สิงคโปร์

“กูจะนั่งรถไฟจากลาวไปสิงคโปร์นะ”

ผมพูดทำลายช่วงเวลาแห่งความสุขกลางวงหมูกระทะ

ทุกคนในโต๊ะวางตะเกียบลงทันทีเมื่อเจ้าของเสียงพูดจบ สีหน้างงๆ ปนประหลาดใจของผู้ร่วมโต๊ะปรากฏขึ้นทันที

“กี่ชั่วโมงวะ” เพื่อนที่นั่งด้านซ้ายมือของผมถามขึ้นมา

“นับหน่วยเป็นวันดีกว่าไหม” ผมตอบ ยังไม่ทันจะพูดจบคนด้านขวาก็ถามต่อทันที

“นั่งรวดเดียวเนี่ยนะ”

“บ้า มันรวดเดียวได้ที่ไหน มันก็ต้องแวะไปเรื่อยๆ สิ จากลาวไปไทย จากไทยไปมาเลเซีย จากมาเลเซียไปสิงคโปร์ แค่คิดก็น่าสนุกแล้วไหมล่ะ”

“มึงมันบ้า”

เพื่อนทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน

ใช่ครับ ผมบ้า

แผนที่

ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าผมเป็นคนที่หลงใหลการเดินทางด้วยรถไฟมาก และบ้าถึงขนาดนั่งรถไฟครบทุกสายในประเทศไทยเมื่อตอนอายุ 29 ความทรงจำในวัยเด็กของผมมีรถไฟเป็นเพื่อนมานานแสนนาน ผมตะลอนเที่ยวกับเพื่อนที่ชื่อรถไฟไปทั่วประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่เคยตะลอนไปเจอรถไฟเพื่อนรักที่ต่างประเทศเลย

ว่ากันตรงๆ ผมโดนเพื่อนคนหนึ่งป้ายยา

ป้ายยามันคือสำนวนแก้เก้อของใครสักคนที่เผลอทำผิดอะไรแต่ขวยเขินเกินกว่าจะยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ เลยบอกไปว่าโดนมิจฉาชีพป้ายยาให้เคลิ้มแล้วหลงกล ซึ่งการป้ายยานั้นมันไม่ได้มีอยู่จริงหรอก เพราะถ้าป้ายยามีจริงแล้วไซร้คนป้ายน่าจะน็อกไปก่อนคนโดนป้ายซะอีก

แต่กับตัวผมนั้น ผมกล้าพูดได้เต็มๆ ว่าโดนป้ายยาเข้าเสียแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน กลางวงหมูกระทะเช่นเดียวกัน เพื่อนคนนี้ก็พูดขึ้นมากลางวงแบบที่ผมเพิ่งทำไปสดๆ ร้อนๆ “กูจะนั่งรถไฟจากเวียงจันทน์ยันวู้ดแลนด์” ผมก็ถามเพื่อนนะว่าแกเอาจริงหรอ มันไปยังไง ไหนเล่ามาซิ

เมื่อเพื่อนตัวการสาธยายเสร็จสรรพถึงแผนการที่ยิ่งกว่าแผนรบเป็นฉากๆ ผมถึงกับเคลิ้มและหลุดปากพูดออกไปว่า “เออ กูไปด้วย”

นอกจากนั้นผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนั้นหน้าปกเป็นรูปรถจักรไอน้ำมีดาวสีแดง

ดาวหางเหนือทางรถไฟ

หนังสือ

หนังสือที่ว่าด้วยประสบการณ์การเดินทางที่ทอดยาวบนเส้นทางรถไฟสายทรานส์-มองโกเลีย ถ่ายทอดโดยพี่ก้อง ทรงกลด พออ่านจบมันยิ่งสร้างแรงฮึดให้ผมอยากนั่งรถไฟยาวๆ แบบนี้บ้าง แต่ไม่ต้องทรานส์-มองโกเลียหรอก เอาทรานส์อาเซียนก่อนเนี่ยแหละ ถือว่าเป็นการซ้อมไปในตัวแล้วกัน

