ตอนอ่านหนังสือ เราจินตนาการหลากหลายมากว่า ในวังหลวงและพระราชฐานชั้นในเป็นยังไงนะ ก็ได้แต่พยายามนึกภาพที่เราเห็นและส่อง Google Maps ตั้งแต่ตำหนัก แถวเต๊ง พระที่นั่งองค์ต่างๆ แล้วก็มโนภาพชาววังที่ใช้ชีวิตอยู่ด้านใน โดยมีกำแพงพระบรมมหาราชวังสีขาวสูงใหญ่กั้นเอาไว้กับโลกภายนอก มีเพียงประตูศรีสุดาวงศ์หรือที่เรียกว่าประตูดินเท่านั้นที่เป็นช่องทางออกสู่ภายนอกได้

พูดถึงประตูพระบรมมหาราชวังแล้วก็มักจะสร้างปัญหาให้บ่อยๆ เวลาไปเที่ยววัดพระแก้ว ยิ่งโดยเฉพาะตอนนัดหมายต้องบอกให้ถูกว่ารอประตูไหน และเข้าประตูไหน ซึ่งก็ไม่มีใครเรียกชื่อประตูเลยนอกจาก ‘ประตูตรงศิลปากร’ ‘ประตูตรงสนามหลวง’

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

ประตูวิเศษไชยศรี

ชื่อประตูนั้นสำคัญไฉน

สำคัญตรงที่ประตูของพระบรมมหาราชวังทั้ง 12 ประตูใหญ่นั้นมีชื่อที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้รู้ว่าประตูใดอยู่ตรงไหน และอยู่ใกล้กับส่วนไหน ที่สำคัญอีกเรื่องที่น่าสนใจคือชื่อนั้นถูกตั้งให้คล้องจองกันทั้งหมดและมีความหมายที่ไพเราะมากทีเดียว เริ่มไล่เรียงกันที่ประตูวิมานเทเวศร์ซึ่งอยู่ตรงท่าช้าง ไล่ตามเข็มนาฬิกาก็จะเรียงได้ตามนี้

วิมานเทเวศร์ วิเศษไชยศรี มณีนพรัตน์ สวัสดิโสภา เทวาพิทักษ์ ศักดิ์ไชยสิทธิ์ วิจิตรบรรจง อนงคารักษ์ พิทักษ์บวร สุนทรทิศา เทวาภิรมย์ อุดมสุดารักษ์

แถมสามารถอ่านชื่อแบบถอยหลังโดยคงความหมายและความไพเราะได้อีก ลองอ่านดูสิ

สุดารักษ์อุดม ภิรมย์เทวา ทิศาสุนทร บวรพิทักษ์ คารักษ์อนงค์ บรรจงวิจิตร ไชยสิทธิ์ศักดิ์ พิทักษ์เทวา โสภาสวัสดิ์ นพรัตน์มณี ไชยศรีวิเศษ เทเวศร์วิมาน

รู้จักชื่อประตูแล้วก็ให้จำไว้เลยว่าจะเข้าวัดพระแก้ว ไปเจอกันที่ประตูวิเศษไชยศรีนะ

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

จุดแรกที่ไม่ควรพลาดเลยเมื่อเข้ามาจากประตูวิเศษไชยศรีคือบริเวณลานสนามหญ้าด้านหน้าศาลาสหทัยสมาคมที่เราจะได้เห็นมุมมองเหมือนหน้าเหรียญบาทเป๊ะๆ ฉากหน้าเป็นสนามหญ้าสีเขียว ฉากหลังเป็นหลังคาพระอุโบสถอยู่ด้านขวา และตรงกลางเป็นพระศรีรัตนเจดีย์ พระมหามณฑป และปราสาทพระเทพบิดรซ้อนกันเป็นชั้นๆ มุมนี้จึงเป็นมุมมหาชนของนักท่องเที่ยวก่อนจะไปเจอกับของจริงด้านใน

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

เมื่อผ่านประตูเข้าไปแล้ว (ด้วยการเดินตัวปลิวเพราะเราเป็นคนไทยไม่เสียเงิน) ก็จะเจอพระระเบียงที่ถูกแต่งแต้มด้วยจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวของ รามเกียรติ์ และยักษ์เฝ้าประตูอยู่ทุกทิศ ลองสังเกตดีๆ ที่ฐานของยักษ์มีชื่อบอกว่ายักษ์ตนนี้ชื่ออะไร และที่สำคัญคือเป็นยักษ์จากเรื่อง รามเกียรติ์ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นทศกัณฐ์ สหัสเดชะ พิเภก กุมภกรรณ และอื่นๆ อีกมากมาย

ความสนุกอีกอย่างคือการไล่ตามหาตอนแรกและตอนจบของ รามเกียรติ์ ที่อยู่ตามพระระเบียงว่าอยู่ห้องไหน ซึ่งเราจะได้เห็นตอนต่างๆ ที่ผ่านหูผ่านตามาจากบทเรียนภาษาไทยตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษายันระดับมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นหนุมานอมพลับพลา กุมภกรรณทดน้ำ ศึกกรุงลงกา และอื่นๆ อีกมากมายที่กระตุ้นความรู้สึกเหมือนอยู่ในห้องเรียนภาษาไทยออกมาโดยไม่รู้ตัว

