“เคยเห็นภาพ 60 ปี 1 วันกันไหมครับ”

พอ เอก-เอกสิทธิ์ รัชตะกิตติสุนทร เอ่ยคำนี้กับเราและช่างภาพ เราต่างมองหน้าเขาอย่างงง ๆ ยังไงก็ตาม คุณเอกยืนยันว่า นี่แหละคือแนวคิดที่เป็นแรงผลักดันให้ทุกวันนี้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฝัน อย่างในภาพที่เคยนึกถึงเมื่อครั้งยังเป็นชายหนุ่มนักวางกลยุทธ์ทางการตลาดทีวีในช่วงอายุ 27 ของตัวเอง

เขาอธิบายว่าภาพที่เห็นนั้นชัดเจนมาก เขากำลังนั่งมองบึงน้ำกว้างใหญ่ ไม่สวมรองเท้า ไม่สวมนาฬิกาข้อมือ มีหมาตัวหนึ่งนั่งข้าง ๆ ยิ่งมองยิ่งชัด และยิ่งตอบตัวเองได้ว่า วันหนึ่งในวัย 60 ปี จะเป็นวันที่เขาไม่เร่งรีบจนต้องกังวลกับเวลา ผ่อนคลายในพื้นที่บ้านของตัวเอง เพราะไม่ต้องสวมรองเท้าเดินไปมาอย่างระแวดระวัง บึงกว้างที่เห็นบอกให้รู้ว่าคงไม่ใช่ที่ดินแสนแพงในกรุงเทพฯ และมีเพื่อนรู้ใจนั่งใกล้ ๆ ซึ่งในวันนี้ เพื่อนรู้ใจไม่ใช่เจ้าสี่ขา แต่คือ วรรณ-กมลวรรณ เปรมฤทัย ภรรยาคู่ชีวิต ที่ประคับประคองฝัน ฝ่าฟันคำดูถูกว่าเป็น ‘คนเพ้อเจ้อ ผีบ้า หลุดโลก’ ร่วมกันมาจนถึงวันนี้  

ไร่เอกเขนก เชียงใหม่ : บ้านดิน โรงเรือนไก่ และร้านกาแฟเปิดเดือนละ 10 วันของคนหลุดโลก

กว่าจะถึงวันที่มีบ้านดินสีคราม มีห้องนั่งเล่นเป็นร้านกาแฟ 10 วัน หรือ Ten Days Café บ้านที่มี Backyard Lab แสนเก๋ บ้านที่มีเรือนกระจกเพาะชำและทำงานไม้ บ้านที่มีศาลาอเนกประสงค์เพื่อส่งต่อความรู้และแรงบันดาลใจ บ้านที่มีโรงเลี้ยงแม่ไก่สาวและแม่ไก่เกษียณอยู่ร่วมกัน บ้านที่เรียกคนเลี้ยงไก่ว่าพ่อแม่ไก่ และคนปลูกผักว่าพ่อแม่ผัก เหล่านั้นไม่ใช่แค่เรื่องชั่วพริบตา ทั้งสองคนต้องผ่านร้อน หนาว และมรสุมมากมาย จนมาเป็นไร่ ‘เอกเขนก’ ที่ยืนหยัดมาถึง 5 ปีแล้ว

ไร่เอกเขนก เชียงใหม่ : บ้านดิน โรงเรือนไก่ และร้านกาแฟเปิดเดือนละ 10 วันของคนหลุดโลก

บ้านดินสีครามที่เปิดห้องนั่งเล่นเป็นร้านกาแฟ 10 วัน

“เงินที่มีก็มาอยู่ในบ้านหลังนี้แหละ เพราะเรารู้ว่าวรรณจะอยู่ยังไงได้ เขาเป็นลูกคุณหนู อยู่แต่ในกรุงเทพฯ มาตลอด เราต้องคิดให้จบว่าจะทำยังไงให้เขาอยู่ได้ อยู่ในที่ที่ไม่เคยอยู่และไม่มีเพื่อน เลยตั้งใจทำบ้านให้สวย อยู่สบาย ต้องเป็นบ้านดิน และให้ห้องนั่งเล่นเปิดเป็นร้านกาแฟ เพื่อให้มีคนมาพูดคุย มาชื่นชมในสิ่งที่เขาตกแต่ง 

