“ท่านผู้โดยสารโปรดทราบ ที่นี่สถานี….” 

ไดอะล็อกนี้คงเป็นความเคยชินของคนนั่งรถไฟที่เสียงประกาศดังจากลำโพงบอกว่ารถไฟของเราจอดอยู่ที่สถานีอะไร ซึ่งเวลารถไฟจอดแต่ละสถานีนั้น ก็มีคนไม่น้อยที่มองออกไปนอกหน้าต่างด้วยจุดประสงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะดูสอดสายตาหาของกิน พักสายตามองวิว หรือแม้แต่มองว่าสถานีรถไฟนั้นหน้าตาเป็นยังไง

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีกระเบียด เส้นทางสายใต้

ว่ากันตรงๆ แล้ว สถานีรถไฟคือด่านหน้าที่คนนั่งรถไฟทุกคนต้องเจอก่อนที่จะได้เห็นตัวขบวนรถไฟด้วยซ้ำ ประเทศไทยมีสถานีรถไฟซึ่งไม่นับรวมที่หยุดรถทั้งหมด 446 สถานี ใน 46 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ซึ่งสถานีรถไฟแต่ละที่นั้นมีเสน่ห์แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม ชุมชน คน อาหาร และสถาปัตยกรรม 

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีเด่นชัย จ.แพร่ เส้นทางสายเหนือ

สถานีรถไฟคือศูนย์กลางของชุมชน

นอกจากสถานีรถไฟจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับขึ้นลงรถไฟแล้ว ก็ยังคงเป็นพื้นที่รวมกลุ่มของคนในชุมชนให้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน หากสังเกตให้ลึกๆ ลงไปอีกแล้วนั้นจะพบว่าสถานีรถไฟมักตั้งอยู่บริเวณใจกลางชุมชน ใกล้ตลาด ใกล้สถานศึกษา ใกล้พื้นที่พาณิชย์ หรือแม้แต่พื้นที่ในการต่อรถเพื่อเดินทางไปยังจุดต่างๆ ที่รถไฟไปไม่ถึง 

เราจะพบเห็นกิจกรรมต่างๆ บริเวณรอบๆ สถานีรถไฟในช่วงเวลาที่รถไฟแต่ละขบวนเดินทางมาถึง การเอื้อเฟื้อกันระหว่างรถไฟกับชุมชนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีรถไฟและดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน หรืออาจจะยาวไปถึงอนาคต

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
แม่ค้าขายข้าวแกงกระทง ที่สถานีเทพา จ.สงขลา

ตลาดเช้าที่สถานีรถไฟนครปฐมเป็นหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมาก ร้านรวงต่างๆ ที่นำอาหารและของใช้มาขายริมฝั่งถนนด้านหน้าสถานียาวไปจนถึงสะพานข้ามคูเมืองที่ฉากหลังเป็นองค์พระปฐมเจดีย์

ทุกเช้าเมื่อขบวนรถไฟนำเที่ยวเข้าเทียบสถานีนครปฐม ซึ่งตามโปรแกรมแล้วคือให้นักท่องเที่ยวลงไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ 40 นาที แต่ส่วนใหญ่แล้ว บรรดาผู้ที่ลงจากขบวนรถไฟนำเที่ยวจะลงมากว้านซื้อของกินไปกินบนรถซะมากกว่า บุญหรือจะสู้ความหิว แผงลอยมากมายที่จะเชิญชวนให้เราเสียเงินแล้ว กลิ่นของอาหารที่ลอยฟุ้งอยู่ทั่วบริเวณหลังสถานีนั้นดึงดูดให้เราเสียเงินได้อย่างไม่ต้องคิดอะไรมากเลย 

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
ตลาดหน้าสถานีรถไฟนครปฐม ย่านอาหารอร่อยประจำจังหวัด
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
ร้านอาหารแผงลอยหน้าสถานีนครปฐม