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

ตอนหนุมานอมพลับพลา

นอกจากจิตรกรรมฝาผนังแล้ว บริเวณโดยรอบของฐานไพทีซึ่งเป็นที่ตั้งของพระศรีรัตนเจดีย์องค์ใหญ่สีทอง พระมหามณฑป และปราสาทเทพบิดร ก็เป็นอีกจุดที่สามารถเดินเล่นได้อย่างเพลิดเพลินและถ่ายรูปสวยๆ กับรูปปั้นของสัตว์หิมพานต์ ไม่ว่าจะเป็นกินรี กินนร อสุรปักษี ครุฑ นาค ยักษ์ รวมถึงนครวัดจำลองที่ใหญ่และงานละเอียดสุดๆ

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

นักท่องเที่ยวชอบมาทำท่าเลียนแบบยักษ์กันตรงนี้

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

มาถึงวัดพระแก้วไม่เข้าไปไหว้พระแก้วมรกตก็ถือว่ามาไม่ถึง

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือที่เรียกกันว่า พระแก้วมรกต ที่แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์ เป็นศิลปะยุคก่อนเชียงแสนจนถึงศิลปะเชียงแสน หลักฐานระบุว่าพบครั้งแรกที่เชียงราย (วัดพระแก้ว) เกิดเหตุการณ์ฟ้าได้ผ่าลงองค์พระเจดีย์พบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทองจึงได้นำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิก(จมูก) เกิดกระเทาะออกทำให้เห็นเป็นเนื้อมรกต จึงได้นำพระพุทธรูปมากระเทาะปูนออกทั้งองค์ พบว่าเป็นเนื้อหยกทั้งองค์

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

พระแก้วมรกต เครื่องทรงฤดูร้อน (ถ่ายจากพื้นที่อนุญาตให้ถ่ายภาพ)

มีเรื่องเล่าถึงการเดินทางของพระแก้วมรกตไว้ว่า พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่เชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ แต่ช้างทรงกลับเดินไปทางลำปาง เชียงใหม่เห็นว่าลำปางเองก็อยู่ในอาณาจักรล้านนา พระแก้วมรกตก็เลยไปประดิษฐานอยู่ที่พระแก้วดอนเต้า จนสมัยพระเจ้าติโลกราชก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปเชียงใหม่ และเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้าง(ลาว) เสด็จกลับหลวงพระบาง ก็อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วยพร้อมกับพระพุทธสิหิงค์ ทางเชียงใหม่ขอคืนได้แค่พระพุทธสิหิงค์

เมื่อล้านช้างย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ พระแก้วมรกตถูกอัญเชิญลงมาด้วย พอเข้าสมัยธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชก็อัญเชิญพระแก้วมรกตมาที่วัดอรุณฯ และข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน

จะว่าไปแล้วข้อสังเกตคือ วัดที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตจะถูกตั้งชื่อว่า ‘วัดพระแก้ว’ ทั้งสิ้น และเราก็เดินทางไปวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาแล้วถึง 3 แห่งด้วยกันในทริปนี้ ตั้งแต่หอพระแก้วที่เวียงจันทน์ วัดอรุณฯ และที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งนี้

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

จากวัดพระแก้วเส้นทางเดินต่อไปคือ การเข้าสู่พระราชฐานชั้นกลางของพระบรมมหาราชวัง

พระบรมมหาราชวังแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ พระราชฐานชั้นหน้า จะอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าทั้งหมดจนถึงประตูพิมานไชยศรี (ไม่รวมวัดพระแก้ว) ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตั้งของสำนักงานต่างๆ และที่ทำการทหารรักษาพระราชวัง

ต่อไปคือพระราชฐานชั้นกลาง เป็นส่วนที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมได้บางส่วน โดยเป็นพื้นที่สำหรับประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีพระที่นั่งหลายองค์ที่เป็นที่รู้จัก เช่น พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

ส่วนสุดท้ายคือพระราชฐานชั้นใน โดยเริ่มตั้งแต่ประตูสนามราชกิจ (ประตูย่ำค่ำ) ไปถึงแถวเต๊ง เป็นที่เฉพาะของสตรีล้วนๆ และเด็กชายที่อายุไม่เกิน 13 ปี ซึ่งพื้นที่ชั้นในนี่แหละที่เป็นฉากในนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งองค์หลักที่นักท่องเที่ยวได้ชมและเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วยก็คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419  ประกอบด้วย ปราสาท 3 องค์ แต่ละองค์เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน ความโดดเด่นของพระที่นั่งองค์นี้คือการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมยุโรป ตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นยอดปราสาทรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย เป็นที่มาของชื่อ ‘ฝรั่งสวมชฎา’

 

วัดพระแก้ว, ฝรั่งสวมชฎา, เที่ยว

ก่อนพระอาทิตย์จะสิ้นแสง เราออกมาจากพระบรมมหาราชวังในช่วงเวลาที่ใกล้ปิดแล้ว ความหิวเริ่มครอบงำ การเที่ยวครั้งนี้ใช้พลังงานไปเยอะเลยทีเดียวจากการเดิน เดิน เดิน และเดิน บวกกับอากาศร้อนระอุของช่วงสงกรานต์ ผ่านไปแล้ว 2 เมืองหลวง นับเป็นครึ่งทางของทริปนี้แล้ว เหลืออีกเพียง 2 เมืองหลวงใน 2 ประเทศที่จะต้องเดินทางต่อไป โดยการเดินทางครั้งนี้จะเป็นการนั่งรถไฟแบบรวดเดียวเกือบ 24 ชั่วโมง จากกรุงเทพฯ ไปยังกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ชักจะตื่นเต้นซะแล้วสิ 

To be continued…

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