“ผมบอกเขาว่า เชื่อสิ วันหนึ่งจะมีคนมาที่ไร่เราเยอะแยะเลย จริง ๆ เริ่มแรกทุกคนไม่เชื่อ เราก็ยืนยันไปว่าคอยดูนะ สิ่งที่เราจะทำ อย่างการปลูกผักอินทรีย์ที่พูดไว้เมื่อ 10 ปีก่อน เราจะปลูกผักแบบไม่จ้างคนด้วย แต่เราจะให้เขาเป็นเจ้าของ 

“ตอนนั้นมีแต่คนบอกว่า เพ้อเจ้อ!”

ไร่เอกเขนก เชียงใหม่ : บ้านดิน โรงเรือนไก่ และร้านกาแฟเปิดเดือนละ 10 วันของคนหลุดโลก

คุณเอกเล่าถึงที่มาที่ไปของแนวคิดและบ้านดินสีครามที่เปิดเป็นร้านกาแฟแห่งนี้ด้วยตาเป็นประกาย สิ่งที่ฟันฝ่าไม่ใช่แค่คำพูดของคนอื่น แต่คือการทำให้คู่ชีวิตยอมรับแล้วทิ้งงานการตลาดของทีวีช่องดัง (ที่ทำด้วยกัน) มาอยู่ในไร่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่เกือบร้อยกิโล

3 ปี กว่าที่คุณวรรณจะยอมรับและเปิดใจให้แนวคิดแปลก ๆ ของคู่ชีวิต เธอบอกว่าในช่วงนั้นถ้าคุณเอกพูดถึงเชียงใหม่เมื่อไหร่ น้ำตามาทันที และไม่รับฟังใด ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งคุณเอกตัดสินใจบอกว่า ไม่คิดถึง ไม่พูดถึงการย้ายไปเชียงใหม่ก็ได้ และต่อจากนี้ให้คุณวรรณเป็นผู้นำในการใช้ชีวิตครอบครัว นั่นเองเป็นจุดเปลี่ยนที่เธอเริ่มเปิดใจ รับฟังแนวคิด ไอเดีย มองหาที่ดินและวางแผนย้ายมาใช้ชีวิตที่อำเภอจอมทอง

“เราทำบ้านกันช่วง พ.ศ. 2556 – 2557 ทำอยู่ 2 – 3 ปีกว่าจะเสร็จ ช่วงนั้นยังไป ๆ มา ๆ พอบ้านเสร็จก็มาอยู่ใน พ.ศ. 2559 อยู่เองตลอดช่วง 1 ปีเพื่อเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบบ้าน และเริ่มเปิดบ้านเป็นร้านกาแฟใน พ.ศ. 2560

ไร่เอกเขนก เชียงใหม่ : บ้านดิน โรงเรือนไก่ และร้านกาแฟเปิดเดือนละ 10 วันของคนหลุดโลก
ไร่เอกเขนก เชียงใหม่ : บ้านดิน โรงเรือนไก่ และร้านกาแฟเปิดเดือนละ 10 วันของคนหลุดโลก

“เราทำบ้านดิน เพราะต้องการเอกลักษณ์ ต้องการการจดจำว่าเราคืออะไร และเพราะรู้ว่าเราตกผลึกกับวิธีคิดแล้ว หลายคนอาจบอกว่าบ้านดินดูสกปรก ไม่น่าอยู่ เราก็คิดว่า ถ้างั้นสร้างคอนเซปต์ดีกว่าว่า จะทำบ้านดินที่สวย เป็นบ้านดินที่โดนป้ายสี” คุณเอกพูดถึงแนวคิดเรื่องบ้าน ก่อนที่คุณวรรณจะเสริมขึ้น

