นาหนองบง คือหมู่บ้านเล็กๆ ชายป่า ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าเขียวขจีในเขตตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

ความเป็นอยู่ของชุมชนเป็นไปอย่างสงบสุขและเรียบง่าย จนวันหนึ่งทุกอย่างกลับพังทลายเพราะเหมืองทองคำ

ผืนป่าและภูเขาสองลูกที่ตั้งตระหง่านถูกทำลาย ซ้ำร้ายยังส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และมีเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำต่อทั้งกายใจของคนในชุมชน

นาหนองบงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อคัดค้านเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดเลยเป็นเวลานานนับ 10 ปี โดยมีกลุ่มแม่หญิงอาวุโส ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา เป็นแกนนำยืนหยัดต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของตน

เสียงตะโกนที่พวกเธอและชาวบ้านพยายามเปล่งออกมานับ 10 ปี อาจมีคนได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง แต่พวกเธอยืนหยัดต่อสู้ทุกวิถีทาง

ถึงกับใช้ ‘ตำหูก’ ผ้าฝ้ายอินทรีย์ที่เป็นวิถีชุมชนสื่อสารถึงการค้านเหมืองแร่ไปสู่นานาประเทศ พร้อมกับเลี้ยงชีพและหาทุนรอนสำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อบ้านเกิดต่อไป

01

เมื่อเสียงหริ่งเรไรถูกกลบด้วยเสียงระเบิดของเหมืองทอง

เราเดินทางจากกรุงเทพฯ มายัง ‘ศูนย์ทอผ้าต่อต้านเหมืองแร่’ ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อพบกับ แม่รจน์-ระนอง กองแสน แม่หญิงชาวเลยที่ได้ชื่อว่าเป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่ง ที่ออกหน้าลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรมที่บ้านเกิดของเธอ จนได้รับรางวัล ‘ผู้หญิงปกป้องสิทธิชุมชนจากการทำเหมือง’ จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวันสตรีสากล พ.ศ. 2559

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิง บ้านนาหนองบง ที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

จากที่เห็นแม่รจน์ในภาพข่าวการต่อสู้เรื่องเหมืองทองคำ ทำให้เราจินตนาการภาพของเธอในบุคลิกอีกแบบ ซึ่งห่างไกลจากหญิงร่างเล็กวัย 58 ปี ท่าทางใจดี ที่กำลังง่วนอยู่กับการเย็บผ้าฝ้ายอินทรีย์อยู่ตรงหน้า หลังทักทายถามไถ่ หาน้ำท่ามาต้อนรับตามประสา เราก็เริ่มพูดคุยกัน

“ตอนแรกเราอยู่กันสงบสุขดี ไม่มีปัญหาอะไร ชาวบ้านทำไร่ทำนา รักใคร่กันดี ไปไร่ไปนา มีผัก หน่อไม้ ฟักแฟง ข้าวโพด เอามาแบ่งกันกิน มีความสุข” แม่รจน์เริ่มเล่าด้วยเสียงเบาๆ ในสำเนียงท้องถิ่น 

พวกเขาไม่เคยได้รับข่าวสารว่าจะมีเหมืองทองในเขตใกล้บ้าน แม้ในวันที่เหมืองทองเข้ามา พวกเขาก็คิดว่านั่นคือโอกาสที่จะมีลู่ทางในการทำมาหากิน

“ช่วงหนึ่งคนมาเดินสำรวจตามหมู่บ้าน มีฝรั่งเข้ามา มีเฮลิคอปเตอร์ขนเครื่องวัดมาบิน เราก็มองกันนะ ไม่รู้ว่าเขามาทำอะไร จนปี 49 สมัยนายกฯ ทักษิณ เขาอนุมัติให้เปิดเหมืองแร่ทองคำ ชาวบ้านก็ไม่รู้เรื่องอะไรอีก คิดว่าดี ลูกหลานจะได้ไปทำงาน ไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ ตัวแม่เองก็คิดว่าจะไปขายอะไรดีนะในเหมือง ขายส้มตำไก่ย่างดีไหม”

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิงบ้านนาหนองบงที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

แม่รจน์ก็เหมือนชาวบ้านทั่วไปที่เชื่อตามคำบอกของหน่วยงานในพื้นที่ว่า บริษัทเหมืองทองจะนำพามาซึ่งความเจริญของชุมชน ทั้งการสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน และสร้างอาชีพให้คนแก่คนเฒ่าที่เป็นชาวบ้านส่วนใหญ่ แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้สวยงามเช่นนั้น

