8 เมษายน 2561

หลังจากที่ผ่านเมืองหลวงแรกคือเวียงจันทน์ การเดินทางด้วยรถไฟจากท่านาแล้ง ก็มาสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงที่ 2 โดยสวัสดิภาพและตรงเวลาเป๊ะ เราออกเดินทางต่อในช่วงสายของวันเพื่อไม่ให้เสียเวลาเที่ยว เป้าหมายวันนี้คือกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา

วัดพระแก้ว วัดอรุณฯ

เราเคยโดนคนถามว่าเป็นคนกรุงเทพฯ จะไปเที่ยวทำไม อาจเป็นเพราะว่าสถานที่เหล่านั้นมันใกล้ตัวเสียจนไม่ได้สนใจ หรือเพราะขี้เกียจไปเผชิญกับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะคณะทัวร์ลูกเป็ดที่เป็นกลุ่มใหญ่

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว วันนี้อยากลองเป็นนักท่องเที่ยวที่เที่ยวในเมืองเกิดตัวเองเสียหน่อย

นี่คือบางกอกแดนศิวิไลซ์

กรุงเทพฯ เมืองที่มีชื่อยาวซะจนพี่ป้อมและพี่โต๊ะ อัสนี-วสันต์ สามารถแต่งเป็นเพลงฮิตติดหูให้คน (รุ่นพ่อรุ่นแม่) ท่องจำชื่อเต็มๆ ของกรุงเทพฯ ได้อย่างง่ายดาย แต่ทำไม้ทำไมชื่อภาษาอังกฤษดันเป็น Bangkok ไม่ใช่ Krung Thep

Bangkok ก็มาจากคำว่า ‘บางกอก’ แล้วบางกอกมาจากไหน?

นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไป พื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ เดิมเป็นที่ตั้งของเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ชาวต่างชาติเรียกกันว่า ‘บางกอก’ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นแล้ว

มีความสำคัญในฐานะเส้นทางออกสู่ทะเลและติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่างๆ แถมมีอาชีพเสริมเป็นเมืองหน้าด่านคอยดูแลเก็บภาษีกับเรือสินค้าทุกลำที่ผ่านเข้าออก

ที่มาของคำว่า ‘บางกอก’ นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา หลายแห่งมีสภาพเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ บางที่แม่น้ำก็ตวัดซะจนอีกนิดหนึ่งจะชนกันอยู่แล้วเหมือนที่คุ้งบางกระเจ้า เรียกกันอย่างดาษดื่นว่า ‘บางเกาะ’ หรือ ‘บางโคก’

หรืออีกข้อสันนิษฐานอาจเป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า  ‘บางมะกอก’ โดยคำว่า ‘บางมะกอก’ เป็นชื่อเดิมของวัดอรุณฯ และต่อมาเกิดการกร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่า ‘บางกอก’

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ‘กรุงเทพฯ’ ก็ถูกแปลชื่อเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งว่า ‘City of Angel’

ลงรถเมล์ขึ้นบีทีเอส

เราออกจากบ้านในช่วงสายๆ เพื่อมุ่งหน้าไปเกาะรัตนโกสินทร์ในกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดวังและย่านเมืองเก่า การเดินทางแรกๆ ที่คนนึกถึงคือรถเมล์หรือแท็กซี่ แต่สำหรับเรามันคือ ‘เรือด่วนเจ้าพระยา’

จากประตูน้ำจะไปท่าเรือด่วนยังไงดี?

เรานั่งรถเมล์ไปสยามเพื่อต่อรถไฟฟ้า BTS (ซึ่งถ้าจะเรียกให้ถูกก็คงต้องเรียกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว) และนั่งรถไฟฟ้าไปสถานีสะพานตากสิน

รถไฟฟ้าถือเป็นตัวเลือกของการเดินทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (ตอนที่ไปเที่ยวยังไม่งอแง) สังเกตได้ว่าบนขบวนรถไฟที่เราขึ้นในวันนั้นเต็มไปด้วยชาวต่างชาติ และเหมือนว่าส่วนใหญ่จะมุ่งหน้าไปที่ ‘ท่าเรือด่วนสาทร’