“บ้านดินเราสีครามค่ะ แล้วพอมาคิดว่าทำไมถึงเลือกสีคราม สีน้ำเงินอย่างนี้นะ อ๋อ เพราะสีน้ำเงินเป็นสีของท้องฟ้าและน้ำทะเล ให้ความรู้สึกอยู่แล้วเย็น เป็นสีที่แทบทุกคน ทุกชาติ ทุกชนเผ่าใช้กัน อย่างเช่นยีนหรือผ้าย้อมคราม ย้อมฮ่อม วรรณมองว่าสีน้ำเงินมันทัชเรา และทำให้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ”  

โครงสร้างหลักของบ้านนี้สร้างขึ้นด้วยปูน แต่ผนังทั้งหมดเป็นก้อนดินที่ค่อย ๆ ก่อขึ้น ส่วนหลักของบ้านคือห้องนั่งเล่นกว้าง 4 × 8 เมตร ออกแบบให้เป็นร้านกาแฟ 10 วัน ตกแต่งอย่างน่ารักด้วยของสะสมที่มีความหมายต่อทั้งสองคน ผนังห้องนั่งเล่นด้านหนึ่งทาสีครามที่ดูเหมือนทาไม่เสร็จ คุณวรรณบอกว่าตั้งใจทิ้งไว้อย่างนั้น ผนังนี้จะสวยสมบูรณ์ได้ด้วยผู้คนที่เข้ามาเยือน และยืนถ่ายภาพเติมเต็มสีสันให้กับผนังที่เหลือนั่นเอง

ไร่เอกเขนก เชียงใหม่ : บ้านดิน โรงเรือนไก่ และร้านกาแฟเปิดเดือนละ 10 วันของคนหลุดโลก

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ทั้งคู่เชิญชวนให้โฮมสไตลิสต์มาช่วยแต่งบ้าน ซึ่งคุณวรรณให้เพื่อนจากนิตยสารเกี่ยวกับบ้านแนะนำให้ เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญมาเริ่มต้น ความฝันที่เคยอยากเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ในช่วงวัยรุ่นจึงตื่นตัวอีกครั้ง หลังจากที่เคยคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถและไม่กล้าฝัน เธอบอกว่าทุกวันนี้สนุกกับการแต่งบ้านและมีไอเดียสร้างสรรค์มุมต่าง ๆ อย่างไม่รู้จบเลยทีเดียว

“ห้องเหลี่ยม ๆ ขนาด 4 × 8 ก็จริงนะคะ แต่เพราะเราลุ่มลึกกับมัน มันเลยไม่ใช่แค่ 4 × 8 แต่เต็มไปด้วยมุมต่าง ๆ รายละเอียดที่เราใส่ลงไป”

ถัดจากห้องสี่เหลี่ยมที่ว่า ด้านในคือห้องครัวขนาดย่อม ตรงข้ามกันเป็นห้องนอนเล็ก ๆ กั้นผนังเป็นมุมทำงาน มีโซฟาเล็ก ๆ วางแล้วดูพอเหมาะพอเจาะกับพื้นที่

“ห้องนอนเล็กเพราะเราว่าถ้าบ้านเล็ก เราก็จะได้ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก ในสวนหรือในที่กลางแจ้งที่เรามีอยู่ แล้วอีกอย่าง ผมว่าบ้านหลังนี้ทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น อย่างถ้านั่งอยู่ในห้องนอนแล้ววรรณอยู่ในครัว เราก็เห็นกันแล้ว” คุณเอกยิ้ม

“ครัวเล็ก ๆ และสวยอย่างนี้ ถ้าจะทำผัดกะเพราล่ะครับ” ช่างภาพถามขึ้น

“เราก็ออกไปทำนอกบ้านครับ ที่เยอะแยะ ผัดตรงไหนก็ได้ครับ” เขาตอบพร้อมหัวเราะ

เดินผ่านห้องนอนไปด้านหลังบ้าน เดิมเป็นที่ซักล้าง แต่คุณวรรณเกิดไอเดียปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมพื้นที่ใช้สอยให้กลายเป็นมุมนั่งเล่นส่วนตัวแสนสบาย ใช้หน้าต่างเก่าประตูเก่าที่ซื้อสะสมไว้มาประกอบโครงสร้าง ผนังใช้สมาร์ทบอร์ดเพื่อให้มีน้ำหนักเบา