“พอเขาเข้ามาสร้างเหมือง แม่ก็เดินไปดู ครั้งแรกที่เห็นคือเขาเอารถแบคโฮมาดันปากป่าที่เราเคยหากินจนหายไปหมด ใจแม่นะ หายไปเลย ตรงนี้เคยเป็นที่หากิน เป็นไร่ชาวบ้าน มันหายไปในพริบตา แม่ตกใจคิดว่าขายของไม่ไหวแล้ว” แม่รจน์เล่าด้วยน้ำเสียงและนัยน์ตาเศร้าจับใจเมื่อย้อนคิดถึงภาพที่เห็นวันนั้น

นับตั้งแต่บริษัทประกอบการเหมืองแร่ทองคำเริ่มระเบิดภูซำป่าบอนและภูทับฟ้า วิถีชีวิตของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิง บ้านนาหนองบง ที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

จากที่เคยอยู่อย่างเงียบสงบตามประสาหมู่บ้านชายป่า ที่ยามค่ำคืนมีเพียงเสียงหริ่งเรไร ฉับพลันทันใด กลับมีเสียงระเบิดดังก้องฟ้า พร้อมกับเสียงเครื่องจักรเดินเครื่องทำงานตลอดเวลาในรัศมีห่างจากชุมชนเพียง 500 เมตร

ซ้ำร้ายกว่านั้น อากาศที่เคยบริสุทธิ์กลับคละคลุ้งไปด้วยอณูฝุ่นที่ไม่อาจมองเห็น แต่รับรู้ได้จากอาการแสบตา มองเห็นไม่ชัดเจน อีกทั้งแหล่งน้ำที่เคยใช้อาบกายกลับระคายผิว ผักปลาที่เคยหาได้เริ่มตาย ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านนาหนองบงและ 5 หมู่บ้านใกล้เคียง

“ตอนงานทำบุญประจำปีของหมู่บ้าน มีน้องที่ทำงานเอ็นจีโอเข้ามาบอกว่า บ้านเราได้รับผลกระทบต่อการทำเหมืองนะ แรกๆ แม่ฟังก็ไม่ค่อยสนใจหรอก แต่ต่อมารู้สึกว่าผลกระทบเยอะ จากที่เคยทำนาทำไร่ จึงต้องรวมตัวกันมาศึกษาเรียนรู้เรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น”

02

การขับเคลื่อนของกลุ่มแม่หญิงรักษ์บ้านเกิด

เวลานั้นในหมู่บ้านมีแต่คนเฒ่าคนแก่และเด็กอยู่อาศัย กลุ่มแม่หญิงอาวุโสจำนวนไม่ถึง 10 คน จาก 6 หมู่บ้านในเขตวังสะพุงที่ได้รับผลกระทบ จึงร่วมมือร่วมใจกันตั้ง ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด’ ออกมาขับเคลื่อนคัดค้านเหมืองทองคำแห่งนี้

พวกเธอทำหน้าที่ตะโกนบอกร้องให้คนในพื้นที่ตระหนักถึงอันตรายในบ้านตัวเอง พร้อมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐให้เข้ามาช่วยเหลือบ้านเกิดของตน

เริ่มจากหน่วยงานสาธารณสุขเข้ามาตรวจสุขภาพและพบว่าเลือดของชาวบ้าน 54 คนมีระดับสารไซยาไนด์ในร่างกายสูง ซึ่งสารไซยาไนด์เป็นสารเคมีอันตรายที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองทอง

ไม่นานนับจากนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยได้ประกาศเตือนให้ชาวบ้านในเขตตำบลเขาหลวงระมัดระวังการใช้น้ำจากลำน้ำฮวย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติสายหลักของท้องถิ่น เนื่องจากตรวจพบสารหนู แมงกานีส แคดเมียม ไซยาไนด์ ปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐาน เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ต่อมาประกาศให้ลดการบริโภคหอยขมจากบริเวณต้นน้ำ เพราะพบสารหนูสูงเกินปกติเช่นกัน

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิง บ้านนาหนองบง ที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

