ขับรถยนต์ก็ต้องขับตามป้าย แล้วขับรถไฟมีป้ายให้ขับตามเหมือนรถยนต์หรือเปล่า

คำถามนี้เป็นจดหมายจากทางบ้านที่ถามเยอะพอ ๆ กับรถไฟติดไฟแดงหรือเปล่า (แน่นอนมันมีติดไฟแดง) ผนวกกับมีหลายต่อหลายคนที่นั่งรถไฟแล้วไม่ได้หลับ ชอบดูวิวนอกหน้าต่างแล้วสายตาไปป๊ะเข้ากับสารพัดป้ายที่ปักอยู่ข้างทางรถไฟ บางก็เป็นตัวเลข บ้างก็เป็นตัวอักษร แต่ไม่มีใครตอบได้ว่านั่นคือป้ายที่เกี่ยวกับการเดินรถไฟหรือไม่

ตามความเข้าใจของคนทั่วไปหรือเปล่าเราไม่แน่ใจ เคยมีคนบอกว่ารถไฟก็แค่วิ่งไปตามทางของมัน ถึงสถานีแล้วก็จอด พอคนขึ้นลงเสร็จมันก็ไป แล้วก็ขับไปเรื่อย ๆ เหยียบไปเท่าไหร่ก็ได้คล้ายคลึงกับการขับรถบนท้องถนน

เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก

เอาล่ะ รีเซ็ตกันใหม่

รถไฟต้องขับตามความเร็วที่กำหนดไว้ (Speed Limit) เพราะมีผลต่อการคำนวณเวลาเดินรถ ความปลอดภัย และภูมิประเทศ

รถไฟต้องปฏิบัติตามป้ายข้างทาง ทั้งรูปแบบของตัวเลขและตัวอักษร ซึ่งมีความหมายที่เข้าใจเฉพาะคนขับรถไฟ (และคนชอบรถไฟ)

รถไฟต้องขับตามสัญญาณไฟจราจร ซึ่งแตกต่างจากไฟจราจรของรถยนต์ตรงที่ รถยนต์จะบอกแค่ ไฟเขียวไปได้ ไฟเหลืองเตรียมตัวหยุด ไฟแดงหยุด เพื่อจัดการความคล่องตัวของการจราจร แต่สำหรับรถไฟแล้ว เหมือนกันตรงคอนเซ็ปต์เขียวไป แดงหยุด เหลืองระวัง 

แต่มีนอกเหนือกว่านั้นคือ ทางรถไฟถูกแบ่งไว้เป็นตอน ๆ (Block) แต่ละตอนมีสัญญาณไฟจราจรทำหน้าที่เป็นตัวบอก ว่าตอนนั้นหรือช่วงนั้นเป็นทางปิดหรือทางเปิด ถ้าหากเป็นทางเปิดโล่งสะดวก สัญญาณไฟจะโชว์สีเขียวออกมาให้รถไฟวิ่งต่อไปได้ หากทางข้างหน้าไม่สะดวก ไฟแดงจะส่องสว่างกระจ่างจิต ให้รถไฟต้องหยุด ก่อนจะได้รับสัญญาณอนุญาตให้เดินทางต่อไปได้

เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก
ป้ายจราจรรถไฟไทย
เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก
ป้ายจราจรรถไฟมาเลเซีย

ป้ายนั้นมีเยอะมาก ทั้งเจอได้ทั่วไปและเป็นป้ายแบบพิเศษที่นาน ๆ ทีจะเจอที งั้นวันนี้เรามารู้จักป้ายข้างทางที่เป็นตัวบังคับและกำหนดให้รถไฟที่เรากำลังนั่งอยู่เดินทางได้ปลอดภัยจนถึงปลายทาง และเป็นป้ายที่เจอบ่อยชนิดไปที่ไหนก็เจอ ไหน ๆ ก็เจอก็เห็นแล้วมารู้ความหมายของมันกัน

ป้ายพิกัดความเร็วสูงสุดในทางประธาน

เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก
ป้ายบอกว่าพิกัดความเร็วสูงสุด รถดีเซลราง 120 กม./ชม. รถจักรลาก 100 กม./ชม.
เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก
แบบความเร็วเท่ากันทั้ง 2 ประเภทรถ ด้วยสภาพภูมิประเทศจำกัด