นี่คือการป้ายยาดอกที่ 2 

แต่ช่างน่าเสียดายที่ผมไม่สามารถเดินทางได้ในช่วงนั้น จนปี 2561 ไม่รู้ว่ามีมือที่มองไม่เห็นมาป้ายยาอีกหรือยังไง อยู่ๆ ผมก็เปิดดูปฏิทินเพื่อสอดส่องหาวันหยุดยาวแบบหัวท้ายสัปดาห์แล้วก็ไปป๊ะกับวันจักรีต่อวันสงกรานต์

ชิ้ง!!!

ถ้าเป็นการ์ตูนมันคงมีเสียงแบบนี้ตอนหรี่ตานั่นแหละ ผมคว้าใบลาพักร้อนแล้วกรอกข้อความลงไปโดยทันที โดยระบุสถานที่อยู่ระหว่างลาว่า “ประเทศลาว ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์”

ใช่ครับ ฤทธิ์ของการป้ายยาเกิดขึ้นแล้ว แม้จะออกฤทธิ์ช้าไป 3 ปีก็เถอะ

พาสปอร์ต

เส้นทางสายไหน?

ถ้าเส้นทางการเดินทางค้าขายในอดีตเราเรียกเส้นทางสายไหม สำหรับผม การเดินทางไกลครั้งนี้คงชื่อเส้นทางสายไหน?

ใช่ จะไปสายไหนดี สิงคโปร์ย้อนมาลาว หรือลาวไปสิงคโปร์ ความคิดนี้ทำให้ผมนอนไม่หลับไป 2 คืนติด เพราะต้องมาคิดว่าเราจะเดินทางยังไงให้สนุกที่สุดและเวลาสอดประสานกับรถไฟทั้ง 4 ประเทศที่สุด Pantip จึงเป็นสิ่งเดียวที่ผมจะไขว่คว้าหาสิ่งยึดเหนี่ยวในการเดินทางที่ทำให้ทริปมีมากกว่าการเดินทางด้วยรถไฟ ผมไล่หาแลนด์มาร์กต่างๆ ของทั้งสี่ประเทศเพื่อไปเยี่ยมเยียนสักครั้ง

แผนที่่

เป้าหมายคือการเดินทาง 4 ประเทศ 4 เมืองหลวง ไป 4 แลนด์มาร์กบนเส้นทางรถไฟสายเดียวกัน ผลสุดท้ายผมก็จบแผนการเดินทางทั้งหมดด้วยการเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ไปลาว ย้อนกลับไทย ไปมาเลเซีย ต่อสิงคโปร์ และกลับมาไทยอีกครั้งเป็นอันจบทริป และจะเดินทางด้วยรถไฟเท่านั้น

“โอ้โห กี่วันวะเนี่ย” นี่คือเสียงอุทานแรกที่พูดกับตัวเองเหมือนละครไทย

ผมกางตารางเดินรถไฟของไทยกับมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่ต้องนั่งรถไฟยาวนานที่สุด เนื่องจากลาวและสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีทางรถไฟสั้นมากๆ แค่ประเทศละไม่ถึง 4 กิโลเมตร จึงไม่ต้องกังวลอะไรมากนัก

รถไฟ

รู้จักรถไฟ 4 ประเทศ

ผมต้องเริ่มเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเวียงจันทน์ เพื่อไปหาจุดสตาร์ท

