“รถไฟนี้ได้ประโยชน์มาก ดีกว่าการคมนาคมทางถนนที่แพงมาก แต่ทางรถไฟถูกมาก หมายความว่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย ถ้าทำได้สำเร็จ

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
27 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ณ โรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553 เป็นวันแรกที่ผมได้เห็นรถไฟพระที่นั่งของจริง เนื่องจากเป็นการเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีมหามงคล 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช การรถไฟได้นำรถไฟพระที่นั่งจัดแสดงในสถานีกรุงเทพ

รถไฟพระที่นั่งชุดปัจจุบัน จัดแสดงที่สถานีกรุงเทพในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม

นี่น่ะหรือ รถไฟพระที่นั่งที่พาในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปที่ต่างๆ มากมาย

ทำไมท่านถึงเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟ

รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 (ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ) ประทับรถไฟจำลองที่กรมรถไฟได้น้อมเกล้าฯ ถวายในวังสระปทุม

ในหนังสือ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้กล่าวไว้ว่า “หลวงถวิลเศรษฐพณิชยการ ซึ่งทำงานอยู่กรมรถไฟ เคยเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล แต่ทูลหม่อมฯ (พระบรมราชชนก) ทรงช่วยเหลือมากเมื่อศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แม่ (สมเด็จย่า) จึงขอให้ช่วยจัดให้ลูกชายทั้งสอง (รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9) ได้ไปดูรถไฟ หลวงถวิลฯ และแหนน (พระพี่เลี้ยง) อุ้มสององค์ไปบนรถจักรซึ่งแล่นไปช้าๆ”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์จากหนังสือ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์

การเดินทางในยุคนั้นไม่ได้สะดวกสบาย ถนนหนทางยังไม่ทั่วถึงอย่างทุกวันนี้ การเดินทางที่สะดวกที่สุดก็ไม่พ้นรถไฟนี่แหละที่สามารถให้พระองค์ท่านทรงพักผ่อนพระอิริยาบถและบรรทมได้อย่างสบายพระวรกายที่สุด

รถไฟพระที่นั่ง จัดไว้เฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ ปรากฏหลักฐานการใช้งานครั้งแรกวันที่ 26 มีนาคม 2439 (นับศักราชแบบเก่า) ในการเสด็จฯ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดเส้นทางรถไฟปฐมฤกษ์จากกรุงเทพ – บางปะอิน – กรุงเก่า

กรมรถไฟหลวงมีรถไฟพระที่นั่ง 3 คัน แบ่งเป็นรถไฟพระที่นั่งสำหรับใช้สำหรับทางกว้าง 1.435 เมตร 2 คัน และรถที่ใช้สำหรับทางขนาด 1.000 ในเส้นทางสายใต้ 1 คัน

รถไฟพระที่นั่ง คันสีขาวในภาพ เป็นของเส้นทางสายใต้ ใช้กับทางขนาดกว้าง 1.000 เมตร

ต่อมาในปี 2469 ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการจัดซื้อรถไฟพระที่นั่งเพิ่มอีก 2 คัน ใช้สำหรับทางกว้างขนาด 1.000 เมตร เป็นรถสำหรับบรรทม 1 คัน และรถประทับกลางวันอีก 1 คัน รถทั้ง 2 คันนั้น สร้างด้วยไม้อย่างวิจิตรประณีต ทาด้วยสีเหลืองนวล กรอบหน้าต่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีกรอบโค้งประดับด้วยโครงถักเหนือบานหน้าต่างทุกบาน สร้างโดยบริษัท The Metropolitan Carriage Wagon & Finance Company Limited เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ค พร้อมสมเด็จพระราชินีอินกริด ในคราวเสด็จทรงเปิดฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2505 จากจิตรลดา – มวกเหล็ก

รถไฟพระที่นั่งรุ่นที่ 2 ที่ใช้มาตั้งแต่รัชกาลที่ 7 ถึงรัชกาลที่ 9

รถไฟพระที่นั่งรุ่นนี้ใช้งานตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เรื่อยมาจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2511 จึงเลิกใช้งาน รวมเวลาที่เป็นพระราชพาหนะทั้งสิ้น 52 ปี

การเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถไฟพระที่นั่งรุ่นปัจจุบัน

ในปี 2503 รัฐบาลไทยมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดหารถไฟพระที่นั่งชุดใหม่เพื่อทดแทนรถรุ่นเดิมที่เตรียมจะปลดระวาง

รถไฟพระที่นั่งชุดใหม่นี้ประกอบด้วยรถจำนวน 3 คัน คือ

  1. รถพระที่นั่งบรรทม (พนท.) เป็นรถสำหรับบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี
  2. รถพระที่นั่งประทับกลางวัน (พนก.) สำหรับทรงพักผ่อนอิริยาบถ
  3. รถพระที่นั่งกลางวันและบรรทม (พกท.) เป็นรถที่แบ่งห้องบรรทมไว้  4 ห้อง และมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทรงพักผ่อนอิริยาบท

รถทั้ง 3 คัน สร้างโดยบริษัท Cravens ภายในตกแต่งอย่างงดงามแฝงด้วยความเรียบหรู ภายนอกทาด้วยสีเหลืองคัสตาร์ดสลับสีกากี ขลิบขอบมุมใต้หลังคาด้วยสีกรมท่า มีขลิบสีทองคาดกลางตู้ตลอดความยาว ข้างรถประดับครุฑพ่าห์สีทองประดับข้างรถทั้งหัวและท้ายคัน กรอบหน้าต่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้นำมาถวายเป็นพระราชพาหนะครั้งแรกในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2510 ในการเสด็จฯ จากสถานีชุมทางทุ่งสง ถึงสถานีหัวหิน

เราได้เห็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินหลายต่อหลายครั้ง ภาพที่เห็นอย่างชินตามักเป็นภาพที่พระองค์ประทับอยู่ที่หน้าต่างรถไฟ โบกพระหัตถ์ให้กับประชาชน หรือรับของที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวาย

แล้วในหลวงเสด็จทางรถไฟกี่ครั้งกัน

วันที่ 29 เมษายน 2493 คือการเสด็จฯ ทางรถไฟครั้งแรก ขบวนรถไฟพระที่นั่งเดินทางจากสถานีรถไฟธนบุรี ถึงสถานีรถไฟหัวหิน ในการเสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ครั้งที่ 2 นับเป็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการ โดยเสด็จจากสถานีรถไฟหลวงจิตรลดา ไปที่สะพานพระรามหก เพื่อทรงทำพิธีเปิดสะพานพระรามหกหลังจากซ่อมสร้างเสร็จ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2496 และหลังจากนั้นก็ได้ทรงเสด็จฯ ทางรถไฟอีกหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งสุดท้ายรวมทั้งหมด 28 ครั้ง

โดยการเสด็จฯ ครั้งสุดท้าย คือวันที่ 5 กรกฎาคม 2531 เป็นการเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีรัชมังคลาภิเษกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เส้นทางเสด็จฯ ส่วนใหญ่นั้นเริ่มต้นจากสถานีรถไฟหลวงจิตรลดา

สถานีรถไฟหลวงจิตรลดา ตั้งอยู่บนกิโลเมตรที่ 3 บนเส้นทางรถไฟสายเหนือด้านข้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐาร เป็นสถานีชั้นพิเศษไม่รับส่งผู้โดยสาร และเป็นสถานีเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อทดแทนสถานีรถไฟหลวงสามเสนที่ตั้งอยู่คอสะพานข้ามคลองสามเสนที่อยู่ห่างไปทางทิศเหนือ

อาคารสถานีรถไฟหลวงจิตรลดา ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อมาริโอ ตามัญโญ ผู้ออกแบบสถานีรถไฟกรุงเทพ พระที่นั่งอนันตสมาคม วังปารุสกวัน ฯลฯ

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมมีรูปแบบคลาสสิคคล้ายโถงหน้าสถานีกรุงเทพ วางตัวในแนวเหนือ – ใต้ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขตรงกลางอาคารสำหรับใช้เทียบรถยนต์พระที่นั่ง ภายในตัวอาคารเป็นโถงโล่งประกอบชานชาลามีหลังคาคลุมไปตลอดชาน ลักษณะโดดเด่นของสถานีคือการใช้หลังคาตัดชั้นเดียว ประกอบด้วยโดมแบบคลาสสิคตั้งอยู่เหนือมุขกลางทางเข้า ภายในโดมประดับลายไว้อย่างวิจิตรและสวยงาม

แม้ว่าในยุคหลังๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะไม่ได้เสด็จฯ ทางรถไฟอีก แต่ตลอด 70 ปีที่ผ่านมามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นมากมายจากการเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นความเจริญ อาชีพ โครงการในพระราชดำริ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าพระองค์ท่านทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลี้ยงตัวเองได้ นำสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงปฏิบัติ ปรับปรุงและต่อยอด มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้ดีที่สุด

ภาพ : เพจโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ และ การรถไฟแห่งประเทศไทย

Save

Save

  • อีกนิดอีกหน่อย

1.การเสด็จฯ ทางรถไฟของในหลวงจำนวน 28 ครั้งนั้น มีเพียง 1 ครั้งที่ทรงเสด็จฯ ด้วยตู้โดยสารแบบปกติประชาชนทั่วไป คือวันที่ 26 ตุลาคม 2506 จากสถานีหลวงจิตรลดา – กาญจนบุรี – น้ำตก ในการเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งในครั้งนั้นการรถไฟฯ ได้ถวายรถดีเซลรางรุ่นนิอิกาตะเป็นขบวนรถไฟพระที่นั่ง

2.สถานีรถไฟหลวงจิตรลดาไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่สถานีเพราะเป็นเขตพระราชฐาน ประชาชนสามารถโดยสารรถไฟได้ที่ชานชาลาของที่หยุดรถโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่อยู่ติดกั

3.พระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จฯ ทางรถไฟพระองค์ล่าสุดคือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 จากสถานีรถไฟหลวงจิตรลดา ปลายทางที่หยุดสะพานแควใหญ่ โดยการรถไฟถวายรถไฟพระที่นั่งในริ้วขบวนด้วย

4.เราสามารถดูช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินได้จากหน้าต่างรถไฟพระที่นั่ง ถ้าหากเหนือหน้าต่างเป็นรูปโค้ง มีโครงถัก นั่นคือก่อน พ.ศ. 2510 ส่วนหากหน้าต่างรถไฟพระที่นั่งมีรูปร่างปกติเหมือนรถไฟรุ่นใหม่ๆ นั่นคือช่วงหลัง พ.ศ. 2510

Save

Save

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