เอาแบบเข้าใจง่ายคือ ป้ายที่บอกว่าทางรถไฟตรงนี้ กำหนดความเร็วสูงสุดเอาไว้เท่าไหร่ วิ่งได้สูงสุดเท่านี้นะ หน้าตาของป้ายเป็นรูปแปดเหลี่ยมอันเดียวหรือซ้อนกัน 2 อัน ซึ่งตัวเลขเท่ากันหรือต่างกันตามประเภทรถ

ถ้าขอบป้ายเป็นสีดำ นั่นคือความเร็วสูงสุดที่รถดีเซลราง รถไฟที่ไม่ต้องใช้หัวรถจักรลากวิ่งได้

ถ้าขอบป้ายเป็นสีเหลือง นั่นคือความเร็วสูงสุดที่รถไฟที่ใช้หัวรถจักรลากจะวิ่งได้

รถดีเซลรางใช้ความเร็วสูงสุดได้มากกว่ารถไฟที่ใช้รถจักรลาก เนื่องจากน้ำหนักของรถเบากว่า ความคล่องตัวสูงกว่า และการเบรกที่มีระยะสั้นกว่า จึงทำให้ใช้ความเร็วสูงสุดได้มากกว่าตาม

ความเร็วสูงสุดนั้นปัจจุบันอยู่ที่ รถดีเซลราง 120 กม./ชม. และรถจักรลาก 100 กม./ชม. แต่หากเป็นทางภูเขาที่มีโค้งเยอะหรือลาดชัน ความเร็วก็จะลดลงมาให้สัมพันธ์กับความปลอดภัย เพราะว่าจะมีผลกับการเบรกเมื่อลงเขาให้ปลอดภัย และการเข้าโค้งที่รถจะไม่หลุดออกนอกรางด้วย

ถ้าเห็นป้ายนี้เมื่อไหร่ ให้รู้โดยอัตโนมัติได้เลยว่า นี่คือความเร็วสูงสุดที่รถไฟจะวิ่งได้ในช่วงทางนั้น

ป้ายอนุญาตให้ใช้ความเร็วผ่านประแจ

เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก
ป้ายบอกว่าความเร็ววิ่งทางตรง 70 กม./ชม. ความเร็วเข้าประแจ (สับราง) 15 กม./ชม.

อ่านแล้วงงไหม อะใช่ ถ้าคุณไม่ใช่ Geek รถไฟคุณงงแน่

ประแจ หมายความว่าจุดที่เปลี่ยนทิศทางรถไฟได้ หากว่ากันง่าย ๆ มันคือจุดสับราง

ความหมายคือป้ายที่บอกความเร็วเวลาคุณเจอจุดสับราง ถ้าจุดสับกำหนดให้วิ่งตรงไปจะใช้ความเร็วได้เท่าไหร่ หากตัวสับรางนั้นสับให้รถไฟเปลี่ยนทิศทางวิ่งต้องใช้ความเร็วเท่าไหร่

หน้าตาของมันเป็นป้ายรูปแปดเหลี่ยมถูกผ่าซีก เลขด้านบนคือความเร็วที่วิ่งทางตรง ส่วนเลขด้านล่างคือความเร็วที่ต้องเปลี่ยนทางวิ่ง ซึ่งเราจะพบป้ายนี้ก่อนถึงจุดสับรางนั่นเอง

มีหลักในการจำอย่างหนึ่ง ถ้าสถานีนั้นมีจุดสับรางเพียงอันเดียว ความเร็วในการสับรางจะอยู่ที่ 40 – 30 กม./ชม. แต่ถ้ามีตัวสับรางหลายตัวก็จะลดเหลือ 15 กม./ชม. เพราะถ้าวิ่งเร็ว ๆ ตอนเปลี่ยนทางวิ่งคนในรถคือเซเทกระจาดแน่นอน

ป้ายจำกัดความเร็ว

เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก
ป้ายบอกว่าจำกัดความเร็ว 45 กม./ชม.

