป็นนักรณรงค์ตัวเป้ง ได้รับแรงยุจาก ฮาร์วีย์ มิลก์ (Harvey Milk) นักการเมืองเกย์ในตำนาน ให้ออกแบบสัญลักษณ์ของ Pride สำหรับชุมชนชาวเกย์ ซึ่งสีรุ้งนี่เองที่ Baker หยิบเลือกเอามาใช้ ไม่ว่าตัวเขาเองจะได้อิทธิพลของพ่อมดออซหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เขาได้กล่าวไว้เกี่ยวกับที่ทางของความเป็นเพศทางเลือกนั้น จับใจมาก

การโบกสะบัดที่ยังไม่จบสิ้นของธงสีรุ้ง เส้นทางของ ‘เพื่อนของโดโรธี’ และประสบการณ์ Come Out ของผู้เขียน
Gilbert Baker ศิลปินผู้ให้กำเนิดธงสีรุ้งอย่างเป็นทางการ

 “Our job as gay people was to come out, to be visible, to live in the truth, as I say, to get out of the lie. A flag really fits that mission, because that’s a way of proclaiming your visibility or saying, ‘This is who I am!’

“หน้าที่ของเราในฐานะเกย์ คือการใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย คือการถูกมองเห็น คือการใช้ชิวิตอยู่บนความจริง และหลีกหนีการลวงโลกทั้งหลาย ธงคือสิ่งที่เหมาะยิ่งในการสื่อถึงสิ่งนั้น เพราะมันคือไม่ยอมจำนวนต่อ การถูกเพิกเฉย และร้องออกมาว่า นี่แหละคือตัวฉัน!”

ธงสีรุ้งก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของ LGBTQ+ ตั้งแต่ ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา มิหนำซ้ำ ในช่วงเวลานั้น ศิลปินผู้ให้กำเนิดธงอย่าง Baker ยังได้เย็บธงสีรุ้งความยาวถึงหนึ่งไมล์ เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 25 ปีของ Stonewall Riot การประท้วงที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของสังคม LGBTQ+ ที่เราหลายคนทราบดี

ความทรงจำในการหนีออกจากบ้านครั้งนั้น คือผมได้รับการเสนอให้พักคืนชั่วคราวจากเพื่อนเลสเบี้ยน ที่ก็อุตส่าห์โทรหาเพื่อนเกย์อีกสองคนที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน เปิดหอพักของพวกเขาให้ผมไปค้างคืนสงบสติอารมณ์ จากการ Come Out กับที่บ้าน ซึ่งผมก็ถือว่าเพื่อนสองสามคนนั้นเป็นเพื่อนของโดโรธีอย่างแท้จริง และไม่เคยลืมประสบการณ์ครั้งแรกของความรู้สึก ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ ของอะไรบางอย่าง และได้พบเจอ ‘ที่ทาง’ ของตัวเองอีกเลย

ปลายสายรุ้ง

วันก่อนหุ้นส่วนธุรกิจของผม (ที่เป็นชายแท้ทั้งแท่ง ตามนิยามเพศสภาพแบบ Binary) ยื่นตัวอย่างสินค้าที่กำลังจะ Launch ในเดือน Pride Month นี้ให้ดู ซึ่งมันก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน นอกจากเฉดสีรุ้งหลากสีที่พาดผ่าน ซึมลึก ฝังแน่น เคลือบลงไปในทุกอณูของโปรดักต์

แถบสีรุ้งเป็นตัวแทนของความหลากหลายและความเท่าเทียมได้จริงหรือ โดยปราศจากความเข้าอกเข้าใจในที่มา ที่เกิดขึ้นจากความต้องการความเท่าเทียม และไม่ถูกกดทับของมันอย่างชัดเจน

เอาล่ะ เสียงค่อย เสียงดัง เสียงกระซิบ อย่างไรมันก็คือเสียง ผมบอกตัวเองแบบนั้น

การโบกสะบัดที่ยังไม่จบสิ้นของธงสีรุ้ง เส้นทางของ ‘เพื่อนของโดโรธี’ และประสบการณ์ Come Out ของผู้เขียน
Stonewall Riot จุดเริ่มต้นที่เกิดขึ้นมาจากการประท้วงการถูกกดทับ