รถไฟที่ต้องเดินทางไม่ควรเป็นรถนั่งชั้นสาม ด้วยสาเหตุหลักๆ คืออายุไม่น้อยแล้ว และผมไม่อยากสังขารทรุดตั้งแต่เริ่มทริป การนั่งรถไฟตู้นอนจากกรุงเทพฯ ไปเวียงจันทน์ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้การเดินทางสะดวกที่สุด สบายที่สุด ไม่ทรมานตัวเอง ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลแล้วนั้นรถไฟชั้นสามสมควรเป็นตัวเลือกลำดับท้ายๆ ถ้าไม่อยากให้ทริปกร่อย และจงจำไว้ว่า “ต้องจองตั๋วล่วงหน้า” โดยเส้นกรุงเทพ-หนองคาย จะมีบริการแบบรถเร็วและรถด่วนพิเศษ ความเร็วมันก็เท่าๆ กันแหละต่างกันแค่สถานีจอดระหว่างทางที่เป็นปัจจัยทำให้เวลาการเดินทางต่างกัน ซึ่งเที่ยวไปผมเลือกตู้นอนปรับอากาศของรถเร็วขบวน 133 กรุงเทพ-อุดรธานี เพื่อต่อรถบัสเข้าไปเวียงจันทน์

รถไฟ

ตู้นอนของ รฟท. นั้นนับได้ว่ามีการบริการที่เชิดหน้าชูตาและเป็นจุดเด่นจริงๆ ความสบายที่ได้จากรถไฟตู้นอนมีมากกว่าการเดินทางแบบไหนๆ มันคงชดเชยด้วยระยะเวลาการเดินทางที่นานกว่าเครื่องบินมากโข หรือนานกว่ารถทัวร์พอสมควร จากเก้าอี้นั่งเป็นชุดๆ ถูกปรับให้เป็นเตียงนอนพร้อมผ้าห่มอุ่นหอมกรุ่น มีม่านปิดเพื่อเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัว จึงเป็นตัวเลือกในการเดินทางสำหรับคนที่ไม่ชอบบินหรือไม่ชอบไปบนถนนหนทางที่สุดจะติดขัดตอนหน้าเทศกาล

จากนั้นไล่กลับจากเวียงจันทน์มากรุงเทพฯ ผมเลือกเดินทางด้วยรถไฟตู้นอนอีกเช่นกัน ก่อนจะย้ายสายตาไปดูรถไฟมาเลเซียซึ่งนับได้ว่าเป็นการเดินทางที่หนักที่สุด

รถไฟมาเลเซียเคยถูกนำมาเปรียบเทียบกับรถไฟไทยอย่างหนักหน่วง ด้วยภาพรถไฟไทยที่เป็นรถจักรดีเซลจอดเคียงคู่กับรถไฟฟ้าหัวแหลมๆ ซึ่งใครต่อใครก็เข้าใจว่ามาเลเซียใช้รถไฟความเร็วสูง

แต่รถไฟมาเลเซียมันไม่ใช่ความเร็วสูงเว้ย

มันเป็นเพียงแค่รถไฟฟ้าด่วนที่ดีไซน์หน้าตาแบบแหลมเปี๊ยวเหมือนรถไฟความเร็วสูง ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงาน และความเร็วในการบริการสูงสุดอยู่ที่ 140 กม./ชม. ซึ่งก็ไวกว่ารถไฟบ้านเราแค่ 20 กม./ชม. เท่านั้น โดยมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า ETS (Electric Train Service)

รถไฟในมาเลเซียดำเนินการโดย Keretapi Tanah Melayu Berhad หรือเรียกสั้นๆว่า KTMB ประกอบด้วยเซอร์วิสด้านโดยสาร 3 แบบ คือ Komuter (รถชานเมือง) ETS (รถด่วนไฟฟ้า) และ Intercity (รถไฟทางไกลใช้หัวรถจักรดีเซล)

รถไฟ

Komuter เป็นบริการรถไฟฟ้าชานเมือง จะมีรถไฟทั้งแบบ 3 ตู้ และ 6 ตู้ เป็นเบาะแบบยาว บางขบวนก็เป็นเบาะแบบขวาง ใช้ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. บนทางรถไฟขนาดความกว้าง 1 เมตรถ้วนตามมาตรฐานทางรถไฟในประเทศอาเซียนแผ่นดินใหญ่ ซึ่ง Komuter จะวิ่งในระยะไม่เกิน 2 ชั่วโมง ดังนั้น มันจึงไม่มีห้องน้ำบนรถไฟประเภทนี้…โปรดเตรียมตัวให้พร้อมก่อนขึ้นแล้วกัน

