เอี๊ยดดด กึก

เสียงล้อเหล็กของรถไฟขบวน 167 หยุดสนิทหลังจากห้อตะบึงบนรางเหล็กข้ามคืนมากว่า 866 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ นอกหน้าต่างด้านซ้ายมือของตู้รถไฟคือภาพของสถานีรถไฟเก่าแห่งหนึ่ง ร่องรอยความมีอายุของสถานีปรากฏขึ้นให้เห็นค่อนข้างชัดแม้ว่าจะทาสีเหลืองสดทับลงไปครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากลักษณะทางกายภาพของไม้ที่ก่อตัวเป็นสถานีแล้ว ลักษณะสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากเหล่าอาคารในปัจจุบันบ่งบอกได้ว่าสถานีรถไฟแห่งนี้มีบางสิ่งที่ดึงดูดเราอยู่

นี่คือ สถานีรถไฟกันตัง สุดปลายทางรถไฟสายอันดามัน

สถานีรถไฟกันตัง เป็นสถานีที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทยที่อยู่คู่กับทางรถไฟสายใต้มาตั้งแต่แรกเริ่มสร้าง เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2456 แต่ก่อนมีชื่อว่าสถานีรถไฟตรัง ก่อนที่จะมีการย้ายตัวจังหวัดไปอยู่ที่ตำบลทับเที่ยง สถานีตรังจึงเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีกันตัง ส่วนสถานีทับเที่ยงนั้นก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีตรัง

เยี่ยม 'สถานีรถไฟกันตัง' สถานีรถไฟเก่าแก่ที่บรรจุประวัติศาสตร์และความงามแบบวินเทจ

ภารกิจหลักของสถานีกันตังคือการโดยสารและมีทางแยกเข้าสู่ท่าเรือกันตัง เพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุปกรณ์ในการก่อสร้างทางรถไฟ หรือแม้แต่ตัวรถไฟเองที่นำเข้ามาจากประเทศทางฝั่งยุโรป เช่น เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่อินเดีย

กลยุทธ์การนำเข้าสินค้าในกิจการรถไฟเริ่มเปลี่ยนไปจากฝั่งยุโรปมาเป็นเพื่อนบ้านใกล้ตัวอย่างญี่ปุ่น ทำให้ท่าเรือกันตังต้องซบเซาลง จนท้ายที่สุดต้องยกเลิกการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือกันตัง ภาพในปัจจุบันนั้นเราจะเห็นถนนสายเล็กๆ สายหนึ่งที่ต่อทอดยาวจากปลายทางตัน สองฝั่งถนนนั้นที่เคยเป็นทางรถไฟมาก่อนถูกโอบล้อมด้วยบ้านเรือน

เยี่ยม 'สถานีรถไฟกันตัง' สถานีรถไฟเก่าแก่ที่บรรจุประวัติศาสตร์และความงามแบบวินเทจ

ความโดดเด่นของสถานีรถไฟกันตังคือตัวอาคารที่มีเอกลักษณ์ ถ้าจะให้ว่ากันแล้วเป็นหนึ่งในไม่กี่สถานีในเส้นทางรถไฟสายใต้ที่ทอดยาวจากกรุงเทพฯ ไปถึงสิงคโปร์ที่ยังมีรูปแบบสถาปัตยกรรมของสถานี ‘ดั้งเดิม’ เหมือนตอนเริ่มสร้าง ซึ่งเพื่อนร่วมรุ่นที่เหมือนกันคือสถานีชุมทางเขาชุมทองในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่อยู่ห่างไปอีกราวๆ 100 กิโลเมตร

ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางขนานไปกับทางรถไฟ ผังสถานีแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ตัวอาคารสถานี และชานชาลามีหลังคาคลุม ลักษณะตัวสถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวผสมผสานศิลปะแบบตะวันออกและตะวันตก หลังคาเป็นรูปทรงปั้นหยาผสมกับหลังคาจั่ว โครงสร้างอาคารเป็นแบบกรอบเสาคานกรุด้วยแผ่นไม้ที่เรียกกันว่า ‘สติ๊กสไตล์’

เยี่ยม 'สถานีรถไฟกันตัง' สถานีรถไฟเก่าแก่ที่บรรจุประวัติศาสตร์และความงามแบบวินเทจ

เสาค้ำยันอาคารก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ละสายตาไปไม่ได้ ความโดดเด่นของเสาค้ำยันทุกต้นมีลูกเล่นในการเซาะร่องไม้เป็น 3 ร่องพร้อมตกแต่งด้วยคิ้วบังรอบเสา และมีคิ้วบัวค้ำยันฉลุลายที่วิจิตรพร้อมกับการค้ำยันที่ประกอบช่องประตูมีการตกแต่งคล้ายซุ้มประตูโค้งประดับลายฉลุไม้

เยี่ยม 'สถานีรถไฟกันตัง' สถานีรถไฟเก่าแก่ที่บรรจุประวัติศาสตร์และความงามแบบวินเทจ

หากมองไปทางประตูและหน้าต่างจะเห็นเอกลักษณ์แบบบานลูกฟักไม้ เหนือบานประตูมีเกล็ดบายอากาศและการตีไม้ระแนงคู่กันเพื่อระบายอากาศที่ร้อนชื้นของภาคใต้ การทาสีของสถานีนั้นจะทาผนังเป็นสีเหลืองมัสตาร์ด และขอบหน้าต่าง ขอบประตู เสา รวมถึงคานต่างๆ จะเป็นสีน้ำตาลเพื่อขับกันให้โดดเด่นชวนมอง

อีกหนึ่งความโดดเด่นของตัวสถานีนั้น เมื่อเราเดินออกไปที่ถนนและหันกลับไปมอง จะเป็นมุขเทียบรถยนต์มีหลังคาทรงจั่ว หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว ที่หน้าบันประดับรูปวงกลมขนาบข้างด้วยสามเหลี่ยมฐานโค้งสองข้างที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก

บริเวณพื้นที่ขายตั๋วและชานชาลานั้นมีความโปร่งสบาย ช่องจำหน่ายตั๋วที่สถานีกันตังมีความแปลกกว่าสถานีอื่น และน่าจะเป็นสถานีเดียวที่ไม่ได้เป็นช่องสี่เหลี่ยม แต่เป็นการประดับช่องขายตั๋วให้เป็นช่องโค้งแบบ Arch ซึ่งเป็นลักษณะงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของยุโรป

เยี่ยม 'สถานีรถไฟกันตัง' สถานีรถไฟเก่าแก่ที่บรรจุประวัติศาสตร์และความงามแบบวินเทจ

ด้านทิศใต้ของสถานีจะมีป้ายสถานีคอนกรีตสีขาวพร้อมตัวอักษร ‘กันตัง’ ที่มีฟอนต์เป็นเอกลักษณ์บ่งบอกว่านี่คือสถานีรถไฟแน่ๆ นอกจากนั้นยังมีป้ายเล็กๆ เพิ่มเข้ามาเพื่อให้เป็นจุดสนใจของสถานี ‘สุดทางรถไฟฝั่งอันดามัน’ ซึ่งในบรรดาจังหวัดที่ทางรถไฟสายใต้พาดผ่านจะเป็นจังหวัดติดชายฝั่งอ่าวไทยทั้งนั้น ก็มีเพียงจังหวัดตรังที่เดียวในชายฝั่งอันดามันที่ทางรถไฟมาถึง

ใครมาถึงตรงนี้แล้วไม่ถ่ายรูปกับป้ายนี่ถือว่ามาไม่ถึงที่นี่นะ

เยี่ยม 'สถานีรถไฟกันตัง' สถานีรถไฟเก่าแก่ที่บรรจุประวัติศาสตร์และความงามแบบวินเทจ

ภายในสถานีมีกลิ่นไอของอดีตคุกรุ่นอยู่ ทำให้นึกถึงภาพของสถานีรถไฟในอดีตได้เป็นอย่างดี คุณค่าของสถานีรถไฟกันตังไม่ใช่แค่เป็นสถานีรถไฟสุดสายปลายทาง แต่ยังทรงคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม นับเป็นสถานีรถไฟเล็กๆ ที่มีความสวยงามเป็นพิเศษ จึงไม่มีข้อกังขาที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้สถานีกันตังเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2539

สถานีรถไฟกันตัง : สถานีวินเทจสุดทางรถไฟฝั่งอันดามัน

นอกจากตัวสถานีแล้ว พื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟในอดีตนั้นมีความคึกคักเป็นอย่างมาก ทั้งโรงรถจักร วงเวียนกลับรถจักร หอเติมน้ำรถจักรสูงใหญ่โดดเด่น รวมถึงบ้านพักรถไฟที่มีอายุไม่ต่างกับสถานีกระจัดกระจายอยู่รอบๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสำคัญของสถานีกันตังในแง่ของการขนส่งสินค้าที่น้อยลง กันตังจึงมีความเงียบเหงาเข้ามาแทนที่ ทิ้งไว้แต่เพียงอนุสรณ์ของความรุ่งเรืองในอดีตผ่านวงเวียนกลับรถจักร หอเติมน้ำ และคำบอกเล่าจากปากคนเก่าแก่เท่านั้น

แก๊ง แก๊ง!!

รถไฟเที่ยวสุดท้ายกำลังออกจากสถานี การเดินทางมาสถานีรถไฟกันตังนั้นสามารถเดินทางได้เพียงขบวนเดียวเท่านั้นคือขบวนรถเร็วที่ 167 กรุงเทพ-กันตัง ซึ่งออกจากสถานีกรุงเทพตอน 18.30 น. ถึงสถานีกันตังเวลา 11.20 น. แล้วจะจอดพักแค่เพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที ก็จะแปลงร่างเป็นขบวนที่ 168 เข้ากรุงเทพในเวลา 12.40 น. จึงนับเป็นเพียงชั่วโมงเศษๆ ที่สถานีกันตังจะคึกคักและเต็มไปด้วยผู้คน

เมื่อสิ้นเสียงระฆังรถเร็วขบวน 168 กันตัง-กรุงเทพ ก็จะค่อยๆ เคลื่อนออกจากสถานีกันตัง เมื่อรถไฟเคลื่อนออกไปจนลับสายตา ความเงียบเหงากลับมาเยือนสถานีอีกครั้ง จังหวะชีวิตในสถานีค่อยๆ สงบและหลับลงในที่สุดเพื่อรอต้อนรับรถไฟขบวน 167 ใหม่อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

สถานีรถไฟกันตัง : สถานีวินเทจสุดทางรถไฟฝั่งอันดามัน

อีกนิดอีกหน่อย

  1. ในสถานีกันตังมีห้องจัดแสดงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เคยใช้ในกิจการรถไฟ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  2. ในสถานีมีร้านกาแฟชื่อ ‘สถานีรัก’ ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยคนที่มาเยี่ยมสถานีรถไฟในแต่ละวัน มีมุมถ่ายรูปน่ารักๆ ที่หน้าร้าน ไม่ไกลจากป้ายสถานี
  3. รถเร็วขบวน 167 และ 168 ที่มาถึงกันตังมีให้บริการแบบรถนั่งชั้น 3 รถนั่งชั้น 2 รถนอนชั้น 2 พัดลม และรถนอนชั้น 2 แอร์ แต่อย่าตกใจถ้าออกจากสถานีทุ่งสงไปแล้วคนจะหายไปเกือบทั้งขบวน
  4. นอกจากสถานีรถไฟกันตังแล้ว ใกล้ๆ กันมีพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎา ซึ่งเป็นอีกแห่งที่ไม่ควรพลาด