นอกจากนครปฐมแล้วนั้นยังมีอีกหลายสถานีที่บรรดาตลาดโต้รุ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ ทั้ง UD Town อุดรธานี  ตลาดโต้รุ่งหัวหิน ตลาดรถไฟลำปาง ตลาดรถไฟศรีสะเกษ และอีกหลายๆ ที่ที่ไม่ได้เอ่ยถึง นั่นอาจเป็นเพราะว่ายังไงคนที่เดินทางด้วยรถไฟต้องมาถึงสถานีก่อนอยู่แล้ว การรวมตัวของคนปริมาณมากก็คงไม่พ้นสถานีรถไฟที่อยู่ใจกลางเมืองหรือชุมชนนั้นๆ การฆ่าเวลาด้วยการกินหรือช้อปปิ้งซึ่งแฝงอยู่ใน DNA คนไทย (หรืออาจจะคนทั่วโลก) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน กลไกลทางเศรษฐกิจจึงขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
ในช่วงเย็นของทุกวัน สถานีรถไฟมักเป็นอีกแห่งที่คนมารวมตัวกันเพื่อนั่งตากลมเย็นๆ หลังจากที่ประสบพบเจอกับอากาศร้อนระอุมาแล้วตลอดทั้งวัน 

เป็นเรื่องที่น่าชวนคิดว่า ชานชาลาสถานีรถไฟทุกแห่งในประเทศนั้นเหมือนจะออกแบบมาให้ใช้งานได้อย่างหลากหลาย และไม่ได้เป็นเพียงแค่จุดขึ้นลงรถ แต่ยังเป็นพื้นที่ในการนั่งพักผ่อนได้อีกด้วย ช่วงเย็นแดดร่มลมตกจึงเป็นช่วงเวลาดีที่เหล่าคนในชุมชนจะเคลื่อนย้ายตัวเองจากบ้านพาลูกหลานมานั่งดูรถไฟ หรือมานั่งคุยกันกับอีกหลายๆ คนที่เดินทางมาสถานีเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน ผู้หลักผู้ใหญ่อาจจะนั่งทอดอารมณ์หรือคุยกันเรื่องข่าวสารบ้านเมืองต่างๆ ส่วนเด็กๆ ก็นั่งดูรถไฟช่วงเย็นที่วิ่งเข้าออกสถานี 

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
เวทีงานวันเด็กที่สถานีนครลำปาง

ในสถานีบางแห่งที่เป็นศูนย์กลางชุมชนจริงๆ ก็มักจะมีกิจกรรมต่างๆ จัดที่นั่นในวาระพิเศษด้วยอย่างเช่นงานวันเด็ก ซึ่งเราเองก็เคยได้ไปร่วมงานวันเด็กที่สถานีรถไฟหลายแห่ง ไม่ว่าจะทางใต้อย่างสถานีชุมทางทุ่งสง ทางเหนืออย่างสถานีนครลำปาง หรือในเขตกรุงเทพฯ อย่างสถานีธนบุรี ซึ่งสถานีที่มีการจัดงานวันเด็กนั้นจะเป็นพื้นที่ที่มีบ้านพักรถไฟหรือที่ทำการแขวงของการรถไฟตั้งอยู่ นั่นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันระหว่างรถไฟ สถานี พนักงาน ชุมชน บุคคล และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

นี่น่าจะพอเห็นภาพความเป็นศูนย์กลางชุมชนของสถานีรถไฟได้ชัดเจนขึ้น เราไปดูคุณค่าต่อไปกันดีกว่า

สถานีรถไฟคือรอยพิมพ์ของประวัติศาสตร์

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
อาคารสถานีสูงเนิน จ.นครราชสีมา เป็นอาคารไม้รุ่นแรกๆ ของรถไฟไทย ปัจจุบันชุมชนได้มีส่วนในการขออนุรักษ์อาคารสถานีที่จะสร้างใหม่ทดแทน

ความสำคัญอีกหนึ่งสิ่งที่สถานีรถไฟของไทยและหลายๆ แห่งทั่วโลกสร้างแรงดึงดูดต่อผู้คนนั่นคือรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ในยุโรปนั้นอาคารสถานีหลายแห่งถือว่ามีความน่าสนใจในการออกแบบทั้งการใช้สอยและความงดงามของสถาปัตยกรรมในยุคต่างๆ ซึ่งหลายที่ก็มีรูปแบบพิมพ์นิยม บางแห่งก็มีเอกลักษณ์นิดๆ หน่อยๆ ที่ทำให้สถานีนั้นๆ กลายเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา 

มาพูดถึงสถานีรถไฟในประเทศไทย อาคารสถานีรถไฟแต่ละแห่งมีลักษณะที่หลากหลายตามแต่ลักษณะการใช้สอยหรือที่ตั้ง รวมถึงขนาดของอาคาร วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง หรือแม้แต่รูปแบบทางสถาปัตยกรรม 

