ยังไม่ถึง Petronas Tower จะออกจากกัวลาลัมเปอร์ไม่ได้

เราเผลอหลับไปตอนไหนก็ไม่รู้ ตื่นมาอีกทีก็ช่วงเย็นแล้ว เป้าหมายวันนี้ต้องไปเห็นตึก Petronas Tower สัญลักษณ์ของ Malaysia, Truly Asia ให้ได้ และจะต้องไปถึงก่อนฟ้ามืดด้วยเพื่อจะได้ถ่ายรูปตอนโพล้เพล้

 

เดินทัวร์กัวลา

ที่นี่คือเมืองหลวงของมาเลเซีย ถ้าเป็นคนไทยจะออกเสียงชื่อเมืองนี้ว่า กัว-ลา-ลำ-เปอ แต่ถ้าฟังจากคนพื้นถิ่นการออกเสียงจะแตกต่างไปเล็กน้อยเป็น ‘กัว-ลา-ลุม-ปู’ ที่นี่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมาเลเซีย มักเรียกย่อๆ ว่า KL กัวลาลัมเปอร์เป็นหนึ่งในสามดินแดนสหพันธ์ของมาเลเซีย (Malaysian Federal Territories) ล้อมรอบด้วยรัฐสลังงอร์บนชายฝั่งตะวันตกตอนกลางของคาบสมุทรมลายู ฝ่ายบริหารของรัฐบาลได้ย้ายไปที่เมืองใหม่ใกล้ๆ กันชื่อ ปุตราจายา (Putrajaya)

พี่ตั้ม เพื่อนคนไทยของเราที่มาลงหลักปักฐานทำงานอยู่มาเลเซียบอกเราว่า ควรรีบออกจากโฮสเทลก่อน 4 โมงเย็น เราวางแผนกันว่าวันนี้คงจะไปไหนมากไม่ได้นอกจากเดินไปขึ้น LRT ที่สถานีมัสยิดจาเม็ก (Masjid Jamek) เพื่อต่อไป KLCC ความโชคดีคือโฮสเทลที่เราพักอยู่ใกล้กับท่ารถ Pasar Seni แค่ไม่กี่สิบก้าว พี่ตั้มให้เลือกว่าจะนั่งรถเมล์หรือจะเดิน ซึ่งแน่นอนว่าคนอย่างเราเลือกที่จะเดินเพื่อชมเมืองไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีเจ้าถิ่นอย่างพี่ตั้มอยู่ด้วยเราก็เดินเหมือนกัน แต่คงจะมะงุมมะงาหราพอสมควรเพราะไม่รู้จะไปทางไหน หรือมีที่ไหนให้ดูให้ชม

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

“คนมาเลย์เขาไม่นั่งแท็กซี่กันหรอกนะ โขกยังกับอะไรดี ไม่ต่างกับไทยเลย” พี่ตั้มบอกเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็จริงอย่างที่ว่า มีแท็กซี่ประมาณเกือบ 10 คันที่กำลังจดจ้องคนแปลกหน้าแปลกเชื้อชาติอย่างเราพร้อมโบกไม้โบกมือพูดภาษามาเลย์ซึ่งถ้าให้เดาคือ “ไปไหม ไปไหม”

พี่ตั้มลากเราเดินผ่านถนนสายแคบๆ ซอกแซกไปโผล่ที่สะพานแห่งหนึ่ง เป็นสะพานข้ามลำน้ำที่เราคาดไว้ว่าเป็นคลองแน่ๆ แต่ก็ต้องประหลาดใจว่าที่นี่เขาเรียกว่าแม่น้ำ

แม่น้ำที่มีความเหมือนคลองสาทร 2 สายมาบรรจบกัน ตรงปลายแหลมนั้นคือมัสยิดสีขาวสวยงาม มีฉากหลังเป็นตึกสูงใหญ่  