“ปี 52 แม่เริ่มสงสัย ทำไมเด็กเพิ่งคลอดใหม่อาบน้ำบ้านเราแล้วผิวแดงผื่นขึ้นไปหมด ชาวบ้านเองก็แสบตา มองไม่เห็น พอเขามาตรวจก็พบสารอันตราย แต่ชาวบ้านเราไม่มีบ่อสำรอง ต้องทนใช้ไปอีกสองสามปีกว่าเขาจะมาขุดบ่อให้ใหม่ เราทนใช้ทั้งที่รู้ ตอนนั้นเราบอกคนในหมู่บ้านว่า ถ้าเราไม่ช่วยกันมันจะยิ่งกว่านี้”

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเดินหน้าหาเครือข่ายและรวบรวมมวลชนชาวบ้านเพื่อพากันสู้ทุกวิถีทางที่คิดและทำได้ สู้แบบยิบตาไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะต่างรู้กันว่าต้องสู้กับอำนาจรัฐ และบริษัทเหมืองทองคำที่มีแต่คนขู่ว่ายิ่งใหญ่ สู้แม้แทบมองไม่เห็นว่าจะได้ชัยชนะมาอย่างไร

“ส่วนมากพวกแม่จะทำหนังสือไป แล้วก็ออกไปขับเคลื่อน เวลาเขามีเวทีประชาคมที่ไหน เราก็เอาเด็ก เอาวัยรุ่น ไปด้วย อย่างพรุ่งนี้จะมีเวทีประชุม เราก็เอารถใส่เครื่องเสียงวิ่งประกาศรอบหมู่บ้านว่าเราจะไปที่จังหวัดนะ ถ้าใครมีกับข้าวก็เอาไปกินร่วมกัน ใครมีลูกมีหลานก็พากันออกมา พอเช้ามีรถมาเป็นแถวเลย

“เวลาไป อบต. แม่จะพูดว่า รัฐกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพราะดูแลไม่ทั่วถึงใช่ไหม แต่ทำไม อบต. ไม่ดูแลประชาชนของตัวเอง ทำไมคุณไม่ดูแลพวกเรา ทำไมคุณไปดูแลบริษัท แม่พูดตลอดจนโดนคดีว่าเป็นคนปลุกระดม”

03

สู้ยิบตา

ในเมื่อสู้ทุกวิถีทาง แต่เสียงของชาวบ้านก็ไม่ดังพอ พ.ศ. 2554 แม่รจน์และเพื่อนในกลุ่มอีก 4 คน มุ่งหน้าไปพบนายกรัฐมนตรี โดยไม่รู้ว่าพากันไปเสี่ยงตายท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงในขณะนั้น 

“พวกแม่ได้ยินจากวิทยุว่า นายกฯ อภิสิทธิ์จะไปอุบลฯ แม่ไม่รู้หรอกว่าอุบลฯ อยู่ที่ไหน พอเรี่ยไรเงินกันในกลุ่มได้ห้าพันบาท เราก็ไปกันห้าคน นั่งรถประจำทางไป จนถึงขอนแก่นในตอนค่ำก็เดินทางต่อไม่ได้ ต้องขอนอนค้างกับคนในเครือข่าย พอถึงอุบลฯ ยังโดนรถตุ๊กตุ๊กในพื้นที่หลอกเอาค่ารถไปอีกเป็นพัน

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิง บ้านนาหนองบง ที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

“ตอนที่รอนายกฯ ก็ได้ข่าวว่ามีม็อบมา เขาบอกกันว่า ต้องพานายกฯ ออกจากพื้นที่ภายในยี่สิบสี่นาที ขอให้เราอยู่ในความสงบ แม่ก็กลัวว่าเราจะมาตายตรงนี้ไหม เล่าแล้วอยากร้องไห้นะ” แม่รจน์ทาบมือกับอก

“พอนายกฯ ออกมา คนก็รีบพานายกฯ ออกไป มีทั้งตำรวจ ทั้งนักข่าว เรากลัวไม่ได้ยื่นจดหมาย น้องคนหนึ่งในกลุ่มที่ตัวเล็กๆ เลยโดดขี่คอตำรวจ เพื่อยื่นหนังสือใส่มือนายกฯ บอกว่าเรามาจากจังหวัดเลย มาเรื่องเหมืองทองนะ จากนั้นก็เฮกัน ม็อบก็เข้ามา”

1 เดือนต่อมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้รับหนังสือด่วนที่สุดแจ้งว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัทเหมืองแร่แห่งนี้ จนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน และประเมินความคุ้มค่าระหว่างทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนกับค่าภาคหลวงที่รัฐจะได้รับ

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิงบ้านนาหนองบงที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