รถไฟ

ต่อกันด้วย ETS คือรถไฟฟ้าด่วน ซึ่งก็มีตัวเลือกให้เราสองแบบคือ Gold ที่เป็นรถแบบจอดเยอะ แต่ก็ไม่ได้หวานเย็นถึงขนาดจอดทุกสถานี ส่วนแบบที่ 2 คือ Platinum จอดน้อยมากและมี Snack ให้กินระหว่างเดินทางด้วย รถไฟ

ส่วน Intercity คือรถที่ใช้หัวรถจักรลากแบบรถไฟไทยบ้านเราเล้ยยย ส่วนใหญ่จะเป็นรถนั่งและมีเพียงขบวนเดียวที่เป็นตู้นอนคือ Ekspress Rakyat Timuran วิ่งระหว่างสถานี Tumpat-JB Sentral-Tumpat ผ่านเส้นทางรถไฟสายตะวันออกของมาเลเซียที่มีชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า Jungle Train

ผมตัดสินใจเลือกกลับประเทศไทยผ่านทาง Jungle Train โดยรถไฟตู้นอนหนึ่งเดียวของประเทศมาเลเซียเพื่อไปต่อรถไฟไทยที่สุไหงโก-ลก เพียงเหตุผล 2 ประการคือ สัมผัสรถนอนขบวนเดียวในประเทศนี้ และเส้นทางที่ผ่านทะลุป่าเขตร้อนของมาเลเซียแบบจัดหนักจนได้ชื่อว่า Jungle Train

การเดินทางระยะสุดท้ายเพื่อข้ามไปสิงคโปร์คือรถไฟจาก JB Sentral (ยะโฮร์บาห์รู) ปลายทางที่ Woodlands CIQ ฝั่งสิงคโปร์ เป็นทางรถไฟข้ามช่องแคบยะโฮร์ ใช้เวลาเดินทางข้ามฝั่งประมาณ 5 นาที คิดราคาแบบสองมาตรฐานสุดๆ คือ JB Sentral-Woodlands CIQ ราคา 5 ริงกิต ส่วนขากลับจาก Woodlands CIQ-JB Sentral ราคา 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ ตัวเลขเหมือนกันต่างแค่สกุลเงิน

มาตรฐานแกอยู่ตรงไหนวะ

แผนการเดินทาง

แผนการสำเร็จแล้ว

ความผีสางของการจองตั๋วรถไฟเริ่มขึ้น คนรักรถไฟจะรู้กันดีว่าเวลารถไฟในมาเลเซียเปลี่ยนบ่อยมาก สิ่งที่น่ากลัวคือถ้าเวลารถไฟเปลี่ยนผมจะต้องโละกระดานการเดินทางในฟากแหลมมลายูใหม่ทั้งหมด ผมเปิดเว็บไซต์การรถไฟมาเลเซียค้นหาเวลารถไฟบ่อยมากในระยะ 7 วันแรกของการวางแผนพร้อมพรินต์ตารางออกมาขีดค่าเต็มไปหมด แล้วความผีสางที่ 2 คือ เว็บไซต์การรถไฟมาเลเซียเป็นภาษามลายู เปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษเท่าไหร่ก็ไม่ได้จนผมถอดใจต้องนั่งแปลภาษามลายูไปพลางๆ ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้เราคุ้นกับภาษาถิ่นก่อนที่จะเดินทางไปถึง และต้องระวังไว้เสมอว่าเวลาไทยกับมาเลเซียห่างกัน 60 นาที เพื่อไม่ให้เกิดการตกรถเพราะตัวเลขเวลาในตารางไม่ตรงกัน