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

มัสยิดจาเม็กแห่งกัวลาลัมเปอร์ (Jamek Mosque of Kuala Lumpur) สร้างเมื่อปี 2452 ตรงจุดบรรจบของแม่น้ำกอมบัค (Gombak River) และแม่น้ำกลัง (Klang River) มัสยิดจาเม็กนับว่าเป็นมัสยิดเก่าแก่สุดของเมือง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างอิทธิพลศิลปะโมกุลแบบอินเดียและศิลปะมัวร์แบบสเปน แผนผังของอาคารใช้โดมสามโดมเรียงกันและรูปแบบของหอคอยตามแบบอินเดีย การใช้วัสดุสลับสีและอาร์ควงโค้งหลายวงต่อเนื่องกันนั้นกลับเป็นลักษณะสำคัญของศิลปะมัวร์ เนื่องจากมัสยิดนี้เป็นมัสยิดหลักของเมืองทำให้ตรงนี้กลายเป็นแลนด์มาร์กแรกๆ ของเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองขยายออกไป บริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘แม่น้ำแห่งชีวิต’ (River of Life)

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

ดวงอาทิตย์ยามเย็นเริ่มองศาต่ำลง เราก้าวไปตามถนนที่โอบล้อมไปด้วยตึกเก่าที่ทรงพลังในความสวยงามและสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ด้านหน้าปรากฏให้เห็นสนามหญ้าขนาดใหญ่พร้อมธงชาติมาเลเซียขนาดยักษ์ที่ปลิวไสวสวยงามสง่า ที่นีคือจัตุรัสเมอร์เดก้า (Merdeka Square)

Merdeka Square หรือในภาษามาเลย์เรียกว่า Merdeka Datalan เป็นสถานที่ซึ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศมาเลเซีย คำว่า Merdeka เป็นภาษามาเลย์แปลว่า อิสรภาพ

เที่ยงคืนวันที่ 31 สิงหาคม 1957 ประเทศมาเลเซียได้รับการประกาศให้ได้รับเอกราชเมื่อธงชาติของมาเลเซียขึ้นสู่ยอดเสาธงแห่งนี้เป็นครั้งแรกแทนที่ธงสหราชอาณาจักร ในทุกๆ วันประกาศอิสรภาพจะมีขบวนพาเหรดอย่างยิ่งใหญ่ที่จตุรัสเมอร์เดก้าแห่งนี้ เสาธงซึ่งยอดเสาคือธงชาติมาเลเซียที่โบกสะบัดไปตามแรงลมมีความสูง 95 เมตรยังถูกบันทึกให้เป็นเสาธงที่สูงที่สุดในโลกอีกด้วย

ฝั่งตรงข้ามของจัตุรัสเมอร์เดก้า คืออาคารสุลต่านอับดุลซามัด (Sultan Abdul Samad Building) สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2440 ตั้งชื่อตามพระนามของสุลต่านแห่งรัฐสลังงอร์ หอนาฬิกาสูง 40 เมตรที่อาคารนี้มักถูกเรียกว่าเป็น Big Ben แห่งมาเลเซีย ส่วนด้านบนเป็นโดมขนาดใหญ่สีทอง อาคารนี้สร้างเมื่อเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เพื่อใช้เป็นศูนย์บริหารอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ปัจจุบันอาคารแห่งนี้เป็นสำนักงานของศาลฎีกา

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

 

Train Family

อย่างที่บอกไปแต่แรกว่าระบบขนส่งมวลชนทางรางของมาเลเซียนั้นนำหน้าประเทศไทยไปสัก 2 – 3 ช่วงตัวแล้ว นั่นรวมถึงระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองด้วยเช่นกัน

ขออธิบายคร่าวๆ ก่อนว่า รถไฟที่เราเห็นไม่ได้เป็นประเภทเดียวกันทั้งหมด มันถูกแบ่งออกเป็น 4 จำพวกใหญ่ๆ ตามประเภทการให้บริการ

กลุ่มที่เล็กที่สุดคือ รถไฟในเมือง (Metro) เป็นรถไฟที่ให้บริการในเมืองนั่นแหละถ้าจะพูดกันตรงๆ จุดสังเกตของมันคือสถานีรถไฟจะอยู่กันในระยะที่เดินได้ รถไฟรอบถี่ ประตูเยอะเพื่อรองรับการเข้า-ออกของผู้โดยสารได้อย่างรวดเร็ว