“แม่ดีใจมาก ที่เราเกือบตายมันคุ้มค่า กลุ่มเรานำหนังสือนี้มาอ้างตามหน่วยงานได้หมด แต่สุดท้ายเรื่องก็ไม่จบ เพราะรัฐกับทุนมาด้วยกัน เราสู้โดยที่รัฐไม่เห็นใจเราเลย รัฐไม่เคยบอกว่า ชาวบ้านเขาเดือดร้อนจริงนะ ไม่มีเลย ทำให้แม่คิดว่ารัฐไม่ช่วยชาวบ้านเลย เขาไม่เคยเข้าข้างเรา

“พอเจอแบบนี้ มันเปลี่ยนความคิดที่ไม่เคยสู้ของแม่ ให้เกิดแรงดลใจที่จะสู้กับหน่วยงานรัฐ เพราะว่าเราไม่เคยได้รับความยุติธรรม เราไม่ได้รับความเอื้ออาทรจากรัฐเลย พวกแม่สู้ยิบตา ไม่หยุด ไปหมดทุกหน่วยงาน และมีแต่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน อย่างกรรมการสิทธิมนุษยชนที่เอาเรื่องสิทธิของเรามาช่วยสู้ตลอด นอกนั้นก็เป็นกลุ่มเอ็นจีโอของไทยและต่างประเทศที่มาช่วยเยอะ”

04

เหตุสลดใจไม่เคยลืม

แม้จะมีมติจาก ครม. แต่เหมืองทองคำแห่งนี้กลับดำเนินการต่อไม่หยุด ชาวบ้านนาหนองบงและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดต้องต่อสู้กับเหมืองทองคำ และการยื่นขอประทานบัตรเพิ่มของบริษัทเหมืองแร่เจ้าเดิม พวกเขาลุกขึ้นสู้ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการปิดถนน การก่อสร้างกำแพงที่เรียกว่า ‘กำแพงใจ’ เพื่อกั้นไม่ให้มีการขนส่งสารเคมีและทองคำออกจากโรงแต่งแร่ อีกทั้งการขึ้นป้ายประกาศ ‘ไม่เอาเหมือง’ ทั่วหมู่บ้าน รวมไปถึงการฟ้องศาล และอื่นๆ อีกมากเท่าที่จะคิดและทำได้

จนเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดครั้งหนึ่งที่ไม่มีใครเคยลืม ในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 มีชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธกว่า 200 คน ยกกำลังบุกทำลายกำแพง และทำร้ายชาวบ้านหลาย 10 คน ก่อนใช้รถบรรทุกขนย้ายแร่ไป

นอกเหนือจากเหตุการณ์ที่เป็นข่าวให้สังคมรับรู้บ้างประปราย แม่รจน์และชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอยู่หลายครั้ง และเคยมีเหตุร้ายแรงถึงขนาดถูกหมายหัวเอาชีวิต

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิงบ้านนาหนองบงที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

“พี่สาวแม่ที่รู้จักมือปืนส่งข่าวมาว่า มีคนจ้างวานให้มาฆ่าแม่กับพวกแกนนำ เขาเห็นรูปแม่ในโทรศัพท์ มีที่อยู่หมดเลย รู้ไหมว่าแม่ร้องห่มร้องไห้ เสียใจมากว่าเราคนธรรมดา จะมาฆ่าเราทำไม แม่ต้องพากันหนีทั้งบ้าน แต่ไม่ไหว เพราะชีวิตต้องทำมาหากิน เราต้องเปิดหน้าสู้กับมัน ตอนนั้นชาวบ้านจึงรวมตัวกันทำป้อมยาม เฝ้าระวังคนเข้า-ออก แม่สวดมนต์ไหว้พระ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยปกปักรักษาชาวบ้านเราด้วย เราไม่ได้ทำอะไร เราทำเพื่อบ้านเรา ชุมชนของเรา”

ระหว่างการต่อสู้ แม่รจน์และชาวบ้านไม่เคยได้รับชัยชนะ แต่กลับถูกบริษัทฟ้องกลับหลายคดี คิดเป็นเงินจำนวนมหาศาล ทั้งที่ชาวบ้านเหล่านี้เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้มีทรัพย์สินมากมายใดๆ มาชดใช้หรือต่อรอง

05

ตำหูกต้านเหมือง

การต่อสู้อันยืดเยื้อทำให้ชาวบ้านต้องเสียเวลากับงานขับเคลื่อนมากกว่าทำมาหากิน ซึ่งในช่วงหลังกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่กระทบความเป็นอยู่ของแกนนำและชาวบ้านทุกคน