ป้ายรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดพื้นสีขาว มีตัวเลขสีดำกำหนดเอาไว้ ซึ่งตัวเลขความเร็วจะต่ำกว่าป้ายความเร็วสูงสุด และป้ายชนิดนี้เป็นป้ายถาวร ใช้กับพื้นที่ที่ต้องการให้รถไฟลดความเร็วในช่วงระยะทางสั้น ๆ และเป็นการลดความเร็วแบบถาวรด้วยข้อจำกัดด้านสถานที่และภูมิประเทศ เช่น เป็นโค้งรัศมีแคบที่ใช้ความเร็วสูงสุดไม่ได้ วิ่งเร็วตามพิกัดสูงสุดไม่ได้ หรือแม้กระทั่งเป็นพื้นที่ชุมชนที่ต้องลดความเร็ว

ระยะทางที่ยาวที่สุดของป้ายนี้ที่เคยเห็นคือโค้งด้านทิศใต้ของสถานีเพชรบุรี ที่ลดความเร็วเหลือ 70 กม./ชม. กับการวิ่งผ่านโค้งแคบจำนวน 4 โค้ง รวมถึงทางรถไฟสายใต้ที่มีโค้งรัศมีแคบหลายจุดก็พบป้ายนี้ประปรายเช่นกัน

ป้ายลดความเร็ว

เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก
ป้ายบอกว่าให้ลดความเร็วเหลือ 50 กม./ชม. ระยะทาง 700 เมตร
เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก
ป้ายบอกว่าให้ลดความเร็วเหลือ 20 กม./ชม. ระยะทาง 400 เมตร จากการเบี่ยงทางวิ่ง

เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า ‘ป้ายเบาทาง’

ป้ายนี้เป็นป้ายที่คนขับรถไฟไม่ชอบ คนนั่งรถไฟที่รู้ความหมายก็ไม่ชอบ มันเป็นป้ายวงกลมพื้นสีเขียวตัวเลขสีขาวกำหนดเอาไว้ เป็นป้ายชั่วคราว (แต่บางป้ายก็อยู่ชั่วนาตาปี จนสงสัยว่าชั่วคราวของเราน่าจะไม่เท่ากัน)

ป้ายเบาทางใช้สำหรับเส้นทางที่ชำรุด กำลังอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง หรือแม้กระทั่งช่วงหลังซ่อมบำรุงที่รอทางเซ็ตตัวให้กลับไปสู่สภาพใช้งานได้ตามปกติ ตัวเลขบนป้ายเบาทางเป็นตัวเลขที่ใช้คำว่าคลานมากกว่าวิ่ง ช่วงนี้จะเห็นป้ายนี้ได้บ่อยตรงพื้นที่การสร้างทางคู่ที่มีการเบี่ยงแนวเส้นทางวิ่งไปมา หรือการก่อสร้างที่ทำให้โครงสร้างทางไม่แข็งแรงมากพอที่จะรับความเร็วได้มาก ซึ่งมีระยะทางได้ตั้งแต่ไม่กี่เมตรจนถึงหลักกิโลเมตร บางป้ายก็มีกำกับไว้ด้วยว่า ระยะทางที่ต้องลดความเร็วนั้นมีความยาวเท่าไหร่

ป้ายเตือนระบุความเร็ว

เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก
ป้ายเตือนบอกว่าพิกัดสูงสุดของทางวิ่งได้ 80 กม./ชม. ของสายตะวันออก
เฉลยความหมาย 20 ป้ายจราจรของชาวรถไฟ ที่คนทั่วไปไม่มีทางเดาถูก
ป้ายเตือนบอกว่าด้านหน้ามีลดความเร็ว 35 กม./ชม.

ป้ายนี้เป็นป้ายที่บอกให้ทราบล่วงหน้า หน้าตาจะเหมือนกับป้ายความเร็วชนิดต่าง ๆ ที่จะต้องควบคุมให้ลดความเร็ว แต่จะต่างกันที่มันจะมีสีเหลืองขอบดำ มีตัวอักษร ‘ต’ กำกับ พร้อมป้ายความเร็วสีเหลืองขอบดำระบุตัวเลขที่ต้องให้ลดความเร็วลง