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีวัฒนานคร จ.สระแก้ว อาคารไม้ชั้นเดียวรูปแบบทั่วไป
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีปางม่วง จ.ลำปาง อาคารไม้สองชั้น ชั้นบนเป็นบ้านพักนายสถานี
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
พลับพลาสถานีหัวหิน เดิมคืออาคารสถานีสนามจันทร์ที่ถูกย้ายมาตั้งไว้ที่สถานีหัวหิน
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
พลับพลาสถานีบางปะอิน เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 และเป็นอาคารไม้รุ่นสมัยเปิดเดินรถไฟครั้งแรกที่ยังคงหลงเหลือยู่ ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว

มีสถานีไม่น้อยที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น มีแห่งเดียวบ้าง มีสถานีพี่น้องบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสถานีที่มีลักษณะผสมผสานรูปแบบจากยุโรป ที่ได้รับการออกแบบจากชาวต่างชาติในรุ่นเริ่มแรกของรถไฟไทย ซึ่งผู้ออกแบบนั้นได้แฝงรูปแบบต่างๆ ตามลายเซ็นของตัวเอง เช่น สถานีกรุงเทพที่มีความเป็นอิตาเลียนเรเนสซองส์ สถานีอุตรดิตถ์ (เดิม) ที่เป็นรูปร่างแปลกตาไม่มีที่ไหนเหมือน สถานีบ้านปินที่สร้างแบบบาวาเรียนสไตล์ที่เดียวของประเทศไทย หรือแม้แต่สถานีที่สร้างด้วยไม้แต่มีความวิจิตรเป็นของตัวเอง เช่น สถานีหัวหิน พลับพลาสถานีหัวหิน (อาคารสถานีสนามจันทร์เดิม) สถานีกันตัง

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีพิจิตร เป็นอาคารคอนกรีตมีลวดลายสวยงาม เดิมมีอาคารลักษณะเดียวกันอีก 2 สถานีคือพิษณุโลกและแปดริ้ว ปัจจุบันเหลือที่พิจิตรเพียงแห่งเดียวในประเทศ
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีบ้านปิน จ.แพร่ เป็นอาคารสไตล์บาวาเรียนแห่งเดียวในประเทศไทย
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อาคารผสมผสานระหว่างไทย-จีน เป็นหนึ่งในสถานีที่มีเอกลักษณ์ของไทย
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีนครลำปาง อาคารผสมผสานระหว่างตะวันตกและล้านนา มีลายฉลุตามอาคารที่สวยงามมาก
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีอุตรดิตถ์หลังเก่า ออกแบบโดยคาร์ล ดือห์ริ่ง ถูกระเบิดเสียหายทั้งหลังในสมัยสงครามโลก
ภาพ : การรถไฟแห่งประเทศไทย

ถ้าไม่ใช่สถานีลูกครึ่ง ก็จะเป็นสถานีไม้ไทยแท้ๆ ชั้นเดียวบ้าง สองชั้นบ้าง ตามแต่การใช้สอย อันนี้เห็นได้ทั่วๆ ไปเป็นรูปแบบสูตรสำเร็จของสถานีตามชนบท ซึ่งสร้างเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว มีที่พักผู้โดยสารติดกับช่องขายตั๋วโดยสาร หลังคาเป็นกระเบื้องลอนหรือกระเบื้องว่าว มากกว่านั้นหน่อยก็จะเป็นอาคารไม้สองชั้นที่ด้านบนแบ่งเอาไว้เป็นที่พักของนายสถานีหากสถานีนั้นๆ ไม่ได้มีบ้านพักแยกออกมา 

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีช่องเขา จ.นครศรีธรรมราช อาคารไม้ชั่นเดียวรูปแบบทั่วไป
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีทับกฤช จ.นครสวรรค์ อาคารไม้สองชั้นรูปแบบมาตรฐานทั่วไป

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีอาคารสถานีรถไฟที่ถูกทำลายเสียหายเยอะมาก และได้รับการออกแบบเพื่อบูรณะสถานีโดยสถาปนิกชาวไทย โดยอาคารนั้นอาจเป็นคอนกรีตล้วน ไม้ผสมคอนกรีต ก่ออิฐฉาบปูน หรือมีการประดับด้วยส่วนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การใช้โค้ง (Arch) การประดับปูนปั้น ฉลุไม้ จั่ว ปั้นหยา และอื่นๆ อีกมากมายที่แฝงอยู่ และบอกเล่าได้ว่าอาคารสถานีนี้สร้างในช่วงไหน