หน้าต่างหลายบานน่าสนใจ ทั้ง ๆ ที่ดู ๆ ไปก็เป็นหน้าต่างไม้เก่า ๆ ธรรมดา ๆ นั่นเพราะทั้งคู่รู้จักปรับมุม ติดตั้งหน้าต่างแบบ Upside Down เพิ่มลูกเล่นให้สายตา ก็อย่างที่คุณวรรณบอกนั่นเอง “ราวกับทักษะศิลปะตกแต่งบ้านมันถูกจุดระเบิดขึ้นมา เมื่อได้มาอยู่ที่ไร่แห่งนี้”

Ten Days Café

“ตอนแรกที่พี่เอกบอกว่าจะเปิดร้านกาแฟ วรรณก็คิดว่านี่ไม่ใช่ความฝันฉันนะ ฉันไม่ได้อยากมีร้านกาแฟ วรรณบอกว่าไม่เปิด โอ้ย ถ้าให้วรรณขายกาแฟทั้งเดือน ไม่ขายหรอก ถ้า 10 วัน โอเค คำนั้นก็เลยจุดประกายพี่เอก แล้วเราก็คุยกันว่า 10 วัน งั้นเอาวันที่ 10 – 20 แล้วกันเพราะจำง่ายดี” คุณวรรณอธิบายถึงที่มาก่อนที่พี่เอกจะเสริมต่อ

“เราเปิดเพื่อให้มีพื้นที่สื่อสารกับผู้คน เหมือนไม่ใช่การซื้อขายจริง ๆ เพราะทุกคนที่กำลังเดินเข้ามาในห้องนั่งเล่นของเรา เราเลยออกแบบเป็น Pay as You Feel จ่ายตามที่รู้สึก ตรงนี้เองทำให้เกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันให้คุณค่ากับเรา 

“เราไม่ได้กำลังซื้อขายกาแฟ แต่กำลังต้อนรับเพื่อนจริง ๆ จากหัวใจในทุกแก้วที่ทำ เราเชื่อในชีวิตที่ออกแบบได้ ถ้าเราคิดในสิ่งที่หลงใหลและคิดให้ละเอียด เราก็จะมีความสุข คิดให้ลึก ให้ละเอียด มันต่างจากคิดมากนะครับ” 

ไร่เอกเขนก เชียงใหม่ : บ้านดิน โรงเรือนไก่ และร้านกาแฟเปิดเดือนละ 10 วันของคนหลุดโลก
ไร่เอกเขนก เชียงใหม่ : บ้านดิน โรงเรือนไก่ และร้านกาแฟเปิดเดือนละ 10 วันของคนหลุดโลก

“ตอนแรกวรรณก็ไม่อินมากนะคะ แต่พอเรายืนตรงบาร์นี้ 1 ปี 2 ปี 3 ปี จน 5 ปี มันชัดเจนขึ้น เราสัมผัสในสิ่งที่พี่เอกคิดและทำ เรียกว่าประจักษ์ได้เลยค่ะ”

หน้าทางเข้าห้องนั่งเล่นร้านกาแฟมีป้ายติดไว้ว่า A’SEY A’SEY คุณวรรณบอกว่า “แปลว่าสบาย ๆ เป็นภาษาพม่า ชื่อนี้เป็นเหมือนชื่อย่อของร้านกาแฟเราค่ะ

“สำหรับวรรณแล้ว เราเคยทำการตลาดทีวี อย่างปีแรก ๆ ก็ตื่นเต้น สนุกดี แต่พอทำเป็นกิจวัตรมันก็ไม่ตื่นเต้นแล้ว แต่สำหรับชีวิตทุกวันนี้ พอ 10 วันมาเปิดร้านกาแฟ อีก 10 วันเป็นแปรรูป ดูแลเรื่องผัก อีก 10 วันก็หาความรู้ใหม่ ๆ หรือพบปะผู้คน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน มันทำให้เราสนุกและไม่เบื่อเลย”