แต่อีกหนึ่งความคิดที่ผุดขึ้นมา หากร่มใหญ่ของการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียม ความเสมอภาค และความหลากหลาย มาจากปัญหาของการกดทับ และการแบ่งประเภท แบ่งแยกคนออกจากคน อย่างที่เราเห็นในการประท้วงที่ Stonewall ทุกวันนี้ ‘การกดทับ’ ในสังคมไทยมันหายไปแล้วหรือ เราถึงได้เห็นสินค้าสีรุ้งออกมาอวดโฉมเต็มท้องตลาดไปหมด

รากของการกดทับในสังคมไทยสำหรับผม มันยังไม่ได้ถูกถอนขึ้นมา พรวนดิน เปลี่ยนกระถางใดๆ 

ตราบใดที่ผมยังเห็นวัยรุ่นไทยอยากผิวขาว จมูกโด่งเหมือนหนุ่มสาวเกาหลี และความงามที่ ‘ถูกเห็น’ เพียงแค่แบบเดียว

ถ้าผมยังเห็นบทเกย์เพื่อนนางเอกที่สะบัดสะบิ้ง ตลกโปกฮา มีแค่มิติเดียวเหมือนที่ผ่านมาหลายสิบปี

ถ้าคนรุ่นพ่อผมยังเข้าใจโลกที่มีแค่ ปลั๊กกับเต้าเสียบ รุกกับรับ

ถ้าเกย์ กะเทย สาวประเภทสอง ยังไม่มีทางเลือกในการประกอบสัมมาอาชีพเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคม

ถ้าสาวประเภทสองยังต้องมีบ้าน มีรถ มีมงกุฎ ถึงจะได้เป็นกะเทยเหมือนกัน 

ถ้าเรายังมัว ‘แปะป้าย’ หรือจัดคนลงกล่อง ตามภาพซ้ำที่ถูกผลิตและส่งต่อ ปีแล้วปีเล่า 

จะอีกกี่สายรุ้งและอีกกี่เฉด ก็คงยังไม่ช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

Pride สำหรับผมคือความภาคภูมิใจในตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ที่มันอาจจะเหมือน คล้าย หรือแตกต่างจากคนอื่น และความกล้าที่จะเปิดรับ ทั้งความเหมือน คล้าย และแตกต่าง ของคนอื่นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าสเปกตรัมของความเหมือนนั้น มันจะสูง ต่ำ ดำ ขาว สีม่วง ชมพู เทอร์ควอยซ์ น้อยหรือมากแค่ไหนก็ตาม

การโบกสะบัดที่ยังไม่จบสิ้นของธงสีรุ้ง เส้นทางของ ‘เพื่อนของโดโรธี’ และประสบการณ์ Come Out ของผู้เขียน
Gilbert Baker อีกนั่นแหละ

ทุกวันนี้พ่อกับแม่ผมเข้าใจในวิถีชีวิตของผมมากขึ้น และก็ยังสนับสนุนในทุกๆ ย่างก้าวของลูกชายคนนี้เสมอมา ในขณะเดียวกัน ผมเองก็เข้าใจความไม่เข้าใจของคนรุ่นพ่อกับแม่มากขึ้น

แน่นอนทุกครั้งที่แม่กับพ่อแวะมาคอนโดฯ ตอนที่ผมไม่อยู่ นอกจากน้ำเปล่าขวดใหญ่ที่จะถูกเติมไว้เต็มตู้เย็น เซ็กส์ทอยใต้เตียง เจลหล่อลื่น และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ก็ถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบด้วยเช่นกัน

ผมจำคำแนะนำของเพื่อนโดโรธีของผมในวันที่หนีออกจากบ้าน เพราะ Come Out กับที่บ้านได้ไม่ชัดเจน แต่ถ้าหากจะให้ผมขุดคุ้ยจากความทรงจำ ผมคิดว่ามันคงจะประมาณนี้แหล่ะครับ 

“หากท่านได้พบพานกับสายรุ้งแล้ว เราก็ขอให้สายรุ้งนั้นเป็นของท่านตลอดไป ส่วนท่านที่ยังคอยตามค้นหา เราก็หวังว่า ท่านกำลังจะได้มันมาในไม่ช้า”

ข้อมูลอ้างอิง

www.sfchronicle.com

www.smithsonianmag.com

www.britannica.com

Writer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