ซึ่งการสร้างสถานีทดแทนนี่แหละที่ทำให้มีอาคารรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายมาทดแทนสถานีรถไฟรูปแบบดั้งเดิมที่เสียหายจากสงครามหรือสถานีที่มีอายุการใช้งานมานานจนทรุดโทรม

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
รูปแบบหน้าจั่วของสถานีทรงไทยประยุกต์
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีอุบลราชธานี เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีชุมทางหาดใหญ่ ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ครอบคลุมทั้งที่ทำการ สถานีรถไฟ และโรงแรม
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีหนองคาย อาคารหลังปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ห่างจากที่เดิมเนื่องจากมีการเบี่ยงเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อประเทศลาว
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีเชียงราก รูปแบบไทยประยุกต์ สร้างใหม่สมัยที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998

อาคารทรงไทยประยุกต์ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวไทยหลายท่าน เช่น หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ, คุณประยูร ศรีสำรวญ และคุณถาวร บุญยเกตุ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เลย คือการสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก แสดงหลังคาทรงจั่ว ไม่เน้นตกแต่งให้วิจิตรสวยงาม จะดูทื่อๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่สวยนะ มันสวย แต่สวยแบบเรียบๆ ดูคลาสสิก ไม่ล้าสมัย เช่น สถานีเชียงใหม่ นครปฐม ศิลาอาสน์ แก่งคอย อุบลราชธานี 

นอกจากอาคารทรงประยุกต์แล้ว ก็ยังมีสถานีรถไฟที่สร้างแบบสมัยใหม่ ซึ่งสมัยใหม่ที่ว่านี้ไม่ใช่โมเดิร์นจ๋านะครับ แต่เป็นการออกแบบแบบเรียบง่าย ใช้วัสดุธรรมดาๆ เช่น เหล็ก กระจก อิฐแก้ว คอนกรีตเสริมเหล็ก ออกแบบโดยสถาปนิกไทย เช่น หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ, หลวงสุขวัฒนสุนทร, คุณประยูร ศรีสำรวล และคุณวรุตม์ กี่จนา สถานีในกลุ่มนี้ เช่น สถานีมักกะสัน บางซื่อ (ยกเลิกอาคารนี้แล้ว) เด่นชัย ตะพานหิน สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ ชุมแสง เป็นต้น

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีชุมแสง จ.นครสวรรค์ เป็นอาคารไม้ทรงประยุกต์ ซึ่งมีหลายสถานีที่ออกแบบให้รูปแบบเดียวกัน เช่น นาสาร ท่าฬ่อ บ้านโป่ง ฯลฯ
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นสถานีร่วมไทย-มาเลเซีย สร้างด้วยรูปแบบเอกลักษณ์

ลักษณะของสถาปัตยกรรมแต่ละสถานีนั้นสะท้อนภาพของความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบ วัสดุ ช่วงยุค รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนซึ่งทำให้มีคุณค่าทางจิตใจกับแต่ละท้องที่แตกต่างกันไป จะว่าไปแล้วสถานีรถไฟเองก็ไม่ได้เป็นแค่จุดขึ้นลงรถไฟ แต่ก็ยังเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางของชุมชนที่ชาวบ้านจะมีจุดร่วมกันได้ในเกือบทุกๆ มิติ

สถานีรถไฟเก่าคือคุณค่า

เราตามข่าวการอัปเกรดทางรถไฟจากทางเดี่ยวเป็นทางคู่ของการรถไฟแล้ว พบว่าหลายสถานีมีการสร้างใหม่ทดแทนอาคารเดิม เพื่อเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และหลายๆ สถานีเป็นการรีโนเวตอาคารให้อยู่ในรูปแบบเดิม แต่เปลี่ยนวัสดุให้อยู่ได้นานขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว สถานีที่มีการสร้างใหม่จะเป็นสถานีขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีอาคารสถานีเป็นเอกลักษณ์ นั่นหมายความว่า อาคารเก่าก็จะต้องถูกรื้อถอนเพราะไม่ใช้งานแล้ว

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีขอนแก่นอาคารหลังใหม่ เป็นสถานียกระดับที่สร้างทดแทนสถานีเดิมตามโครงการรถไฟทางคู่
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีจันทึก จ.นครราชสีมา อาคารใหม่ทดแทนหลังเดิมตามโครงการรถไฟทางคู่

นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราต้องคิดถึงการอนุรักษ์สถานีรถไฟเก่า เพื่อให้เป็นอนุสรณ์หรือพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ซึ่งแน่นอนว่าหากเก็บอาคารสถานีเอาไว้ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น จึงสมควรต้องมีเจ้าภาพในการร่วมอนุรักษ์สถานีหรืออาคารประกอบเหล่านั้นให้คงอยู่ และแปรสภาพจากแค่อาคารสวยงามให้กลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือพื้นที่ส่วนกลางได้ โดยเกิดรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนด้วย และก็มีหลายที่เลยที่กลุ่มชาวบ้านร่วมกันดูแลอาคารสถานีรถไฟเก่าเพื่อการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นอดีตสถานีแม่พวก ที่จังหวัดแพร่ หรือแม้แต่สถานีสูงเนินที่แม้ว่ากำลังใช้งานอยู่ แต่อนาคตจะมีการสร้างอาคารสถานีใหม่มาทดแทน

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
ที่หยุดรถแม่พวก จ.แพร่ เดิมเคยเป็นสถานีและลดระดับเป็นที่หยุดรถ อาคารมีลักษณะโดดเด่น และชาวบ้านได้ร่วมมือกันอนุรักษ์อาคารสถานีไว้และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ซึ่งการลงมืออนุรักษ์สถานีรถไฟโดยชุมชนนั้นมันทรงพลังมาก มันคือการแสดงพลังของคนในชุมชนที่มีความผูกพันกับสถานีรถไฟนั้นๆ พร้อมสร้างอนาคตใหม่ของสถานีผู้สูงอายุให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง 

เราอาจจะเห็นอาคารสถานีรถไฟเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก หรือเป็น Co-working Space หรือจะเป็นร้านกาแฟ หรืออาจจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการทำกิจกรรมของชุมชนอยู่คู่กับสถานีรถไฟใหม่ที่อัปเกรดให้มีศักยภาพมากขึ้น แม้ว่ารูปแบบทางสถาปัตยกรรมอาจจะเปลี่ยนไปจากเดิมตามยุคสมัย 

ทั้งชุมชนและการรถไฟเองอาจต้องร่วมมือกันสำรวจและอนุรักษ์สถานีที่มีคุณค่าเอาไว้ โดยเฉพาะสถานีรถไฟที่มีคุณค่าสูง รวมถึงการวิเคราะห์รูปแบบของการอนุรักษ์เพื่อให้สถานีเก่านั้นมีความเด่นชัดขึ้นในทุกมิติ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงประโยชน์ใช้สอยต่างๆ เพื่อให้สถานีเก่ายังคงคุณค่าและมีชีวิตอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เหล่าคนแก่ที่หมดวาระยังคงอยู่ทั้งในความเป็นศูนย์กลางของชุมชน และผู้เล่าเรื่องราวของอดีตให้กับคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสพวกเขา

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีบันไดม้าอาคารไม้ดั้งเดิมที่ได้รับการรีโนเวทด้วยโครงสร้างเดิมแต่วัสดุใหม่ เป็นการอนุรักษ์อาคารสถานีให้ใช้งานได้ต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ รีโนเวทอาคารสถานีใหม่

ขอเวลาสำรวจ แล้วเราจะพาคุณไปรู้จักกับสถานีรถไฟที่ทรงคุณค่าหลายๆ แห่งในประเทศนี้ หลายแห่งคุณอาจแค่เดินผ่านไปโดยแทบไม่ได้ทำความรู้จักกับมันเลย หรือบางแห่งอาจจะเห็นจนเคยชิน แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีคุณค่าแฝงอยู่ หรือบางแห่งคุณอาจจะเห็นค่าของมันในวันที่มันไม่อยู่แล้วก็ได้

เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
สถานีชุมทางเขาชุมทอง จ.นครศรีธรรมราช อาคารไม้ดั้งเดิมที่ยังใช้งานอยู่ นับเป็นสถานีที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารและหลังคาชานชาลาที่มีเอกลักษณ์อีกแห่ง
เสน่ห์ของสถานีรถไฟแต่ละจังหวัด ศูนย์กลางวิถีชีวิตของชุมชนทั่วไทย, สถานีรถไฟ
โถงรอการโดยสารสถานีอยุธยา 

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