เนื่องจากรถไฟหยุดทันทีไม่ได้ ต้องมีการเตือนก่อนล่วงหน้าประมาณ 800 เมตร ซึ่งเป็นระยะเบรกปกติ ป้ายเตือนเหล่านี้จึงทำหน้าที่บอกคนขับว่า เตรียมชะลอได้แล้ว ข้างหน้าอีกประมาณ 800 เมตร เธอต้องใช้ความเร็วเท่านี้นะ ห้ามเกิน ห้ามฝ่า โดยก่อนหน้าที่จะเจอป้ายนี้ก็มีป้ายรูปสามเหลี่ยมสีเหลืองพร้อมตัวอักษร ต คอยเตือนก่อนเช่นกัน

ป้ายปกติ

ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย
ป้ายบอกว่าด้านหน้าใช้ความเร็วได้ปกติหลังจากลดความเร็วมาแล้ว

มาถึงป้ายนี้กันบ้าง ป้ายที่จะเป็นตัวบอกระยะสิ้นสุดของการลดความเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการลดความเร็วที่เกิดจากป้ายจำกัดความเร็ว (ป้ายรูปข้าวหลามตัด) หรือป้ายเบาทาง (ป้ายวงกลมสีเขียว) โดยหน้าตาของมันจะเหมือนกับป้ายที่ถูกบังคับใช้ตอนแรกเป๊ะ ๆ แล้วมีตัวอักษรเขียนกำกับไว้บนป้ายตัวเบ้อเริ่มว่า ‘ปกติ’

หน้าที่ของมันคือบอกสถานะว่าจุดลดความเร็วสิ้นสุดแล้ว และหลังจากที่ท้ายขบวนผ่านป้ายนี้ไปก็ใช้ความเร็วปกติตามพิกัดทางได้เลย

ป้ายหยุด

ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย

ป้ายบอกให้หยุด บังคับใช้เฉพาะขบวนรถที่ระบุในกรอบล่าง เช่น รถพิเศษโดยสาร รถจักรดีเซลตัวเปล่า รถยนต์ราง

ป้ายนี้นาน ๆ จะเจอที แต่ทางภูเขาจะเจอบ่อยมาก เป็นป้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีขาวมีคำว่า ‘หยุด’ หราอยู่บนนั้น หน้าที่ของมันคือสั่งให้รถไฟหยุด ใช่ ฉันสั่งให้เธอหยุด เธอต้องหยุด

แต่ก็มีเงื่อนไขย่อยลงไปอีก คือ

ขอบป้ายสีแดง เรียกว่าป้ายหยุดรถขอบแดง รถทุกขบวนต้องหยุดที่ป้ายนี้ เมื่อได้รับสัญญาณธงเขียวก็ให้เคลื่อนที่ต่อไปได้

ขอบป้ายสีดำ เรียกว่าป้ายหยุดรถขอบดำ ต่างกับขอบแดงคือจะมีป้ายเล็ก ๆ กำหนดไว้ว่าขบวนไหนที่ต้องหยุดที่ป้ายนี้บ้าง เช่น รถสินค้า รถจักรที่วิ่งมาคันเดียว ขบวนรถงาน หรือรถบำรุงทาง ด้วยเหตุผลคือเป็นทางลงเขาลาดชัน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการเบรกไม่อยู่ ต้องให้รถที่มีน้ำหนักมากหยุดที่ป้ายนี้ก่อน เพื่อเซ็ตความเร็วให้เป็น 0 ก่อนจะเดินทางต่อหลังจากหยุดสนิทแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง

ป้ายทางลาดชัน

ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย
ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย
ป้ายบอกว่าด้านหน้ามีทางลาดชัน ทั้งเป็นทางขึ้นและทางลง

ป้ายรูปแปดเหลี่ยมสีขาว มีไอคอนรถจักรไอน้ำหน้าตาน่ารักเชิดขึ้น 45 องศา หรือหัวทิ่มลง 45 องศา เป็นป้ายแบบเดียวที่ใช้ Pictogram ในการสื่อความหมาย มีหน้าที่บอกว่าทางข้างหน้าหลังจากเลยป้ายนี้จะเป็นทางรถไฟที่เป็นทางลงหรือทางขึ้นที่มีความลาดชัน ซึ่งเราพบเห็นป้ายนี้ได้มากที่สุดคือสายเหนือ รองลงมาคือสายอีสาน และสายใต้ ตามลำดับ