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

รถไฟ LRT เป็นประเภทหนึ่งของรถไฟ Metro

กลุ่มต่อมาคือ รถไฟชานเมือง (Commuter) กลุ่มนี้คล้ายคลึงกับรถไฟในเมืองแต่จะวิ่งไกลกว่า สถานีห่างกว่าอยู่ในระยะที่เดินแล้วลิ้นห้อย ความเร็วมากกว่า Metro สูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 160 กม./ชม. จุดประสงค์คือเพื่อนำคนจากรอบนอกมหานครเข้าสู่ในเมือง

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

รถไฟชานเมืองของ KL ดำเนินการโดย KTMB ใช้รถไฟฟ้าชุด (EMU)

กลุ่มที่ 3 คือ รถไฟทางไกล (Intercity หรือ Long Distance) กลุ่มนี้จะเป็นแกนหลักของประเทศ วิ่งไกลไปทั้งประเทศ ใช้ความเร็วมากกว่า 80 กม./ชม. แต่ไม่ถึง 250 กม./ชม. มีตัวเลือกมากมาย อาจจะเป็นรถนั่งก็ได้ หรือรถนอนก็ได้ หรืออาจจะผสมผสานทั้งรถนั่งและรถนอนไปด้วยก็ได้ โดยจะมีกลุ่มย่อยอีก 2 แบบคือ รถไฟทางไกลพื้นฐาน (Conventional Train) ก็คือรถไฟทางไกลที่ความเร็วต่ำกว่า 250 กม./ชม. จะใช้ระบบดีเซลก็ได้หรือระบบไฟฟ้าก็ได้

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

รถไฟทางไกล ประเภทที่ใช้หัวรถจักรลากจูง

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

รถไฟทางไกล ประเภทใช้รถไฟฟ้าชุด (EMU)

ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) การเห็นรถไฟธรรมดาที่ดีไซน์ให้หน้าตาแหลมเหมือนจรวดก็สามารถสร้างความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรถไฟความเร็วสูงได้ คุณสมบัติของรถไฟความเร็วสูงคือการเชื่อมระหว่างเมืองใหญ่กับเมืองใหญ่เข้าด้วยกันโดยรถไฟที่มีความเร็ว 250 กม./ชม. ขึ้นไปวิ่งบนทางเฉพาะ สถานีอยู่ห่างในระยะมากกว่า 50 กม. ขึ้นไป และมีเฉพาะเมืองระดับใหญ่เท่านั้น อันนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีนะจ๊ะ

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

แผนที่ระบบขนส่งมวลชนในกัวลาลัมเปอร์

ถ้ากางแผนที่ของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกัวลาลัมเปอร์จะพบว่ามีหลากหลายเส้นทางมาก รวมแล้วมีทั้งหมด 10 สาย แบ่งเป็นรถไฟแบบ Metro 5 สาย (สาย 3 4 5 8 และ 9) และรถไฟแบบ Commuter 5 สาย (สาย 1 และ 2 เป็นรถไฟชานเมืองทางไกล และสาย 6 7 10 คือรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน)

ถ้าลากนิ้วไปบนแผนที่ เราจะพบว่ารถไฟเกือบทุกสาย ไม่ว่าจะเป็น Metro Intercity หรือ Commuter จะมารวมตัวกันที่สถานี KL Sentral ซึ่งเป็นสถานีรถไฟกลางของกัวลาลัมเปอร์และมาเลเซีย เรียกได้ว่าถ้าตั้งหลักไปไหนไม่ได้ก็ให้มายึดฐานที่มั่นที่ KL Sentral นี่แหละ