ไร่เอกเขนก เชียงใหม่ : บ้านดิน โรงเรือนไก่ และร้านกาแฟเปิดเดือนละ 10 วันของคนหลุดโลก

Backyard Lab กับพื้นที่ธรรมดา ธรรมชาติ และธรรมะ  

บนที่ดินแห่งนี้ นอกจากบ้านดินสีครามแล้ว ยังมีบ้านหลังเล็กขนาดกะทัดรัดใกล้ที่จอดรถ ที่ตรงนี้ทั้งสองคนตั้งชื่อว่า Backyard Lab หรือ ห้องทดลองหลังบ้าน เดินเข้าไปในสวน มีโรงเรือนกระจกแบบแฮนด์เมด ผนังกรุหน้าต่างรายรอบ ซึ่งเป็นพื้นที่ออกแบบงานใหม่ ๆ ทดลองสีทาแผ่นป้าย หรือทำไม้กระถางเล็ก ๆ ตกแต่งบ้าน บริเวณนี้คือโซนธรรมดาซึ่งหมายถึงพื้นที่อยู่สบาย ๆ

เมื่อเดินเข้าไปด้านในจะเห็นแนวแปลงผักที่ออกแบบไว้สวยงามโดยฝีมือและแนวคิดของคุณวรรณ ถัดไปเป็นศาลาเรียนรู้ แบ่งปันไอเดีย และที่ทำเวิร์กช็อปของคุณเอก เดินไปอีกหน่อยพบกับบ้านไก่หน้าตาน่ารักล้อมรั้วมิดชิด และด้านในเป็นบึงน้ำที่ขุดไว้เพื่อดึงน้ำมาใช้ในสวนได้ ส่วนนี้คือโซนธรรมชาติ และด้านในสุดเป็นกลุ่มไม้สักดูเป็นสวนป่าย่อม ๆ ซึ่งคุณเอกตั้งใจออกแบบให้เป็นโซนธรรมะ  

ไร่เอกเขนก : โปรเจกต์ทำชีวิตเอกเขนกตามภาพฝันของคู่รักคนกรุง ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดเฉพาะทุกวันที่ 10 - 20 ของเดือน

คุณเอกเล่าว่า ที่ดินทั้งหมดมีเนื้อที่ 30 ไร่ แต่ค่อย ๆ ทำทีละโซน “ตอนนี้ทำ 6 ไร่ก่อนครับ บางคนถามว่าที่เยอะทำยังไง เราก็บอกคนอื่นว่า มีที่เยอะก็อย่าไปทุกข์กับที่ทั้งหมด แต่ให้มีความสุขกับที่ 4 – 5 ไร่ก่อน ค่อย ๆ ทำให้มันเติบโตไป เพราะถ้าทำทั้งหมดเราจะเครียด”

ในส่วนห้องทดลองหลังบ้าน ทั้งคู่เล่าว่ามีไอเดียอยากสร้างมานานแล้ว แต่รอเวลาและจังหวะที่เหมาะสม 

“ค่อย ๆ เก็บตังค์ครับ” คุณเอกบอก “พอช่วงโควิด เราไปไหนไม่ได้เลย ร้านกาแฟเปิดไม่ได้ ผักที่เราปลูกก็ส่งไปขายไม่ได้ แต่ก็ยังต้องหารายได้ พี่ ๆ ที่เขามาทำผักกับเรา มาเลี้ยงไก่ไข่กับเรา เขารู้สึกว่าทำแล้วของพวกนี้จะไปไหนดี เราจึงเริ่มคิดถึงเรื่องการแปรรูป เช่น ทำใบหม่อนเป็นชา หรือหาช่องทางใหม่ ๆ 2 ปีนั้นก็เริ่มตกผลึกและออกแบบกัน”

ไร่เอกเขนก : โปรเจกต์ทำชีวิตเอกเขนกตามภาพฝันของคู่รักคนกรุง ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดเฉพาะทุกวันที่ 10 - 20 ของเดือน

