15 พฤศจิกายน 2018
5 K

12 เมษายน 2561

วันดีๆ?

ต้องขอเกริ่นก่อนว่าประสบการณ์ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปคือการเล่าเรื่องที่มีอินเนอร์ที่สุดตั้งแต่เคยขีดเขียนมา เป็นการรัวคีย์บอร์ดที่เมามันมาก ความทรงจำและอารมณ์มันพรั่งพรูออกมาเกินจะห้ามไหว ถ้าใครได้อ่านทุกตัวอักษรคงได้ยินเสียงเรานั่งเม้ามอยให้ฟังพร้อมแอ็กชั่นที่ได้อรรถรส เพราะนี่คือเรื่องราวที่เรียกได้ว่า ‘ซวยที่สุด’ ตั้งแต่สตาร์ทจากเวียงจันทน์ ไม่สิ น่าจะซวยที่สุดตั้งแต่นั่งรถไฟเที่ยวมา มันเป็นวันที่ระทึกขวัญมากจนทำให้เราเหลียวกลับไปคิดว่าวันแรกที่ออกมาจากไทย เราก้าวเท้าไหนตอนออกประเทศกันแน่?

มาเลเซีย

 

เข้าชาน

11.00 น. รองเท้าคู่โปรดที่เปื้อนฝุ่นมาตั้งแต่เวียงจันทน์พาลากสังขารมายืนงงอยู่กลางโถง ‘สถานี KL Sentral’ สถานีรถไฟหลักของประเทศมาเลเซีย และเป็นสถานีกลางแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถานีรถไฟนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนสถานีกัวลาลัมเปอร์เดิมซึ่งรองรับรถไฟได้เพียงไม่กี่ขบวน นอกจากรถไฟทางไกล รถไฟชานเมืองแล้ว สถานี KL Sentral แห่งนี้ยังรองรับรถไฟฟ้า Metro สายต่างๆ ในนครกัวลาลัมเปอร์อีกด้วย เรียกได้ว่าถ้าหลงทางหรือไปไหนไม่ถูกก็ให้มาตั้งต้นที่สถานีนี้นี่แหละ ซึ่งสถานีกลางในรูปแบบนี้กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยคือ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นสถานีหลักแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ

ปี 64 ต้องไปขึ้นรถไฟที่บางซื่อแล้วนะ

มาเลเซีย มาเลเซีย

สถานีรถไฟ KL Sentral

สถานีรถไฟในมาเลเซียเกือบทุกแห่งเป็นสถานีรถไฟระบบปิด คำว่า ‘ระบบปิด’ ไม่ได้แปลว่าลงกลอนล็อกประตู แต่หมายถึงระบบการจัดการพื้นที่สถานีเหมือนกับสนามบิน ไม่มีตั๋วเข้าชานชาลาไม่ได้ต้องรอคอยเวลาเรียกเท่านั้น มันเป็นสวรรค์ของนักเดินทาง แต่ก็เป็นฝันร้ายของคนชอบรถไฟที่ไม่มีโอกาสได้เห็นตัวรถไฟเลยหากไม่ได้เดินทาง ส่วนตัวแล้วเรากลับชอบระบบปิดแบบนี้นะ เพราะว่ามันกรองคนง่ายดี ไม่ต้องกังวลว่าจะขึ้นขบวนผิดด้วย ใครมาช้าก็ตกรถไฟไป

ตอนนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 30 นาทีจะได้เวลาที่รถด่วนขบวนที่ตีตั๋วจะมาถึงสถานี วันนี้ก็ต้องกลับใช้ ETS เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือไปลงที่สถานีเกอมัส (Gemas) อันเป็นสถานีสุดท้ายที่รถไฟฟ้าวิ่งไปถึง เลยจากนั้นไปจะเป็นรถไฟทางเดี่ยวไม่มีระบบไฟฟ้ายาวไปถึงสถานีวู้ดแลนด์ส (Woodlands) ในสิงคโปร์โน่นแน่ะ