กลับมาที่ชะตากรรมของเราและพี่ตั้มกันต่อ

ขณะนี้เป็นเวลาเลิกงานของเหล่ามลายูชน ซึ่งแน่นอนว่ารถไฟฟ้าจะแน่นเป็นปลากระป๋องตราอะยัมแน่ๆ เราสองคนซอยเท้าผ่านด้านหลังมัสยิดจาเม็กไปที่สถานีรถไฟ LRT Masjid Jamek เพื่อนั่งรถไฟ LRT สาย Kelena Jaya ไปสถานี KLCC เพื่อไปตึกแฝดเปโตรนาส ระหว่างนั้นพี่ตั้มก็พูดแทรกเสียงหอบขึ้นมา

“ระวังกระเป๋าด้วยนะ KL ก็ไม่ได้ปลอดภัยขนาดนั้น”

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

 

Rush Hour

ทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าที่นี่แตกต่างจากบ้านเราคือประตูกั้นชานชาลา (Platform Gate) จะอยู่ด้านล่างเลย แบบมาถึงสถานีปุ๊บเจอปั๊บ และเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติก็เรียงรายเป็นสิบๆ เครื่อง ไม่ว่าจะนั่งสายไหนก็สามารถซื้อได้จากทุกสถานี นี่คือจุดแข็งที่รถไฟฟ้าที่นี่มี (และอาจจะทุกๆ ที่ด้วย)

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนว่าสถานีที่เราจะไปอยู่สายไหน จากนั้นกดเลือกสายและกดเลือกสถานีที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ พร้อมสอดธนบัตรเข้าไปได้เลยโดยไม่ต้องแลกเหรียญ เมื่อได้ตั๋วแล้วก็แตะตี๊ดเข้าพื้นที่สถานีได้เลย ซึ่งสถานีมัสยิดจาเม็กนี้เป็นสถานีร่วมของรถไฟ 3 สายด้วยกัน คือ สาย LRT Ampang (สาย 3) สาย LRT Sri Petaling (สาย 4) และสาย LRT Kelena Jaya (สาย 5) เราต้องระวังเป็นอย่างมากที่จะไม่ไปผิดชานชาลาและขึ้นผิดขบวน ที่นี่การตั้งชื่อสายรถไฟจะตั้งตามสถานที่หลักๆ ที่ขบวนรถไฟผ่าน เหมือน BTS บ้านเรานั่นแหละที่ตั้งว่าสายสุขุมวิทกับสายสีลม จำง่ายกว่าการตั้งชื่อเฉพาะให้สายรถไฟมีความแกรนด์ในชื่อแต่จำยาก นึกภาพว่าถ้าเราบอกกับแท็กซี่ว่า “พี่ครับไปสถานีรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล เตาปูน” คงแปลกๆ

ตามทางมีป้ายบอกเรื่อยๆ และการเชื่อมต่อของเขานั้นก็ต่างจากบ้านเราเช่นกันตรงที่ไม่ต้องติ๊ดตั๋วออกจากระบบแล้วไปขึ้นสายใหม่ เพียงแค่เราลงจากรถสายหนึ่งเดินตามทางไปเรื่อยๆ ก็จะเจอชานชาลาอีกสายหนึ่ง สนุกสุดๆ ไปเล้ยยยย

รถ LRT ที่นี่มาถี่มาก ถี่จน BTS บ้านเรายังอาย

“พี่ตั้ม Headway ที่นี่กี่นาที ทำไมถี่ขนาดนี้ รถเขาเยอะหรอ?”

“เออ รถเยอะ มีทั้งแบบ 4 ตู้ แบบ 2 ตู้ รถเยอะมาก เดี๋ยวออกมาใหม่เดี๋ยวออกมาใหม่อีกเหมือนประเทศนี้เงินเหลือเยอะอะ”

เราสังเกตรอบข้าง ไม่ว่ารถจะมาถี่ขนาดไหนก็ตาม ปริมาณคนก็ยังหลั่งไหลเข้ามาในสถานีเรื่อยๆ ในที่สุดรถไฟขบวนต่อไปก็จอดสนิทที่ชานชาลา ประตูรถเปิดออกพร้อมกับแรงผลักจากด้านหลัง เรารู้สึกตัวอีกทีก็เข้าไปอยู่กลางตู้แล้ว