“ตรงนี้เราดีไซน์ให้เป็น Mini Space, Multi Function พื้นที่หนึ่งควรทำอะไรได้หลายอย่าง เพราะเราไม่ได้มีโอกาสสร้างสิ่งปลูกสร้างบ่อย ๆ ก็ควรเป็นทั้งที่แปรรูป ทำเวิร์กช็อป ครัว ถ้ามีคนมาทำร้านอาหารกับเราก็ทำได้ อย่าง Chef’s Table ซึ่งเราอยากเรียกว่า Join Table มากกว่า หรือทำเบเกอรี่ก็ได้ และด้านหน้าว่าง ๆ ตรงนี้ เราวางว่าต่อไปจะทำเป็นตลาดเล็ก ๆ ให้คนมาซื้อของที่อยู่ในไร่เราได้ เรียกว่า ‘ใจใจ มาร์เก็ต’ ”

พื้นที่ห้องทดลองหลังบ้านมีขนาด 4.5 × 6 เมตร ขนาดระเบียงอีกประมาณ 2 เมตร

ด้านในห้องแบ่งโซนไว้อย่างลงตัว มีส่วนทำแปรรูปที่ต้องการพื้นที่กว้าง หมุนซ้ายขวาได้ง่าย มีชั้นวางของต่อเชื่อมไปกับระเบียงด้านหลังได้ ขณะที่ด้านหน้าออกแบบให้เป็นพื้นที่ใช้สอยที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ สีเขียวและแดงของผนังดึงดูดสายตา คุณวรรณเป็นคนออกแบบตกแต่งและเลือกสีสันด้านในทั้งหมด

“จริง ๆ ห้องไม่ใหญ่เลย แต่เพราะผนังสีแดงกับโค้งที่เห็นนี้มันขโมยสายตาเรา ก็เลยมองเห็นเหมือนว่ากว้างค่ะ” คุณวรรณว่า

ด้านหลังผนังเขียวเป็นส่วนตู้เย็นและแพนทรี่ มีมุมนั่งทานอาหาร นั่งเล่น หรือทำงานได้อย่างสบาย ๆ  

ไร่เอกเขนก : โปรเจกต์ทำชีวิตเอกเขนกตามภาพฝันของคู่รักคนกรุง ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดเฉพาะทุกวันที่ 10 - 20 ของเดือน

แม่ไก่เกษียณในโรงเรือนที่หน้าตาเหมือนโรงเรียนอนุบาล  

แนวคิดหาผู้ร่วมฝันมาสร้างสรรค์พื้นที่ด้วยกันของคุณเอก ทำให้เกิดพ่อแม่ไก่และพ่อแม่ผักขึ้นมา คุณเอกอธิบายว่า ไร่เอกเขนกมีคนที่รักการเลี้ยงไก่ ดูแลไก่ไข่อย่างดีมาอยู่ร่วมกันตั้งแต่บ้านสร้างเสร็จ 

ภพ ชายหนุ่มที่เคยเป็นคนงานก่อสร้างบ้านหลังนี้มาก่อน เมื่อสร้างเสร็จก็รักพื้นที่ รักบ้านแห่งนี้ จึงอยากอยู่ต่อ ทั้งคู่จึงชวนภพให้มาสร้างความฝันด้วยกันด้วยการเป็นพ่อแม่ไก่ที่ไร่นี้ 8 ปีแล้ว 

ส่วนแปลงปลูกผักเกิดขึ้นได้จริง เมื่อคุณเอกและคุณวรรณชักชวน พี่อัญ ซึ่งใส่ใจและรักการปลูกผักมาอยู่ด้วย หลังจากได้ไปพบเจอในเมืองลำพูนและใช้เวลาติดตามพูดคุยอยู่ 3 ปีกว่า เมื่อจังหวะเวลาลงตัว พ่อแม่ผักอย่างพี่อัญจึงตกลงใจมาร่วมสร้างสวนผักที่นี่ จนถึงตอนนี้ก็ยาวนานถึง 5 ปีแล้ว 

“ทั้งพ่อแม่ไก่หรือพ่อแม่ผักก็ตาม เราไม่ได้ใช้ระบบจ้างนะครับ แต่เราบอกเขาว่า อยากให้เขารู้สึกว่านี่คือที่ของเขา ไม่ใช่ลูกจ้าง ให้เขาได้ทำในสิ่งที่ถนัด ส่วนผมถนัดขาย ถนัดเล่าเรื่อง ผมจะทำในสิ่งที่ผมถนัด แล้วเราก็จะได้อยู่ด้วยกันได้”

ไร่เอกเขนก : โปรเจกต์ทำชีวิตเอกเขนกตามภาพฝันของคู่รักคนกรุง ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดเฉพาะทุกวันที่ 10 - 20 ของเดือน

“เห็นโรงเรือนไก่หรือยัง น่ารักมาก เหมือนโรงเรียนอนุบาล”​ ช่างภาพเดินกลับมาถามขณะที่การสัมภาษณ์ยังดำเนินอยู่ใน Backyard Lab  

โรงเรือนเลี้ยงไก่หน้าตาน่าเอ็นดูเพราะมีขนาดพอประมาณ ทำโครงสร้างด้วยเหล็กดัดเก่า ไม้พาเลต และหน้าต่างที่เรียกว่า ‘ฝาไหล’ ของคนทางภาคเหนือ (สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช. อธิบายว่า ฝาไหลเป็นการทำฝาไม้ 2 ชั้นที่ตีเว้นช่องสลับกัน หากเลื่อนมาซ้อนกันจะเป็นฝาผนังที่ทึบตัน แต่หากเลื่อนขยับฝาชั้นในก็จะทำให้เกิดช่องที่ฝานั้น ทำให้แสงและลมผ่านเข้าออกได้) เลี้ยงไก่พันธุ์ Rhode Island Red อย่างอิสระในพื้นที่กว้าง ให้ไข่เก็บกินได้ทุกวัน

ไร่เอกเขนก : โปรเจกต์ทำชีวิตเอกเขนกตามภาพฝันของคู่รักคนกรุง ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดเฉพาะทุกวันที่ 10 - 20 ของเดือน

คุณเอกบอกว่า ปกติคนเลี้ยงไก่ไข่มักปลดระวางไก่ที่มีอายุ 2 ปีแล้วขายออกไป เปลี่ยนไก่สาวชุดใหม่เข้ามา แต่สำหรับที่นี่ ไก่ที่ปลดระวางแล้วหรือแม่ไก่เกษียณจะไม่ถูกขายออกไป ยังคงเลี้ยงในบริเวณเดียวกัน แต่หัดให้ทำหน้าที่อื่นอย่างคุ้ยเขี่ยกองใบไม้และเศษอาหารเพื่อทำปุ๋ย

“เรามีไก่ที่เลี้ยงจนตายด้วยนะครับ พ่อแม่ไก่ (หมายถึงคนเลี้ยงไก่) จะฝึกแม่ไก่เกษียณมาทำปุ๋ยตรงมุมนี้ เราเรียกกองปุ๋ยไก่เกษียณ โดยเอาใบไม้แห้ง ขี้วัว มากองทับถมกัน ถ้ามีเศษอาหารก็เอามาทิ้งได้ แม่ไก่เกษียณก็จะถูกฝึกให้มาคุ้ยเขี่ยแล้วก็อึใส่ตรงนี้ด้วย พออายุครบ 90 วัน ก็จะเอากองปุ๋ยไก่เกษียณแต่ละกองไปย่อยทำปุ๋ยใส่ถุงขายได้ แบ่งเป็น 2 กองคือ กองเดือนคู่กับกองเดือนคี่ เพื่อจะได้เก็บต่างเวลากัน”

‘เอกเขนก’ ที่ไม่ได้หมายถึงท่านั่ง แต่คือวิถีชีวิตที่ลงตัว  

“ถ้าบทสัมภาษณ์เริ่มต้นว่าเอกเขนกคืออะไร ผมจะตอบว่า เอกเขนกไม่ใช่สถานที่ แต่คือวิธีคิด แล้วเอกเขนกก็ไม่ใช่แค่ท่านั่ง แต่คือวิถีชีวิต

