‘ข้ามหัว’

สถานีชุมทางหาดใหญ่ : 3 กุมภาพันธ์ 2558

รถไฟ

ที่หาดใหญ่บ่ายวันนั้น เรากำลังเดินหาพื้นที่สำหรับถ่ายรูปรถไฟเล่นตามประสาของมนุษย์ผู้บ้าคลั่งในรถไฟ แต่การถ่ายรูปแบบเดิมๆ ที่เล็งมุมข้าง 45 องศาให้เห็นว่ารถไฟเต็มขบวนวิ่งเข้ามาน่าเบื่อเกินไปและทำให้ไม่รู้สึกว่ารถไฟคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นตัวอะไรก็ไม่รู้

ระหว่างเดินไปเรื่อยเปื่อย รู้ตัวอีกทีก็มายืนอยู่บนสะพานรถไฟข้ามถนนสายหนึ่ง ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ (ซึ่งมารู้ชื่อทีหลังว่า ถนนศรีภูวนารถ)

ปกติแล้วเราชินตากับถนนและทางรถไฟที่มาเจอะเจอในระดับเดียวกัน แต่ไม่ใช่กับที่หาดใหญ่ แม้เมืองจะขยายไปขนาดไหน รถจะมากแค่ไหน หาดใหญ่ก็มีวิธีแก้ปัญหาจราจรที่เด็ดดวงกว่าเมืองไหนๆ ในประเทศ

เมื่อไม่อยากให้สองยานพาหนะต้องมารอกัน ก็ยกถนนออกจากทางรถไฟสิ ในตัวเมืองหาดใหญ่จึงไม่มีถนนตัดผ่านทางรถไฟที่อยู่ระดับเดียวกัน เราจะเห็นถนนข้ามทางรถไฟและรถไฟข้ามถนนเต็มหาดใหญ่ไปหมดจนเป็นภาพที่ชินตา

วันดีคืนดีถ้ารถไฟมาในจังหวะที่เรากำลังลอดใต้สะพานอยู่ เราก็จะได้เห็นพี่ใหญ่ข้ามหัวเราไปแบบไม่ต้องคอยกัน ฉันก็ไปได้ เธอก็ไปได้

 

‘วันเด็ก’

สถานีชุมทางทุ่งสง : 9 มกราคม 2559

เด็ก

เด็กกับรถไฟเป็นของคู่กัน แทบทุกบ้านต้องมีรถไฟของเล่น ไม่ก็แผ่นการ์ตูนเรื่อง Thomas the Tank Engine การ์ตูนที่มีเจ้ารถไฟหน้าแป้นแล้นตะลุยแดนมหัศจรรย์ซึ่งเป็นเพื่อนเล่นของเด็กๆ ในยุคดิจิทัล แต่ในความเป็นจริงนั้นชีวิตของเด็กๆ เหล่านี้ล้วนห่างไกลจากรถไฟมาก โดยเฉพาะยุคที่เครื่องบินโลว์คอสต์ครองเมืองและทุกหลังคาเรือนมีรถยนต์ส่วนตัว รถไฟของเด็กๆ จึงเป็นเพียงแค่การ์ตูนที่อยู่ในจอเท่านั้น

แต่ไม่ใช่กับงานวันเด็กแห่งชาติที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ที่นี่ รถไฟคือส่วนหนึ่งของชุมชน และรถไฟคือส่วนหนึ่งของชีวิตคนในชุมชน ในวันเด็กทุกๆ ปี เทศบาลทุ่งสงและการรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกันจัดงานเพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักกับ ‘รถไฟ’ กันถึงทุกตัวน็อต แถมได้นั่งรถไฟไปไหว้พระที่คลองจันดีอีกด้วยนะ

ไม่แปลกใจหรอก ถ้าเด็กๆ จะหัวเราะและยิ้มได้เต็มที่แบบนี้ เพราะบางทีเขาคงอดใจรอไม่ไหวที่จะรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่ชื่อรถไฟแล้วล่ะ

 

‘เราจะดูแลคุณเอง’

สถานีกรุงเทพ : 23 พฤษภาคม 2560

พนักงานการรถไฟ

ขบวนรถไฟที่มีตู้นอนจะมีพนักงานคอยดูแลและสอดส่องความปลอดภัย นอกเหนือจากการปูเตียงอันแสนอบอุ่นให้เรานอนหลับสบายตลอดคืน ในขณะที่ตัวพี่ๆ พนักงานเองได้แค่นั่งระหว่างพวกเรากำลังฝันหวาน

ทุกเที่ยวก่อนที่รถไฟจะออก พนักงานทั้งขบวนเหล่านี้จะมารวมตัวกันที่ท้ายขบวนเพื่อรับบรีฟ เป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับคนที่มาถึงสถานีรถไฟแต่หัววัน หลายคนหยุดถ่ายรูปนี้ไว้ก่อนที่จะเดินขึ้นขบวนรถ จังหวะที่สองสายตามาประสานกันเหมือนบอกกลายๆ ว่า