ตั๋วที่หน้าตาเหมือนสลิป ATM ถูกยื่นให้เจ้าหน้าที่ของ KTMB ดูพร้อมคำถามว่าเมื่อไหร่จะเรียกขึ้นรถ อีกไม่กี่นาทีรถไฟจะมาแล้วทำไมดูชิลล์กันจังเลย อาบังหยิบตั๋วไปดูแบบงงๆ ก่อนจะบอกว่ารถไฟช้าอยู่ 30 นาที ไปหาอะไรกินก่อนไป ก็ดีเหมือนกัน ขอตุนของกินเป็นหมีจำศีล เพราะไม่อยากกินข้าวบนรถไฟแล้ว อีกอย่างคือไม่รู้ว่าจากเกอมัสไปยะโฮร์จะกันดารขนาดไหน คติคือเที่ยวไม่สนุกไม่เป็นไร ขอไม่อดตายเป็นพอ

มาเลเซีย

ไม่ทันจะถึง 30 นาที อาบังคนเดิมก็แผดเสียงตะโกนเรียกบรรดาผู้โดยสารที่ยืนรอกันอยู่ตรงหน้าประตูเข้าชานชาลาเป็นภาษามลายูที่จับใจความได้ว่ารถไฟไปเกอมัสจะมาแล้ว ใครถือตั๋วขบวนนี้ให้มาตรวจตั๋วได้เลย

เอ้า ตายแล้ว นี่ยังกินเบอร์เกอร์อยู่เต็มปาก จะมีทางเลือกอะไรนอกจากโกยทุกสิ่งลงถุงแล้วลากสัมภาระอีนุงตุงนังไปต่อแถวรอเข้าชานชาลา พอตรวจตั๋วรอบที่ 1 เสร็จปั๊บก็เดินแถวเข้าประตูระบบอัตโนมือตามมลายูชนไปจนถึงชั้นชานชาลาที่น่าจะมีธีม Night at the Station เป็นแรงบันดาลใจ เพราะว่าชานชาลาของสถานี KL Sentral ไม่ต่างอะไรกับสถานีรถไฟใต้ดินที่ไม่มีประตูกั้นชานชาลาทอดยาวขนานไปกับทางรถไฟ ปลายสุดของชานชาลามีแสงสว่างเป็นรูเล็กๆ ให้รับรู้ว่าทางรถไฟมาจากตรงนั้นนะ ไม่ต้องถามถึงแอร์ ไม่มีเลย ไม่มีเลยจริงๆ

มาเลเซีย

ทางรถไฟที่เห็นอยู่ข้างหน้านี้ไม่ได้มุดดินมาจากไหน แต่สถานีซึ่งใหญ่อย่างกับเทอร์มินัลสนามบินที่คลุมเอาไว้ทำให้ชานชาลาดูอึดอัดและไม่น่านั่งนานเป็นที่สุด ภาวนาอย่างเดียว รถไฟจ๋ารีบมาเถอะ

อึดใจเดียว เสียงปู๊นก็ดังขึ้น

เหมือนปฏิกิริยา Reflex ร่างกายเด้งขึ้นมาทันทีแล้วก็มีลมวูบมาด้านหลัง

อ้าว ไม่ใช่รถเรา….นี่มันรถ KTM Komuter ฉันต้องรอต่อไปสินะ แต่ก่อนรถจะมาขอแอบดูหน่อยว่าคนที่นี่ใช้รถไฟเยอะไหม