พ.ศ. 2556 กลุ่มแม่หญิงแกนนำเริ่มคิดหาลู่ทางทำรายได้เพื่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอด พร้อมหาทุนทำกิจกรรมต่อต้านเหมืองที่มีทีท่ายืดเยื้อไม่มีวันจบต่อไป เมื่อได้ประชุมพูดคุยกันตามประสา จึงได้คำตอบที่ทุกคนมองข้ามมานาน นั่นคือ ‘ตำหูก’ 

ตำหูก เป็นภาษาอีสาน แปลว่า การทอผ้า เป็นภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชาวบ้านนาหนองบงมาแต่อดีต ยามว่างจากทำมาหากิน ก็จะมานั่งปั่นฝ้าย ตำหูก 

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิงบ้านนาหนองบงที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

“พวกแม่ตำหูกทอผ้ามาแต่สมัยเป็นรุ่นๆ แล้ว ต้องทอผ้าให้เป็น ทอไม่เป็นมีแฟนไม่ได้ เพราะต่อไปต้องทอให้สามี ให้ลูก ได้ใช้ และทำไว้รับแขก ไว้ห่มยามหนาว ต่อมามีครอบครัวแม่ก็เลิกทอไป พอต้องมาสู้กับเหมือง เราเลยคิดว่าจะใช้การทอผ้านี่แหละมาช่วยกันหารายได้”

กลุ่มแม่หญิงต่างมารวมตัวกันฟื้นฟูวิถีชีวิตเดิมเพื่อหาเลี้ยงชีพ ต่อมามีคนจากเอ็นจีโอเข้ามาแนะนำการทอผ้าฝ้ายไร้สาร เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์การต่อสู้กับเหมืองทองคำที่ก่อสารพิษให้กับหมู่บ้านนาหนองบงเรื่อยมา

“น้องเอ็นจีโอที่ทำงานด้านนี้เอาพันธุ์ฝ้ายมาให้พวกแม่ปลูกที่เหนือเหมือง แนะนำให้พวกแม่ปลูกแบบไร้สาร ไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เวลาเอาฝ้ายไปทอเป็นผ้าคนใส่จะไม่ระคายเคือง เป็นการสู้กับเหมืองด้วยว่า ผ้าของเราผลิตมาอย่างปลอดสาร ตรวจแล้วไม่มีเคมี หากวันหนึ่งตรวจพบเคมีขึ้นมา แสดงว่าเป็นผลกระทบจากเหมืองของเขา”

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิงบ้านนาหนองบงที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า
ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิงบ้านนาหนองบงที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

ผ้าทุกชิ้นของบรรดาแม่ๆ ยายๆ ล้วนเป็นผ้าอินทรีย์ที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจผลิตจากกระบวนการดั้งเดิมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การปลูกฝ้ายแบบไร้เคมี ที่สมาชิกร่วมกันปลูกในแปลงปลอดภัย ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ทอเส้นฝ้าย ย้อมสีธรรมชาติ และถักทอสร้างเป็นลวดลายตามจินตนาการของบรรดาแม่หญิงในชุมชน

“แม่คิดลายผ้าใหม่ที่ประกวดในจังหวัดแล้วได้รางวัลมา” แม่รจน์ว่าพร้อมหยิบผ้าสีครามสวย 2 ลาย มาให้เราดู

“แม่ตั้งชื่อสองลายใหม่ว่า หลุมเหมือง กับ รอยแร่ เพราะอยากให้คนรู้ที่มาที่ไป และไม่ว่าทำอะไร แม่จะต่อสู้เรื่องนี้ไปตลอด ไม่ว่างเว้นเลย”

หลังจากที่บรรดาแม่ๆ ทำงานทอผ้าอย่างขะมักเขม้น คนรุ่นหนุ่มสาวในชุมชนจึงเปิด เพจเฟซบุ๊ก ‘กลุ่มตำหูกบ้านนาหนองบง – สู้เหมือง’ เพื่อเป็นตัวกลางในการขายผ้าทางออนไลน์ ซึ่งได้กระแสตอบรับพร้อมกำลังใจไม่ขาดสาย มีลูกค้าเจ้าประจำรายเล็กรายใหญ่ติดต่อเข้ามาเสมอ

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิงบ้านนาหนองบงที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