เมื่อเช็กตารางรถไฟเรียบร้อยแล้วถึงเวลาลิสต์การเดินทางออกมาว่าเราต้องเดินทางจากไหนไปไหนบ้าง และสามารถใช้ชีวิตวนเวียนในเมืองรายทางต่างๆ ได้นานขนาดไหนก่อนจะจองตั๋วรถไฟซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งตารางออกมาแล้วถึงกับทำให้เราต้องถอนหายใจในความยาวนานราวกับการแข่งขันไตรกีฬา งานนี้อาจมีวิ่งแน่นอน

แผนการเดินทาง ห้องจำหน่ายตั๋ว

เมื่อแผนทุกอย่างเรียบร้อย การจองตั๋วก็เริ่มขึ้น ความท้าทายคือการจองตั๋วรถไฟในช่วงเทศกาลเปรียบประหนึ่งสงครามแย่งชิงตั๋ว ผมเลือกที่จะจองที่สถานีรถไฟด้วยตัวเองเพราะขี้เกียจรอสายจองผ่านโทรศัพท์ และอัตราส่วนที่นั่งในอินเทอร์เน็ตก็มีไม่มาก เดชะบุญแต้มบุญของผมคงสูง ตั๋วรถไฟในไทยผมสามารถจองได้โดยสะดวกโยธินไม่มีติดขัดใดๆ ยกเว้นตั๋วขากลับจากสุไหงโก-ลก-กรุงเทพ ที่ได้เพียงรถนอนชั้นสอง จากที่หวังไว้ว่าจะได้นอนชั้นหนึ่งกลับมาสบายๆ ตั๋วรถไฟ

ต่อไป ตั๋วรถไฟมาเลเซีย

ผมจะไม่จองทางอินเทอร์เน็ตเพราะผมต้องการเงื่อนไขพิเศษคือต้องนั่งริมหน้าต่าง ฝั่งขวาของขบวนรถ และที่นั่งต้องหันหน้าไปทางหัวขบวนซึ่งผมจะไม่ยอมนั่งหันหลังไปตลอดทางโดยเด็ดขาด ซึ่งผมอยากให้เจ้าหน้าที่ของ KTMB จองและเลือกที่นั่งที่ดีที่สุดให้ ผมจึงต้องอาศัยไหว้วานเพื่อนที่ปาดังเบซาร์ช่วยจองตั๋วรถไฟ ซึ่งความผีสางในลำดับต่อไปเกิดขึ้นเมื่อเพื่อนโทรกลับมาบอกว่า “แฮม รถไฟเปลี่ยนเวลาอีกแล้ว จะเอาขบวนไหน”

คุกกี้เสี่ยงทายชัดๆ

เหมือนฟ้ามีตา ขบวนรถไฟที่เปลี่ยนเวลานั้นคือรถไฟจาก Gemas ไป JB Sentral ที่เลื่อนเวลาให้ช้าขึ้นกว่าเดิม 1 ชั่วโมง จึงทำให้ผมหายใจได้โล่งคอมากขึ้นนึกว่าจะไม่ได้เดินทางต่อเนื่องซะแล้ว ผมจึง Say YES! กับเวลารถไฟที่เปลี่ยนใหม่โดยให้เพื่อนส่งตั๋วรถไฟทั้งหมด 5 ใบมาที่กรุงเทพฯ โดย EMS

ผมได้ทุกอย่างครบแล้วทั้งตั๋วรถไฟ ที่พัก และแผนการเดินทาง การเดินทางด้วยรถไฟที่ไกลที่สุดในชีวิตของผมกำลังจะเริ่มขึ้นแล้วในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ผมกำลังจะเดินทางจากเวียงจันทน์ยันสิงคโปร์

การป้ายยาของเพื่อนคนนั้นสำเร็จแล้ว

และนี่เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น