มาเลเซีย

รถไฟฟ้าความยาว 6 ตู้ สีขาวคาดสีแดง จอดสนิท ประตูเปิด มหาชนหลั่งไหลออกมาจากตู้รถ แล้วคนอีกกลุ่มหนึ่งบนชานชาลาก็แทรกตัวเข้าไปทันที ตรงข้างหน้าเรามีสติกเกอร์สีชมพูหวานแหววบอกไว้ว่า 2 ตู้นี้เป็นของผู้หญิงนะ ผู้ชายห้ามแหยมเข้ามา รถไฟชานเมืองของมาเลเซียมีตู้ Lady Car ไว้ด้วย คงเป็นเพราะข้อจำกัดทางศาสนาและวัฒนธรรมของเขานั่นแหละ ก็เลยมีรถเลดี้คาร์เอาไว้ให้เฉพาะบรรดาสาวๆ มลายูชนที่เป็นมุสลิมนี่แหละ

ไม่ถึง 10 นาทีรถด่วน ETS หน้าแหลมเหมือนปลาไหลมอเรย์ก็มาจอดสนิทที่หน้ารา พอคนในรถลงปุ๊บ เราก็ขึ้นปั๊บ ถึงเวลาที่จะได้นั่งเอนหลังชาร์จแบตโทรศัพท์สบายใจสักที

มาเลเซีย

ทำเลวันนี้ดีมาก ที่นั่งอยู่ตรงหน้าต่างบานใหญ่พอดีเป๊ะ นี่แอบโกรธแค้นคนที่จองตั๋วให้มากเพราะขามาโดนขอบหน้าต่างเต็มๆ จะดูวิวทีต้องเอนตัวไปข้างหน้าแทบทักทายลุงที่นั่งอยู่ข้างหน้ามาตลอดทาง เมื่อชัยภูมิดีอะไรก็ดี การเริ่มต้นวันดีๆ ก็เกิดขึ้น เราก้มลงไปเสียบชาร์จโทรศัพท์กับปลั๊กที่อยู่ใต้เบาะ

เงียบ นิ่ง ไม่ไหวติง….ปลั๊กใต้ที่นั่งเสีย…อืม

ช่างมัน ชะตาชีวิตของคนที่นั่งรถไฟได้ถูกกำหนดแล้วให้โฟกัสและดื่มด่ำไปกับสองข้างทาง เราควรใช้เวลานี้เพื่อเก็บภาพเข้าสมองให้ได้มากที่สุดจะดีกว่า

รถไฟออกจากสถานี KL Sentral ไปอย่างรวดเร็วและโยกเยก ทางรถไฟในเขตกัวลาลัมเปอร์นั้นแย่ยิ่งกว่าของรถไฟไทยในกรุงเทพฯ ซะอีก ความกระโดกกระเดกผันแปรไปตามความเร็ว ถ้ารถยิ่งเร็วมากก็ยิ่งโยกมาก KTMB จึงได้ลดความตีนผีของรถไฟด้วยการจำกัดความเร็วอยู่ที่ราวๆ 80 – 100 กม. / ชม. สภาพสองข้างทางเต็มไปด้วยตึกสูง บ้านเรือน และถนนที่ตัดไขว้ไปไขว้มา พักหนึ่งพนักงานสาวก็เดินมาขอตรวจตั๋วอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่ามนุษย์ทุกคนที่อยู่ในรถไฟไม่ได้ขึ้นรถผิด เธอเช็กตั๋วเรากับเช็กลิสต์ในมือแล้วใช้อุปกรณ์พิเศษหนีบไปที่ตั๋ว

ตอนแรกคาดไว้เลยว่ามันต้องเหมือนไทยแน่นอน มันต้องเป็นกรรไกรตัดตั๋วแล้วมีรอยตัดสวยๆ ขอบกระดาษแน่ๆ

เซอร์ไพรส์กว่า คือมันเป็นตรายางประทับชื่อเจ้าหน้าที่คนนั้น รอยน้ำหมึกสีน้ำเงินเผยให้เห็นรูปตัวการ์ตูนตัวหนึ่งซึ่งเป็นมาสคอตของรถด่วน ETS

โคตรคูล

ถ้ารถไฟไทยอยากทำมั่ง คงต้องตั้งชื่อมาสคอตว่าน้องล้อปีกแล้วล่ะ

มาเลเซีย

ข้างทางตอนนี้เปลี่ยนสภาพจากตึกกลายเป็นต้นไม้หนาทึบของชานเมืองกัวลาลัมเปอร์ วิวเปลี่ยนไปแต่ความโยกเยกก็ยังคงยืนยง แม้ว่าทางรถไฟจาก KL Sentral ไปที่สถานีเซเรมบัง (Seremban) จะยังมีความ Old Gen อยู่ ความเร็วก็ไม่มาก แต่รถไฟก็สวนไปไม่น้อยเช่นกัน นี่หมายความว่าคนมาเลเซียนี่ใช้รถไฟจากชานเมืองเข้ามาถึงตัวเมืองหลวงเยอะพอสมควรเหมือนกัน คำตอบยิ่งเด่นชัดเมื่อรถไฟมาจอดที่สถานีเซเรมบัง ซึ่งเป็นสุดสายของรถไฟชานเมือง บางขบวนจะวิ่งไปถึงปูเลาเซบัง (Pulau Sebang) / ทัมปิน (Tampin) ที่เซเรมบังเป็นโรงเก็บรถไฟฟ้า Komuter และสถานีนี้มีความผสมผสานระหว่างสถานีในรูปแบบใหม่ที่อยู่ร่วมกับหลังคาชานชาลาไม้แบบเก่าได้อย่างลงตัวจริงๆ

มาเลเซีย มาเลเซีย

สถานี Seremban (เซเร็มบัน)

มาเลเซีย

เวลาบนรถผ่านไป 3 ชั่วโมงกว่าที่แบตโทรศัพท์ยังไม่หมดและหนาวขดอยู่กับที่นั่ง ตอนนี้รถไฟมาถึงสถานีเกอมัสเรียบร้อยโรงเรียน KTMB

สถานีเกอมัสมันคือสถานีใหม่เช้ง ในขณะที่รอบๆ สถานีนั้นคือตึกอารมณ์เมืองเก่า

ถ้าจะให้นิยามกันแบบง่ายๆ นั่นคือสถานีเกอมัสไม่ได้อ่านไลน์กลุ่ม

 

ชุมทางเกอมัส Gemas Junction

รถไฟจอดปุ๊บ อยู่ๆ ผู้ชายตัวใหญ่คนหนึ่งพร้อมป้าที่อายุน่าจะอยู่ในสมาคมอาม่าแห่งมาเลเซียก็เดินตัดหน้าออกจากรถไปอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยเพื่อนร่วมทางราวๆ ร้อยชีวิตเดินเรียงแถวกันพร้อมเพรียงไปที่ทางออก ซึ่งต้องขึ้นบันไดเลื่อนไปชั้นสองและเดินข้ามทางรถไฟด้วยทางเดินยกระดับเข้าไปในอาคารสถานี

สถานีรถไฟชุมทางเกอมัสเป็นชุมทางใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย

มาเลเซีย

สถานีรถไฟเกอมัสปัจจุบัน

คำว่า ชุมทาง ไม่ได้หมายถึงสถานีรถไฟใหญ่ หรือสถานีรถไฟที่มีทางชุกชุม

ความหมายของ ชุมทาง คือสถานีรถไฟซึ่งเป็นจุดแยกของทางสายหลักกับทางรถไฟสายหลักอีกสายหรือทางรถไฟสายรอง ตีความง่ายๆ มันคือสามแยกหรือสี่แยกของรถไฟนั่นเอง

สถานีชุมทางเกอมัสเป็นจุดแยกระหว่างทางรถไฟสายตะวันตกที่มุ่งหน้าขึ้นเหนือไปกัวลาลัมเปอร์ อิโปห์ และบัตเตอร์เวอร์ธ