บรรยากาศในตู้เต็มไปด้วยความแออัด อากาศหายใจสำหรับคนสูง 180 อย่างเราคือยังพอกล้อมแกล้ม สงสารก็แต่อาเจ้คนข้างหน้าเราที่สูงเทียบเท่าคางเราและกำลังถูกเบียดบังอากาศหายใจจากอาบังที่ล้อมหน้าล้อมหลัง เราได้แต่ส่งสายตาเป็นกำลังใจไปให้นางเท่านั้น และเหมือนเสียงสวรรค์ดังขึ้นเมื่อระบบอัตโนมัติในรถบอกเราว่าสถานีต่อไปคือ KLCC

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

 

The Two Towers

ชายหนุ่มคนไทย 2 คนหลุดออกมาจากสถานีรถไฟ KLCC แล้วเดินตรงไปที่ทางออก พี่ตั้มเดินนำเราออกมาที่ศูนย์อาหารเพื่อกินข้าวเย็น (และบ่าย) เพื่อรอแสงตะวันลดลงมากกว่านี้ก่อน แดดเดือนเมษายนที่กัวลาลัมเปอร์แผดเผาพอๆ กับกรุงเทพฯ

แดดร่มลมตกแล้วเราเดินออกไปด้านหน้าตึกที่มีคนหนาตา จังหวะนี้เรายังไม่ได้หันหลังไปมองตึก พี่ตั้มบอกว่าอยากให้เดินไปถึงจุดที่เหมาะสมก่อนแล้วค่อยหันหลังไปมองจะได้ประทับใจกับความใหญ่โตมโหฬารของมัน เราสองคนสาละวนหาทางแหวกฝูงชนและบรรดาพ่อค้าที่ถือกล้องถ่ายรูปเตรียมพร้อมถ่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่อยากมีรูปตัวเองคู่กับตึกแฝด ส่วนธุรกิจเสริมที่น่ารักน่าชังอีกอย่างคือการขายเลนส์ Fisheye ติดกับกล้องโทรศัพท์มือถือให้เก็บตึกได้ตั้งแต่ฐานยันยอด

“ตรงนี้แหละ หันกลับไปมองตึกได้แล้ว” พี่ตั้มบอกเรา

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

เราหมุนตัวขวับสายตากวาดจากล่างสุดไปบนสุด ในใจอยากอุทานแบบมีเสียงมากว่าใหญ่จังเลยเว้ยเฮ้ย ในที่สุดเราก็มาถึงแลนด์มาร์กที่ 3 ของทริปแล้ว ที่ที่อยากมานานแล้วแต่ไม่เคยได้มาสักที หัวใจเราลิงโลดมาก ตื่นเต้นสุดๆ มันเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่เห็นตึกระฟ้าใหญ่โตสูงเสียดฟ้าแบบนี้ รอบข้างก็เป็นตึกที่สูงมากๆ พอกันแต่ไม่มีตึกไหนเด่นเท่าเปโตรนาสเลย

รู้สึกตัวเองเชยยังไงก็ไม่รู้

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

ตึกแฝดเปโตรนาสเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของมาเลเซีย ออกแบบโดยเซซาร์ เปลลี พื้นที่บริเวณนี้เรียกว่า KLCC (Kuala Lumpur Convention Center) ตึกแฝดคู่นี้สร้างขึ้นในปี 2536 และเสร็จในปี 2541 ครองแชมป์ตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลกที่ความสูง 451.9 เมตร และเคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกก่อนโค่นแชมป์ลงโดยตึกไทเป 101