“ถ้าเราอยากได้บ้านสักหลังหนึ่ง เราอยากออกแบบบ้านให้เป็นศูนย์กลางชีวิต แล้วแบ่งปันแรงบันดาลใจให้คนที่มาเข้าใจวิถีชีวิตเอกเขนกมากขึ้น เปลี่ยนห้องนั่งเล่นให้เป็นโฮมคาเฟ่เดือนละ 10 วันที่สร้างรายได้ เปลี่ยนสวนหลังบ้านปลูกผักอินทรีย์เพื่อลดค่าใช้จ่าย แล้วก็สร้างรายได้และสุขภาพดี ๆ ให้เรา  

“หรือกระทั่งสร้าง Backyard Lab เอาไว้แปรรูปผลผลิตในไร่ ทำอาหารสุขภาพ ทำซูเปอร์ฟู้ด ทำของทานเล่น ทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพให้เรา และยังแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ได้อีก หรือทำศาลานั่งเล่นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน นั่นแหละคือการใช้ชีวิต เราเลยบอกว่า เรากำลังใช้ชีวิตแบบ Easy, Not lazy ง่ายแต่ไม่เกียจคร้าน”

ไร่เอกเขนก : โปรเจกต์ทำชีวิตเอกเขนกตามภาพฝันของคู่รักคนกรุง ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดเฉพาะทุกวันที่ 10 - 20 ของเดือน

คุณเอกสรุปความหมายและความรู้สึกออกมาเป็นภาษาง่าย ๆ ที่สัมผัสได้ถึงใจ ขณะที่เรามองไปยังคุณวรรณคู่ชีวิต เธอพูดอย่างน่ารักว่า

“พอเราเปิดใจ เราเริ่มมองเห็นอะไรต่าง ๆ มากขึ้น และพอได้ทำบ้าน ได้อยู่ที่นี่ ก็เรียนรู้และปรับตัวไปกับธรรมชาติทั้งการกระทำและใจเราด้วย อย่างที่เราทั้งสองตกตะกอนกันว่า Life is seasonal, Work as festival สุขกับชีวิตตามฤดูกาล สนุกกับงานเหมือนเป็นเทศกาล

“เพราะเราอยู่มา 5 ปี ในแต่ละปีทำให้เราชัดเจนว่า ต้องวางชีวิตไปตามฤดูกาลจริง ๆ เราจึงจะมีความสุขกับมันได้ อย่างเช่นช่วงฤดูกาลผัก เราก็เน้นโฟกัสเรื่องผัก แต่พอหน้าฝน ปลูกผักไม่ดี แม้กระทั่งพ่อแม่ผักด้วย เขาก็จะลดการปลูกผักลง เพราะถ้าปลูกมากไปผลผลิตก็ไม่มาก เสียเวลาเปล่า ๆ กับการฝืนธรรมชาติ พี่ ๆ เขาก็จะเอาเวลามาทำแปรรูปกับเราด้วย  

“และเรามองว่าสนุกกับงานเหมือนเป็นเทศกาล ที่ชัดเจนคือ เราเปิดร้านกาแฟ 10 วัน ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นอีเวนต์ เราสนุกที่ได้ทำ ชีวิตมีสีสันเหมือนเราได้เรียนรู้กับมันจริง ๆ ไม่ใช้คำที่เราเซตขึ้นมา แต่เกิดจากการใช้ชีวิตแล้วเกิดหลักคิด เราพบว่าพอทำชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น ความสุขมันก็เรียบง่ายขึ้นจริง ๆ เราไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อหาเงินไปซื้อความสุข แต่เราใช้ชีวิตด้วยความสุขอยู่ทุกวัน

ไร่เอกเขนก : โปรเจกต์ทำชีวิตเอกเขนกตามภาพฝันของคู่รักคนกรุง ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดเฉพาะทุกวันที่ 10 - 20 ของเดือน
ไร่เอกเขนก : โปรเจกต์ทำชีวิตเอกเขนกตามภาพฝันของคู่รักคนกรุง ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดเฉพาะทุกวันที่ 10 - 20 ของเดือน

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