อารมณ์เดียวกับรูปรถบรรทุกของป้ายจราจรทางถนนนั่นแหละ

ตัวเลขบนเสาโทรเลข

ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย
พิกัด กม.ที่ 513 (จากกรุงเทพ) เสาต้นที่ 16 ของ กม. นั้น

อันนี้ไม่เชิงว่าเป็นป้าย แต่มันคือตัวเลขที่อยู่บนเสาโทรเลขข้างทางรถไฟ ซึ่งตีตัวคู่ขนานไปตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง แม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นการโยงสายสื่อสาร สายโทรศัพท์ สายไฟเบอร์ออปติกแล้ว เจ้าเสาโทรเลขก็ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งที่สื่อสารกับคนขับรถไฟได้

ลองมองไปที่เสา คุณจะเห็นตัวเลขเรียงลงมา แล้วมีขีดคั่น และต่อด้วยตัวเลขอีกตัวหนึ่ง เช่น 123/5 123/6 123/7

เลขก่อนเส้นคั่น คือหลักกิโลเมตรจากสถานีกรุงเทพ ด้านหลังเส้นคั่นคือลำดับเสาโทรเลขที่อยู่ใน กม.นั้น เช่น 123/5 คือ กม.ที่ 123 เสาต้นที่ 5 ไล่ไปเรื่อย ๆ และสิ้นสุดที่เสาต้นที่ 16 แล้วจึงขึ้น กม. ใหม่พร้อมเลขลำดับที่ 1

ใน 1 กิโลเมตรบนทางราบมีเสาโทรเลข 16 ต้น ส่วนทางภูเขาก็จะมากขึ้นไปอีกตามแต่สภาพแวดล้อม อาจได้ถึง 20 – 30 ต้นเลยทีเดียว ทีนี้เจ้าตัวเลขนี้ช่วยเรายังไง มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับหลักกิโลเมตร แต่เป็นเวอร์ชันที่ละเอียดขึ้นมาหน่อย ใช้ประโยชน์ได้ในเวลาที่เกิดเหตุแล้วต้องแจ้งพิกัด

ป้ายหวีดรถจักร

ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย

เป็นป้ายที่เชื่อว่าหลายคนมีคำถามมาโดยตลอด และที่สำคัญคือเป็นป้ายที่เจอบ่อยที่สุดแล้วในบรรดาป้ายทั้งหมด แถมเดายากด้วยว่าหมายถึงอะไร เพราะเป็นป้ายรูปวงกลมสีขาว มีตัวอักษร ‘ว’ ประทับ

ว หมายถึงอะไร วัดหรือเปล่า หรือว่าให้ส่งเสียงออกมาว่า “ว้าววววว”

อันนั้นก็แฟนตาซีไป จริง ๆ แล้ว ว ตัวนี้ย่อมาจาก ‘หวีดรถจักร’ ซึ่งก็คือหวูดที่เราคุ้นเคยนั่นแหละ แต่ในภาษารถไฟจะใช้คำว่า หวีด ซึ่งมีที่มาจากเสียงที่แหลมสูงตั้งแต่สมัยรถจักรไอน้ำ แถมก็คล้องกับของต่างประเทศที่ใช้คำว่า Whistle โดยป้ายลักษณะนี้ในต่างประเทศก็จะใช้คำเต็มมั่ง หรือหากย่อก็จะเป็นตัวอักษร W

ป้ายหวีดรถจักรมีสปีชีส์ย่อยลงมาอีก และแต่ละแบบก็จะบอกใบ้ให้เราทราบแตกต่างกันไป เริ่มจาก

‘ป้ายหวีดรถจักรทั่วไป’ หน้าตาก็เบสิกเลยคือเป็นป้ายวงกลมสีขาว ตัวอักษร ว เต็มวงกลมนั้น หมายถึงเป็นการเตือนทั่วไป เมื่อคนขับขับมาถึงตรงนี้และเห็นป้าย ก็เปิดหวีดรถจักร ปู๊น ๆ เข้าไปเป็นเสร็จพิธี

ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย

‘ป้ายหวีดรถจักรสำหรับถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟ ไม่มีเครื่องกั้นถนน’ อันนี้คล้ายเมื่อกี้ ต่างกันแค่มีเส้นใต้ตัวอักษร ว พาดยาวจนเหมือน ว แหวน ขีดเส้นใต้ หมายถึงด้านหน้ามีถนนตัดผ่าน และตรงนั้นไม่มีเครื่องกั้นหรืออุปกรณ์กั้นถนนใด ๆ ให้เพิ่มความระมัดระวังเข้าไป

ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย

‘ป้ายหวีดรถจักรสำหรับถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟมีเครื่องกั้นถนน แต่ไม่มีสัญญาณผ่านเสมอระดับทาง’ โอ้โหชื่อยาวมาก แต่จำง่าย ๆ ว่า ข้างหน้ามีถนน มีที่กั้นด้วยนะ แต่ไม่มีสัญญาณบอกให้ผ่าน คืออาจจะเป็นถนนที่ตัดผ่านและกั้นด้วยคน ต้องอาศัยดูสัญญาณธงหรือสัญญาณไฟจากคนกั้นถนนเอง อันนี้มีไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้เจอได้น้อยแล้ว

หน้าตาของมันคือป้ายวงกลม ว แหวน เหมือนทุกป้าย พร้อมออปชันเสริมด้านล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพร้อมกากบาทเต็มใบ

ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย

ป้ายหวีดรถจักรสำหรับถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟมีเครื่องกั้นถนน และมีสัญญาณผ่านเสมอระดับทาง’ อันนี้เจอบ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นที่กั้นมีคนกั้นหรือที่กั้นอัตโนมัติ ถ้าตัวกั้นนั้นเป็นระบบไฟฟ้าจะเชื่อมกับสัญญาณบอกรถไฟว่า ถนนกั้นเรียบร้อยแล้ว เป็นสัญญาณไฟสีขาวจำนวน 5 ดวง ซึ่งเจ้าป้ายนี้ก็จะมีรูปวงกลม 5 วง บอกไว้ว่าข้างหน้ามีเจ้าสัญญาณหน้าตาแบบนี้เลย ให้สังเกตไว้ ถ้ามันไม่ติด ไม่สว่าง ไม่กะพริบ จงชะลอและหยุดรถบัดเดี๋ยวนี้ เพราะที่กั้นยังไม่ลง

ถ้าหากเครื่องกั้นทำงานเรียบร้อย เจ้าไฟ 5 ดวงนั้นก็จะกะพริบวาบ ๆ เป็นกระสือให้รถไฟรู้ว่า ถนนกั้นแล้ว ผ่านเลยลูกพี่

ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย

สุดท้าย ‘ป้ายหวีดรถจักรสำหรับถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟมีเครื่องกั้น ถนนสัมพันธ์กับสัญญาณประจำที่ไม่มีสัญญาณผ่านถนนเสมอระดับทาง’ ยกให้อันนี้ชื่อยาวสุด มันมีรูปสัญญาณไฟจราจรเพิ่มเข้ามา ซึ่งหมายความว่า เจ้าถนนข้างหน้าน่ะมันมีเครื่องกั้นนะ แต่เจ้าเครื่องกั้นนี้มันสัมพันธ์กับสัญญาณไฟ ถ้าหากไฟไม่เขียวก็ห้ามวิ่งต่อล่ะ แต่ถ้าไฟเขียวเมื่อไหร่ก็คือผ่านได้เลย เครื่องกั้นทำงานเรียบร้อยแล้ว

ความหมายป้ายสัญลักษณ์จราจรรถไฟทั้งบนทางประธาน จุดผ่านประแจ บนเสาโทรเลข บนรางที่เสมอถนน ซึ่งเราเคยเห็น แต่ไม่เคยรู้ความหมาย

รถไฟก็เช่นเดียวกันกับรถยนต์ที่ต้องขับตามป้ายจราจรกำหนด ซึ่งแม้ว่าป้ายรถไฟนั้นจะดูเป็นป้ายเฉพาะความหมายจริง ๆ เราก็สนุกไปกับการนั่งรถไฟและดูป้ายคำสั่งนั้นได้ และที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟหรือรถยนต์ การขับขี่ตามป้ายจราจรและป้ายสัญญาณคือสิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