“เราจะดูแลคุณเอง”

 

‘สมาคมสี่ขา’

สถานีฉวาง : 21 พฤษภาคม 2559

สุนัข

สองข้างทางรถไฟไม่ได้มีแค่ทุ่งหญ้าฉันใด สถานีรถไฟก็ไม่ได้มีแค่คนฉันนั้น

สถานีฉวาง สถานีขนาดกลางๆ ในเส้นทางรถไฟสายใต้ก็น่าจะเข้าคุณสมบัตินั้น เมื่อเสียงรถไฟแหวกความเงียบเข้ามา ก็ปลุกให้เหล่าทีมงานสมาคมสี่ขาวิ่งกรูกันเข้ามา welcome พี่น้องคนนั่งรถไฟที่หน้าต่างกันให้สลอน

และนั่นหมายความว่าเราอาจจะต้องส่งส่วยให้กับพวกคุณๆ เหล่านั้น เพราะสิ่งที่ทะลุออกมาจากนัยน์ตาดำขลับคือรังสีความอ้อนสุดชีวิตที่เล่นให้คนรักหมาอย่างเราปวกเปียกเป็นขี้ผึ้งลนไฟ ทำใจกินซาลาเปาที่ซื้อมาจากสถานีสุราษฎร์ธานีต่อหน้าเจ้าตูบไม่ได้ พออ้าปากจะกัดซาลาเปา หางตาต้องแวบไปเห็นตาดำๆ จ้องตอบพร้อมกระดิกหางระรัวเหมือนมอเตอร์ความเร็วสูง

ไงล่ะ…ก็ต้องโยนลงจากหน้าต่างไปให้พวกคุณๆ สินะ

 

‘ดอกไม้ไฟในหน้าร้อน’

สถานีกรุงเทพ : 10 เมษายน 2559

สถานีรถไฟ

หากสงกรานต์คือเทศกาลแห่งความสุข การเดินทางกลับบ้านก็เป็นอีกหนึ่งความสุขเช่นกัน

แต่ไม่ใช่กับอากาศเดือนเมษายน และรถพัดลม…

หลังจากผ่านสงครามการจองตั๋วรถไฟที่ห้ำหั่นกันชิงตั๋วที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าช่วงเทศกาล ก็ได้เวลาที่เราต้องเดินทางกันท่ามกลางอากาศเดือนเมษายนที่แทบจะทะลุ 40 องศา ความร้อนทำให้เราหงุดหงิดได้ง่ายๆ ยิ่งต้องอดทนถ่างตารอเวลารถไฟออกช่วงดึกที่คลาคล่ำไปด้วยคนจำนวนมหาศาลยิ่งสร้างความหงุดหงิดทวีคูณ

แต่แล้วเสียงดัง ‘ปึ้ง’ ก้องสะท้อนก็กระชากอารมณ์ให้เหลียวหันไปตามเสียงและแสงที่วาบเข้าตาเป็นระยะๆ

แสงของพลุสาดให้ท้องฟ้าสว่างไสว ตามมาด้วยเสียงดังกึกก้อง

จากความหงุดหงิด กลายเป็นรอยยิ้ม

คนที่กำลังนั่งเล่นโทรศัพท์ก็เงยหน้าขึ้นมามอง คนที่กำลังปัดยุงก็ลุกขึ้นมาดู คนที่กำลังนั่งเถียงกันเรื่องอะไรสักอย่างก็หยุดแล้วเดินมามอง

นี่แหละมั้ง คือสิ่งที่บอกเราว่า ‘นี่คือการเฉลิมฉลองนะ ยิ้มไว้สิ ยิ้มไว้’

ใช่ เรายิ้มได้ คนบนชานชาลายิ้มได้

เราเห็นรอยยิ้มของคนในสถานีรถไฟท่ามกลางอากาศร้อนระอุ

และจนทุกวันนี้ เรายังไม่รู้เลยว่าพลุวันนั้นจุดจากที่ไหน….

 

‘ภาพจากประตูท้าย’

สถานีห้วยปริก : 21 พฤษภาคม 2559

รางรถไฟ

ทางรถไฟสายใต้เป็นทางรถไฟอีกสายหนึ่งที่อยู่นอกสายตาของคนที่นั่งรถไฟเพื่อเสพสุนทรีย์ อาจเป็นเพราะรถไฟส่วนใหญ่นั้นวิ่งในเวลากลางคืนที่มองออกนอกหน้าต่างไปก็จะเจอแต่เงาตะคุ่มๆ กับแสงไฟของถนนที่ลอดป่ายางออกมา

เราขอลองส่องทางรถไฟสายใต้ตอนกลางวันหน่อยว่าจะเป็นยังไง

วันนั้นเป็นต้นฤดูฝน หลังวันเกิดครบ 29 ปีของเราไม่นาน การตัดสินใจยืนที่ประตูท้ายของรถไฟชั้นสามตู้ท้ายสุดของรถด่วน 86 นครศรีธรรมราช-กรุงเทพ คือความคิดเพี้ยนๆ ที่แวบมา ทั้งที่ตัวเราเองจองรถไฟตู้นอนไว้นั่งสบายๆ

แต่ไม่นั่ง

อยากโกรกลมอะ ใครจะทำไม

ทางรถไฟสายใต้ในความรู้สึกของเรามันเต็มไปด้วยความเขียวชอุ่ม ต้นไม้นานาชนิดสูงใหญ่รกครึ้มไปตลอดสองข้างทางสลับไปกับภูเขาเล็กๆ ใหญ่ๆ ที่อยู่เรียงราย เราคิดตลอดว่า ทุกครั้งที่นอนบนตู้นอนอย่างมีความสุขข้างนอกมันเป็นแบบนี้เองหรอ ทำไมไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อนเลย

โดยเฉพาะที่นี่ ‘ห้วยปริก’ สถานีรถไฟเล็กๆ ที่ทางรถไฟเลี้ยวอ้อมเนินเขาไปมาเหมือนงูที่เลื้อยซ้ายขวาๆ ผ่านดงต้นไม้หนาทึบ ฉากหลังคือขุนเขา หมอกจางๆ และควันจากการเผาถ่าน

ถ้าไม่ยืนอยู่ประตูท้าย คงไม่เห็นอะไรแบบนี้หรอก

‘เซเลบ’

สถานีกรุงเทพ : 26 มีนาคม 2560

รถจักรไอน้ำ

คุณเคยเห็นรถจักรไอน้ำไหม?

ถ้ายัง แนะนำให้มาที่สถานีรถไฟกรุงเทพในวันสำคัญ 5 ครั้งต่อปี ทั้งวันเกิดรถไฟ วันแม่ วันเฉลิมฯ วันปิยมหาราช และวันพ่อ

รถจักรสีดำพ่นควันไอน้ำสีขาวฟุ้งกระจายพร้อมกับแผดเสียงแหลมสูงเหมือนนักร้องโซปราโนเป็นพระเอกของงาน จะว่าไปแล้วก็เหมือนกับพระเอกรุ่นเก่ากลับมาเดบิวต์นะ เพราะเมื่อก่อนเขาเคยครองเส้นทางอยู่ทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเหนือใต้ออกตกต้องเจอคุณปู่ออกวิ่งเสียงดังฉึกฉักพ่นควันโขมง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปไขข้อปู่ก็เริ่มจะเสื่อม ปู่เลยต้องหยุดรับงานหลัก เกษียณตัวเองไปนอนเล่นอยู่นานโข ก่อนจะกลับมาทวงบัลลังก์ในรูปแบบรถไฟนำเที่ยวสุดพิเศษ

นอกจากรูปร่างหน้าตาแล้ว การเคลื่อนไหวของปู่ก็ยังดึงดูดสายตาชวนให้ทั้งแฟนคลับหน้าใหม่และหน้าเก่าหลงใหล เมื่อไหร่ที่ปู่ปรากฏตัวก็จะมีแต่คนมอง หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป หรือลั่นชัตเตอร์กันแบบไม่ยั้ง

นี่แหละหนา ‘เซเลบ’

 

‘เดินทางต่อได้’

สถานีชุมทางทุ่งสง : 28 พฤษภาคม 2560

พนักงานการรถไฟ

“ตอนเด็กๆ อยากเป็นอะไร” มีคนถามผม

“อยากทำงานรถไฟ” ผมตอบด้วยความรู้สึกจากใจ

“ไปโบกธงหรอ” คนนั้นพูดต่อ

โบกธงมันผิดตรงไหนวะ? ตำแหน่งสำคัญนะเฮ้ย

พนักงานรักษารถ คนรถไฟเรียกว่า พรร. คนทั่วไปยุครุ่นปู่ย่าเรียก การ์ดรถ (Guard) เป็นตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดของขบวนรถไฟ เรียกง่ายๆ ว่าพี่แกคุมหมดทั้งขบวน ทั้งดูแลความเรียบร้อย บันทึกการเดินทาง รวมถึงการให้สัญญาณปล่อยขบวนรถออกจากสถานี

เวลากลางวันพี่ๆ พรร. จะโบกธงให้สัญญาณเขียว แดง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าจะให้รถไฟหยุดหรือไปต่อ นั่นเป็นภาพที่ชินตาของหลายๆ คน

แล้วกลางคืนล่ะ?

ธงผู้ไม่มีแสงไฟในตัวเอง ก็เปลี่ยนร่างเป็นไฟฉาย 1 กระบอกถ้วน

หากพี่ พรร. ถือไฟฉายนิ่งๆ มีค่าเท่ากับ ‘หยุด’ หรือ ธงแดง

แต่ถ้าพี่ พรร. สะบัดไฟฉายรัวๆ มีค่าเท่ากับ ‘ไปได้’ หรือ ธงเขียว

‘พร้อมเดินทางกันหรือยังล่ะ?’ พี่ พรร. ถาม

 

‘Circle of Life’

สถานีนครลำปาง : 14 มกราคม 2560

รถไฟ

มนุษย์อย่างเราๆ ยังรักสวยรักงาม อาบน้ำแต่งตัว ล้างหน้าล้างตา

ตู้รถไฟเหล่านี้ก็เช่นกัน การล้างทำความสะอาดเป็นเรื่องปกติของแต่ละครั้งที่รถไฟเดินทางถึงปลายทาง หรือเตรียมจะออกจากต้นทาง

กว่าหนึ่งคืนที่รถไฟขบวน 109 วิ่งฝ่าความมืดด้วยระยะทางกว่า 600 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงนครลำปาง ได้พรากชีวิตแมลงนับร้อยนับพันให้ประดับอยู่ข้างตู้รถไฟ บวกกับหยาดน้ำค้างอีกหลายหมื่นหยดที่เกาะบนตู้รถไฟ ทำให้สภาพตู้รถไฟมอมแมมประหนึ่งกรำศึกสงครามมาอย่างหนักหน่วง เมื่อล้อเหล็กหยุดสนิทที่สถานีนครลำปางปั๊บ รถไฟ 3 ตู้สุดท้ายก็ถูกสลัดออกจากขบวนทิ้งไว้ที่สถานีแห่งนี้ เพราะทางรถไฟเบื้องหน้าคือเขาสูงของดอยขุนตาล การสลัดน้องน้อย 3 ตู้นี้ออกจากขบวนก็เหมือนกับการกำจัดไขมันส่วนเกินออกไป

กว่าที่จะกลับไปวิ่งอีกรอบก็ 8 โมงเช้า ก่อนออกไปทำงานอีกรอบต้องทำอะไรล่ะ

อาบน้ำไง…

เมื่อตรวจสอบอุปกรณ์รวมถึงความชำรุดเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏยิบๆ ย่อยๆ ในแต่ละเที่ยวแล้ว ก็ได้เวลาที่ต้องอาบน้ำรถไฟ ซึ่งวิธีการก็เหมือนการอาบน้ำช้าง คือต้องฉีดน้ำให้ทั่ว ฟอกสบู่ (น้ำยาล้างนั่นแหละ) ถูเนื้อถูตัว จำกัดคราบต่างๆ รวมถึงซากแมลงทั้งหลาย ตามด้วยฉีดน้ำซ้ำอีกรอบและถูด้วยผ้าแห้ง เป็นอันจบพิธี

และเมื่อถึงเวลาเดินทาง รถไฟ 3 ตู้นี้ก็จะถูกต่อเข้ากับรถเร็วขบวน 102 มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ต่อ และจะต้องพบเจอการขัดล้างอีกครั้งเหมือนวัฏจักรของชีวิต

Circle of Life

 

‘ดึงดูด’

อุโมงค์ขุนตาน : 28 ตุลาคม 2560

อุโมงค์รถไฟ

อุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ปากอุโมงค์ประดับด้วยอิฐสีแดงและตราครุฑสีเหลือง ซ่อนตัวอยู่ในจุดที่สูงที่สุดในประเทศ และเหมือนมีแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย ทั้งนั่งรถไฟมา ขับรถมาเอง และที่พีกที่สุดคือปั่นจักรยานมาจากเชียงใหม่ (ใช่ครับ คุณอ่านไม่ผิด ปั่นมาจากเชียงใหม่)  

นอกจากแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยวแล้ว อุโมงค์ขุนตานยังดึงดูดสายตาอีกด้วย เพราะเมื่อรถไฟขบวนยาวเคลื่อนตัวออกจากสถานี เบื้องหน้าของหัวรถจักรคืออุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

แค่ไม่กี่วินาทีหลังจากรถไฟเคลื่อนตัว บรรดานักเดินทางก็ค่อยๆ โผล่หัวออกมาจากหน้าต่าง พร้อมโทรศัพท์มือถือหรือกล้องถ่ายรูปที่ลั่นชัตเตอร์เก็บภาพความทรงจำเบื้องหน้าที่รถไฟค่อยๆ หายเข้าไปในความมืดมิดของอุโมงค์

ก่อนที่รถไฟทั้งขบวนจะเข้าสู่แรงดึงดูดของความมืดมิดในอุโมงค์นั้น