ชื่อเปโตรนาสทาวเวอร์มาจากชื่อบริษัทพลังงานเจ้าใหญ่ที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นหุ้นหลัก ‘เปโตรนาส’ ซึ่งที่ทำการอยู่ในอาคาร 1 ส่วนพื้นที่อื่นๆ และอาคาร 2 ให้บริษัทอื่นๆ เป็นผู้เช่า ความโดดเด่นอีกสิ่งของที่นี่คือถูกเชื่อมตรงกลางด้วยสะพานลอยฟ้าเชื่อม 2 อาคารเข้าด้วยกัน เมื่อแสงของวันสิ้นสุดลงเปโตรนาสก็สว่างไสวไปด้วยไฟที่ประดับไว้รอบดึกเสริมให้มุมเหลี่ยมต่างๆ ของตึกดูน่าเกรงขามในความมืดนั้น

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

พี่ตั้มชวนเราเดินลัดตึกออกไปอีกฝั่งเพื่อไปดูน้ำพุเต้นระบำอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นสวนสาธารณะ ด้านนี้คนน้อยกว่าที่เราไปเมื่อกี้ อีกไม่นานนักก็จะได้เวลาแสดงแล้วเราสองคนเร่งฝีเท้าเดินไปตามทางจ๊อกกิ้งเพื่อหามุมสูงหนึ่งในสวนสาธารณะรอคอยการแสดงนั้น

เมื่อถึงเวลา เสียงเพลงดังขึ้นพร้อมน้ำพุและแสงสีที่เต้นเป็นจังหวะเพลง รอบข้างมีคนมานั่งดูมากมายทั้งคนมาเลเซีย นักท่องเที่ยว รวมถึงคนที่มาออกกำลังกายที่นี่

ถ้าสวนลุมคือพื้นที่กิจกรรมและจุดชมตึกสวยในกรุงเทพ สวน KLCC ก็คงเหมือนกัน

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

 

รถไฟรางเดี่ยว

จู่ๆ เราก็เกิดอยากนั่งรถไฟรางเดี่ยว (Monorail) ขึ้นมากะทันหัน ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแค่มาเลเซียเนี่ยแหละที่มีโมโนเรลใช้เป็นเรื่องเป็นราว ปฏิบัติการหาทางกลับโรงแรมแบบอ้อมๆ เพื่อได้นั่งโมโนเรลก็เกิดขึ้น สถานีที่ใกล้กับเรามากที่สุดตอนนี้คือ Bukit Bintang

พี่ตั้มลากเราขึ้นรถเมล์ฟรีไปที่ย่านการค้า Bukit Bintang แล้วเดินตามทางอีกนิดหน่อยไปถึงสี่แยกที่มีความละม้ายคล้ายถนนข้าวสารบ้านเราเป็นอย่างมาก ด้านตรงสี่แยกนั้นคือสถานี Bukit Bintang ที่มีสัญลักษณ์ Air Asia หรามาก พี่ตั้มพูดขำๆ ว่าแอร์เอเชียซื้อสถานีนี้ไปแล้ว ขนาดเสียงประกาศในสถานียังเรียกว่า “Next station Air Asia Bukit Bintang” เลย

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

นี่คือรถไฟรางเดี่ยวสายเดียวในกัวลาลัมเปอร์ คำว่ารถไฟรางเดี่ยวไม่ได้หมายความว่าสวนทางกันไม่ได้ รางเดี่ยวในที่นี้คือทางรถไฟไม่มีค่าความกว้างใดๆ ลองนึกภาพทางรถไฟปกติที่เป็นเหล็กเส้น 2 เส้นวางขนานกันไปแล้วมีหมอนยึดรางทั้งสองไว้ แต่รถไฟรางเดี่ยวมันต่างกันตรงที่ทางวิ่งเป็นเพียงคานคอนกรีตเส้นเดียวบังคับให้ลูกล้อยางวิ่งไปตามเส้นทาง จึงเรียกว่ารถไฟรางเดี่ยว ภาษาอังกฤษคือ Monorail (Mono แปลว่าหนึ่ง และ Rail แปลว่ารางรถไฟ) ส่วนเส้นทางนั้นเป็นทางคู่ให้รถไฟรางเดี่ยวที่วิ่งอยู่สวนกันได้ไม่ต้องรอหลีก

มันก็คือรถไฟรางเดี่ยวที่วิ่งแบบทางคู่นั่นแหละ งงไหม ถ้างงกลับไปอ่านย่อหน้าตะกี้ใหม่