การเดินทางด้วยเรือเป็นการเดินทางอีกแบบที่รวดเร็วไม่แพ้รถไฟฟ้า อาจเป็นเพราะมีทางสัญจรเฉพาะไม่ปะปนกับใคร ไม่ต้องเจอรถติด ไม่ต้องเจอคนตัดหน้า มีจะห่วงหน่อยก็เรื่องคลื่นลมเท่านั้นแหละ

“สถานีต่อไป สะพานตากสิน Next Station Saphan Taksin”

เสียงพี่รัดเกล้าดังมาจากลำโพงบอกให้รู้ว่าเรากำลังจะถึงสถานีปลายทางที่จะต้องลงแล้ว หลังจากที่รถไฟฟ้าความยาว 4 ตู้ถ้วน วิ่งฝ่าป่าคอนกรีตย่านสีลมที่เต็มไปด้วยตึกสูง บัดนี้มันจอดสนิทอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้าที่น่าจะแปลกที่สุดของประเทศไทยแล้ว เพราะเป็นสถานีรถไฟฟ้าแห่งเดียวที่เป็นทางเดี่ยวและมีชานชาลาเดียว รถไฟเข้าสถานีได้ทีละขบวน ที่สำคัญตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสะพานที่มีถนนล้อมรอบซะด้วย

เธอจะลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาก็วิวดี

ใต้สถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสินคือ ท่าเรือสาทร ศูนย์กลางของเรือด่วนเจ้าพระยาที่เริ่มมาจากท่าวัดราชสิงขร ผ่านสาทร สะพานพุทธ วัดพระแก้ว เกียกกาย พระราม 7 ท่าน้ำนนท์ และไปสุดที่ปากเกร็ดตามลำดับ

เรือด่วนเจ้าพระยาเป็นอีกขนส่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ว่องไวเสียยิ่งกว่าการนั่งอยู่บนรถเมล์ที่วิ่งไปบนถนนสุดซอกแซกและถนนวันเวย์มหาศาลในกรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่แปลกใจเลยที่มวลมหาประชาชนทั้งชาวไทยและเทศจะเลือกซิ่งไปบนแม่น้ำสายหลักของประเทศ

การเดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยานั้นมีข้อต้องจำง่ายๆ ว่า เรือแต่ละลำจะมีสีของธงที่แตกต่างกันตามจำนวนท่าที่หยุด โดยธงส้มคือเรือสามัญที่สุด ธงเหลืองจะจอดน้อยหน่อย ธงฟ้าราคาประหยัด เอ๊ย! จอดน้อยที่สุด ราคาสูง เพราะเป็นเรือท่องเที่ยวในตัว โดยเรือที่วิ่งทุกวันคือ เรือธงส้ม ถ้าเราไม่รู้จะเริ่มต้นการลงเรือไปเที่ยวที่ไหนดี ขอแนะนำว่า ‘วัดอรุณฯ’ คือแห่งแรกที่ควรไป

เรือธงส้มจะมีตารางชัดเจน เมื่อมาถึงท่าแล้วก็ซื้อตั๋วในราคา 15 บาทตลอดสาย จากนั้นก็รอเรือเข้ามาเทียบท่า ซึ่งใครที่ว่ายน้ำไม่เป็นก็ไม่ต้องกลัว เพราะเรือลำนี้ใหญ่โตพอสมควรไม่โคลงไปมาเหมือนเรือข้ามฟาก พอลงเรือไปแล้วก็เดินชิดในหน่อย ถ้าใครไม่อยากนั่งก็ยืนเกาะๆ เอาแถวห้องเครื่อง แต่อย่าไปขวางทางใครเขา เพราะว่าจะมีคนขึ้นลงตลอดเวลา

วิวฝั่งที่สวยที่สุดคงบอกไม่ได้ว่าฝั่งไหน แต่ส่วนใหญ่แล้วเราจะยืนฝั่งขวา สองข้างฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถือว่าเป็นออเดิร์ฟชั้นดี ก่อนที่จะไปถึงเมนคอร์สอย่างเกาะรัตนโกสินทร์ สถานที่สำคัญต่างๆ ที่เรามองเห็นจากบนเรือนั้นมีมากมายหลายแห่ง และแต่ละที่ก็สวยงามจนต้องยกกล้องขึ้นมาถ่าย

ตึกอาคารบริษัท The East Asiatic Company Thailand
ศุลกสถาน
โบสถ์กาลหว่าร์ (ตลาดน้อย)
โบสถ์ซางตาครู้ส และชุมชนกุฎีจีน
ตึกสูงของย่านสาทรที่เห็นได้ชัดจากกลางแม่น้ำเจ้าพระยาแถวสะพานพุทธ

ตึกเก่าทรงพลังของโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล ศุลกสถาน อีสต์เอเชียทีค ตึกสวยๆ ของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส อาคารธนาคารไทยพาณิชย์สาขาตลาดน้อย ไปรษณียาคาร ศาสนสถาน อย่างเช่นโบสถ์กาลหว่าร์ โบสถ์ซางตาครู้ส เจดีย์วัดประยูรวงศาวาส หรือชุมชนเก่าแก่ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

เผลอแป๊บเดียว เรือด่วนก็ลอดใต้สะพานพุทธผ่านชุมชนกุฎีจีนและค่อยๆ เทียบท่าวัดอรุณฯ แลนด์มาร์กแห่งที่ 2 ของทริปนี้

นี่เธอต้องไป เธอต้องไป วัดอรุณฯ วัดพระแก้ว

เหรียญกษาปณ์ของไทยนี่ดีนะ หยิบมาดูก็ได้รู้ว่าคือวัดอะไร บางครั้งเรายังพูดให้คนที่ไม่รู้จักวัดได้เข้าใจง่ายๆ จากรูปวัดที่อยู่บนหน้าเหรียญ

25 สตางค์ คือวัดมหาธาตุ

50 สตางค์ คือวัดพระธาตุดอยสุเทพ

1 บาท คือวัดพระแก้ว

2 บาท คือภูเขาทอง วัดสระเกศ

5 บาท คือวัดเบญจมบพิตร

10 บาท คือวัดอรุณฯ

ตอนนี้เราอยู่ที่วัดเหรียญสิบ นั่นคือ ‘วัดอรุณฯ’

วัดอรุณราชวรราราม หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘วัดแจ้ง’ ชื่อเดิมคือวัดมะกอกตั้งอยู่ที่ฝั่งธนบุรี และยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 อีกด้วย ลักษณะโดดเด่นของวัดอรุณฯ ก็อย่างที่บอกไปคือพระปรางค์

พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทยขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ องค์พระปรางค์ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน

นอกจากการประดับด้วยชิ้นส่วนต่างๆ แล้ว รอบๆ องค์พระปรางค์ยังมีปูนปั้นรูปสัตว์หิมพานต์และเทวดาต่างๆ ทั้งกินนร กินรี ยักษ์ เทวดา รวมถึงครุฑอีกด้วย

รู้ไหมว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในโลก ความสูงจากฐานถึงยอดคือ 81.85 เมตร นักท่องเที่ยวต่างชาติจะคุ้นเคยรูปของพระปรางค์วัดอรุณฯ เพราะเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวประเทศไทย รวมถึงเป็นโลโก้ของ ททท. ที่ต้อนรับตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิ

ยักษ์วัดอรุณฯ

เรานั่งเรือข้ามฟากมาที่ท่าเตียน สถานที่ที่มีเรื่องเล่าว่ายักษ์วัดแจ้ง (วัดอรุณฯ) กับยักษ์วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนฯ) ตีกันจนพื้นที่นั้นเตียนเรียบ นิทานเรื่องนี้ย่าเล่าให้ฟังตั้งแต่เด็ก ซึ่งเราก็ยังงงๆ ว่ายักษ์มันจะตีกันทำไมวะ? อยู่กันคนละฟากแม่น้ำก็ยังจะตีกันได้อีกเนาะ

ที่หมายต่อไปของเราคือ วัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง บอกก่อนว่าเราเป็นแฟนนิยาย สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช