23 กุมภาพันธ์ 2018
3 K

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเราเห็นพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงของใครต่อใครหลายคน ใส่ชุดไทยย้อนยุคชักภาพเขียนลงกระดานหน้าสังคมออนไลน์กันอย่างดาษดื่น พานให้มีความสงสัยในใจว่าเขาไปงานอะไรกันที่หน้าลานพระราชวังดุสิต

งานนี้คืองาน ‘อุ่นไอรัก คลายความหนาว’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 11 มีนาคม 2561 แม้ว่างานจะจัดในปลายฤดูหนาวที่อาจจะไม่หนาวเหน็บเท่ากับช่วงปลายปีที่มีลมหนาวมาให้ปากสั่น แต่ก็เป็นงานที่ ‘กรุ่นไอแห่งความสุข’ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่รอยยิ้ม หลายคนประทับใจกับงานที่ทำให้กล้าแต่งชุดไทยเดินริมถนนหรือซ้อนมอเตอร์ไซค์ออกมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

อุ่นไอรัก คลายความหนาว

ในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว มีสิ่งที่น่าสนใจมากมายเหมือนพาเราย้อนไปในงานฤดูหนาวยุครัชกาลที่ 5 – 7 ทั้งการออกร้านอาหาร ฉากถ่ายภาพ การจัดดอกไม้ที่เนรมิตให้ลานพระบรมรูปทรงม้าดูสวยงามน่าโพสท่ากับดอกไม้สีสดไปซะทุกมุม

ข้างๆ กับพระบรมรูปทรงม้าฝั่งสวนอัมพรนั้นมีบูทของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคที่ก่อร่างสร้างตัวในยุครัชกาลที่ 5 ที่เฟื่องฟูด้วยความศิวิไลซ์ ไม่ว่าจะเป็นการประปา ไปรษณีย์ ไฟฟ้า กาชาด และรถไฟ

กรมรถไฟ

บูทกรมรถไฟตั้งอยู่ตรงกลางในบรรดา 5 หน่วยงาน ขนาบข้างด้วยสภากาชาดไทยและการรถไฟฟ้านครหลวง มียอดหลังคาของบูทเป็นรูปสถานีรถไฟกรุงเทพ ด้านหน้ามีช่องจำหน่ายตั๋ว (ที่ระลึก) และระฆังสีทองเสียงดังกังวานต้อนรับอยู่ ดูรู้เลยว่าเป็นสถานีรถไฟที่จำลองมาแน่นอน

Along the Railroad ขอหนีออกจากการนั่งรถไฟของจริง มาหาสถานีรถไฟ ‘กรมรถไฟ’ ที่อุ่นไอรักก่อนนะ ว่าจะกรุ่นไอน้ำแห่งวันวานอย่างไรบ้าง

 

สถานีกรมรถไฟ

การรถไฟ อุ่นไอรัก

บูทกรมรถไฟหลวงจำลองสถานีรถไฟในยุคเก่ามาเกือบทั้งหมด จะขาดก็แต่เพียงเก้าอี้ไม้ที่หายไป แต่มีหลายๆ อย่างเกือบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นช่องจำหน่ายตั๋วที่ถอดแบบมาจากสถานีรถไฟกันตังไว้จำหน่ายของที่ระลึก หรือแม้กระทั่งยอดหลังคาบูทที่ยกสถานีกรุงเทพมาไว้ให้เห็นเด่นมาแต่ไกล พร้อมกับนายสถานีในเครื่องแบบยุคกรมรถไฟหลวงมาต้อนรับถึงหน้าบูทพร้อมลั่นระฆังเสียงกังวานดังเป็นระยะๆ

อุ่นไอรัก

 

แว่วเสียงทางสะดวก

เครื่องทางสะดวกชนิดตราแบน

เมื่อเดินเข้ามาในสถานีรถไฟแห่งนี้ จะเห็นของใช้ชนิดหนึ่งเป็นกล่องสี่เหลี่ยมทำด้วยเหล็กสีเขียวคล้ำขนาดใหญ่ ดูน้ำหนักและอายุไม่น่าจะน้อยตั้งอยู่กึ่งกลางของบูท

เครื่องนี้คือ ‘เครื่องทางสะดวกชนิดตราแบน’ เป็นเครื่องไม้เครื่องมือของจริงที่เคยใช้งานในอดีต และใช้งานยาวมาจนสมัยปัจจุบันควบคู่กับระบบรีเลย์และระบบคอมพิวเตอร์

การรถไฟ

หน้าที่ของเครื่องทางสะดวกคือไว้ติดต่อสื่อสารกันระหว่างสถานีรถไฟที่อยู่ติดกัน เพื่อขอทางสะดวกในการเดินรถไฟให้ปลอดภัยและราบรื่น ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่กรมรถไฟหลวง (ซึ่งไม่รู้ว่าหลุดมาจากกระจกทวิภพที่อยู่ข้างๆ เจ้าเครื่องนี้หรือเปล่า) มาอธิบายการใช้งาน หลักการทำงาน และสาธิตวิธีการขอและคืนทางสะดวกกันแบบสดๆ รวมถึงเจ้าเครื่องมือที่หน้าตาคุ้นเคยสำหรับคนที่นั่งรถไฟบ่อยๆ และเห็นคนขับเขาโยนห่วงคว้าห่วงอะไรสักอย่างและเก็บงำคำถามนั้นไว้ รับรองว่าได้คำตอบกลับไปอย่างแน่นอน

ไม่น่าเชื่อเลยว่าเจ้าเครื่องมือที่วิธีการใช้งานงงงวยนี้ จะทำให้เราเดินทางได้อย่างปลอดภัยอย่างสุดๆ

รถไฟโบราณ รถไฟไทย

นอกจากนั้นยังมีโทรศัพท์ทางสะดวกชนิดมือหมุนที่เคยใช้งานจริงยี่ห้อ ERICSON (ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว) มาให้เราได้ลองเล่นกันอีกด้วย อยากรู้ว่าทำงานยังไง ใช้งานยังไง ต้องลองมาเล่นดูนะ

รถไฟไทย การรถไฟ

 

ทวิภพ

อุ่นไอรัก

กลางสถานีมีกระจกบานใหญ่ตั้งอยู่ คนที่นี่เรียกว่า ‘กระจกย้อนยุค’

มันไม่ใช่กระจกจริงๆ แต่เป็นจอ LED ที่ฉายภาพรถไฟและสถานที่ยุคเก่าวนไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเวลา 5 โมงเย็น และ 2 ทุ่มของทุกวัน มันจะทำงานโดยจะจับภาพของคนที่หน้ากระจกให้ทอดไปอยู่บนฉากหลังที่เป็นภาพขาวดำรุ่นโบราณ เหมือนกับเราได้ไปอยู่ในสถานที่นั้น โดยเมื่อเซนเซอร์จับภาพเรา QR Code จะปรากฏบนกระจกทวิภพ เราก็นำโทรศัพท์มือถือของเราสแกน QR Code และเซฟภาพนั้นลงมือถือเอาไว้ส่งไลน์หากัน หรืออวดคนอื่นกันได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องรอล้างรูป

ที่สำคัญ เขามีหมวกให้ยืมเป็นพร็อพถ่ายภาพด้วยนะ

 

สามกษัตริย์

การรถไฟ

ผนังทั้งสองด้านของสถานีแห่งนี้ ประดับด้วยนิทรรศการเทิดพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ 3 พระองค์

ผนังสีชมพู เป็นเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกิจการรถไฟหลวง จะมีภาพเก่าที่หาชมได้ยากพร้อมคำบรรยายใส่กรอบแขวนบนผนังเอาไว้ให้เราได้เดินดู และจินตนาการไปถึงการเดินทางด้วยรถไฟในยุคสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพการประกอบพิธีปฐมฤกษ์รถไฟหลวง การเปิดเดินรถไฟสายใต้จากบางกอกน้อยไปเพชรบุรี รถจักรดีเซลคันแรกของประเทศไทย

รถไฟไทย

มากไปกว่านั้น บนผนังมีตั๋วรถไฟขนาดมหึมาที่เราสามารถสแกน QR Code เพื่อดูสารคดีสั้น 6 เรื่อง หากใครที่ไม่สะดวกดูสารคดีสดๆ ตรงนั้น สามารถถ่ายรูป QR Code กลับไปดูที่บ้านได้ ไม่อยากให้พลาดจริงๆ

 

ในหลวง

ผนังอีกฝั่งเป็นสีเหลือง เป็นเรื่องราวของสองกษัตริย์ในยุคของเรา นั่นคือการเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยมีภาพความทรงจำสมัยที่สองพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ ทางรถไฟ รวมถึงอัลบั้มรวมภาพถ่ายประวัติศาสตร์ในการเสด็จฯ ทางรถไฟ มาให้เราชมพระบารมีกันอย่างเต็มที่ถึง 2 อัลบั้มด้วยกัน โดยอัลบั้มนี้เป็นสมบัติส่วนตัวของคุณพิเชษฐ์ แช่มเนียม เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลประจำบูทนี้ที่ไปเสาะหาภาพเก่าที่ทรงคุณค่ามาให้เราชมกัน

รูปเก่า

ภาพโดย คุณพิเชษฐ์ แช่มเนียม

 

ของมันต้องมี

อุ่นไอรัก คลายความหนาว

บูทนี้จะออกไปแบบมือเปล่าคงไม่ได้ ของที่ระลึกที่การรถไฟนำมาจำหน่ายนับเป็นของที่ชวนให้แบงก์ในกระเป๋าตังค์สั่นระริก ไม่ว่าจะเป็น

โปสการ์ด

โปสการ์ดรูปสถานีรถไฟ 12 ภาพ 12 สถานี ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ เช่น สถานีบ้านปิน บางปะอิน สูงเนิน แม่พวก ปางป๋วย ฯลฯ จำหน่ายในราคา 120 บาท

การรถไฟ

โปสการ์ดที่ระลึกในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ในชุดนี้มี 9 ภาพ เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกิจการรถไฟ พร้อมคำบรรยาย จำหน่ายในราคา 80 บาท

ของที่ระลึก

magnet ติดตู้เย็น รูปป้ายสถานีรถไฟ ที่เราชอบๆ ไปถ่ายรูปคู่เวลาเดินทางนั่นแหละ ราคา 50 บาท

 

อุ่นไอรัก ตั๋วรถไฟ

และที่เป็นไฮไลต์ที่สุด ชนิดว่าของมันต้องมี คือตั๋วรถไฟรุ่นเก่าที่เรียกว่า ‘ตั๋วหนา’ ซึ่งเป็นของเก่าเก็บ เคยใช้จริงๆ ในกิจการรถไฟช่วงก่อนที่จะใช้ตั๋วคอมพิวเตอร์แบบในปัจจุบัน ซึ่งตั๋วแบบนี้เริ่มทยอยยกเลิกเมื่อปี 2535 และการรถไฟได้เก็บเข้าคลังไป ต่อมาได้มีการนำมาขายเป็นของที่ระลึกโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ ซึ่งตั๋วหนาหลากสีสันชวนให้นึกถึงอดีตวัยใสของคนอายุ 25 ปีขึ้นไป มีจำหน่ายในแพ็กเกจที่สวยงามพร้อมประวัติตั๋วให้อ่านกันในราคา 40 บาท

อยากบอกอีกหน่อยว่า ใครที่เสียเงินให้กับบูทกรมรถไฟแล้วจะได้รับหนังสือ ถ้าวันหนึ่งฉันจะนั่งรถไฟ ฟรี รับรองว่าเล่มนี้พกขึ้นรถไฟแล้วสบายแน่นอน ข้อมูลครบมาก

หนังสือการรถไฟ

หากท่านใดมาที่งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว อย่าลืมตามกลิ่นไอน้ำมาที่บูทกรมรถไฟนะ แล้วจะกรุ่นไอแห่งวันวานของรถไฟไทยอย่างจริงจัง

 

อีกนิดอีกหน่อย

  1. งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว จะจัดจนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2560 วันอาทิตย์–พฤหัสบดี เวลา 10.00 – 21.00 น. และวันศุกร์–เสาร์ 10.00 – 22.00 น.
  2. ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ มีบริการรถ Shuttle Bus รับส่งฟรีจนถึงเลิกงาน
  3. ช่วงเวลาพิเศษของวันคือ 17.00 – 18.30 น. และ 20.00 – 21.00 น. ใครซื้อตั๋วที่ระลึกจะแถมฟรีถ่ายรูปกับกระจกย้อนเวลา วิธีง่ายมาก ซื้อตั๋วแล้วมาต่อแถวหน้าระฆัง เดินเข้าบูทไปถ่ายภาพทีละคน (หรือทีละแก๊ง) เปิดแอป LINE ในโหมด QR Code จากนั้นยื่นให้เจ้าหน้าที่ ถ่ายเสร็จปั๊บเจ้าหน้าที่จะสแกน QR Code ให้พร้อมเซฟรูปลงมือถือให้เราเดี๋ยวนั้นเลย
  4. บางช่วงจะมีการตอบคำถามแจกของรางวัล ใครอยากได้ก็เตรียมข้อมูลเรื่องรถไฟมากันหน่อยล่ะ