ทางรถไฟของรถไฟรางเดี่ยว (Monorail) เป็นเพียงคานคอนกรีตให้รถไฟลูกล้อยางวิ่งไปบนไกด์เวย์นั้น ไม่ได้มีลักษณะเหมือนทางรถไฟที่เป็นเหล็กเส้นมีหมอนรองรางแบบที่เราคุ้นเคย

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

โมโนเรลจัดอยู่ในรถไฟประเภท Metro เส้นที่เรากำลังยืนอยู่นี้มีชื่อว่า KL Monorail ต้นทางมาจากสถานี Kl Sentral ปลายทางที่สถานี Titiwangsa ระยะทาง 8.6 กม. เปิดใช้ตั้งแต่ปี 2003

สถานี Bukit Bintang เป็นชานชาลาด้านข้าง แต่ความพิลึกพิลั่นคือมีสะพานลอยข้ามทางรถไฟจากชานชาลาขาออกไปชานชาลาขาเข้า ซึ่งเราไม่เคยเห็นรถไฟ Metro ที่ไหนเป็นแบบนี้มาก่อน นอกจากนั้นประตูกั้นชานชาลาก็มีเพียงแค่กระจกกั้นเอาไว้แต่ไม่มีประตูปิดเปิดแบบรถไฟฟ้า BTS

ไม่นานนักขบวนรถไฟก็เข้ามาถึง ลักษณะตู้รถไฟอ้วนป้อมสั้นกว่ารถไฟแบบปกติ ด้านหัวขบวนมีที่ให้ยืนด้านหลังคนขับพอดีเป๊ะ ซึ่งมี Partition บางๆ ที่กั้นตรงกลางระหว่างเรากับคนขับเท่านั้น ได้แค่เพียงเห็นหน้ากันแต่ไม่มีวันได้เจอ (เอ้า เพลงพี่บีก็มา) ไม่นานนักประตูก็ปิด รถไฟเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วออกจากสถานีพร้อมแรงสั่นสะเทือนที่มีพอสมควร ชวนให้ระทึกขวัญว่ามันจะร่วงลงไปเบื้องล่างหรือไม่

รถไฟโมโนเรลเหมาะกับพื้นที่ที่มีอุปสรรคด้านพื้นที่สูง เช่นในเมืองชั้นในที่มีซอกซอยเยอะ ข้อดีของมันคือโครงสร้างสามารถซอกแซกได้ดี เข้าโค้งได้ในรัศมีที่แคบกว่ารถไฟแบบปกติ แต่ข้อเสียคือวิ่งได้ช้ากว่า จุคนได้น้อยกว่า และมีความสั่นสะเทือนสูงกว่ารถไฟที่ใช้รางเหล็ก ในประเทศไทยนั้นกำลังอยู่ระหว่างการสร้างโมโนเรล 2 สายแรก นั่นคือสายสีชมพู (ปากเกร็ด-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราก็จะได้นั่ง ‘รถไฟรางเดี่ยว’ ในประเทศไทยแล้ว

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

สถานี KL Sentral คือจุดสิ้นสุดปลายทางของโมโนเรลขบวนนี้ เราสองคนเดินผ่านร้านค้าในสถานีไประยะหนึ่งเพื่อต่อรถไฟอีกสายไปที่พัก วันนี้ก็ถือว่าได้เห็นระบบขนส่งมวลชนแบบ Metro ใน KL เต็มอิ่มพอสมควร

ไฟในห้องดับลงพร้อมกับเปลือกตาที่หนักอึ้ง ถึงเวลาที่เราต้องพักเก็บแรงไว้สำหรับการเดินทางต่ออีก 1 วันเต็มๆ จากกัวลาลัมเปอร์ไปสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการเดินทางหลายทอดที่ได้วางแผนล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดี

ซึ่งเราไม่ได้รู้ชะตาตัวเองเลยว่าวันพรุ่งนี้นี่แหละที่เป็นวันซวยที่สุดของเรา