สายหนึ่งคือทางรถไฟสายตะวันออกที่เราจะได้นั่งตอนขากลับ เส้นทางมุ่งหน้าขึ้นทางทิศเหนือไปตามแนวเมืองด้านตะวันออกของมาเลเซีย ผ่านกัวมูซาง (Gua Musang) ไปสุดที่สถานีตุมปัต (Tumpat) รัฐกลันตัน เมืองชายแดนที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีรถไฟสายสั้นๆ จากสถานีปาเซมัส (Pasir Mas) ไปเชื่อมกับทางรถไฟสายใต้ของไทยที่สถานีสุไหงโก-ลก

ส่วนตั้งแต่สถานีเกอมัสลงไปถึงสถานี JB Sentral คือทางรถไฟสายใต้ ซึ่งทางรถไฟสายตะวันออกและทางรถไฟสายใต้ของมาเลเซียไม่มีระบบไฟฟ้า รถไฟทุกขบวนที่วิ่งผ่านเส้นนี้ใช้หัวรถจักรดีเซลลากจูงเหมือนรถไฟในไทย ต่างแค่รอบขบวนน้อยกว่า รถไฟสั้นกว่า และทางแย่กว่า

มาเลเซีย มาเลเซีย มาเลเซีย

เรามีเวลาอีก 2 ชั่วโมงที่จะเตร็ดเตร่ในเมืองนี้ และดูเหมือนว่าเวลาจะมากเกินไป เพราะเมืองนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจากร้าน KFC หลังสถานีรถไฟและตัวอาคารสถานีรถไฟเกอมัสหลังเดิมที่ยกเลิกใช้งานไปแล้ว ซึ่งทาง KTMB ขอเก็บเจ้าสถานีนี้ไว้เป็นอนุสรณ์แบบอนุรักษ์อาคารเก่า

มันถูกเก็บรักษาไว้แค่ไม่ให้ถล่มโดยมีร้านขายข้าวตั้งอยู่แทนตัวสถานีเดิม รักษาบรรยากาศไว้ไม่ให้ร้างและยังดูมีชีวิต สิ่งที่ยังคงความขลังอยู่คงจะเป็นหลังคาชานชาลาที่มีเค้าความงามโดดเด้งออกมาเนี่ยแหละ

มาเลเซีย มาเลเซีย มาเลเซีย

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสถานีนี้ทำให้เรานึกถึงสถานีรถไฟที่มีลักษณะคล้ายกันในไทยคือสถานีสงขลา สถานีกันตัง และสถานีชุมทางเขาชุมทอง ที่มีหลังคาชานชาลา (Platform Canopy) ที่เป็นเอกลักษณ์ของสถานีในแบบอังกริ๊ดอังกฤษผสมผสานกับความเอเชียอาคเนย์…แหงล่ะสิ ก็ทางรถไฟสายใต้ของไทยกับทางรถไฟของมาเลเซียอังกฤษเป็นคนสร้างนี่ ไม่แปลกเลยที่ลักษณะการตัดเส้นทางหรือตัวอาคารสถานีจะมีความคล้ายคลึงกันมาก ซึ่งสถานีเกอมัสนั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟเก่าที่สวยงามมากทีเดียว

มาเลเซีย

สถานีเกอมัสในอดีต

มาเลเซีย

สถานีเกอมัสอาคารดั้งเดิมในปัจจุบัน มีฉากหลังเป็นอาคารใหม่

นอกจากอาคารสถานีเก่า ชานชาลา หลังคา อีกสองสามสิ่งที่ยังคงอยู่ที่เดิมไม่ไปไหนก็คือป้ายสถานี ตู้รถไฟเก่า และสะพานรถไฟที่เต็มไปด้วยวัชพืช ทั้งหมดนี้คงเป็นสิ่งที่ยังทำให้ระลึกอยู่ได้ว่าสถานีรถไฟนี้เคยมีชีวิตมาก่อน