ต่อมาธุรกิจเล็กๆ ของชุมชนได้รับการสนับสนุนจาก Becky Goncharoff อดีตนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวอเมริกันในโครงการ CIEE (Council On International Educational Exchange) ที่เคยมาเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้เหมืองในหมู่บ้าน และมีความผูกพันกับแม่รจน์ โดยช่วยนำผ้าไปขาย เพื่อระดมทุนในการสร้างสถานที่ให้แม่หญิงรวมตัวกันทำงาน

“เบ็กกี้เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาอยู่กับแม่ เขารักแม่เหมือนแม่ แม่ก็รักเขาเหมือนลูก เขากลับไปบ้าน สองปีเขาก็กลับมาหา พอดีกับตอนนั้นแม่คิดว่าอยากจะใช้พื้นที่เล็กๆ ข้างบ้านสร้างเป็นที่สำหรับพวกแม่ๆ ยายๆ มานั่งทอผ้า กินข้าวด้วยกันประสาคนแก่ เบ็กกี้เลยมาช่วยแม่ขายผ้า เริ่มจากการขายให้เพื่อนๆ เด็กแลกเปลี่ยนที่เคยมาอยู่ในหมู่บ้านเราหลายรุ่น และหาออร์เดอร์มาให้จนได้เงินก้อนใหญ่มาสร้างโครงอาคารตรงนี้ พวกแม่จึงตั้งเป็นศูนย์ทอผ้าเพื่อต่อต้านเหมืองแร่”

06

Radical Grandma Collective

ต่อมาใน พ.ศ. 2559 เบ็กกี้และเพื่อนๆ ชาวอเมริกันรวมตัวกันสนับสนุนการขายผ้าฝ้ายอินทรีย์ต้านเหมืองของบรรดาแม่ๆ ในชื่อของ Radical Grandma Collective ผ่านเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ www.radicalgrandmacollective.com เพื่อกระจายสินค้าผ้าฝ้ายปลอดเคมีจากบ้านนาหนองบงสู่กลุ่มคนต่างประเทศที่สนใจงานฝีมือและเรื่องราวการต่อสู้เหมืองของแม่หญิงกลุ่มนี้

 “แม่เคยถามให้เขาแปลให้หน่อยว่า ชื่อนี้แปลว่าอะไร เบ็กกี้บอกว่า กลุ่มยายๆ หัวรุนแรง แม่บอกว่าไม่ใช่นะ แม่ไม่ได้หัวรุนแรง เขาก็บอกว่าในต่างประเทศไม่ได้มีความหมายเชิงลบแบบนั้น แต่แม่ฟังแล้วตกใจ ทำไมว่าแม่หัวรุนแรง” แม่รจน์อธิบายพลางหัวเราะ

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิง บ้านนาหนองบง ที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า
ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิง บ้านนาหนองบง ที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการ ทอผ้า

ผ้าพันคอหลากสีสันสวยงามของบรรดาแม่ๆ ยายๆ ติดแบรนด์ RadGram อวดโฉมให้ผู้สนใจคลิกเลือกซื้อไปพร้อมกับรับรู้เรื่องราวการเคลื่อนไหวทางสังคมของแม่หญิงใจสู้ ที่ทำงานทอผ้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดของตัวเอง

การซื้อผ้าฝ้ายอินทรีย์จากกลุ่มแม่หญิงนาหนองบง นับเป็นการสนับสนุนงานขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้าน เพราะเงินส่วนหนึ่งจากการขายจะหักเข้ากลุ่มไว้เพื่อทำงานต่อไป

“เงินที่ได้จากการขายผ้า ส่วนหนึ่งเราหักเข้ากลุ่ม เช่นได้มาสามพันห้าร้อยบาท หักเข้ากลุ่มห้าร้อยบาท นอกนั้นให้คนทำไป เงินของกลุ่มเราจะเก็บไว้ใช้เวลาทำงานขับเคลื่อน เงินนี้จะเป็นค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่ากิน ของกลุ่มเรานี่แหละ เราต้องทำอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นก็ออกไปสู้ไม่ได้”

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิง บ้านนาหนองบง ที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการทอผ้า

นอกจากนั้น เงินที่หักเข้ากลุ่มส่วนหนึ่งจะแบ่งไว้สำหรับงานบุญประจำปี เพื่อเป็นการสืบสานอัตลักษณ์และวิถีดีงามดั้งเดิมสู่คนรุ่นหลังต่อไป เพราะแม่รจน์เชื่อว่าการเชื่อมสัมพันธ์และปลูกฝังความรักบ้านเกิดให้ลูกหลาน จะกลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดตัวเองในอนาคต

“เงินอีกส่วนเราเอาไว้ทำบุญประจำปีของบ้านเรา ถ้าเครือข่ายอื่นมีงานบุญ เราก็ไปช่วยเขา แม่พยายามฟื้นฟูเรื่องสังคมของชุมชนเรา เอาวิถีชีวิตเดิมคืนมา ปลูกฝังเด็กๆ ของเรา และชวนชาวบ้านมาร่วมกันทำบุญเหมือนเมื่อก่อน ไม่แบ่งฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ เราเอาความดีเข้าแลก ถ้าเขาศรัทธา เขาจะมาร่วมกับเรา”

ต่อมา ศูนย์ทอผ้าต้านเหมืองแร่ได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากจังหวัดเลยเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เรียบร้อย และเปิดเป็นศูนย์การผลิตและแสดงสินค้าของกลุ่มแม่หญิง พร้อมเป็นแหล่งการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้เหมืองทองคำให้ทั้งนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงบุคคลทั่วไป โดยมีผู้เข้ามาศึกษา เยี่ยมชม และให้กำลังใจ แม่หญิงไม่ขาดสาย

07

การต่อสู้ที่ยังไม่สิ้นสุด

ปัจจุบัน เหมืองทองคำในเขตตำบลเขาหลวงถูกปิดไปแล้ว คดีต่างๆ ที่ฟ้องร้องกัน ศาลพิพากษาให้ชาวบ้านชนะคดีทั้งหมด รวมถึงการตัดสินให้บริษัทเข้ามาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไป แต่แม้มีการตัดสินคดีและคำสั่งศาล กลับไม่มีการเยียวยาชาวบ้านทั้งจากบริษัทเหมืองและภาครัฐเอง

“แม่ไม่เคยคิดว่าจะหยุดเขาได้เลยนะ เพราะว่าเขาใหญ่มาก มีแต่คนบอกว่า เราจะไปสู้อะไรเขาได้ ที่เราทำได้เพราะมีมวลชน เรามีมวลชนเยอะ ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันหกหมู่บ้าน และถ้าวันนั้นเราไม่สู้ ป่านนี้ภูเขาหลังวัดบ้านเราที่มีทองคำเยอะมากคงหายไปหมดแล้ว เพราะเขาเล็งไว้ และถ้าปล่อยให้เขาทำได้ สารก่อมะเร็งจะลามไปเรื่อย 

“แต่ตอนนี้เรื่องฟื้นฟูเราก็หนักอยู่ แม้ศาลสั่งให้เราชนะทุกคดี มีคำสั่งศาลให้บริษัทฟื้นฟูเยียวยาชาวบ้าน แม่แปลกใจเรื่องกฎหมายไทยมาก ทั้งที่เราชนะและศาลตัดสินว่าชาวบ้านหนึ่งร้อยสี่สิบเก้าคนจากหกหมู่บ้านต้องได้รับเงินเยียวยา แต่เรากลับไม่เคยได้สักบาท และไม่มีใครเข้ามาฟื้นฟูดูแลเลย” แม่รจน์เล่าอย่างสงสัย

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิง บ้านนาหนองบง ที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการทอผ้า

แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือ แม้ปิดเหมืองไปแล้วกลับไม่มีการฟื้นฟูพื้นที่ อีกทั้งสัมปทานเหมืองยังเหลือเวลาเป็น 10 ปี ซึ่ง รจนา กองแสน ลูกสาวของแม่รจน์ที่กลับบ้านเกิดเพื่อต่อสู้เคียงข้างแม่และชาวบ้าน เล่าปัญหาที่อาจยืดเยื้อไม่จบสิ้น 

“ตอนนี้เหมืองปิดไปแล้วก็จริง แต่ประทานบัตรยังเหลือถึงปี 2572 ส่วนบริษัทเหมืองประกาศตัวว่าล้มละลายเพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียเงินชดเชยให้ชาวบ้านที่ชนะคดี เราคาราคาซังกับปัญหานี้ แถมยังมีพระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่เอื้อให้นายทุนโอนหรือขายให้คนอื่นมาเปิดทำเหมืองได้อีก

“เดิมสัมปทานของเขาทำไปแล้วแค่หกแปลง เหลืออีกหนึ่งร้อยหกแปลง ถ้าเขากลับมาทำ คิดว่าเราจะอยู่ได้ไหม แค่พิษที่ค้างอยู่และพิษบนเหมืองที่ปล่อยไว้ไม่มีการฟื้นฟู อีกร้อยปีพันปีมันก็อยู่เหมือนเดิมอย่างนั้นและซึมลงมาพื้นที่ข้างล่างด้วย”

08

เสียงสะท้อนถามถึงความเป็นธรรม

การต่อสู้นับ 10 ปี ที่ผ่านมาของกลุ่มชาวบ้านต้านเหมืองสะท้อนว่าที่ผ่านมาประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลยังถูกกีดกันการเข้าถึงข้อมูล กีดกันการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 

“เวลาเราไปหน่วยงานรัฐเขาจะมองเราหัวจรดเท้า เขาดูถูกว่าเราเป็นคนบ้านนอก เป็นตาสีตาสาไม่รู้เรื่องอะไร แม่เคยไปขึ้นศาล เขาถามว่า ได้รับผลกระทบแล้วมีใครมาช่วยไหม แม่ลุกขึ้นพูดว่า มีอาจารย์ญี่ปุ่นมาศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม เขาบอกว่า ป้านั่งลง ไม่ต้องพูด เขามองว่าคนอย่างเราจะไปรู้เรื่องอะไร หน้าตาท่าทางแบบนี้ไม่รู้เรื่องหรอก อวดดี จะมาพูดอะไร แม่ก็นั่งลง ไม่พูดอะไรหรอก

“ที่ผ่านมา แม่รู้สึกว่าต่างประเทศเขาให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้ของชุมชนมาก เวลาแม่ไปประชุม สื่อต่างประเทศให้ความสนใจเยอะมาก เขาเชิญแม่ไปเล่าเรื่องการต่อสู้ แล้วฝรั่งเขาก็ร้องไห้ เขารู้สึกร่วมกับเราได้

 “แม่เกิดมาไม่ได้มีอะไร ความรู้ก็ไม่มี มาอยู่ตรงนี้ได้เพราะสู้เพื่อบ้านเรา แม่ได้รู้จักคนเยอะแยะทั้งในประเทศ ต่างประเทศ จากที่เป็นชาวบ้านธรรมดาก็รู้เรื่องราวมากมาย ถึงเวลาจากไปก็คงไปดี เพราะแม่ใช้ชีวิตนี้คุ้มแล้ว”

สุดท้าย แม่รจน์เชื่อว่าเรื่องเหมืองทองคำในเขตพื้นที่บ้านเกิดของตนคงไม่จบลงง่ายๆ เธอทำได้เพียงถ่ายทอดอุดมการณ์สู่รุ่นหลานต่อไป เพื่อหวังให้พวกเขารักและหวงแหนบ้านเกิดของตัวเอง

 “ตอนนี้พวกแม่ถ่ายทอดและสืบต่ออุดมการณ์ให้ลูกหลานต่อไป เราเกิดมาไม่ใช่แค่มีชีวิตครอบครัว มีสามี มีลูก ทำมาหากินแล้วจบ เราต้องมีหน้าที่รับผิดชอบอีกเยอะแยะ เราต้องรับผิดชอบเรื่องบ้านเมือง ชีวิต และผู้คน เหมือนเราทำบุญ แต่เป็นการทำบุญอีกประเภทหนึ่ง ที่เราปกป้องชุมชนของเราไว้ ไม่ให้ใครเอาสารพิษอันตรายมาทำลายชีวิตสัตว์และร่างกายของคนในชุมชนได้ แม่คิดว่าเราต้องทำ” แม่รจน์ทิ้งท้ายพร้อมแววตาแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจ

การลุกขึ้นต่อสู้ของชาวบ้านกับอำนาจทุนนิยมหรือรัฐอาจไม่สำเร็จโดยง่าย แต่อย่างน้อยเรื่องราวการยืนหยัดต่ออุดมการณ์ของมวลชนแห่งวังสะพุงจะเป็นแบบอย่างอันยิ่งใหญ่ให้แก่ลูกหลานของพวกเขา รวมถึงชุมชนอื่นที่เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ได้ต่อไป

ระนอง กองแสน ผู้นำแม่หญิงบ้านนาหนองบงที่ลุกขึ้นสู้กับเหมืองทองเพื่อบ้านเกิดด้วยการทอผ้า

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล