ถ้าพูดถึงสะพานรถไฟ หลายคนคงจินตนาการถึงภาพสะพานเหล็กขนาดมหึมาดูน่าเกรงขาม ซึ่งมักเรียกแบบฮิตติดปากว่า ‘สะพานดำ’ อาจเป็นเพราะสะพานเหล็กมักทาสีดำเพื่อกันสนิม จึงดูน่าเกรงขามกึ่งน่าเกรงกลัวในสายตาของคนทั่วไป

โดยส่วนใหญ่แล้ว สะพานรถไฟในประเทศไทยกว่าร้อยละ 80 สร้างด้วยเหล็ก หากเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่กว้างมากๆ มักเป็นโครงสร้างเหล็กถักร้อยต่อกันไปเพื่อรับน้ำหนักของรถไฟ เวลาวิ่งผ่านก็จะดัง กึงกึง กึงกึง เป็นจังหวะ จึงเป็นสิ่งที่มองแล้วน่าสนใจ

วันนี้เราจะพาไปรู้จักสะพานเหล็กที่ดูเหมือนธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา เพราะนอกจากจะเป็นสะพานข้ามแม่น้ำสำคัญแล้ว ชื่อของสะพานเหล่านี้ยังเป็นชื่อ ‘พระราชทาน’ โดยพระมหากษัตริย์อีกด้วย

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานพระราม 6

ที่ตั้ง: เขตบางซื่อและเขตบางพลัด กรุงเทพฯ ระหว่างสถานีบางซ่อน-บางบำหรุ ในเส้นทางสายใต้

ความยาว: 441 เมตร

แม่น้ำที่ข้าม: แม่น้ำเจ้าพระยา

ปีที่สร้าง: พ.ศ. 2465 – 2469 l ซ่อมสร้าง พ.ศ. 2496

ที่มาของชื่อ: พระราม 6 หมายถึง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (Rama VI)

สะพานพระราม 6 สร้างขึ้นเพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการรวมกิจการรถไฟทั้งสองหน่วย คือกรมรถไฟหลวงสายเหนือและกรมรถไฟหลวงสายใต้เข้าด้วยกัน จะทำให้การคมนาคมทางรถไฟสะดวกขึ้น เพราะแต่เดิมทางรถไฟสายเหนือและสายใต้ไม่ได้เชื่อมกัน แถมใช้ขนาดทางรถไฟไม่เท่ากันไปอีก

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานพระราม 6 เดิมเป็นสะพานเหล็กที่มีรูปร่างคล้ายสะพานแขวน

อุปสรรคสำคัญในการเชื่อมทางรถไฟทั้งสองสายเข้าหากันคือ การข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ยักษ์ จึงต้องสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้น ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็ข้ามแผ่นดินมาอีกรัชกาล พิธีเปิดสะพานเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2469 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อว่า ‘สะพานพระราม 6’ เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเชษฐา

ตัวสะพานมีรูปร่างคล้ายสะพานแขวน สัญจรได้ทั้งรถไฟและรถยนต์ ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานพระราม 6 เป็นเป้าระเบิดจนได้รับความเสียหายหนักมาก ต้องบูรณะกันยกใหญ่ การซ่อมสร้างได้เปลี่ยนรูปแบบของสะพานให้กลายเป็นโครงเหล็กรูปสี่เหลี่ยมคางหมูสีเทาจำนวน 5 ช่วงตอน และยังคงรูปแบบที่รถไฟวิ่งกับรถยนต์บนสะพานเหมือนเดิม

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานพระราม 6 ในสมัยที่ยังไม่สร้างสะพานพระราม 7

ในปี 2533 เมื่อการจราจรบนสะพานพระราม 6 เริ่มหนาแน่น ก็มีแนวคิดแยกถนนออกจากสะพานรถไฟ จึงเกิดสะพานพระราม 7 ขึ้นมาข้างๆ กันเป็นสะพานพี่สะพานน้อง พื้นถนนบนสะพานพระราม 6 เดิมถูกปรับปรุงโครงสร้างให้รองรับทางรถไฟเพิ่มอีก 1 ทาง ในปี 2546 รถไฟก็เลยวิ่งสวนกันได้อย่างเก๋ๆ บนสะพาน

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานพระราม 6 ในปัจจุบันถูกขนาบข้างด้วยทางรถไฟสายสีแดงและทางด่วน

ถึงแม้ว่าชื่อของสะพานพระราม 6 อาจจะเลือนหายไปจากความทรงจำของคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่มีสะพานพระราม 7 มาทำหน้าที่แทน แต่สำหรับคนนั่งรถไฟ สะพานพระราม 6 ยังเป็นส่วนหนึ่งของเขาเสมอ จะว่าไปก็เหมือนสัญลักษณ์ว่า รถไฟจากปักษ์ใต้กำลังจะถึงปลายทางแล้ว

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานเสาวภา

ที่ตั้ง: อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตั้งอยู่ระหว่างสถานีวัดงิ้วราย-นครชัยศรี ในเส้นทางสายใต้

ความยาว: 132 เมตร

แม่น้ำที่ข้าม: แม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีน)

ปีที่สร้าง: พ.ศ. 2446 l ซ่อมสร้าง พ.ศ. 2492

ที่มาของชื่อ: ‘เสาวภาผ่องศรี’ เป็นพระนามเดิมของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เรายังคงอยู่บนทางรถไฟสายใต้ ถ้าใครยังไม่ส่งวิชาภูมิศาสตร์คืนอาจารย์ไป คงจำได้ว่ามีแม่น้ำอีกสายหนึ่งอยู่ไม่ไกลจากเจ้าพระยา นั่นคือแม่น้ำท่าจีน ถ้าไหลผ่านนครปฐมจะเรียกว่า แม่น้ำนครชัยศรี ทางรถไฟสายใต้ต้องข้ามแม่น้ำแห่งนี้ นับเป็นสะพานเหล็กใหญ่ (มาก) แห่งที่ 2 ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมทางรถไฟหลวงสายใต้ช่วง ‘บางกอกน้อย-เพชรบุรี’ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โน่น ชื่อว่า ‘สะพานเสาวภา’

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานเสาวภาเดิมก่อนจะถูกระเบิด

สะพานเสาวภาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสวนงูเสาวภาของสภากาชาดไทยแต่อย่างใด ชื่อสะพานแห่งนี้ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ‘เสาวภาผ่องศรี’ เป็นพระนามเดิมของ ‘สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ’ พระบรมราชินีนาถของพระองค์ อีกทั้งสมเด็จพระนางเธอทรงเป็นประธานร่วมในการเปิดทางรถไฟหลวงสายแรกของสยามด้วย

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานเสาวภาในปัจจุบัน (ซ้าย) และสะพานใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ควบคู่กัน (ขวา)

สะพานเสาวภาผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่ต่างจากสะพานอื่นๆ ถึงขนาดโดนระเบิดถล่มทำลาย จนกระทั่งปี 2546 เมื่อมีการสร้างรถไฟทางคู่ไปนครปฐม สะพานเสาวภาก็ไม่เหงาอีกต่อไป เพราะมีสะพานน้องใหม่ที่ใหญ่กว่า (มาก) ประทับกายอยู่ข้างๆ เป็นสะพานคู่ขวัญของตลาดนครชัยศรีให้ช่างภาพชักภาพความงามจากคุ้งน้ำอยู่จนถึงปัจจุบัน

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานจุฬาลงกรณ์

ที่ตั้ง: อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ระหว่างสถานีบ้านกล้วยและราชบุรี ในเส้นทางสายใต้

ความยาว: 150 เมตร

แม่น้ำที่ข้าม: แม่น้ำแม่กลอง

ปีที่สร้าง: พ.ศ. 2444 l ซ่อมสร้าง พ.ศ. 2503

ที่มาของชื่อ: สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ราชบุรีก็เหมือนอีกหลายจังหวัดที่มีแม่น้ำไหลผ่าน จึงต้องสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำ

สะพานจุฬาลงกรณ์ มีชื่อเรียกลำลองว่า ‘สะพานราชบุรี’ ทอดยาวข้ามแม่น้ำแม่กลองกลางเมืองราชบุรี หนทางสัญจรหลักที่เชื่อมฝั่งตลาดและค่ายทหารเข้าหากัน สะพานเดิมสร้างไว้แบบไฮบริด มีทั้งทางรถไฟและถนนอยู่บนสะพาน ส่วนใต้สะพานคือแม่น้ำแม่กลองซึ่งในหน้าแล้งจะมีหาดทรายทอดยาวเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวราชบุรี (ในยุคนั้น) ถ้าย้อนเวลากลับไปเราคงเห็นชาวบ้านลงเล่นน้ำกันแถวสะพานประหนึ่งเที่ยวชายทะเลกันเลย

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานจุฬาลงกรณ์เดิมเป็นสะพานขนาดกว้าง รองรับทั้งถนนและทางรถไฟ

สะพานจุฬาลงกรณ์เป็นหนึ่งในสะพานที่เป็นเป้าทิ้งระเบิด เพราะเป็นเส้นทางหลักสู่ภาคใต้ การซ่อมสร้างได้ปรับเปลี่ยนให้ใช้งานเฉพาะรถไฟเท่านั้น ส่วนสะพานสำหรับรถยนต์สร้างขึ้นต่างหากข้างๆ กันชื่อว่า ‘สะพานธนะรัชต์’ สะพานทั้งสองถือเป็นสะพานหลักที่ใช้สัญจรข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งแม่น้ำในเมืองราชบุรี และ Street Food ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์นั้น ‘อร่อยอย่าบอกใคร’

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน ข้างๆ คือสะพานธนะรัชต์ซึ่งสร้างสำหรับถนนโดยเฉพาะ

สะพานจุลจอมเกล้า

ที่ตั้ง: อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างสถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์-สุราษฎร์ธานี ในเส้นทางสายใต้

ความยาว: 200 เมตร

แม่น้ำที่ข้าม: แม่น้ำตาปี

ปีที่สร้าง: พ.ศ. 2456 l ซ่อมสร้าง พ.ศ. 2496

ที่มาของชื่อ: พระนามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เรามาถึงสะพานชื่อพระราชทานสะพานสุดท้ายของสายใต้ เป็นสะพานเหล็กขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำตาปีที่หน้าตาเหมือนสะพานพระราม 6 ในกรุงเทพฯ แบบไม่มีผิดเพี้ยน หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2486 สะพานแห่งนี้มีลักษณะเหมือนสะพานใหญ่ๆ ทั่วไปที่มีโครงสร้างแบบหลังอูฐ (โครงเหล็กผสมระหว่างโค้งและเหลี่ยม) ชาวบ้านเรียกสะพานแห่งนี้ติดปากว่า ‘สะพานโค้ง’

สะพานข้ามแม่น้ำตาปีถูกทิ้งระเบิดลงกลางสะพานจนหักกลางลำ เพื่อตัดตอนการขนส่งเสบียงและอาวุธของทหารญี่ปุ่น เมื่อสงครามสงบต้องบูรณะสะพานขึ้นมาใหม่ โครงสร้างหลักของสะพานเสียหายมาก บริษัท Cormanlong จึงเปลี่ยนรูปร่างสะพานโดยถอดแบบจากสะพานพระราม 6 ในกรุงเทพฯ

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

โครงสะพานเดิมที่ถูกทำลาย บางโครงยังมีสภาพดีใช้งานได้ จึงนำไปติดตั้งเป็นสะพานข้ามคลองยัน ในทางรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-คีรีรัฐนิคม ซึ่งยังใช้งานจนถึงปัจจุบัน

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

โครงสร้างของสะพานจุลจอมเกล้าเดิมที่ไม่เสียหายได้ถูกใช้งานเป็นสะพานคลองยันในทางรถไฟสายคีรีรัฐนิคม

‘สะพานโค้งพุนพิน’ แห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดใช้หลังซ่อมเสร็จเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2496 เป็นสะพานที่วิ่งร่วมระหว่างรถไฟและรถยนต์ ชื่อ ‘สะพานจุลจอมเกล้า’ นั้น พระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นสะพานเดียวที่ได้ชื่อพระราชทานหลังถูกทำลาย

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการสร้างสะพานสำหรับรถยนต์แยกออกจากสะพานจุลจอมเกล้า แต่ผิวถนนเดิมยังคงอยู่ เราจะเห็นวิถีชีวิตของคนท่าข้ามที่ใช้สะพานสัญจรไปมา วิ่งออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่างๆ บนสะพาน เหมือนสะพานรถไฟแห่งนี้ได้เชื่อมรถไฟกับชุมชนให้เข้าถึงกัน

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานจักรี

ที่ตั้ง: อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างสถานีหนองวิวัฒน์-ท่าเรือ ในเส้นทางสายเหนือ

ความยาว:  103 เมตร

แม่น้ำที่ข้าม: แม่น้ำป่าสัก

ปีที่สร้าง: พ.ศ. 2444 l ซ่อมสร้าง พ.ศ. 2497

ที่มาของชื่อ: ราชวงศ์จักรี

ที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นพื้นที่ไหลผ่านของแม่น้ำหลายสาย หนึ่งในนั้นคือแม่น้ำป่าสัก หนึ่งในแม่น้ำที่มารวมกับเจ้าพระยา และมุ่งหน้าไปทางเหนือจากชุมทางบ้านภาชีประมาณ 12 กิโลเมตร มีสะพานขนาดใหญ่ทอดข้ามแม่น้ำแห่งนี้

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานดำขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านในอำเภอท่าเรือมีชื่อว่า ‘สะพานจักรี’ เป็นสะพานชื่อพระราชทานแห่งแรกในเส้นทางรถไฟสายเหนือ เดิมตัวสะพานมีโครงสร้างโค้งเป็นแบบหลังอูฐ รองรับทางรถไฟขนาดความกว้าง 1.435 เมตร อยู่ใกล้สถานีรถไฟท่าเรือ

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานจักรีมีชะตากรรมไม่ต่างจากสะพานอื่นๆ ที่ถูกระเบิดทิ้งทำลาย ในสงครามโลกครั้งที่ 2 การรถไฟฯ การซ่อมสร้างสะพาน ได้ถูกเริ่มต้นขึ้นพร้อมกันทุกสายที่เกิดความเสียหาย และแทบทุกสะพานได้เปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิม สะพานจักรีก็เช่นกัน จากโครงสร้างเหล็กรูปโค้งได้ถูกเปลี่ยนเป็นโครงเหล็กรูปสี่เหลี่ยมคางหมูแบบที่คุ้นตาในปัจจุบัน เปิดใช้งานให้รถไฟวิ่งผ่านได้ในปี 2491

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

ในปี 2555 สะพานจักรีได้รับการเสริมความแข็งแรงเพื่อรองรับน้ำหนักของรถไฟที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยยังคงรูปร่างแบบเดิมไม่ผิดเพี้ยน และข้างๆ กันนั้นเป็นสะพานใหม่ที่สร้างขนานกันไปเพื่อให้รถไฟวิ่งสวนทางกันได้

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานปรมินทร์

ที่ตั้ง: อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ระหว่างสถานีไร่อ้อย-ชุมทางบ้านดารา ในเส้นทางสายเหนือ

ความยาว: 263 เมตร

แม่น้ำที่ข้าม: แม่น้ำน่าน

ปีที่สร้าง: พ.ศ. 2452 l ซ่อมสร้าง พ.ศ. 2491

ที่มาของชื่อ: ปรมินทร์ เป็นคำหนึ่งในพระนามของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลเลขคี่ ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง

สะพานใหญ่สีขาวทอดข้ามแม่น้ำสีแดงอิฐ โอบล้อมด้วยความร่มรื่นเขียวชอุ่มของต้นไม้ใหญ่ บนยอดสุดของโครงเหล็กสูงลิ่วมีป้ายจารึกว่า ‘สะพานปรมินทร์’

สะพานปรมินทร์สร้างเมื่อปี 2449 แล้วเสร็จในปี 2452 เป็นสะพานเหล็กขนาดใหญ่แบบคานยื่น รูปร่างคล้ายสะพานแขวน ได้รับการพระราชทานชื่อโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมสถานีรถไฟแห่งหนึ่งซึ่งเดิมไม่มีชื่อและอยู่ไม่ไกลจากสะพานแห่งนี้

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

สะพานปรมินทร์เดิมมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับสะพานแขวน

รัชกาลที่ 5 พระราชทานชื่อสะพานแห่งนี้ว่า ‘ปรมินทร์’ หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลเลขคี่ ส่วนสถานีรถไฟที่คู่กับสะพาน พระองค์พระราชทานชื่อว่า ‘บ้านดารา’ หมายถึงเจ้าดารารัศมี พระราชชายา

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

หากใครเคยเห็นภาพเก่าๆ คงรู้สึกเสียดายรูปร่างที่งดงามของสะพานปรมินทร์ เหตุผลที่สะพานต้องเปลี่ยนรูปร่าง เพราะได้รับความเสียหายจากการเป็นเป้าระเบิดนั่นเอง ซึ่งต้องทิ้งระเบิดกว่า 20 ครั้ง สะพานปรมินทร์จึงจะขาด

รวมสะพานรถไฟสุดสวยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

ปัจจุบันสะพานปรมินทร์เป็นสถานที่สำคัญของตำบลบ้านดารา มีการสร้างสวนสาธารณะขึ้นใต้สะพานเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย สถานีรถไฟชุมทางบ้านดารานั้นมีการนำป้ายชื่อสะพานเดิมมาตั้งไว้เป็นอนุสรณ์พร้อมลูกระเบิดลูกหนึ่งซึ่งคาดว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มระเบิดที่หักสะพานปรมินทร์ (เดิม) ออกเป็นเสี่ยงๆ

ภาพ
พยุงศักดิ์ คุ้มแถว
กิติพงษ์​ ธารปราบ
การรถไฟแห่งประเทศไทย
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

Save

อีกนิดอีกหน่อย

  1. สะพานชื่อพระราชทานทุกแห่งถูกระเบิดทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเป็นสะพานขนาดใหญ่ที่สามารถตัดตอนการเดินทางของกองทัพญี่ปุ่นในสมัยนั้นได้
  2. หากใครอยากไปดูสะพานแบบใกล้ชิด ลองอ่านคำแนะนำนี้

– สะพานพระราม 6 เดินขึ้นไปได้ ทางขึ้นอยู่ฝั่งพระนครใต้ทางพิเศษศรีรัช แต่ไม่ควรอยู่บนสะพานหลังพระอาทิตย์ตกดิน เพราะสะพานไม่มีไฟส่องสว่าง

– สะพานเสาวภา อยู่ใกล้สถานีนครชัยศรีที่สุด แต่รถไฟจอดน้อย ถ้าขับรถไปจะดีกว่า และมุมที่เห็นสะพานเสาวภาสวยที่สุดคือมองจากตลาดนครชัยศรี

– สะพานจุฬาลงกรณ์ อยู่ใกล้ตลาดโต้รุ่งริมน้ำแม่กลองราชบุรี แถวๆ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ แถวนั้นของกินเยอะมาก กินไปนั่งดูรถไฟไปก็เพลินไปอีกแบบ

– สะพานจุลจอมเกล้า อยู่ใกล้สถานีสุราษฎร์ธานี สามารถเดินได้ (ถ้าอึดพอ) ตอนเย็นมีคนมาวิ่งออกกำลังกายบนสะพานเยอะมาก แถมถ่ายรูปสวยด้วย เพราะทางรถไฟตรงเชิงสะพานเป็นโค้งพอดี

– สะพานจักรี อยู่ติดสถานีท่าเรือ เดินไปที่สะพานได้ ตอนปรับปรุงสะพานมีการทำทางเดินให้พร้อมและปลอดภัย

– สะพานปรมินทร์ อยู่ใกล้สถานีบ้านดารา เดินไปได้ ใต้สะพานมีสวนสาธารณะ มุมที่ถ่ายรูปสะพานสวยที่สุดอยู่ในเขตฌาปนสถานวัดบ้านดารา

  1. สะพานทั้ง 6 แห่ง มีป้ายชื่อติดอยู่บนโครงสะพาน พร้อมปีที่สร้าง หรือปีที่ซ่อมสร้าง
  2. สะพานจักรีและสะพานเสาวภา อยู่ในเขตทางคู่ แต่เป็นสะพานที่มีขนาดสำหรับทางรถไฟ 1 ทาง จึงต้องสร้างสะพานใหม่ขนานกันไป สะพานที่สร้างขึ้นข้างๆ ไม่ได้ถูกตั้งชื่อตามสะพานเดิม
  3. สะพานจุลจอมเกล้า เป็นสะพานเดียวใน 6 สะพาน ที่ได้รับพระราชทานชื่อหลังจากถูกระเบิดแล้ว

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