มาเลเซีย มาเลเซีย

แป๊บๆ ก็จะหมดเวลาแล้ว ถึงเวลาที่ต้องเดินกลับไปสถานีเพื่อรอขึ้นรถไฟขบวนต่อไปที่จะมาถึงตอนสี่โมงครึ่ง อดทนไว้ อีกนิดเดียวจะถึงปลายแหลมมลายูแล้ว ระหว่างรอรถไฟเป็นการนั่งฝันหวานถึงวิวสองข้างทาง จากเกอมัสไปยะโฮร์บาห์รูวิวจะเป็นยังไงน้อ รถไฟชั้นสองของมาเลที่ใช้รถจักรลากจะนั่งสบายเหมือนของบ้านเราหรือเปล่า ถึงด่านแล้วจะข้ามไปสิงคโปร์นี่มันจะวิเศษขนาดไหนนะ

ซึ่งคุณครับ…เหตุการณ์ระทึกขวัญกำลังเกิดขึ้นแล้วครับ

มาเลเซีย

ตอนนี้เวลาสี่โมงสิบห้าแล้วแต่ไม่มีวี่แววที่เจ้าหน้าที่จะเรียกผู้โดยสารขึ้นรถเลย แล้วอยู่ๆ เจ้าหน้าที่ KTMB ร่างใหญ่คนหนึ่งก็เดินไปหาผู้โดยสารทีละคน ขอดูตั๋ว และงึมงำกันเป็นภาษามลายูที่เราไม่เข้าใจ ซึ่งดูจากปฏิกิริยาของหลายๆ คนเริ่มมีการลุกขึ้นและทำหน้าตาแปลกๆ

มันต้องมีอะไรแน่ๆ เลยครับคุ้ณณณณ

ไม่นานนักเริ่มมีคนลุกไปที่ช่องขายตั๋ว เอาล่ะสิ ไม่ได้การแล้ว ต้องลุกไปถามมั่ง

“ขอโทษนะ ขบวนที่จะไป JB Sentral ตอนนี้ใกล้เรียกหรือยังครับ”

“คุณจะไปไหน”

“JB Sentral ครับ” พูดไม่พอ ยื่นตั๋วให้ดูซะเลย

อาบังทำหน้าวิเคราะห์แว้บหนึ่ง ก่อนจะเปล่งเสียงออกมาด้วยความจริงจังเหมือนแถลงการณ์ช่องรวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

“ต้องขอโทษด้วย ตอนนี้รถไฟของคุณเสียเวลามาก หัวรถจักรเสียอยู่ที่สถานีเบก๊อก (Bekok) แล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้ออกมาตอนกี่โมง รถขบวนจะต้องวิ่งไปสถานีทัมปินก่อน แล้วค่อยวกกลับมาที่นี่ ผมไม่อยากให้คุณรอ เอาตั๋วคุณมา ผมจะคืนเงินให้ แล้วก็หาวิธีอื่นไปยะโฮร์เองนะ”

เปรี้ยง!

ถ้าเป็นละครไทยอะไรบางอย่างในมือคงจะร่วงไปแตกกระจายอยู่บนพื้น

อะไรนะ…นี่เขาจะให้คืนตั๋วแล้วหาวิธีไปเองอย่างนั้นหรอ? อย่างนั้นหรอ???

ไม่ จะต้องถามให้ได้ มันต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ๆ เลยคุณกิตติ

“ขอโทษนะครับ รถมันช้ามากขนาดนั้นเลยหรอครับ พอจะคาดเดาเวลาได้ไหมว่ารถจะมาถึงเกอมัสกี่โมง”  

“ผมบอกไม่ได้ บางทีอาจจะ 2 ทุ่ม บางทีก็อาจจะไม่วิ่งเลย คุณมี 2 ทางเลือก คือรอ หรือคืนเงินแล้วหารถไปเอง ด้านหลังมีสถานีรถบัส” ฮีตอบแล้วชี้ไปหลังสถานี ซึ่งมองตามนิ้วไปแล้วมันไม่เห็นโว้ย เห็นแต่บ้านคน!

มาเลเซีย

บอกตรงๆ ว่าไม่ได้วางแผนสองมาเลยสักนิด

นี่เคยมีคนบอกแล้วว่ารถไฟมาเลเซียสร้างเซอร์ไพรส์เยอะนะ เยอะกว่ารถไฟไทยอีกนะ แต่ก็ไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเอง

ตอนนั้นอารมณ์ยังคงมีความกึ่งๆ อยู่ระหว่างเรื่องจริงหรือแค่สื่อสารผิด ลองถามอีกคนหนึ่งดูแล้วกัน

“ขอโทษนะครับ รถไฟช้าจริงๆ ใช่ไหมครับ” เจ้าหน้าที่สาวเหลือกตาขึ้นมามองแล้วพูดย้ำกับเราให้มีสติว่าคุณคะนี่เรื่องจริงค่ะ

“ใช่ค่ะ คืน ตั๋ว แล้ว หา รถ บัส ไป แทน นะ คะ” พูดจบตั๋วก็หลุดออกจากมือ แล้วแทนที่ด้วยเงิน 40 ริงกิต นั่นหมายความว่า

โดนรถไฟเทแล้วจ้า

ตอนนั้นในใจนี่ไม่รู้จะรู้สึกยังไงก่อนดี คือที่ประเทศไทยถ้ารถไฟมีเหตุจนต้องยกเลิกเที่ยวรถกะทันหัน รฟท. จะเอารถบัสพาคนที่ค้างเติ่งบนรถไฟและสถานีไปส่งปลายทางหรือขนไปขึ้นรถไฟอีกขบวนหนึ่งที่จะรับไปส่งต่อ

นี่ฉันทำงานหาเงินหาวันหยุดมาเพื่อจะได้นั่งรถไฟจากเวียงจันทน์ไปสิงคโปร์ ฉันรอมาตั้งหลายปี ฉันเก็บตังค์มาเกือบปี แล้วนี่ฉันเหลืออีกนิดเดียวจะถึงแล้ว มาตอนนี้บอกว่ารถไฟช้ามาก เอาเงินคืนไป แล้วหารถบัสไปเองเนี่ยนะ พูดออกมาได้ เฮงซวย!

นั่นก็แค่คิด….แต่ปากก็ตอบเจ้กลับไปว่า

“Thank you”

อีกนิดอีกหน่อย

  1. สำหรับคนที่มีแผนจะนั่งรถไฟจากกัวลาลัมเปอร์ไปสิงคโปร์ เราแนะนำให้คิดแผน B เอาไว้ด้วย เพราะเส้นนี้รถไฟมีวิ่งน้อย บางครั้งมักเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น (แบบเรา ซึ่งซื้อหวยทำไมไม่เคยถูก) นั่นหมายถึง KTMB อาจยกเลิกเที่ยวรถไฟสำหรับวันนั้นไปเลยก็ได้
  2. เกอมัสไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ไม่ใช่เมืองใหญ่ มันเป็นแค่เมืองที่มีชุมทางรถไฟตั้งอยู่ อาหารการกินมีเพียงสิ่งเดียวที่จะประทังชีวิตได้ถ้าคุณเป็นคนกินยาก นั่นคือ KFC ซึ่งอยู่ถนนหลังสถานีใกล้กับตัวสถานีเก่า
  3. เจ้าหน้าที่รถไฟมาเลเซียไม่ได้มี Service Mind มากนัก และสื่อสารภาษาอังกฤษได้ไม่ดีเท่ากับสถานีในแถบ KL หรือบัตเตอร์เวิร์ธ ถ้าเพื่อนร่วมทางในสถานีคนไหนพูดอังกฤษได้ พยายามเกาะกับเขาเอาไว้ เขาอาจช่วยคุณได้ แต่ถ้าไม่มีจริงๆ แนะนำให้สวดมนต์อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนาของคุณเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว แล้วใช้ภาษามือช่วย
  4. ทางรถไฟจากเกอมัสไปยะโฮร์ค่อนข้างทรุดโทรม รถไฟจะวิ่งช้ามาก และรถไฟจะดีเลย์จากตารางไปประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติ